ผู้เขียน หัวข้อ: ธรรมโฆษณ์... ฉบับฆราวาส  (อ่าน 1131 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
ธรรมโฆษณ์... ฉบับฆราวาส
« เมื่อ: ธันวาคม 17, 2013, 01:11:55 am »



...คำนำ...จากท่านพุทธทาส ...23 ตุลาคม 2514
.....เกริ่นสักนิด....

ธรรมโฆษณ์ ฉบับ ฆราวาสธรรม นี้ เราได้อ่านมาหลายรอบแล้ว และไม่เคยเบื่อที่จะอ่านซ้ำแล้วซ้ำอีกเลยสักครั้ง เนื้อหาที่ท่านพุทธทาส ได้แสดงธรรมไว้นี้ไม่เคยล้าสมัย เป็นเครื่องช่วยให้ผู้ที่ได้อ่านได้พบหลักธรรมะที่แท้จริง ได้พบหนทางที่จะนำพาไปสู่ความสุข ความสงบ และไม่ประมาทต่อการดำรงชีวิตอยู่ในโลกอันวุ่นวายนี้ตลอดชั่วอายุขัย บางท่านอาจจะได้เคยอ่านแล้ว แต่บางท่านยังไม่เคยอ่าน เราจึงขอนำมาเผยแพร่ให้ท่านได้อ่านกัน เป็นการเผยแพร่ธรรมะที่ดีที่ควรรู้ เราจะนำเสนอเป็นตอนๆ เพื่อง่ายต่อการอ่านและทำความเข้าใจ หวังว่าคงเป็นประโยชน์แก่ท่านทั้งหลายบ้าง จะคัดลอกบทความธรรมะของท่านพุทธทาสมาทั้งหมด ตามที่ท่านได้เคยแสดงธรรมไว้ เพื่อประโยชน์ต่อฆราวาสทุกท่าน

(•‿•✿)
พออายุเลยเลขหกฉันยกเครื่อง
มอบทุกเรื่องที่เคยรู้คู่ความเห็น
มอบประสบการณ์ผ่านพบจบประเด็น
ไม่ยากเย็นเรื่องความรู้ตามดูไป
tangkay
: http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=poungchompoo&date=25-01-2013&group=43&gblog=1
********************************

" คำนำ " ที่ท่านพุทธทาสได้เขียนไว้เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2514 มีดังนี้

หนังสือเรื่องนี้คือคำบรรยายที่บรรยายขึ้นไว้เพื่อแก้ไขความเข้าใจผิด อันสำคัญข้อหนึ่ง คือข้อที่ว่า ฆราวาสไม่ต้องสนใจธรรมะเรื่องความดับทุกข์ในขั้นเหนือโลก, ให้ขวนขวายแต่เรื่องทำมาหากินให้มากๆ และสุจริตเข้าไว้ก็พอแล้ว คติที่ว่าให้ฆราวาสสนใจแต่เรื่อง "โลกีย์" อย่างเดียวนั้น คือคติที่ทำให้ ฆราวาสกลายเป็นคนตกนรกทั้งเป็นตลอดกาล

เมื่อมีผู้ไปทูลถามพระพุทธองค์ว่า อะไรเป็นธรรมที่เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ฆราวาสทั้งหลายตลอดกาลนาน พระองค์ได้ตรัสตอบว่า " เย เต สุตฺตนฺตา ตถาคตภาสิตา คมฺภีรา คมฺภีรตฺถา โลกุตฺตรา สุญฺญฺตปฺปฎิสํยุตฺตา -บรรดาสุตตันตะทั้งหลายที่ตถาคตได้กล่าวไว้ เป็นของลึก มีอรรถอันลึกเหนือโลก เนื่องเฉพาะด้วยสุญญตา" ดังนี้ นี้เป็นหลักที่แสดงว่า เรื่องสุญญตาหรือความว่าง ซึ่งเป็นทั้งรากฐาน เป็นทั้งหัวใจ และเป็นทั้งยอดสุดของพุทธศาสนา แล้วแต่กรณี, นั้น เป็นธรรมที่เป็น " ประโยชน์เกื้อกูล" แก่ ฆราวาส ตลอดกาล ข้อนี้มีอธิบายให้เห็นได้ง่ายๆ ดังต่อไปนี้:

คนเราจะอยู่ในโลกซึ่งมีแต่ความบ้าหลังมากขึ้นทุกทีๆนั้น จะอยู่ใต้ฝ่าเท้ามันดี หรืออยู่บนศีรษะมันดี ? โลกเต็มไปด้วยความสกปรกเศร้าหมองเร่าร้อน และ เป็นทุกข์ , จะอยู่ใต้ฝ่าเท้ามันดีหรืออยู่บนหลัง บนบ่า บนศีรษะมันดี? คิดดูให้ดีในข้อนี้ ก็จะเข้าใจได้ทันทีว่า ทำไมพระพุทธองค์จึงตรัสเช่นที่ยกมาไว้ข้างบนนั้น, โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คำว่า "โลกุตตร" ซึ่งแปลว่า "เหนือโลก" คนที่หลงไหลในเรื่อง กิน..กาม..เกียรติ อย่างเป็นบ้าเป็นหลังจนมีความวิปริตในเรื่องนี้นั้น ถึงอย่างไรเสีย ก็คงจะฟังเรื่องนี้ไม่เข้าใจ แต่คนธรรมดาสามัญคงจะพอฟังออกไปในทางที่ว่า เราจะต้องพยายามอยู่เหนือความครอบงำของโลกให้มากที่สุดที่จะมากได้ไว้เสมอไป มิฉะนั้นเราจะมีชีวิตอยู่อย่างตกนรกทั้งเป็นตลอดกาล.

พระพุทธองค์ทรงหมายความว่า สุตตันตะที่ตื้นๆสนุกสนานเข้ากับความเห็นแก่ตัวของคนเรานั้น ไม่สามารถจะแก้ปัญหาตกนรกทั้งเป็นได้. ต้องสุตตันตะ หรือธรรมะที่ลึกพอ ที่จะช่วยให้ไม่อยู่ใต้ฝ่าเท้าของโลกได้เท่านั้นที่จะเป็นที่พึ่งได้ คำว่า "ฆราวาส" แปลว่าครองเรือน หมายความว่าต้องต่อสู้กับโลก เพื่อเอาชนะโลกนี้ให้ได้ในวัยหนุ่มหรือ "หัวค่ำ" แล้วจะต้องเอาชนะโลกหน้าให้ได้ใน "วัยดึก" แล้วชนะโลกทั้งปวงให้ได้ในเวลา "สว่างรุ่งขึ้น" ซึ่งหมายถึงการอยู่เหนือโลกนั่นเอง.
       ทำได้เช่นนี้ จึงจะเรียกว่า ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์ และยังแถมได้พบพระพุทธศาสนา เพราะได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์จะพึงได้รับอย่างครบถ้วนจริงๆ ขอให้ทุกคนเป็นฆราวาสที่ถูกต้องตามอุดมคติของฆราวาสเช่นนี้ ด้วยกันทุกคนเถิด

คำบรรยายชุดนี้มีเจตนาพิเศษอยู่อีกอย่างหนึ่ง แฝงอยู่ในตัว คือ การที่คนเราสามารถสร้างความก้าวหน้า ทางโลกุตตระธรรม พร้อมไปกับการที่เรามีความก้าวหน้า ทางโลกิยธรรม, คือให้ทางโลกิยธรรมสอนความจริงเกี่ยวกับโลกุตตระธรรมทุกคราวที่มีความผิดพลาด ในหน้าที่การงาน หรือที่เรียกกันว่าในชีวิต เราไม่โกรธ ไม่เสียใจ ไม่กลัว ไม่เศร้า ไม่อะไรๆที่เลวๆ เช่นนั้น ทุกคราวที่มีความผิดพลาดนี้ ทำให้เราไม่ต้องรับทุกข์จากโลกียธรรม
      แล้วยังช่วยให้มีแสงสว่างในเรื่องของ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไปเรื่อยๆจนกว่าจะเพียงพอในการที่จะไม่ต้องมีความทุกข์อีกต่อไป ในโลกนี้เต็มไปด้วยสิ่งที่จะทำให้เกิดความผิดพลาด แต่ความรู้เรื่องโลกุตตรธรรม จะช่วยให้เราทำอะไรไม่ผิดพลาด หรือผิดพลาดน้อยที่สุด ความรู้ในเรื่อง โลกุตตรธรรม ทำให้รู้ความพอเหมาะพอดี ไม่มากไม่น้อย

เพราะมันเป็นเครื่องป้องกันไม่ให้เราทำอะไรไปตามอำนาจของกิเลสอย่างผลีผลาม เหมือนที่ทำกันอยู่ทั่วไปตามประสาโลก ถ้าทำอะไรผิดพลาดลงไปอย่างมากมันจะช่วยให้ไม่ต้องเสียน้ำตา หรืออย่างน้อยที่สุดก็จะช่วยเช็ดน้ำตาให้ ในลักษณะที่ใครๆจะช่วยทำเช่นนั้นไม่ได้ โดยไม่ต้องใช้ "จิตว่างอันธพาล" เข้ามาช่วยเหลือ เหมือนที่ชอบใช้หรือชอบพูดกันอย่างพร่ำเพรื่อ ในยุคที่โลกเต็มไปด้วยคนอันธพาลเช่นนั้นยิ่งขึ้น

ขอให้ทุกคนสังเกตุดูให้ดีๆว่า เราต้องทำงานหนัก สลับกันไปกับการพักผ่อนที่เพียงพอ แต่นั่นมันเป็นเรื่องทางร่างกาย หรือส่วนของร่างกาย ส่วนเรื่องทางจิตหรือทางวิญญาณนั้น โลกิยธรรมเท่ากับการทำงานหนัก โลกุตตรธรรมเท่ากับการพักผ่อนของวิญญาณ ถ้ามีไม่สมดุลกันแล้วจะเกิดความฉิบหายทางวิญญาณ แม้ทางร่างกายจะดูยังดีอยู่ เขาก็เป็นอันธพาลทางวิญญาณโดยสิ้นเชิง

       ที่เรียกว่ามีอะไรดีอยู่นั้น เป็นดีอย่างปลอมเทียมทั้งนั้น ทุกอย่างมีแต่ความทุกข์ทรมานใจ ไม่มีส่วนไหนที่จะยกมือไหว้ตัวเองได้ เขาต้องเป็นโรคภัยไข้เจ็บประจำตัว เนื่องจากความพักผ่อนทางวิญญาณมีไม่เพียงพอ เช่นเป็นโรคเส้นประสาท วิกลจริต อัมพาต หรือตายไปอย่างไม่มีสติสมปฤดี แม้ยังไม่เจ็บไข้หรือยังไม่ตาย เขาก็เหมือนกับตายแล้ว อย่างที่ตรัสไว้ว่า "เย ปมตฺตา ยถา มตา - พวกที่ประมาทแล้วคือคนตายแล้ว" นั่นแหละคือคนรกโลก! ถึงแม้จะเป็นฆราวาสอย่างไร เราก็ไม่ควรจะเป็นคนรกโลก


ชีวิต คือ การเดินทาง มันเป็นการเดินทางจากการอยู่ภายใต้ความทุกข์ไปอยู่เหนือความทุกข์ ไม่ว่าจะเป็นความทุกข์ชนิดไหน คนเราจะต้องไต่เต้าจนขึ้นไปอยู่เหนือความทุกข์ทั้งนั้น แม้ที่สุดแต่ความทุกข์อันเกิดจากความยากจน ฆราวาสก็เป็นสัตว์มีชีวิต ดังนั้นก็ต้องเดินทางกับเขาด้วยเหมือนกัน เดินอย่างไรเร็วและดี ต้องเดินกันอย่างนั้น ทุกคนน่าจะเห็นว่า การทำงานคือโลกิยธรรม การพักผ่อนคือโลกุตตรธรรม นั่นแหละคือการเดินทางที่ดีที่สุด

สำหรับฆราวาสผู้ไม่ถอยหลัง แต่เดินก้าวไปโดยรวดเร็ว ประกอบไปด้วย " ประโยชน์เกื้อกูลแก่ความเป็นฆราวาส ตลอดกาลนาน " ดั่งที่พระองค์ตรัส ซึ่งได้นำมากล่าวไว้แล้วข้างต้น คำอธิบายชุดนี้มีความประสงค์ดังนี้ พยายามจะให้ฆราวาส พุทธบริษัท เป็นฆราวาสกันในแบบนี้ หรือแบบที่พระองค์ทรงแนะนำ คนจะเป็นฆราวาสหรือเป็นบรรพชิต ก็ต้องเป็นชีวิตที่เป็นการเดินทางไปข้างหน้าด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะช้าหรือเร็วก็ตาม
มิฉะนั้นแล้วก็หมดความเป็นมนุษย์ที่แปลว่าสัตว์มีใจสูง หรือเหล่ากอของผู้ที่มีจิตใจสูง ไม่ว่าจะเป็นบรรพชิตหรือฆราวาสก็ตาม ล้วนแต่ต้องมีจิตใจสูง ไปตามแบบหรือตามมาตรฐานของตนๆ ถ้าให้ฆราวาสเดินทวนกลับจากที่บรรพชิตเดิน ก็จะถอยหลังกลับไปเป็นสัตว์ เช่น สุนัขเป็นต้น เท่านั้นเอง ขอให้ลองคิดดูให้ดีๆ แต่ถ้าเกิดต้องการจะให้ชีวิตตามแบบฆราวาส เป็นการเดินไปข้างหน้าด้วยกันกับบรรพชิตแล้ว คำบรรยายชุดนี้ จะช่วยให้การเดินนั้นง่ายขึ้นบ้างไม่มากก็น้อย

พุทธทาส อินทปัญโญ
โมกขพลาราม, ไชยา
23 ตุลาคม 2514
""""""""""""""""""""""""""""""

มีต่อค่ะ
 <<< ชีวิตต้องเทียมด้วยควายสองตัว >>>
 ***ธรรมะสำหรับฆราวาส***
 <<<...ฆราวาสธรรมที่เป็นธรรมะประเภทเครื่องมือ...>>>
 <<<....ความสุขของฆราวาส.....>>>
♦♦♦ ความทุกข์ในความเป็นฆราวาส ♦♦♦