สโลว์ไลฟ์สไตล์ 'ลอร่า' . .
ชีวิต ที่ช้าลง (ความสุขที่แท้จริง)
ในแบบของ . . ลอร่า - ศศิธร วัฒนกุล ครอบครัววัฒนกุล คุณแม่ลอร่า-ศศิธร คุณพ่อ รต.สิษฐ ลูกสาวด.ญ.ศิศิรา และลูกชาย ด.ช.ศิลา
ลอร่า-ศศิธร วัฒนกุล ค้นพบแล้วว่า แนวคิดการใช้ชีวิตในรูปแบบ Slow Life "สโลว์ไลฟ์" หรือชีวิตที่ช้าลงคือ ความสุขที่แท้จริง ลอร่า-ศศิธร วัฒนกุล คุณแม่ลูกสองที่มาพร้อมกับภาพความเป็น ซูเปอร์มัม เลือกใช้ชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะถูกเลี้ยงดูโดยคุณปู่คุณย่า ซึ่งเกิดในยุครัชกาลที่ 5 จึงเป็นต้นแบบการใช้ชีวิตสโลว์ไลฟ์ขนานแท้ เมื่อเติบโตมากับวิถีการใช้ชีวิตที่เรียบง่ายจึงคุ้นเคยกับชีวิตแบบดั้งเดิม สังเกตจากอุปกรณ์ในห้องครัวยังเป็นแมนนวลเกือบทั้งหมดตั้งแต่เตาอั้งโล่ ซึ้งนึ่งข้าวจนถึงครก
ชีวิตสโลว์ไลฟ์ของลอร่าเริ่มอย่างจริงจังในวัยสาว 20 โดยหวังผลลัพธ์ในมุมของการดูแลสุขภาพและความงาม เพราะปัญหาใหญ่คือ สิว จึงสนใจการรักษาแนวธรรมชาติบำบัด จากนั้นก็เริ่มหาข้อมูลเปรียบเทียบรวมทั้งปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งก็คือนายแพทย์บรรจบ ชุณหสวัสดิกุลและแพทย์หญิงลลิตา ธีระสิริ
จากนั้นก็ใช้ชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์มาตลอด แต่จุดเปลี่ยนที่ทำให้ได้มาใช้ชีวิตแบบช้าๆ เต็มที่ เมื่อแต่งงานและมีลูกคนที่สอง น้องมาร์โก้-ศิลา จึงแยกครอบครัวออกมาอยู่ตามลำพัง พ่อ แม่ ลูก ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติของพื้นที่โซนลาดกระบัง ซึ่งเอื้อให้กับการใช้ชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์มากขึ้น
ในมุมมองของลอร่า “สโลว์ไลฟ์ ” เป็นแนวคิดที่ใช้วางเป้าหมายชีวิตในระยะยาวของเธอ เช่น อยากเห็นงานศพของตัวเองเป็นอย่างไร เป็นงานเล็กที่ไม่มีใครอยากมา หรือเป็นงานศพที่ผู้มาร่วมงานเปี่ยมด้วยความรู้สึกที่ดี ซึ่งเป็นเรื่องระยะยาวที่หลายคนอาจไม่เคยคิด หรือแนวทางการใช้ชีวิตในโลกใบนี้จะเป็นแบบไหน รีบเร่งที่จะประสบความสำเร็จด้วยการข้ามหัวคนอื่นไปเพื่อให้ไปถึงเป้าหมาย หรือว่าจะใช้ชีวิตแบบค่อยเป็นค่อยไป วิ่งอยู่ในลู่ส่งไม้ผลัดให้ลูกรับไม้ต่อจากแม่ ซึ่งเธอได้ตัดสินใจเลือกใช้ชีวิตแบบค่อยเป็นค่อยไปตามเป้าหมาย
ลูกสาวที่รับไม้แนวคิดต่อจากคุณแม่ก็คือ โมนิก้า-ศิศิรา สาวน้อยวัย 11 ปี เล่าว่า จากประสบการณ์ที่ต้องใช้ชีวิตสองบ้านคือ บ้านที่ลาดกระบังกับบ้านที่สุขุมวิท ทำให้สัมผัสถึงความแตกต่างระหว่างการใช้ชีวิตที่เร่งรีบกับการใช้ชีวิตเรียบง่ายท่ามกลางการสัมผัสธรรมชาติ โดยเห็นข้อเปรียบเทียบชัดเจน
ยกตัวอย่าง ถ้าอยู่ที่บ้านลาดกระบังจะได้รับประทานอาหารพร้อมกัน แต่ที่บ้านสุขุมวิทต่างคนต่างรับประทาน เธอต้องซื้อข้าวเหนียวหมูปิ้งมารับประทานเพราะสะดวก ซึ่งต่างจากเมนูอาหารที่บ้านลาดกระบัง เน้นผักหรือข้าวผัดที่ปรุงรับประทานพร้อมกัน
โมนิก้าบอกว่า "ชอบที่ได้รับประทานอาหารพร้อมหน้ากันมากกว่า"
โมนิก้าผ่านการเลี้ยงดูให้ใกล้ชิดธรรมชาติ ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติของลอร่า เริ่มตั้งแต่การคลอดธรรมชาติ ให้นมถึงสองปี ฝึกให้ลูกอยู่กับของเล่นที่เสริมจินตนาการ เช่น กระดาษเปล่า บล็อกตัวต่อ ผ้า สี ที่ไม่ใช่ของเล่นสำเร็จรูป แต่ก็อาจจะมีบ้างที่ลูกดูการ์ตูนทีวี อ่านการ์ตูนญี่ปุ่น เพราะอยู่กันแบบครอบครัวใหญ่ ต้องยืดหยุ่น แต่สิ่งหนึ่งที่โมนิก้าซึมซับมาจากคุณแม่ก็คือ รักการอ่านการเขียนที่ใช้จินตนาการ
ทว่าสิ่งที่แปลกของครอบครัวนี้ก็คือ การใช้ชีวิตที่แตกต่างของลอร่ากับสามี (ร้อยตรีซูโม่-สิษฐ วัฒนกุล) เธอเน้นเมนูผัก สามีเน้นเมนูเนื้อ เธอโลว์เทคโนโลยีแต่สามีจะเกาะติดทุกเทรนด์เทคโนโลยี สวนทางกันอย่างชัดเจนแต่เธอมองว่า เป็นสิ่งดีที่ลูกจะเห็นและตัดสินใจเลือกใช้ชีวิตตามสไตล์ที่ตนเองชอบในอนาคต ว่าอยากมีชีวิตแบบไหน
"จากประสบการณ์ตรงพบว่า การเลี้ยงลูกเป็นงานที่ต้องทำเป็นทีมเวิร์ค ถึงจะตัดสินใจแบบนี้แต่ยังมีสามี มีคุณพ่อ ซึ่งทุกคนก็มีสิทธิในตัวหลานเท่ากัน จึงต้องเผื่อใจว่า สิ่งที่อยากให้ลูกเป็นอาจไม่เป็นอย่างที่คิด เพราะที่บ้านเลี้ยงลูกเป็นทีม และลูกก็มีสิทธิเลือก"
เธอทำได้แค่พยายามโน้มน้าวใจให้คนรอบข้างตัดสินใจเลือกในแบบที่เธออยากให้เป็นเท่านั้น...เคล็ดลับของเธอ
การสอนให้ลูกรู้จักตัดสินใจ ถือเป็นการมองไกลอีกอย่างหนึ่งในการฝึกให้เด็กรู้จักตัดสินใจด้วยตนเอง เพราะชีวิตไม่มีอะไรผิดไม่มีอะไรถูก ถ้าตัดสินใจผิดก็ตัดสินใจใหม่ได้ เธอมักสอนลูกๆ เสมอว่า ถ้าตัดสินใจผิดให้เตรียมไม้กวาดกับที่โกยผงไว้ ทั้งนั้นต้องการสะท้อนให้เห็นว่า ในแต่ละวันเราทุกคนมีสิทธิทำเลอะเทอะได้ อย่าจมอยู่กับกองขยะเหล่านั้น ให้กวาดมันออกไปทิ้ง หรือผูกลูกโป่งให้ลอยหายไป
ขณะเดียวกันเธอก็ให้ความสำคัญกับการปฏิบัติให้ดูเป็นตัวอย่าง เพราะเด็กๆ เรียนรู้ลักษณะนิสัยที่ดีจากการซึมซับสิ่งที่พวกเขาได้เห็นอยู่เป็นประจำ พวกเขาเรียนรู้จากการสังเกตและทำตามผู้ใหญ่ หากต้องการให้มีพฤติกรรมที่ดี ต้อง “ทำให้เห็น เป็นให้ดู” เช่น ความกตัญญู การดูแลพ่อแม่ การให้เกียรติพ่อแม่
ดังนั้น แม้ว่าเธอจะแยกครอบครัวออกมาแล้ว แต่ก็ยังกลับไปเยี่ยมคุณตาของเด็กๆ เป็นประจำทุกสัปดาห์ สิ่งที่ได้ก็คือ โมนิก้ามีโอกาสใกล้ชิดคุณตาถึงขั้นหันมาสนใจเพลงสุนทราภรณ์
วิถีสโลว์ไลฟ์ยังสอนให้ลอร่ารู้จักที่จะมองเป้าหมายยาวและคิดในเชิงบวก เช่น ลูกทำพฤติกรรมแบบนี้อาจไม่ได้มีความหมายแบบที่เขาบอกหรือที่เธอคิดก็ได้ หากไม่ถามก็จะไม่เข้าใจความคิดของเขา เพราะเด็กๆ มักจะมีเรื่องให้คุณได้ประหลาดใจบ่อยๆ
วิธีที่ดีก็คือ ต้องมองไปไกลๆ พยายามทำความเข้าใจกับพฤติกรรมที่เขาแสดงออกว่า ต้องการสื่ออะไร มีอะไรแอบแฝงหรือไม่ บางครั้งพฤติกรรมบางอย่างทำเพื่อแสดงให้เห็นว่า เขาต้องการความรักความเข้าใจ เช่น ถ้าคุณอยากให้ลูกตื่นเช้าไปโรงเรียน ไม่ได้มองแค่ว่า ต้องตื่นเช้าเพื่อให้ไปโรงเรียนให้ทัน แต่ต้องมองว่าการที่ลูกตื่นเช้าเป็นการฝึกวินัยให้รู้จักเรียงลำดับความสำคัญ หรือการเข้านอนเร็วจะทำให้ร่างกายยืดสูงและมีสมาธิดี
คุณแม่บ้านสมองไว ยอมรับว่า การใช้แนวคิดสโลว์ไลฟ์กับเด็กต้องใจเย็นแต่บางครั้งก็ต้องเอาจริง ขณะเดียวกันให้อิสระทางความคิดกับลูก ภายใต้กรอบกฎเกณฑ์กติกาที่ชัดเจนผ่านการตกลงร่วมกัน
การสร้างกฎกติการ่วมกันเพื่อฝึกให้มีความรับผิดชอบ ถือเป็นสิ่งจำเป็นของครอบครัวในยุคสังคมออนไลน์ ก่อนที่จะให้ใช้ไอแพดไอโฟนก็ต้องมีกติกา เพราะที่บ้านลาดกระบังไม่มีโทรทัศน์ ไม่มีไมโครเวฟ ไม่มีจานดาวเทียม มีแต่อินเทอร์เน็ตซึ่งเธอมองว่า เพียงพอแล้วสำหรับการรับรู้ข้อมูลข่าวสารผ่านไอแพคที่มีแค่เครื่องเดียว
ไอแพด 1 เครื่องสำหรับสมาชิกครอบครัว 4 คน ลอร่าต้องการให้ลูกๆ เรียนรู้ที่จะใช้อย่างพอดี ไม่มากจนเกินไป รู้จักการแบ่งปัน หรือแม้แต่โมนิก้าเองปัจจุบันยังไม่มีโทรศัพท์ใช้ แม้ว่าเพื่อนในชั้นจะมีกันทุกคน ช่วงแรกโมนิก้าไม่เข้าใจ แต่ต่อมาเริ่มเข้าใจว่า ทำไมแม่ถึงไม่ให้โทรศัพท์ เพราะมันยังไม่มีความจำเป็นขนาดนั้น
ภาพของลอร่าในสายตาของหลายคนมักนึกถึงความเป็นซูเปอร์มัม แต่สำหรับเธอ กลับมองตนเองเป็น Mom@Work คือผู้หญิงที่สวมหมวกหลายใบทั้งภรรยา แม่ แม่บ้าน ผู้หญิงทำงาน ฉะนั้น การรู้จักแบ่งเวลาเป็นหัวใจสำคัญ เคล็ดลับก็คือการทำตารางชีวิตของเธอและสามี ให้มีเวลาอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากับลูกๆ
.
.
.
. . ขอขอบพระคุณที่มาของเรื่องราวดีๆจาก : กรุงเทพธุรกิจ bangkokbiznews.com ประจำวันที่ 13 กรกฎาคม 2557 คอมลัมน์ Life Style : สุขภาพ โดย : บุษกร ภู่แส , คุณลอร่า (ศศิธร วัฒนกุล) และ ครอบครัว มากมายด้วยค่ะ ^^