คลังธรรมปัญญา > หนังสือธรรมะ

คัมภีร์ ภควัทคีตา.. บทเพลงแห่งองค์ภควัน.. (บทเพลงของพระเจ้า)

<< < (2/6) > >>

แก้วจ๋าหน้าร้อน:
อนุโมทนาครับพี่แป๋ม  :13:

ฐิตา:


ทุรโยธน์ และ โทรณาจารย์
ภควัทคีตา
บทเพลงแห่งองค์ภควัน
(สมภาร พรมทา แปลและเรียบเรียง)

บทที่สี่   
                 กฤษณะตรัสว่า   
                 โยคปรัชญาอันเป็นอมตะนี้เราเปิดเผยครั้งแรกแก่วิวัสวานสุริยเทพ ต่อมาสุริยเทพได้ถ่ายทอดโยคปรัชญานี้แก่มนูโอรสของตน เมื่อมนูได้โอรสชื่ออิกษวากุ มนูก็ถ่ายทอดโยคปรัชญานี้ให้แก่ราชาอิกษวากุนั้น   
                 อรชุน! โยคปรัชญานี้สืบทอดกันมาในหมู่กษัตริย์ที่ยึดถือธรรมมานาน จนเมื่อกาลผ่านพ้น ความยาวนานของกาลเวลานั้นก็ทำให้คนรุ่นหลังค่อยๆ ลืมเลือนหลักธรรมอันนี้เสีย
   
                 บัดนี้เราได้นำหลักคำสอนที่ลี้ลับซึ่งสูญหายไปจากโลกเป็นเวลานานนั้นมาให้ท่านได้รับรู้ ที่เรากล้านำเอารหัสยธรรมอันนี้มาแสดงแก่ท่านก็ด้วยเห็นว่าท่านนั้นเชื่อมั่นในเราทั้งยังเป็นสหายผู้ซื่อตรงของเราอีกด้วย   
                 อรชุนถามว่า   
                 ก็ตัวสหายเองเกิดทีหลังท่านวิวัสวานสุริยเทพไม่ใช่หรือ ไฉนจึงบอกเราว่าโยคะนี้สหายเป็นคนประกาศแก่สุริยเทพเล่า   
                 กฤษณะตอบว่า   
                 ฟังนะอรชุน! ทั้งเพื่อนและเราต่างก็เวียนว่ายตายเกิดกันมาไม่รู้คนละกี่ภพกี่ชาติแล้ว การเวียนว่ายตายเกิดนั้นทั้งหมดเราสามารถระลึกได้ แต่ท่านไม่อาจทำได้เช่นเรา ท่านจึงสงสัย   
                 แม้ว่าเราจะไม่มาเกิดยังโลกมนุษย์ ชีวิตของเราก็เป็นอมตะไม่มีวันพินาศเสื่อมสลาย ครั้นถึงเวลาที่เราต้องอวตารลงมาปราบยุคเข็ญในฐานะอิศวรมหาเทพผู้เป็นเจ้าชีวิตของสรรพชีวิตในจักรวาล เราก็บังคับอาตมันอธิษฐานให้ร่างปรากฏด้วยกำลังแห่งมหิทธิฤทธิ์อันทรงอานุภาพ
   
                 อรชุน! เมื่อใดก็ตามที่ธรรมเสื่อมทรุดปล่อยให้อธรรมงอกงามขึ้นมาแทนที่ เมื่อนั้นเราจะปรากฏร่างยังมนุษย์โลก เพื่อพิทักษ์คนดีและปราบปรามคนเลวทันที!   
                 ที่เราเผยกายให้ชาวโลกเห็นในแต่ละยุคนั้น จุดประสงค์ก็เพื่อป้องกันเอาไว้ซึ่งความเที่ยงธรรมในโลกนี้
                 อรชุน! ใครก็ตามที่ประจักษ์เบื้องหลังการอุบัติของเรา ผู้นั้นเมื่อละร่างไปสู่ปรภพแล้วเขาไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายในห้วงสังสารวัฏฏอีก หากแต่ชีวาตมันของเขาจะลอยล่องไปรวมเป็นหนึ่งเดียวกับปรมาตมันของเราในทิพยโลก   
                 บุคคลใดปราศจากความกระหายอยาก ความกลัวและความโกรธ มุ่งยึดเหนี่ยวเอาเราเป็นอารมณ์ในทุกขณะเวลา ปลงใจรับเอาเราเป็นสรณะของชีวิต บุคคลนั้นชื่อว่ามีชีวิตบริสุทธิ์ด้วยปัญญาและความพากเพียรของตนเอง บุคคลเช่นที่กล่าวมานี้นับอนันต์ทีเดียวที่ละร่างจากโลกนี้แล้วได้ร่วมเสวยทิพยสุขกับเรา ณ ทิพยสถานโพ้น   
                 นี่คือสิ่งที่แสดงว่าผู้ที่ดำเนินชีวิตเพื่อเข้าถึงเราย่อมได้รับการตอบสนองจากเรา ทางเดินแห่งชีวิตของมนุษย์นั้นมีอเนกอนันต์นานา แต่เมื่อสาวไปจนถึงที่สุดแล้ว ทางเหล่านั้นล้วนตรงดิ่งมาที่เรา   
                 มนุษย์นั้นเมื่อประสงค์จะให้กรรมของตนสำเร็จผลก็พากันเซ่นสรวงเทพเจ้าด้วยเข้าใจว่าการให้ผลของกรรมสามารถเกิดขึ้นได้โดยพลัน
   
                 วรรณะทั้งสี่* (วรรณะทั้งสี่ได้แก่ กษัตริย์ –นักรบหรือชนชั้นปกครอง, พราหมณ์ –นักบวช หรือ ศาสนาจารย์, แพศย์ –พ่อค้าหรือผู้ประกอบกิจการด้านพาณิชยกรรม และศูทร –ชนชั้นกรรมกรที่ไม่มีกิจการเป็นของตนเอง ต้องอาศัยแรงงานรับจ้างยังชีพ วรรณะทั้งสี่นี้เป็นการจำแนกชนชั้นของผู้คนในสังคมอินเดียโบราณที่ยังสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน จากข้อความในโศลกนี้เราจะเห็นว่าแนวคิดในเรื่องวรรณะดั้งเดิมนั้นเป็นเพียงการจำแนกผู้คนออกเป็นกลุ่มตามความเหมาะสมทางด้านอาชีพ (ในภาษาสันสกฤตท่านใช้คำว่า กรฺม) และพื้นฐานทางธรรมชาติที่แตกต่างกันเช่นความสนใจ ความชอบ หรือความถนัด (ภาษาสันสกฤตใช้ว่า คุณ) ไม่ได้ประสงค์จะแบ่งแยกว่าใครดีใครเลวหรือใครสูงใครต่ำอย่างที่เป็นในยุคหลัง-ผู้แปล) เราเป็นผู้สร้างขึ้นโดยกำหนดเอาธรรมชาติและการกระทำของพวกเขาเป็นเกณฑ์จำแนก เราคือผู้สถาปนาวรรณะและท่านจงทราบด้วยว่าเวลานี้ผู้ก่อตั้งระบบวรรณะขึ้นนั้นยังดำรงอยู่ไม่ได้เสื่อมสูญไปไหน
   
                 ด้วยเหตุนี้เอง เมื่อเรากระทำกรรม กรรมจึงไม่แปดเปื้อนเรา เรากระทำกรรมโดยไม่ต้องรับผลของการกระทำนั้น ผู้ใดทราบภาวะอันอยู่เหนือกรรมของเรา ผู้นั้นย่อมพ้นจากพันธนาการแห่งกรรม   
                 ท่านผู้แสวงหาความหลุดพ้นในอดีตทราบความเป็นจริงดังกล่าวนี้แล้วย่อมพากันกระทำกรรมโดยไม่หวาดหวั่น ตัวท่านเองก็จงกระทำกรรมโดยไม่กังวลเยี่ยงบรรพบุรุษเถิดอรชุน   
                  กรรมคืออะไร อกรรมหมายถึงสิ่งใด แม้ปราชญ์ก็จนปัญญาในเรื่องทั้งสองนี้   
                  ฟังนะ! เราจะเฉลยไขเรื่องราวอันลี้ลับแห่งกรรมแก่ท่าน เมื่อทราบความข้อนี้แล้ว ท่านจะพ้นจากบาปทั้งมวล
   
                  กรรมก็ดี วิกรรมก็ดี อกรรมก็ดี สามสิ่งนี้บุคคลพึงทำความเข้าใจให้ถ่องแท้* (กรรม, วิกรรม และอกรรม สามอย่างนี้เป็นการจำแนกลักษณะของกรรมคือ กรรม-หมายถึงการกระทำความดี, วิกรรม-หมายถึงการกระทำความชั่ว, ส่วน อกรรม-หมายถึงการกระทำที่อยู่เหนือกรรม หรือการกระทำที่ทำลงไปแล้วผู้กระทำไม่ต้องรับผลของกรรมนั้น เรื่องกรรม, วิกรรมและอกรรมนี้ หากจะเทียบกับเรื่องกรรมในพุทธศาสนาจะเทียบได้ดังนี้คือ กรรม (ของฮินดู) เทียบได้กับกุศลกรรม (ของพุทธ) วิกรรม (ของฮินดู) เทียบได้กับอกุศลกรรม (ของพุทธ) ส่วนอกรรม (ของฮินดู) เที่ยบได้กับวิมุตติกรรม (ของพุทธ) ฉบับแปลภาษาอังกฤษส่วนใหญ่แปลคำสามคำนี้ตรงกันว่า กรรม-Aciton วิกรรม-Wrong Action และอกรรม-Inaction –ผู้แปล)เรื่องราวอันเกี่ยวแก่กรรมนี้ช่างเป็นสิ่งลึกซึ้งและลึกลับ ยากแก่การเข้าใจยิ่งนัก
   
                  บุคคลใดมองเห็นอกรรมในกรรม ส่วนในอกรรมเล่าก็สามารถมองเห็นกรรม บุคคลนั้นชื่อว่าเป็นผู้มีปัญญาเหนือสามัญมนุษย์ กรรมที่เขากระทำลงไปทุกอย่างถือเป็นอันสมบูรณ์ไม่มีบกพร่อง   
                  ผู้ใดกระทำกรรมด้วยความรู้สึกเป็นอิสระจากการยึดมั่นถือมั่น ผู้ใดสามารถเผากรรมของตนให้มอดไหม้ด้วยไฟ คือปัญญา ปราชญ์เรียกผู้นั้นว่าบัณฑิต   
                  ผู้สลัดความยึดมั่นในผลของกรรมทิ้งได้ มีใจแนบสนิทในปรมาตมันอยู่เสมอ และเป็นผู้ไม่ต้องพึ่งพาสิ่งใดอีกแล้วในโลกนี้ คนเช่นนั้นแม้คลุกคลีอยู่ในกรรม ก็ไม่ชื่อว่ากระทำกรรม
   
                  ใครก็ตามที่ข้ามพ้นแล้วซึ่งความทะยานอยาก สามารถควบคุมจิตใจให้อยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม และสละได้ทุกสิ่งอย่างอันเป็นมายาชีวิต คนเช่นนั้นเมื่อกระทำกรรม การกระทำของเขาก็หาได้จัดเป็นกรรมไม่ ร่างกายอันเป็นเนื้อหนังของเขาเท่านั้นที่ทำ จิตใจหาได้กระทำไม่ เมื่อจิตอยู่เหนือกรรม เขาย่อมบริสุทธิ์จากบาปทั้งหลาย   
                  บุคคลใดพอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่หรือพึงมีพึงได้ ไม่ยึดติดในความลวงของมายาการทั้งที่เป็นความสุขและที่เป็นความทุกข์ ไม่ริษยาผู้ประสบผลสำเร็จกว่าตน และสามารถวางใจให้เป็นปกติเมื่อประสบความล้มเหลวหรือประสบความสำเร็จในชีวิต บุคคลนั้นถึงกระทำกรรมก็ไม่ถูกกรรมผูกดึงเอาไว้   
                 สำหรับบุคคลผู้อยู่เหนือความยึดมั่นถือมั่น ผู้ข้ามพ้นจากโลกียธรรม ผู้มีใจตั้งมั่นหนักแน่นเพราะประจักษ์แจ้งสัตยธรรม หรือผู้ประกอบยัญกรรมด้วยความไม่ยึดติด กรรมของเขาย่อมบริสุทธิ์สะอาดปราศจากมลทินมัวหมอง
                  บุคคลเช่นนั้นเมื่ออุทิศทานในยัญพิธี ทานของเขาย่อมชื่อว่าเป็นทานที่ถวายแด่พรหมอย่างแท้จริง ของที่เขาถวายในพิธีก็ย่อมชื่อว่าเป็นของเหมาะสมแก่พรหม ทานวัตถุที่เขาโปรยลงในกองไฟย่อมจะล่องลอยไปถึงพรหมอย่างไม่ต้องสงสัย
   
                  ผู้ยึดมั่นในพรหมด้วยดวงใจอันบริสุทธิ์ย่อมเข้าถึงพรหมด้วยประการฉะนี้แล   
                  ในบรรดาโยคีที่บำเพ็ญตละทั้งหลาย บางพวกพากันกราบไหว้เซ่นสรวงเทพเจ้าเหล่าอื่น บางพวกประกอบยัญกรรมอุทิศแด่พระพรหมองค์เดียวเท่านั้น   
                  บางพวกบูชาพรหมด้วยการสำรวมกาย วาจาและใจให้มั่นคง เมื่อประสบกับอารมณ์ต่างๆ ที่ผ่านเข้ามากระทบ   
                  บางพวกบูชาพรหมด้วยการสละทรัพย์ บางพวกบูชาด้วยการบำเพ็ญตบะ บางพวกบูชาด้วยการปฏิบัติตามโยคธรรมอันได้แก่การชำระล้างจิตใจให้บริสุทธิ์ บางพวกบูชาด้วยการบำเพ็ญสมาธิและเจริญภาวนาปัญญา   
                  บางพวกบูชาด้วยการควบคุมลมหายใจเข้าออกมิให้เป็นไปตามปกติ   
                  บางพวกอดอาหาร เป็นการบูชาพรหม
                  เหล่าโยคีทั้งหมดที่กล่าวมานี้ หากเป็นผู้ประจักษ์แจ้งในความหมายของยัญกรรมอย่างแท้จริง เมื่อบูชายัญด้วยวิธีการดังกล่าวแล้วย่อมห่างไกลจากความชั่วร้าย
   
                  อรชุน! เมื่อโยคีผู้ประจักษ์แจ้งในความหมายที่แท้ของการบูชายัญ บริโภคอาหารภายหลังจากที่ได้อุทิศเป็นในยัญพิธีแล้วย่อมชื่อว่าได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับพรหมอันเป็นแดนเกษมสำราญชั่วนิรันดร์   
                  ก็หากว่าโลกนี้ไม่มีสุขมอบให้แก่ผู้ประกอบคุณความดีแล้ว โลกหน้าที่ยังไม่มาถึงยังจะมีสุขอะไรให้หวังอยู่หรือ!   
                   ยัญกรรมซึ่งมีอยู่มากมายหลายประเภทนี้ ท่านกล่าวไว้ชัดเจนในคัมภีร์พระเวท จงทราบว่ายััญกรรมเหล่านี้เป็นสิ่งสูงส่ง และเป็นกรรมอันจะส่งผลให้ผู้เข้าใจและปฏิบัติตาม พ้นจากห้วงแห่งสังสารวัฏฏ์
   
                   อรชุน! การกระทำยัญกรรมด้วยความรู้เข้าใจย่อมประเสริฐกว่าการประกอบยัญกรรมนั้นเพียงด้วยทรัพย์สินเงินทอง   
                   ปัญญาหรือความรู้ความเข้าใจนี้เป็นสิ่งสูงสุดในบรรดาสิ่งที่อยู่เบื้องหลังการกระทำกรรมทั้งหลาย   
                   ปัญญานี้สามารถอบรมให้เกิดมีได้ด้วยการรู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน เข้าหาท่านผู้มีปัญญากว่าตน ผู้มีปัญญาประจักษ์แจ้งในสัจจะเท่านั้นจึงจะสามารถถ่ายทอดปัญญาให้แก่ผู้อื่นได้
   
                   อรชุน! หากท่านรู้ความเป็นจริงในสิ่งต่างๆ รอบกายด้วยปัญญาแล้ว ท่านจะไม่คลางแคลงในสิ่งนั้นๆ อีกต่อไป   
                   ปัญญาจะทำให้ท่านประจักษ์ชัดว่า อันสรรพชีวิตทั้งหลายทั้งปวงในจักรวาลนี้ต่างมีต้นกำเนิดมาจากเราทั้งสิ้น   
                   เมื่อจำเป็นที่จะต้องกระทำบาป ก็จงกระทำไปเถิด หากแต่เมื่อกระทำแล้วจงอาศัยนาวาคือปัญญานำตัวเองให้ข้ามพ้นห้วงทะเลแห่งบาปนั้น   
                   อุปมาดังไฟเผาฟืนให้เป็นเถ้าธุลี ไฟคือปัญญาย่อมเผาไหม้กรรมทั้งปวงให้พินาศสิ้นสลายได้ฉันใดก็ฉันนั้น   
                   ในโลกนี้ไม่มีสิ่งใดจะชำระล้างชีวิตให้บริสุทธิ์ได้ยกเว้นปัญญาและปัญญานั้นก็เป็นผลมาจากการปฏิบัติตามโยคกรรม   
                   บุคคลใดเชื่อมั่นในการประกอบคุณความดี ใฝ่ใจแสวงหาปัญญาและรู้จักควบคุมตนเอง บุคคลนั้นย่อมสามารถสร้างเสริมความรอบรู้ให้เกิดแก่ตน เมื่อรอบรู้เขาย่อมอาจเข้าสู่สันติแห่งชีวิตโดยอาศัยความรอบรู้นั้นเป็นสิ่งชักนำตน
   
                   ผู้ใดไม่มั่นใจในการประกอบกรรมดี มีใจคลางแคลงในอาตมัน ผู้นั้นย่อมประสบความพินาศหายนะ ชีวิตทั้งชีวิตเขาจักหาความสุขอันใดไม่ได้เลย   
                   อรชุน!บุคคลใดสลัดกรรมทั้งปวงทิ้งได้ด้วยโยคะและตัดความเคลือบแคลงสงสัยในสิ่งต่างๆ ได้ด้วยปัญญา กรรมทั้งหลายที่บุคคลนั้นกระทำมาย่อมไม่อาจผูกมัดเขาไว้ภายในพันธนาการแห่งมัน   
                   เพราะฉะนั้น! จงตัดความลังเลในใจของท่านให้ขาดสะบั้นด้วยดาบคือปัญญา แล้วลุกขึ้นจับอาวุธทำสงครามเถิดอรชุน!



ฐิตา:

ภควัทคีตา
บทเพลงแห่งองค์ภควัน
(สมภาร พรมทา แปลและเรียบเรียง)

บทที่ห้า
               อรชุนกล่าวว่า           
               กฤษณะ! แรกทีเดียวท่านสรรเสริญการสลัดกรรมว่าเป็นสิ่งประเสริฐ แต่ภายหลังกลับยกย่องการประกอบกรรมว่าเป็นความดีงาม ช่วยบอกเราให้แน่ทีเถิดว่า ระหว่างการสลัดทิ้งซึ่งกรรม กับการประอบกรรม สองอย่างนี้ สิ่งไหนประเสริฐกว่ากัน

               กฤษณะตอบว่า
               ทั้งการสลัดกรรมและการประกอบกรรมต่างสามารถทำให้จิตหลุดพ้นได้เหมือนกัน หากแต่เมื่อเทียบกันแล้ว การกระทำกรรมด้วยความไม่ยึดมั่นถือมั่นย่อมดีกว่าไม่ยอมกระทำกรรมอันใดเลย
               อรชุน! บุคคลใดวางใจให้เป็นปกติเมื่อประสบกับความพลาดหวังหรือสมหวังได้ ทั้งในใจของเขาเล่าก็บริสุทธิ์สะอาดจากความกระหายอยาก พึงทราบเถิดว่าบุคคลนั้นเป็นสันยาสีอันมีความหมายว่าผู้สลัดกรรมทิ้งได้
               ผู้ไม่ลุ่มหลงในมายาการของสิ่งคู่เช่น สุข-ทุกข์ หรือดีใจ-เสียใจ เป็นต้น ย่อมหลุดพ้นจากพันธนาการแห่งชีวิตได้ไม่ยาก
               คนโง่ย่อมกล่าวว่า สางขยะ และโยคะ นั้นแตกต่างกัน แต่ผู้รู้หาได้กล่าวเช่นนั้นไม่ ด้วยว่าหลักปฏิบัติทั้งสองประการนี้หากใครทำตามได้สมบูรณ์เพียงส่วนหนึ่ง ก็สามารถได้รับผลของการปฏิบัติในอีกส่วนหนึ่งพร้อมในคราวเดียวกันด้วย

               ทิพยสถานใดที่ผู้ปฏิบัติตามสางขยะปรัชญาได้บรรลุถึงทิพยสถานนั้น ผู้ปฏิบัติตามโยคปรัชญาก็บรรลุถึงได้เท่าเทียมกัน
               ผู้ใดมองเห็นสางขยะและโยคะว่าเป็นหลักปฏิบัติที่แนบแน่นเป็นหนึ่งเดียวจนไม่อาจแยกกันได้ ผู้นั้นนับว่าเห็นชอบแท้
               อรชุน!การสละกรรมจะกระทำได้ยากยิ่ง หากว่าผู้ปฏิบัตินั้นละเลยโยคะอันได้แก่การประกอบกรรม มุนีผู้บำเพ็ญโยคธรรมพร้อมกับการสละกรรมย่อมบรรลุถึงพรหมได้เร็วพลัน
               ผู้ใดบำเพ็ญโยคธรรมได้บริบูรณ์ มีอาตมันอันบริสุทธิ์ เอาชนะตนเองได้ และสามารถควบคุมประสาทสัมผัสมิให้แปรปรวนเมื่อมีอารมณ์กระทบ อาตมันของคนผู้นั้น ย่อมเข้ารวมเป็นหนึ่งเดียวกับปรมาตมัน อันเป็นที่รวมแห่งอาตมันทั้งปวงในสากลจักรวาล

               บุคคลผู้มีอาตมันแนบสนิทเป็นหนึ่งเดียวกับปรมาตมันเช่นนั้นกระทำกรรมอันใดลงไปก็ไม่แปดเปื้อนเพราะกรรมนั้น
               บุคคลผู้รู้เท่าทันมายา ย่อมทราบว่าตนเองไม่ได้กระทำอะไร การที่ตามองเห็น หูได้ยินเสียง กายได้สัมผัส จมูกได้สูดกลิ่น ลิ้นได้ลิ้มรส หรือการที่คนต้องเดิน ต้องหลับนอน ต้องหายใจ ต้องพูด ต้องขับถ่าย ต้องหยิบโน่นฉวยนี่ ต้องลืมตาและหลับตา เป็นต้น ทั้งหมดล้วนเป็นธรรมชาติของชีวิต เมื่อสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น เขาก็ปล่อยให้มันสักแต่ว่าเกิดขึ้น ไม่ยึดมั่นถือมั่น

               ผู้ใดกระทำกรรมโดยไม่หวังผลของกรรมนั้น หากแต่มุ่งอุทิศการกระทำความดีนั้นแด่พรหม ผู้นั้นย่อมไม่แปดเปื้อนบาปประหนึ่งใบบัวไม่แปดเปื้อนหยดน้ำฉะนั้น
               โยคีที่แท้ย่อมบำเพ็ญตบะธรรมเพื่อความบริสุทธิ์แห่งอาตมัน เมื่อโยคีนั้นละทิ้งความยึดมั่นถือมั่นเสียได้ ร่างกาย จิตใจ ประสาทสัมผัส ตลอดจนความรู้สึกนึกคิดส่วนอื่นของเขาย่อมสักแต่ว่าดำเนินไปตามหน้าที่ของมัน ไม่จัดเป็นกรรมอันจะกลับผูกมัดเขา
               ผู้บำเพ็ญโยคธรรมโดยไม่หวังผลของการบำเพ็ญธรรมนั้นย่อมบรรลุถึงความสงบสูงสุดของชีวิต ส่วนผู้หวังผลของการบำเพ็ญธรรม ถึงปฏิบัติโยคธรรมอยู่ทุกขณะ ก็ไม่ถือว่าเป็นผู้บำเพ็ญโยคะ ชีวิตของเขามีแต่จะติดแน่นในโลกียมายา ไม่มีทางหลุดพ้น

               อาตมันที่ตัดกรรมทั้งปวงได้ ย่อมอาศัยอยู่ในร่างกายของคนอย่างเป็นสุข เจ้าของร่างนั้นไม่ต้องกระทำกรรมเพื่อเข้าถึงความสงบสูงสุดของชีวิตอันใดอีกแล้ว
               ปรมาตมันอันยิ่งใหญ่ไม่ได้ควบคุมการกระทำกรรมและการให้ผลของกรรมนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างอันเป็นกฎแห่งกรรมล้วนดำเนินไปตามธรรมชาติของมัน
               ปรมาตมันไม่อาจถ่ายถอนบาป หรือรับเอาบุญของใครได้ ปัญญาของคนคนนั้นต่างหากที่จะช่วยฉุดดึงเขาให้พ้นจากห้วงบาป แต่เพราะเหตุที่ปัญญามักถูกความรู้เท่าไม่ทันจริงปกปิดไว้ คนทั้งหลายจึงต้องเวียนว่ายอยู่ในห้วงทุกข์ ไม่อาจพาตัวหลุดรอดออกมาจากห้วงกรรมนั้นได้

               บุคคลใดทำลายความไม่รู้ได้ด้วยปัญญา ปัญญาของบุคคลนั้นย่อมจะส่องสว่างให้เขามองเห็นปรมาตมันดุจอาทิตย์อุทัยสาดส่องผืนโลกให้คนมองเห็นสรรพสิ่งอย่างแจ่มชัด
               จิตของบุคคลใดยึดเหนี่ยวเอาปรมาตมันเป็นอารมณ์แนบแน่นเป็นหนึ่งเดียวในปรมาตมัน บุคคลนั้นชื่อว่าเดินไปสู่ทิพยสถานอันเป็นสุขชั่วนิรันดร์ เขาไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายในห้วงสังสารวัฏฏ์อีกแล้ว บาปทั้งปวงของเขาถูกชำระล้างให้หมดสิ้นไปด้วยปัญญาแล้ว

                บัณฑิตย่อมมองสรรพชีวิตในจักรวาลว่ามีค่าเสมอกัน ไม่ว่าสิ่งนั้นจะถูกยกย่องว่าเลอเลิศเช่นพราหมณ์ผู้คงแก่เรียน หรือถูกเหยียดหยามว่าต่ำทรามดังเช่นสัตว์เดรัจฉานและคนในวรรณะจัณฑาล เป็นต้น
                ผู้ใดมีจิตตั้งมั่น ผู้นั้นย่อมเอาชนะทุกสิ่งในชีวิตได้
                พรหมเป็นสภาวะที่เที่ยงตรง ไม่มีความเอนเอียงในสรรพสิ่ง ผู้ตั้งมั่นในความไม่เอนเอียงชื่อว่าตั้งมั่นในพรหม
                บุคคลใดมีปัญญาตั้งมั่น ไม่งมงายในสิ่งไร้เหตุผล รู้แจ้งถึงสภาวะที่แท้จริงของพรหม และมีใจยึดมั่นในพรหม บุคคลนั้นย่อมไม่ยินดีเมื่อประสบสิ่งอันน่าพอใจ และไม่ขุ่นเคืองเมื่อประสบสิ่งอันไม่น่าพึงใจ
                เมื่อจิตใจไม่แปรปรวนไปตามอารมณ์ภายนอก บุคคลย่อมประสบความสุข ยิ่งผู้มีใจแนบสนิทเป็นหนึ่งเดียวกับพรหมผู้สูงสุด ยิ่งประสบความสุขอันไม่อาจพรรณนาได้

                อรชุน! ความยินดีอันเกิดจากความลุ่มหลงเมื่อได้สัมผัสอารมณ์อันน่าพอใจนี่เองคือต้นตอของทุกข์
                ผู้ใดสามารถต้านทานกระแสแห่งความทะยานอยากและความโกรธได้ กระทั่งร่างกายของตนก็อาจสละได้เพื่อสิ่งสูงสุด ผู้นั้นนับว่าเป็นโยคีแท้
                บุคคลใดพบความสุขในอาตมัน เกิดปีติเอิบอิ่มในอาตมันและมองเห็นความสว่างไสวแห่งชีวิตในอาตมันนั้น บุคคลนั้นชื่อว่าได้ร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับพรหมแล้ว เขาได้บรรลุพรหมนิรวาณอันได้แก่การหมดสิ้นความเร่าร้อนในชีวิตสถิตมั่นเป็นส่วนหนึ่งของปรมาตมันแล้ว

                ผู้ใดทำลายบาปได้หมดสิ้น ตัดขาดความสงสัยในสภาวธรรมทั้งปวงได้สิ้นเชิง มีจิตอันฝึกฝนมาดีแล้ว และเป็นผู้ปรารถนาประโยชน์สุขแก่สัตว์นิกรทั้งปวงในโลก ผู้นั้นเป็นผู้ประเสริฐ ผลของความดีนั้นจักหนุนส่งให้เขาบรรลุถึงพรหมนิรวาณอย่างแน่แท้


ฐิตา:

ภควัทคีตา
บทเพลงแห่งองค์ภควัน
(สมภาร พรมทา แปลและเรียบเรียง)

บทที่แปด
                อรชุนถามว่า
                กฤษณะ! พรหมผู้สูงสุดนั้นเป็นอย่างไร อาตมันคืออะไร กรรมคือสิ่งใด ผู้เป็นใหญ่เหนือแผ่นดินและสวรรค์คือใคร โปรดตอบข้อสงสัยเหล่านี้ของเราที
                ในบรรดาสิ่งอันประกอบขึ้นเป็นร่างกายของคน ส่วนใดเป็นผู้รับผลของความดีที่คนผู้นั้นกระทำลงไปและได้รับโดยวิธีใด
                เราจะแน่ใจด้อย่างไรว่าหากควบคุมใจให้แน่วแน่ต่อท่านในชาตินี้แล้ว เมื่อตายไปจะได้พบท่านในทิพยโลกโปรดตอบ!
                กฤษณะตอบว่า
                ธรรมชาติอันหนึ่งไม่รู้จักเสื่อมสลายไปตามกาล เป็นใหญ่เหนือทุกสิ่งในจักรวาล นั่นล่ะพรหมอันสูงสุด
                สภาวะรู้รูปอย่างหนึ่งสถิตอยู่ในร่างกายของมนุษย์ เป็นตัวรับรู้อารมณ์และคิดนึก สภาวะนี้เรียกว่าอาตมัน
                มีพลังลึกลับชนิดหนึ่งเป็นตัวผลักดันให้เกิดชีวิตใหม่ สิ่งมีชีวิตทุกอย่างในจักรวาลต่างเวียนว่ายตายแล้วเกิดตามแรงผลักดันของพลัง อันนี้ พลังที่ว่านี้เรียกว่ากรรม

                สสาร* เป็นใหญ่ในแผ่นดิน จิต* เป็นใหญ่ในสวรรค์
                *(สสาร Matter นี้ในภาษาสันสกฤตใช้ว่า กฺษรภาวะ หมายถึงสิ่งที่ถูกต้องสัมผัสได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้งห้า และเป็นสิ่งสูญสลายไปได้ตามกาลเวลา -ผู้แปล)
                * (จิต Spirit ในโศลกสันสกฤตท่านใช้ว่า บุรุษ ได้แก่ สภาวะ นิรันดรอย่างหนึ่งที่เวียนว่ายอยู่ในห้วงจักรวาล จิตสามารถดำรงอยู่ได้ทั้งในร่างมนุษย์และในสภาพล่องลอยเป็นอิสระ และจะสถิตอยู่ในร่างคนสลับกับการล่องลอยไปจนกว่าจะเข้าถึงพรหม -ผู้แปล)
                เมื่อบุคคลกระทำกรรมดีลงไป ผู้รับผลของกรรมดีนั้นได้แก่อาตมัน
                ดังนั้น ความดีที่กระทำลงไปจึงไม่มีทางสูญเปล่า เพราะอาตมันเป็นสภาวะนิรันดร์ไม่รู้จักแตกทำลาย ถึงผู้กระทำความดีจะตายไป อาตมันที่จะคอบรับผลของกรรมดีก็ยังคงอยู่
                แน่ใจได้เลยว่าผู้ที่มีใจแนบแน่นในเรา เมื่อเขาละโลกนี้ไปแล้วเขาจักได้พบเรา ณ ทิพยสถานอันเป็นบรมสุข

                อรชุน! เมื่อจิตใจของคนยึดเหนี่ยวสิ่งใดเป็นพิเศษในเวลาก่อนตาย สิ่งที่ใจของเขาหน่วงดึงเอาไว้นั้นย่อมจะชักพาเขาไปสู่สภาวะของสิ่งนั้น
                เพราะฉะนั้นอย่าวิตกไปเลยอรชุน! จงรบ! แล้วพยายามระลึกถึงเราเอาไว้ตลอดเวลา! หาท่านตายเพราะการสู้รบในขณะที่ใจยึดเหนี่ยวเอาเราเป็นสรณะ ท่านก็จักได้ไปเสวยสุข ณ ทิพยสถานกับเรา!
                อรชุน! บุคคลผู้มีใจแนบแน่นใน “สิ่งสูงสุด” บำเพ็ญเพียรเพื่อ “สิ่งสูงสุด” นั้น ย่อมลุถึง “สิ่งสูงสุด” สมประสงค์เพราะความพากเพียร

                “สิ่งสูงสุด” นี้รอบรู้ทุกสิ่งอย่างในจักรวาล หยั่งทราบอดีตและอนาคต เป็นผู้พิทักษ์คุ้มครองโลก เป็นสภาวะที่อยู่เหนือการคาดหวัง เป็นแสงสว่างแห่งจักรวาลประดุจดวงตะวันที่สาดส่องขจัดความมืดมน
                ใครก็ตามยึดเหนี่ยวเอา “สิ่งสูงสุด” นี้เป็นสรณะแห่งชิวิต บำเพ็ญเพียรด้วยใจที่ศรัทธามั่นคงต่อ “สิ่งสูงสุด” นั้น เขาเมื่อละร่างนี้ไปแล้วย่อมเข้าถึง “สิ่งสูงสุด” ณ ทิพยสถานแดนสงบชั่วนิรันดร์
                อรชุน! ท่านผู้รู้เรียก "สิ่งหนึ่ง" ว่าเป็นสภาวะอมตะ ไม่รู้จักเสื่อมสลาย สภาวะนั้นจะบรรลุถึงได้ก็เฉพาะบุคคลผู้ประพฤติพรหมจรรย์ปฏิบัติด้วยใจอันบริสุทธิ์สะอาดเท่านั้น
                ณ บัดนี้เราจะหยิบยกเอาสภาวะนั้นมาแสดงให้ท่านฟังโดยสังเขป

                อรชุน! ผู้ใดสำรวมกาย วาจา ใจให้มั่นคง ปฏิบัติโยคธรรมด้วยใจที่ตั้งมั่นในเรา ผู้นั้นเมื่อละร่างนี้ไปสู่ปรโลก เขาจะได้บรรลุถึงบรมศานติ
                ผู้ใดมีใจยึดเหนี่ยวในเรา และหน่วงเหนี่ยวเอาเราเป็นอารมณ์ ในการบำเพ็ญสมาธิธรรม ผู้นั้นย่อมเข้าถึงเราได้เร็วพลัน
                เมื่อบรรลุถึงเราแล้วเขาจะกลายเป็นหนึ่งเดียวกับเราไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายในห้วงสังสารวัฏฏ์อันเต็มไปด้วยความทุกข์เข็ญเจ็บปวดนั้นอีก
                อรชุน! การเวียนว่ายตายเกิดนี้เป็นกฎของชีวิต ทุกคน ทุกชีวิต ไม่ว่าจะเป้นมนุษย์หรือเทพล้วนแล้วแต่ต้องเวียนว่ายไปตามกฎของชีวิตอันนี้
                ยกเว้นแต่ผู้เข้าถึงเราเท่านั้นที่อยู่เหนือกฎการเวียนว่ายนี้               
                แม้แต่เหล่าพรหมในพรหมโลกที่ว่าอายุยืนยาวนักก็ต้องเวียนว่ายตายเกิดเมื่อถึงกาลอันสมควร*
                (* หมายถึงพรหมชั้นต่ำลงมายกเว้นมหาพรหมที่ดำรงภาวะแห่งปรมาตมัน พรหมเหล่านี้ก็คือเทพประเภทหนึ่งแต่เป็นเทพชั้นสูง ที่มีอายุการเสวยสุขในทิพยโลกยาวนานกว่าเทพอื่นๆ -ผู้แปล)

                ในพรหมโลกนั้น วันหนึ่งของเหล่าพรหมเท่ากับพันกัปในโลกมนุษย์ และคืนหนึ่งในพรหมโลกก็เป็นเวลาพันกัปของมนุษย์เช่นกัน
                ในเวลากลางวันพรหมทั้งหลายจะแสดงร่างออกมาให้ปรากฏ ครั้นล่วงเข้าสู่ราตรีร่างเหล่านั้นก็จะกลับประลัยละลายหายไปสู่ความว่าง เปล่าอีกครั้ง
                การปรากฏและการประลัยของเหล่าพรหมก็คือการที่ภาวะก่อเกิดจากอภาวะ แล้วภาวะนั้นก็กลับคืนสู่อภาวะอีกที
                อภาวะอันอยู่เบื้องหลังภาวะ และเป็นแดนกำเนิดของเหล่าพรหมตลอดจนสรรพสิ่งในจักรวาลนี้มีเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า อักษรภาวะ*
                (* อักษรภาวะ The Imperishable มาจากคำว่า อ+กฺษร+ภาว, อ-แปลว่าไม่, กฺษร-แปลว่าสิ้นไปได้, อักษรภาวะจึงแปลได้ความว่าสภาพหรืออานุภาพชีวิตหนึ่งที่เป็นอมตะ ไม่มีวันพินาศเสื่อมสลาย -ผู้แปล)

                อักษรภาวะนี้โดยเนื้อแท้ก็คือสิ่งสิ่งเดียวกับบรมศานติสถานที่เราพูดถึง เป็นอมตสถานที่เสวยสุขชั่วนิรันดร์ของผู้หลุดพ้น และเป็นสถานที่ที่เราดำรงอยู่               
                อรชุน! อักษรภาวะนี้เป็นชีวิตของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด บุคคลจะเข้าอักษรภาวะนี้ได้ก็ด้วยความภักดีอันมั่นคงไม่คลอนแคลนในเราเท่านั้น
                ทางเดินของชีวิตมีอยู่สองสาย สายหนึ่งตรงไปสู่ความสว่างไสวรุ่งเรือง ส่วนอีกสายตรงไปหาความมืดมิดตกต่ำ
                อรชุน! ผู้ฉลาดย่อมรู้จักเลือกทางเดินชีวิตให้ตนเอง ผู้เลือกทางถูกย่อมจะเข้าถึงความสงบแห่งชีวิต ไม่ตกต่ำอับจนเพราะการเลือกที่ผิดพลาดของตนเอง



ฐิตา:

ภควัทคีตา
บทเพลงแห่งองค์ภควัน
สมภาร พรมทา แปลและเรียบเรียง

บทที่เก้า
                กฤษณะตรัสว่า
                อรชุน! เราจะบอกสิ่งลึกลับอย่างยิ่งสามประการแก่ท่าน เมื่อท่านทราบรหัสยภาวะสามประการนี้แล้ว ท่านจะพ้นจากบาปทั้งปวง
                สิ่งลึกลับอย่างยิ่งที่เราจะบอกแก่ท่านนี้ได้แก่ อธิปัญญา หนึ่ง, อธิรหัสยภาพ หนึ่ง, และอธิวิสุทธิ อีกหนึ่ง
                สามสิ่งนี้เป็นทางแห่งการเข้าสู่ความหลุดพ้นโดยตรง
                อรชุน! ผู้ใดไม่เชื่อมั่นในทางสามสายนี้ ผู้นั้นย่อมไม่อาจเข้าถึงเรา เขาจักต้องเวียนว่ายทุกข์ทนอยู่ในห้วงสังสารวัฏฏ์อีกต่อไป
                สรรพสิ่งอันปรากฏเป็นรูปเป็นร่างในจักรวาลล้วนแต่ต้องพึ่งพิงเรา! เราเป็นเจ้าและเป็นนายของสรรพสิ่งไม่มียกเว้น!
                อุปมาดังอากาศที่แทรกซึมอยู่ทั่วทุกอณูของที่ว่าง อากาศนั้นจำเป็นต่อสิ่งมีชีวิตทั้งปวงฉันใด เราก็จำเป็นต่อการพึ่งพาสำหรับสรรพสัตว์ฉันนั้น

                อรชุน! เมื่อถึงเวลาที่กัลป์ประลัย จักรวาลถูกไฟประลัยกัลป์แผดเผาเป็นผุยผงสิ้น ชีวะของสัตว์ทั้งปวงจะเข้าไปรวมอยู่กับเรา จนเมื่อถึงเวลาเริ่มต้นกัลป์ใหม่ เราถึงจะส่งสัตว์เหล่านั้นลงมาจุติอีครั้ง
                เราคือผู้สร้างสรรพสิ่งขึ้นใหม่ในจักรวาลเมื่อกัลป์ใหม่เริ่มต้น! เราเนรมิตทุกสิ่งอันอย่างนี้ครั้งแล้วครั้งเล่าไม่มีที่จบสิ้น! สรรพสิ่งทั้งหลายล้วนแต่เกิดขึ้น, ดำรงอยู่, และพินาศไปภายใต้การควบคุมของเราทั้งสิ้น!
                เราสร้างสรรพสัตว์ แต่ไม่เกี่ยวข้องกับการประกอบกรรมของสัตว์ทั้งหลาย
                กรรมใดใครก่อ! ผู้นั้นต้องรับผลของกรรมนั้น!
                คนเขลาไม่หยั่งทราบอานุภาพของเราก็พากันลบหลู่เราผู้อยู่ในร่างมนุษย์สามัญ หารู้ไม่ว่านี่คือเจ้าชีวิตของมันเอง!
                คนผู้ด้อยความคิดเหล่านั้นเมื่อไม่เข้าใจภาวะของเราเสียแล้วจะคิดจะหวังหรือ จะกระทำสิ่งใดก็มีแต่พลาดแต่ผิดวิบัติไปหมดสิ้น

                ผู้ฉลาดสามารถมองผ่านร่างมนุษย์ที่หุ้มห่อเราเข้าไปเห็นทิพยภาวะ ย่อมหยั่งทราบว่าเราคือแหล่งกำเนิดของสรรพสิ่งรวม ทั้งตัวเขาเองด้วย เมื่อหยั่งรู้เช่นนั้น เขาย่อมมีใจภักดีต่อเรา หมั่นเพียรบำเพ็ญคุณความดี เพื่อเข้าถึงเราด้วยจิตใจที่มั่นคงหนักแน่น

                อรชุน! ภาวะแห่งเรานี้เป็นได้ทั้งเอกภาวะและพหุภาวะ
                การที่เราเป็นต้นกำเนิดของสรรพสิ่งหรืออีกนัยหนึ่ง สรรพสิ่งทั้งหลายก่อกำเนิดมาจากเราผู้เดียว นี่เรียกว่าเอกภาวะของเรา
                ส่วนการที่เราเป็นธรรมชาติในสรรพสิ่ง นั่นคือพหุภาวะของเรา
                เราเป็นหัวใจของการประกอบยัญพิธี! เป็นมรรคาสู่ความหลุดพ้น! เป็นผู้ให้กำเนิดโลก! เป็นผู้ปกป้องโลก! และเป็นผู้ทำลายโลก!
                เราเป็นสักขีพยานในการทำความดี! เป็นที่พึ่งพิงของคนทุกข์! เป็นเพื่อนของผู้ต้องการเพื่อน!

                เราเป็นความร้อนในแสงตะวัน! เป็นความฉ่ำเย็นในสายฝน!
                เราเป็นชีวิตของสิ่งมีชีวิต! และเป็นความตายของสิ่งที่วงจรชีวิตเดินมาครบเงื่อนไขการดำรงอยู่แล้ว!เราเป็นทั้งสิ่งที่มีอยู่และที่ไม่มีอยู่! เป็นภาวะและอภาวะ!
                ผู้ใดหยั่งทราบภาวะแห่งเราทั้งที่เป็นเอกภาวะและพหุภาวะอย่างนี้แล้ว มีใจภักดีหมั่นเพียรประกอบกรรมดีเพื่อนบูชา ผู้นั้นย่อมจะได้รับความเกษมศานดิ์จากเราเป็นเครื่องตอบแทน

                แม้เหล่าชนที่บูชาเทพเจ้าเหล่าอื่นนอกเหนือจากเราก็เช่นกัน เพราะเหตุที่เขาไม่เข้าใจถึงภาวะของเรา ที่ครอบคลุมทุกสิ่งอย่างไม่เว้นกระทั่งเทพเหล่านั้น พวกเขาจึงพากันกราบไหว้เทพที่ตนเข้าใจว่าเป็นสิ่งสูงสุด แต่เพราะความที่พวกเขาเซ่นไหว้เทพด้วยใจบริสุทธิ์ แม้จะยังเดินไปไม่ตรงทางนัก พวกเขาก็จะได้รับผลแห่งความดีนั้นตามสมควรแก่การกระทำจากเรา
                นั่นคือผู้ใดเซ่นไหว้เทพองค์ใด เมื่อสิ้นชีวิตลง ผู้นั้นย่อมจะได้ไปร่วมเสวยสุขกับเทพองค์นั้น
                ผู้ใดกราบไหว้ผีบรรพบุรุษก็จะได้ปอยู่ร่วมภพเดียวกันกับบรรพบุรุษนั้น
                ผู้เซ่นสรวงภูตผีระดับใดก็จะได้ไปร่วมเป็นสมาชิกของภูตผีระดับนั้น

                บุคคลที่กล่าวมาทั้งหมดแม้จะได้รับผลของกรรมในทางที่ดี แต่นั่นก็ไม่ใช่ทางหลุดพ้น!

                ผู้บูชาเราด้วยการปฏิบัติโยคธรรมจนจิตใจบริสุทธิ์สะอาจากมลทินทั้งปวงเท่านั้นจึงจะพบกับความหลุดพัน!
                การบูชาเรา เราถือเอาความบริสุทธิ์ใจและแรงศรัทธาเป็นประการสำคัญ ดังนั้นหากใครมีใจเชื่อมั่นในเราแม้ทานวัตถุของเขาจะด้อยราคาแค่เพียงเป็น ใบไม้, ดอกไม้, ผลไม้ หรือน้ำเปล่าๆ ทานนั้นเราก็ถือว่าเป็นทานที่ยิ่งใหญ่ จงทราบว่าเรารับเอาทานนั้นไว้ด้วยใจที่เบิกบานและชื่นชมยิ่งแล้ว

                ดังนี้แลอรชุน! เมื่อท่านจะทำ, จะกิน, จะประกอบยัญกรรม, จะให้ทาน, หรือจะบำเพ็ญเพียร ขอจงอุทิศการกระทำทั้งหมดนั้นมาที่เรา
                หากทำได้เช่นนั้น ท่านจะหลุดพ้นจากบุญและบาป อันจะให้ผลเป็นการเวียนว่ายในสังสารวัฏฏ์ต่อไป
                จงสลัดกรรมทั้งปวงออกจากจิตใจให้หมดสิ้น
                เมื่อสลัดกรรมทิ้งได้ ท่านย่อมได้ชื่อว่าเข้าถึงเราแล้ว
                อรชุน! เราเป็นผู้วางตนเสมอในทุกสิ่งบนผืนแผ่นดินนี้ เราไม่เลือกชอบหรือชัง
                ผู้ใดศรัทธาในเรา ปฏิบัติตนให้ดีเพื่อเข้าถึงเรา ผู้นั้นย่อมจะได้ร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับเรา
                แม้แต่ผู้เคยประกอบกรรมชั่วมาก่อน ต่อภายหลังจึงกลับใจเลิกละความชั่วนั้นเพื่ออุทิศแก่เรา คนเช่นนั้นก็ควรแก่การยกย่องสรรเสริญเสมอสาธุชนคนดีทั้งหลาย
                อรชุน! บุคคลผู้มีใจตั้งมั่นในธรรมและยึดมั่นในเราย่อมได้รับศานติ ไม่มีความเสื่อมตลอดนิรันดรกาล

                คนบาป, สตรี, แพศย์, และศูทร แม้คนสี่ประเภทนี้จะถือกันว่าเป็นคนชั้นต่ำ แต่เมื่อเขามีความเพียรพยายามประกอบคุณความดีอุทิศเพื่อเรา เขาก็สามารถบรรลุบรมศานติร่วมเสวยทิพยสุขกับเราเยี่ยงสาธุชนอื่นๆ ได้เช่นกัน
                ทั้งนี้ไม่ต้องจำเอ่ยถึงบรรดาพราหมณ์และกษัตริย์ชั้นสูงที่ภักดีในเรา เพราะขนาดชนชั้นต่ำที่ภักดีในเรายังอาจบรรลุถึงความสุขอันสูงสุดนั้นได้ ไฉนชนในวรรณะสูงจะไม่ได้รับสุขอันเป็นอมตะเล่า
                อรชุน! โลกนี้เป็นอนิจจังผันแปรไม่แน่นอนหลากรายด้วยทุกข์โศกนานาประการ ทราบเช่นนี้แล้วใยท่านไม่น้อมยึดเอาเราเป็นสรณะเสียเล่า

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version