หนังสือ "คำสอนเซน
ภาค เซนในสายเลือด ปรมาจารย์ตั๊กม้อ"ครูสอนเซน
อาจารย์ราเชนทร์ สิมะสุนทรบทที่ 15 วิถีธรรมชาติสู่ความเป็นธรรมชาติณ โคนต้นศรีมหาโพธิ์ ในราตรีแห่งการตรัสรู้คืนนั้น เพื่อไปสู่ฐานะความเป็น ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ก่อนใครอื่นในห้วงเวลานี้ตามวาระกรรมแห่งตน ท่านสิทธัตถะได้ละทิ้งหนทางอันทำให้ท่านหลงผิดไป ในความเข้าใจว่าการกระทำของท่าน ณ เวลานั้น มันคือหนทางอันจะทำให้ท่านพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงได้ ก็ด้วยบุญกุศลที่เป็นเหตุปัจจัยเดียวอันสูงสุดที่รอท่านอยู่เบื้องหน้า กำลังจะแสดงเนื้อหากรรมแห่งมัน ซึ่งเป็นบุญกุศลที่สั่งสมถึงพร้อมแล้ว อันเนื่องมาจากความตั้งใจมั่นอย่างยิ่งยวด ในความประพฤติดำรงตนของตนเองในฐานะมนุษย์ ผู้ที่ได้ชื่อว่า "บรมมหาโพธิสัตว์" ในเส้นทางแห่งความดีนั้น เพื่อมาช่วยรื้อขนหมู่สัตว์ข้ามฝั่งห้วงโอฆะในกลุ่มกรรมวิสัยของท่าน เหตุในบุญกุศลเหล่านี้จึงช่วยดลบันดาลให้ท่านสิทธัตถะ ละทิ้งวิธีทรมานตนอันเป็นมิจฉาทิฐิ ซึ่งเป็นที่ยอมรับนำมาปฏิบัติทั่วไปในยุคนั้น มาสู่หนทางความเป็นจริงตามที่มันควรจะเป็นไปในเส้นทางสัมมาทิฐิ
ก็หลังจากที่ท่านได้ตัดสินใจอย่างเด็ดขาด เพื่อละทิ้งข้อวัตรอันเป็นไปด้วยความงมงายเหล่านั้นไปเสีย ท่านจึงได้หันมาพิจารณาถึงสภาพทุกข์ที่แท้จริง และวิเคราะห์ถึงสาเหตุแห่งการเกิดความทุกข์นั้นอย่างตรงไปตรงมา ท่านสิทธัตถะจึงรู้ว่าปัญหาทั้งปวง เกิดจากความไม่รู้ของท่านเองที่เข้าไปยึดความเป็นขันธ์ทั้งหลาย จนก่อให้เกิด ตัณหา อุปาทาน ปรุงแต่งเป็นตัวตนของท่าน และปรากฏเป็นสิ่งอื่นๆในความคิดที่ปรุงขึ้นนั้น การจดจำและการบันทึกเรื่องราวที่ปรุงแต่งเกิดขึ้น และได้แสดงกระทำออกมาในทุกๆภพ ทุกๆชาตินั้น เป็นความยึดมั่นถือมั่นบนพื้นฐานแห่งอุปนิสัยของท่านเอง ในความชอบ ความชัง ที่สั่งสม อุปนิสัยที่สั่งสมมาจนเป็นสัญลักษณ์ในเชิง "อัตวิสัย" ว่าท่านเป็นคนคนนี้ เป็นคนแบบนี้ อนุสัยที่หมักดองมานานในกมลดวงจิต ในการกระทำซ้ำตามความชอบความชังแห่งตน ก็ได้กลายเป็นอวิชชาที่หนาแน่น พาท่านไปเวียนว่ายตายเกิดมานับไม่ถ้วนแห่งอนันตอสงไขยเวลา

และด้วยปัญญาแห่งพุทธวิสัยของท่านที่สั่งสมมาเนิ่นนาน ซึ่งเป็นปัญญาที่สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างลุล่วงตามความเป็นจริง จึงทำให้ท่านสิทธัตถะมองเห็นว่า แท้จริงก็เพราะความไม่รู้ของท่านเองที่ยังมองเห็นว่า มีขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เกิดขึ้นอยู่ การเกิดขึ้นแห่งขันธ์ด้วยความไม่รู้นี่เอง เป็นการเกิดขึ้นที่พร้อมจะเป็นเหตุปัจจัยเป็นสายทอดยาว เพื่อไปสู่ความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์เหล่านี้ จนก่อให้เกิดการปรุงแต่งและกลายเป็นความทุกข์ขึ้นมา ท่านจึงได้พิจารณาเล็งเห็นด้วยความเข้าใจอย่างถ่องแท้ ณ เวลานั้นว่า แท้จริงโดยธรรมชาติมันมีแต่ความว่างเปล่า ไร้ความหมายแห่งความเป็นตัวเป็นตน ย่อมไม่มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่จะก่อเกิดขึ้นในธรรมชาตินี้ได้เลย มันย่อมไม่มีแม้กระทั่งความเป็นขันธ์ทั้งห้าเกิดขึ้น เพื่อจะเข้าไปยึดให้เป็นตัวเป็นตนเป็นท่านขึ้นมาได้อีก
เพราะท่านได้เข้าใจในความหมายแห่งธรรมชาติอย่างแท้จริงว่า ธรรมชาตินั้นมันได้ทำหน้าที่ของมันมาตั้งแต่แรกเริ่มเดิมที ไม่เคยเปลี่ยนแปลงความเป็นมันไปเป็นอย่างอื่น ความมีความเป็นตัวตนที่ก่อเกิดในความหลงว่ามีขันธ์ทั้งห้าเกิดขึ้น มันเป็นความหลงในอวิชชาของสัตว์ผู้มืดบอด อย่างท่านเองแต่ผู้เดียวเท่านั้น ซึ่งความมืดบอดของท่านมันไม่ได้เกี่ยวข้องกับ ความเป็นธรรมชาติดั้งเดิมแท้ที่มันเป็นของมันอย่างนั้นอยู่แล้ว มาตั้งแต่แรกเริ่มเดิมที เมื่อท่านได้ตระหนักชัดและซึมซาบ กลายเป็นเนื้อหาเดียวกันแบบกลมกลืนในธรรมชาตินั้น การรู้อย่างแท้จริงในการแก้ไขปัญหา และสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างหมดจด ในวิถีธรรมชาติซึ่งเป็นการรู้แจ้งแทงตลอดในธรรมธาตุทั้งหลาย ก็ทำให้ท่านสิทธัตถะได้อยู่ในฐานะเป็นพระพุทธเจ้า นาม "พุทธโคดม" ผู้ซึ่งเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ในธรรมธาตุแห่งธรรมชาตินั้นก่อนใครอื่น

จึงเป็นเรื่องปกติในความเป็นไปแบบนั้นอยู่แล้ว เมื่อพระพุทธองค์ทรงออกประกาศธรรม และทรงอบรมสั่งสอนบรรดาสรรพสัตว์น้อยใหญ่ทั้งหลาย ท่านทรงเลือกที่จะชี้ตรงไปยังธรรม อันคือความเป็นธรรมชาติของมันอยู่อย่างนั้นแต่ถ่ายเดียว ซึ่งเป็นหนทางอันหลุดพ้นจากกองทุกข์ทั้งปวงอย่างแท้จริง ในพระสูตรทุกๆพระสูตร ที่ปรากฏมาในพระไตรปิฎกที่พระองค์ทรงตรัสสอนไว้ และทำให้เหล่าพราหมณ์นักบวชนอกศาสนาทั้งหลายในยุคนั้น ได้มองเห็นแสงสว่างแห่งธรรมธาตุอันบริสุทธิ์ ก็ล้วนแต่มีเนื้อหาไปในทางเดียวกัน ในความที่พระพุทธองค์ทรงตรัสแต่เพียงเฉพาะ ธรรมอันคือเนื้อหาธรรมชาติเท่านั้น ท่านทรงตรัสเพียง ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นั้น หามีตัวตนไม่ หาใช่ตัวใช่ตนไม่ ความอนิจจังไม่เที่ยงแห่งขันธ์ทั้งหลายเหล่านี้ มีความหมายไปในทางที่ว่า มันไม่เคยมีขันธ์ทั้งหลายเหล่านี้เกิดขึ้นมาก่อน
ซึ่งหมายความถึง มันไม่เคยมีความปรากฏแห่งขันธ์เกิดขึ้น เพื่อเป็นเหตุปัจจัยอันอาจจะทำให้เข้าไปยึดมั่นถือมั่น จนกลายเป็น ตัณหา อุปาทาน ขึ้นมาได้ ซึ่งหมายความถึง ความไม่ปรากฏอะไรเลยสักสิ่งเดียว มันคงไว้แต่ความเป็นธรรมชาติแห่งความว่างเปล่า ไร้ความหมายแห่งความเป็นตัวเป็นตนของมัน ที่มันทำหน้าที่แสดงเนื้อหาของมันเองตามธรรมชาติอยู่อย่างนั้นอยู่แล้ว ซึ่งหมายถึง ธรรมชาตินั้นมันเป็นธรรมชาติแห่งความว่างเปล่า ไร้ความเป็นตัวเป็นตนแบบเสร็จสรรพเด็ดขาดถ้วนทั่ว โดยตัวมันเองอยู่อย่างนั้นอยู่แล้วมาตั้งแต่แรกเริ่ม มันเป็นธรรมชาติที่มีความอิสระเด็ดขาด ไม่อยู่ภายใต้การดำริริเริ่ม หรือ ความครอบครองครอบคลุม ของภาวะใดๆแม้สักอณูธรรมธาตุเดียว มันเป็นความเกลี้ยงเกลาในความว่างเปล่าปราศจากความเป็นตัวเป็นตน ของมันอยู่แบบนั้นโดยความเป็นธรรมชาติ พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนหมู่เวไนยสัตว์แต่เพียงเท่านี้
การสอนเพื่อชี้ทางมุ่งไปสู่วิถีธรรมชาติที่มันมีอยู่แล้วนั้น มันเป็นเพียงการทำความเข้าใจในปัญหาแห่งตนเอง และลุกหนีออกจากสภาพปัญหาไปสู่ความเป็นธรรมชาติแต่เพียงเท่านั้น วิถีธรรมชาตินี้จึงไม่ใช่รูปแบบที่จะต้องประกอบขึ้นด้วยอะไรกับอะไร มันจึงไม่ต้องมีอะไรตระเตรียมกับสิ่งใด เพื่อเป็นเหตุปัจจัยให้ธรรมชาตินี้เกิดขึ้น การปฏิบัติธรรมที่แท้จริง มันจึงเป็นเพียงการทำความเข้าใจอย่างตระหนักชัดแจ้ง จนหมดความลังเลสงสัยในธรรมทุกภาวะธรรม ซึ่งเป็นการรู้แจ้งแทงตลอดในทุกอณูธรรมธาตุ เพื่อคลายตัวเองออกจากภาวะการปรุงแต่งทั้งปวง ได้อย่างแนบเนียนตามวิถีธรรมชาตินั้น เป็นการคลายเพื่อความเป็นไปในธรรมชาตินั้นๆอย่างกลมกลืน ไม่มีส่วนต่างที่อาจจะแบ่งแยกออกมาเป็นสิ่งๆตามความไม่รู้ได้อีก
ด้วยวิถีธรรมชาติที่พระพุทธองค์ทรงชี้สอน เพื่อให้บรรดาสรรพสัตว์ผู้มืดบอดได้เดินไปในหนทางธรรมชาตินั้น มันจึงเป็นความหมายแห่ง วิถีธรรมชาติสู่ความเป็นธรรมชาติ มันจึงเป็นความหมายแห่ง วิถีพุทธะสู่ความเป็นพุทธะ มันจึงเป็นความหมายแห่ง วิถีแห่งจิตสู่จิต เป็นวิถีจิตสู่จิตที่เหล่าคณาจารย์แห่งเซนทั้งหลายในอดีต ได้กล่าวเรียกขานในวิถีธรรมชาติ ซึ่งเป็นวิธีการสอนที่คณาจารย์ได้หยิบยกขึ้นมา เพื่อคุ้ยเขี่ยธรรมให้แก่ลูกศิษย์ของตน มายาวนานตราบจนถึงทุกวันนี้

หนังสือ
"คำสอนเซน
ภาค เซนในสายเลือด ปรมาจารย์ตั๊กม้อ" ครูสอนเซน:
อาจารย์ราเชนทร์ สิมะสุนทร 11 กุมภาพันธ์ 2557 >>> F/B นิกายเซน หนังสือใจต่อใจในการฝึกตน 