ผู้เขียน หัวข้อ: วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร :พระสูตรสำหรับพระโพธิสัตว์  (อ่าน 1462 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด



วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร :พระสูตรสำหรับพระโพธิสัตว์

“ท่านฮุ่ยเหนิงประกอบอาชีพตัดฟืนไปขาย
เพื่อเลี้ยงดูมารดา
วันหนึ่งขณะที่นำฟืนไปส่งให้แก่เจ้าจำนำรายหนึ่งในตลาด
พลันก็ได้ยินเสียงสวดมนต์ของชายคนหนึ่งอยู่ที่หน้าร้าน
ซึ่งท่านฮุ่ยเหนิงเอาฟืนไปส่งนั่นเอง

ชายคนนั้นสาธยายมนต์มาถึงถ้อยคำที่ว่า
พึงทำจิตมิให้มีความยึดถือผูกพันในทุกสภาวะ

เมื่อได้ยินถ้อยคำเช่นนี้จิตใจของท่านฮุ่ยเหนิง
ก็สว่างโพลงในพุทธธรรม จึงถามชายคนนั้นว่า
“ท่านกำลังสวดอะไร”
“เรากำลังสวดวัชรสูตร” “
************************

金剛般若波羅蜜經
วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร (กิมกังเกง)

:http://www.tairomdham.net/index.php?topic=7845.0


วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร
พระสูตรมหายาน : พระสูตรสำหรับพระโพธิสัตว์
แปลโดย : เสถียร โพธินันทะ
เรียบเรียง จีน—ไทย โดย เย็นเจี่ยวภิกขุ
เอื้อเฟื้อจาก สภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัย
:http://www.tairomdham.net/index.php?topic=5315.0

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด



วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร : พระสูตรสำหรับพระโพธิสัตว์
แปลโดย : เสถียร โพธินันทะ

ข้าพเจ้าได้สดับมาดั่งนี้ ว่าครั้งหนึ่งเมื่อสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ เชตวนารามวิหาร ในอุทยานของท่านอนาถบิณฑิกะโกล้กรุงสาวัตถี พร้อมด้วยหมู่ภิกษุสงฆ์ 1,250 รูป  วันนั้นเมื่อได้เวลาบิณฑบาตโปรดสัตว์ สมเด็จพระผู้มีพระภาคทรงครองจีวร สังฆาฏิ ทรงบาตร แล้วเสด็จพุทธดำเนินไปในนครสาวัตถี ทรงบิณฑบาตตามบ้านเรือนไปตามลำดับ เมื่อทรงกิจเสร็จกลับไปที่ประทับ เสวยภัตตาหารเพล จากนั้นทางปลดสังฆาฏิ เก็บบาตรขึ้น ชำระพระบาท ทรงลาดอาสนะ แล้วประทับนั่ง

ครั้งนั้น พระสุภูติมหาเถระ ได้ลุกขึ้น ลดจีวรไหล่ขวาพาดเฉวียงบ่าซ้าย แล้วคุกเข่าประคองอัญชลีทูลถามสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า

      “ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระองค์ทรงติดตามสั่งสอน ชี้ทาง และวางพระทัยในปวงพระโพธิสัตว์อยู่เป็นนิจ ยากจะหาผู้ใดเสมอเหมือน ”
       “ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หากกุลบุตรกุลธิดาปรารถนาจะบรรลุธรรม บรรลุจิตอันเลิศ รู้ตื่น รู้เบิกบานแล้วไซร้ เขาและเธอควรตั้งจิตและควบคุมจิตของตนอย่างไร พระเจ้าข้า ”

สมเด็จพระผู้มีพระภาคตรัสตอบ   “ สาธุ สุภูติ ที่เธอกล่าวนั้นเป็นความจริงทีเดียวตถาคตได้ติดตาม สั่งสอน ชี้ทาง และวางใจในปวงพระโพธิสัตว์อยู่เป็นนิจ จงตั้งใจฟังเราจักแสดงแก่เธอ หากกุลบุตรกุลธิดาปรารถนาจะตรัสรู้ธรรม บรรลุจิตอันเลิศ รู้ตื่น รู้เบิกบานแล้วไซร้ เขาควรตั้งจิตและโน้มนำจิตของตนอย่างนี้ ”

ภิกษุสุภูติกราบทูล “ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์มีความปราบปลื้มยินดี เฝ้าคอยสดับอยู่ ”
สมเด็จพระผู้มีพระภาคตรัสสุภูมิ “ ปวงพระโพธิสัตว์ มหาสัตว์ ควรจักตั้งจิตและโน้มนำจิตของตนอย่างนี้ว่า สรรพสัตว์ไม่ว่าจักเป็นเหล่าใด ๆ จักเกิดจากฟองไข่ก็ดี เกิดจากครรภ์ก็ดี เกิดจากคราบไคลความชื้น หรือผุดขึ้นมาเองก็ดี จักมีรูปหรือไม่มีรูปก็ดี จักมีสัญญาหรือไม่มีสัญญาก็ดี มีสัญญาก็มิใช่ไม่มีสัญญาก็มิใช่ก็ดี เราจักต้องสั่งสอน ชี้ทางให้สรรพสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นบรรลุนิพพานได้วิมุตติ หลุดพ้นเป็นอิสระและเมื่อสรรพสัตว์อันไม่สิ้นสุดไม่มีประมาณนี้ลุถึงความเป็นอิสระแล้ว เราย่อมไม่คิดเลยว่าสัตว์ใดลุถึงความเป็นอิสระ

      ไฉนจึงเป็นเช่นนั้นเล่า สุภูติ ก็เพราะเหตุว่า ถ้าพระโพธิสัตว์ยังมีจิตยึดมั่นผูกพันอยู่ด้วยตัวตน บุคคล สัตว์และชีวะแล้วไซร้ นั่นหาชื่อว่าพระโพธิสัตว์แท้จริงไม่ ”   

“ อนึ่ง สุภูติ เมื่อพระโพธิสัตว์บำเพ็ญทาน ท่านย่อมไม่ยึดมั่นผูกพันอยู่กับสิ่งใด กล่าวคือ ไม่ยึดรูป ไม่ยึดเสียง ไม่ยึดกลิ่น รส โผฎฐัพพะและธรรมารมณ์ สุภูติเอย พระโพธิสัตว์พึงมีจิตใจเช่นนี้ในการบำเพ็ญทาน คือไม่ยึดมั่นอยู่กับสัญญาใด ๆ ไฉนจึงเป็นเช่นนี้เล่า ก็เพราะเหตุว่า เมื่อพระโพธิสัตว์บำเพ็ญทานด้วยความไม่ยึดมั่นผูกพันอยู่กับสัญญาใด ๆ แล้ว ความปีติปราโมทย์ที่ได้รับย่อมไม่อาจประมาณได้เลย สุภูติเธอคิดว่าอวกาศในฟากฟ้าตะวันออกเป็นสิ่งที่จะวัดประมาณได้ละหรือ ”
“ หามิได้ พระเจ้าข้า ”

“ สุภูติ แล้วฟากฟ้าด้านตะวันตก ด้านใต้ และด้านเหนือเล่า ตลอดจนอวกาศ ทิศเบื้องบนและทิศเบื้องล่างจักเป็นสิ่งที่วัดประมาณได้อยู่ฤา ”
“ หามิได้ พระเจ้าข้า ”

“ ดูก่อน สุภูติ หากพระโพธิสัตว์ไม่คิดยึดมั่นผูกพันอยู่กับสิ่งใดในการบำเพ็ญทานแล้ว ความปีติปราโมทย์ซึ่งได้จากการบำเพ็ญทานนั้นย่อมไพศาลดุจห้วงอวกาศซึ่งไม่อาจประมาณนั่นแล สุภูติ พระโพธิสัตว์พึงตั้งจิตดังคำสอนที่ตถาคตได้กล่าวแสดงนี้ ”

“ ดูก่อน สุภูติ เธอมีความคิดเห็นเป็นไฉน การเห็นตถาคตนั้นจักพึงเห็นได้ด้วยรูปลักษณะฤาหนอ ”
“ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค หามิได้ พระเจ้าข้า เมื่อพระตถาคตตรัสถึงรูปลักษณะแท้จริงแล้วมิได้มีรูปลักษณะอยู่เลย ”
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสแก่สุภูติ “ ที่ใดมีรูปลักษณะที่นั่นมีมายา ถ้าสามารถเห็นแจ้งว่าธรรมชาติของรูปลักษณะทั้งปวงไร้รูปก็ย่อมเห็นตถาคตได้ ”
ภิกษุสุภูติกราบทูลพระผู้มีพระภาค “ ในกาลข้างหน้าหากจักมีสัตว์ใด เมื่อสดับพระธรรมคำสอนนี้แล้ว บังเกิดศรัทธาเลื่อมใสอย่างแท้จริงขึ้นได้หนอ ”

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบ
“ อย่ากล่าวอย่างนั้นสิสุภูติ เมื่อตถาคตดับขันธปรินิพพานล่วงไปแล้วห้าร้อยปี ก็ยังจะมีผู้ได้เสวยรสธรรมจากการปฏิบัติตามพระสัทธรรมนี้ เมื่อบุคคลเช่นนั้นได้ฟังพระธรรมคำสอนนี้เข้าจักบังเกิดศรัทธาเลื่อมใสว่าพระสัทธรรมนี้คือสัจจะ ดังนั้นแล้ว จงสำเหนียกไว้เถิด ว่าบุคคลนั้นหาได้ปลูกฝังกุศลมูลเพียงในกาลสมัยแห่งพระพุทธเจ้าพระองค์เดียวหรือในกาลสมัยแห่งพระพุทธเจ้าสองพระองค์ สาม สี่ หรือห้าพระองค์เท่านั้น แท้จริงแล้วเขาได้สั่งสมบุญกุศลมาตลอดพุทธะสมัยแห่งพระพุทธเจ้าอเนกอนันต์นับพันนับหมื่นพระองค์ บุคคลใดได้สดับพระธรรมซึ่งตถาคตได้ตรัสแสดง แล้วบังเกิดศรัทธาด้วยจิตบริสุทธิ์สว่างไสวแม้เพียงชั่วขณะจิตเดียว ตถาคตย่อมเห็นและรู้ว่าบุคคลนั้นจักเกิดปีติปราโมทย์อย่างไม่อาจประมาณได้ ไฉนจึงเป็นเช่นนั้น ”

“ ก็เพราะเหตุว่า บุคคลเช่นนั้นไม่ยึดมั่นอยู่กับความคิดเนื่องด้วยตัวตน บุคคล สัตวะ และชีวะ เขาไม่ยึดมั่นอยู่กับความคิดเกี่ยวกับธรรมและอธรรม ไม่ยึดมั่นว่านี้คือรูปลักษณะ นั่นไม่ใช่รูปลักษณะเช่นนั้น เพราะเหตุใด ก็เพราะว่า ถ้าบุคคลยึดมั่นอยู่กับความคิดเกี่ยวกับธรรม จิต บุคคลนั้นก็ยังผูกพันอยู่กับตัวตน บุคคล สัตวะและชีวะ ถ้าเขายึดมั่นอยู่กับความคิดว่าไม่มีธรรม จิตเขาก็ยังผูกพันอยู่กับตัวตน บุคคล สัตวะและชีวะ อยู่นั่นเอง ฉะนั้นบุคคลจึงไม่พึงยึดถือผูกพันอยู่กับธรรมหรือคิดว่าธรรมเป็นสิ่งไม่มีอยู่ นี่คือนัยความหมาย เมื่อตถาคตกล่าวว่า “ ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงกำหนดรู้ ว่าธรรมที่เราแสดงมีอุปมาดั่งพ่วงแพ ” แม้แต่สิ่งที่ตถาคตสอนก็ต้องละเสีย จักกล่าวไปใยถึงที่ไม่ได้กล่าวเทศนา ”

“ เธอคิดอย่างไรเล่า สุภูติ ตถาคตได้บรรลุถึงจิตอันเลิศ รู้ตื่น รู้เบิกบาน กระนั้นหรือตถาคตได้แสดงธรรมเทศนาอยู่ฤา ”

ภิกษุสุภูติกราบทูล “ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ตามที่ข้าพระองค์เข้าใจนั้นพระธรรมคำสอนของตถาคตไม่มีธรรมารมณ์อิสระที่เรียกว่า จิตอันเลิศ รู้ตื่น รู้เบิกบาน ไม่มีคำสอนใดของพระตถาคตดำรงเอกภาวะ ไฉนซึ่งเป็นเช่นนั้น ก็เพราะเหตุว่าพระธรรมที่พระองค์ทรงตรัสรู้และเทศนาสั่งสอนนั้นไม่อาจบรรยาย ไม่อาจกล่าวได้ว่าดำรงภาวะอิสระแยกจากกัน ไม่เป็นทั้งตัวตนดำรงอยู่ หรือไม่มีตัวตนดำรงอยู่ ไฉนจึงเป็นเช่นนั้น ก็เพราะเหตุว่า พระอริยะบุคคลย่อมต่างจากผู้อื่น ก็ด้วยอสังขตธรรมนี้แล ”

“ เธอคิดอย่างไรเล่า สุภูติ ถ้าบุคคลใดบำเพ็ญทานบริจาคด้วยสัปตรัตนะจนเปี่ยมล้นทั่วสามล้านอสงไขยโลกธาตุ บุคคลนั้นจะได้เสวยปีติสุขมากล้นเพราะกุศลกรรมนี้ฤาไฉน ”
ภิกษุสุภูติกราบทูล “ เช่นนั้น พระเจ้าข้า เพราะกุศลกรรมและปีติสุขเช่นนั้น มิใช่กุศลกรรมและปีติสุขดั่งที่พระตถาคตทรงแสดง ”

พระผู้มีพระภาคตรัส “ อนึ่ง ถ้าบุคคลใดยอมรับคำสอนนี้แล้วนำไปปฏิบัติแม้เพียงคาถาเดียว สี่บาท และยังอธิบายเผยแผ่แก่ผู้อื่นด้วย ปีติสุขจากกุศลกรรมนี้ย่อมลึกซึ้งไพศาลกว่าปีติสุขจากการบริจาคสัปต-รัตนะมากมายนัก ไฉนจึงเป็นเช่นนั้น สุภูติเอย ก็เพราะว่าบรรดาพระพุทธเจ้าทั้งปวง พระธรรมของพระพุทธเจ้า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานทุกพระองค์ ล้วนบังเกิดจากคำสอนนี้ สุภูติ ที่เรียกว่าพุทธธรรม คือทุกสิ่งที่ไม่ใช่พุทธธรรม”

“ ดูก่อน สุภูติ เธอคิดอย่างไรเล่า พระโสดาบันจักมีมนสิการว่า ‘ เราได้บรรลุโสดาปัตติมรรคผล ‘ ได้ฤา ”
สุภูติตอบ “ หามิได้ พระเจ้าข้า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ไฉนจึงเป็นเช่นนั้น ก็เพราะเหตุว่า พระโสดาบันนั้นชื่อว่า เป็นผู้เข้าสู่กระแส แต่แท้จริงแล้วไม่ได้มีกระแสให้เข้าสู่เลย บุคคลมิได้เข้าสู่กระแสซึ่งเป็นรูป เป็นเสียง กลิ่น รส สัมผัส หรือธรรมารมณ์ เมื่อกล่าวว่าบุคคลเข้าสู่กระแสก็คือเข้าสูกระแสโดยนัยนี้ พระเจ้าข้า ”

“ เธอคิดอย่างไรเล่า สุภูติ พระสกทาคามีจักมีมนสิการว่า ‘ เราได้บรรลุสกทาคามิผล ‘ ได้ฤา ”
สุภูติตอบ “ หามิได้ พระเจ้าข้า ไฉนจึงเป็นเช่นนั้น ก็เพราะเหตุว่าพระสกทาคามีชื่อว่าจักเป็นผู้เวียนกลับมาอีกครั้งเดียว แต่แท้จริงแล้วมิได้มีการไปมิได้มีการกลับ นี่คือความหมายเมื่อกล่าวว่าบุคคลจักเวียนกลับมาอีกครั้ง ”

“ เธอคิดอย่างไรเล่า สุภูติ พระอนาคามีจักมีมนสิการว่า ‘ เราได้บรรลุอนาคามีผล ‘ ได้ฤา ”
สุภูติตอบ “ หามิได้ พระเจ้าข้า ไฉนจึงเป็นเช่นนั้น ก็เพราะเหตุว่าพระอนาคามีมีชื่อว่า เป็นผู้ไม่เวียนกลับมาในโลกนี้อีก แต่แท้จริงแล้วมิได้มีสภาวะของการไม่เวียนกลับนี่คือความหมายเมื่อกล่าวว่า บุคคลจักไม่เวียนกลับมาในโลกนี้อีก ”

“ เธอคิดอย่างไรเล่า สุภูติ พระอรหันต์มีมนสิการว่า ‘ เราได้บรรุลอรหัตตผล ‘ ได้ฤา ”
สุภูติตอบ “ หามิได้ พระเจ้าข้า ไฉนจึงเป็นเช่นนั้น ก็เพราะเหตุว่ามิได้มีสภาวะอิสระใดที่อาจเรียกว่า อรหันต์ ถ้าอรหันต์คิดว่าท่านได้บรรลุอรหัตตผล ก็เท่ากับท่านติดข้องอยู่ในความคิด เนื่องด้วยตัวตน บุคคล สัตวะและชีวะนั่นเอง ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ทรงรับสั่งเสมอว่าข้าพระองค์บรรลุแล้วซึ่งอรณยิกสมาธิอันสงบ ว่าข้าพระองค์เป็นพระอรหันต์สิ้นแล้วซึ่งกิเลสทั้งปวง เป็นผู้ยอดเยี่ยมในชุมชนสงฆ์แห่งนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หากแม้นว่าข้าพระองค์คิดว่าข้าพระองค์ได้บรรลุอรหัตตผลแล้วไซร้ พระตถาคตย่อมจักไม่ตรัสว่าข้าพระองค์ยินดีในอรณยิกสมาธิธรรม พระเจ้าข้า ”

พระผู้มีพระภาคตรัสแก่สุภูติ “ ดู่ก่อนสุภูติ ณ เบื้องอดีตกาลโน้น เมื่อตถาคตยังท่องเที่ยวอยู่ในสมัยของพระทีปังกรพระพุทธเจ้า ตถาคตได้บรรลุธรรมอันใดฤา ”
สุภูติตอบ “ หามิได้ พระเจ้าข้า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ณ เบื้องอดีตกาลโน้น ครั้งเมื่อพระตถาคตยังท่องเที่ยวอยู่ในสมัยของพระทีปังกรพุทธเจ้า พระตถาคตมิได้บรรลุธรรมอันใด พระเจ้าข้า ”

“ เธอคิดอย่างไรเล่า สุภูติ พระโพธิสัตว์ได้ตกแต่งพุทธเกษตร อันสงบงดงามกระนั้นหรือ ”
“ หามิได้ พระเจ้าข้า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ไฉนจึงเป็นเช่นนั้น ก็เพราะเหตุว่า ในการตกแต่งพุทธเกษตรอันสงบงดงามนั้น แท้จริงแล้วมิได้มีการตกแต่งอย่างใด ดังนี้พุทธเกษตรอันสงบงดงามจึงได้บังเกิดขึ้น ”

พระผู้มีพระภาคตรัสแก่สุภูติ “ ดังนี้แล สุภูติ พระโพธิสัตว์และมหาสัตว์ ทั้งปวงจึงพึงยังจิตให้บริสุทธิ์ สะอาดอยู่เป็นนิจ เมื่อตั้งจิตไว้เช่นนี้ พระโพธิสัตว์และมหาสัตว์จึงไม่ยึดมั่นผูกพันอยู่กับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ เป็นจิตอิสระไม่เกี่ยวเนื่องอยู่ด้วยสภาวะใด ๆ ”
“ สุภูติ แม้นบุคคลใดรูปร่างสูงใหญ่ดั่งเขาพระสุเมรุ เธอคิดว่ารูปกายนั้นสูงมหึมากระนั้นหรือ ”
สุภูติกราบทูล “ มหึมานัก พระเจ้าข้า ไฉนจึงเป็นเช่นนั้น ก็เพราะเหตุว่าสิ่งที่ตถาคตตรัสถึงมิใช่รูปกายอันสูงมหึมา เป็นแต่ชื่อว่ารูปกายสูงมหึมา พระเจ้าข้า ”
“ ดูก่อน สุภูติ แม้นว่ามีคงคานทีมากมหาศาลเท่าจำนวนเม็ดทรายในแม่น้ำคงคา เธอจะกล่าวได้ฤาว่า จำนวนเม็ดทรายในนทีเหล่านี้มากมหาศาล ”
สุภูติตอบ “ มหาศาลยิ่งนัก พระเจ้าข้า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้นว่าคงคานทีมีมากมหาศาลแล้ว จำนวนเม็ดทรายในนทีเหล่านี้ย่อมอเนกอนันต์กว่านั้นนัก ”

“ สุภูติ เราจักถามเธอว่า ถ้ากุลบุตรกุลธิดาบำเพ็ญทานบริจาคจนเปี่ยมล้นทั่วสามล้านอสงไขยโลกธาตุ ด้วยสัปตรัตนะมากเท่าจำนวนเม็ดทรายในท้องนทีเหล่านี้แล้ว เขาจักบังเกิดปีติปราโมทย์ยิ่งนักกระนั้นหรือ ”
สุภูติกราบทูล “ ยิ่งนักแล้ว พระเจ้าข้า ”

พระผู้มีพระภาคตรัสแก่สุภูติ “ ถ้ากุลบุตรกุลธิดาบังเกิดศรัทธาพระสูตรนี้ รับปฏิบัติ และอธิบายเผยแผ่แก่ผู้อื่นด้วย แม้เพียงคาถาเดียว สี่บาท เขาจะได้ความปีติปราโมทย์เป็นอานิสงส์มากมายกว่านั้นนัก ”

“ อนึ่งเล่า สุภูติหากพระสูตรนี้ได้ประกาศแสดง ณ ดินแดนใด แม้เพียงคาถาเดียว สี่บาทแล้ว เทวดา มนุษย์ และมาร จักพากันมาสักการะบูชาดินแดนนั้นประหนึ่งดังบูชาพระพุทธสถูป เมื่อสถานที่ยังศักดิ์สิทธิ์เป็นมงคลได้ถึงเพียงนี้ บุคคลผู้สาธยายและปฏิบัติตามพระสูตรจักจำเริญมงคลยิ่งกว่าเพียงไหน สุภูติเอย เธอจงสำเหนียกไว้เถิดว่า บุคคลนั้นได้บรรลุแล้วซึ่งสิ่งลึกซึ้งหายาก ที่ใดมีพระสูตรนี้ประดิษฐานอยู่ ที่นั่นย่อมเป็นสถานอันศักดิ์สิทธิ์ ดุจมีพระอัครสาวกพำนักหรือมีพระพุทธเจ้าประทับอยู่ด้วย ” 

จากนั้นอรหันต์สุภูติได้กราบทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า “ ข้าแต่พระองค์ พึงเรียกพระสูตรนี้นามใด และข้าพระองค์ทั้งหลายจักพึงปฏิบัติต่อพระสัทธรรมนี้อย่างไร พระเจ้าข้า ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบ “ พึงเรียกพระสูตรนี้ว่า วัชรเฉทิก (เพชรตัดทำลายมายา) เพราะเหตุว่าเป็นพระสูตรอันตัดทำลายมายากิเลสทั้งปวง และนำสรรพสัตว์ให้ถึงฝั่งวิมุตติ จงเรียกพระสูตรตามนามนี้ และปฏิบัติตามพระสัทธรรมอันลึกซึ้งแห่งพระสูตรนั้นเถิด ไฉนจึงกล่าวเช่นนี้ ก็เพราะเหตุว่าสิ่งที่ตถาคตเรียกปัญญาบารมีแท้จริงแล้วใช่ปัญญาบารมีไม่ ปัญญาบารมีที่แท้ย่อมมีนัยดังกล่าวมานี้ ”

สมเด็จพระผู้มีพระภาครับสั่ง “ เธอคิดอย่างไรเล่า สุภูติ ตถาคตได้แสดงธรรมอยู่ฤา ”
ภิกษุสุภูติตอบ “ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระตถาคตเจ้ามิได้มีสิ่งใดจักแสดง ”
“ เธอคิดอย่างไรเล่า สุภูติ ในสามล้านอสงไขยโลกธาตุนี้มีปรมาณุภาคมากมายกระนั้นหรือ ”
“ มากมายนัก พระเจ้าข้า ”

“ สุภูติ ตถาคตกล่าวว่าปรมาณุภาคเหล่านี้มิใช่ปรมาณุภาค ฉะนี้จึงเป็นปรมาณุภาคที่แท้จริง และเมื่อตถาคตกล่าวถึงโลกธาตุแท้จริงแล้วมิได้มีโลกธาตุอยู่เลย ดังนี้จึงได้ชื่อว่าโลกธาตุ ”
“ เธอคิดอย่างไรเล่า สุภูติ จักพึงเห็นตถาคตได้ในลักษณะ 32 ประการ กระนั้นหรือ ”
ภิกษุสุภูติกราบทูล “ หามิได้ พระเจ้าข้า ไฉนจึงเป็นเช่นนั้น ก็เพราะเหตุว่าลักษณะ 32 ประการที่พระตถาคตทรงรับสั่งนั้น แท้จริงแล้วมิใช่ลักษณะอันใดเลย ฉะนี้พระตถาคตจึงตรัสเรียกลักษณะ 32 ประการ พระเจ้าข้า ”

“ สุภูติเอย หากแม้นกุลบุตรกุลธิดาใดสละชีวิตเป็นทานครั้งแล้ว ครั้งเล่าเท่าจำนวนเม็ดทรายในแม่น้ำคงคา ส่วนกุลบุตรกุลธิดาอื่น ๆ รู้จักรับปฏิบัติพระสูตรนี้ แล้วยังอธิบายเผยแผ่แก่ผู้อื่น แม้เพียงคาถาเดียว สี่บาท กุลบุตรกุลธิดาเหล่าหลังนี้จักได้รับความสุขเป็นอานิสงส์มากมายยิ่งกว่านัก ”

เมื่อเข้าใจสิ่งที่ได้สดับอย่างลึกซึ้งแจ่มแจ้ง ภิกษุสุภูติน้ำตาไหลด้วยความปีติ กราบทูลสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค จะหาใครในโลกนี้เสมอเหมือนพระองค์ได้ยากนัก นับแต่ข้าพระองค์ได้ดวงตาเห็นธรรมจากการแนะนำสั่งสอนของสมเด็จพระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ไม่เคยได้ฟังคำสอนใดลึกซึ้งอัศจรรย์เช่นนี้มาก่อน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้นผู้ใดได้สดับพระสูตรนี้แล้วได้บังเกิดศรัทธาเลื่อมใสด้วยจิตใยบริสุทธิ์สว่างไสว ได้บรรลุธรรมสัจจะ บุคคลผู้นั้นย่อมแจ่มแจ้งในกุศลธรรมอันหาได้ยากนัก ข้าแต่พระผู้มีพระภาค การบรรลุถึงธรรมสัจจะนี้ แท้จริงแล้วมิได้มีการบรรลุเลย ฉะนี้เองพระตถาคตเจ้าจึงตรัสเรียกว่าบรรลุถึงธรรมสัจจะ

“ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วันนี้ข้าพระองค์ได้สดับพระสูตรอันอัศจรรย์ บังเกิดศรัทธาเลื่อมใส เข้าใจและรับปฏิบัติได้ไม่ยาก แต่ในกาลข้างหน้า เมื่อล่วงไปอีกห้าร้อยปี ถ้าแม้นผู้ใดได้ฟังพระสูตรนี้ยังเกิดศรัทธาเลื่อมใส เข้าใจและรับปฏิบัติ บุคคลเช่นนี้ย่อมเป็นเลิศหาได้ยากแท้ ไฉนจึงเป็นเช่นนั้น ก็เพราะเหตุว่า จิตของบุคคลนั้นจะไม่ถูกครอบงำ ด้วยตัวตน บุคคล สัตวะ และชีวะ ข้อนี้เพราะเหตุใด เพราะความคิดเกี่ยวด้วยตัวตนแท้จริงแล้วมิใช่ความคิด ความคิดเกี่ยวบุคคล สัตวะ และชีวะ ก็มิใช่ความคิดเช่นกัน ไฉนจึงเป็นเช่นนั้น ก็เพราะเหตุว่า บรรดาพระพุทธเจ้าทั้งปวงได้พระนามว่า พระพุทธเจ้า ก็เพราะท่านเหล่านั้นล้วนเป็นอิสระแล้วจากความคิด

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด

สมเด็จพระผู้มีพระภาคตรัสแก่สุภูติ “ เช่นนั้น เช่นนั้น สุภูติ แม้นผู้ใดได้ฟังพระสูตรนี้แล้ว ไม่ตกใจครั่นคร้าม เขาหรือเธอเช่นนั้นย่อมหาได้ยากยิ่ง ไฉนจึงเป็นเช่นนั้นเล่า สุภูติ ก็เพราะเหตุว่าสิ่งที่ตถาคตเรียกปรมบารมีอันเลิศนั้น แท้จริงแล้วใช่บารมีอันเลิศ ดังนี้จึงได้ชื่อว่าบารมีอันเลิศ ”

“ ดูก่อน สุภูติ ตถาคตกล่าวว่า สิ่งที่เรียกว่าขันติบารมีนั้นแท้จริงแล้วมิใช่ขันติบารมี ดังนี้ จึงได้ชื่อว่าขันติบารมี ไฉนจึงเป็นเช่นนั้นเล่า สุภูติเอย ณ เบื้องอดีตกาลเมื่อหลายพันชาติก่อน เมื่อพระเจ้ากลิราชา สั่งให้บั่นร่างกายเราเป็นท่อน ๆ นั้น จิตเรามิได้ยึดมั่นผูกพันอยู่กับตัวตน บุคคล สัตวะ และชีวะเลย ถ้าเมื่อครั้งกระนั้นเรายึดมั่นอยู่กับความคิดเหล่านี้ เราย่อมโกรธอาฆาตราชาพระองค์นั้นเป็นแน่แท้

“ อนึ่ง เรายังตามระลึกถึงกาลที่ล่วงมาแล้วห้าร้อยชาติ เมื่อเราบำเพ็ญขันติบารมีโดยจิตไม่ยึดมั่นผูกพันอยู่กับตัวตน บุคคล สัตวะ และชีวะ ดังนี้แล สุภูติ เมื่อพระโพธิสัตว์บรรลุถึงพุทธจิต รู้ตื่นเป็นนิจอย่างไม่มีใครเสมอเหมือนนั้น ท่านต้องละทิ้งความคิดทั้งปวง เมื่อจิตถึงขั้นนี้แล้ว ท่านย่อมไม่ยึดมั่นผูกพันอยู่กับสิ่งใดเลย ”

“ ตถาคตกล่าวว่าสิ่งของทั้งหลายไม่ใช่สิ่งของ ชีวิตทั้งหลายไม่ใช่ชีวิต สุภูติเอย ตถาคตคือผู้พูดทุกสิ่งตามที่เป็นจริง พูดแต่ความจริง พูดตรงกับความจริง ท่านไม่พูดลวงไม่หลง หรือพูดเพื่อเอาใจผู้คน สุภูติแม้นเราพูดว่า ตถาคตเห็นแจ้งในธรรมที่สั่งสอน คำสอนทั้งปวงนั้นก็ไม่ใช่สิ่งที่อาจติดตามยึดถือ หรือเป็นสิ่งลวงไร้แก่นสาร ”

“ ดูก่อน สุภูติ ถ้าพระโพธิสัตว์องค์ใดบำเพ็ญทานด้วยความสำคัญมั่นหมาย อุปมาดั่งบุคคลเดินอยู่ในความมืด เขาจะไม่เห็นสิ่งใด แต่ถ้าพระโพธิสัตว์บำเพ็ญทานโดยละความสำคัญมั่นหมายแล้วไซร้ อุปมาดั่งบุรุษตาดีเดินอยู่กลางแดดสว่าง เขาย่อมเห็นทุกสีสันทุกรูปทรง ”

“ สุภูติเอย ในอนาคตข้างหน้า ถ้ากุลบุตรกุลธิดาใดบังเกิด ศรัทธาเลื่อมใสพระสูตรนี้ ได้อ่านแล้วปฏิบัติตามแล้วไซร้ ตถาคตย่อมเห็นบุคคลผู้มีดวงตาแห่งปัญญาผู้นั้น ตถาคตจะรู้จักเธอและบุคคลนั้นก็จะประจักษ์ถึงผลอานิสงส์มากล้นสุดประมาณ จากบุญกุศลซึ่งเขาหรือเธอได้กระทำ ”

“ อนึ่งเล่า สุภูติ ถ้ากุลบุตรกุลธิดาใดสละชีวิตบำเพ็ญทานยามเช้ามากครั้งเท่าจำนวนเม็ดทรายในแม่น้ำคงคา แล้วยังบำเพ็ญทานยาม บ่าย ยามค่ำ และทำต่อไปไม่สิ้นสุดนับกัปกัลป์ กระนั้นบุคคลผู้สดับพระสูตรนี้ด้วยจิตศรัทธาไม่คัดค้านย่อมได้ความปีติปราโมทย์เป็นอานิสงส์มากมายกว่านั้นนัก แต่นั้นก็ไม่อาจเทียบได้กับความปีติปราโมทย์ที่จะบังเกิดแก่บุคคลผู้จดจำ คัดลอก ปฏิบัติ เจริญสาธยาย และอธิบายพระสูตรนี้เผยแผ่แก่ผู้อื่น

“ สุภูติเอย กล่าวโดยสรุป พระสูตรนี้มีคุณานิสงส์อันจะยังให้เกิดความสุขอย่างไม่อาจประมาณ แม้นว่าผู้ใดสามารถปฏิบัติ เจริญสาธยาย และประกาศเผยแผ่แก่ผู้อื่นด้วยแล้ว ตถาคตจะเห็นและรู้จักบุคคลนั้น ส่วนเขาหรือเธอผู้นั้นก็จะได้บุญกุศลอเนกอนันต์สุดจะเปรียบเทียบพรรณนา หรือประมาณได้ บุคคลเช่นนี้และจักสามารถเชิดชูพุทธาชีวะอันรู้ตื่น รู้เบิกบานแห่งตถาคต ไฉนจึงเป็นเช่นนั้น สุภูติ หากผู้ใดยังพอใจอยู่กับคำสอนเล็ก ๆ น้อย ๆ ถ้าเขาหรือเธอยังติดข้องอยู่กับความคิดเนื่องด้วยตัวตน บุคคล สัตวะ และชีวะแล้วไซร้ เขาหรือเธอย่อมไม่อาจฟังพระสูตรนี้ ไม่อาจปฏิบัติ ไม่อาจสาธยาย และอธิบายเผยแผ่แก่ผู้อื่นได้เลย สุภูติ ที่ใดมีพระสูตรนี้ที่นั่นย่อมเป็นสถานซึ่งเทวดา มนุษย์ และมารจักมาทำการสักการะ สถานที่นั้นคือ พุทธสถูป ควรแก่การกระทำพิธีกราบไหว้บูชา กระทำประทักษิณ ถวายดอกไม้และเครื่องหอม

“ สุภูติ ถ้ากุลบุตรกุลธิดาใดถูกดูหมิ่นกล่าวร้าย ขณะสาธยายพระสูตรนี้บาปกรรมทั้งหลายที่เขาหรือเธอเคยกระทำมาแต่ชาติปางก่อนตลอดจนอกุศลกรรมซึ่งอาจนำเขาหรือเธอสู่อบายภูมิก็จะหมดสิ้นไป เขาและเธอจะได้เสวยผลแห่งพุทธจิตอันรู้ตื่น รู้เบิกบานอยู่เป็นนิจ สุภูติเอย ณ เบื้องอดีตกาลโน้น ก่อนเราจะได้พบพระทีปังกรพุทธเจ้าเราเคยถวายเครื่องบูชา ได้เฝ้าปฏิบัติบูชาต่อพระพุทธเจ้าจำนวน 84,000 ล้านอสงไขยพระองค์ ถ้าในกาลข้างหน้าเมื่อถึงปลายสมัยแห่งพระสัทธรรม ยังมีบุคคลใดสามารถเลื่อมใส สาธยาย ศึกษา และปฏิบัติพระสูตรนี้ สุขานิสงส์ จากการบำเพ็ญกุศลนี้จักยิ่งใหญ่ไพศาลกว่าที่เราเคยได้รับในอดีตกาลเป็นล้านเท่า แท้จริงแล้วความปีติปราโมทย์นั้นไม่อาจประมาณ ไม่อาจเปรียบเทียบกับสิ่งใดแม้กับตัวเลข ความปีติปราโมทย์นั้นมากล้นคณนา ”

“ ดูก่อน สุภูติ สุขานิสงส์ซึ่งกุลบุตรกุลธิดาผู้เลื่อมใส สาธยาย ศึกษา และปฏิบัติพระสูตร จะได้รับเพราะกุศลอันบำเพ็ญ ณ ปลายสมัยแห่งพระสัทธรรมนั้นใหญ่หลวงนัก หากเราจะแจกแจงอธิบายไซร้บางคนจะสงสัยไม่เชื่อ เกิดวิจิกิจฉาขึ้นในจิต สุภูติเอย เธอพึงสำเหนียกไว้เถิดว่าอรรถธรรมแห่งพระสูตรนี้เป็นสิ่งไม่อาจคิดนึกหรือพรรณนาผลานิสงส์จากการเลื่อมใส และปฏิบัติพระสูตรก็เป็นสิ่งไม่อาจคิดนึก ไม่อาจพรรณนาได้ดุจเดียวกัน ”

ในกาลครั้งนั้น ภิกษุสุภูติได้กราบทูลถามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ขอประทานอนุญาต กราบทูลถามอีกครั้ง ว่าถ้ากุลบุตรกุลธิดาปรารถนาจะตรัสรู้ธรรมบรรลุจิตอันเลิศ รู้ตื่น รู้เบิกบานแล้วไซร้ เขาและเธอควรตั้งจิตและควบคุมจิตของตนอย่างไรพระเจ้าข้า ”

สมเด็จพระผู้มีพระภาคตรัสตอบ “ ดูก่อน สุภูติ กุลบุตรกุลธิดาผู้ปรารถนาจะตรัสรู้ธรรม บรรลุจิตอันเลิศ รู้ตื่น รู้เบิกบาน พึงตั้งจิตดังนี้ ‘ เราจักนำสรรพสัตว์ให้ถึงฝั่งแห่งความตื่น และเมื่อปวงสัตว์เหล่านั้นได้วิมุตติ หลุดพ้นเป็นอิสระแล้ว เราจักไม่คิดเลยว่าสัตว์ใดได้วิมุตติหลุดพ้นเป็นอิสระ ‘ ไฉนจึงเป็นเช่น สุภูติเอย ถ้าพระโพธิสัตว์ยังมีจิตยึดมั่นผูกพันอยู่กับตัวตน บุคคล สัตวะและชีวะแล้วไซร้ บุคคลนั้นหาใช่พระโพธิสัตว์แท้จริงไม่ ไฉนจึงเป็นเช่นนั้น ”

“ สุภูติ แท้จริงแล้วไม่มีธรรมารมณ์อิสระใดเรียกได้ว่า จิตอันเลิศ รู้ตื่น รู้เบิกบาน เธอคิดอย่างไรเล่า สุภูติ ณ เบื้องอดีตกาล เมื่อตถาคตอยู่ในสำนักของพระทีปังกรพุทธเจ้า ตถาคตได้บรรลุถึงจิตอันเลิศ รู้ตื่น รู้เบิกบาน กระนั้นหรือ ”
“ มิได้ พระเจ้าข้า ตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งข้าพระองค์เข้าใจไม่มีสิ่งใดเรียกได้ว่าจิตอันเลิศ รู้ตื่น รู้เบิกบาน พระเจ้าข้า ”

สมเด็จพระศาสดาตรัส “ อย่างนั้น อย่างนั้น สุภูติ แท้จริงแล้วมิได้มีสิ่งที่เรียกว่าจิตอันเลิศ รู้ตื่น รู้เบิกบาน อันตถาคตจะบรรลุได้เพราะเหตุว่าถ้ามีสิ่งนั้นแล้วไซร้ พระทีปังกรพุทธเจ้าย่อมไม่ทรงพยากรณ์แก่เราว่า ‘ ในอนาคตเบื้องหน้าเธอจักได้เป็นพระพุทธเจ้านามศากยมุนี ‘ คำพยากรณ์นี้มีได้ เพราะแท้จริงแล้ว ไม่มีธรรมบรรลุได้อันใดจึงจักเรียกได้ว่าจิตอันเลิศ รู้ตื่น รู้เบิกบาน ไฉนจึงเป็นเช่นนั้น ก็เพราะเหตุว่า ตถาคตย่อมหมายถึงความเป็นเช่นนั้นของสรรพสิ่ง (ธรรม) บุคคลอาจเข้าใจผิดเมื่อเขากล่าวว่า ตถาคตได้บรรลุจิตอันเลิศ รู้ตื่น รู้เบิกบาน อันตถาคตได้บรรลุนั้นใช่สิ่งที่อาจติดตามยึดถือ แต่ก็ใช่สิ่งอันเลื่อนลอยไร้แก่นสาร ด้วยเหตุดังนี้ ตถาคตจึงกล่าวว่า ‘ ธรรมทั้งปวงคือพุทธธรรม ‘ แท้จริงแล้วสิ่งที่เรียกว่าธรรมนั้นมิใช่ธรรม ดังนี้ ธรรมทั้งหลายจึงได้ชื่อว่าธรรม


“ ดูก่อน สุภูติ อุปมาดั่งบุคคลผู้มีรูปกายสูงมหึมา ”
สุภูติกราบทูล “ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สิ่งที่พระตถาคตตรัสเรียกว่า รูปกาย สูงมหึมานั้น แท้จริงแล้วมิใช่รูปกายสูงมหึมา ”

“ ดูก่อน สุภูติ โดยประการเดียวกัน ถ้าพระโพธิสัตว์มีมนสิการว่าท่านต้องช่วยสรรพสัตว์ให้หลุดพ้นเป็นอิสระแล้วไซร้ นั่นหาใช่พระโพธิสัตว์ไม่ ไฉนจึงเป็นเช่นนั้น สุภูติเอย ไม่มีธรรมารมณ์อิสระใดเรียกได้ว่าพระโพธิสัตว์ ด้วยเหตุดังนี้พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ธรรมทั้งปวงไม่เป็นตัวตน บุคคล สัตวะและชีวะ อนึ่ง สุภูติ ถ้าพระโพธิสัตว์มีมนสิการว่า ‘ เราจักตกแต่งพุทธเกษตรอันสงบงดงาม ‘ แล้วไซร้ บุคคลนั้นก็ยังมิใช่พระโพธิสัตว์ ไฉนจึงเป็นเช่นนั้น ก็เพราะเหตุว่าสิ่งซึ่งตถาคตเรียกว่าพุทธเกษตรอันสงบงดงามนั้น แท้จริงแล้วมิใช่พุทธเกษตรอันงดงาม ดังนี้จึงได้ชื่อว่าพุทธเกษตรอันสงบงดงาม ดูก่อน สุภูติ พระโพธิสัตว์องค์ใดเห็นแจ้งความไม่มีตัวตน ไม่มีธรรม ดังนี้แล้วตถาคตย่อมตรัสเรียกบุคคลเช่นนั้นว่า พระโพธิสัตว์แท้จริง ”

“ สุภูติ เธอคิดอย่างไรเล่า ตถาคตมีมังสจักขุฤา ”
สุภูติกราบทูล “ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระตถาคตเจ้าทรงมีมังสจักขุ พระเจ้าข้า ”
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถาม “ สุภูติ เธอคิดอย่างไรเล่าตถาคตมีทิพพจักขุฤา ”
สุภูติกราบทูล “ อย่างนั้นพระเจ้าข้า พระตถาคตทรงมีทิพพจักขุ ”
“ สุภูติ เธอคิดอย่างไรเล่า ตถาคตมีปัญญาจักขุฤา ”
สุภูติกราบทูล “ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระตถาคตทรงมีปัญญาจักขุ พระเจ้าข้า ”
“ สุภูติ เธอคิดอย่างไรเล่า ตถาคตมีธัมมจักขุฤา ”
“ อย่างนั้น พระเจ้าข้า พระตถาคตทรงมีธัมมจักขุ ”

สมเด็จพระผู้มีพระภาคตรัสถาม “ ตถาคตมีพุทธจักขุฤา ”
“ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระตถาคตทรงมีพุทธจักขุพระเจ้าข้า ”
“ สุภูติ เธอคิดอย่างไรเล่า พระพุทธเจ้าเห็นเม็ดทรายในแม่น้ำคงคาว่าเป็นเม็ดทรายฤา ไฉน
สุภูติกราบทูล “ ข้าแต่ผู้มีพระภาค พระตถาคตตรัสเรียกว่าเม็ดทราย ”

“ สุภูติ แม้นว่ามีคงคานทีมากเท่าจำนวนเม็ดทรายในแม่น้ำคงคา แล้วมีพุทธเกษตรให้แก่เม็ดทรายทุกเม็ดในคงคานทีเหล่านี้แล้วไซร้ เธอคิดว่าพุทธเกษตรย่อมมีจำนวนมากมายนักฤาไฉน ”
“ มากมายนักแล้ว พระเจ้าข้า ”

สมเด็จพระผู้มีพระภาคตรัส “ ดูก่อน สุภูติ ไม่ว่าสรรพสัตว์จะมีมากมายเท่าใด เท่าใดในพุทธเกษตรเหล่านั้น ไม่ว่าปวงสัตว์เหล่านั้นจะมีเจตสิกแตกต่างกันอย่างไร ตถาคตย่อมเห็นแจ้งในสัตว์ทั้งปวงนั้น เหตุไฉนจึงเป็นเช่นนี้ สุภูติ เพราะสิ่งที่ตถาคตเรียกเจตสิกที่แตกต่างกัน แท้จริงแล้วมิใช่เจตสิกที่แตกต่างกัน ดังนี้จึงได้ชื่อว่าเจตสิกที่แตกต่างกัน ”

“ ไฉนจึงเป็นเช่นนั้นเล่า สุภูติ ก็เพราะว่าจิตใจในอดีตเป็นสิ่งไม่อาจติดตามยึดถือ จิตในปัจจุบันและจิตในอนาคตก็ไม่อาจติดตามยึดถือได้เช่นกัน
“ เธอคิดอย่างไรเล่า สุภูติ ถ้าบุคคลใดบำเพ็ญทานบริจาคด้วยสัปตรัตนะจนเปี่ยมล้นทั่วสามล้านอสงไขยโลกธาตุ บุคคลนั้นจะได้ความปีติปราโมทย์ล้ำเลิศ เป็นผลานิสงส์จากการบำเพ็ญทานนั้นฤาไฉน ”
“ ล้ำเลิศนักแล้ว พระเจ้าข้า ”

“ ดูก่อน สุภูติ ถ้าความปีติปราโมทย์นี้อาจแยกจากสิ่งอื่น ๆ ได้ ตถาคตจักไม่กล่าวว่านั้นเป็นความ ล้ำเลิศ แต่เพราะเหตุที่ไม่อาจติดตามยึดถือ ตถาคตจึงกล่าวว่า ทานบริจาคอันบุคคลได้กระทำย่อมนำคุณา-นิสงส์ล้ำเลิศมาสู่เขา
“ สุภูติ เธอคิดอย่างไรเล่า จักพึงเห็นตถาคตได้ด้วยรูปกายอันสมบูรณ์กระนั้นหรือ ”
“ หามิได้ พระเจ้าข้า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค สิ่งที่พระตถาคตตรัสเรียกว่ารูปกายอันสมบูรณ์นั้น แท้จริงแล้วมิใช่รูปกายอันสมบูรณ์ ดังนี้จึงได้ชื่อว่ารูปกายอันสมบูรณ์ ”

“ เธอคิดอย่างไรเล่า สุภูติ จักพึงเห็นตถาคตได้ด้วยสรรพลักษณะอันสมบูรณ์กระนั้นหรือ ”
“ ยากนักพระเจ้าข้า ยากนักที่ใครจักพึงเห็นพระตถาคตได้ด้วยสรรพลักษณะอันสมบูรณ์นั้น ไฉนจึงเป็นเช่นนั้น ก็เพราะเหตุว่า สิ่งที่พระตถาคตตรัสเรียกสรรพลักษณะอันสมบูรณ์ แท้จริงแล้วมิใช่สรรพ-ลักษณะอันสมบูรณ์ ดังนี้จึงได้ชื่อว่าสรรพลักษณะอันสมบูรณ์ ”

“ สุภูติ จงอย่ากล่าวว่าตถาคตมีมนสิการว่า ‘ ตถาคตจะแสดงธรรมสั่งสอน ‘ อย่าคิดอย่างนี้ เพราะเหตุใดฤา ก็เพราะเหตุว่า ถ้าบุคคลกล่าวว่าตถาคตมีสิ่งจะสั่งสอน บุคคลนั้นย่อมกล่าวร้ายพระพุทธเจ้า เพราะเขาไม่เข้าในสิ่งที่ตถาคตกล่าวเลย สุภูติเอย การสนทนาธรรมนั้นแท้จริงแล้วมิได้มีการสนทนา ดังนี้จึงเป็นการสนทนาธรรมที่แท้จริง ”

ณ กาลนั้น ภิกษุสุภูติผู้ได้ดวงตาเห็นธรรมกราบทูลถามสมเด็จพระผู้มีพระภาคว่า “ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในอนาคตสมัย ยังจักมีสรรพสัตว์ใดเมื่อได้ฟังพระวจนะนี้แล้ว บังเกิดศรัทธาเลื่อมใสอยู่ฤาหนอ ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบ “ ดูก่อน สุภูติ สรรพสัตว์ทั้งปวงนั้นใช่มีชีวิตอยู่หรือไม่มีชีวิตอยู่ไฉนจึงเป็นเช่นนั้นเล่า สุภูติ ก็เพราะเหตุว่าสิ่งที่ตถาคตกล่าวว่าไม่มีชีวิต แท้จริงแล้วย่อมมีชีวิตอยู่ ”

สุภูติ กราบทูลถามสมเด็จพระผู้มีพระภาค “ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ จิตอันเลิศ รู้ตื่น รู้เบิกบาน อันสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบรรลุนั้นเป็นสิ่งไม่อาจบรรลุฤาไฉน ”
สมเด็จพระผู้มีพระภาคตรัสตอบ “ อย่างนั้น อย่างนั้น สุภูติ ถ้าว่าถึงจิตอันเลิศ รู้ตื่น รู้เบิกบานแล้ว เรามิได้บรรลุถึงสิ่งใด ดังนี้จึงเรียกว่าจิตอันเลิศ รู้ตื่น รู้เบิกบาน ”

“ อนึ่ง สุภูติ จิตมีอยู่ทุกแห่งหนเสมอกัน เพราะไม่มีสูง ไม่มีต่ำ จึงเรียกว่าสูงสุด เป็นจิตอันเลิศ รู้ตื่น รู้เบิก-บาน ผลานิสงส์ของจิตอันเลิศ รู้ตื่น รู้เบิกบาน จะประจักษ์ก็โดยการปฏิบัติอย่างไม่ยึดมั่นกับตัวตน บุคคล สัตวะและชีวะ สุภูติเอย สิ่งที่เรียกการปฏิบัตินั้น แท้จริงแล้วไม่มีการปฏิบัติเลย ดังนี้จึงได้ชื่อว่าการปฏิบัติที่แท้ ”

“ ดูก่อน สุภูติ ถ้าบุคคลบำเพ็ญทานบริจาคด้วยสัปตรัตนะกองสูงเทียมเขาพระสุเมรุ จนเปี่ยมล้นทั่วสามล้านอสงไขยโลกธาตุ สุขานิสงส์จากบุญกุศลนี้ก็ยังน้อยกว่าอานิสงส์ อันบุคคลจะได้รับจากการรู้เลื่อมใส ปฏิบัติ และอธิบาย วัชรเฉทิกปรัชญาปารมิตาสูตร เผยแผ่แก่ผู้อื่น ความปีติปราโมทย์อันบุคคลจักได้รับจากการปฏิบัติพระสูตรนี้ แม้เพียงคาถาเดียว สี่บาท ย่อมไม่อาจพรรณนาด้วยการยกตัวอย่างหรืออ้างตัวเลข ”

“ สุภูติ จงอย่ากล่าวว่า ตถาคตมีมนสิการว่า ‘ เราจักขนปวงสัตว์ข้ามสู่ฝั่งวิมุตติ ‘ จงอย่าคิดอย่างนั้น สุภูติ เพราะเหตุใดฤา ก็เพราะเหตุว่า แท้จริงแล้วไม่มีสัตว์ใดให้ตถาคตขนข้ามสู่ฝั่งโน้น ถ้าตถาคตมีมนสิการว่าสัตว์เหล่านั้นมีแล้วไซร้ จิตของเราย่อมติดข้องอยู่กับตัวตน บุคคล สัตวะและชีวะ

“ สุภูติเอย สิ่งที่ตถาคตเรียกตัวตน แท้จริงแล้วมิได้มีตัวตน อย่างที่ปุถุชนคิดกัน สุภูติ ตถาคตไม่สำคัญมั่นหมายบุคคลใดว่าเป็นปุถุชน ดังนี้จึงเรียกเขาได้ว่าปุถุชน ”
“ เธอคิดอย่างไรเล่า สุภูติ บุคคลจักพึงภาวนาถึงตถาคตได้ด้วยลักษณะ 32 ประการ กระนั้นหรือ ”
สุภูติกราบทูล “ อย่างนั้น พระเจ้าข้า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค บุคคลจักพึงภาวนาถึงตถาคตได้ด้วยลักษณะ 32 ประการ ”
สมเด็จพระผู้มีพระภาคตรัส “ ถ้าบอกกล่าวว่า เธออาจเห็นตถาคตได้ในลักษณะ 32 ประการ ดังนี้แล้วจักรพรรดิก็คือตถาคตด้วยเช่นกัน กระนั้นฤา ”
สุภูติกราบทูล “ ข้าแต่พระผู้เจริญ ข้าพระองค์เข้าใจพระธรรมที่ทรงแสดงบุคคลไม่ควรภาวนาถึงตถาคตด้วยลักษณะ 32 ประการ พระเจ้าข้า ”

ในกาลนั้นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเป็นคาถาว่า
“ บุคคลใดตามยึดตถาคตด้วยรูป
หรือด้วยเสียง
ย่อมผิดมรรควิธี
ฉะนี้เขาจะไม่เห็นตถาคตได้เลย ”

“ อนึ่ง สุภูติ ถ้าเธอคิดว่าตถาคตบรรลุจิตอันเลิศ รู้ตื่น รู้เบิกบาน แล้วไม่จำต้องมีลักษณะใด ๆ อย่างนี้เรียกว่าคิดผิด สุภูติ จงอย่าคิดอย่างนี้ อย่าคิดว่าเมื่อบุรุษใดบรรลุจิตอันเลิศ รู้ตื่น รู้เบิกบาน แล้วต้องพิจารณาว่าธรรมารมณ์ทุกชนิดเป็นสิ่งไม่มีอยู่ ขาดไปแล้วจากชีวิต จงอย่าคิดอย่างนั้น บุรุษผู้ลุถึงจิตอันเลิศ รู้ตื่น รู้เบิกบาน ย่อมไม่โต้แย้งว่าธรรมารมณ์เป็นสิ่งไม่มีอยู่ ขาดไปแล้วจากชีวิต ”

“ สุภูติ แม้นว่าพระโพธิสัตว์บำเพ็ญทานบริจาคด้วยสัปตรัตนะจำนวนมากเท่าเม็ดทรายในแม่น้ำ คงคา จนเปี่ยมล้นทั่วสามล้านอสงไขยโลกธาตุ สุขานิสงส์จากการบำเพ็ญบุญกุศลนี้ ก็ยังน้อยกว่าอานิสงส์อันบุคคลจักพึงได้รับเมื่อเขาแจ่มแจ้งเข้าใจ และเลื่อมใส ความจริงที่ว่าธรรมนั้นไม่มีตัวตน และเขายังมีชีวิตอยู่ด้วยสัทธรรมนี้ ไฉนจึงเป็นเช่นนั้นเล่า สุภูติ ก็เพราะเหตุว่าพระโพธิสัตว์ไม่จำต้องสั่งสมกุศลมูลและความปีติปราโมทย์ใด ๆ เลย ”

สุภูติทูลถามพระผู้มีพระภาค “ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระองค์หมายความว่าอย่างไรพระเจ้าข้า เมื่อทรงรับสั่งว่าพระโพธิสัตว์ไม่จำต้องสั่งสมกุศลมูลและความปีติปราโมทย์ใด ๆ ”
“ สุภูติ พระโพธิสัตว์ย่อมปลูกฝังสั่งสมกุศลมูลและความปีติปราโมทย์ แต่จิตท่านไม่ติดข้องอยู่กับกุศลมูลและความปีติปราโมทย์นั้น ด้วยเหตุดัง ตถาคตจึงกล่าวว่าพระโพธิสัตว์ไม่จำต้องสั่งสมกุศลมูลและความปีติปราโมทย์ใด ๆ ”
“ ดูก่อน สุภูติ ถ้าบุคคลกล่าวว่า สมเด็จพระผู้มีพระภาคทรงพระดำเนินมา ทรงพระดำเนินไป ประทับนั่ง และทรงไสยาสน์ บุคคลนั้นย่อมไม่เข้าใจสิ่งที่ตถาคตกล่าว ไฉนจึงเป็นเช่นนั้น ก็เพราะตถาคตหมายความว่า ‘ ไม่มาจากไหนและไม่ไปที่ไหน ‘ ดังนี้แลจึงเรียกว่าตถาคต ”

“ ดูก่อน สุภูติ ถ้ากุลบุตรกุลธิดาจักสลายสามล้านอสงไขยโลกธาตุให้เป็นปรมาณุภาค เธอคิดว่าปรมาณุภาคนั้นย่อมจักมากมายนักกระนั้นหรือ ”
สุภูติกราบทูล “ มากมายนัก พระเจ้าข้า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ไฉนจึงเป็นเช่นนั้น ก็เพราะว่า ถ้าปรมาณุภาคมีอยู่จริง พระตถาคตจักไม่ตรัสเรียกว่าปรมาณุภาค สิ่งที่พระตถาคตตรัสเรียกปรมาณุภาคแท้จริงแล้วมิใช่ปรมาณุภาค ดังนี้จึงอาจเรียกได้ว่าปรมาณุภาค ข้าแต่พระผู้มีพระภาค สิ่งที่ตถาคตตรัสเรียกโลกธาตุ แท้จริงแล้วมิใช่โลกธาตุ ดังนี้จึงเรียกได้ว่าโลกธาตุ เพราะเหตุใดฤา ก็เพราะเหตุว่าถ้าโลกธาตุมีอยู่จริง ก็ย่อมประกอบด้วยปรมาณุภาคซึ่งปรุงแต่งรวมกันอยู่ตามเหตุปัจจัย สิ่งที่พระตถาคตเรียกปรุงแต่งรวมกันอยู่แท้จริงแล้วมิได้ปรุงแต่งรวมกันอยู่เลย ดังนี้จึงได้ชื่อว่าปรุงแต่งรวมกันอยู่ ”

“ สุภูติ ที่เรียกว่าปรุงแต่งรวมกันอยู่เป็นเพียงวิธีพูดอย่างปรัมปรา มิได้มีอยู่จริงเลย มีแต่ปุถุชนเท่านั้นที่หลงยึดอยู่กับถ้อยคำปรัมปรานี้ ”
“ ดูก่อน สุภูติ ถ้าบุคคลกล่าวว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถึง อาตมทิฏฐิ ปุคคลทิฏฐิ และชีวะทิฏฐิแล้วไซร้บุคคลนั้นเข้าใจสิ่งที่ตถาคตกล่าวแสดงหรือไม่หนอ ”
“ หามิได้ พระเจ้าข้า บุคคลเช่นนั้นไม่เข้าใจพระตถาคต ไฉนจึงเป็นเช่นนั้น ก็เพราะว่า สิ่งที่พระตถาคตตรัสเรียก อาตมทิฏฐิ ปุคคลทิฏฐิ สัตวทิฏฐิ และชีวะทิฏฐิ แท้จริงแล้วมิใช่อาตมทิฏฐิ ปุคคลทิฏฐิ สัตวทิฏฐิ และชีวะทิฏฐิ ดังนี้จึงได้ชื่อว่า อาตมทิฏฐิ ปุคคลทิฏฐิ สัตวทิฏฐิ และชีวะทิฏฐิ ”

“ อนึ่ง สุภูติ บุคคลผู้บรรลุจิตอันเลิศ รู้ตื่น รู้เบิกบาน พึงรู้ว่านี่คือลักษณะแท้จริงของธรรมทั้งปวง เขาพึงเห็นว่าธรรมทั้งปวงเป็นเช่นนี้พึงเลื่อมใสต่อการเห็นธรรมทั้งปวงอย่างไม่สำคัญมั่นหมายในธรรม สุภูติเอย สิ่งที่ตถาคตเรียกความสำคัญมั่นหมายในธรรม แท้จริงแล้วมิใช่ความสำคัญมั่นหมายในธรรม ดังนี้จึงได้ชื่อว่าความสำคัญมั่นหมายในธรรม ”

“ ดูก่อน สุภูติ หากบุคคลบำเพ็ญทานบริจาคด้วยสัปตรัตนะจำนวนมหาศาลเกินคณนาจนเปี่ยมล้นทั่วสรรพโลกอันมีห้วงอากาศไม่สิ้นสุด สุขานิสงส์จากการบำเพ็ญบุญกุศลนี้ ไม่อาจเทียบได้กับความปีติปราโมทย์อันเป็นผลานิสงส์เมื่อกุลบุตรกุลธิดาได้บรรลุถึงจิตอันตื่น ได้อ่านสาธยายเลื่อมใส ปฏิบัติพระสูตรนี้ และอธิบายเผยแผ่แก่ผู้อื่น แม้เพียงคาถาเดียว สี่บาท อนึ่งจักพึงตั้งจิตอย่างไรในการเผยแผ่แสดงเล่า จงอย่ายึดมั่นผูกพันอยู่กับสัญญา อธิบายทุกสิ่งตามสภาวะแท้จริงโดยไม่หวั่นไหว ไฉนจึงเป็นเช่นนั้นเล่า ”

เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสแสดงพระสูตรจนจบลง พระสุภูติมหาเถระ บรรดาภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เทวดาและมาร ซึ่งประชุมสดับพระธรรมเทศนาพร้อมอยู่ ณ ที่นั้น ต่างปลาบ-ปลื้มยินดี บังเกิดความเลื่อมใส รับพระสัทธรรมไปปฏิบัติด้วยประการฉะนี้แล

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร :ภาคผนวก พระสุภูติเถระ
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 11, 2014, 04:14:17 pm »

ภาคผนวก
พระสุภูติเถระ

พระสุภูติเถระได้สั่งสมบุญทั้งหลายไว้แล้ว แม้ในชาติก่อนๆ ดังในสมัยของพระพุทธเจ้า องค์ปทุมุตตระ

สมัยนั้น ท่านได้บวชเป็นชฎิล (นักบวชที่เกล้าผมมุ่นเป็นมวยสูง ถือลัทธิบูชาไฟ บางครั้ง จัดเป็น พวกฤๅษี)สร้างอาศรมพำนักอยู่ที่ภูเขานิสภะ ซึ่งไม่ไกลจากภูเขาหิมพานต์  ท่านมีชื่อว่า โกสิยะ บำเพ็ญตบะ(ความเพียรเผาผลาญกิเลส)อยู่ผู้เดียว ไม่มีเพื่อน อาศัยใบไม้ และผลไม้ ที่หล่นเองเลี้ยงชีวิต ไม่บริโภคใบไม้และผลไม้ที่เด็ดจากต้น หรือแม้เง่ามันที่ขุด จากดิน นำจิตของตน ให้ยินดีในการยังชีพ อย่างนักบวช แม้ต้องสละชีวิต ก็ไม่ยอมเลี้ยงชีพ ในทางที่ ไม่สมควรแก่ นักบวช (อเนสนา)  มีอยู่วันหนึ่ง จิตของโกสิยชฎิลบังเกิดราคะ(กำหนัดยินดีในกาม)ขึ้นมา จึงอบรมเตือนตนเองว่า

“ เราผู้เดียวเท่านั้น ที่จะทรมานกิเลสตนได้ แต่ถ้าเรามีกำหนัดในอารมณ์ อันเป็นที่ตั้ง แห่งความกำหนัด ขัดเคืองในอารมณ์ อันเป็นที่ตั้งแห่งความขัดเคือง หลงใหลในอารมณ์ อันเป็นที่ตั้ง แห่งความหลงใหล จงออกไปเสียจากป่านี้เถิด
แม้ที่อยู่นี้ ก็เป็นที่อยู่ของผู้บริสุทธิ์ ไม่มีมลทิน มีแต่ตบะ จงอย่าประทุษร้ายผู้บริสุทธิ์เลย จงออกไปเสีย จากป่านี้ เป็นผู้ครองเรือนเถิด
เราอย่ายินดีแม้ทั้งสองอย่างนั้นเลย เพราะเปรียบเสมือนฟืนเผาศพ ที่เขาไม่ใช้ทำกิจอะไรอื่นๆแล้ว ไม่ใช่ทั้งไม้ในบ้าน ไม่ใช่ทั้งไม้ในป่า ฉันใด
เราก็ฉันนั้น เป็นดุจฟืนเผาศพ ไม่ใช่ทั้งคฤหัสถ์ ไม่ใช่ทั้งสมณะ(ผู้สงบระงับกิเลส) พ้นจากเพศทั้งสอง สิ่งนี้ พึงเกิดมีแก่เราหรือหนอ

วิญญูชน(ผู้รู้ผิดรู้ถูก) จะรังเกียจเรา เหมือนชาวเมืองรังเกียจของสกปรก ฤๅษี (นักบวชผู้แสวงธรรม) ทั้งหลายจะเอา ความผิดของเราไปโพนทะนา จะประจานเราว่า ล่วงละเมิดผิดต่อศาสนา ราวกับ ช้างแก่อายุ ๖๐ เสื่อมถอยกำลังแล้ว โดนขับออกจากโขลง ย่อมทุกข์เศร้าโศก ซบเซาอยู่ ฉันใด
แม้เราผู้มีปัญญาทราม มีศีลเสื่อมแล้ว ก็ฉันนั้น จะโดนชฎิลทั้งหลายขับไล่ ต้องทุกข์เศร้าโศก ทั้งกลางวัน และกลางคืน ไม่ได้ความสุขสำราญ
แม้เราอยู่ครองเรือน จะเป็นอยู่อย่างไร เพราะทรัพย์ทั้งหลายก็ไม่มีแล้ว คงต้องทำงาน อาบเหงื่อ ต่างน้ำ ซึ่งเราไม่ยินดีเลย ฉะนั้น เราต้องห้ามใจที่หมักหมมด้วยกิเลสเศร้าหมองนี้เสีย”

เมื่อพิจารณาธรรมนั้น แล้วบังคับจิตข่มใจ จนสามารถห้ามจิตจากบาปชั่วได้ โกสิยชฎิล จึงมีจิต คืนสู่ปกติ บำเพ็ญธรรมอาศัยอยู่ในป่าใหญ่นั้น ด้วยความไม่ประมาทสืบไป
กระทั่งวันหนึ่ง พระพุทธเจ้าองค์ปทุมุตตระเสด็จมายังที่อาศรมนี้ โกสิยชฎิลพอได้เห็นพระองค์ ก็เกิดความคิดอย่างนี้ขึ้นทันที
“นักบวชนี้แลดูน่าเลื่อมใสยิ่งนัก เป็นเทวดา(ผู้มีจิตใจสูง) หรือมนุษย์(ผู้มีใจประเสริฐ) หนอ เราไม่เคย ได้ฟัง หรือได้เห็นมาก่อนเลยในแผ่นดินนี้ หรือผู้นี้จะเป็นพระศาสดา”

คิดดังนั้นแล้ว จิตก็ยิ่งศรัทธาแรงกล้า จึงรวบรวมดอกไม้หอมต่างๆในที่นั้น นำมาปูลาด เป็นอาสนะ (ที่นั่ง) ดอกไม้อันวิจิตร เป็นที่น่ารื่นรมย์ใจ แล้วทูลนิมนต์ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อาสนะดอกไม้นี้สมควรแก่พระองค์ ข้าพระองค์จัดถวายไว้แล้ว โปรดทรง ทำจิตของข้าพระองค์ ให้ร่าเริง โดยประทับนั่ง บนอาสนะดอกไม้นี้เถิด”
พระศาสดาทรงรับ ด้วยอาการนิ่งอย่างดุษณีภาพ แล้วประทับนั่งสมาธิบนอาสนะ ดอกไม้ นั้น ๗ วัน ๗ คืน

เมื่อเป็นเช่นนี้ แม้โกสิยชฎิลก็ได้แสดงความนอบน้อม เคารพแด่พระองค์อย่างยิ่ง โดยกระทำ นมัสการ (กราบไหว้) พระองค์ตลอด ๗ วัน ๗ คืนเช่นกัน
ครั้นพระศาสดาทรงออกจากสมาธิแล้ว ได้ตรัสกับโกสิยชฎิล

“ท่านจงกระทำให้มากในพุทธานุสสติ(ระลึกถึงพระพุทธเจ้า) อันยอดเยี่ยมกว่าภาวนา (การทำให้ เกิดผล) ทั้งหลาย จะทำใจให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้ แล้วท่านจะได้รื่นรมย์อยู่ในเทวโลก (โลกของคน จิตใจสูง) ๒๐,๐๐๐ กัป(ชาติที่เกิด) จะได้เป็นจอมเทพ(หัวหน้าของคนจิตใจสูง) ๘๐ ครั้ง จะได้เป็น พระเจ้าจักรพรรดิ ๑,๐๐๐ ครั้ง จะได้เป็นพระเจ้าประเทศราช(เจ้าแห่งเมืองขึ้น) นับครั้งไม่ถ้วน และใน ๑๐๐,๐๐๐ กัป จะได้ชื่อว่า สุภูติเป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่า โคดม เป็นสาวก ผู้เลิศในสองด้าน คือ เป็นทักขิไณยบุคคล (บุคคลผู้ควรได้รับการทำบุญ) และเป็น ผู้อยู่โดยไม่มีข้าศึก (อรณวิหาร)”
ตรัสจบแล้ว พระศาสดาก็เสด็จจากไป


โกสิยชฎิลมีจิตเบิกบานยิ่งนักในคำพยากรณ์ของพระศาสดา ได้กระทำให้มาก ในพุทธานุสสติ ทุกเมื่อ จวบจนตลอดชีวิต ด้วยกุศลกรรม ที่ทำดีไว้แล้วนั้น จึงได้เวียนตายเวียนเกิด อยู่ในภพน้อย ภพใหญ่ ด้วยสุคติ (ทางดำเนินไปดี) เป็นดังที่พระศาสดาตรัสไว้

จนกระทั่งถึงยุคสมัยของพระพุทธเจ้าองค์สมณโคดม ก็ได้เกิด เป็นบุตรของ สุมนเศรษฐี ในนคร สาวัตถี ของแคว้นโกศล แล้วก็เป็นน้องชาย ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขาได้ชื่อว่า สุภูติ
มีอยู่คราวหนึ่ง เป็นวันที่อนาถบิณฑิกเศรษฐีได้ถวายวัดเชตวัน แด่พระผู้มีพระภาคเจ้า ในวันนั้น สุภูติ ก็ร่วมอยู่ด้วย เมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนา ของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ก็บังเกิด ความเลื่อมใส ยิ่งนัก จึงขอบวชอยู่ในพระพุทธศาสนา

บวชแล้วก็พากเพียรบำเพ็ญสมณธรรม(ข้อปฏิบัติของสมณะ) เจริญวิปัสสนา (ฝึกอบรมปัญญา ให้เกิด ความรู้แจ้งเห็นจริง) และกรรมฐาน (วิธีปฏิบัติลดละกิเลส อย่างเหมาะสมกับฐานะ) กระทำฌาน (อาการจิตแน่วแน่ สงบจากกิเลส) อยู่
วันหนึ่ง สุภูติภิกษุได้นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง เข้าสมาธิอันไม่มีวิตกอยู่ ในที่ไม่ไกลพระผู้มี-พระภาคเจ้า ครั้นพระองค์ได้ทอดพระเนตรแล้ว ทรงเปล่งอุทานออกมา
ผู้ใดกำจัดวิตกทั้งหลายได้แล้ว ถอนขึ้นด้วยดีแล้ว ไม่มีส่วนเหลือในภายใน ผู้นั้นพ้นกิเลส เครื่องข้องเกี่ยว ได้แล้ว มีความสำคัญนิพพานเป็นอารมณ์ พ้นโยคะ ๔ (กิเลสที่ผูกใจไว้ในความเกิด คือ ๑.กาม ๒.ภพ ๓.ทิฏฐิ ๔.อวิชชา) ได้แล้ว ย่อมไม่กลับมาเกิดอีก

นั่นคือพระสุภูติเถระได้บรรลุธรรม เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งแล้ว มีคุณวิเศษคือ ปฏิสัมภิทา๔ (รู้แตกฉาน ๔ ด้าน) วิโมกข์๘ (สภาวะจิตหลุดพ้นจากกิเลส ๘ ขั้นตอน) และอภิญญา ๖ (ความรู้ อันวิเศษยิ่ง ๖ อย่าง ที่ทำให้กิเลสหมดไป)
หลังจากพระสุภูติเถระได้บรรลุอรหัตตผลแล้ว ก็ออกจาริก(เดินทาง) ไปตามชนบทต่างๆ เพียรบำเพ็ญ ประโยชน์แก่ชนหมู่มาก กระทั่งถึง กรุงราชคฤห์ นครหลวงของแคว้นมคธ
พระเจ้าพิมพิสารราชาแห่งแคว้นมคธ ทรงสดับการมาของพระสุภูติเถระแล้ว เสด็จไปหา ด้วยความเคารพ เลื่อมใส ทรงนิมนต์พระเถระว่า
“นิมนต์พระคุณเจ้าผู้เจริญ โปรดพำนักอยู่ในที่นี้เถิด ข้าพเจ้าจะสร้างที่อยู่ถวาย”

แต่หลังจากเสด็จกลับไปแล้ว พระราชาก็ทรงลืมเรื่องสร้างที่พำนักนี้ พระเถระต้องอาศัยอยู่อย่าง ไม่มีที่ พำนัก ตากแดดตากลม ทั้งวันทั้งคืน ในที่แจ้ง ลำบากยิ่งนัก
ด้วยผลแห่งเหตุนี้ ทำให้ฝนไม่ตก

เมื่อฝนแล้ง ชาวนาชาวไร่ก็ลำบาก พากันเดือดร้อนไปทั่ว จึงรวมตัวกันร้องทุกข์กับ พระราชา พระองค์ ก็ทรงใคร่ครวญหาเหตุนั้น
“ทำไมหนอฝนจึงไม่ตกเลยระยะนี้”
พอดีทรงฉุกคิดขึ้นมาได้
“ชะรอยพระเถระต้องอยู่กลางแจ้ง ฝนจึงไม่ตก เพราะเราลืมสร้างกุฎี (กระท่อมที่อยู่ของนักบวช) เป็นแน่แท้”
ทรงดำริเช่นนั้นแล้ว รีบรับสั่งให้สร้างกุฎีมุงด้วยใบไม้ถวายพระเถระโดยเร็ว เสร็จแล้ว ได้นิมนต์ พระเถระว่า
“พระคุณเจ้าผู้เจริญ นิมนต์ท่านพำนักในกุฎีนี้เถิด”

พระเถระก็รับคำ แล้วเข้าพำนักในกุฎี นั่งขัดสมาธิบนที่นั่งซึ่งปูลาดด้วยหญ้า ตั้งจิตกำหนดใจเมตตา หมายบำบัดทุกข์ภัยแก่มหาชน แล้วจึงกล่าวว่า
ดูก่อนฝน กุฎีของเรามุงบังดีแล้ว มีเครื่องป้องกันอันสบายมิดชิดดี ท่านจงตกลงมา ตามสะดวกเถิด จิตของเรา ตั้งมั่นดีแล้ว หลุดพ้นแล้วจากกิเลสทั้งปวง เราเป็นผู้มีความเพียรอยู่ เชิญตกลงมาเถิดฝน
สิ้นคำประกาศ หยาดฝนก็โปรยปรายตกลงมาทันที ทำให้แผ่นดินชุ่มฉ่ำ ทั่วถึง มหาชน พากันดีใจยิ่ง

ก็ด้วยความมีเมตตา(จิตปรารถนาให้คนอื่นเป็นสุข)นี้เอง ไม่ว่าไปที่ใด พระเถระก็แสดงธรรม แก่มหาชน ทั่วหน้าอย่างเมตตายิ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้ าจึงทรงแต่งตั้งท่านไว้ ในตำแหน่ง ผู้เลิศกว่า ภิกษุทั้งปวงในด้านเป็นผู้อยู่โดยไม่มีข้าศึก (อรณวิหาร)
และก็ด้วยการเที่ยวบิณฑบาต อย่างมีเมตตายิ่งทั้งกายวาจาใจ ปรารถนาให้ผู้ทำบุญ ทั้งหลาย ได้รับ ผลบุญมาก นี้เองพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงแต่งตั้งท่านไว้ในตำแหน่ง ผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งปวง ในด้านทักขิไณยบุคคล (บุคคลผู้ควรได้รับการทำบุญ)

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร :ประวัติ พระสุภูติเถระ
« ตอบกลับ #4 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 11, 2014, 04:23:07 pm »



ประวัติ พระสุภูติเถระ
นำเสนอโดย…
พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล (ไชยฤทธิ์)

๑. สถานะเดิม
พระสุภูติเถระ นามเดิม สุภูติ เพราะร่างกายของท่านมีความรุ่งเรือง (ผุดผ่อง) อย่างยิ่ง
บิดานามว่า สุมนเศรษฐี ชาวเมืองสาวัตถี
มารดาไม่ปรากฏนาม
เกิดที่เมืองสาวัตถี เป็นคนวรรณะแพศย์

๒. ชีวิตก่อนบวช
พระสุภูติเถระ ในสมัยก่อนบวชตั้งแต่เป็นเด็กมา ได้รับการเลี้ยงดูและการศึกษาอย่างดีที่จะพึงหาได้ในสมัยนั้น เพราะบิดาของท่านเป็นเศรษฐีมีทรัพย์มาก

๓. มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
เมื่อพระศาสดาทรงอาศัยเมืองราชคฤห์ เป็นสถานที่ทำการประกาศพระพุทธศาสนา อนาถบิณฑิกเศรษฐีจากพระนครสาวัตถี ได้มาเยี่ยมราชคหเศรษฐีผู้เป็นสหายที่เมืองราชคฤห์ ได้ทราบข่าวการเสด็จอุบัติแห่งพระศาสดา จึงเข้าไปเฝ้าที่สีตวัน แล้วได้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผลพร้อมกับการเข้าเฝ้าเป็นครั้งแรก จึงได้กราบทูลอาราธนาพระศาสดาเพื่อเสด็จมายังสาวัตถี ได้สร้าง พระเชตวันมหาวิหารถวายเป็นที่ประทับ
   ในวันฉลองมหาวิหาร สุภูติกุฎุมพีไปกับอนาถบิณฑิกเศรษฐีฟังธรรมของพระศาสดา เกิดศรัทธาจึงทูลขอบวช พระศาสดาจึงทรงบวชให้ตามประสงค์

๔. การบรรลุธรรม
เมื่อเขาได้บวชในพระพุทธศาสนาแล้ว ได้ตั้งใจศึกษาพระธรรมวินัยจนเข้าใจแตกฉาน ต่อจากนั้นได้เรียนกรรมฐาน บำเพ็ญสมณธรรมอยู่ในป่า เจริญวิปัสสนากรรมฐาน ทำเมตตาฌานให้เป็นบาท แล้วได้บรรลุพระอรหัตต่อกาลไม่นาน

๕. งานประกาศพระพุทธศาสนา
พระสุภูติเถระเมื่อสำเร็จพระอรหัตผลแล้ว ท่านมีปฏิปทาที่พิเศษกว่าผู้อื่น คือเมื่อแสดงธรรมก็จะไม่ออกไปนอกจากนิยาม (กำหนด) ที่พระศาสดาทรงแสดงไว้ ไม่พูดถึงคุณหรือโทษของใคร เวลาเที่ยวไปบิณฑบาต ก่อนจะรับอาหารบิณฑบาต ท่านจะเข้าเมตตาฌานก่อน ออกจากฌานแล้วจึงรับอาหารบิณฑบาต ทำอย่างนี้ทุก ๆ เรือน ด้วยตั้งใจว่าทำอย่างนี้ผู้ถวายอาหารบิณฑบาตจะได้ผลบุญมาก ประกอบร่างกายของท่านสง่างาม และผิวพรรณผุดผ่อง จึงนำมาซึ่งความเลื่อมใสแก่บุคคลเป็นจำนวนมาก

๖. เอตทัคคะ
พระสุภูติเถระ อยู่อย่างไม่มีกิเลส แม้แต่การแสดงธรรมก็ไม่พูดถึงคุณหรือโทษของใคร จะเข้าเมตตาฌานอยู่ตลอดเวลา แม้ขณะเที่ยวไปบิณฑบาตดังกล่าวแล้ว เพราะอาศัยเหตุการณ์ทั้งสองนี้ พระชินสีห์จึงทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งที่เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้อยู่อย่างไม่มีกิเลสและเป็นพระทักขิไณยบุคคล

๗. บุญญาธิการ
แม้พระสุภูติเถระนี้ ก็ได้บำเพ็ญบารมีอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานมาช้านาน ในพุทธุปบาทกาลแห่งพระปทุมุตตรศาสดา ได้เห็นภิกษุรูปหนึ่ง ผู้ประกอบด้วยคุณสมบัติสองอย่างคือ อรณวิหาร (รณ แปลว่า กิเลส) การอยู่อย่างไม่มีกิเลส และความเป็นพระทักขิไณยบุคคลจึงเกิดศรัทธาปรารถนาจะเป็นเช่นนั้นบ้าง จึงได้สร้างบุญกุศลถวายพระทศพลมากมาย แล้วได้ตั้งความปรารถนา พระศาสดาทรงเห็นว่าจะสำเร็จแน่นอนจึงทรงพยากรณ์ว่า จะได้ในสมัยของพระพุทธโคดม ในที่สุดก็ได้สมปรารถนาทุกอย่างดังกล่าวมา

๘. ธรรมวาทะ
ผู้ต้องการจะทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ พยายามในสิ่งที่ไม่ควรพยายาม คงไม่ได้รับประโยชน์อะไร การประพฤติอย่างนั้น เป็นการกำหนดความเคราะห์ร้ายของเขา หากทิ้งความไม่ประมาท ซึ่งเป็นธรรมชั้นเอก ก็จะเป็นเหมือนคนกาฬกิณี หากทิ้งอินทรียธรรม (สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา) เสียทั้งหมด ก็จะปรากฏเหมือนคนตาบอด

ควรพูดแต่สิ่งที่ตนทำได้
ไม่ควรพูดสิ่งที่ตนทำไม่ได้
ผู้พูดสิ่งที่ตนทำไม่ได้
ย่อมถูกผู้รู้เขาดูหมิ่นเอา

๙. นิพพาน
พระสุภูติเถระ ได้ช่วยพระศาสดาประกาศพระพุทธศาสนาตลอดอายุของท่าน สุดท้ายได้ดับขันธปรินิพพาน เหมือนไฟที่ดับโดยหาเชื้อไม่ได้

:http://nitipatth.blogspot.com/2010/04/blog-post.html
:http://kuakiddeedee.wordpress.com/2013/07/