ผู้เขียน หัวข้อ: พระพุทธศานสนามหายานกับจีน  (อ่าน 1133 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
พระพุทธศานสนามหายานกับจีน
« เมื่อ: มีนาคม 01, 2014, 01:42:51 pm »

                     

พระพุทธศานสนามหายานกับจีน

พระพุทธศาสนาเผยแผ่เข้ามาใน สุวรรณภูมิส่วนหนึ่งเข้าไปสู่ธิเบต มองโกเลีย จีน เวียดนาม เกาหลี ญี่ปุ่น อีกส่วนหนึ่งในส่วนที่เมืองไทยรับเข้ามานั้นเป็นพุทธศาสนาหินยานนิกายเถรวาท ทําไมพระพุทธศาสนาซึ่งมีพระบรมศาสดาองค์เดียวกันแต่กลับมีหลายนิกายหลายลัทธิ ? นี่เป็นเพราะความยิ่งใหญ่ของพุทธศาสนานั่นเอง เสมือนต้นไม้ใหญ่ย่อมจะแผ่กิ่งก้านสาขาออกไปทุกทิศทางรวมถึงวัฒนธรรมจารีตประเพณีของกลุ่มชนในแต่ละท้องถิ่นที่รับเอาอิทธิพลพระพุทธศาสนาเข้าไป ก็มีส่วนอย่างมากในอันที่จะปรับเปลี่ยนโครงสร้างหลักให้มีความเหมาะสมกลมกลืนกับท้องถิ่น เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการรับไว้โดยแท้จริงถ้าจะว่าไปแล้ว ทุกศาสนาล้วนเป็นไปในแนวทางนี้ทั้งสิ้น ศาสนาเป็นเรื่องของความเชื่อความศรัทธาจําเป็นต้องมีการตรวจสอบโดยผู้ที่รับเข้ามาหรือผู้ที่มีศรัทธา เป็นการตรวจสอบโดยธรรมชาติอีกทางหนึ่ง

 หากมีศาสนานั้น ๆ มีความมั่นคงเข้มแข็งพอศาสนานั้นหรือความเชื่อนั้นก็จะดํารงตนเองต่อไปอีกยาวนาน จะมั่นคงยั่งยืนอยู่ในกลุ่มชนนั้น ๆ ชั่วลูกชั่วหลานเรียกว่าเป็นการตรวจสอบโดยมวลชนในท้องถิ่นนั้น ๆ ในคัมภีร์พุทธศาสนาก็ยังปรากฏพระพุทธวัจนะทำนองนี้ดังที่ว่า.....พระพุทธศาสนาจะยั่งยืนอยู่ได้ ก็ด้วยพุทธบริษัททั้ง 4 เป็นอาทิ ก็อีกนั่นแหละ ถ้าว่าไปแล้วก็เป็นธรรมดาของทุกศาสนาในโลกความที่ได้ผ่านการตรวจสอบของกาลเวลาและมีอายุการดํารงอยู่อย่างยืนยาวมันก็ต้องมีส่วนที่เป็นหลักเป็นเค้าโครงแท้จริงอยู่บ้างบวกเพิ่มเสริมแต่งเข้าไปบ้างสันนิษฐานเชิงวิชาการซ่อมแซมเข้าไปบ้าง

 ที่ไหน ๆ มันก็มีอรรถกถาจารย์อยู่เกลื่อนไปหมด เรื่องเช่นนี้จึงน่าจะเป็นเรื่องปกติธรรมดา บางส่วนก็เป็นแก่น บางส่วนก็เป็นกระพี้ อย่าลืมว่าศาสนาเป็นเรื่องของความเชื่อความศรัทธา ซึ่งเป็นหน้าที่ของจิตใจความคิดนึกโดยตรง เรื่องที่จะให้หลงผิดคิดไปคนละทางก็ย่อมเป็นไปได้ง่าย เหมือนลิงปอกกล้วยเข้าปาก เพราะแต่ละคนแต่ละชนชาติล้วนมีอัตตาเป็นที่ตั้งของตนทั้งสิ้น ยิ่งความเชื่อความศรัทธาแล้ว เป็นสิ่งที่เกิดจินตนาการได้อย่างหลากหลาย พระพุทธศาสนาก็ได้ชื่อว่าเป็นศาสนาแห่งความมีเหตุมีผล เป็นศาสนาในอาณาจักร์แห่งความคิดนึกโดยตรง นี่ก็ยิ่งเป็นเชื้อเพลิงอย่างดีสําหรับการจุดประกายความคิดนึกที่แตกต่างกันออกไปให้เรืองจรัสขึ้นมาได้

  วิธีที่ดีที่สุดสําหรับการรับรู้เรื่องราวของศาสนา นั่นก็คือเปิดใจให้กว้างรับฟังไว้ด้วยความเป็นบัณฑิต ดังคำพระท่านว่าโยนิโสมนสิการ ต้องมีทมะในการรับฟังสิ่งที่ต่างไปจากตน โดยการพิจารณาไตร่ตรอง จีนเป็นประเทศใหญ่ มีประชากรมากนับเป็นพันล้านพื้นที่กว้างขวางใหญ่โต ประมาณว่าพื้นที่เท่ากับ 1 ใน 15 ของพื้นที่โลก มีประชากรหลายเผ่าหลายพันธ์รวมกัน แต่ที่น่าทึ่งไปกว่านั้นคือมีประวัติศาสาตร์และมีประเพณีวัฒนธรรมยาวนานนับ เป็นพัน ๆ ปี ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องรุ่นแล้วรุ่นเล่า เต็มไปด้วยเรื่องราวที่น่าสนเท่ห์ อาณาจักร์อียิปต์ สุเมเรียน กรีก โรมัน แม้มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและยิ่งใหญ่ แต่ได้ขาดช่วงและล่มสลายไปแล้วก็มี บางส่วนก็ถูกกลืนไปผสมอยู่ในชนชาติและเผ่าพันธุ์อื่น ๆ ก็มีแต่จีนยังคงเป็นอาณาจักร์ที่มีวัฒนธรรมสืบต่อกันมายาวนานนับพันปีโดยไม่ขาดช่วงไม่ขาดตอน และรักษาจารีตความเป็นชนชาติแต่ดั้งเดิมไว้ได้จนทุกวันนี้ แถมยังเพิ่มดินแดนการปกครองเข้าไปอีกในปัจจุบัน เมื่อพุทธศาสนาแผ่เข้าสู่จีน จึงเป็นเรื่องที่น่าติดตามและควรแก่การค้นคว้าศึกษา ความเป็นมาและเป็นไปเหล่านี้อย่างยิ่ง

 โดยเฉพาะพุทธศาสนาในจีนนั้น หลักใหญ่เป็นพุทธศาสนานิกายมหายาน ซึ่งก็มีหลายลัทธิแตกแขนงสาขาออกไปอีก ด้วยกุศโลบายการเผยแผ่ธรรมของทั้งสองฝ่ายคือ มหายานและหินยาน ทําให้มีข้อแตกต่างกันในรายละเอียดหลายส่วน ต่างฝ่ายต่างก็สร้างจุดเด่นเพื่อดึงมวลชนให้เข้ามาเลื่อมใสศรัทธานิกายของตนให้มากที่สุด แต่โดยปรัชญาธรรมอันเป็นที่สุดแล้ว ก็มีความมุ่งหมายไปในทางเดียวกันคือ สันติสุขแห่งสังคมโลก ปัญหาพุทธศาสนาที่เกิดขึ้นในบ้านเรานั่น เป็นส่วนหนึ่งที่พยายามชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างของลัทธิและข้อดีข้อเด่นในแต่ละฝ่าย ซึ่งปัญหาลักษณะนี้หากได้ศึกษาลงลึกกันแล้วจะเห็นได้ว่ามันมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลขณะที่พระบรมศาสดาเจ้ายังคงพระชนม์ชีพด้วยซํ้า ไม่ใช่ของแปลกใหม่แต่ประการใด จะใหม่ก็แต่วิธีการรูปแบบของปัญหา แต่เนื้อหาสาระของปัญหาเป็นเรื่องเก่าแก่นานมาแล้ว เรื่องอย่างนี้จะผิดหรือถูกผมว่ามันอยู่ที่กาลเทศะมากกว่าไม่ใช่เรื่องปรัชญาหรือเชิงอรรถ

 พระพุทธศาสนาเผยแผ่เข้าสู่แผ่นดินจีนราวพุทธศตวรรษที่ 3 โดยประมาณสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นพุทธมหายาน ซึ่งต่อมาราวพุทธศตวรรษที่ 7 พุทธศาสนาฝ่ายมหายานก็จําเริญขึ้นอย่างเต็มที่ พระพุทธศาสนามหายานมีหลายนิกาย แต่ก็สามารถดํารงไว้คู่เคียงกับศาสนาเต๋า ซึ่งในต้นศตวรรษที่ 7 นั้นถือเป็นยุคทองของศาสนา(เต๋า)เข้าใจว่าพระพุทธศาสนาที่เผยแผ่เข้าสู่แผ่นดินจีนในครั้งกระนั้นน่าจะมีศาสนาพราหมณ์ปะปนเข้าไปบ้างแล้ว ครั้นต้องมาอยู่ในดินแดนถิ่นกําเนิดของศาสนา(เต๋า)ก็น่าจะได้รับอิทธิพลของเต๋าปะปนเข้าไปเช่นกัน ส่วนใหญ่จะสอดแทรกเข้ามาในรูปของพีธีกรรม เช่นเดียวกับพระพุทธศาสนาหินยานฝ่ายเถรวาทในบ้านเรา ซึ่งมีอิทธิพลของพราหมณ์เข้าเจือปนอยู่มาก ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นไปในรูปของพิธีกรรม ถ้าพิจารณาโดยภาพรวมทั้งหมดของฝ่ายมหายานจะพบว่า ประเด็นสําคัญที่แตกต่างกันออกไปมากจากหินยานเถรวาทนั้น มักจะเป็นคติในแง่ปรมัตถธรรม โดยพระพุทธศาสนาหินยานมุ่งเผยแผ่พระสัทธรรมในรูปของ ธรรมาธิษฐาน Expostion in terms of Truth อธิบายธรรมในเชิงซ้อนอิงหลักเหตุและผลตามความเป็นจริง เป็นแนวคิดที่ตรงไปตรงมาในแง่ของเนื้อหาสาระ ขณะที่พระพุทธศาสนามหายาน มุ่งไปที่แนวทางของ บุคลาธิษฐาน Personification อ้างอิงวัตถุธรรม หรืออาศัยกายภาพทางความคิด เป็นตัวสื่อยกเป็นข้อเปรียบเทียบที่สามารถสัมผัสจับต้องได้ (ทางกายและจิต) เป็นหลัก โดยอิงแนวปรัชญาธรรมและพิธีกรรม

 จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่พระพุทธศาสนามหายานจะมีพระสูตรต่าง ๆ มากมาย ซึ่งเดินเนื้อหาของเรื่องด้วยปรัชญาธรรมเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งง่ายต่อการทําความเข้าใจในเบื้องต้นสําหรับคนหมู่มาก สมกับชื่อของนิกายว่า มหายาน คล้ายเป็นพาหนะขนาดใหญ่ที่สามารถจะเคลื่อนย้ายผู้คนไปได้คราวละมากๆ เมื่อกล่าวถึงเรื่องราวของพระศาสนา ก็ต้องมีคําศัพท์เฉพาะทาง อ่านยาก ติดเข้ามาเป็นช่วง ๆ ไป ค่อยๆ อ่าน ค่อยๆ ทบทวนเอาแล้วกัน ตรงไหนที่พอจะอธิบายขยายความได้ โดยไม่ทําให้เสียเนื้อหาสาระส่วนใหญ่ก็จะพยายามแทรกเอาไว้ตามสถานการณ์

 คัมภีร์ทางฝ่ายหินยานเถรวาทยึดเอาบาลีเป็นหลัก ในขณะที่คัมภีร์ฝ่ายมหายานยึดเอาภาษาสันสกฤตเป็นหลักต้องแปลจากทั้งสองภาษามาเป็นไทย แล้วต้องแปลจากไทยเป็นไทยอีกต่อ หรือไม่ก็แปลเป็นภาษาอังกฤษเสียก่อนแล้วค่อยย้อนแปลเป็นภาษาไทยอีกทีหลายทอดหลายต่ออย่างนี้ นี่ก็เป็นอีกเหตุหนึ่งที่ทําให้เนื้อหาสาระของแท้ดั้งเดิมเสื่อมคลายไปมาก เป็นเรื่องของภาษาศาสตร์มากกว่า ด้วยเหตุนี้ มหายาน จึงมีจุดเด่นในการนําเสนอพระสัทธรรมเชิงบุคลาธิษฐาน เป็นที่ฮือฮาเฮโลกันไม่น้อยทีเดียว ซึ่งเชื่อว่า น่าจะถูกจริตคนไทยมากที่สุด โดยเฉพาะพระสูตรบทหนึ่งของ มหายานลัทธิสุขาวดี ซึ่งเข้าไปมีบทบาทในแผ่นดินจีนมากที่สุดในราวพุทธศตวรรษที่ 8 - 9 ซึ่งตรงกับช่วงสมัย (สามก๊ก) ตอนปลายที่แผ่นดินจีนระสํ่าระสายเข้าขั้นกลียุค

 นั่นคือพระคัมภีร์ อมิตายุสูตร หรืออมิตายุรธยานสูตร เรียกได้อีกหลายชื่อที่ออกไปในทํานองนี้ อันพรรณนาความว่าด้วยพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งตรงนี้เป็นส่วนสําคัญของเรื่องที่กําลังเขียนถึงด้วย แล้วจะเกี่ยวโยงไปถึงอัลบั้มซีดี บทเพลงบรรเลงสวด ที่ได้แนะนํากันไว้ก่อนหน้าแล้วในอมิตายุสูตรของพระพุทธศาสนามหายาน ปรากฏความในตอนหนึ่งว่า สมัยหนึ่งเมื่อครั้งพระบรมศาสดาเจ้าประทับอยู่ ณ. เชตวันวนาราม ซึ่งอนาถปิณฑิกเศรษฐีในกรุงสาวัตถีได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเป็นพุทธบูชา พร้อมด้วยสงฆ์สาวกประมาณ 1,250 พระองค์ ล้วนเป็นอรหันตขีณาสพ

 มีอาทิคือ พระสารีบุตรเถรเจ้า พระมหาโมคคัลลาน พระเรวัต พระจุฬปันถก พระนันท พระอานนัท พระราหุล พระควัมปติ พระปิณโฑลภารัทวาช พระกาฬุทายี พระมหากัปปิน พระวักกุลและพระอนิรุทธ เป็นต้น อีกทั้งพระมหาสาวกทั้งหลาย พระโพธิสัตว์ พระมหาสัตว์เช่นพระมัฌชุศรีกุมารภูต พระอชิตโพธิสัตว์ พระคันธหัสดินโพธิสัตว์ พระนิตโยทยุกโพธิสัตว์ อีกทั้งพระมหาโพธิสัตว์ทั้งหลายและเทพบุตรต่าง ๆ เป็นจํานวนมากมีท้าวสักกะเทวราชและท้าวสหัมปติพรหม เป็นต้น เข้าใจว่ารจนาจารย์ มีเจตนาจะยกอ้างเอาพระนามเหล่านี้ เป็นเสมือนหนึ่งสักขีพยาน เพื่อจะทําให้พุทธนิทานมหายานมีนํ้าหนัก เพื่อประโยชน์แห่งความเชื่อถือ หรือน่าเชื่อถือ ด้วยมีบุคคลในประวัติศาสตร์ร่วมสมัยพระพุทธองค์ ซึ่งหลายคัมภีร์ฝ่ายพุทธศาสนาให้การยอมรับ ปรากฏอยู่ในพระสูตรนี้ด้วย

 สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสแก่พระสารีบุตรเถรเจ้าว่าจากที่นี้ไป 100,000 โยชน์ เบื้องปัจฉิมทิศ ทิศตะวันตก มีโลกธาตุแห่งหนึ่งชื่อว่า สุขาวดี ในที่นั้นมีพระตถาคตอรหัตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงพระนามว่า อมิตยุส อมิตาภะพุทธเจ้า - อมิตายุร อมิตพุทธเจ้า - อานันทพุทธเจ้า เสด็จสถิตเสวยสุขารมณ์และแสดงพระธรรมอยู่ในบัดนี้ ดูก่อนสารีบุตรไฉนโลกธาตุนี้จึงได้ชื่อว่า สุขาวดีเล่า? ก็เพราะว่าสัตว์ทั้งหลายในที่นั้นหมายถึงดินแดนสุขาวดีพุทธเกษตรมณฑล - Sukavadee Buddha Land ไม่มีทุกข์กายหรือทุกข์ใจ มีแต่ความสุขทุกอย่างเหลือประมาณ เหตุนั้นจึงชื่อว่า สุขาวดี ดูก่อนสารีบุตร เธอเคยนึกหรือไม่ว่า เหตุไฉนพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น จึงทรงพระนามว่าอมิตาภะ

 ดูก่อนสารีบุตรอันว่ารัศมีแห่งพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ย่อมส่องไปไม่มีที่สุดทั่วทิศานุทิศ เหตุนั้นจึงทรงพระนามว่า อมิตาภะ อนึ่ง สารีบุตร ชนมายุแห่งพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นกับทั้งบริวารของพระองค์นั้นไม่มีกําหนดขีดคั่นชั่วกัลปาวสาน เหตุนั้นจึงทรงพระนามว่า อมิตาภะ คําว่าอมิตา อมิตะ อมิตาภะหรืออมิตายุร หรืออมตะ แปลว่าหาที่สุดมิได้ ไม่มีต้นไม่มีท่ามกลางและไม่มีที่สิ้นสุด เป็นอนันตกาล มีอายุยืนยาวหาที่สุดมิได้ มีพระรัศมีแผ่ไปไม่รู้จบสิ้น พระรูปของพระพุทธเจ้าองค์นี้จึงมีเครื่องหมายสวัสติกะอยู่ตรงกลางพระอุระเสมอ ซึ่งตรงกับอักษรจีนอ่านว่า ว่าน แปลว่าหมื่น หมายถึงมีอายุนับเป็นหมื่น ๆ ปีนั่นเอง ความในพระสูตรนี้มีอีกมาก ยกมาเฉพาะส่วนที่เป็นสาระของเรื่องที่จะดําเนินไปเท่านั้น นอกจากพระบรมศาสดาเจ้าได้แสดงธรรมถึงองค์พระอมิตาภะพุทธเจ้าแล้ว ยังได้สาธยายถึงดินแดนแห่งสุขาวดีหรือพุทธเกษตรมณฑลในแง่ภูมิศาสตร์ รัฐศาสตร์ ปรัชญาสังคม และความงดงามร่มรื่นเป็นความมหัศจรรย์อีกมากมายสุดพรรณนา รวมความถึงได้ทรงจําแนกพระพุทธเจ้าอีกจํานวนมาก

ซึ่งปรากฏอยู่ในโลกธาตุในทิศต่าง ๆ พระพุทธศาสนาหินยานฝ่ายเถรวาท มีคติเรื่องโลกธาตุเอาไว้เพียง 31 โลกธาตุเท่านั้น นั่นคือการจําแนกสวรรค์เรียงลําดับชั้นจากโลกมนุษย์ขึ้นไปเช่น สวรรค์ที่ต่อแดนกับมนุษย์โลกคือ สวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา มนุษย์โลก - เทวโลก - พรหมโลก ถือว่าติดกับโลกมนุษย์มากที่สุด แล้วก็เรียงลําดับโลกธาตุขึ้นไปเป็นสเต็ปและไกลออกไปจนสุดขอบเขต ชนิดที่ไม่มีกลางวันกลางคืน พ้นรัศมีจากระบบสุริยจักรวาล แสงดวงอาทิตย์สาดส่องไปไม่ถึงสุดเขตแดนสุญญากาศ นั่นคือสวรรค์ชั้น เนวสัญญานาสัญญยตน เป็นที่สถิตของ อรูปพรหม ในทางเต๋าเชื่อกันว่าองค์เต่าหมู่เทียนจุน ก็ประทับอยู่ที่สวรรค์ชั้นนี้ แต่ฝ่ายมหายานนั้นมีโลกธาตุหรือโลกอื่นๆนอกจากโลกมนุษย์อีกมาก ซึ่งลําดับในชั้นต้นนั้น จากคัมภีร์หลายฝ่ายก็สอดคล้องกัน จะแตกต่างกันไปบ้างก็ในช่วงปลาย

 ซึ่งพระศากยมุนีพุทธเจ้าก็ทรงลําดับเอาไว้ในพระสูตร ฝ่ายมหายาน ที่ว่านี้เช่นกัน นอกจากความเชื่อซึ่งเป็นคติของพุทธศาสนามหายานในเรื่องโลกธาตุแห่งหนึ่งคือ แดนสุขาวดีพุทธเกษตรมณฑลแล้ว ลัทธิตรีกายที่มีคติว่าพระพุทธเจ้ามี 3 กาย ก็มีบทบาทอย่างมากในนิกายนี้เช่นกัน แต่มีประเด็นหนึ่งซึ่งเป็นประเด็นที่โดดเด่นมาก ๆ สำหรับพุทธนิกายมหายานซึ่งทำให้นิกายนี้ต่างไปจากหินยานเถรวาทอยู่ไม่น้อย นอกจากสองสามประเด็นที่ว่ามาแล้ว ประเด็นที่ว่านี้ก็คือเรื่องราวของ พระโพธิสัตว์ ในพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทไม่ค่อยจะได้พบคำนี้บ่อยนักแต่ถ้าเป็นคัมภีร์หรือพระสูตรต่าง ๆ ของมหายานที่มีมากมายนั้น พระโพธิสัตว์กลายเป็นอีกจุดเด่นหนึ่งและมหายานให้ความสำคัญมากทีเดียว

 (แนะนำให้อ่านบทความ “ พระโพธิสัตว์คือใคร ” เพื่อความสอดคล้องของเนื้อหาสาระ)
 :http://www.tewaracha.com/ceremonial-who-potisut.shtml
 บทความโดย... ธนกฤต เสรีรักษ์
 พฤศจิกายน 2550
                     ******************************

 พระโพธิสัตว์ : ผู้ที่มุ่งเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
 ใครก็ตามจะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะต้องผ่านขั้นตอนของการเป็นพระโพธิสัตว์เสียก่อน ในพระพุทธศาสนาเถรวาท พระโพธิสัตว์ หมายถึง ผู้ปรารถนาให้ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาจากคำภาษาสันสกฤตว่า "โพธิสตฺตฺว" ตรงกับคำภาษาบาลีว่า "โพธิสตฺต" แปลว่า "ผู้ข้องอยู่ในพระโพธิญาณ" ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า a Buddha- to- be , Enlightenment-being
 เพื่อ.. อ่านต่อค่ะ >>>
 :http://www.dharma-gateway.com/buddha/buddha-misc/bd-misc-12.htm

                    ******************************
 นำมาแบ่งปันโดย sunset
 :http://sunset-kim.blogspot.com/2014/02/blog-post_28.html