ผู้เขียน หัวข้อ: ธรรมสมาธิ :อานาปานสติ สติปัฏฐาน  (อ่าน 2075 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด

ธรรมสมาธิ ๕
       ธรรมที่ทำให้เกิดความมั่นสนิทในธรรม เกิดความมั่นใจในการปฏิบัติธรรมถูกต้อง กำจัดความข้องใจสงสัยเสียได้ เมื่อเกิดธรรมสมาธิ คือความมั่นสนิทในธรรม ก็จะเกิดจิตตสมาธิ คือความตั้งมั่นของจิต

       ห้าประการได้แก่
       ๑. ปราโมทย์ (ความชื่นบานใจ ร่าเริงสดใส)       
       ๒. ปีติ (ความอิ่มใจ, ความปลื้มใจ)
       ๓. ปัสสัทธิ (ความสงบเย็นกายใจ, ความผ่อนคลายรื่นสบาย)
       ๔. สุข (ความรื่นใจไร้ความข้องขัด)
       ๕. สมาธิ (ความสงบอยู่ตัวมั่นสนิทของจิตใจ ไม่มีสิ่งรบกวนเร้าระคาย)

       ธรรม หรือคุณสมบัติ ๕ ประการนี้ ตรัสไว้ทั่วไปมากมาย เมื่อทรงแสดงการปฏิบัติธรรมที่ก้าวมาถึงขั้นเกิดความสำเร็จชัดเจน ต่อจากนี้ ผู้ปฏิบัติจะเดินหน้าไปสู่การบรรลุผลของสมถะ (คือได้ฌาน) หรือวิปัสสนา แล้วแต่กรณี ดังนั้น จึงใช้เป็นเครื่องวัดผลการปฏิบัติขั้นตอนในระหว่างได้ดี และเป็นธรรมหรือคุณสมบัติสำคัญของจิตใจที่ทุกคนควรทำให้เกิดมีอยู่เสมอ
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)
-------------------------------------------

ขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์
ตั้งหน้าทำก็แล้วกัน
ภิกษุทั้งหลาย! กิจของคฤหบดีชาวนาที่เขาจะต้องรีบทำมีสามอย่างเหล่านี้. สามอย่างอะไรบ้างเล่า? สามอย่างคือ คฤหบดีชาวนารีบ ๆ ไถคราดพื้นที่นาให้ดีเสียก่อน, ครั้นแล้ว ก็รีบ ๆ ปลูกพืช, ครั้นแล้ว ก็รีบ ๆ ไขน้ำเข้าบ้าง ไขน้ำออกบ้าง. ภิกษุทั้งหลาย! กิจของคฤหบดีชาวนาที่เขาจะต้องรีบทำมีสามอย่างเหล่านี้แล; แต่ว่าคฤหบดีชาวนานั้น ไม่มีฤทธิ์หรืออานุภาพที่จะบันดาลว่า "ข้าวของเราจงงอกในวันนี้, ตั้งท้องพรุ่งนี้, สุกมะรืนนี้" ดังนี้ได้เลย, ที่ถูก ย่อมมีเวลาที่ข้าวนั้น เปลี่ยนแปรสภาพไปตามฤดูกาล ย่อมจะงอกบ้าง ตั้งท้องบ้าง สุกบ้าง;

ภิกษุทั้งหลาย! ฉันใดก็ฉันนั้น : กิจของภิกษุที่เธอจะต้องรีบทำมีสามอย่างเหล่านี้. สามอย่างอะไรบ้างเล่า? สามอย่างคือ การสมาทานการปฏิบัติในศีลอันยิ่ง, การสมาทานการปฏิบัติในจิตอันยิ่ง และ การสมาทานการปฏิบัติในปัญญาอันยิ่ง ภิกษุทั้งหลาย! กิจของภิกษุที่เธอจะต้องรีบทำมีสามอย่างเหล่านี้แล; แต่ว่าภิกษุนั้น ก็ไม่มีฤทธิ์หรืออานุภาพที่จะบันดาลว่า "จิตของเราจงหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายเพราะไม่มีอุปาทาน ในวันนี้ หรือพรุ่งนี้ หรือมะรืนนี้" ดังนี้ได้เลย, ที่ถูก ย่อมมีเวลาที่เหมาะสม ซึ่งเมื่อภิกษุนั้น ปฏิบัติไปแม้ในศีลอันยิ่ง, ปฏิบัติไปแม้ในจิตอันยิ่ง และปฏิบัติไปแม้ในปัญญาอันยิ่ง จิตก็จะหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่มีอุปาทาน ได้เอง

ภิกษุทั้งหลาย! เพราะฉะนั้น ในเรื่องนี้ พวกเธอทั้งหลาย พึงสำเหนียกใจไว้ว่า "ความ พอใจของเรา จักต้องเข้มงวดพอ ในการสมาทานการปฏิบัติในศีลอันยิ่ง, ในการสมาทานการปฏิบัติในจิตอันยิ่ง และในการสมาทานการปฏิบัติในปัญญาอันยิ่ง" ดังนี้ ภิกษุทั้งหลาย! พวกเธอทั้งหลาย พึงสำเหนียกใจไว้ อย่างนี้แล.
บาลี พระพุทธภาษิต ติก. อํ. ๒๐/๓๐๙/๕๓๒.

ผลของพรหมจรรย์ที่แยบคาย
ภูมิชะ! สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง เป็นผู้ที่มีความเข้าใจถูกต้อง, มีความมุ่งหมายถูกต้อง, มีคำพูดถูกต้อง, มีการทำงานถูกต้อง, มีการเลี้ยงชีวิตถูกต้อง, มีความพยายามถูกต้อง, มีความระลึกถูกต้อง, มีความตั้งจิตมั่นไว้อย่างถูกต้อง; สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ถ้าแม้ประพฤติพรหมจรรย์ โดยหวังผลก็ต้องได้รับผล; ถ้าแม้ประพฤติพรหมจรรย์โดยไม่หวังผล ก็ต้องได้รับผล. ถ้าแม้ประพฤติพรหมจรรย์โดยหวังผลและไม่หวังผล ก็ต้องได้รับผล; ถ้าแม้ประพฤติพรหมจรรย์โดยหวังผลก็มิใช่ ไม่หวังผลก็มิใช่ ก็ยังต้องได้รับผล; ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร? เพราะเหตุแห่งการได้รับผลนั้นเป็นสิ่งที่เขาทั้งหลายเหล่านั้นได้ทำไว้อย่างลึกซึ้งแยบคาย.

ภูมิชะ! เช่นเดียวกับบุรุษผู้ต้องการน้ำมัน เสาะหาน้ำมัน เที่ยวแสวงหาน้ำมันอยู่, เขาเกลี่ยเยื่อเมล็ดงาลงในราง ประพรมด้วยน้ำแล้วคั้นเรื่อยไป; แม้บุรุษนั้น ทำความหวัง---ทำความไม่หวัง--- ทั้งทำความหวังและความไม่หวัง---ทั้งทำความหวังก็หามิได้ ความไม่หวังก็หามิได้ ก็ตาม, เมื่อเขา เกลี่ยเยื่อเมล็ดงาลงในราง ประพรมด้วยน้ำ แล้วคั้นเรื่อยไป บุรุษนั้นก็ต้องได้น้ำมันอยู่เอง. ข้อนี้เพราะเหตุไร? เพราะเหตุแห่งการได้น้ำมันนั้น เป็นสิ่งที่บุรุษนั้นได้ทำแล้ว โดยลึกซึ้งแยบคาย ฉันใดก็ฉันนั้น. (ทรงให้อุปมาโดยทำนองนี้อีกสามข้อ คือบุรุษผุ้ต้องการน้ำนม รีดน้ำนมจากแม่โคลูกอ่อน, บุรุษผู้ต้องการเนย ปั่นเนยจากนมที่หมักเป็นเยื่อแล้ว, บุรุษผู้ต้องการไฟ สีไฟจากไม้แห้ง, ก็ย่อมได้ผลตามที่ตนต้องการ. แม้จะทำความหวังหรือความไม่หวังก็ตาม ผลนั้น ๆ ก็ย่อมมีให้เอง เพราะได้มีการทำที่ถูกต้องลงไปแล้ว).
บาลี พระพุทธภาษิต ภูมิชสูตร อุปริ. ม. ๑๔/๒๗๙/๔๑๔, ตรัสแก่พระภูมิชเถระ ที่เวฬุวัน.

เชิงรองของจิต
ภิกษุทั้งหลาย! หม้อ ที่ไม่มีเชิงรองรับ ย่อมกลิ้งได้ง่าย ส่วนหม้อที่มีเชิงรองรับ ย่อมกลิ้งได้ยาก. ภิกษุทั้งหลาย! ฉันใดก็ฉันนั้น : จิตที่ไม่มีเครื่องรองรับ ย่อมหมุนไปได้ง่าย. ส่วนจิตที่มีเครื่องรองรับ ย่อมหมุนไปได้ยาก.

ภิกษุทั้งหลาย! เครื่องรองรับจิตเป็นอย่างไรเล่า? ภิกษุทั้งหลาย! อริยอัฏฐังคิกมรรคนี้แล ได้แก่ ความเข้าใจอันถูกต้อง, ความมุ่งหมายอันถูกต้อง, การพูดจาอันถูกต้อง, การทำงานอันถูกต้อง, การเลี้ยงชีวิตอันถูกต้อง, ความพยายามอันถูกต้อง, ความระลึกอันถูกต้อง, ความปักใจมั่นอันถูกต้อง, อริยอัฏฐังคิกมรรคนี้แล เป็นเครื่องรองรับของจิต.
บาลี พระพุทธภาษิต มหาวาร. สํ. ๑๙/๒๕/๗๘ - ๙.

ผู้มีหลักเสาเขื่อน
ภิกษุทั้งหลาย! ภิกษุผู้มีสังวรนั้น เป็นอย่างไรเล่า? ภิกษุทั้งหลาย! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เมื่อเห็นรูปด้วยตา, ฟังเสียงด้วยหู, ดมกลิ่นด้วยจมูก, ลิ้มรสด้วยลิ้น, สัมผัสโผฏฐัพพะด้วยกาย, รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ; ก็ไม่สยบอยู่ในอารมณ์ที่น่ารัก ไม่เคียดแค้นในอารมณ์อันไม่น่ารัก เป็นผู้ตั้งไว้ซึ่งกายคตาสติ มีจิตหาประมาณมิได้, ย่อมรู้ตามที่เป็นจริงซึ่งเจโตวิมุตติ อันเป็นที่ดับแห่งบาปอกุศลที่เกิดแล้วแก่เขานั้นโดยสิ้นเชิง.

ภิกษุทั้งหลาย! เปรียบเหมือนบรุษจับสัตว์หกชนิด อันมีที่อยู่อาศัยต่างกัน มีที่เที่ยวหากินต่างกัน มาผูกรวมกันด้วยเชือกอันมั่นคง คือ เขาจับงูมาผูกด้วยเชือกเหนียวเส้นหนึ่ง, จับจระข้, จับนก, จับสุนัขบ้าน, จับสุนัขจิ้งจอก และจับลิง, มาผูกด้วยเชือกเหนียวเส้นหนึ่ง ๆ ครั้นแล้ว นำไปผูกไว้กับเสาเขื่อน หรือเสาหลักอีกต่อหนึ่ง. ภิกษุทั้งหลาย! ครั้งนั้น สัตว์ทั้งหกชนิดเหล่านั้น มีที่อาศัยและที่เที่ยวต่าง ๆ กัน ก็ยื้อแย่งฉุดดึงกัน เพื่อจะไปสู่ที่อาศัยและที่เที่ยวของตน ๆ : งูจะเข้าจอมปลวก, จระเข้จะลงน้ำ, นกจะบินขึ้นไปในอากาศ, สุนัขจะเข้าบ้าน, สุนัขจิ้งจอกจะไปป่าช้า, และลิงก็จะไปป่า, ภิกษุทั้งหลาย! ในกาลใดแล ความเป็นไปภายในของสัตว์ทั้งหกชนิดเหล่านั้น มีแต่ความเมื่อยล้าแล้ว, ในกาลนั้นมันทั้งหลายก็จะพึงเข้าไปยืนเจ่า นั่งเจ่า นอนเจ่า อยู่ข้างเสาเขื่อน หรือเสาหลักนั้นเอง. ข้อนี้ฉันใด;

ภิกษุทั้งหลาย! ภิกษุรูปใดได้อบรมกระทำให้มากในกายคตาสติแล้ว ตาก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหารูปที่น่าพอใจ, รูปที่ไม่น่าพอใจก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง; หูก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหาเสียงที่น่าฟัง, เสียงที่ไม่น่าฟังก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง; จมูกก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหากลิ่นที่น่า สูดดม, กลิ่นที่ไม่น่าสูดดมก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง; ลิ้นก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหารสที่ชอบใจ, รสที่ไม่ชอบใจก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง; กายก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหาสัมผัสที่ยั่วยวนใจ, สัมผัสที่ไม่ยั่วยวนใจก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง; และใจก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหาธรรมารมณ์ที่ถูกใจ, ธรรมารมณ์ที่ไม่ถูกใจก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง; ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน. ภิกษุทั้งหลาย! ภิกษุผู้มีสังวรเป็นอย่างนี้.

ภิกษุทั้งหลาย! คำว่า "เสาเขื่อน หรือเสาหลัก" นี้เป็นคำเรียกแทนชื่อแห่งกายคตาสติ.
ภิกษุทั้งหลาย! เพราะฉะนั้น ในเรื่องนี้ พวกเธอทั้งหลาย พึงสำเหนียกใจไว้ว่า "กายคตาสติของเราทั้งหลาย จำเป็นสิ่งที่เราอบรม กระทำให้มาก กระทำให้เป็นยานเครื่องนำไป กระทำให้เป็นของที่อาศัยได้ เพียรตั้งไว้เนืองๆ เพียรเสริมสร้างโดยรอบคอบ เพียรปรารภสม่ำเสมอด้วยดี" ดังนี้. ภิกษุทั้งหลาย! พวกเธอทั้งหลาย พึงสำเหนียกใจไว้อย่างนี้แล.
บาลี พระพุทธภาษิต สฬา. สํ. ๑๘/๒๔๗/๓๔๙, ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลาย

มูลการของสังสารวัฏฏ์
ฐีติภูตํ อวิชฺชา ปจฺจยา สงฺขารา อุปาทานํ ภโว ชาติ
คนเราทุกรูปนามที่ได้กำเนิดเกิดมาเป็นมนุษย์ล้วนแล้วแต่มีที่เกิดทั้งสิ้น กล่าวคือมีบิดามารดาเป็นแดนเกิด ก็แลเหตุใดท่านจึงบัญญัติปัจจยาการแต่เพียงว่า อวิชฺชา ปจฺจยา ฯลฯ เท่านั้น อวิชชา เกิดมาจากอะไรฯ ท่านหาได้บัญญัติไว้ไม่ พวกเราก็ยังมีบิดามารดาอวิชชาก็ต้องมีพ่อแม่เหมือนกัน ได้ความตามบาทพระคาถาเบื้องต้นว่า ฐีติภูตํ นั่นเองเป็นพ่อแม่ของอวิชชา

ฐีติภูตํ ได้แก่ จิตดั้งเดิม เมื่อฐีติภูตํ ประกอบไปด้วยความหลง จึงมีเครื่องต่อ กล่าวคือ อาการของอวิชชาเกิดขึ้น เมื่อมีอวิชชาแล้วจึงเป็นปัจจัยให้ปรุงแต่งเป็นสังขารพร้อมกับความเข้าไปยึด ถือ จึงเป็นภพชาติคือต้องเกิดก่อต่อกันไป ท่านเรียก ปัจจยาการ เพราะเป็นอาการสืบต่อกัน วิชชาและอวิชชาก็ต้องมาจากฐีติภูตํเช่นเดียวกัน เพราะเมื่อฐีติภูตํกอปรด้วยวิชชาจึงรู้เท่าอาการทั้งหลายตามความเป็นจริง นี่พิจารณาด้วยวุฏฐานคามินี วิปัสสนา รวมใจความว่า ฐีติภูตํ เป็นตัวการดั้งเดิมของสังสารวัฏฏ์ (การเวียนว่ายตายเกิด) ท่านจึงเรียกชื่อว่า "มูลตันไตร" (หมายถึงไตรลักษณ์) เพราะฉะนั้นเมื่อจะตัดสังสารวัฏฏ์ให้ขาดสูญ จึงต้องอบรมบ่มตัวการดั้งเดิมให้มีวิชชารู้เท่าทันอาการทั้งหลายตามความเป็น จริง ก็จะหายหลงแล้วไม่ก่ออาการทั้งหลายใดๆ อีก ฐีติภูตํ อันเป็นมูลการก็หยุดหมุน หมดการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏฏ์ด้วยประการฉะนี้
จาก "มุตโตทัย" หลวงปู่มั่น ภูริทัตตะมหาเถระ

“ที่” ซึ่งนามรูปดับไม่มีเหลือ
“สิ่ง” สิ่งหนึ่งซึ่งบุคคลพึงรู้แจ้ง เป็นสิ่งที่ไม่มีปรากฏการณ์ ไม่มีที่สุด มีทางปฎิบัติเข้ามาถึงได้โดยรอบ, นั้นมีอยู่ ; ใน “สิ่ง” นั้นแหละ ดิน น้ำ ไฟ ลม ไม่อาจเข้าไปอยู่ได้ ใน “สิ่ง” นั้นแหละ ความยาว ความสั้น ความเล็ก ความใหญ่ ความงาม ความไม่งาม ไม่อาจเข้าไปอยู่ได้ ใน “สิ่ง” นั้นแหละ นามรูป ดับสนิทไม่เหลือ ; นามรูป ดับสนิท ใน “สิ่ง” นี้ เพราะการดับสนิทของวิญญาณ.

“สิ่งนั้น” หาพบได้ในกายนี้
“แน่ะเธอ ! ที่สุดโลก แห่งใด อันสัตว์ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติ ; เราไม่กล่าวว่าใครๆอาจรู้ อาจเห็น อาจถึง ที่สุดแห่งโลกนั้น ด้วยการไป.

แน่ะเธอ ! ในร่างกายที่ยาวประมาณวาหนึ่งนี้ ที่ยังประกอบด้วยสัญญาและใจนี่เอง, เราได้บัญญัติโลก, เหตุให้เกิดโลก, ความดับสนิทไม่เหลือของโลก, และทางดำเนินให้ถึงความดับสนิทไม่เหลือของโลก ไว้”

สิ่ง ๆ หนึ่งซึ่งไม่มีสภาวะแบบโลกให้ปรากฏ
ดิน น้ำ ไฟ ลม ไม่อาจเข้าไปอยู่ ในที่ใด; ในที่นั้นดาวฤกษ์ทั้งหลาย ย่อมไม่ส่องแสง; ในที่นั้น, ดวงอาทิตย์ก็ไม่ปรากฏ; ในที่นั้น, ดวงจันทร์ก็ไม่ส่องแสง; แต่ความมืด ก็มิได้มีอยู่, ในที่นั้น.

เมื่อ “เธอ” ไม่มี !
พาหิยะ ! เมื่อใด เธอเห็นรูปแล้ว สักว่าเห็น, ได้ฟังเสียงแล้ว สักว่าฟัง, ได้กลิ่น, ลิ้มรส, สัมผัสทางผิวกาย, ก็สักว่า ดม ลิ้ม สัมผัส, ได้รู้แจ้งธรรมารมณ์ ก็สักว่าได้รู้แจ้ง แล้ว; เมื่อนั้น “เธอ” จักไม่มี. เมื่อใด “เธอ” ไม่มี; เมื่อนั้นเธอก็ไม่ปรากฏในโลกนี้, ไม่ปรากฏในโลกอื่น, ไม่ปรากฏในระหว่างแห่งโลกทั้งสอง : นั่นแหละ คือที่สุดแห่งทุกข์ ละ.

อุปมาสภาวะนิพพาน
ภิกษุทั้งหลาย ! “สิ่ง” สิ่งนั้นมีอยู่, เป็นสิ่งซึ่งในนั้นไม่มีดิน ไม่มีน้ำ ไม่มีไฟ ไม่มีลม. ไม่ใช่อากาสานัญจายตนะ ไม่ใช่วิญญาณัญจายตนะ ไม่ใช่อากิญจัญญายตนะ ไม่ใช่เนวสัญญานาสัญญายตนะ, ไม่ใช่โลกนี้ ไม่ใช่โลกอื่น, ไม่ใช่ดวงจันทร์ หรือดวงอาทิตย์ทั้งสองอย่าง.

ภิกษุทั้งหลาย ! ในกรณีอันเดียวกับ “สิ่ง” สิ่งนั้น เราไม่กล่าวว่ามีการมา, ไม่กล่าวว่ามีการไป, ไม่กล่าวว่ามีการหยุด, ไม่กล่าวว่ามีการตาย , ไม่กล่าวว่ามีการเกิดขึ้น. สิ่งนั้นมิได้ตั้งอยู่, สิ่งนั้นมิได้เป็นไป และสิ่งนั้นมิใช่อารมณ์; นั่นแหละคือ ที่สุดแห่งทุกข์ ละ.

สิ่งนั้นมีแน่ !
ภิกษุทั้งหลาย ! สิ่งซึ่งมิได้เกิด มิได้เป็น มิได้ถูกอะไรทำ มิได้ถูกอะไรปรุง นั้นมีอยู่. ภิกษุทั้งหลาย ! ถ้าหากว่า สิ่งที่มิได้เกิด มิได้เป็น มิได้ถูกอะไรทำ มิได้ถูกอะไรปรุง จักไม่มีอยู่แล้วไซร้, ความรอดออกไปได้ของ สิ่งที่เกิด ที่เป็น ที่ถูกอะไรทำ ที่ถูกอะไรปรุง ก็จักไม่ปรากฏเลย.

ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุที่มีสิ่ง ซึ่งมิได้เกิด มิได้เป็น มิได้ถูกกระทำ มิได้ถูกอะไรปรุง นั่นเอง จึงได้มีความรอดออกไปได้ ของสิ่งที่เกิด ที่เป็น ที่ถูกอะไรทำ ที่ถูกอะไรปรุง, ปรากฎอยู่.

ทิ้งความกังวล ความถือมั่น ก็ นิพพาน
ความไม่กังวล ความไม่ถือมั่น นั่นแล คือ ธรรมอันเป็นเกาะ ไม่มีธรรมอื่นอีก. เรากล่าวธรรมนั้นว่า “นิพพาน” เป็นที่หมดสิ้นแห่งชราและมรณะ แล.

การเปรียบเทียบคุณสมบัติ สมมุติ กับ วิมุติ
ลักษณะแห่ง สมมุติ มี
๑. มีการเกิดปรากฎ
๒. มีการเสื่อมปรากฎ
๓. เมื่อตั้งอยู่ ก็มีภาวะอย่างอื่นปรากฏ

ลักษณะแห่งวิมุติ มี
๑. ไม่ปรากฏมีการเกิด
๒. ไม่ปรากฏมีการเสื่อม
๓. เมื่อตั้งอยู่ ก็ไม่มีภาวะอย่างอื่นปรากฏ

คำพูดเป็นประโยชน์ ๑๐ เรื่อง
เรื่องที่ควรพูด ๑๐ ประการ อันเป็นไปเพื่อขูดเกลากิเลส คือ
๑. เรื่องปรารถนาน้อย
๒. เรื่องสันโดษ
๓. เรื่องความสงบสงัด
๔. เรื่องไม่คลุกคลี
๕. เรื่องมีความเพียร
๖. เรื่องศีล
๗. เรื่องสมาธิ
๘. เรื่องปัญญา
๙. เรื่องวิมุตติ
๑๐. เรื่องวิมุตติญาณทัสสนะ

การไม่เพลินกับของเกิดของตาย เป็นธรรมชาติอันสงบ
ใครๆไม่ควรเพลิดเพลิน ต่อสิ่งซึ่งเกิดแล้ว เป็นแล้ว เกิดขึ้นพร้อมแล้ว อันปัจจัยกระทำแล้ว อันปัจจัยปรุงแต่งแล้ว ไม่ยั่งยืน เป็นไปเพื่อชราและมรณะ เป็นรังโรค เป็นของผุพัง มีอาหารและตัณหา เป็นแดนเกิด.

ส่วน การออกไปเสียได้จากสิ่งนั้น เป็นธรรมชาติอันสงบ ไม่เป็นวิสัยแห่งความตรึก, เป็นของยั่งยืน, ไม่เกิด, ไม่เกิดขึ้นพร้อม, ไม่มีโศก, ปราศจากธุลี, เป็นที่ควรไปถึง, เป็นที่ดับแห่งสิ่งที่มีความทุกข์เป็นธรรมดา เป็นความเข้าไปสงบรำงับแห่งสังขาร เป็นสุข.
พระวรคติธรรม
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก

“ชีวิตนี้น้อยนัก แต่ชีวิตนี้สำคัญนัก
เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อ
เป็นทางแยก
จะไปสูงไปตำ่ จะไปดีไปร้าย
เลือกได้ในชีวิตนี้เท่านั้น
พึงสำนึกข้อนี้ให้จงดีแล้วจงเลือกเถิด
เลือกให้ดีเถิด”
..
..
โอวาทธรรมหลวงปู่ทา จารุธัมโม
"รู้ซื่อ ๆ รู้จิตซื่อ ๆ
อาการของจิตมันเป็นอย่างไรก็รู้มันตรง ๆ
อย่าไปอยากให้มันเป็นอย่างไร ให้รู้ซื่อ ๆ
อันนี้เป็นทางเดินของมรรค
รู้ซื่อ ๆ นี่แหละคือปัจจุบัน
จิตมันเป็นอย่างไรก็รู้มันในขณะนั้น
นี่เป็นทางเดินของพระอรหันต์ทั้งหลาย
เราอย่าไปอยาก
พอจิตมันไม่ดีก็อยากให้จิตมันดี
พอจิตมันเป็นอย่างนั้น อยากให้เป็นอย่างโน้น
อันนี้ท่านว่ามันเป็นกิเลสตัณหา
ซึ่งเป็นทางตรงกันข้ามกับพระนิพพาน
ไม่ใช่ทางปฏิบัติของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
และของพระอรหันต์สาวก"
..
..
หากท่านพากเพียรบากบั่นแล้ว
ไม่มีสิ่งใดจะเป็นความยากสำหรับท่าน
ท่านจึงต้องพากเพียรอย่างสุดกำลัง
และจงทำตนให้เสมือนกับหยดน้ำเล็ก ๆ ที่หยดอยู่เสมอไม่ขาดระยะ
ย่อมสามารถเจาะหินให้ทะลุเป็นทางไปได้ฉันนั้น

จากหนังสือ ของฝากการเดินทาง
หลวงพ่อเลี่ยม ฐิตธมฺโม  วัดหนองป่าพง
..
..
การเริ่มต้นปฏิบัติวิปัสสนาภาวนานั้น
จะเริ่มต้นด้วยวิธีไหนก็ได้
เพราะผลมันเป็นอันเดียวกันอยู่แล้ว
ที่ท่านสอนแนวปฏิบัติไว้หลายแนวนั้น
เพราะจริตของคนไม่เหมือนกัน
จึงต้องมีวัตถุ สี แสง และคำสำหรับบริกรรมเช่น พุทโธ อรหัง เป็นต้น
เพื่อหาจุดใดจุดหนึ่งให้จิตรวมอยู่ก่อน
เมื่อจิตรวมสงบแล้ว คำบริกรรมนั้นก็หลุดหายไปเอง
แล้วก็ถึงรอยเดียวกัน รสเดียวกัน
คือมี วิมุตติ เป็นแก่น มีปัญญาเป็นยิ่ง
หลวงปู่ดูลย์ อตุโล
:https://sites.google.com/site/smartdhamma/home