พระวินัยลัทธิมหายาน
เสถียร โพธินันทะ
ลัทธิมหายานมิได้มีภิกขุปาฎิโมกข์เป็นเอกเทศ คงปฏิบัติวินัยบัญญัติตามพระปาฏิโมกข์ของฝ่ายสาวกยาน แต่มีแปลจากฝ่ายสาวกยานคือ โพธิสัตว์สิกขา เพราะลัทธิมหายานสอนให้มุ่งพุทธภูมิ บุคคลจึงต้องประพฤติโพธิจริยา มีศีลโพธิสัตว์เป็นที่อาศัย วินัยโพธิสัตว์นี้ สาธารณะทั่วไปแม้แก่ฆราวาสชนด้วย มีโพธิสัตว์กุศลศีลสูตร ๙ ผูก พุทธปิฎกสูตร ๔ ผูก พรหมชาลสูตร (ต่างฉบับกับบาลี) ๒ ผูก โพธิสัตว์ศีลมูลสูตร ๑ ผูก และอื่นๆ อีก พึงสังเกตว่าเรียกคัมภีร์เหล่านี้ว่า “สูตร” มิได้จัดเป็นปิฎกหนึ่งต่างหาก
อรรถกถาพระสูตรของคันถรจนาจารย์อินเดีย
มี ๓๓ ปกรณ์ เช่น มหาปรัชญาปารมิตาศาสตร์ ๑๐๐ ผูก แก้คัมภีร์มหาปรัชญาปารมิตาสูตร ทศภูมิวิภาษาศาสตร์ ๑๕ ผูก สัทธรรมปุณฑริกสูตรอุปเทศ ๒ ผูกเป็นอาทิ.
อรรถกถาพระสูตรของคันถรจนาจารย์จีน
มี ๓๘ ปกรณ์ เช่น อรรถกถาพุทธาวตํสกมหาไพบูลยสูตร ๖๐ ผูก และปกรณ์ประเภทเดียวกันอีก ๕ คัมภีร์ นอกนั้นมีอรรถกถาลังกาวตารสูตร ๘ ผูก อรรถกถาวิมลกีรตินิทเทศสูตร ๑๐ ผูก อรรถกถาสุวรรณประภาสสูตร ๖ ผูก อรรถกถาสัทธรรมปุณฑริกสูตร ๒๐ ผูก อรรถกถามหาปรินิรวาณสูตร ๓๓ ผูก เป็นอาทิ.
ปกรณ์วิเศษของคันถรจนาจารย์อินเดีย
มี ๑๐๔ ปกรณ์ เช่นโยคาจารภูมิศาสตร์ ๑๐๐ ผูก ปกรณารยวาจาศาสตร์การิกา ๒๐ ผูก มหายานอภิธรรมสังยุกตสังคีติศาสตร์ ๑๖ ผูก มหายานสัมปริครหศาสตร์ ๓ ผูก มัธยานตวิภังคศาสตร์ ๒ ผูก เหตุวิทยาศาสตร์ ๑ ผูก มหายานศรัทโธตปาทศาสตร์ ๒ ผูก มาธยมิกศาสตร์ ๔ ผูก ปรัชญาประทีปศาสตร์ ๑๕ ผูก มาธยมิกนยายศาสตร์ ๒ ผูก ศตศาสตร์ ๒ ผูก มหายานานวตารศาสตร์ ๒ ผูก มหายานโพธิสัตว์ศึกษาสังคีติศาสตร์ ๑๑ ผูก มหายานสูตราลังการ ๑๕ ผูก ชาตกมาลา ๑๐ ผูก มหาปุรุษศาสตร์ ๒ ผูก สังยุกตอวทาน ๒ ผูก ทวาทศทวารศาสตร์ ๑ ผูก นอกนั้นก็เป็นปกรณ์สั้นๆ เช่น วิชญาณมาตราตรีทศศาสตร์ วีศติกวิชญาณมาตราศาสตร์ อลัมพนปริกษศาสตร์ อุปายหฤทัยศาสตร์ หัตถธารศาสตร์ วิชญาณประวัติศาสตร์ วิชญาณนิทเทศศาสตร์ มหายานปัญจสกันธศาสตร์ เป็นอาทิ.
ปกรณ์วิเศษของคันถรจนาจารย์จีน
มี ๑๔ ปกรณ์เป็นคัมภีร์ประเภทฎีกาแก้ปกรณ์วิเศษรจนาโดยคันถรจนาจารย์อินเดีย มี ๑๑ ปกรณ์ รจนาโดยคันถรจนาจารย์จีนมี ๑๘ ปกรณ์ คัมภีร์ปกิณณกคดีที่อธิบายหลักธรรมบ้าง ที่เป็นประวัติบ้าง ของคันถรจนาจารย์อินเดียรวบรวมไว้ก็ดี รจนาขึ้นใหม่ก็ดี มีทั้งของฝ่ายพาหิรลัทธิด้วย รวม ๕๐ ปกรณ์ อาทิเช่น พุทธจริต ๕ ผูก ลลิตวิสตระ ๒๐ ผูก นาคเสนภิกษุสูตร (มิลินทปัญหา) ๓ ผูก อโศกอวทาน ๕ ผูก สุวรรณสัปตติศาสตร์ ของลัทธิสางขยะ ๓ ผูก และไวเศษิกปทารุถศาสตร์ของลัทธิไวเศษิก ๑ ผูก เป็นต้น
ส่วนปกรณ์ปกิณณกคดีประเภทต่าง ๆ ของนิกายมหายานในประเทศจีน มีนิกายเทียนไท้ นิกายเฮี่ยงซิ้ว นิกายเซ็น นิกายสุขาวดี นิกายวินัยกับนิกายอื่น ๆ อีก รวมทั้งประเภทประวัติศาสตร์ และจดหมายเหตุที่รจนารวบรวมไว้ โดยคันถรจนาจารย์จีน มีประมาณ ๑๘๖ ปกรณ์ ปกรณ์เหล่านี้ มีทั้งชนิดยาวหลายสิบผูก และชนิดสั้นเพียงไม่กี่หน้ากระดาษ.
ความสำเร็จแห่งพระไตรปิฎกฉบับจีน ดังพรรณนามา เกิดจากความวิริยะ อุตสาหะ ของท่านธรรมทูตทั้งหลายผู้ภักดีศาสนา ซึ่งมีทั้งที่เป็นชาวอินเดีย ชาวอาเซียกลาง และชาวจีน ได้แปลถ่ายจากภาษาสันสกฤตออกเป็นภาษาจีน ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ง่ายดายเลย อักษรศาสตร์สันสกฤต และอักษรศาสตร์จีน มีความยากลึกซึ้งขนาดไหน และมีลีลาแตกต่างกันในเชิงไวยากรณ์ขนาดไหน ย่อมเป็นที่ประจักษ์แก่ผู้ศึกษาอักษรศาสตร์ทั้ง ๒ ชาตินั้นแล้ว
ยิ่งในการแปลนี้ เป็นการถ่ายทอดปรมัตถธรรมของพระศาสนา อันมีอรรถรสสุขุมล้ำลึกนักหนา ก็ยิ่งทวีความยากเย็นขึ้นอีกหลายเท่าทวีคูณ แต่บรรดาท่านธรรมทูตเหล่านั้นก็พยายามบากบั่นผลิตงานของท่านขึ้นสำเร็จจนได้ ควรแก่การเคารพสรรเสริญของปัจฉิมาชนตาชน อย่างยอดยิ่ง
เราพอจะแบ่งระยะกาลแปลคัมภีร์อย่างกว้าง ๆ ได้ ๙ สมัย คือ
๑. สมัยวงศ์ฮั่นยุคหลังถึงต้นวงศ์ถัง (พ.ศ. ๖๑๐-๑๒๓๗) ในระยะเวลา ๖๖๓ ปีนี้ มีธรรมทูตทำงานแปลรวม ๑๗๖ ท่อน ผลิตคัมภีร์ ๙๖๘ คัมภีร์ ๔,๕๐๗ ผูก
๒. สมัยกลางวงศ์ถัง ถึงวงศ์ถังตอนปลาย (พ.ศ. ๑๒๗๓-๑๓๓๒) มีธรรมทูตทำงานแปล ๘ ท่าน
๓. สมัยปลายวงศ์ถัง ถึงต้นวงศ์ซ้อง พ.ศ. ๑๓๓๒-๑๕๘๐) มีธรรมทูตทำงานแปล ๖ ท่าน
๔. สมัยวงศ์ช้อง ถึงวงศ์หงวน (พ.ศ. ๑๕๘๐-๑๘๒๘) มีธรรมทูตทำงานแปล ๔ ท่าน
ในจำนวนธรรมทูต ๔ สมัย ๑๙๔ ท่านนี้ ผู้ที่มีเกียรติคุณเด่นมีรายนามต่อไปนี้ อันสิธเกา, ธรรมกาละ, ธรรมนันทิ, อภยะ, ธรรมรักษ์, ศิริมิตร, สังฆเทวะ, กุมารชีพ, ปุณยาตระ, พุทธยศ, พุทธชีวะ, พุทธภัทร, สังฆภัทร, คุณภัทร, โพธิรุจิ, ปรมัตถะ, กาลยศ, ธรรมมิตร, พุทธคุปตะ, ธรรมคุปตะ, สังฆปาละ, ฟาเหียน, เฮี่ยงจัง, เทพทหาร, ศึกษานันทะ, อี้จิง, วัชรโพธิ, สุภกรสิงหะ ,มโมฆวัชระ, ปรัชญา, ธรรมเทวะ, สันติเทวะ, ทานปาละเป็นต้น ในบรรดาท่านเหล่านั้นมีพิเศษอยู่ ๕ ท่าน ที่ได้รับยกย่องว่าเป็น “นักแปลคัมภีร์อันยิ่งใหญ่” คือ
๑. พระกุมารชีพ เลือดอินเดียผสมคุจะ มาประเทศจีนเมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ ๙ แปลคัมภีร์ ๗๔ ปกรณ์ ๓๘๔ ผูก
๒. พระปรมัตถะ ชาวอินเดียแคว้นอุชเชนี มาประเทศจีนเมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๐ แปลคัมภีร์ ๖๙ ปกรณ์ ๒๗๘ ผูก
๓. พระสมณะเฮี่ยงจัง ชาวมณฑลโฮนาน จาริกไปอินเดียศึกษาพระธรรมวินัย เมื่อ พ.ศ. ๑๑๗๒ กลับประเทศจีนเมื่อ ๑๑๘๘ แปลคัมภีร์ ๗๙ ปกรณ์ ๑,๓๓๐ ผูกหรือ ๑,๓๒๕ หรือ ๑,๓๓๕ ผูกไม่แน่)
๔. พระสมณะอี้จิง ชาวเมืองฟันยาง จาริกไปอินเดียศึกษาพระธรรมวินัย เมื่อ พ.ศ. ๑๒๑๔ กลับประเทศจีนเมื่อ พ.ศ. ๑๒๓๗ แปลคัมภีร์ ๕๖ ปกรณ์ ๒๓๐ ผูก
๕. พระอโมฆวัชระ เชื้อสายอินเดียเหนือ แปลคัมภีร์ เมื่อ พ.ศ. ๑๒๘๙-๑๓๑๔ จำนวน ๗๗ ปกรณ์ ๑๐๑ ผูก.
งานถ่ายทอดพระธรรมวินัยดังพรรณนานั้น ได้รับพระบรมราชูปถัมภ์จากพระมหากษัตริย์ จึงสามารถดำเนินไปได้โดยเรียบร้อย พระเจ้าแผ่นดินมีพระราชโองการแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานขึ้นคณะหนึ่ง มีการแบ่งหน้าที่เป็นแผนกหรือตำแหน่งดังนี้
๑. ประธานในการแปล ต้องเป็นผู้รอบรู้ในภาษาสันสกฤต หรือภาษาอินเดียภาคต่าง ๆ รวมทั้งภาษาเอเซียกลางด้วย เป็นผู้ควบคุมพระคัมภีร์ ที่แปลโดยตรง
๒. ล่ามในการแปล ได้แก่ผู้รู้ภาษาสันสกฤตหรือภาษาของท่านธรรมทูต และภาษาจีนดี ฟังคำอธิบายในข้อความในคัมภีร์สันสกฤตจากผู้เป็นประธานแล้วก็แปลเป็นภาษาจีนโดยมุขปาฐะ สำหรับล่ามนั้นไม่จำเป็นต้องใช้เสมอไป ถ้าประธานมีความรู้ในภาษาจีน
๓. ผู้บันทึก ได้แก่ผู้คอยจดคำแปลของล่ามลงเป็นอักษรจีน ถ้าประธานแตกฉานในอักษรศาสตร์จีนดี ก็ไม่ต้อง เพราะเขียนเองได้
๙. ผู้สอบต้นฉบับ ได้แก่ผู้ตรวจสอบ ผู้ทานดูข้อความแปล ที่จดไว้จะตรงกับต้นฉบับหรือไม่
๕. ผู้ตกแต่งทางอักษรศาสตร์ ได้แก่ผู้มีหน้าที่ตกแต่งภาษาจีน ซึ่งแปลจดไว้แล้วให้สละสลวยถูกต้องตามลีลาไวยากรณ์ของจีน ฟังไม่เคอะเขินหรือกระด้างหู ทั้งนี้เพราะล่ามก็ดี ผู้บันทึกก็ดี จำต้องรักษาถ้อยคำให้ตรงกับต้นฉบับ ซึ่งในบางกรณีลีลาโวหารอาจกระด้าง หรือไม่หมดจดก็ได้
๖. ผู้สอบอรรถรส ได้แก่ผู้มีหน้าที่ตรวจสอบฉบับแปลจีนนั้นให้มีอรรถรส ตรงกันกับต้นฉบับโดยทุกประการ
๗. ผู้ทำหน้าที่ธรรมภิคีติ ได้แก่การสวดสรรเสริญสดุดีคุณพระรัตนตรัย ก่อนที่จะเริ่มงานแปลทุกวาระ หรือสวดสาธยายข้อความในพระคัมภีร์ที่แปลนั้น พูดง่าย ๆ ก็คือเจ้าหน้าที่พิธีการนั่นเอง
๘. ผู้ตรวจปรู๊ฟ เมื่อเขาแปลและจดกันเป็นที่เรียบร้อยหมดจดทุกอย่างแล้ว ก็ปรู๊ฟกันอีกทีหนึ่งเพื่อให้ถูกต้อง กันผิดพลาด หากจะมีอะไรหลงหูหลงตาบ้าง
๙. เจ้าหน้าที่ฝ่ายราชการ ซึ่งจะต้องเป็นขุนนางผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์ มีหน้าที่คอยดูแลให้มีจตุปัจจัยสมบูรณ์ และคอยอุปการะผู้ถวายความสะดวกแก่คณะกรรมการ ตลอดจนเป็นผู้กราบบังคมทูลพระเจ้าอยู่หัวให้ทรงทราบถึงผลงาน บางครั้งเมื่อคัมภีร์ปกรณ์หนึ่ง ๆ แปลจบลง ก็นำถวายขอพระราชนิพนธ์บทนำ
เมื่อพิจารณาการดำเนินงานอย่างนี้แล้ว ก็ทำให้มั่นใจว่า พระไตรปิฎกจีนพากย์นี้มีข้อแปลผิดพลาดได้น้อยแต่ถึงกระนั้น เนื่องด้วยในสมัยต้น ๆ แห่งการแปลคัมภีร์ ท่านผู้แปลที่เป็นประธานเป็นชาวต่างชาติ จะต้องมาตั้งต้นเรียนรู้ภาษาจีน ต่อเมื่อเข้ามาเมืองจีนแล้ว ก็ยากที่จะซาบซึ้งถึงขนาดเช่นชาวจีนเองได้ ฉะนั้นจึงมีข้อบกพร่องอยู่บ้าง แต่ก็เป็นเรื่องลีลาโวหารทางอักษรศาสตร์จีน มิได้ผิดพลาดกับอรรถรส
ที่น่าประหลาดอยู่คือ ท่านกุมารชีพเป็นคนต่างชาติแท้ ๆ สามารถแปลได้อย่างวิจิตร จนจัดสำนวนของท่านอยู่ในอันดับวรรณคดีชั้นสูงของจีน ส่วนท่านสมณะเฮี่ยงจัง และท่านสมณะอี้จิงนั้น มิพักต้องกล่าวถึงละ เพราะท่านเป็นชาวจีน และยังแตกฉานในภาษาสันสกฤตออย่างเอกอุ ยิ่งท่านเฮี่ยงจังด้วยแล้ว ท่านสามารถรจนาปกรณ์วิเศษได้ในภาษานั้นๆ จึงหาข้อบกพร่องใด ๆ ในคัมภีร์ที่ท่านทั้งสองแปลไว้มิพานพบเลย
โดยสรุปแล้วก็นับได้ว่าพระไตรปิฎกจีนพากย์นี้ งดงามทั้งเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด
พระไตรปิฎกฉบับเขียน
จีนเป็นชาติรู้จักทำกระดาษใช้เขียนหนังสือ แต่ยุคราชวงศ์ฮั่น คือประมาณร่วม ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว เมื่อพระพุทธศาสนาแพร่หลายเข้าไป การแปลคัมภีร์แปลกันเป็นระยะ ๆ มากบ้างน้อยบ้าง มิได้แปลทีเดียวหมดทั้งไตรปิฎก พุทธบริษัทจีนก็ต้องคัดลอกคัมภีร์ ที่แปลแล้วไว้ในกระดาษบ้าง จารึกไว้ในแผ่นไม้บ้าง เพื่อศึกษาเล่าเรียนและเก็บรักษา
ครั้นลุถึงแผ่นดินพระเจ้าเหลียงบูเต้แห่งราชวงศ์เหลียง เมื่อ พ.ศ. ๑๐๖๑ มีพระราชโองการให้ชำระรวบรวมพระไตรปิฎกเท่าที่แปลแล้ว และพวกปกรณ์วิเศษได้จำนวนรวม ๑,๔๓๓ คัมภีร์ จำนวนผูกได้ ๓,๗๔๑ ผูก ต่อมาในสมัยวงศ์งุ่ย ชำระหนหนึ่ง สมัยวงศ์ปักชี้ หนหนึ่ง สมัยวงศ์ซุ้ย ๓ หน สมัยวงศ์ถัง ๙ หน มีลำคับดังนี้ :-
๑. แผ่นดินพระเจ้าถังไทจง ศักราชเจ็งกวนปีที่ ๙ (พ.ศ. ๑๑๖๙) จำนวน ๗๓๙ คัมภีร์ ๒,๗๑๒ ผูก
๒. แผ่นดินพระเจ้าถังเกาจง ศักราชเฮี่ยนเข่ง ปีที่ ๔ (พ.ศ. ๑๒๐๒) จำนวน ๘๐๐ คัมภีร์ ๓,๓๖๑ ผูก
๓. แผ่นดินพระเจ้าถังเกาจงอีกเหมือนกัน ศักราชลิ่นเต็ก ปีที่ ๑ (พ.ศ. ๑๒๐๗) จานวน ๘๑๖ คัมภีร์ ๔,๐๖๖ ผูก
๔. แผ่นดินจักรพรรดินีบูเช็กเทียน ศักราชบ้วนส่วย ปีที่ ๑ (พ.ศ. ๑๒๓๘) จำนวน ๘๖๐ คัมภีร์ ๓,๙๒๙ ผูก
๕. แผ่นดินพระเจ้าถังเฮียงจง ศักราชไคหงวน ปีที่ ๑๘ (พ.ศ. ๑๒๗๓) จำนวน ๑,๐๗๖ คัมภีร์ ๕,๐๙๘ ผูก
๖. แผ่นดินพระเจ้าถังเต็กจง ศักราชเฮงหงวน ปีที่ ๑ พ.ศ. ๑๓๒๗) จำนวน ๑,๑๔๗ คัมภีร์ ๕,๑๔๙ ผูก
๗. แผ่นดินพระเจ้าถังเต็กจงอีกเหมือนกัน ศักราชเจ็งหงวน ปีที่ ๑๑ (พ.ศ. ๑๓๓๘) จำนวน ๑,๒๔๓ คัมภีร์ ๕,๓๙๓ ผูก
๘. แผ่นดินพระเจ้าถังเต็กจงดุจกัน ศักราชเจ็งหงวน ปีที่ ๑๕ (พ.ศ. ๑๓๔๒) จำนวน ๑,๒๕๘ คัมภีร์ ๕,๓๙๐ ผูก
๙. สมัยวงศ์ถังภาคใต้ ศักราชเปาไต๋ปีที่ ๓ (พ.ศ. ๑๔๘๘) จำนวน ๑,๒๑๙ คัมภีร์ ๕,๔๒๑ ผูก
รวมการชำระรวบรวมพระไตรปิฎก ฉบับเขียน ๑๕ ครั้ง
พระไตรปิฎกฉบับพิมพ์
จีนเป็นชาติแรกในโลก ที่คิดการพิมพ์หนังสือได้ในราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๗ สมัยราชวงศ์ฮั่น เริ่มแรกมีผู้คิดใช้วิธีอัดก๊อปปี้ จากตัวอักขระที่จารึกไว้บนแผ่นหินหรือแผ่นไม้ก่อน ต่อมาพัฒนาการเจริญขึ้นตามลำดับ ใช้วิธีแกะเป็นตัวนูนบนแผ่นไม้แล้วใช้หมึกทา เอากระดาษนาบพิมพ์ติดหนังสือขึ้นมา
ครั้นต่อมาวิชาพิมพ์ก้าวหน้า จนถึงแกะตัวพิมพ์ได้ เมื่อปรารถนาจะพิมพ์ ก็ใช้วิธีเรียงตัวพิมพ์เอา ซึ่งมีกำเนิดขึ้นในราวสมัยราชวงศ์ซ้อง แต่มาเจริญแพร่หลายคือสมัยราชวงศ์หงวนและเหม็ง วิชาการพิมพ์ของจีน เช่นวิธีนาบพิมพ์ แม้จะมีมาก่อนสมัยถังคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาก็ยังนิยมใช้คัดลอกกัน
ครั้นลุสมัยถังในหมู่พุทธบริษัทนิยมพิมพ์ภาพพุทธรูป พระโพธิสัตว์ไว้ในแผ่นกระดาษบูชา ต่อมาจึงได้คิดพิมพ์พระสูตรบางเอกเทศขึ้น ปรากฏว่า เอกสารพิมพ์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก คือพระสูตรของพระพุทธศาสนาชื่อ วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร (ผู้เขียนแปลเป็นไทยแล้ว) มิสเตอร์สติน นักขุดค้นโบราณวัตถุ ค้นพบพระสูตรพิมพ์นี้ในถ้ำแห่งหนึ่งของเมืองต้นฮอง มณฑลกานสู เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๐ ปัจจุบันต้นฉบับเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์กรุงลอนดอน (ดูภาพประกอบในตอนก่อน) ในหนังสือเล่มนี้มีข้อความบอกถึงอายุดังนี้
“ศักราชฮัมทงปีที่ ๙ เดือน ๔ วันที่ ๑๕ เฮ่งกาย (ชื่อคน) สร้างขึ้นเป็นธรรมทานอุทิศ, บูชาแด่บิดามารดาทั้งสอง”
ศักราชฮัมทงปีที่ ๙ ตรงกับ พ.ศ. ๑๔๑๑ คือประมาณพันกว่าปีมาแล้ว ถึงกระนั้นตลอดสมัยวงศ์ถัง ก็ยังมิได้มีการพิมพ์พระไตรปิฎกขึ้น ตราบลุถึงสมัยวงศ์ช้อง
๑. ในสมัยราชวงศ์ซ้อง พระเจ้าซ้องไทโจ๊วฮ่องเต้ ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ เมื่อศักราชไคเป้าปีที่ ๔ (พ.ศ. ๑๕๑๔) มีพระราชโองการให้ขุนนางผู้ใหญ่ ชื่อเตียช่งสิ่งไปชำระรวบรวมพิมพ์พระไตรปิฎก ที่มณฑลเสฉวน พระไตรปิฎกฉบับนี้มาแล้วเสร็จ เมื่อรัชสมัยพระเจ้าซ้องไทจงพ.ศ. ๑๕๒๖ กินเวลา ๑๒ ปี เรียกว่า “พระไตรปิฎกฉบับไคเป้า” นับเป็นปฐมพระไตรปิฎกฉบับพิมพ์ที่เก่าที่สุดของโลกพระพุทธศาสนา ทั้งฝ่ายเถรวาทและมหายาน พระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลี ของฝ่ายเถรวาทที่พิมพ์เก่าที่สุด (ไม่ใช่จารึกหรือคัดลอก) ตามที่ข้าพเจ้าทราบ คือ พระไตรปิฎกฉบับพิมพ์ของไทย เมื่อรัชกาลที่ ๕ พ.ศ. ๒๔๓๑ ช้ากว่าของจีน ๙๑๗ ปี พระไตรปิฎกฉบับไคเป้ามีคัมภีร์ ๑,๐๗๖ คัมภีร์ ๕,๐๔๗ ผูก แต่หายสาบสูญเสียมากกว่า เหลือเพียงข้อความกระท่อนกระแท่นบางคัมภีร์เท่านั้น
๒. พระไตรปิฎกฉบับเคอร์ตานจั๋ง พิมพ์โดยพระราชโองการกษัตริย์เคอร์ตาน ซึ่งเป็นเตอร์กพวกหนึ่ง ปกครองดินแดนทางใต้ของมานจูเรียและจีนเหนือ พระไตรปิฎกพิมพ์ด้วยอักษรจีนเมื่อพุทธศตวรรษที่ ๑๕ บัดนี้สาบสูญกันหมดแล้ว
๓. พระไตรปิฎกฉบับกิมจั๋ง พิมพ์ครั้งราชวงศ์กิม ซึ่งเป็นตาดอีกพวกหนึ่ง ยึดครองจีนเหนือ พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๑๖๙๑-๑๗๑๖ ใช้อักษรจีนเหมือนกัน ยังมีคัมภีร์เหลืออยู่ ณ บัดนี้ ๔,๙๕๐ ผูก ค้นพบที่วัดกวางเซ่งยี่ มณฑลชานสี
๔. พระไตรปิฎกฉบับช่งหลิงบ้วนชิ่งจั๋ง ในรัชสมัยพระเจ้าซองสิ่นจง สมณะชงจิง วัดตังเสียงยี่ เมืองฟูจิว บอกบุญเรี่ยรายพิมพ์ขึ้น เมื่อ พ.ศ. ๑๖๒๓-๑๖๔๗ มีการพิมพ์เติมต่อมาอีกหลายหนสำหรับฉบับนี้ รวมจำนวน ๖,๔๓๔ ผูก ปัจจุบันกระจัดกระจายหมด
๕. พระไตรปิฎกฉบับพีลู้จั๋ง ในรัชสมัยพระเจ้าซ้องฮุยจง สมณะปุงหงอ วัดไคหงวนยี่ เมืองฟูจิว บอกบุญเรี่ยรายพิมพ์ขึ้น เมื่อ พ.ศ. ๑๖๕๘-๑๖๙๓ มี ๖,๑๑๗ ผูก ยังมีฉบับเหลืออยู่ที่ญี่ปุ่น
๖. พระไตรปิฎกฉบับซือเคยอี้กักจั๋ง ในรัชสมัยพระเจ้าช้องเกาจง พุทธบริษัทชาวฮูจิว พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๑๖๗๕ มีจำนวน ๑,๔๒๑ คัมภีร์ ๕,๔๘๐ ผูก ยังมีฉบับสมบูรณ์อยู่ที่ญี่ปุ่น
๗. พระไตรปิฎกฉบับชือเคยจือฮอจั๋ง ประมาณเวลาพิมพ์ราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๖ คงเหลือบางส่วนเท่านั้น
๘. พระไตรปิฎกฉบับจีซาจั๋ง พิมพ์ราว พ.ศ. ๑๗๗๔ มี ๑,๕๓๒ คัมภีร์ ๖,๓๖๒ ผูก
มีต่อค่ะ... >>
สมัยวงศ์หงวนhttp://www.dharma-gateway.com/ubasok/satien/ubasok-27.htm