แสงธรรมนำใจ > หยาดฝนแห่งธรรม

ศาสดา โลกและชีวิตในวิถีแห่งธรรม :พระราชธรรมนิเทศ (ระแบบ ฐิตญาโณ)

<< < (2/2)

ฐิตา:



สังคมไทยเรามีการเน้นย้ำเรื่องพระพุทธคุณด้วยนัยยะเป็นอันมาก
สมัยที่ยังเยาว์ท่านกำหนดเป็นคำกลอนสอนให้นำมาสวดสาธยาย
เพื่อสริมสร้างสำนึกเห็นพระคุณของพระองค์ เช่น

• องค์ใดพระสัมพุทธ์ สุวิสุทธิสันดาน
ตัดมูลกิเลสมาร บ่ มิหม่น มิหมองมัว

• หนึ่งในพระทัยท่าน ก็เบิกบานคือดอกบัว
ราคี บ่ พันพัว    สุวคนธกำจร

• องค์ใดประกอบด้วย   พระกรุณาดังสาคร
โปรดหมู่ประชากร มละโอฆกันดาร

• ชี้ทางบรรเทาทุกข์   และชี้สุขเกษมสานติ์
ชี้ทางพระนฤพาน อันพ้นโศกวิโยคภัย

• พร้อมเบญจพิธจัก   เจิดจรัสวิมลใส
เห็นเหตุที่ใกล้ไกล ก็เจนจบประจักษ์จริง

• กำจัดน้ำใจหยาบ สันดานบาปทั้งชายหญิง
สัตว์โลกได้พึ่งพิง    มละบาปบำเพ็ญบุญ

• ข้าขอประณตน้อม ศิรเกล้าบังคมคุณ
สัมพุทธการุณ    ยะภาพนั้นนิรันดร

ในบททำวัตรเช้าสำหรับพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย
ท่านก็สรุปพระพุทธคณที่พรรณนาไว้ ๓ ประการไว้ว่า

พระพุทธเจ้าพระองค์ใดเป็นผู้หมดจดดีแล้ว
มีพระกรุณาดุจห้วงมหรรณพ
มีพระปัญญาหมดจดโดยส่วนเดียว
ทรงฆ่าบาปและอุปกิเลสแห่งโลก
ข้าพระพุทธเจ้าขอไหว้พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น เป็นต้น

แม้พระพุทธเจ้าจะทรงสมบูรณ์ด้วยพระคุณมากอย่างไรก็ตาม
แต่พระคุณนั้นเป็นสิ่งสัมผัสส่วนพระองค์
แม้จะทรงกรุณาต่อสรรพสัตว์ไม่จำกัดว่าใครเป็นใคร
แต่การที่ชาวโลกจะได้รับประโยชน์จากพระองค์
ก็ต้องอาศัยการปรับสภาพจิตของตนให้เกิดความยอมรับนับถือ
ศรัทธา เชื่อฟัง และทำตามพระองค์เป็นฐานจิตที่สำคัญ

เพราะแม้จะทรงเป็นลักษณะแห่งความดี
ที่สะท้อนออกมาได้ทุกลักษณะ

เช่น การสอนในรูปแบบต่างๆ
การเคลื่อนไหวทุกอย่าง
ที่เป็นการสะท้อนพระคุณออกมาเป็นพุทธลีลา
ที่สามารถยึดถือเป็นแบบในการดำเนินชีวิต
ของคนที่ศรัทธาได้การครองชีวิตตลอดกาลยาวนาน
..
..
ไม่ว่าจะมองจากสมัยที่ทรงบำเพ็ญบารมีในภพชาติ
จากเรื่องชาดก การครองชีวิต โลกทรรศน์

การตัดสินใจเลือกสิ่งที่ทรงสัมผัส
ขณะที่เป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ก่อนเสด็จออกผนวช
ขณะครองเพศเป็นนักบวช จนถึงการตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า
ทรงดำเนินพระองค์ พุทธจริยา ๓ ประการ ดังกล่าวเป็นต้น
ล้วนแล้วแต่แสดงให้เห็นคุณค่าของธรรมหรือพระพุทธคุณได้ตลอด

แต่พระองค์ทรงบำเพ็ญพระพุทธจริยาจากพระมหากรุณา
คล้ายฝนหลั่งจากฟ้าเป็นสำคัญ
คุณลักษณะเหล่านี้ท่านสะท้อนออกมาเป็นคำกลอนว่า

อันความกรุณาปราณี จะมีใครบังคับก็หาไม่
หลั่งมาเองเหมือนฝนอันชื่นใจ จากฟากฟ้าสุราลัยสู่แดนดิน
เป็นความดีสองชั้นพลันปลื้มใจ แด่ผู้ให้และผู้รับสมถวิล

เมื่อมองจากฝนที่กำลังตก
กับคนที่จะได้ประโยชน์จากการตกของฝน แบบถาวร ยั่งยืน
กลับไปอยู่ที่สถานะท่าทีของคนเหล่านั้นว่า
สถานะของเขาเป็นเสมือนภาชนะประเภทใดใน ๔ ประเภท คือ

•   ภาชนะที่คว่ำไว้
•   ภาชนะที่ก้นทะลุแม้จะหงายรับน้ำ
•   ภาชนะที่ไม่ทะลุจริงแต่กลับปิดฝาไว้
•   ภาชนะที่ไม่ทะลุเปิดฝารับน้ำฝนไว้เต็มที่

แม้จะมีภาชนะ ๔ ประเภทนี้ก็จริง
แต่ภาชนะที่รับน้ำเก็บไว้ได้
ได้รับประโยชน์จากน้ำนั้นตามความต้องการ
คงมีเพียงพวกเดียว คือ
ภาชนะที่ไม่ทะลุ เปิดฝารองรับน้ำไว้เท่านั้น

เรามีการพูดถึงใจคน ๒ ประเภทหลักว่า
ใจบอด หรือ ใจไม่บอด

หากใจบอดคือไม่เห็นอะไร
มีพระคุณของพระพุทธเจ้าเป็นต้น
เขาก็คงไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากพระรัตนตรัย
..
..
หมายเหตุ : บทความเรื่องนี้เขียนไว้เมื่อครั้งที่ พระธรรมเมธาภรณ์
ยังดำรงสมณศักดิ์ที่ พระราชธรรมนิเทศ (ระแบบ ฐิตญาโณ)



(ที่มา :ศาสดา ใน “โลกและชีวิตในวิถีแห่งธรรม”
:พระราชธรรมนิเทศ (ระแบบ ฐิตญาโณ)
วัดบวรนิเวศวิหาร ราชวรวิหาร รวบรวมและเรียบเรียง;

ศูนย์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย
จัดพิมพ์เพื่อแสดงมุทิตาจิตต่อพระราชธรรมนิเทศ (ระแบบ ฐิตญาโณ)
ในวโรกาสที่ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพดิลก
เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา
ครบ ๖ รอบนักษัตร ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๔๒, หน้า ๑๖-๔๔)
-http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=21921&start=15

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version