การจัดกิจกรรมถวายความรู้แด่พระสงฆ์ ณ หอประชุมสงฆ์ วัดพนัญเชิงวรวิหาร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อเร็ว ๆ นี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการขยายผลสื่อสงฆ์ไทยไกลโรค เพื่อนำไปสู่การป้องกันและแก้ไขการเกิดโรคเรื้อรัง
วันศุกร์ 14 มีนาคม 2557 เวลา 00:00 น.
-http://www.dailynews.co.th/Content/education/222663/%E0%B8%AA%E0%B8%87%E0%B8%86%E0%B9%8C%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B9%84%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84+%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B9%82%E0%B8%A2%E0%B8%A1%E0%B9%83%E0%B8%AA%E0%B9%88%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%A3-
การจัดกิจกรรมถวายความรู้แด่พระสงฆ์ ณ หอประชุมสงฆ์ วัดพนัญเชิงวรวิหาร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อเร็ว ๆ นี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการขยายผลสื่อสงฆ์ไทยไกลโรค เพื่อนำไปสู่การป้องกันและแก้ไขการเกิดโรคเรื้อรังและการมีสุขภาวะที่ยั่งยืนเพื่อพัฒนา “สงฆ์ต้นแบบ โภชนาดี ชีวียั่งยืน” และ “ฆราวาสเกื้อกูล หนุนโภชนาดี” ซึ่งเป็นโครงการที่มุ่งสร้างเสริมสุขภาพที่ดีให้แก่พระสงฆ์ ดำเนินการโดยคณะวิจัยจากคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์มิตรภาพบำบัดฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพหรือ สสส.
วิวัฒนาการโลกมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ชาวบ้านเมื่อสมัยก่อนจะทำบุญใส่บาตรกับพระสงฆ์ จะต้องคัดเลือกวัตถุดิบที่ดีใช้ปรุงอาหารพิถีพิถันเรื่องของความสะอาด โดยจะตักแบ่งของดี ๆ ไว้เพื่อใส่บาตรพระก่อนที่จะบริโภคเอง แต่ปัจจุบันคนไทยส่วนใหญ่จะเอาความสะดวกในการจัดหาอาหารที่จำหน่ายตามท้องตลาดโดยไม่คำนึงถึงคุณภาพ จึงสร้างปัญหาให้แก่พระสงฆ์ที่รับบิณฑบาต เมื่อนำไปฉันทำให้เกิดท้องเสีย หรือไม่ก็ใส่วัตถุดิบที่ไม่ค่อยมีคุณภาพทำให้สุขภาพของพระสงฆ์ไม่ดี ก่อให้เกิดการสะสมโรคภัยไข้เจ็บได้ในระยะยาว
รศ.ดร.ภญ.จงจิตร อังคทะวานิช ผู้เชี่ยว ชาญด้านโภชนาการและการกำหนดอาหาร คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการขยายสื่อสงฆ์ไทยไกลโรคฯ บอกว่า ขณะนี้โครงการเดินมาถึงระยะที่ 2 ที่จะขยายผลนำไปสู่การป้องกันและแก้ไขการเกิดโรคเรื้อรังและการมีสุขภาวะที่ยั่งยืนเพื่อพัฒนา “สงฆ์ต้นแบบ โภชนาดีชีวียั่งยืน” และ “ฆราวาสเกื้อกูล หนุนโภชนาดี” เพราะ สสส.มีความห่วงใยในสุขภาวะของพระสงฆ์เล็งเห็นปัญหาการเจ็บป่วยเกี่ยวกับโรคเรื้อรังที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในหมู่พระสงฆ์จึงจัดสรรเงินทุนวิจัย เพื่อการพัฒนาสุขภาวะและโภชนาการพระสงฆ์ ในระยะที่ 2
การจัดกิจกรรมถวายความรู้ได้รับการสนับสนุนจากพระมหาเชิดชัย กตปุญโญ รองเจ้าคณะจังหวัดพระนครศรี อยุธยา ที่ได้จัดการประชุมเพื่อปฐม นิเทศพระสังฆาธิการและพระภิกษุที่เสนอขอรับการแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบล รองเจ้าคณะตำบล เจ้าอาวาส ผู้ช่วยเจ้าอาวาส และพระกรรมวาจาจารย์ของคณะสงฆ์จังหวัดพระนครศรี อยุธยา ประมาณ 70 รูป ซึ่งพระมหาเชิดชัย มองว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่ดีที่จะช่วยพระสงฆ์ได้มีสุขภาพที่ดีปลอดจากโรคเรื้อรังจำพวกโรคเบาหวานที่เป็นบ่อเกิดของโรคที่จะตามมาไม่ว่า โรคความดันโลหิต โรคหัวใจ โรคไต ฯลฯ ทางคณะสงฆ์จังหวัดพระนครศรีอยุธยาจึงให้การสนับสนุนทางโครงการเพื่อขยายผลสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ต่อพระสงฆ์ได้มีสุขภาพที่ดี
ในขณะที่ นางมานีสื่อทรงธรรม หัวหน้าโครงการศูนย์มิตรภาพบำบัด โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งดำเนินโครงการด้านจิตอาสาและดูแลสุขภาวะพระสงฆ์ พร้อมกับจิตอาสาจำนวน 23 คน กล่าวว่า ทางโครงการได้ทำการวิจัยปัญหาด้านการฉันภัตตาหารและด้านโภชนาการในพระสงฆ์ เพื่อนำข้อมูลมาใช้ในการวางแผนแก้ไขปัญหาให้ตรงจุดและยั่งยืน โดยมีการผลิตสื่อสงฆ์ไทยไกลโรค เพื่อช่วยให้พระสงฆ์ ฆราวาส และผู้ค้าอาหารใส่บาตรได้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องและร่วมกันพลิกฟื้นสุขภาวะของพระสงฆ์ไทย ให้ได้รับอาหารที่มีคุณภาพเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย
นางมานีเล่าอีกว่า จากการวิจัยพบ 4 ปัจจัยสำคัญที่จะมีผลต่อสุขภาวะของพระสงฆ์ คือ เรื่องของโภชนา ปานะ กายะ กิจกรรม จึงได้ผลิตสื่อสงฆ์ไทยไกลโรค เพื่อสนับสนุนการจัดการปัญหาทั้ง 4 ด้าน ประกอบด้วย 1. สื่อวีดิทัศน์ “สื่อสู่สงฆ์ เพื่อสงฆ์ไทยไกลโรค”เพื่อสร้างความตระหนักของปัญหาโรคเรื้อรังกับโภชนาการ 2. หนังสือ “สูตรสงฆ์ไทยไกลโรค”มีเนื้อหาเป็นข้อคิดสะกิดใจแบบพกพาให้โภชนปัญญาแด่พระสงฆ์ได้ตระหนักว่าเวลาจะฉันอาหารต้องระวังว่าอาหารประเภทใดไม่สมควรฉัน 3. ประคดเอว รอบรู้ ซึ่งเป็นอัฐบริขารที่พระสงฆ์ต้องใช้ในชีวิตประจำวันอยู่แล้วเมื่อพระสงฆ์คาดประคดจะมีสัญลักษณ์บ่งชี้ให้ทราบว่าขนาดของรอบเอวที่เหมาะสมควรเป็นเท่าใด 4. สายวัดเอวรอบรู้ จัดทำขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือช่วยในการเฝ้าระวังมิให้รอบเอวเกิน 85 ซม. หรือส่วนสูงหารสอง 5. โปรแกรม “ปานะปัญญา” โดยโปรแกรมดังกล่าวจะช่วยเตือนพระสงฆ์และสามเณรในการหาปริมาณน้ำตาลและคำนวณปริมาณพลังงานที่ได้รับจากเครื่องดื่ม 6.ปฏิทินสุขภาพเริ่มเมื่อเพิ่มก้าวเป็นเครื่องมือช่วยให้พระสงฆ์และสามเณรบันทึกข้อมูลการเดินเพื่อสุขภาพ และ 7. โปสเตอร์ “สงฆ์ไทย ไกลโรค” เพื่อสะกิดใจพระสงฆ์และสามเณรได้ปรับอาหารและเพิ่มก้าวเดิน
สำหรับในส่วนของฆราวาสก็ต้องได้รับการอบรมความรู้สุขภาพเช่นกัน เพราะฆราวาสคือบุคคลสำคัญที่จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับอาหารที่ใส่บาตรโดยตรง จึงต้องมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเพื่อให้ได้ตระหนักถึงอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกายพระสงฆ์ ก่อนใส่บาตรควรคำนึงถึงอาหารที่ใส่ เช่น หลีกเลี่ยงของหวานที่อุดมด้วยน้ำตาลที่อาจจะก่อให้เกิดโรคเรื้อรังในพระสงฆ์ได้ บุญกุศลก็จะบังเกิดแก่ญาติโยมด้วยความอิ่มเอมใจ.
เผอิญ ไทยสม - ปิยวิทย์ ชำนาญกุล