ผู้เขียน หัวข้อ: อุบายแยกใจออกจากร่างกาย :พ.อ.จ.สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวราราม  (อ่าน 1945 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด


**** อุบายแยกใจออกจากร่างกาย*****

“ใจนี้เป็นสิ่งลึกลับ ทั้งที่อยู่เรา ทั้งที่เป็นตัวเรา แต่เรากลับมองไม่เห็นตัวเราเอง เหมือนกับร่างกายนี้ก็เช่นเดียวกัน ถ้าเราไม่มีกระจกเราก็จะมองไม่เห็นหน้าเรา  ใจเราถ้าไม่มีกระจกส่องก็จะไม่เห็นเหมือนกัน กระจกส่องใจก็คือธรรมะนี่เอง ถ้าเราศึกษาธรรมะไปเรื่อยๆ แล้ว เราก็จะเริ่มเข้าใจเริ่มเห็นใจ โดยเฉพาะเวลาที่เราปฏิบัติจิตตภาวนา ทำจิตใจให้สงบ แล้วเราก็จะเห็นใจ เห็นตัวรู้ขึ้นมา

ใจเรานี้ ถ้าเราเปรียบเทียบก็เหมือนจอโทรทัศน์ จอโทรทัศน์นี้เราจะไม่เห็นจอมันเวลาเราเปิดเครื่อง เราจะเห็นภาพที่ปรากฎบนจอเราเลยไม่รู้ว่าจอนี้มันเป็นจอสีอะไร มีรูปร่างลักษณะอย่างไร พอเราปิดโทรทัศน์แล้ว ไม่มีภาพปรากฎบนจอโทรทัศน์แล้วเราก็จะรู้ว่า จอนี้มันเป็นสีอะไร มีรูปร่างลักษณะอย่างไร

ใจของเราถ้าไม่สงบ มันจะมีความคิดปรุงเเต่งอยู่ตลอดเวลา
ความคิดปรุงแต่งนี้ไม่ใช่ตัวใจ ความคิดปรุงเเต่งนี้เป็นอาการของใจ ตัวใจนี้คือตัวรู้เราจะมองไม่เห็นจนกว่าเราจะสามารถหยุดความคิดปรุงเเต่ง ที่เป็นเหมือนภาพที่ปรากฎอยู่บนจอ เราไม่มีภาพปรากฎบนจอเราก็จะเห็นจอเปล่า ๆ ใจก็เหมือนกัน พอเราหยุดความคิดปรุงเเต่งแล้วเราก็จะเห็นตัวรู้ ตัวเดียว ถ้าเรานั่งภาวนาพุทโธ ๆ ไปเรื่อยๆ ไม่ให้คิดถึงเรื่องราวต่างๆได้ เดี๋ยวใจมันก็จะหยุดคิด พอหยุดคิดแล้วที่นี้จะเห็นตัวรู้ขึ้นมา สักแต่ว่ารู้ อันนี้แหล่ะ คือตัวใจ แล้วเราจะรู้ว่า ใจนี้กับร่างกายนี้มันไม่ได้เกี่ยวข้องกัน มันไม่ได้เป็นคนเดียวกัน มันมีความต่อเนื่องกันสัมพันธ์กัน เพราะใจนี้เป็นผู้ที่มาครอบครองร่างกายนี้ มาใช้ให้ร่างกายนี้ทำอะไรต่างๆ แต่ใจนี้มันไม่ได้อยู่ในร่างกาย ใจนี้อยู่ในโลกทิพย์ ส่วนกายนี้อยู่ในโลกธาตุ

โลก ที่เราอยู่ทุกวันนี้เป็น โลกธาตุ
และโลกที่ ร่างกาย อยู่นี้เป็น โลกธาตุ
เพราะทุกอย่าง ในโลกนี้ เป็นดินน้ำลมไฟทั้งนั้น
ร่างกายนี้ก็ทำมาจาก ดินน้ำลมไฟ

ส่วนใจนี้อยู่โลกทิพย์ ก็ใช้กระแสจิตนี้เข้ามาครอบครองร่างกายอีกทีหนึ่ง แล้วก็สั่งให้ร่างกายทำอะไรต่างๆ ถ้าเปรียบกับสมัยปัจจุบันนี้เรามีของเล่นที่เราสามารถควบคุมบังคับด้วยสัญญาณวิทยุ เช่นเครื่องบิน หรือ หุ่นยนต์ต่างๆ เช่นหุ่นกู้ระเบิด เขาก็ใช้สัญญาณวิทยุคอยสั่งการให้หุ่นกู้ระเบิดเข้าไปกู้ระเบิด ส่วนคนที่ควบคุมสั่งการนี้ไม่ได้นั่งไปกับหุ่นกู้ระเบิด อยู่ที่ปลอดภัย ถ้าเกิดมีการระเบิดเกิดขึ้นมาก็ระเบิดหุ่นที่ไปกู้ระเบิดเท่านั้น แต่ผู้ที่ควบคุมหุ่นนี้ไม่ได้ถูกลูกระเบิดไปด้วย เพราะอยู่กันคนละที่กัน ใจก็เหมือนกัน ใจก็เป็นผู้ควบคุมร่างกายที่เป็นเหมือนหุ่นกู้ระเบิด  เราส่งร่างกายไปทำนั่นทำนี่ ทำภารกิจต่างๆ เวลาร่างกายไปประสบอุบัติเหตุ ใจไม่ได้เป็นอะไรไปกับร่างกาย เพราะใจอยู่คนละที่กับร่างกายนั่นเอง  ใจอยู่ในโลกทิพย์ ส่วนร่างกายนี่อยู่ในโลกธาตุ

 เวลาที่ร่างกายเสื่อมหมดไป ใจก็ไม่ได้เสื่อมไปกับร่างกาย แต่ใจขาดปัญญาถูกความหลงหลอกให้ไปคิดว่า ใจอยู่กับร่างกาย ใจเป็นร่างกาย ก็เลยทำให้ใจเครียดใจทุกข์กับร่างกาย เวลาที่ร่างกายเป็นอะไรไป เช่นเวลาที่ร่างกายแก่ เวลาที่ร่างกายเจ็บ เวลาที่ร่างกายตาย ใจกลับไปเครียดแทนร่างกาย ร่างกายเขาไม่เครียด เพราะเขาไม่มีความเครียด เขาไม่มีความรู้สึก เขาเป็นเพียงวัตถุเหมือนกับไมโครโฟนนี้เขาไม่รู้ว่าเขากำลังทำหน้าที่รับเสียงเข้าไปแล้วส่งไปตามลำโพงต่างๆ เขาก็ทำตามหน้าที่ของเขา รับเสียงแล้วส่งเสียงไป แต่เขาไม่รู้ว่าตัวเขาเป็นอะไร มีใจตัวเดียวเท่านั้นที่มีความรู้ เราถึงเรียกว่า “ธาตุ” “ตัวรู้” ธาตุดินไม่รู้ ธาตุน้ำไม่รู้ ธาตุลมไม่รู้  ธาตุไฟไม่รู้ ร่างกายนี้ทำด้วยธาตุ ดินน้ำลมไฟ ก็ไม่รู้เรื่องรู้ราว เวลาร่างกายเจ็บ เขาก็ไม่รู้ว่าเขาเจ็บ ผู้ที่รู้คือใจ ผู้ที่ทุกข์ก็คือใจ เพราะไปคิดว่าตนเองเป็นร่างกาย

ถ้าสามารถแยกใจออกจากร่างกายได้ ต่อไปก็จะไม่ทุกข์กับร่างกายเหมือนกับคนที่รู้ว่า ตนเองเป็นคนควบคุมหุ่นกู้ระเบิด เวลาหุ่นไปถูกระเบิดขึ้น คนที่ควบคุมก็ไม่เดือดร้อนอะไร ตัวหุ่นก็ไม่เดือดร้อนอะไร ระเบิดก็ระเบิดไป พังก็พังไป มันไม่มีความรู้สึกนึกคิด เหมือนกับคนที่ควบคุมหุ่นนี้ ใจเราเนี๊ยเป็นผู้ที่รู้สึกนึกคิด แต่คิดไปในทางหลง คิดไปในทางที่ผิด คิดไปในทางที่ว่า ร่างกายนี้เป็นเรา เป็นของของเราแล้วก็เลยอยากให้ร่างกายนี้อยู่คู่กับใจไปตลอด เพราะใจนี้อยู่ไปตลอด แต่ร่างกายมันไม่อยู่ไปตลอด ก็เลยเกิดความขัดแย้งขึ้นมาภายในใจ ใจก็เลยไปทุกข์กับร่างกาย เพราะไปคิดใจเป็นร่างกาย พระพุทธเจ้าจึงทรงต้องสอนให้พวกเราบำเพ็ญจิตตภาวนา ให้ทำใจให้สงบให้ได้ เพราะเวลาใจสงบแล้วใจกับร่างกายจะแยกกันออกชั่วคราว เวลาใจสงบใจจะไม่รับรู้เรื่องของร่างกายอีกต่อไป ร่างกายจะนั่งอยู่ในท่าไหนจะเจ็บจะปวดอย่างไร ใจไม่เดือดร้อน ร่างกายก็ไม่เดือดร้อน อย่างคนที่เขาเข้าฌาณ 7 วัน 15 วัน ทำไมเขาเข้าไปได้ เพราะใจของเขาแยกออกจากร่างกาย ไม่รับผิดชอบ ไม่รับรู้เรื่องของร่างกายชั่วคราว ร่างกายจะเป็นอะไรก็ไม่มากระทบกระเทือนกับใจ

 นี่แหล่ะคือ จุดเเรกที่เราต้องทำให้ได้ก็คือ  เข้าถึงจุดผู้รู้ให้ได้ ให้เห็นสักแต่ว่ารู้ ให้เห็นว่าตอนนั้นร่างกายกับใจไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกัน แต่มันแยกกันได้เพียงชั่วคราว แล้วเดี๋ยวพอสติหมดกำลังมันก็จะเข้ามารวมตัวกันใหม่แล้วแล้วก็เริ่มคิดใหม่ ก็จะมาคิดร่างกายเป็นตัวเราของเราต่อ ตอนนั้นก็ต้องใช้ปัญญามาเเยก มาเตือนใจว่า ร่างกายนี้ไม่ใช่เป็นตัวเราของเราไม่ต้องไปยุ่งกับมันมากจนเกินไป ดูแลรักษามันไปกำลังตามเหตุตามผล ถ้าดูแลได้รักษาได้ก็ดูแลไป แต่อย่าไปห่วงอย่าไปกังวล เพราะว่า หวงยังไงกังวลยังไง มันก็ไปห้ามความเสื่อมของร่างกายไม่ได้ ไปห้ามความแก่ ความเจ็บความตายของร่างกายไม่ได้ ถ้าสอนใจอย่างนี้ได้ ใจมันก็จะปล่อยวางร่างกายได้ ในขณะที่ยังมีความเชื่อมต่อกันอยู่ เช่นเวลาร่างกายเจ็บก็ปล่อยมันเจ็บไป มียากินก็กินไป ไม่มีกินก็ไม่เป็นปัญหาอยู่กับมันได้ เพราะใจไม่เดือดร้อน ใจไม่ทุกข์กับความเจ็บไข้ได้ป่วยของร่างกาย

เวลามันจะตายถ้าห้ามมันไม่ได้รักษามันไม่ได้
มันจะตายก็ต้องปล่อยมันตายไป
แต่ใจก็จะไม่สะทกสะท้านไม่หวั่นไหว ไม่หวาดกลัว
เพราะใจรู้ว่า...
ตนเองไม่ได้ตายไปกับร่างกาย ใจไม่ได้เป็นร่างกาย

นี่คือการละสักกายทิฏฐิ ความหลง ที่ไปเห็นว่าร่างกาย
เห็นว่าเวทนาเกิดความเจ็บของร่างกายนี้
เป็นใจเป็นตัวเราเป็นของเรา เราต้องแยกด้วยสมาธิก่อน
เมื่อได้สมาธิแล้วก็ต้องใช้ปัญญาสอนใจให้เห็นชัดๆ ว่า
ร่างกายนี้มาจากดินน้ำลมไฟ

เริ่มต้นในท้องแม่ เมื่อได้รับเชื้อของพ่อมาผสมกับเชื้อของแม่ เชื้อของพ่อก็เป็นดินน้ำลมไฟ เชื้อของแม่ก็เป็นดินน้ำลมไฟ เมื่อมารวมตัวกันแล้วใจก็เข้ามาร่วมสังฆกรรมด้วย ต้องมีทั้ง3 ส่วนจึงทำให้ปรากฎการตั้งครรภ์ขึ้นมาได้ คือต้องมีส่วนของพ่อ ส่วนของแม่และก็มีส่วนของดวงวิญญาณคือจิตใจที่ยังไม่มีร่างกาย  ที่ตายจากร่างกายอันเก่าแล้วก็มาหาร่างกายอันใหม่ พอเจอร่างกายที่ไม่มีใครจับจองก็เข้ามาจับจองทันที แล้วก็จะเกิดการเจริญเติบโตขึ้นไปตามลำดับด้วยการเติมธาตุผ่านทางสายเลือดของแม่ อาหารที่แม่กินเข้าไปก็เป็นธาต 4 ดินน้ำลมไฟ แล้วก็ไปเป็นเลือดเป็นน้ำเป็นอาหารเหลวต่างๆ

 แล้วก็ไปก่อร่างสร้างตัวให้ร่างกายนี้ค่อยๆเจริญเติบไปขึ้นมา พอมีอวัยวะครบ 32 และอยู่ในครรภ์ไม่ได้ก็คลอดออกมา พอคลอดออกมาก็ต้องมาเติมธาตุต่อ พอคลอดออกมาก็ต้องหายใจก็เติมธาตุลมเข้าไป พอหิวน้ำหิวนมก็ต้องเติมธาตุน้ำ ธาตุดินเข้าไป ธาตุไฟก็ได้รับความอบอุ่นจากแสงอาทิตย์จากเครื่องปรับอากาศต่างๆ ทำให้ร่างกายอบอุ่นไม่เย็นเฉียบ ถ้าร่างกายเย็นเฉียบร่างกายก็จะต้องตาย อาหารก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ร่างกายอบอุ่น อาหารที่กินเข้าไปก็จะทำให้เกิดพลังงานขึ้นมา ผลิตความร้อนให้แก่ร่างกาย

อันนี้ เป็นการเติมธาตุ 4 ดินน้ำลมไฟ นับมาตั้งแต่วันที่ออกมาจากท้องก็เป็นเรื่องของธาตุเข้าอยู่ตลอดเวลา ช่วงที่เกิดและเจริญเติบโตนี้ธาตุจะเข้ามากกว่าออก แต่พอถึงขีดสูงสุดแล้ว พอถึงขีดเจริญเติบโตสูงสุดแล้วทีนี้ ธาตุจะออกมากกว่าเข้า ร่างกายก็จะเหี่ยวลงจะเเก่ลงไป แล้วในที่สุดก็จะหมดกำลัง ร่างกายก็จะหยุดทำงานธาตทั้ง 4 ที่ได้มารวมกันก็จะแยกทางกันไป น้ำก็จะไหลออกจากร่างกาย ความร้อนก็จะไหลออกจากร่างกาย ลมก็จะไหลออกจากร่างกายระเหยออกจากร่างกายไป ทิ้งเหลือส่วนที่เป็นดินก็คือ อวัยวะต่างๆก็จะเเห้งกรอบ หรือถ้าเน่าก็เปื่อยผุไป แล้วก็เเห้งกรอบแล้วก็กลายเป็นดินไปในที่สุด

นี่คือการพิจารณาสอนใจให้เห็นชัดๆว่า ร่างกายนี้เป็นเพียงการรวมตัวของธาตุ 4 ดินน้ำลมไฟ แล้วก็จะต้องมีการแยกทางกันในที่สุด ถ้าเห็นอย่างนี้แล้วจะได้หยุดความอยากไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตายได้ หยุดความกลัวความแก่ ความเจ็บ ความตายได้ เพราะผู้ที่แก่ ผู้ที่เจ็บ ผู้ที่ตายนี่ไม่ใช่ใจนั่นเอง ใจที่กลัวเป็นบ้าเป็นหลังนี้ไม่ตายไปกับร่างกายแต่ไม่รู้ความจริงคิดว่าตัวเองตายไปกับร่างกาย พอรู้ความจริงนี้ใจก็จะตั้งอยู่ในความสงบได้ ตั้งอยู่อุเบกขาได้ พอใจมีอุเบกขาแล้วร่างกายจะเจ็บปวดก็ไม่เป็นปัญหาอะไร ร่างกายจะตายไปก็ไม่เป็นปัญหาอะไร ถ้าไม่อยู่ในอุเบกขาแล้วจะวุ่นวายจะทุกข์ทรมานใจ พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ พระอริยะทั้งหลายนี้ท่านสามารถรักษาใจให้อยู่ในอุเบกขาได้ ไม่ว่าจะอะไรจะเกิดขึ้นกับร่างกาย"

ส่วนหนึ่งของพระธรรมเทศนาธรรมะบนเขา
วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2557
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
..
..
"..ความสงบนี้สำคัญมาก
ถ้าไม่สงบ จะไม่เห็นกิเลส ถ้ามีความสงบ
พอไปสัมผัสรับรู้อะไร แล้วใจกระเพื่อมขึ้นมา
ก็จะรู้ทันทีว่า กิเลสโผล่ออกมาแล้ว

ระดับของใจที่ไม่สงบ ต้องกระเพื่อมแรง
หน้าดำคร่ำเครียด ร้องห่มร้องไห้ ถึงจะเห็นว่าใจทุกข์
สำหรับใจที่สงบ เพียงแต่คิด เพียงแต่อยาก
เท่านั้นเอง ก็จะเห็นว่า ใจทุกข์แล้ว..."

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

>>> F/B Kajitsai Sakuljittajarern ได้แชร์รูปภาพของ
คณะศิษย์พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวราราม จ.ชลบุรี
กราบนมัสการพระอาจารย์สุชาติฯ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤษภาคม 03, 2015, 09:14:51 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด


“อย่าไปถามเรื่องผล”

ถาม : อาการหรือสภาวะสักแต่ว่ารู้ กับอุเบกขา มีความเกี่ยวเนื่องเกี่ยวพันกับนิโรธยังไงคะ

พระอาจารย์ : มันก็อันเดียวกันนั้นแหละ นิโรธก็คือการดับทุกข์ เวลาจิตรวมสงบกิเลสไม่ทำงาน ทุกข์ก็ไม่เกิดมันก็นิโรธ เวลาจิตสงบมันก็เป็นอุเบกขา มันตัวเดียวกัน มันถึงจุดนั้นแล้วมันก็เหมือนกินข้าวอิ่ม อิ่มแล้วก็สบายอยากจะนอนอย่างเดียวไม่อยากจะทำอะไร จะถามว่าตัวไหนเป็นตัวไหนมันก็ตัวเดียวกัน เวลาหิวก็นอนไม่หลับใช่ไหม แต่เวลาอิ่มนี้มันก็อยากจะนอน มันไม่อยากจะทำอะไร มันสบายมันมีความสุข เวลาจิตสงบมันก็นิโรธ ทุกข์ก็ไม่มี มันมีแต่อุเบกขา สักแต่ว่ารู้เฉยๆ

ดังนั้นมันเป็นตัวเดียวกัน ถ้าปฏิบัติได้เห็นผลแล้วมันก็จะเข้าใจ ที่ถามนี้ก็แสดงว่ายังไม่ได้เห็นผล ตอบไปก็สู้ปฏิบัติเองไม่ได้ ดังคำพูดที่ว่า ๑๐ ปากว่าไม่เท่า ๑ ตาเห็น ดังนั้นต้องเห็นด้วยตัวเองของเรา เห็นด้วยการปฏิบัติ

คำถามแบบนี้ไม่ควรจะถาม ควรจะถามว่าทำอย่างไรให้มันเข้าสู่อุเบกขาได้จะดีกว่า อย่าไปถามเรื่องผล พระพุทธเจ้ามักจะไม่ตอบเรื่องผลเท่าไหร่ จะตอบแต่เรื่องเหตุว่าควรจะเจริญเหตุอย่างไร เพื่อให้ได้ไปถึงผลอันนั้นเพราะถ้าเล่าถึงผลแล้ว คนฟังมันจะจินตนาการไปแล้วมันจะไม่ตรงกับความจริง เหมือนคนที่ไม่เคยไปสหรัฐฯนี้ ถามคนที่ไปสหรัฐฯมาว่าสหรัฐฯเป็นอย่างไร พูดไปอย่างไรคนฟังมันก็จะไม่เห็นตามความเป็นจริง มันก็จะจินตนาการไปตามความคิดเท่านั้นเอง พอไปถึงอเมริกาเองแล้วมันก็จะเห็นเองว่าอเมริกาเป็นอย่างไร ไม่ต้องไปถามให้เสียเวลา ควรจะถามว่าไปอเมริกาอย่างไรจะดีกว่า ไปอเมริกาก็ต้องทำพาสปอต วีซ่า ซื้อตั๋วเครื่องบิน

ดังนั้นถ้าอยากจะเห็นผลอยากจะรู้ผลก็ควรจะศึกษาเหตุดีกว่าว่า ทำอย่างไรจึงได้ผลอันนั้น เพราะต่อให้เราตอบเรื่องผลเล่าเรื่องผลให้ฟังกี่ร้อยกี่พันครั้งคนฟังก็ไม่ได้ผลอยู่ดี แต่ถ้าบอกให้คนฟังว่าลองทำอย่างนี้ซิ เช่นอยากจะให้จิตเป็นอุเบกขา สักแต่ว่ารู้ เป็นนิโรธก็ลองเจริญสติดูซิ บริกรรมพุทโธไปตั้งแต่ตื่นจนหลับดู หรือเฝ้าดูการเคลื่อนไหวของร่างกายตลอดเวลา ในขณะที่มีการเคลื่อนไหว มีการกระทำต่างๆ พอมีเวลาว่างก็นั่งเลย หาที่สงบมุมสงบไม่มีอะไรมารบกวน แล้วก็นั่งมันทำใจให้มันรวมเข้าไปสู่ความสงบ พอมันเข้าถึงความสงบแล้วมันไม่ไปถามแล้วว่านิโรธเป็นยังไง สักแต่ว่ารู้เป็นยังไง อุเบกขาเป็นอย่างไร มันเห็นกับตาแล้ว

ดังนั้นควรที่จะให้ความสำคัญต่อเหตุมากกว่าผล ผลก็พอทราบเพียงคร่าวๆก็พอ ขอให้รู้ว่าผลมันจะเป็นอย่างนี้ แต่มันจะเป็นแบบไหนละเอียดละออขนาดไหนนี้ต้องอยู่ที่การประสบด้วยตนเอง

ขอให้พวกเราพยายามสร้างเหตุให้มาก อย่างวันนี้ที่พูด
           เหตุที่สำคัญที่สุดก็คือการเจริญสติ.
ธรรมะบนเขา วันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ “สติคือหัวใจของความเพียร”

   
           พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
‪#‎ควรถามเหตุมากกว่า‬ #‎อุเบกขา‬ ‪#‎สักแต่ว่ารู้‬
>>> F/B ธรรมรักษา ได้แชร์รูปภาพของ
คณะศิษย์พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวราราม จ.ชลบุรี

***********************************************

“ยินดีกับทุกสิ่งทุกอย่าง”

ปัญหาของเราคือเราชอบเลือกที่รักมักที่ชัง ไม่ชอบยินดีกับทุกสิ่งทุกอย่าง ชอบยินดีกับการเจริญ แต่รังเกียจกับการเสื่อม พอเวลาพบกับความเสื่อมก็เลยต้องทุกข์กับมัน แต่ถ้าเรายินดีทั้งกับการเจริญทั้งกับการเสื่อม เวลาเจริญเราก็จะมีความสุข เวลาเสื่อมเราก็จะมีความสุข เพราะเรามีความยินดีเท่ากัน เราให้ความเสมอภาคกับทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง มาอย่างไหนก็รับได้ เสื่อมลาภก็รับได้ เจริญลาภก็รับได้ เสื่อมยศก็รับได้ เจริญยศก็รับได้ สรรเสริญก็รับได้ นินทาก็รับได้ สุขก็รับได้ ทุกข์ก็รับได้ นี่คือใจของพระพุทธเจ้า “โลกะวิทู” ใจของพระอรหันตสาวก ท่านปฏิบัติเพื่อให้มาถึงจุดนี้เอง มาถึงกับจุดที่รับกับทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในโลกนี้ได้หมด ไม่ว่าจะขึ้นหรือจะลง ท่านจะไม่มีการลำเอียง ท่านจะให้ความยุติธรรมกับทุกสภาวะธรรม เพราะท่านพิจารณาด้วยปัญญาแล้วว่า สภาวะธรรมทั้งปวงนี้เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไปเลือกไม่ได้ ไปชอบไปชังไม่ได้ เพราะจะเกิดความทุกข์ขึ้นมา ถ้าไม่เลือกไม่ชอบไม่ชัง ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง มาอย่างไรก็ยินดีกับอย่างนั้น

เช่นท่านพูดว่าให้ยินดีกับสิ่งที่มีอยู่ หรือให้พอใจกับสิ่งที่ได้รับ ให้พอใจกับสิ่งที่มีอยู่หรือยินดีกับสิ่งที่ได้รับ มันก็จะไม่มีปัญหาอะไร ขอให้เราฝึกคำว่ายินดีไว้กับทุกสิ่งทุกอย่าง จะยินดีได้เราก็ต้องมีปัญญา จะมีปัญญาได้ก็ต้องมีสมาธิ ต้องมีใจที่สงบ ใจที่สักแต่ว่ารู้ ให้ยินดีแบบสักแต่ว่ารู้เท่านั้น คือรับรู้ว่าตอนนี้กำลังเจริญ ตอนนี้กำลังเสื่อม รับรู้แล้วก็ยินดีกับการรับรู้นั้นไป ใจก็จะไม่ทุกข์ไม่เครียด ใจจะไม่ต่อต้าน เวลาสัมผัสกับสิ่งที่ไม่ชอบก็จะไม่ต่อต้าน ไม่เกิดความอยากให้สิ่งที่ไม่ชอบหายไป เพราะถ้าเกิดความอยากให้สิ่งที่ไม่ชอบหายไป ก็จะเกิดความเครียด เกิดความทุกข์ขึ้นมา ถ้าไม่ต่อต้านยอมรับความจริงว่ามันเป็นอย่างนี้แล มันจะมาอย่างไรในรูปแบบใด มันก็เป็นเรื่องของมัน แต่เราไม่ต้องไปทุกข์กับมันได้ ถ้าเราไม่ไปต่อต้านไม่ไปมีความอยากให้มันเป็นอย่างอื่นไป มันเป็นอย่างนี้ก็ปล่อยให้มันเป็นอย่างนี้ไป อย่าไปอยากให้มันเป็นอย่างอื่น พออยากแล้วมันจะเครียด เพราะมันจะไม่ได้ดังใจอยาก

นี่คือการปฏิบัติที่จะก้าวมาตามลำดับ จากการเริ่มต้นที่การเจริญสติที่จำเป็นจะต้องปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ปฏิบัติอย่างตลอดเวลา เพราะว่าเวลาใดที่ไม่ได้เจริญสติ เวลานั้นก็เป็นเวลาของข้าศึกศัตรู ที่จะมาบุกทำลายจิตใจของเรา สตินี้เป็นเหมือนกับทหารที่คอยปกป้องประเทศชาติ ถ้าวันไหนทหารหยุดงานพักงาน วันนั้นบ้านเมืองก็จะไม่มีรั้วคอยป้องกันข้าศึกศัตรู ข้าศึกศัตรูก็จะลุกเข้ามาในบ้านเมืองได้ เพราะข้าศึกศัตรูนี้เขาทำงานตลอดเวลา คือกิเลสตัณหาในใจของพวกเรานี้ทำงานตลอดเวลา พอตื่นขึ้นมาก็เริ่มทำงานเลย ตื่นขึ้นมาก็เกิดความอยาก อยากทำโน่นอยากทำนี่ บางทีก็อยากเข้าห้องน้ำก่อนตื่นขึ้นมาอยากแล้ว เข้าห้องน้ำเสร็จก็อยากจะดื่มน้ำต่อ ดื่มน้ำเสร็จก็อยากจะรับประทานขนมต่อ อยากไปเรื่อยๆ มันมีเรื่องให้อยาก มันทำงานตลอดเวลา ถ้ามีสติมันก็จะคอยสกัดไว้ได้ ถ้ามีปัญญามันก็จะแยกแยะว่าความอยากอันไหนไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อจิตใจ คือเป็นความจำเป็น เช่นอยากถ่าย อยากปัสสาวะ มันเป็นเรื่องของร่างกายไม่ใช่เรื่องของกิเลสตัณหา ก็ปล่อยมันได้ แต่มันอยากจะดื่มกาแฟอยากจะกินขนมนี้ ทั้งๆที่ยังไม่ถึงเวลาก็อย่าเพิ่งไปดื่ม อย่าเพิ่งไปรับประทาน รอให้ถึงเวลาก่อนแล้วค่อยไปดื่มไปรับประทาน ต้องรับประทานอาหารตามความต้องการของร่างกาย เหมือนกับการรับประทานยา อย่ารับประทานตามความอยาก เพราะมันจะเกิดโทษทั้งกับจิตใจและกับร่างกาย รับประทานมากเกินไป ร่างกายก็มีน้ำหนักเกิน ทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ขึ้นมาได้โดยไม่จำเป็น

โรคภัยที่ไม่จำเป็นจะต้องเกิด เกิดจากความอยากรับประทานแบบไม่มีเวล่ำเวลา ถ้ารับประทานแบบมีเวล่ำเวลา ก็จะเหมือนกับการรับประทานยา จะไม่มีโทษ ถ้ารับประทานยาแบบไม่มีเวล่ำเวลา นึกอยากจะรับประทานก็รับประทานไป เดี๋ยวก็ต้องแพ้ยา เดี๋ยวก็จะต้องตายเพราะยา แทนที่จะอยู่ได้เพราะยา กลับตายเพราะยา ฉันใดคนเรานี้แทนที่จะอยู่ได้เพราะอาหารก็กลับตายเพราะอาหาร ตายเพราะรับประทานอาหารแบบไม่มีขอบไม่มีเขต รับประทานอาหารตามความอยาก

นี่คือการทำงานของความอยาก มันทำตลอดเวลาตั้งแต่ลืมตาขึ้นมามันทำ ถ้าเราไม่ต่อต้านมัน ด้วยการสร้างสติขึ้นมา มันก็จะบุกเข้ามาทำลายจิตใจสร้างความทุกข์ให้กับจิตใจของเราอยู่ตลอดเวลา การปฏิบัติของเราก็เลยไม่มีวันที่จะคืบหน้าไปไหนได้ เพราะเราไม่ได้ต่อสู้กับข้าศึกศัตรูนั่นเอง.

ธรรมะบนเขา วันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘
“สติคือหัวใจของความเพียร”
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
>>> F/B Gamm BuddhaBucha ได้แชร์รูปภาพของ Phra Suchart Abhijato
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤษภาคม 03, 2015, 09:07:10 pm โดย ฐิตา »