ภาพยนตร์การ์ตูนเรื่อง My Neighbors The Yamadas
เสียงหัวเราะครื้นเครง
ทำลายความเงียบ
ยามค่ำฤดูใบไม้ร่วง
บาโช (๑๖๔๔-๑๖๘๔)
ผู้เขียนรู้จักบทกวีไฮกุครั้งแรกจากหนังสือชื่อ “กบกินนอน”ของพระอาจารย์ไพศาล วิสาโล ท่านบอกว่ามันเป็นกวีไฮกุที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น ทั้งที่มันมีความยาวเพียง ๓ บรรทัด และประกอบด้วยตัวอักษร ๑๗ ตัวเท่านั้นเอง บทกวีนั้นถอดความเป็นภาษาไทยได้ว่า
“บึงโบราณ กบโจนลงไป เสียงน้ำกังวาน”สั้นๆเช่นนี้มันยิ่งใหญ่ได้อย่างไรกัน แถมยังเป็นที่กล่าวขวัญชื่นชมต่อเนื่องกันอย่างยาวนานมาหลายศตวรรษแล้ว คงเป็นเพราะว่ามันเป็นบทกวีบรรยายธรรมชาติแวดล้อมภายนอกอย่างสามัญนี่เอง ทว่าในขณะเดียวกันก็แสดงสภาวะจิตใจของบาโชไปพร้อมๆกันด้วย
บทกวีนี้สะท้อนให้เห็นอากัปกริยาของจิตที่มีต่อเรื่องเก่าเก็บในใจ เมื่อกระทบถูกเท่านั้น จึงกระเพื่อมส่งเสียงสะท้อนออกมาและคงเป็นครั้งแรกที่ผู้เขียนได้เห็นบทกวีของบาโช ในภาพยนตร์การ์ตูนแอนนิเมชั่นของค่ายจิบบลิ ที่ทำให้เราถึงกับ ณ จังงังในทันที อันที่จริงก็ไม่มีความจำเป็นจะต้องอธิบายกวีไฮกุบทในย่อหน้าแรกเลย เพราะมันหมายความและรู้สึกซื่อๆตรงๆอย่างที่กล่าวเอาไว้อยู่แล้ว สอดรับพอดีกับเนื้อหาตอนนั้นของการ์ตูน แล้วเธอจะรู้สึกได้เอง เมื่อมันเข้าไปสะเทือนถึงใจ
My Neighbors The Yamadas หรือ “ครอบครัวยามาดะเพื่อนบ้านฉัน” อิซาโอะ ทาคาฮาตะ หนึ่งในสองผู้ก่อตั้งสำคัญของค่ายสตูดิโอจิบบลิ นำเสนอชีวิตครอบครัวชนชั้นกลางในสังคมเมืองของญี่ปุ่น แบบว่า…มันช่างคล้ายคลึงกับชีวิตคนไทยในป่าคอนกรีตซะเหลือเกิน อีกทั้งคงมิต้องไปกล่าวถึงความร่วมสมัยกับชีวิตชนชั้นกลางในเมืองที่อื่นๆบนโลกภายใต้ระบบทุนนิยมกระแสหลักทุกวันนี้ ซึ่งมันน่าจะไม่ผิดแผกแตกต่างกันสักเท่าไหร่
การ์ตูนเรื่องนี้เริ่มเรื่องด้วยลายเส้นง่ายๆจากภูเขา พระอาทิตย์แล้วค่อยๆต่อเติมแปรเปลี่ยน จนกลายเป็นคุณยายของหลานๆ(สมาชิกอายุมากที่สุดในบ้านยามาดะ) มันเป็นการ์ตูนลายเส้นธรรมดาเนื้อหาใกล้ตัวที่สุดเท่าที่ค่ายจิบบลิเคยทำมา ดูเรียบง่ายให้สีอ่อนจาง ดูแล้วรู้สึกผ่อนคลายเบาสมอง ทั้งๆที่เนื้อหาสาระในเรื่อง อุดมไปด้วยการแทรกเสริมปรัชญาการดำเนินชีวิตของครอบครัวในเมืองใหญ่ ครอบครัวยามาดะตัวแทนชนชั้นกลางที่ดูสมบูรณ์พูนสุขดีๆ มีพ่อเป็นพนักงานบริษัท มีแม่เป็นแม่บ้านวัยกลางคน มีคุณยายอยู่ร่วมกันในบ้านเป็นปูชนียบุคคลบอกนั่นสอนนี่ บอกอะไรแต่ละทีก็แทบจะไม่ได้เป็นเรื่องสลักสำคัญอะไรนัก ทว่าน่าขบขันมิใช่น้อย และมีลูกหลานชายคนหญิงคนอยู่ในวัยเรียนที่แม้ตัวเขา(คนพี่)ซึ่งเป็นผู้เรียนเองยังไม่รู้เลยว่า จะเรียนหนังสือไปทำไมกัน(เหมือนใครเนี่ย?) พ่อว่ามันมีประโยชน์ก็เรียนๆไปเถอะนะ อุปนิสัยช่างคิดของเด็กทั้งสองสะท้อนมุมมองของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันนี้ได้อย่างน่าสนใจจริงๆนะ
ขิงทำพิษ คิดๆเท่าไร คิดไม่ออกซักกะที
โนโบรุซึ่งเป็นพี่ชายคิดว่าถ้ามีพ่อแม่ที่หล่อสวยและรวย ตัวเขาก็น่าจะเกิดมาหล่อและรวยเช่นกัน เราสามารถที่จะพบปรัชญาชีวิตและความเข้าใจแปลกๆ ตลอดจนมีความรู้สึกแบบนี้ได้ไม่ยากเลยถ้าชอบอ่านหนังสือการ์ตูน ส่วนโนโนโกะฝ่ายน้องสาวเมื่อถูกครอบครัวลืมทิ้งไว้ในห้างสรรพสินค้า กลับคิดเห็นว่าพ่อ แม่ ยายและพี่ชายเป็นฝ่ายหลงทางซะหยั่งงั้น นั่นเป็นความเห็นที่เยี่ยมยอดจริงๆน่าจะเอาไว้ปลอบเด็กหลงทางดีไหม? จะมีครอบครัวขี้หลงขี้ลืมสักกี่มากน้อยกันหนอ เพื่อนๆหลายคนคงอยากมีครอบครัวแบบนี้บ้าง ใช่รึเปล่า หากจะบอกว่าไม่ต้องไปดูที่ไหนไกลหรอก เท่าที่เห็นข้างๆตัวนี่ล่ะ มันใช่เลย ครอบครัวแบบยามาดะ! ครอบครัวยามาดะนี่เป็นแบบหนึ่งเท่านั้นของสายใยสัมพันธ์กันทางสายสะดือและเส้นสายดีเอ็นเอเดียวกัน
ถ้าว่ากันตามความเป็นจริงในยุคนี้ครอบครัวมีความหมายกว้างมากขึ้นกว่าแต่ก่อน หากเราจะจำกัดเพียงพ่อแม่ลูกหลานคือครอบครัว ดูจะไม่สมสมัยไปแล้ว ดังนั้นเราน่าจะมองความเป็นครอบครัวในแง่ของสายสัมพันธ์ที่มาผูกโยงกันจะดีกว่าไหม? อาจมีบางครอบครัวที่ไม่มีเส้นสายดีเอ็นเอเหมือนๆกันเลย อย่างเช่น สามีกับภรรยาที่รับเด็กกำพร้ามาเป็นบุตรบุญธรรม เป็นต้น ความเป็นสายสะดือเดียวกันจึงมิได้เป็นตัวบ่งชี้บอกความเป็นครอบครัวเสมอไป สายใยแห่งความผูกพันความห่วงหาอาทรซึ่งกันและกัน นั่นต่างหากที่น่าจะให้ความหมายของคำว่าครอบครัวได้ตรงที่สุดในปัจจุบันนี้
เราอยู่ในประเทศที่ผู้คนยังคงแออัดร่วมทุกข์กันอย่างเสมอๆบนรถเมล์สายประจำทาง เราอาจจะกลายเป็นครอบครัวเดียวกันกับใครบางคนก็ได้ เพราะคนที่เราเจอกันบ่อยๆอาจจะกลายเป็นเพื่อนร่วมชะตากรรม(ถ้าครอบครัวหมายถึงสิ่งมีชีวิตร่วมชะตากรรม ร่วมสิ่งแวดล้อม หรือร่วมบ้านเดียวกัน) หากรถเมล์คันนั้นวิ่งเร็วซะจนกลายเป็นเรือเหาะ เขย่าผู้โดยสารให้คละเคล้ากันแบบที่เขาบอกให้เขย่าขวดก่อนกินยานั่นแหละ บางทีเราบนรถเมล์คงจะรู้ซึ้งถึงคำว่าน้ำหนึ่งใจเดียวกันในเวลานั้น เป็นครอบครัวรถเมล์คันเดียวกัน
ในการ์ตูนคู่สามีภรรยาชาวญี่ปุ่น ทาคาชิกับมัสสึโกะใช้ชีวิตร่วมกันอย่างเข้าอกเข้าใจดีแท้ๆเลยเชียว การอยู่ด้วยกันมาตลอด ๒๐ปีคงทำให้เห็นใจกันอย่างทะลุปรุโปร่งถึงเข้าใจปรัชญาชีวิตครอบครัวที่ว่า “เกี่ยงกันทำ บ้านนี้จึงครึกครื้น หลงลืมกันนั่นคือโกลาหล ไม่ตามใจกัน ถ้างั้นก็ตามใจตัวเองดีกว่า” แต่เอาเข้าจริงๆแล้วแต่ละคนก็ยังคงรับผิดชอบและปฏิบัติต่อครอบครัวในแบบผิดคาดอยู่บ่อยๆหรืออาจจะกลิ้งหลุนๆลุ่มๆดอนๆล้มลุกคลุกคลานซะจนทำให้เรารู้สึกขบขันกับชีวิตครอบครัวชนชั้นกลางสมัยนี้ แต่กระนั้นก็ยังมีความซาบซึ้งอบอุ่นใจให้เรารู้สึกราวกับกำลังเดินกางร่มพร้อมหน้าพร้อมตาท่ามกลางสายฝนในฤดูใบไม้ผลิ อย่างกับบทกวีไฮกุข้างล่างนี่
ฝนฤดูใบไม้ผลิ
เดินไปคุยกันไป
เสื้อฝนและกางร่ม
บุซอน(๑๗๑๖-๑๗๘๔)
เดินกลับบ้านอบอุ่นใจ
ของหยั่งงี้มันต้องรู้และเข้าใจขึ้นมาด้วยตัวเอง เรื่องครอบครัวน่ะ จำเป็นต้องเรียนรู้อยู่เสมอๆ เข้าใจไหม? มัสสึโกะทาคาชิ เข้าใจครับ เข้าใจค่ะ เพื่อที่เราจะอยู่กับความเจ็บปวด อยู่กับความไม่เป็นไปตามใจและความเอาแน่เอานอนอะไรมิได้เลย ยังไงล่ะ หลังจากที่เราได้พบเห็นอาการต่างๆเหล่านี้ และรู้จักมักจี่พวกมันอย่างสม่ำเสมอ เราจึงค่อยๆกลับมารู้ตัวได้เร็วต่อสภาวะอาการต่างๆที่เกิดขึ้นในปัจจุบันจริงๆ เพราะว่ามันดันจำอาการประหลาดๆเหล่านั้นขึ้นมาได้เอง
ในเวลานั้นบางคนก็สามารถที่จะมีอารมณ์ขัน ไหวพริบปฏิภาณแม้กระทั่งอยู่ในสถานการณ์อันคับขันร่อแร่ อารมณ์อันเป็นธรรมฝ่ายอกุศลต่างๆ อาทิเช่น ความหงุดหงิดรำคาญใจ แง่งอน หรืออารมณ์ประเภทอยากจะตะลุมบอนพวกพูดภาษามนุษย์ต่างดาว ก็จะถูกขจัดออกไป ทว่าแม้จะมีปฏิภาณเกิดขึ้นอย่างฉับไวแล้ว แต่อะไรๆมันก็ไม่ได้ดีขึ้นมาเท่าไหร่นักหรอกนะ เพราะคงต้องไม่ลืมว่า มันเป็นสิ่งธรรมดาของคนเราเอง ที่จะพูดจาไม่รู้เรื่อง หรือไม่ก็ฟังจนเป็นเรื่องขึ้นมา ทั้งๆที่คุยกันด้วยภาษาดอกไม้และตั้งใจฟังแล้วก็ตาม มันยังคงไม่เข้าใจกันอยู่ดี
โดยแท้จริงแล้ว ความเข้าใจกันหาได้เกิดขึ้น เพียงแค่พูดจาต๊าอ่วย ล้างหูรอรับฟังกันก็หาไม่ แต่มันเกิดขึ้นไปพร้อมๆกันกับท่าทีที่เราปฏิบัติต่อกันต่างหากเล่า ต่อให้พูดก็แล้ว ฟังก็แล้ว(มันคงไม่แล้วใจได้จริงๆ) หากท่าทีมันไม่ได้ให้ใจเต็มๆเอาไว้ฟังกันหรือปฏิบัติต่อเขาหรือเธออย่างเสมอกัน นั่นล่ะคงยากที่จะก่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดี หรือทำให้รู้สึกอบอุ่นสบายอกสบายใจขึ้นมาได้ หากคนไหนสูญเสียความสามารถที่จะอยู่อย่างกลมเกลียวเสมอภาค อีกทั้งยังปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์อย่างปราศจากความใส่ใจแล้วล่ะก็ ในขณะที่ดูหนังการ์ตูนเรื่องนี้ ก็ขอให้ลองฝึกฝนเลียนแบบพฤติกรรมน่ารักๆจากครอบครัวยามาดะในการ์ตูนไปพร้อมๆกันได้เลย ฟรีๆ รับรองไม่คิดตังค์เพิ่มสักแดงเดียว
ความสามารถที่จะเห็นอกเห็นใจกันที่เราหลายคนเมินเฉยและไม่คิดจะนำมาใช้ก็คงจะดีขึ้นบ้าง กับบุคคลที่เราไม่รู้จักมักจี่ หรือเราอาจนำมาปฏิบัติต่อคนที่เรารู้สึกไม่ไว้วางใจด้วยความใส่ใจที่มากพอ ถ้าความเป็นตัวเป็นตนของเรามันเป็นเช่นนั้นอยู่แล้ว มันก็น่าจะเริ่มต้นไว้วางใจกันก่อน แม้ว่าจะไม่อยากไว้วางใจกันก็ตามที(ก็รู้ๆกันอยู่ใช่ไหมว่า มันเป็นยังไง) เรื่องยากๆอย่างนี้ คงจะไม่ยากหากอยู่ในที่ๆความเป็นตัวเราไม่มี หรือว่าอยู่ในสถานการณ์ที่เรากลายเป็นบุคคลน่าสงสัยซะเอง จริงไหม?
อยากมีเรือซักลำ จะรอดไหมนั่น
งั้นเราลองมาเริ่มเน้นไปที่การยอมรับ(Acceptance) ที่หมายความถึง
“การยินยอมรับได้ตามความเป็นจริง หรือการรับไว้ด้วยความยินดี” กันก่อนน่าจะดีกว่า คำๆนี้มีความหมายใกล้เคียงกับ
ความไว้วางใจ(Trust) ความอดทน(Tolerance) และการเห็นพ้อง(Approval) คำเหล่านี้ คือปรากฏการณ์ภายในที่จะเกิดขึ้น ขณะเรากำลังผ่านกระบวนการต่างๆ เมื่อจิตใจถูกกระทบโดยตรง ได้แก่ อาการทนรับไม่ได้ การปฏิเสธความจริงที่อยู่ตรงหน้า สภาวะจิตใจฟุ้งซ่านสับสนต่อสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น เกิดขึ้นไปแล้ว หรือคาดคะเนว่าจะต้องเกิดขึ้นในไม่ช้า ไปจนกระทั่งเราได้เรียนรู้ที่จะปรับตัวให้เป็นไปในทางบวก ถึงที่สุดแล้วเราทุกคนจำต้องก้าวพ้นความรู้สึกอันเป็นฝ่ายลบไปให้ได้ เพื่อให้ชีวิตดำเนินต่อไปให้ได้ใกล้เคียงกับความเป็นปกติมากที่สุด เมื่อถึงเวลานั้นเราจะเข้าใจและยอมรับได้เอง เพราะรู้ว่าพฤติกรรมภายในตัวเราเองกำลังเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นหรือจะเรียกว่า
เราสามารถที่จะพึงพอใจ สุขใจและอบอุ่นใจได้ง่ายขึ้นนั่นเองอย่างที่เขียนไว้ตั้งแต่ตอนต้น บทกวีไฮกุที่ยิ่งใหญ่ของบาโซ มาจากการประจักษ์ต่อความเป็นจริงภายในใจพร้อมๆกันกับความรู้สึกเข้าใจต่อวิถีชีวิตและจิตใจที่เป็นอยู่ตามธรรมชาติธรรมดาๆ ส่วนสำคัญก็คือการเห็นตามที่เป็นอยู่กับการรู้สึกอยู่ที่ใจตนเอง ขณะกำลังดำเนินชีวิตประจำวัน เมื่อเราสามารถฉวยโอกาสที่จะเรียนรู้ชีวิตตามที่เป็นจริงๆในชั่วขณะเวลานั้นๆได้ มันก็เลยทำให้เราขำตัวเราเองได้เมื่อเผชิญเหตุการณ์ ผ่านพ้นหรือนึกถึงสิ่งที่แล้วเลยมา สามารถมีอารมณ์ขันได้ทันใด ต่อเหตุการณ์ต่างๆที่ชอบใจบ้างไม่ชอบใจบ้าง ถ้าขบขันไปกับการ์ตูนครอบครัวยามาดะได้ เราก็น่าจะตลกฮากลิ้งกับครอบครัวประหลาดๆของเราได้เช่นกัน อ้าว!…ก็ทุกข์เกิดเมื่อไหร่ให้รู้ไม่ใช่รึ รู้ทันมันให้ได้บ่อยๆ ขำขันหรรษามันก็ง่ายดายตามมาเองนั่นแหละ
ครอบครัวฉันเอง
จิตใจสามัญ
อบอุ่นประหลาดแท้
(๒๕๕๐)
เขียนโดย ญาเฮ ดา(Iechyd Da)
สารโกมล เดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐ ปีที่ ๒๕
ภาพบนสุดมาจาก
http://www.madman.com.au/catalogue/view/3377/my-neighbors-the-yamadasภาพที่สามและห้ามาจาก
http://www.dvdactive.com/reviews/dvd/my-neighbours-the-yamadas.htmlภาพเคลื่อนไหว
http://rebloggy.com/post/gif-studio-ghibli-isao-takahata-my-neighbors-the-yamadas-yamadas/31953089056จาก
http://indydphaonen.wordpress.com/2014/01/16/neighborsyamadas/