คลังธรรมปัญญา > หนังสือธรรมะ
คัมภีร์ ภควัทคีตา.. บทเพลงแห่งองค์ภควัน.. (บทเพลงของพระเจ้า)
ฐิตา:
ภควัทคีตา
บทเพลงแห่งองค์ภควัน
(สมภาร พรมทา แปลและเรียบเรียง)
บทที่แปด
อรชุนถามว่า
กฤษณะ! พรหมผู้สูงสุดนั้นเป็นอย่างไร อาตมันคืออะไร กรรมคือสิ่งใด ผู้เป็นใหญ่เหนือแผ่นดินและสวรรค์คือใคร โปรดตอบข้อสงสัยเหล่านี้ของเราที
ในบรรดาสิ่งอันประกอบขึ้นเป็นร่างกายของคน ส่วนใดเป็นผู้รับผลของความดีที่คนผู้นั้นกระทำลงไปและได้รับโดยวิธีใด
เราจะแน่ใจด้อย่างไรว่าหากควบคุมใจให้แน่วแน่ต่อท่านในชาตินี้แล้ว เมื่อตายไปจะได้พบท่านในทิพยโลกโปรดตอบ!
กฤษณะตอบว่า
ธรรมชาติอันหนึ่งไม่รู้จักเสื่อมสลายไปตามกาล เป็นใหญ่เหนือทุกสิ่งในจักรวาล นั่นล่ะพรหมอันสูงสุด
สภาวะรู้รูปอย่างหนึ่งสถิตอยู่ในร่างกายของมนุษย์ เป็นตัวรับรู้อารมณ์และคิดนึก สภาวะนี้เรียกว่าอาตมัน
มีพลังลึกลับชนิดหนึ่งเป็นตัวผลักดันให้เกิดชีวิตใหม่ สิ่งมีชีวิตทุกอย่างในจักรวาลต่างเวียนว่ายตายแล้วเกิดตามแรงผลักดันของพลัง อันนี้ พลังที่ว่านี้เรียกว่ากรรม
สสาร* เป็นใหญ่ในแผ่นดิน จิต* เป็นใหญ่ในสวรรค์
*(สสาร Matter นี้ในภาษาสันสกฤตใช้ว่า กฺษรภาวะ หมายถึงสิ่งที่ถูกต้องสัมผัสได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้งห้า และเป็นสิ่งสูญสลายไปได้ตามกาลเวลา -ผู้แปล)
* (จิต Spirit ในโศลกสันสกฤตท่านใช้ว่า บุรุษ ได้แก่ สภาวะ นิรันดรอย่างหนึ่งที่เวียนว่ายอยู่ในห้วงจักรวาล จิตสามารถดำรงอยู่ได้ทั้งในร่างมนุษย์และในสภาพล่องลอยเป็นอิสระ และจะสถิตอยู่ในร่างคนสลับกับการล่องลอยไปจนกว่าจะเข้าถึงพรหม -ผู้แปล)
เมื่อบุคคลกระทำกรรมดีลงไป ผู้รับผลของกรรมดีนั้นได้แก่อาตมัน
ดังนั้น ความดีที่กระทำลงไปจึงไม่มีทางสูญเปล่า เพราะอาตมันเป็นสภาวะนิรันดร์ไม่รู้จักแตกทำลาย ถึงผู้กระทำความดีจะตายไป อาตมันที่จะคอบรับผลของกรรมดีก็ยังคงอยู่
แน่ใจได้เลยว่าผู้ที่มีใจแนบแน่นในเรา เมื่อเขาละโลกนี้ไปแล้วเขาจักได้พบเรา ณ ทิพยสถานอันเป็นบรมสุข
อรชุน! เมื่อจิตใจของคนยึดเหนี่ยวสิ่งใดเป็นพิเศษในเวลาก่อนตาย สิ่งที่ใจของเขาหน่วงดึงเอาไว้นั้นย่อมจะชักพาเขาไปสู่สภาวะของสิ่งนั้น
เพราะฉะนั้นอย่าวิตกไปเลยอรชุน! จงรบ! แล้วพยายามระลึกถึงเราเอาไว้ตลอดเวลา! หาท่านตายเพราะการสู้รบในขณะที่ใจยึดเหนี่ยวเอาเราเป็นสรณะ ท่านก็จักได้ไปเสวยสุข ณ ทิพยสถานกับเรา!
อรชุน! บุคคลผู้มีใจแนบแน่นใน “สิ่งสูงสุด” บำเพ็ญเพียรเพื่อ “สิ่งสูงสุด” นั้น ย่อมลุถึง “สิ่งสูงสุด” สมประสงค์เพราะความพากเพียร
“สิ่งสูงสุด” นี้รอบรู้ทุกสิ่งอย่างในจักรวาล หยั่งทราบอดีตและอนาคต เป็นผู้พิทักษ์คุ้มครองโลก เป็นสภาวะที่อยู่เหนือการคาดหวัง เป็นแสงสว่างแห่งจักรวาลประดุจดวงตะวันที่สาดส่องขจัดความมืดมน
ใครก็ตามยึดเหนี่ยวเอา “สิ่งสูงสุด” นี้เป็นสรณะแห่งชิวิต บำเพ็ญเพียรด้วยใจที่ศรัทธามั่นคงต่อ “สิ่งสูงสุด” นั้น เขาเมื่อละร่างนี้ไปแล้วย่อมเข้าถึง “สิ่งสูงสุด” ณ ทิพยสถานแดนสงบชั่วนิรันดร์
อรชุน! ท่านผู้รู้เรียก "สิ่งหนึ่ง" ว่าเป็นสภาวะอมตะ ไม่รู้จักเสื่อมสลาย สภาวะนั้นจะบรรลุถึงได้ก็เฉพาะบุคคลผู้ประพฤติพรหมจรรย์ปฏิบัติด้วยใจอันบริสุทธิ์สะอาดเท่านั้น
ณ บัดนี้เราจะหยิบยกเอาสภาวะนั้นมาแสดงให้ท่านฟังโดยสังเขป
อรชุน! ผู้ใดสำรวมกาย วาจา ใจให้มั่นคง ปฏิบัติโยคธรรมด้วยใจที่ตั้งมั่นในเรา ผู้นั้นเมื่อละร่างนี้ไปสู่ปรโลก เขาจะได้บรรลุถึงบรมศานติ
ผู้ใดมีใจยึดเหนี่ยวในเรา และหน่วงเหนี่ยวเอาเราเป็นอารมณ์ ในการบำเพ็ญสมาธิธรรม ผู้นั้นย่อมเข้าถึงเราได้เร็วพลัน
เมื่อบรรลุถึงเราแล้วเขาจะกลายเป็นหนึ่งเดียวกับเรา ไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายในห้วงสังสารวัฏฏ์อันเต็มไปด้วยความทุกข์เข็ญเจ็บปวดนั้นอีก
อรชุน! การเวียนว่ายตายเกิดนี้เป็นกฎของชีวิต ทุกคน ทุกชีวิต ไม่ว่าจะเป้นมนุษย์หรือเทพล้วนแล้วแต่ต้องเวียนว่ายไปตามกฎของชีวิตอันนี้
ยกเว้นแต่ผู้เข้าถึงเราเท่านั้นที่อยู่เหนือกฎการเวียนว่ายนี้
แม้แต่เหล่าพรหมในพรหมโลกที่ว่าอายุยืนยาวนักก็ต้องเวียนว่ายตายเกิดเมื่อถึงกาลอันสมควร*
(* หมายถึงพรหมชั้นต่ำลงมายกเว้นมหาพรหมที่ดำรงภาวะแห่งปรมาตมัน พรหมเหล่านี้ก็คือเทพประเภทหนึ่งแต่เป็นเทพชั้นสูง ที่มีอายุการเสวยสุขในทิพยโลกยาวนานกว่าเทพอื่นๆ -ผู้แปล)
ในพรหมโลกนั้น วันหนึ่งของเหล่าพรหมเท่ากับพันกัปในโลกมนุษย์ และคืนหนึ่งในพรหมโลกก็เป็นเวลาพันกัปของมนุษย์เช่นกัน
ในเวลากลางวันพรหมทั้งหลายจะแสดงร่างออกมาให้ปรากฏ ครั้นล่วงเข้าสู่ราตรีร่างเหล่านั้นก็จะกลับประลัยละลายหายไปสู่ความว่าง เปล่าอีกครั้ง
การปรากฏและการประลัยของเหล่าพรหมก็คือการที่ภาวะก่อเกิดจากอภาวะ แล้วภาวะนั้นก็กลับคืนสู่อภาวะอีกที
อภาวะอันอยู่เบื้องหลังภาวะ และเป็นแดนกำเนิดของเหล่าพรหมตลอดจนสรรพสิ่งในจักรวาลนี้มีเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า อักษรภาวะ*
(* อักษรภาวะ The Imperishable มาจากคำว่า อ+กฺษร+ภาว, อ-แปลว่าไม่, กฺษร-แปลว่าสิ้นไปได้, อักษรภาวะจึงแปลได้ความว่าสภาพหรืออานุภาพชีวิตหนึ่งที่เป็นอมตะ ไม่มีวันพินาศเสื่อมสลาย -ผู้แปล)
อักษรภาวะนี้โดยเนื้อแท้ก็คือสิ่งสิ่งเดียวกับบรมศานติสถานที่เราพูดถึง เป็นอมตสถานที่เสวยสุขชั่วนิรันดร์ของผู้หลุดพ้น และเป็นสถานที่ที่เราดำรงอยู่
อรชุน! อักษรภาวะนี้เป็นชีวิตของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด บุคคลจะเข้าอักษรภาวะนี้ได้ก็ด้วยความภักดีอันมั่นคงไม่คลอนแคลนในเราเท่านั้น
ทางเดินของชีวิตมีอยู่สองสาย สายหนึ่งตรงไปสู่ความสว่างไสวรุ่งเรือง ส่วนอีกสายตรงไปหาความมืดมิดตกต่ำ
อรชุน! ผู้ฉลาดย่อมรู้จักเลือกทางเดินชีวิตให้ตนเอง ผู้เลือกทางถูกย่อมจะเข้าถึงความสงบแห่งชีวิต ไม่ตกต่ำอับจนเพราะการเลือกที่ผิดพลาดของตนเอง
ฐิตา:
ภควัทคีตา
บทเพลงแห่งองค์ภควัน
สมภาร พรมทา แปลและเรียบเรียง
บทที่เก้า
กฤษณะตรัสว่า
อรชุน! เราจะบอกสิ่งลึกลับอย่างยิ่งสามประการแก่ท่าน เมื่อท่านทราบรหัสยภาวะสามประการนี้แล้ว ท่านจะพ้นจากบาปทั้งปวง
สิ่งลึกลับอย่างยิ่งที่เราจะบอกแก่ท่านนี้ได้แก่ อธิปัญญา หนึ่ง, อธิรหัสยภาพ หนึ่ง, และอธิวิสุทธิ อีกหนึ่ง
สามสิ่งนี้เป็นทางแห่งการเข้าสู่ความหลุดพ้นโดยตรง
อรชุน! ผู้ใดไม่เชื่อมั่นในทางสามสายนี้ ผู้นั้นย่อมไม่อาจเข้าถึงเรา เขาจักต้องเวียนว่ายทุกข์ทนอยู่ในห้วงสังสารวัฏฏ์อีกต่อไป
สรรพสิ่งอันปรากฏเป็นรูปเป็นร่างในจักรวาลล้วนแต่ต้องพึ่งพิงเรา! เราเป็นเจ้าและเป็นนายของสรรพสิ่งไม่มียกเว้น!
อุปมาดังอากาศที่แทรกซึมอยู่ทั่วทุกอณูของที่ว่าง อากาศนั้นจำเป็นต่อสิ่งมีชีวิตทั้งปวงฉันใด เราก็จำเป็นต่อการพึ่งพาสำหรับสรรพสัตว์ฉันนั้น
อรชุน! เมื่อถึงเวลาที่กัลป์ประลัย จักรวาลถูกไฟประลัยกัลป์แผดเผาเป็นผุยผงสิ้น ชีวะของสัตว์ทั้งปวงจะเข้าไปรวมอยู่กับเรา จนเมื่อถึงเวลาเริ่มต้นกัลป์ใหม่ เราถึงจะส่งสัตว์เหล่านั้นลงมาจุติอีครั้ง
เราคือผู้สร้างสรรพสิ่งขึ้นใหม่ในจักรวาลเมื่อกัลป์ใหม่เริ่มต้น! เราเนรมิตทุกสิ่งอันอย่างนี้ครั้งแล้วครั้งเล่าไม่มีที่จบสิ้น! สรรพสิ่งทั้งหลายล้วนแต่เกิดขึ้น, ดำรงอยู่, และพินาศไปภายใต้การควบคุมของเราทั้งสิ้น!
เราสร้างสรรพสัตว์ แต่ไม่เกี่ยวข้องกับการประกอบกรรมของสัตว์ทั้งหลาย
กรรมใดใครก่อ! ผู้นั้นต้องรับผลของกรรมนั้น!
คนเขลาไม่หยั่งทราบอานุภาพของเราก็พากันลบหลู่เราผู้อยู่ในร่างมนุษย์สามัญ หารู้ไม่ว่านี่คือเจ้าชีวิตของมันเอง!
คนผู้ด้อยความคิดเหล่านั้นเมื่อไม่เข้าใจภาวะของเราเสียแล้วจะคิดจะหวังหรือจะกระทำสิ่งใดก็มีแต่พลาดแต่ผิดวิบัติไปหมดสิ้น
ผู้ฉลาดสามารถมองผ่านร่างมนุษย์ที่หุ้มห่อเราเข้าไปเห็นทิพยภาวะ ย่อมหยั่งทราบว่าเราคือแหล่งกำเนิดของสรรพสิ่งรวมทั้งตัวเขาเองด้วย เมื่อหยั่งรู้เช่นนั้น เขาย่อมมีใจภักดีต่อเรา หมั่นเพียรบำเพ็ญคุณความดี เพื่อเข้าถึงเราด้วยจิตใจที่มั่นคงหนักแน่น
อรชุน! ภาวะแห่งเรานี้เป็นได้ทั้งเอกภาวะและพหุภาวะ
การที่เราเป็นต้นกำเนิดของสรรพสิ่งหรืออีกนัยหนึ่ง สรรพสิ่งทั้งหลายก่อกำเนิดมาจากเราผู้เดียว นี่เรียกว่าเอกภาวะของเรา
ส่วนการที่เราเป็นธรรมชาติในสรรพสิ่ง นั่นคือพหุภาวะของเรา
เราเป็นหัวใจของการประกอบยัญพิธี! เป็นมรรคาสู่ความหลุดพ้น! เป็นผู้ให้กำเนิดโลก! เป็นผู้ปกป้องโลก! และเป็นผู้ทำลายโลก!
เราเป็นสักขีพยานในการทำความดี! เป็นที่พึ่งพิงของคนทุกข์! เป็นเพื่อนของผู้ต้องการเพื่อน!
เราเป็นความร้อนในแสงตะวัน! เป็นความฉ่ำเย็นในสายฝน!
เราเป็นชีวิตของสิ่งมีชีวิต! และเป็นความตายของสิ่งที่วงจรชีวิตเดินมาครบเงื่อนไขการดำรงอยู่แล้ว!
เราเป็นทั้งสิ่งที่มีอยู่และที่ไม่มีอยู่! เป็นภาวะและอภาวะ!
ผู้ใดหยั่งทราบภาวะแห่งเราทั้งที่เป็นเอกภาวะและพหุภาวะอย่างนี้แล้ว มีใจภักดีหมั่นเพียรประกอบกรรมดีเพื่อนบูชา ผู้นั้นย่อมจะได้รับความเกษมศานดิ์จากเราเป็นเครื่องตอบแทน
แม้เหล่าชนที่บูชาเทพเจ้าเหล่าอื่นนอกเหนือจากเราก็เช่นกัน เพราะเหตุที่เขาไม่เข้าใจถึงภาวะของเรา ที่ครอบคลุมทุกสิ่งอย่างไม่เว้นกระทั่งเทพเหล่านั้น พวกเขาจึงพากันกราบไหว้เทพที่ตนเข้าใจว่าเป็นสิ่งสูงสุด แต่เพราะความที่พวกเขาเซ่นไหว้เทพด้วยใจบริสุทธิ์ แม้จะยังเดินไปไม่ตรงทางนัก พวกเขาก็จะได้รับผลแห่งความดีนั้นตามสมควรแก่การกระทำจากเรา
นั่นคือผู้ใดเซ่นไหว้เทพองค์ใด เมื่อสิ้นชีวิตลง ผู้นั้นย่อมจะได้ไปร่วมเสวยสุขกับเทพองค์นั้น
ผู้ใดกราบไหว้ผีบรรพบุรุษก็จะได้ปอยู่ร่วมภพเดียวกันกับบรรพบุรุษนั้น
ผู้เซ่นสรวงภูตผีระดับใดก็จะได้ไปร่วมเป็นสมาชิกของภูตผีระดับนั้น
บุคคลที่กล่าวมาทั้งหมดแม้จะได้รับผลของกรรมในทางที่ดี แต่นั่นก็ไม่ใช่ทางหลุดพ้น!
ผู้บูชาเราด้วยการปฏิบัติโยคธรรมจนจิตใจบริสุทธิ์สะอาจากมลทินทั้งปวงเท่านั้นจึงจะพบกับความหลุดพัน!
การบูชาเรา เราถือเอาความบริสุทธิ์ใจและแรงศรัทธาเป็นประการสำคัญ ดังนั้นหากใครมีใจเชื่อมั่นในเราแม้ทานวัตถุของเขาจะด้อยราคาแค่เพียงเป็นใบไม้, ดอกไม้, ผลไม้ หรือน้ำเปล่าๆ ทานนั้นเราก็ถือว่าเป็นทานที่ยิ่งใหญ่ จงทราบว่าเรารับเอาทานนั้นไว้ด้วยใจที่เบิกบานและชื่นชมยิ่งแล้ว
ดังนี้แลอรชุน! เมื่อท่านจะทำ, จะกิน, จะประกอบยัญกรรม, จะให้ทาน, หรือจะบำเพ็ญเพียร ขอจงอุทิศการกระทำทั้งหมดนั้นมาที่เรา
หากทำได้เช่นนั้น ท่านจะหลุดพ้นจากบุญและบาป อันจะให้ผลเป็นการเวียนว่ายในสังสารวัฏฏ์ต่อไป
จงสลัดกรรมทั้งปวงออกจากจิตใจให้หมดสิ้น
เมื่อสลัดกรรมทิ้งได้ ท่านย่อมได้ชื่อว่าเข้าถึงเราแล้ว
อรชุน! เราเป็นผู้วางตนเสมอในทุกสิ่งบนผืนแผ่นดินนี้ เราไม่เลือกชอบหรือชัง
ผู้ใดศรัทธาในเรา ปฏิบัติตนให้ดีเพื่อเข้าถึงเรา ผู้นั้นย่อมจะได้ร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับเรา
แม้แต่ผู้เคยประกอบกรรมชั่วมาก่อน ต่อภายหลังจึงกลับใจเลิกละความชั่วนั้นเพื่ออุทิศแก่เรา คนเช่นนั้นก็ควรแก่การยกย่องสรรเสริญเสมอสาธุชนคนดีทั้งหลาย
อรชุน! บุคคลผู้มีใจตั้งมั่นในธรรมและยึดมั่นในเราย่อมได้รับศานติ ไม่มีความเสื่อมตลอดนิรันดรกาล
คนบาป, สตรี, แพศย์, และศูทร แม้คนสี่ประเภทนี้จะถือกันว่าเป็นคนชั้นต่ำ แต่เมื่อเขามีความเพียรพยายามประกอบคุณความดีอุทิศเพื่อเรา เขาก็สามารถบรรลุบรมศานติร่วมเสวยทิพยสุขกับเราเยี่ยงสาธุชนอื่นๆ ได้เช่นกัน
ทั้งนี้ไม่ต้องจำเอ่ยถึงบรรดาพราหมณ์และกษัตริย์ชั้นสูงที่ภักดีในเรา เพราะขนาดชนชั้นต่ำที่ภักดีในเรายังอาจบรรลุถึงความสุขอันสูงสุดนั้นได้ ไฉนชนในวรรณะสูงจะไม่ได้รับสุขอันเป็นอมตะเล่า
อรชุน! โลกนี้เป็นอนิจจังผันแปรไม่แน่นอนหลากรายด้วยทุกข์โศกนานาประการ ทราบเช่นนี้แล้วใยท่านไม่น้อมยึดเอาเราเป็นสรณะเสียเล่า
ฐิตา:
ภควัทคีตา
บทเพลงแห่งองค์ภควัน
สมภาร พรมทา แปลและเรียบเรียง
บทที่สิบ
กฤษณะตรัสว่า
อรชุน! จงฟังบรมวจนะของเราอีกครั้ง! เราปรารถนาสิ่งอันเป็นประโยชน์ต่อท่านดอกนะจึงได้พูดถึงสิ่งเหล่านี้ให้ท่านฟัง!
ภาวะของเราเป็นสิ่งลึกลับ แม้กระทั่งพวกเทวดาหรือเหล่าฤาษีก็ไม่อาจหยั่งรู้ได้ ทั้งๆ ที่เรานี่เองคือผู้ให้กำเนิดเทวดาและฤาษีเหล่านั้น
ดังนั้น ผู้ใดหยั่งรู้ภาวะของเราซึ่งเป็นอมตะ ไม่มีเกิด ไม่มีตาย และไม่มีการเริ่มต้นใหม่ ทั้งยังเป็นมหานุภาวะที่อยู่เหนือโลก ผู้นั้นชื่อว่ามีปัญญารู้แจ้งไม่หลงในภาวะแห่งมายา ย่อมพ้นจากบาปทั้งปวง
พุทธิอันได้แก่ปัญญาความรอบรู้ หนึ่ง, ชญาอันได้แก่ความประจักษ์แจ้งในสัตยภาวะ หนึ่ง, อสัมโมหะอันได้แก่ความไม่ลุ่มหลงในมายาอันปกปิดมิให้เห็นความจริงของโลกและชีวิต หนึ่ง, กษมาอันได้แก่ความอดกลั้นต่อความเย้ายวนของสิ่งเลวร้าย หนึ่ง, สัตยะอันได้แก่ความจริงของโลกและชีวิต หนึ่ง, ทมะอันได้แก่การควบคุมกายวาจาและใจให้มั่นคงเยือกเย็นเวลากระทบกับอารมณ์ต่างๆ หนึ่ง, ศมะอันได้แก่การฝึกฝนจิตให้มีดุลยภาพต่อสรรพสิ่ง หนึ่ง, อหิงสาอันได้แก่ การไม่เบียดเบียนตนและผู้อื่น หนึ่ง, สมตาอันได้แก่การปฏิบัติตนอย่างสม่ำเสมอต่อทุกสิ่งอย่าง หนึ่ง, ดุษฎีอันได้แก่ความพอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่ไม่ทะเยอทะยานเกินวิสัย หนึ่ง, ตบะอันได้แก่การบำเพ็ญเพียรเพื่อขัดเกลาจิตใจให้ผ่องใสจากบาป หนึ่ง, ทานอันได้แก่การเสียสละ เพื่อผู้อื่นอีก หนึ่ง
ภาวะทั้งหลายเหล่านี้มีอยู่ในสัตว์ทั้งหลายก็เพราะเราทั้งสิ้น!
ผู้รู้ความจริงย่อมประจักษ์แจ้งในมหานุภาพของเรา และเมื่อประจักษ์แล้วย่อมยึดมั่นในเรา หมั่นประกอบความเพียรในโยคธรรมเพื่อบรรลุถึงเราโดยไม่หวั่นไหวต่อความยากลำบาก
อรชุนกล่าวว่า
กฤษณะ! ท่านเป็นพรหมผู้ประเสริฐ! เป็นที่พึ่งอันสูงสุดของเหล่าสัตว์! และเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งความบริสุทธิ์อย่างยิ่ง!
ท่านเป็นนิรันดรภาวะ! เป็นทิพยภาวะ! เป็นปฐมเทพของโลก เป็นอมตภาพที่ไม่เกิดไม่ตาย! และเป็นมหานุภาวะที่แทรกอยู่ทุกอณูของจักรวาล!
กฤษณะ! ทุกสิ่งอย่างที่ท่านกล่าวแก่เรา เราเชื่อว่าเป็นความจริง ไม่ว่าความจริงอันนี้จะมีใครยอมรับหรือไม่ยอมรับก็ตาม!
ท่านได้แสดงทิพยภาวะของท่านแก่เราอย่างแจ่มชัดยิ่ง บัดนี้เรามั่นใจแล้วว่าท่านคือต้นกำเนิดของโลกและจักรวาล ตลอดทุกอณูของจักรวาลและผืนแผ่นดินนี้ไม่มีเลยสถานที่ที่ท่านไม่ได้สถิตอยู่
แต่ทำอย่างไรเล่าเราจึงจะเข้าใจถึงภาวะของท่านได้แจ่มแจ้งยิ่งกว่านี้ การบำเพ็ญโยคธรรมจะช่วยให้เราเกิดความประจักษแจ้งในสิ่งนี้ไหม
กฤษณะ! ขอท่านจงแสดงนัยแห่งมหานุภาวะและทิพยภาวะของท่านโดยละเอียดแก่เราอีกสักครั้ง เรายังกระหายที่จะได้สดับสิ่งลี้ลับเหล่านี้อีก
กฤษณะตรัสตอบว่า
ได้ซิอรชุน! เราจักแสดงความละเอียดของมหานุภาวะและทิพยภาวะของเราแก่ท่านอีกครั้ง อันความลี้ลับของภาวะแห่งเรานี้มีนัยพิสดารกว้างไกลนัก แสดงอย่างไรก็ไม่รู้จบสิ้น
อรชุน! จงจำเอาไว้ประการหนึ่งว่าเราเป็นอาตมันที่สถิตอยู่กลางหัวใจของมนุษย์และสัตว์ทั้งปวง!
เราเป็นผู้ให้กำเนิดชีวิตแก่มนุษย์และสัตว์ตลอดจนสิ่งมีชีวิตอื่นและเป็นผู้เนรมิตวัตถุที่ไร้ใจครองทั้งปวงขึ้นไว้ในโลกและจักรวาล ดังนั้นเราจึงชื่อว่าเป็นปฐมกำเนิดของสรรพสิ่ง
เราเป็นผู้ควบคุมสรรพสิ่งให้หมุนเดินหรือหยุดนิ่ง ดังนั้นเราจึงชื่อว่าเป็นมัธยภาวะของสรรพสิ่ง
และสุดท้ายเมื่อถึงคราวที่ต้องล้างกัลป์ให้พินาศย่อยยับ เราก็คือผู้ทำลายโลก จักรวาล และสรรพสิ่ง ดังนั้นเราจึงชื่อว่าเป็นอันตภาวะของสรรพสิ่ง
อรชุน! เราเป็นปฐมกำเนิดอันหมายถึงเบื้องต้น, เป็นมัธยภาวะอันหมายถึงท่ามกลาง, และเป็นอันตภาวะอันหมายถึงที่สิ้นสุดของสรรพสิ่งด้วยประการฉะนี้!
ในจำนวนอาทิตยเทพสิบสององค์ เราคือวิษณุมหาเทพผู้เป็นจอมแห่งอาทิตยเทพเหล่านั้น
ในบรรดาแสงสว่าง เราคือดวงตะวันที่แผดจ้ากลบแสงสว่างทั้งมวล
ในหมู่มรุตเทพอันเป็นเทพแห่งสายลม เราคือมรีจิเทพที่ทรงอานุภาพควบคุมเทพแห่งสายลมเหล่านั้น
ในหมู่ดาริกาที่ทอแสงยามราตรีเราคือดวงจันทิมาที่ส่องสกาวเหนือเหล่าดาราทั้งหลาย
ในจำนวนคัมภีร์พระเวททั้งหมด เราคือสามเวทอันประเสริฐลึกซึ้ง
ในเหล่าเทพที่ผู้คนกราบไหว้ เราคือวาสวอินทรเทพผู้ยิ่งใหญ่
ในจำนวนอินทรีย์อันได้แก่องค์ประกอบของชีวิตทั้งหมด เราคือใจที่มีอำนาจบงการอินทรีย์อื่น
ในบรรดาสิ่งมีชีวิตครอง เราคือชีวะอันครองครองร่างของสิ่งเหล่านั้น
ในหมู่รุทรเทพทั้งหลาย เราคือศังกรเทพผู้เป็นใหญ่เหนือมวลรุทรเทพนั้น
ในหมู่ยักษ์และรากษสทั้งปวง เราคือกุเวรเทพผู้เป็นจอมแห่งยักษ์และรากษสทั้งหลาย
ในเหล่าวสุเทพทั้งหมด เราคืออัคนีเทพผู้ยิ่งใหญ่เหนือหมู่วสุเทพนั้น
และในบรรดาขุนเขาน้อยใหญ่ทั้งหลาย เราคือสุเมรุบรรพตอันยิ่งใหญ่เหนือเหล่าสิงขรทั้งมวล
อรชุน! แม้ในหมู่ปุโรหิตสอนธรรมทั้งหลาย เราก็คือพฤหัสบดีปุโรหิตผู้ฉลาดหลักแหลมเหนือหมู่ปุโรหิตทั้งหลาย
ในบรรดานักรบทั้งปวง เราคือสกันทมาณพผู้กร้าวแกร่งในเชิงยุทธ์
ในบรรดาลำน้ำน้อยใหญ่ เราคือสาครห้วงสมุทรอันกว้างใหญ่ไพศาล
ในหมู่มหาฤาษี เราคือภฤคุจอมฤาษี
ในบรรดาถ้อยคำที่คนเปล่งออกมา เราคือถ้อยวจนะว่า “โอม” อันศักดิ์สิทธิ์
ในบรรดายัญกรรมทั้งหลาย เราคือชปยัญอันได้แก่การบริกรรมเงียบที่มีอำนาจการให้ผลลึกล้ำเหนือยัญกรรมทั้งปวง
ในหมู่พฤกษาน้อยใหญ่ เราคืออัศวัตถพฤกษ์
ในบรรดาเทพฤาษีทั้งหลาย เราคือนารทเทพฤาษี
ในหมู่คนธรรพ์ เราคือจิตรรถผู้เป็นจอมแห่งคนธรรพ์ทั้งหลาย
และในเหล่าสิทธาจารย์ เราก็คือกปิลมุนีผู้บริสุทธิ์สมบูรณ์ยิ่งกว่าหมู่สิทธาทั้งปวง
มีต่อค่ะ
ฐิตา:
ต่อค่ะ
อรชุน! ในบรรดาอัศวชาติ เราคืออุจไจศรวัส เทพอาชาที่เกิดจากน้ำอมฤต*
(อุจไจศรวัส เป้นม้าที่เกิดจากน้ำอมฤตในคราวที่เทวดาและอสูรร่วมกันกวนเกษียรสมุทรให้เป็นน้ำอมฤต ชาวฮินดูถือว่าม้าอุจไจศรวัสเป็นตัวแทนของความบริสุทธิ์ -ผู้แปล)
ในหมู่คชชาติ เราคือเอราวัณเทพพาหนะแห่งองค์อินทร์
ในหมู่มนุษย์ เราคือนราธิปผู้เป็นจอมแห่งมนุษย์
ในบรรดาอาวุธ เราคือวัชราวุธอันได้แก่สายฟ้า
ในบรรดาโคนม เราคือกามธุกโคนมมงคล
ในบรรดาเทพผู้เป็นต้นกำเนิดแห่งโลกมนุษย์ เราคือเทพแห่งความรัก
ในบรรดางูทั้งหลาย เราคือพระยางูวาสุกี
ในบรรดานาคทั้งหลาย เราคืออนันตนาคราช
ในหมู่สัตว์น้ำทั้งหลายเล่า เราก็คือวรุณเทพผู้เป็นเจ้าปกครองห้วงมหาสุมทร
ในหมู่เทพที่เป็นบรรพบุรุษของมนุษย์ เราคืออรรยมเทพ
ในหมู่ผู้เป็นเจ้าปกครองสรรพสิ่ง เราคือยมเทพผู้เป็นเจ้าแห่งความตาย
ในหมู่ไทตยะ* เราคือประหลาทะ
(ไทตยะ คืออสูรตระกูลหนึ่ง ตามตำนานเล่าว่าอสูรตระกูลนี้เกิดจากนางทิติ (คำว่า ไทตยมีรากคำมาจากทิติ, แปลว่าบุตรของนางทิติ) พวกไทตยะเป็นศัตรูของพระกฤษณะยกเว้นประหลาทะ อสูรกุมารคนเดียวที่มีใจภักดีในพระกฤษณะผิดไปจากพี่น้อง ชาวฮินดูจึงถือกันว่าประหลาทะเป็นฝ่ายธรรมะแม้จะเกิดและเติบโตมาในสกุลอสูรที่ถือเป็นฝ่ายอธรรมก็ตาม -ผู้แปล)
ในบรรดาผู้กำหนดความเที่ยงตรง เราคือกาลเทพอันได้แก่เวลาที่กำหนดความเป็นไปของสรรพสิ่ง
ในบรรดาสัตว์ป่าทั้งหลาย เราคือราชสีห์ผู้เป็นเจ้าแห่งสัตว์ป่านั้น
ในบรรดาสกุณชาติทั้งหลาย เราคือพญาครุฑผู้เป็นจอมแห่งปักษีทั้งหลาย
ในบรรดาสิ่งชำระล้างสรรพสิ่งให้บริสุทธิ์ เราคือวายุเทพผู้มีมหิทธานุภาพในการชำระล้างทุกสิ่งอย่าง
ในบรรดานักรบที่กล้าหาญทั้งหลาย เราคือรามะ* (หมายถึงพระรามในมหากาพย์รามายณะ -ผู้แปล) กษัตริย์นักรบผู้กร้าวแกร่งเกินนักรบทั้งหลาย
ในบรรดามัจฉชาติทั้งหลาย เราคือจระเข้
และในบรรดาน่านนทีทั้งมวล เราก็คือแม่คงคามหานทีอันศักดิ์สิทธิ์
อรชุน! สรรพสิ่งทั้งหลายทั้งในจักรวาลล้วนก่อกำเนิดมาจากเรา เราเป็นผู้รักษาสรรพสิ่งให้ดำรงอยู่ และเราก็คือผู้ทำลายสรรพสิ่งให้พินาศเมื่อเงื่อนไขแห่งการสิ้นสุดของสิ่งสิ่งนั้นดำเนินมาถึง
ในบรรดาความรู้ทั้งปวง เราคือความรู้แจ้งในปรมาตมันอันสูงสุด* (หมายถึงอัธยาตมวิทยา The Science of Self -ผู้แปล)
ในแวดวงผู้ถกเถียงกันด้วยเหตุผล เราคือคำสรุปอันถูกต้องของการโต้เถียงนั้น
ในบรรดาอักขระทั้งหลาย เราคือ “อ” อักษร*
(“อ” อักษรถือเป็นอักขระตัวแรกในภาษาสันสกฤต ถือกันวา “อ” อักษรนี้เป็นต้นกำเนิดของอักขระอื่นๆ และเป็นอักขระประกอบให้อักขระตัวอื่นสามารถอ่านออกเสียงได้ “อ” อักษรจึงประเสริฐกว่าอักขระทั้งมวล-ผู้แปล)
ในบรรดาสมาสทั้งหลาย เราคือทวันทวสมาส*
(สมาสคือการเชื่อมคำตั้งแต่สองคำขึ้นไปเข้าด้วยกันตามอักขรวิธีสันสกฤตในบรรดาสมาสทั้งหลายนั้น ทวันทวสมาสเป็นสมาสที่มีอำนาจเชื่อมคำได้มากและกว้างขวางกว่าสมาสอื่น ท่านจึงถือว่าทวันทวสมาสเป็นสมาสที่สำคัญที่สุดกว่าสมาสทั้งหมด -ผู้แปล)
เราเป็นกาลเวลาที่ไม่รู้จักดับสูญหรือหมดสิ้น เป็นธาดาคือสภาพอันทรงอยู่ในสรรพสิ่ง
เราเป็นเกียรติ เป็นศักดิ์ศรี เป็นคำพูด เป็นสติปัญญา เป็นความตั้งมั่นแห่งอารมณ์ และเป็นความอดกลั้นของสตรีเพศ
ในบรรดาบทสวดทั้งหลายอันบรรจุอยู่ในสามเวท เราเป็นบทสวดชื่อพฤหัตสามอันไพเราะล้ำลึก*
(สามเวท เป็นคัมภีรที่บรรจุบทสวดเอาไว้มากมาย ในบรรดาบทสวดทั้งหมดนั้นมีอยู่บทหนึ่งชื่อพฤหัตสาม ใช้สวดตอนเที่ยงคน บทสวดนี้ถือกันว่าสำคัญและมีท่วงทำนองไพเราะมาก -ผู้แปล)
ในบรรดาฉันท์ทั้งหลาย เราคือคายตรีฉันท์*
(คายตรีฉันท์ ถือกันว่าเป็นที่มีลีลาและท่วงทำนองไพเราะน่าอัศจรรย์และเป็นฉันท์ที่มีกฎเกณฑ์ในการอ่านออกเสียงเคร่งครัดซับซ้อน นักบวชฮินดูที่ด้รับการฝึกฝนให้มีความช่ำชองในการสวดบทสวดที่ร้อยกรองด้วยคายตรีฉันท์ ถือกันว่าเป็นบุคคลพิเศษ การสวดบทสวดที่ร้อยกรองด้วยฉันท์ชนิดนี้ ในพิธีสวดจะมีการคัดเลือกพราหมณ์ผู้สวดกันอย่างพิถีพิถัน นอกจากนั้นชาวฮินดูยังเชื่อกันว่าคายตรีฉันท์นี้หากใครสามารถทำความเข้าใจถึงท่วงทำนองอย่างลึกซึ้งแล้ว คนผู้นั้นจะสามารถเข้าถึงความลี้ลับแห่งพรหม คายตรีฉันทจึงเป็นเสมือนประตูเปิดไปสู่พรหมภาวะ -ผู้แปล)
ในบรรดาเดือนทั้งสิบสองเดือน เราคือเดือนมารคศีรษะ*
(เดือนมารคศีรษะคือช่วงเวลาระหว่างปลายเดือนพฤศจิกายนถึงปลายเดือนธันวาคม คนอินเดียโบราณถือว่าเดือนนี้เป็นเดือนแห่งความเบิกบาน เพราะเป็นช่วงเวลาที่พืชผลในไร่นาได้รับการเก็บเกี่ยวเสร็จสิ้นแล้วใหม่ๆ -ผู้แปล)
ในบรรดาฤดูที่หมุนเวียนเปลี่ยนแปร เราคือฤดูกุสุมากระ*
(ฤดูกุสุมากระคือฤดูดอกไม้บาน(กุสุมา-ดอกไม้, กร-กระทำ, กุสุมากร-ผู้กระทำดอกไม้ หมายถึงฤดูที่มีดอกไม้ผลิบาน) บางท่านแปลว่า ฤดูใบไม้ผลิหรือฤดู spring -ผู้แปล)
ในบรรดาคนโกงทั้งหลาย เราคือนักเลงการพนัน*
(การเล่นการพนันตามความรู้สึกของคนอินเดียถือเป็นการต่อสู้กันด้วยเล่ห์เหลี่ยมและชั้นเชิงที่เป็นธรรมที่สุด เพราะคู่ต่อสู้ได้เผชิญหน้ากัน เป็นการใช้เล่ห์เหลี่ยมและกลโกงที่มีเกียรติเมื่อเทียบกับการใช้กลโกงประเภทอื่น -ผู้แปล)
เราเป็นเดชะ ของผู้มีเดชบารมี
เราเป็นชัยของผู้ชนะ
เราเป็นความพยายามของผู้บากบั่น
เราเป็นความดีงามของคุณธรรม
ในวงศ์วฤษณี เราคือวาสุเทพ
ในวงศ์ปาณฑุ เราคืออรชุน
ในบรรดามุนีทั้งหลาย เราคือวยาสมุนี
ในบรรดากวีทั้งหลาย เราคืออุศนามหากวี
ในการพิพากษาความผิด เราคืออาญาที่ใช้ลงทัณฑ์ผู้กระทำความผิดนั้น
ในการแสวงหาชัยชนะ เราคือกโลบายอันชาญฉลาดที่จะนำไปสู่ชัยชนะนั้น
ในบรรดาสิ่งลี้ลับปกปิด เราคือความเงียบอันเป็นความลับยิ่งกว่าความลับทั้งมวล
เราคือความรอบรู้ของผู้มีปัญญา
เราคือพืชพันธุ์สำหรับสืบต่อชีวิตของสิ่งมีชีวิตทั้งปวง
อรชุน! หากปราศจากเราเสียแล้ว จะไม่มีสิ่งใดดำรงอยู่ได้ภายในจักรวาลนี้
ภาวะแห่งเราที่แสดงออกในรูปต่างๆ เหล่านี้ ไม่มีวันสิ้นสุด เพราะเป็นภาวะที่เป็นทิพย์ และทั้งหมดที่เรากล่าวแก่ท่านนี้ก็เป็นเพียงส่วนเล็กน้อยเมื่อเทียบกับทิพยภาวะอันยิ่งใหญ่ทั้งหมดของเรา
อรชุน! สิ่งใดก็ตามที่เป็นความงาม ความดี และความเข้มแข็งในโลก จงทราบเถิดว่าสิ่งนั้นทั้งหมดคือตัวแทนของเรา!
ฐิตา:
ภควัทคีตา
บทเพลงแห่งองค์ภควัน
สมภาร พรมทา แปลและเรียบเรียง
บทที่สิบเอ็ด
อรชุนกล่าวว่า
ความลี้ลับแห่งอาตมันที่ท่านแสดงไขแก่เรานั้นช่วยให้เราเข้าใจชีวิตและจักรวาลมากทีเดียว
กฤษณะ! ท่านได้ชี้ให้เราเข้าใจถึงเบื้องหลังการเกิดและการตายของมนุษย์และสัตว์ทั้งมวล คำชี้บอกนั้นแจ่มแจ้งแก่เราโดยไม่มีข้อกังขา
นอกแต่นั้น ท่านยังเปิดเผยภาวะลี้ลับแห่งตัวท่านแก่เรา
ณ บัดนี้เราประสงค์จะได้ชมรูปทิพย์ของท่านเป็นบุญตาสักครั้ง
ได้โปรดเถิดกฤษณะ! โปรดแสดงรูปทิพย์ของท่านแก่เรา!
กฤษณะตอบว่า
ได้ซิอรชุน! อันรูปกายของเรานั้นประกอบด้วยทิพยภาวะวิจิตรซับซ้อนหลากหลายด้วยชนิดและสีพรรณ!
นี่คือสิ่งมหัศจรรย์อันท่านไม่อาจพบเห็นมาก่อนตลอดชีวิต!
กายทิพย์ของเรานี้ไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตาเนื้อธรรมดา เพราะเหตุนั้นจะเนรมิตตาทิพย์แก่ท่านด้วยอำนาจแห่งโยคะอันศักดิ์สิทธิ์ของเรา
กล่าวจบกฤษณะก็พลันเนรมิตกายทิพย์ของตนให้ปรากฏแก่สายตาของอรชุน
กายนั้นประกอบด้วยร่างหลายหลากสุดคณนา ประดับประดาด้วยทิพยอาภรณ์ ในมือชูศัสตรากวัดแกว่งสลอนเรียง
บางร่างคล้องมาลัย บางร่างสวมผ้าทิพย์ บางร่างลูบไล้ด้วยคันธชาติของหอมอันเป็นทิพย์ และทุกๆ ร่างต่างเปล่งประกายเป็นรัศมีรุ่งโรจนระยับตา
ดวงพักตร์อันมิอาจคาดนับจำนวนแห่งกายทิพย์นั้นต่างหันไปรอบสารทิศ
มาตรว่าจู่ๆ บนท้องนภาพลันปรากฏดวงตะวันพันดวงอุทัยขึ้นพร้อมกัน แสงสว่างจ้าจัดแห่งดวงทิวากรพันดวงรวมกันนั้นคงพอเปรียบเทียบได้กับรังสี บรรเจิดที่พวยพุ่งออกมาจากร่างขององค์มหาตมันนั้น
จักรวาลทั้งสิ้นต่างประมวลมาเป็นภาพหนึ่งเดียวรวมปรากฏในร่างทิพย์นั้น
อรชุนเห็นภาพอันวิจิตรพิสดารนั้นแล้ว ก็พลันเกิดอาการสั่นสะท้าน ขนลุกชูชันไปทั้งร่าง รีบก้มเศียรประนมกรกราบทูลองค์ปรมาตมันว่า
เทวะ! ข้าได้เห็นแล้ว! ในร่างของพระองค์นั้น ปรากฏทั้งรูปแห่งหมู่เทพและรูปแห่งเหล่าภูต!
แม้แต่รูปแห่งพรหมผู้สถิตอยู่บนบัลลังก์ดอกบัวก็ปรากฏอยู่ในนั้น พร้อมๆ กับการปรากฏของรูปแห่งเหล่ามหาฤาษีและหมู่ทิพยนาคา
ข้าได้เห็นรูปอันแสดงถึงอนันตภาวะของพระองค์แล้ว! รูปนั้นช่างมหัศจรรย์และซับซ้อนพิสดารเหลือเกิน!
ข้าได้เห็นร่างมีจำนวนมากมายสุดคะเนนับ และเพราะความหลากลานแห่งรูปนั้น ข้าจึงมองไม่เห็นเบื้องต้น ท่ามกลางและที่สุดแห่งอนันตภาวะของพระองค์!
ข้าได้เห็นรูปพระองค์ทรงมงกุฎ พระหัตถ์ทรงคฑาและกงจักรเปล่งประกายรัศมีโชติช่วงออกจากพระวรกาย รังสีนั้นพวยพุ่งไปตลอดสกลจักรวาลแผ่ซ่านประหนึ่งลำแสงแห่งดวงทิพากรอันส่อง สว่างแรงโลด!
นี่คือสิ่งแสดงว่าพระองค์คือองค์อักษรพรหมผู้เที่ยงแท้ไม่รู้จักแปรเปลี่ยนสิ้นสลายไปตามกระแสแห่งวันเวลา!
พระองค์คือองค์ปรมาตมันผู้สูงสุด! เป็นที่พึ่งของโลกและจักรวาล! และเป็นองค์ธรรมธาดาที่คอยปกป้องโลกและจักรวาลจากภัยพิบัติ!
ข้าได้เห็นดวงเนตรของพระองค์อันได้แก่ดวงเดือนและดวงตะวันส่องสกาวเด่นอยู่ กลางห้วงเวลา ได้เห็นดวงพักตร์อันทอประกายวาวโรจน์ดุจแสงเพลิง ด้วยดวงเนตรและวงพักตร์นั้นพระองค์ได้ส่องโลกและจักรวาลให้รุ่งเรืองอยู่ ชั่วนิจนิรันดร์!
ระหว่างผืนปฐพีกับโลกสวรรค์ย่อมมีช่องว่างและอากาศแทรกคั่นอยู่ในระหว่าง ช่องว่างนั้น อักษรภาวะแห่งพระรูปของพระองค์ได้ซึมซ่านอยู่ทั่วทุกอณูด้วยอานุภาพแห่งวิศวรูป*นั้นเมื่อฝูงสัตว์ตลอดไตรโลกได้ประจักษ์ พวกมันจึงพากันลนลานกลัวเกรงนัก
(*วิศวรูป Cosmic Form คือรูปทิพย์ของปรมาตมันที่ซึมซ่านอยู่ทุกอณูของจักรวาล เป็นรูปที่มองไม่เห็นด้วยตาธรรมดา สามัญชนตลอดจนเทพหรืออสูรจะมองเห็นรูปทิพย์นี้ได้ก็ต่อเมื่อมีตาทิพย์ที่ องค์ปรมาตมันเนรมิตให้สามารถมองทะลุผ่านโยคมายาเท่านั้น-ผู้แปล)
ในรูปทิพย์อันประมวลเอาจักรวาลทั้งหมดมาให้เห็นนั้น ข้าได้เห็นภาพของเทพบางพวกที่มีจิตหวั่นหวาดในอานุภาพของพระองค์ เทพเหล่านั้นต่างพากันประนมกรก้มเศียรลงกราบกรานพระองค์ด้วยความกลัวเกรงในพระบารมี ข้างฝ่ายเหล่าฤาษีชีไพรเล่าก็พากันแซ่ซ้องสดุดีพระองค์เสียงกระหึ่มกึกก้อง
ปวงเทพทั้งหลาย อาทิ รุทรเทพ, อาทิตยเทพ, วสุเทพ, สาธยเทพ, วิศวเทพ, อัศวินเทพ, มรุตเทพ, และอุษมปเทพ ตลอดจนเหล่าคนธรรพ, ยักษ์, และอสูร ฯลฯ ต่างพากันผันหน้าจ้องตรงไปที่พระองค์ด้วยจิตพิศวงในมหานุภาพนั้น
ข้าเห็นรูปอันมหึมาของพระองค์แล้วอดหวาดหวั่นไม่ได้ รูปนั้นใหญ่โตมโหฬารมองเห็นรายเรียงซ้อนสลับกันไปจนสุดสายตาพระพักตร์, พระเนตร, พระกร, พระบาท, พระทนต์, และส่วนประกอบแห่งร่างส่วนอื่นๆ เล่าก็ล้วนแต่ใหญ่โตมหึมาน่าสะพรึงกลัวยิ่งนัก
ข้าเห็นร่างของพระองค์สูงใหญ่เสียดฟ้า รุ่งเรืองด้วยสีสันหลากชนิดส่องสว่างวาววามช่วงโชติ
พระโอษฐ์ของพระองค์เปิดกว้าง ฝ่ายดวงเนตรก็ลุกวาวประหนึ่งดวงเพลิง ข้าเห็นแล้วก็สุดจะหักห้ามความครั่นคร้ามในใจเอาไว้ได้!
พระโอษฐ์ของพระองค์ยามที่เผยอ้าออกช่างน่ากลัวเสียนี่กระไร พระทนต์ที่เรียงรายอยู่ในพระโอษฐ์นั้นมีขนาดอันมหึมา แต่ละซี่ต่างก็ฉายรัศมีเป็นแสงเพลิงปานไฟประลัยกัลป์!
ได้โปรดเถิดท่านเทเวศ! ข้ากลัวเหลือเกิน! โปรดเป็นที่พึ่งของข้าด้วย!
อา! นั่น! บรรดาราชบุตรของธฤตราษฎรราชาทั้งหมดและเหล่ากษัตริย์นิกรทั้งหลายตลอดจนภีษมะ, อาจารย์โทรณะ, กรรณะ พร้อมแม่ทัพและไพร่พลของข้า พวกเขาทั้งหมดก็เข้าไปปรากฏรูปอยู่ในรูปทิพย์ของพระองค์ด้วย!
พวกเขาเข้าไปอยู่ในระหว่างโอษฐ์ของพระองค์ บางพวกถูกทนต์อันมหึมานั้นขบศีรษะแตกละเอียดโลหิตไหลโทรมแดงฉาน!
ประหนึ่งสายนทีอันไหลเชี่ยวที่รวมไหลลงสู่มหาสมุทร บรรดาคนกล้าบนผืนดินนี้ก็ฉันนั้น ต่างมุ่งตรงเข้าสู่พระโอษฐ์อันลุกโพลงของพระองค์ด้วยอาการอันมิต่างจากสายน้ำที่เชี่ยวกรากนั้น
แต่การรี่เข้าสู่พระโอษฐ์ของพระองค์ของพวกมันมิได้ต่างกันเลยกับอาการรี่ เข้าสู่กองเพลิงของฝูงแมลง! รี่เข้าเท่าใด ก็พินาศฉิบหายเท่านั้น!
ด้วยพระโอษฐ์อันลุกโพลงประหนึ่งไฟล้างกัลป์นั้น พระองค์ย่อมอาจจะกลืนกินโลกทั้งโลกให้พินาศวอดวายได้ในชั่วพริบตา ข้าแต่องค์วิษณุ! รัศมีอันร้อนแรงของพระองค์จะแผดเผาโลกให้มอดไหม้เป็นเถ้าธุลีเมื่อใดก็ได้
โปรดประทานคำอธิบายแก่ข้าด้วยเถิดว่าอานุภาพอันน่าสะพรึงกลัวนี้เกิดมีได้ อย่างไร และพระองค์ประสงค์จะใช้อานุภาพอันยิ่งใหญ่นี้เพื่อสิ่งใด
กฤษณะตอบว่า
อรชุน! เราเป็นกาลเวลา! เป็นผู้ทำลายโลก! เป็นผู้สร้างโลก! และเป็นผู้ปราบยุคเข็ญของโลก!
มีต่อค่ะ
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[#] หน้าถัดไป
[*] หน้าที่แล้ว
Go to full version