วิถีธรรม > ไหว้พระหน้าคอม
บทสวดมนต์ รวบรวมโดย sithiphong
sithiphong:
ระเบียบปฏิบัติของชาวพุทธ เรื่องการประกอบพิธีศพ
พระธรรมวโรดม ( บุญมา คุณสมปนโน ปธ. ๙ ) ผู้เขียน
วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม กรุงเทพฯ
( จากหนังสือพุทธคุณ ฉบับที่ ๕๕ วันที่ ๑๐ มิถุนายน - ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๔๓ )
ระเบียบปฏิบัติการจัดพิธีศพ
วิธีปฏิบัติเบื้องต้นเกี่ยวกับศพ
คนตายโรคธรรมดา ผู้เกี่ยวกับศพนิยมใช้ผ้าคลุมศพตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า ถ้าศพอยู่ภายในห้องก็ปิดประตูเสีย ถ้าศพอยู่ห้องโถงนิยมกางมุ้งครอบไว้
คนตายด้วยโรคติดต่ออันตราย หรือตายด้วยอุบัติเหตุ หรือถูกฆาตกรรมนิยมไม่แตะต้อง หรือเคลื่อนย้ายศพ เพื่อเปิดโอกาสให้แพทย์หรือตำรวจได้ทำการตรวจโรค หรือชันสูตรศพก่อน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ด้วยกันทุกฝ่าย
วิธีปฏิบัติการแจ้งขอมรณบัตร
ตามพระราชบัญญัติทะเบียนราษฎร์ พ.ศ. ๒๔๙๙ มาตรา ๑๔ เมื่อมีคนตาย ให้แจ้งดังต่อไปนี้
ก. คนตายในบ้าน ให้เจ้าบ้านแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ที่มีคนตายภายใน ๒๔ ชั่วโมงนับแต่เวลาตาย ในกรณีที่ไม่มีเจ้าบ้าน ให้ผู้พบศพแจ้งความในวรรคก่อน นับแต่เวลาพบศพ
ข. คนตายนอกบ้าน ให้บุคคลที่ไปกับผู้ตาย หรือผู้พบศพแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ที่ตาย หรือพบศพ แล้วแต่กรณี หรือแห่งท้องที่ที่จะเพิ่งแจ้งได้ในโอกาสแรกภายใน ๒๔ ชั่วโมงนับแต่เวลาตาย หรือพบศพ ในกรณีเช่นนี้ จะแจ้งต่อเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจที่สะดวกกว่าก็ได้ ฯลฯ
ตามพระราชบัญญัตินี้ นิยมปฏิบัติดังนี้
๑. เมื่อมีคนตายในบ้าน เจ้าของบ้านหรือผู้แทนเจ้าของบ้านต้องไปแจ้งการตาย ขอมรณบัตรต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้ง คือในเขตเทศบาลแจ้งต่อนายทะเบียนท้องถิ่น นอกเขตเทศบาลแจ้งต่อนายทะเบียนตำบล คือกำนัน และต้องแจ้งภายใน ๒๔ ชั่วโมงนับแต่เวลาตาย
๒. คนตายนอกบ้าน บุคคลที่ไปกับผู้ตาย หรือผู้พบศพต้องแจ้งต่อนายทะเบียนท้องที่ที่ตาย หรือจะแจ้งแก่พนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจท้องที่นั้นก็ได้ และต้องแจ้งภายใน ๒๔ ชั่วโมงหรือนับแต่เวลาตายหรือเวลาพบศพเป็นต้นไป
การขอพระราชทานน้ำอาบศพและเครื่องประกอบเกียรติยศ
ผู้ถึงแก่กรรมมีสิทธิขอรับพระราชทานน้ำอาบศพ เครื่องประกอบเกียรติศพ และขอพระราชทานเพลิงศพ ดังต่อไปนี้
๑. พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ตั้งแต่พระครูฐานานุกรมขึ้นไป
๒. พระบรมวงศานุวงศ์ ตั้งแต่หม่อมเจ้าขึ้นไป
๓. ผู้ที่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์รองเสวกตรี หรือรองอำมาตย์ตรีขึ้นไป
๔. ข้าราชการพลเรือนชั้นตรีขึ้นไป
๕. ข้าราชการฝ่ายพลทหาร และตำรวจ ยศชั้นร้อยตรี เรือตรี ร้อยตำรวจตรีขึ้นไป
๖. สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนที่ได้รับพระราชทานยศ ตั้งแต่ชั้นนายหมวดขึ้นไป
๗. ผู้ที่ได้รับพระราชทานราชอิสริยาภรณ์ ตั้งแต่ชั้นเบญมาภรณ์มงกุฏไทย หรือ ตติยจุลจอมเกล้า หรือ จตุตถจุลจอมเกล้าขึ้นไป
๘. ผู้ได้รับพระราชทานราชอิสริยาภรณ์เหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลปัจจุบัน
๙. พนักงานเทศบาลตรีขึ้นไป
๑๐. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาเทศบาล ที่ถึงแก่กรรมในขณะดำรงตำแหน่ง
๑๑. รัฐมนตรี ที่ถึงแก่กรรมในขณะดำรงตำแหน่ง
๑๒. ผู้ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ เป็นกรณีพิเศษ
๑๒.๑ ผู้ที่เคยเป็นสมาชิกผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาจังหวัด สมาชิกสภาเทศบาล หรือ รัฐมนตรีถึงแก่กรรมเมื่อพ้นตำแหน่งแล้ว หากได้รับพระราชทานราชอิสริยาภรณ์ดังกล่าวแล้ว ก็มีสิทธิ์ขอพระราชทานน้ำอาบศพ เครื่องประกอบเกียรติศพ และขอพระราชทานเพลิงศพได้
๑๒.๒ ในการที่จะขอพระราชทานนี้ มีข้อแม้ว่า ผู้ถึงแก่กรรมนั้น จะต้องถึงแก่กรรมโดยไม่ใช่อัตวินิบาตกรรม ( คือการฆ่าตัวตาย )
sithiphong:
วิธีขอพระราชทานน้ำอาบศพ และเครื่องประกอบเกียรติศพ
ผู้เกี่ยวข้องกับผู้ถึงแก่กรรมนั้น ประสงค์จะขอพระราชทานน้ำอาบศพ และเครื่องประกอบเกียรติศพ จะต้องปฏิบัติดังนี้
๑. จัดดอกไม้ธูปเทียน ( คือ ดอกไม้ 1 กระทง ธูปไม้ระกำ 1 ดอก เทียนขี้ผึ้ง 1 เล่ม ) วางบนพานพร้อมกับหนังสือกราบถวายบังคมลาตาย และใบมรณบัตร นำไปยังแผนกพระราชพิธี สำนักพระราชวัง ในพระบรมมหาราชวัง โดยนำพานเครื่องสักการะพร้อมกับหนังสือกราบถวายบังคมลาตายนี้ วางไว้ที่ข้างหน้าพระบรมฉายาทิศลักษณ์ ( คือ พระบรมรูปของในหลวงรัชกาลปัจจุบัน ) แล้วถวายความเคารพพระบรมฉายาสาทิศลักษณ์
๒. เจ้าหน้าที่แผนกพระราชพิธีจะสอบถามรายละเอียดต่างๆ แล้ว ให้กรอกข้อความลงในแบบพิมพ์เป็นอันเสร็จพิธีขอพระราชทานเพียงนี้
๓. หนังสือขอพระราชทานถวายบังคมลาตายนี้ ไม่ต้องลงนาม
sithiphong:
แบบหนังสือขอพระราชทานกราบถวายบังคมลาตาย
วันที่ ... เดือน .................... พ.ศ. ....
ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม
ดอกไม้ธูปเทียนของข้าพระพุทธเจ้า ..................................... ( ชื่อผู้ถึงแก่กรรม )
.................... เครื่องอิสริยาภรณ์ อายุ .... ปี ข้าราชการ ...........................ชั้น.............
สังกัด .......................................................................
ขอพระราชทานกราบถวายบังคมลาตาย...........................................................
ด้วยโรค.................ที่.....................................อำเภอ....................จังหวัด .....................
เมื่อวันที่ ..... เดือน .................... พ.ศ. .... เวลา .................
ควรมิควรสุดแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ขอเดชะ
sithiphong:
การกำหนดการรับพระราชทานน้ำอาบศพ
......................................................... ( ใส่นามผู้ตายพร้อมทั้งเครื่องราชอิสริยาภรณ์ )
ได้ถึงแก่กรรมด้วยโรค ................................... เมื่อวันที่..... เดือน ............... พ.ศ..... เวลา ........ น.
กำหนดการรับพระราชทานน้ำอาบศพ วันที่..... เดือน ............... พ.ศ..... เวลา ........ น. ณ ............................................................
......................................... ( เจ้าภาพ )
sithiphong:
การพิมพ์การ์ดกำหนดการรดน้ำศพ
ถ้าผู้ตายเป็นผู้ใหญ่ หรือเป็นผู้มีชื่อเสียงปรากฎในสังคม นิยมพิมพ์การ์ดและลงประกาศแจ้งความทางสื่อสารมวลชน ซึ่งมีข้อความเพียงสั้นๆ ดังนี้
หมายเหตุ คำว่า “ ได้ถึงแก่กรรม ” นั้น นิยมเปลี่ยนไปตามฐานะของผู้ตาย คือ
- ได้ถึงแก่อสัญกรรม - ได้สิ้นชีพตักษัย - ได้สิ้นพระชนม์ เป็นต้น
ระเบียบปฏิบัติการจัดสถานที่รดน้ำศพ
สถานที่สมควรจัดเป็นที่รดน้ำศพ
# การจัดสถานที่รดน้ำศพนั้น ถ้าศพนั้นเป็นศพของท่านผู้ใหญ่แห่งตระกูล และบ้านนั้นเป็นบ้านใหญ่โต มีบริเวรกว้างขวางเพียงพอแก่การตั้งศพบำเพ็ญกุศลได้ ก็นิยมจัดสถานที่รดน้ำศพและตั้งศพที่บ้านเพื่อเป็นการให้เกียรติแก่ท่านผู้ล่วงลับไปแล้ว ทั้งเป็นการแสดงความเคารพ ความจงรักภักดีต่อท่าน เมื่อยังมีชีวิตอยู่ ลูกหลานเคยมีความจงรักภักดี มีความเคารพนับถืออย่างไรแม้เมื่อท่านล่วงลับไปแล้วก็ยังมีความจงรักภักดี ความเคารพนับถือเป็นอย่างดีไม่เปลี่ยนแปลง มิใช่ว่าเมื่อท่านสิ้นบุญแล้วพวกลูกหลานก็รีบหาทางเสือกไสไล่ส่งศพของท่านให้ออกไปพ้นเสียจากบ้านเรือนที่ท่านเคยอยู่อาศัย
# ถ้าที่บ้านเรือนนั้นไม่ใหญ่โต ไม่กว้างขวางมีความขัดข้องไม่เหมาะสม เพราะสถานที่ไม่อำนวย ก็นิยมนำศพของท่านไปตั้งรดน้ำ และตั้งศพบำเพ็ญกุศลที่วัดใดวัดหนึ่งซึ่งอยู่ไกล้บ้าน หรือวัดที่เหมาะสมแก่ฐานะของท่าน โดยติดต่อกับเจ้าหน้าที่แผนกฌาปนสถานของวัด จะให้เขานำรถวอ มารับศพที่ไหน เมื่อไร เป็นต้น พร้อมทั้งมอบให้เขาจัดการโดยตลอดรายการ
# ถ้าจะจัดสถานที่รดน้ำศพและตั้งศพบำเพ็ญกุศลที่บ้าน จะต้องคำนึงถึงสถานที่จะใช้ตั้งศพรดน้ำนั้นว่า โต๊ะหมู่บูชาพระรัตนตรัย และเตียงประดิษฐานศพ จะตั้งที่ไหนจึงจะเหมาะสม วงศาคณาญาติสนิทมิตรสหายและท่านที่เคารพนับถือทั้งหลายที่มาเคารพศพจะเข้าทางไหน จะออกทางไหน สถานที่กว้างขวางเพียงพอหรือไม่ เมื่อพิจารณาโดยถ่องแท้แล้วเห็นว่าไม่ขัดข้องเหมาะสมโดยประการทั้งปวง พึงจัดสถานที่นั้น ดังนี้
สถานที่ตั้งโต๊ะหมู่บูชาพระรัตนตรัย
# สถานที่ตั้งโต๊ะหมู่บูชาพระรัตนตรัยนั้น นิยมตั้งอยู่ด้านศีรษะของศพ และนิยมตั้งพระพุทธรูปหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ถ้าสถานที่ไม่อำนวยก็นิยมตั้งหันหน้าไปทางทิศเหนือหรือทิศใต้ทิศใดทิศหนึ่ง แต่ไม่นิยมตั้งหันหน้าไปทางทิศตะวันตก
# โต๊ะหมู่บูชาพระรัตนตรัยนั้น นิยมจัดตั้งไว้ ณ ที่สูงกว่าเตียงประดิษฐานศพพอสมควร ประกอบด้วยสิ่งสำคัญ ๕ ประการ
๑. พระพุทธรูป ๑ องค์ ( นิยมนำพระพุทธรูปบูชาพระประจำตัวของผู้ตายมาตั้งบูชา ถ้ามี )
๒. กระถางธูป 1 ลูก พร้อมทั้งธูป ๓ ดอก
๓. เชิงเทียน 1 คู่ ( เป็นอย่างน้อย ) พร้อมทั้งเทียน ๒ เล่ม
๔. แจกัน ๑ คู่ ( เป็นอย่างน้อย ) พร้อมทั้งดอกไม้
๕. โต๊ะรอง ๑ หมู่ นิยมใช้โต๊ะหมู่บูชามีขนาดใหญ่พอสมควร
# นอกจากนี้ นิยมจัดพานดอกไม้ตั้งประดับไว้ด้วย จำนวนพานดอกไม้ตามความเหมาะสมแก่โต๊ะหมู่บูชานั้น และเครื่องสักการะบูชาที่โต๊ะหมู่บูชาพระรัตนตรัยนั้น นิยมจัดให้ประณีตที่สุด ดีที่สุด เท่าที่สามารถจะหาสิ่งของมาจัดทำได้
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[#] หน้าถัดไป
[*] หน้าที่แล้ว
Go to full version