ผู้เขียน หัวข้อ: สาขาของปรัชญา :ลักษณะเฉพาะของพุทธปรัชญา  (อ่าน 8119 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด




สาขาของปรัชญา

ประเภทของปรัชญา แบ่งเป็น 2 สาขาใหญ่ คือ
1.ปรัชญาบริสุทธ์
2.ปรัชญาประยุกต์

ปรัชญาบริสุทธิ์มี 5 สาขา
1.อภิปรัชญา คือ สาขาที่ว่าด้วยการค้นหาคำตอบเกี่ยวกับความจริงสูงสุด
ก.วัตถุนิยม เป็นกลุ่มที่เชื่อว่าความจริงสูงสุด คือ สสาร หรือพลังงาน
ข.จิตนิยม เป็นกลุ่มที่เชื่อว่า ความจริงสูงสุด คือ จิต สสารเป็นผลมาจากจิต
ค.ทิวนิยม เป็นกลุ่มที่เชื่อว่า ความจริงสูงสุดมีทั้งในสสารและจิต

อภิปรัชญายังสามารถแบ่งโดยทั่วไปได้เป็น
ก.ภาวะวิทยา คือ ศึกษาเกี่ยวกับความจริงสากล ความจริงที่ไม่เปลี่ยนแปลง
ข.เทววิทยา คือ ศึกษาเกี่ยวกับพระเจ้า ความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้ากับจักรวาล
ค.จักรวาลวิทยา คือ ศึกษาเกี่ยวกับความจริง บ่อเกิด และโครงสร้างของจักรวาล

2.ญาณวิทยา หรือ ทฤษฏีความรู้
ปรัชญาตะวันตกแบ่งบ่อเกิดความรู้เป็น 3 ทาง คือ
ก. ผัสสาการ คือ ความรู้เกิดจากประสาทสัมผัส
ข. เหตุผล คือ ความรู้เกิดจากคิดตามหลักเหตุผล
ค. อัชญัติญาณ คือ ความรู้เกิดขึ้นในใจโดยตรง เช่น การตรัสรู้ เป็นต้น



ลัทธิความเชื่อเกี่ยวกับราญวิทยา
ก.ลัทธิประสาทสัมผัสนิยม เชื่อว่า ประสาทสัมผัสเป็นมาตการในการตัดสินความจริง
ข.ลัทธิเหตุผลนิยม เชื่อว่า เหตุผลเป็นมาตการในการตัดสินความจริง
ค.ลัทธิอัชญัติญาณนิยม เชื่อว่า อัชญัติญาณเป็นมาตการในการตัดสินความจริง

3.จริยศาสตร์ คือ สาขาที่ศึกษาเกี่ยวกับความดี
ก. ความดีคืออะไร (ปัญหาเรื่องความมีอยู่ของคุณค่า)
ข.ปัญหาเรื่องเกณฑ์ในการตัดสินความดี
ค.ปัญหาเรื่องอุดมคติของชีวิต การใช้ชีวิตแบบใดคือการใช้ชีวิตที่ดี

4.สนุทรียศาสตร์ คือ สาขาที่ศึกษาเกี่ยวกับความงาม ศิลปะในธรรมชาติ เป็นต้น
กลุ่มที่ตัดสินความงามในสุนทรียศาสตร์เช่น
ก.กลุ่มอารมณ์นิยม กล่าวว่า ความงามขึ้นอยู่กับอารมณ์
ข.กลุ่มเหตุผล กล่าวว่า ความงามคือการเห็นสิ่งที่ไม่ขัดตา
ค.กลุ่มสร้างสรรค์ กล่าวว่า ความงามเกิดมาจากความสามารถในการสร้างสรรค์

5.ตรรกศาสตร์ คือ กฏเกณฑ์การใช้เหตุผล เครื่องมือในการหาคำอธิบายคำตอบอย่างมีเหตุมีผล
มีการเปรียบเปรยว่า คณิตศาสตร์คือเครื่องมือของนักวิทยาศาสตร์เพื่อค้นหาความจริง เช่นใด ตรรกศาสตร์ก็คือเครื่องมือในการค้นหาคำตอบ อธิบายคำตอบของนักปรัชญาเช่นนั้น
ตรรกศาสตร์ไม่ใช่ตัวความจริง แต่คือเครื่องมือในการหาความจริง



ปรัชญาประยุกต์
1.ปรัชญาศาสนา
2.ปรัชญากฎหมาย
3.ปรัชญาการศึกษา
4.ปรัชญาวิทยาศาสตร์
5.ปรัชญาการเมือง

6.ปรัชญาภาษา
7.ปรัชญาจิต
8.ปรัชญาประวัติศาสตร์
9.ปรัชญาคณิตศาสตร์
10.ปรัชญาสังคม



เขียนโดย jeepy -http://jeepy--jeep.blogspot.com/2007_09_01_archive.html

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กรกฎาคม 04, 2012, 02:42:39 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ศึกษาลักษณะเฉพาะของพุทธปรัชญา
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: กรกฎาคม 04, 2012, 02:30:36 pm »



ศึกษาลักษณะเฉพาะของพุทธปรัชญา
     ผู้ตั้งระบบปรัชญานี้ขึ้นมา คือพระพุทธเจ้า ซึ่งมีพระนามเดิมว่าสิทธัตถะ แห่งราชวงศากยะ ประสูติ ณ สวนลุมพินี เมืองกบิลพัสดุ์ ชมภูทวีปหรือประเทศอินเดียโบราณ ประมาณ ๖๒๓ ปี ก่อนคริสต์ศักราช ซึ่งพระองค์ทรงเป็นศาสดาผู้รู้แจ้งสัจจธรรม แล้วสิ้นสงสัยในเรื่องชีวิต จิตหรือวิญญาณ และเอกภพ ด้วยทรงใช้วิธีการแบบวิทยาศาสตร์ทางจิต เช่น นักวิทยาศาสตร์ในสมัยปัจจุบัน นั่นคือ การตระหนักถึงปัญหาความทุกข์สากลที่ทุกคนประจักษ์อยู่ ค้นหาสมุฎฐาน และวิธีการนำไปสู่การแก้ปัญหานี้เป็นผลสำเร็จ (ดูอริยสัจ) แล้วทรงนำมาประกาศเพื่อประโยชน์เกื้อกูลของชาวโลก โดยมิได้ผูกขาดสัจจธรรมเฉพาะชาติใดชาติหนึ่ง หรือแบ่งแยกบุคคลด้วยชาติ ชั้น และวรรณะ แต่อย่างไร พุทธปรัชญาเกิดขึ้นในท่ามกลางความวิปริตผันแปรทางสังคม และทางจิตวิญญาณของมนุษย์ในยุคนั้น ซึ่งต่างก็ตกอยู่ในภาวะสับสนว้าวุ่นต่อปัญหาชีวิต อาทิ :

๑. มนุษย์ควรจะประพฤติปฏิบัติอย่างไร จึงจะถูกต้อง?
๒. ควรจะเชื่อสติปัญญาของตนเองหรืออำนาจภายนอกที่เลือนลาง เช่น เทวะหรือพระเจ้า ซึ่งมีอยู่มากมายเท่ากับปรากฎการณ์ในธรรมชาติ (พหุเทวนิยม)?
๓. มนุษย์ควรจะหวังอะไรได้บ้างจากชีวิตนี้ จุดหมายของการเกิดที่แท้จริงอยู่ที่การกิน การหลับนอน การเสพกาม และร่าเริงเท่านั้น หรือมีอุดมคติสูงส่งยิ่งกว่านี้?
๔. ความรอดพ้นจากความทุกข์ ในรูปแบบต่างๆ เป็นไปได้หรือไม่ และด้วยวิธีการอย่างไร ด้วยอาศัยการโปรดปรานของพระเจ้าหรือด้วยอาศัยความสามารถของมนุษย์เอง?
๕. เจ้าลัทธิ คณาจารย์ต่างๆ ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากต่างก็ประกาศปรัชญาคำสอนต่างๆ ชนิดที่ขัดแย้งตรงกันข้าม และชี้ว่าวิธีของตนเท่านั้นถูกต้อง วิธีการอื่นผิดหมด แล้วอะไรเล่าคือความจริง?


     นอกจากนี้สภาพการณ์ทางสังคม ที่เนื่องด้วยอิทธิพลคำสอนจากคัมภีร์พระเวท ซึ่งถือว่าเป็นคัมภีร์เก่าแก่ที่สุด ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของชาวอารยัน ก็ทำให้เกิดการแบ่งชนชั้นอย่างรุนแรงในหมู่ประชาชน เช่น ถือปฏิบัติกันว่าพวกพราหมณ์ คือ ผู้ที่พระเจ้าทรงสร้างขึ้นจากพระโอษฐ์ของพระองค์ จึงเป็นอภิสิทธิ์ชนชั้นสูงสุด ทำหน้าที่เกี่ยวกับพิธีทางศาสนาเป็นกลุ่มชนที่ผูกขาด มีสิทธิพิเศษตั้งแต่เกิดในการทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างมนุษย์ และพระเจ้า เช่นเดียวกับพระในคริสตศาสนา ในยุคมืดกษัตริย์คือผู้ที่พระเจ้าสร้างจากพระพาหาของพระองค์ มีหน้าที่รบป้องกันประเทศ ทำหน้าที่ปกครองหมู่ชนตามลิขิตจากเบื้องบน กลุ่มที่สามคือ พวกพ่อค้านายทุน ซึ่งพระเจ้าทรงสร้างจากพระโสณี ทำหน้าที่ผูกขาดธุรกิจการค้าทุกรูปแบบ และกลุ่มประชาชนใหญ่ ที่เหลือเป็นชนชั้นต่ำ เป็นผู้ต้องใช้แรงงานหนักไม่มีสิทธิประกอบพิธีทางศาสนา หรือแม้จะศึกษาพระเวท ไม่มีสิทธิจะเปลี่ยนแปลงสถานภาพทางสังคม  หรืออาชีพของตนโดยประการใดๆ เลย ต้นตระกูลเป็นอย่างไร จะต้องสืบทอดต่อเช่นนั้นตลอดไป  เพราะพระเจ้าทรงมีพระประสงค์ให้เป็นเช่นนั้น

     ในสภาพการณ์ดังกล่าวนั้น พุทธปรัชญาได้ปรากฎขึ้นเป็นแสงสว่างในความมืดทางจิตวิญญาณ ทำลายระบบความอยุติธรรม และการแบ่งแยกทางชนชั้นตามหลักคำสอนเรื่องวรรณะ ดังนั้น พุทธปรัชญาจึงมีลักษณะเป็นทั้งแนวทางชีวิตที่ประเสริฐ และเป็นอุดมคติที่สูงส่ง เพื่อผู้ศึกษาจะได้เข้าใจลักษณะที่เด่นเฉพาะของปรัชญานี้ ขอสรุปมากล่าวเป็นข้อๆ ได้ดังนี้
 
          ๑. มีวิธีการเป็นแบบวิทยาศาสตร์ (Scientific method)
          ๒. เน้นคุณค่าและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ (Human dignity)
          ๓. มีคำสอนเป็นประจักษนิยม (Empiricism)
          ๔. มีคำสอนเป็นเหตุผลนิยม (Rationalism)
          ๕. มีคำสอนเป็นทางสายกลาง (Moderation)
          ๖. เป็นอเทวนิยมปฏิเสธปฐมเหตุ (Atheism)
          ๗. เป็นนาสติกะปฏิเสธคัมภีร์พระเวท (Nastika)
          ๘. ส่งเสริมหลักสันติภาพสากล และสันติสุขส่วนบุคคล (Pacifism)

๑. วิธีการแบบวิทยาศาสตร์
     มิใช่เป็นวิธีการใหม่ในการแก้ปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะปัญหาทางด้านจิตวิญญาณ พระพุทธเจ้า ได้ทรงใช้วิธีนี้ประสบผลสำเร็จมาแล้วโดย

     เริ่มศึกษาวิเคราะห์สิ่งที่เรียกว่า "ปัญหา" ให้ถ่องแท้ว่า คือ อะไร (ทุกข์)
     ขั้นที่สอง ค้นหาสาเหตุหรือสมมติฐานว่ามีอยู่อย่างไร (สมุทัย)
     ขั้นที่สาม สรุปผลสำเร็จเมื่อขจัดเหตุปัญหานั้นๆ ได้ (นิโรธ)
     ขั้นที่สี่ เป็นวิธีการดำเนินการที่จะนำไปสู่เป้าหมาย ข้อที่ ๓ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหา ข้อที่ ๑ สำเร็จ (ดูรายละเอียดในอริยสัจ ๔)


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: สาขาของปรัชญา :ลักษณะเฉพาะของพุทธปรัชญา
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: กรกฎาคม 04, 2012, 02:40:36 pm »



๔/๑๗

๒. คุณค่า และศักดิ์ศรีของมนุษย์
     ในบรรดาปรัชญาที่มีผู้ยอมรับปฏิบัติตามเป็นจำนวนมาก เป็นล้านๆ คน อาทิ ปรัชญาฮินดู ปรัชญาคริสต์ และปรัชญาอิสลาม มีปรัชญาพุทธเท่านั้นที่มีศูนย์รวมจุดเริ่มต้นท่ามกลางและปลายทางอยู่ที่มนุษย์ทั้งสิ้น โดยไม่กล่าวถึง หรือยอมรับพระพรหม พระยะโฮวา และพระอัลเลาะห์  เป็นต้น

     พระพุทธเจ้าไม่เคยประกาศตนเป็นอวตารหรือศาสดาพยากรณ์ของใคร แต่ชี้ว่าความสำเร็จใดๆ จะเกิดขึ้นเพราะความพยายาม ความตั้งใจจริงของมนุษย์เท่านั้น (ดูกฎแห่งกรรม)


๓. ประจักษนิยม
     ในพุทธปรัชญาหินยาน หรือเถรวาทดั้งเดิมปรากฎพุทธพจน์ว่า  "สิ่งที่เรียกว่าความทุกข์ เหตุให้ความทุกข์เกิด และวิถีทางนำไปสู่ความดับทุกข์ทั้งสองมีพร้อมอยู่แล้วในร่างกายที่มีพร้อมทั้งสัญญา และใจนี้"

     ในหลักฐานที่ปรากฎในสังยุตตนิกายนิทานวรรค พระองค์ตรัสว่า คำว่า "ทุกสิ่ง" นั้นไม่มีอะไรนอกจากสิ่งที่เราเรียกว่า วัตถุ (สสาร) เสียง กลิ่น รส สัมผัส  อารมณ์ของความคิด และตา  หู  จมูก ลิ้น ร่างกาย และจิตใจ ใครที่กล่าวถึง "สิ่งทั้งปวง” ว่ามีอยู่ต่างหากจากนี้ชื่อว่า กล่าวไม่มีมูลความจริงทั้งไม่เป็นสิ่งประจักษ์ นอกจากนี้ในพรหมชาลสูตร ยิ่งเป็นการชัดเจน  ที่พุทธปรัชญาสอนเฉพาะสิ่งที่ทุกคนประจักษ์พิสูจน์ทดลองได้ด้วยประสบการณ์ทั้งสิ้น เรื่องที่อยู่นอกเหนือประสบการณ์ (อภิปรัชญา) ทั้งปวง  มิได้นำไปสู่การแก้ปัญหา คือ ความทุกข์ และมิใช่เป็นไปเพื่อการรู้แจ้ง เพื่อความรอดพ้น ฉะนั้น จึงไม่ทรงส่งเสริม

๔. เหตุผลนิยม
     ถ้าเราไม่ลำเอียงต่อประวัติศาสตร์ความเป็นมาของแนวคิดต่างๆ และจะร่วมกัน ยอมรับว่าพุทธปรัชญาเป็นปรัชญาระบบแรกของโลก ที่ยึดหลักเหตุผล ทั้งในภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ก่อนพระเยซูอุบัติถึง ๕๔๓ ปี และก่อนยุควิทยาศาสตร์กว่า ๒,๐๐๐ ปีว่า "สิ่งทั้งปวงมีเหตุเป็นแดนเกิด (เหตุปปพะวา) กฎแห่งกรรมก็ดี (The  Law  of  Actions) กฎปฎิจจสมุปบาท (Cosmic Law) ก็ดี ล้วนแสดงถึงการยืนหยัดในหลักเหตุผล ซึ่งในขณะเดียวกันก็ปฏิเสธทฤษฎีพระเจ้า หรือทฤษฎีปฐมเหตุ และทฤษฎีความบังเอิญ (อเหตุกะ)


๕. ทางสายกลางหรือมัชฌิมาปฏิปทา (Middle Path)
     ถือว่าเป็นเอกลักษณ์พิเศษอีกประการหนึ่งของปรัชญาพุทธโดยเฉพาะ ซึ่งเน้นความเป็นกลางทั้งในภาคหลักการ และภาคปฏิบัติ (ดูอริยมรรคมีองค์แปด)

     ในขณะที่ปรัชญาพระเวท อุปนิษัท และปรัชญาอินเดียสายอื่นๆ ในตะวันออกยืนยันมั่นคงว่ามีอาตมันหรือวิญญาณอมตะ ซึ่งคือสิ่งเดียวกับพราหมันหรือปรมาตมัน และปรัชญาอิสลาม ปรัชญาคริสต์ และปรัชญาจิตนิยม ทั้งสายอัตวิสัยของเบรคเลย์ และสายปรวิสัย รวมทั้งจิตนิยมสัมบูรณ์ในตะวันตก ต่างก็ประกาศว่ามีสิ่งๆ หนึ่งซึ่งเรียกว่า "พระเจ้าหรือจิตสัมบูรณ์" (Absolute Mind) เป็นสิ่งที่เที่ยงแท้มีอยู่โดยไม่มีสิ่งอื่นเป็นเหตุ สิ่งอื่นนอกนี้เป็นมายาการ ไม่ใช่ความจริง ขณะเดียวกันปรัชญาสายวัตถุนิยมเป็นต้น กลับโต้ว่า สสาร หรือวัตถุต่างหากเป็นสิ่งที่มีอยู่อย่างแท้จริง และเป็นมูลฐานให้เกิดสิ่งทั้งปวง คือชีวิต และจิต หรือวิญญาณ ต่อประเด็นเหล่านี้ ปรัชญาพุทธประกาศว่า การมีอยู่และไม่มี การเที่ยงและไม่เที่ยง เป็นต้น เป็นไปด้วยเหตุปัจจัย (ดูปฎิจจสมุปบาท)

     โดยนัยนี้ในทางทฤษฎีพุทธปรัชญาจึงปฏิเสธทั้งสัสสตทิฎฐิ (Eternalism) และอุจเฉททิฎฐิ (Anihilationalism) ส่วนในทางปฏิบัติได้ปฏิเสธวิธีการสุดโต่ง ๒ ประการ คือ การหมกมุ่นในกามคุณ (Sensual Indulgence) และการประพฤติทรมานตน (Asceticism) ว่ามิใช่เป็นวิถีทางที่ถูกต้อง แล้วทรงเสนออริยมรรคมีองค์แปด ว่าเป็นวิธีอันประเสริฐ

๖. ปฏิเสธปฐมเหตุ
     คติเรื่องเทวะ แม้จะปรากฎอยู่ในพุทธปรัชญาหลายแห่ง และใช้ศัพท์บัญญัติเดิมของปรัชญาฮินดูก็จริง แต่ความหมายแตกต่างกันมาก อาทิ พระพรหม หมายถึงผู้ที่มีคุณธรรมที่สำคัญประจำใจ ๔ ประการ คือ ความรักสากล ความมีน้ำใจอนุเคราะห์ผู้ประสบปัญหา ความพลอยยินดีในความสุข ความสำเร็จของคนอื่น และการวางตนเป็นกลางด้วยปัญญา ซึ่งเดิมนั้น ในคัมภีร์พราหมณ์คำว่า "พรหม" หมายถึงพระเจ้าผู้สร้างผู้ทรงมหิทธานุภาพ ผู้เป็นอมตะ ฯลฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการวิเคราะห์หลักปรัชญาพุทธดั้งเดิม พบว่าพระพุทธเจ้าได้ทรงชี้ให้เห็นว่าในวงกลมแห่งการอาศัยกันและกันเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ของรูปธรรม และนามธรรม ทั้งปวงนี้ ( cycle of becoming) การที่จะประกาศว่า มีพระเจ้าผู้ทรงอมตภาพ  หรือผู้เป็นปฐมเหตุของสิ่งทั้งปวงนั้น เกิดจากความไม่รู้แจ้งสิ่งทั้งหลาย ตามความเป็นจริง (อวิชชา) โดยแท้

๗. เป็นนาสติกะ
     ความจริง คำว่า "นาสติกะ" ซึ่งนิยมให้ความหมายกันว่า ปฏิเสธหลักคำสอนของคัมภีร์พระเวททั้ง  ๔ นั้น โดยเป็นศัพท์บัญญัติของนักปรัชญาในยุคใหม่นี้เอง เพื่อแยกระบบความคิดทางปรัชญาที่มีกำเนิดในประเทศอินเดีย ออกเป็น ๒ สายใหญ่ๆ คือ สายที่ยึดพระเวท เรียกว่า สายอาสติกะ อย่างไรก็ตามลักษณะสำคัญของพุทธปรัชญาในประเด็นนี้ ก็คือ การปฏิเสธหลักปรัชญามูลฐานที่สำคัญของพระเวทต่างๆ อาทิ :

     ทัศนะพระเจ้าในรูปแบบต่างๆ
     ทัศนะพิธีกรรม และการบูชายัญ
     ทัศนะเรื่องอาตมัน หรือวิญญาณ
     ทัศนะเรื่องพรหมลิขิต หรือพระเจ้าลิขิต
     ทัศนะเรื่องการล้างบาปด้วยอำนาจมนต์ น้ำศักดิ์สิทธิ์ หรือการทรมานตน

     อนึ่ง เป็นที่น่าสังเกตว่า ในข้อนี้ได้มีนักปรัชญา นักศาสนา และนักวิทยาศาสตร์ ผู้มีชื่อเสียงของโลกศึกษาพุทธปรัชญาด้วยใจอคติ แสดงทัศนะที่ผิดๆ ทำให้ชาวโลกผู้ใหม่ต่อพุทธปรัชญาพลอยเข้าใจไม่ถูกต้องไปด้วย เช่น ประกาศว่าพุทธปรัชญามิได้ค้นพบหรือสอนสิ่งใดใหม่เลย หลักปรัชญาทั้งหมดมีอยู่แล้วในปรัชญาพระเวท  และอุปนิษัท อาทิ เรื่องกรรม เรื่องการเวียนว่ายตายเกิด และเรื่องโมกษะฯลฯ ซึ่งประเด็นเหล่านี้ ถ้านักศึกษาพิจารณาให้ถ่องแท้รอบคอบแล้ว จะเห็นความแตกต่างกันอย่างชัดเจน



ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: สาขาของปรัชญา :ลักษณะเฉพาะของพุทธปรัชญา
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: กรกฎาคม 04, 2012, 03:15:40 pm »



๑๐/๑๗

     ตัวอย่างทัศนะที่ไม่ถูกต้อง ที่ประกาศโดยนักคิดนักศึกษา และนักปรัชญาที่มีชื่อเสียงบางท่านประมวลมาเพื่อประกอบการศึกษาได้ดังนี้ :-
     ๑) ท่าน ดร.ศรีราธกฤษณัน อดีตนักศึกษาปริญญาเกียรตินิยมทางปรัชญา จากวิทยาลัยคริสเตียน มหาวิทยาลัยมัทราส (M.C.C.) อดีตประธานาธิบดีอินเดีย และอดีตนักปรัชญาผู้มีชื่อของโลกตะวันออก ฯลฯ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ Indian Philosphy เล่ม ๑ หน้า ๓๖๐ ว่า
     "คำสอนของพุทธปรัชญาดั้งเดิมไม่มีอะไรใหม่ ไม่มีสิ่งแปลกใหม่จากวิวัฒนาการความคิดของอินเดียโบราณเลย"

     ๒) ทัศนะท่าน อี.เจ.โธมาส (E.J. Thomas) ปรากฎในหนังสือ Buddhism in Modern time มหาวิทยาลัยซีลอน หน้า ๒๑๖ ว่า
     "คำสอนของพุทธปรัชญามีจุดเริ่มต้นจากระบบความคิดของอินเดีย
ซึ่งพุทธปรัชญาอ้างว่าเป็นของตน อาทิ คำสอนในเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด
และเรื่องผลกรรม ซึ่งคำสอนเหล่านี้แพร่หลายอยู่แล้วในศาสนาส่วนใหญ่ในประเทศอินเดียสมัยโบราณ
"

     ทัศนะที่ไม่ตรงต่อความเป็นจริงทั้ง ๒ ประการนี้ อาจจะเกิดจากข้อสมมุติฐาน ๒ ประการ คือ :-
     ๑. คำสอนดังกล่าวนั้นปรากฎแพร่หลายอยู่แล้วในลัทธิพราหมณ์ก่อนพุทธสมัย แต่พุทธปรัชญายอมรับเอามาเป็นคำสอนของตน โดยไม่มีการพิสูจน์หรือมีประสบการณ์ด้วยตนเอง

     ๒. คำสอนทั้งหมดในพุทธปรัชญามีอยู่ก่อนพุทธสมัยแล้ว ฉะนั้นจึงไม่มีอะไรใหม่ ที่ได้เพิ่มเติมเข้ามาเลยต่อข้อสมมุติฐานทั้ง ๒ นัย  ดังกล่าวนี้ ท่านศาสตราจารย์ชยติลเลกะได้เสนอเหตุผลวิเคราะห์ว่า
"คำสรุปดังกล่าวไม่มีมูลฐานทางประวัติศาสตร์ และขาดการสอบสวนวิเคราะห์ให้ถ่องแท้
เช่น ความเชื่อที่พบในสมัยหนึ่ง ต่อมาอีกสมัยหนึ่งนักปราชญ์จะยอมรับอย่างง่ายดาย
โดยที่ไม่ได้ศึกษา วิเคราะห์ให้ถ่องแท้เชียวหรือ ถ้าอย่างนั้นแม้นักวิทยาศาสตร์ผู้มีชื่อเสียง
ก็ดูจะยอมรับทฤษฎีที่นักวิทยาศาสตร์รุ่นก่อนโดยงมงาย ปราศจากการศึกษาวิเคราะห์
แต่ยอมรับเพราะเพียงความเห็นด้วยเท่านั้นเองหรือ?"

     ประการที่ ๒ พุทธปรัชญาได้ประกาศทฤษฎีกรรม  และการเกิดใหม่ในแนวใหม่ โดยปฏิเสธอัตตา หรืออาตมัน ซึ่งไม่เคยปรากฎมาก่อนในปรัชญา หรือศาสนาระบบใดๆ ของอินเดียหรือของโลก แต่ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมหลักจริยธรรม และศีลธรรม ไม่เหมือนกับระบบความคิดปรัชญาวัตถุนิยม ที่ทั้งปฏิเสธอัตตา และความรับผิดชอบทางศีลธรรมในขณะเดียวกัน


นอกจากนี้ เพื่อชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่างลัทธิพราหมณ์ และปรัชญาฮินดูกับพุทธปรัชญา ผู้ศึกษาควรเข้าใจประเด็นคำสอนที่สำคัญๆ บางประการ ดังนี้ : -
     ๑. ทัศนะเรื่องศรัทธาในพระเจ้า ซึ่งรวมถึงพิธีกรรม  และพิธีการบูชายัญด้วยการฆ่าสัตว์หรือฆ่ามนุษย์ ที่กระทำโดยพราหมณ์ ซึ่งถือว่า เป็นผู้ทำหน้าที่สื่อกลางระหว่างมนุษย์ และพระเจ้า ทั้งนี้ เพื่ออ้อนวอนขอพร และความสำเร็จจากพระองค์ อาทิ:
 
     "โอ พระวรุณผู้เป็นเจ้า ความบาปอันใดที่ข้าพเจ้าเคยทำต่อญาติพี่น้อง เพื่อนๆ และคนแปลกหน้าในเวลาใดก็ตาม ขอพระองค์ได้โปรดปลดปล่อยเราจากจากบาปนั้นด้วยเถิด"

     ซึ่งประเด็นนี้ พุทธปรัชญาปฏิเสธ และได้ประกาศหลักการว่าด้วยการกระทำหรือกฎแห่งกรรม (Law of Volitinal Actions) ไว้อย่างชัดเจน โดยเน้นถึงเกียรติ และศักดิ์ศรี รวมทั้งความรับผิดชอบทั้งหมดของมนุษย์ อาทิ :
    "ถ้ามนุษย์จะพึงประสบความสำเร็จใดๆ เพราะการอ้อนวอนหรือปรารถนาแล้วไซร้ ใครเล่าจะผิดหวังในเรื่องใดๆ"
     "ชาวโลกเป็นไปตามการกระทำ แตกต่างกันก็เพราะการกระทำ ความบริสุทธิ์ และไม่บริสุทธิ์ เป็นของเฉพาะตน ใครคนหนึ่งจะทำให้ใครอีกคนหนึ่งบริสุทธิ์ไม่ได้"


     ๒. ทัศนะเรื่องกรรม พระเวท กล่าวถึง ฤต (Rta) ว่าเป็นกฎธรรมชาติ และเป็นกฎศีลธรรมในสังคมมนุษย์ แต่ก็เนื่องด้วยพระเจ้าเสมอทุกครั้งไป เพราะมีหลักการว่า พระเจ้า คือ ผู้ควบคุมกฎแห่งการกระทำหรือกรรมของมนุษย์ แต่ในพุทธปรัชญาปรากฎในอังคุตตรนิกาย พระสุตตันตปิฎกว่า การกระทำต่างๆ ของมนุษย์เกิดจากผัสสะ (contact) คือการกระทำ ซึ่งประกอบด้วยองค์ ๓ ได้แก่ : -

       ๑) สิ่งเร้าภายนอก หรืออายตนะภายนอก อันได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อีกนัยหนึ่งก็คือ สิ่งแวดล้อมภายนอกนั่นเอง
       ๒) เจตนา หรือความตั้งใจ  ที่เกิดจากจิตสำนึกในขณะรับรู้สิ่งเร้า อาทิ ความอยาก ความต้องการ ความขัดเคือง ความไม่พอใจ และความไม่รู้เท่าทัน ความหลงในขณะรับรู้สิ่งเร้า
       ๓) เจตนา หรือความตั้งใจจากจิตใต้สำนึก ซึ่งเนื่องด้วยสันดานเก่า หรือพื้นฐานจิตใจอันเป็นแนวโน้มที่สั่งสมมาก่อน เช่น ความรักในชีวิต ความกลัว ความตาย และความฝังใจในความสุข  เป็นต้น โดยนัยนี้  กฎแห่งการกระทำ จึงเป็นเหมือนกระสวนหรือแบบแห่งพฤติกรรม โดยมีลักษณะเป็น :

                                                                     - ทางความคิด
       จิต + สิ่งแวดล้อม -- ผัสสะ -- พฤติกรรม -- - การพูด และ
                                                                     - การกระทำ

           ลักษณะการกระทำเช่นนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ในทุกขณะจิต ในทุกวินาทีของทุกคน โดยไม่ยกเว้นทั้งในขณะหลับ หรือตื่นอยู่ (ดูรายละเอียดในเรื่องกฎแห่งกรรม) และก่อให้เกิดผล และการกระทำต่อไปอีกเรื่อยๆ เป็นวงกลม


๓. ทัศนะเรื่องการเกิดใหม่ ลัทธิพราหมณ์และปรัชญาฮินดู  โดยทั่วไปโดยเฉพาะปรัชญาอุปนิษัทชี้ว่าการเกิดใหม่ก็คือการอวตาร (Reincarnation)  ของวิญญาณดวงเก่า ซึ่งเป็นอมตะในร่างกายใหม่  อุปมาเหมือนเราเอาลูกหินลูกเดิมใส่ลงในกระป๋องใบใหม่ ไม่ว่าจะเป็นกี่ร้อยกี่พันกระป๋อง (ชาติแต่ละชาติ) แต่ลูกหิน (วิญญาณ) เป็นอันเดิม แต่พุทธปรัชญาชี้ว่า การเกิดใหม่ คือ Rebirth ไม่ใช่อวตาร เป็นการเกิดใหม่ทั้งทางร่างกายและจิตใจ (ไม่มีวิญญาณอมตะ) แต่มีภาวะสืบต่อสัมพันธ์กัน (สันตติ) ระหว่างขณะจิตหรือระหว่างชีวิตเก่า (ชาตินี้) และชีวิตใหม่ (ชาติหน้า) โดยไม่มีช่องว่าง หรือการกระโดด (สังกมนะ) โดยเฉพาะจิตหรือวิญญาณ ในทัศนะของพุทธปรัชญานั้น เกิด ดับ เพราะเหตุปัจจัยต่างๆ อยู่ทุกขณะอย่างรวดเร็ว สำหรับร่างกายนั้นเซลล์ต่างๆ เกิดตายอยู่ทุกวินาทีอยู่แล้ว


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: สาขาของปรัชญา :ลักษณะเฉพาะของพุทธปรัชญา
« ตอบกลับ #4 เมื่อ: กรกฎาคม 04, 2012, 03:27:24 pm »



     ๔. ทัศนะเรื่องอัตตา หรืออาตมัน ปรัชญาฮินดูอธิบายว่า ได้แก่สิ่งที่เที่ยงแท้เป็นอมตะ ทำลายไม่ได้โดยประการใดๆ เป็นความจริงสูงสุด และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพรหมันหรือปรมาตมัน พูดอีกนัยหนึ่ง ทุกคนคืออาตมัน หรือทุกคนคือพระเจ้า (ตตฺ ตฺวมฺ อสิ) ฉะนั้น ในแง่ของฆาตกรรม จึงกล่าวได้ว่า ไม่มีผู้ฆ่า และผู้ถูกฆ่า ทัศนะนี้ท่าน ราเนด และท่านเบลวัลการ์ (Belvalkar) ชี้ว่าเป็นทัศนะที่อันตรายมาก เพราะเป็นอกิริยทิฎฐิ ความเห็นผิดที่ว่าทำแล้วสักว่าทำ หรือฆ่าเท่ากับไม่ได้ฆ่า เป็นระบบความคิดที่ทำลายระบบศีลธรรม และหลักธรรมของศาสนาทั้งหมด (ดู History of Indian Philosophy ๑๑, P.๓๓๙) ประเด็นนี้ พุทธปรัชญาปฏิเสธหลักอาตมัน และประกาศหลักอนัตตาทั้งทางร่างกายหรือทางสสารทางพลังงาน และทางจิตวิญญาณ ซึ่งไม่เคยปรากฎในระบบปรัชญาใดๆ ในโลก (ดูบทว่าด้วยอนัตตา)


     ๕. เรื่องคัมภีร์ทางศาสนา ชาวฮินดู และชาวคริสต์ ส่วนมากต่างก็ยอมรับคัมภีร์ของตนว่าสมบูรณ์ถึงที่สุด ไม่บกพร่อง (infalliable) พระเวท และไบเบิ้ลได้ถูกถือว่า เป็นพระวจนะจากพระเจ้า โดยผ่านฤาษี และศาสดาพยากรณ์ สาขาหนึ่งของปรัชญาฮินดูประกาศว่าพระเวทคือคัมภีร์อมตะ ไม่มีเบื้องต้นและที่สุด ทั้งไม่มีผู้เปิดเผยมีอยู่แล้วก่อนการสร้างจักรวาล ปรัชญายายะ และปรัชญาเวทานตะ ถือว่าเป็นคัมภีร์อมตะ แต่เปิดเผยโดยพระผู้เป็นเจ้า ท่านลีโอที่ ๑๓ พระสันตปาปา ได้กล่าวไว้ในหนังสือ Providenssimus Deva ค.ศ.๑๘๙๓ ว่า

     "คัมภีร์ของคริสตศาสนา เป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ ไม่มีอะไรบกพร่อง เพราะพระองค์ คือ พระเจ้า และคือความจริงสูงสุด ไฉนจะมีข้อบกพร่องได้"

     ซึ่งทัศนะดังกล่าวนี้ ปัจจุบันยอมรับกันว่า คัมภีร์ต่างๆ ดังกล่าว เป็นเพียงบันทึกประสบการณ์ทางจิตวิญญาณของมนุษย์ในแต่ละสมัยเท่านั้น ในประเด็นนี้ พุทธปรัชญาแม้จะมีคัมภีร์ไตรปิฎก แต่ก็มิได้เคยประกาศอ้างมโหฬารเช่นนั้น  ยอมรับว่าเกิดจากการรวบรวมร้อยกรองสะสาง (สังคายนา) มาเป็นระยะๆ โดยยึดหลักปรัชญาธรรมที่ประกาศโดยพระพุทธเจ้า แล้วทรงจำถ่ายทอดสืบต่อกันมาเรื่อยๆ จนมีการบันทึกไว้เป็นตัวอักษร

     ประการสำคัญ พุทธปรัชญาได้ชี้ถึงเสรีภาพทางความคิด  และความเชื่อไว้อย่างกว้างขวางที่สุด ดังปรากฎในกาลามสูตรที่ไม่ให้เราด่วนเชื่อหรือปฏิเสธ เชื่อสิ่งที่คนส่วนใหญ่เชื่ออยู่แล้ว เชื่อคัมภีร์เชื่อตามหลักตรรกวิทยา เชื่อเพราะตรงกับทัศนะเดิมของตน และแม้ไม่ให้ด่วน เชื่อเพราะผู้พูดเป็นครู หรืออาจารย์ของตน แต่ชี้ให้ตระหนักถึงการใช้สติปัญญาพิสูจน์ ทดลอง ด้วยประสบการณ์เฉพาะตน แล้วจึงเชื่อ


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด


      ๖. หลักสันติภาพสากล และสันติสุขส่วนบุคคล พุทธปรัชญาเกิดจากการตระหนักอย่างลึกซึ้งต่อความทุกข์อันใหญ่หลวงที่มนุษย์ทุกคนเผชิญอยู่ สิทธัตถะจึงได้ออกแสวงหาทางแก้ได้ด้วยการค้นพบสัจจธรรม หรือพุทธปรัชญา แม้ในช่วงนี้ก็ด้วยทรงตระหนักถึงความรักสากลในชาวโลก ดังนั้น ด้วยน้ำพระทัยเปี่ยมด้วยมหากรุณาธิคุณจึงตัดสินพระทัยประกาศหลักธรรม และในหลักจริยธรรมขั้นต้น พุทธปรัชญาก็ประกาศว่าบุคคลควรทำชีวิตของตน
    ให้เป็นอุปมา ไม่ควรฆ่าหรือเบียดเบียนบุคคลอื่นสัตว์อื่น
หรือสิ่งมีชีวิตทั้งหลายทั้งความคิด การพูด และการกระทำ
เพราะการไม่เบียดเบียนกันเป็นสุขในโลก 
พระพุทธองค์ทรงย้ำอยู่เสมอ และในเบญจธรรมข้อแรกก็ทรงเน้นถึง
การพัฒนาคุณสมบัติของจิตใจพิเศษ
คือเมตตาธรรม (Loving indness)
หรือความรักสากล(Universal Love)
ต่อทุกคนโดยไม่มีการแบ่งแยกทางชนชั้น หรือด้วยเหตุ คือ สถานภาพ
อื่นใด

 
ในสุตตนิบาต และอิติวุตตกะ พระสุตตันตปิฎก พระองค์ตรัสว่า
          "เสมือนมารดารักบุตรน้อยของตนยิ่งกว่าชีวิต เธอทั้งหลาย
          จงแผ่เมตตาจิตอันหาขอบเขตมิได้ต่อสรรพสัตว์ทั้งหลายฉันนั้น
"
          "สหายทั้งหลาย ไม่มีการประกอบกุศลกรรมใดแล้ว
          จะมีค่าถึงเสี้ยวหนึ่งของเมตตาธรรม
"

และในมัชฌิมนิกาย ได้ทรงตรัสเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้อย่างน่าประทับใจว่า
         "ถ้าหากบุรุษใจร้าย จับเธอตัดแขน ตัดขาของเธอ
         และเพราะเหตุนั้น ถ้าเธอแม้เพียงความคิดโกรธต่อบุรุษนั้นเพียงน้อยหนึ่ง
         ก็ชื่อว่าไม่ปฏิบัติตามคำสอนของเรา
"

         อนึ่ง แม้ในเรื่องสงครามก็ทรงห้ามพระสงฆ์ดูกองทัพ หรือการสวนสนาม ซึ่งไม่ต้องกล่าวถึงการเข้าร่วมสงครามประเด็นนี้นายคริสมาส ฮัมเฟรย์ ประธานผู้ก่อตั้งพุทธสมาคมในลอนดอน กล่าวว่า เหตุผลทั้งหลายที่ทำให้ท่านตัดสินใจผละจากคริสตศาสนาก็เพราะเมื่อสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง น้องชายของท่านถูกฆ่าตายในการรับใช้พระมหากษัตริย์และประเทศชาติ พระสงฆ์แห่งคริสตศาสนาทั้งประเทศอังกฤษและประเทศเยอรมันต่างก็เอ่ยอ้างพระนามของพระเจ้าองค์เดียว ในการทำทหารออกรบทำลายฆ่าห้ำหั่นกัน และให้กำลังใจทหารให้ทำการต่อสู้เพื่อชัยชนะ


          นอกจากนี้ท่านอธิการอินจ์  แห่งวัดเซ็นปอล ณ ลอนดอน ยังกล่าวไว้ในผลงานของท่านชื่อ Christian Ethics and Modern Problem (๑๙๕๒) ว่า
         "ถ้าเราคริสตเตียนเป็นผู้รักสันติเช่นเดียวกับชาวพุทธ หรือถ้าหากยุโรปตะวันตกมีกำลังมามากเหมือนผึ้งแตกรังอย่างรัสเซีย หรือฮังการี เป็นที่ไม่ต้องสงสัยเลยว่า  "มรดก"  ของ กรีก โรม และปาเลสไตน์ ย่อมจะสูญสิ้นไปอย่างไม่เหลือเลย"
         "มีการติเตียนคริสตศาสนาว่า มีการกระทำน้อยเหลือเกิน ในการนำมนุษย์ออกจากความชั่วร้ายอันใหญ่หลวงนี้ (สงคราม) เราได้รับคำบอกเล่าว่าพุทธศาสนานั้นย้ำแล้วย้ำอีกในเรื่องอหิงสธรรม"

         ฉะนั้น จึงเห็นได้ว่า พุทธปรัชญาได้ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนถึงจุดมุ่งหมายสูงสุดอันเป็นความหมายแท้จริงของชีวิต คือ ความมีศานติและความสุข แต่ทั้งนี้ต้องโดยวิธีที่ถูกต้องชอบธรรม ไม่เบียดเบียนทั้งตนเอง  และผู้อื่นเท่านั้น  นั่นคือ จุดมุ่งหมาย (end) และวิธีการ (means) จะต้องบริสุทธิ์ถูกต้องเช่นเดียวกัน โดยนัยนี้จึงเป็นสิ่งที่ไม่น่าผิดพลาดที่จะกล่าวว่าพระพุทธเจ้านั้นทรงประกาศหลักการอยู่ร่วมกันอย่างสันติของมนุษย์  (Peaceful Co-existence) ขึ้นในโลกก่อนที่ผู้นำของการเมืองในโลกค่ายเสรี หรือคอมมิวนิสต์กล่าวอ้างโดยไม่จริงใจ

     อนึ่ง ในประเด็นนี้มีผู้วิจารณ์ว่า "พุทธปรัชญาสอนให้คนขลาด ไม่กล้าหาญในการต่อสู้ เพราะเน้นแต่ความเมตตา" ข้อนี้ไม่ตรงต่อความเป็นจริง เพราะพุทธปรัชญาเน้นถึงความเด็ดเดี่ยวกล้าหาญอย่างยิ่ง แม้ในการศึกษาปฏิบัติ และการทำงานก็แนะให้เอาชีวิตเป็นเดิมพัน แต่ในการกระทำความชั่วร้ายต่างๆ ทั้งแก่ตนเอง และคนอื่นในรูปลักษณะต่างๆ นั้น แนะให้งดเว้น แม้ในเรื่องการต่อสู้เอาแพ้เอาชนะแบบการพนัน หรือการสงครามก็มีหลักชี้ว่า : -

     "ชัยชนะนำมาซึ่งความเกลียดชัง การแพ้นำมาซึ่งความทุกข์
     ผู้มีปัญญาไม่ปรารถนาทั้งการแพ้ และชนะ
     ไม่ปรารถนาความโกรธหรือการทำให้โกรธ"
     "ชัยชนะที่ไม่มีการแพ้ที่อยู่เหนือชัยชนะทั้งปวง
     คือ การเอาชนะความชั่วร้ายในความคิดของตนเอง
     เพราะเป็นชัยชนะที่สุดท้าย และสูงสุด
"


     ประการสำคัญเราจะตระหนักถึงความเข้าใจผิด และการกระทำผิดอย่างใหญ่หลวงของ ผู้นำทางการเมือง และการทหารที่ตัดสินทำสงคราม อาทิ ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งครั้งที่สอง และครั้งหลังสุด คือ สงครามอินโดจีน ทั้งนี้ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ หรือการรักษาอำนาจทางการเมืองก็ตาม แต่ทั้งหมดนั้นมีเหตุผลมูลฐานของคู่กรณีอยู่ที่การไม่ตระหนักถึงความรักสากล และอหิงสธรรมของพระศาสดา เช่น พระพุทธเจ้าหรือแม้ของพระเยซูคริสต์เจ้า หากแต่ยอมปฏิบัติการไปด้วยหวังผลอันจะเกิดจากความโลภ ความโกรธ และความหลง ที่จะเกิดตามมาจากการปฏิบัติการนั้นๆ  เหนือสิ่งอื่นใด พุทธปรัชญายังคงเรียกร้องให้มวลชนทุกประเทศในโลกมีความรัก และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติอยู่อย่างเดิมตลอดไป
เพราะหลักการนี้เท่านั้นถูกต้องเป็นสัจจธรรม

ศึกษาลักษณะเฉพาะของพุทธปรัชญา หน้า ๑-๑๗

: http://mediacenter.mcu.ac.th/budphilosophy/dt1132-81.htm