คำถามที่ว่า “กรรมเวรแก้ไขได้หรือไม่” เป็นปัญหาหนึ่งที่หลายคนสงสัยและอยากรู้ สำหรับผู้ที่ยังศึกษาทางธรรมยังไม่ถึงขั้น ย่อมจะสงสัยในคำตอบเสมอ ไม่ว่าตอบว่าแก้ได้หรือแก้ไม่ได้ก็ตาม เนื่องจากมองไม่เห็นสภาพชัดเจนว่า ลักษณะอย่างไรแก้ได้ทันที ลักษณะอย่างไรการแก้ไขทันทีไม่ได้เนื่องจากยังไม่พร้อม หรือเลยขั้นตอนของการแก้ไขมาแล้ว ถ้าจะแก้ต้องแก้ก่อนหน้านี้ อะไรเช่นนี้เป็นต้น
หลักการทั่วไปมีอยู่ว่า ทุกอย่างแก้ไขได้เมื่อปัจจัยต่าง ๆ พร้อม คือไม่มีความประมาทหรือความเห็นผิดครอบงำอยู่ กรรมบางอย่างแก้ไขได้ กรรมบางอย่างแก้ไขไม่ได้ กรรมบางอย่างแก้ไขไม่ได้หรือแก้ไขได้ยาก หากจะแก้ไขต้องใช้เวลายาวนาน อย่างเช่น ครุกรรม ๕ หรือกรรมหนัก ๕ อย่าง นั้น จะแก้ไขในชาตินี้ไม่ได้ แต่ไม่ว่าจะเป็นกรรมหนักหรือกรรมเบาก็ตาม การจะแก้ไขได้หรือไม่ได้ ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัย ๔ อย่าง ต่อไปนี้
๑. การศึกษา คือ การแสวงหาความรอบรู้เพื่อกำจัดอวิชชา หรือความไม่รู้ พระพุทธเจ้าตรัสว่าความรู้มีสองลักษณะ คือ “ผู้รู้ดีเป็นผู้เจริญ” (สุวิชาโน ภวัง โหติ) กับ “ผู้รู้ชั่วทำชั่วก็เป็นผู้เสื่อมผู้ฉิบหาย” (ทุวิชาโน ภวัง โหติ) ความหมายก็คือ ผู้ที่สามารถรู้วิธีแก้กรรมชั่วหรือกรรมไม่ดีที่กระทำเพราะอวิชชานั้น จะต้องศึกษาพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ให้รู้ ให้เข้าใจ ในระดับที่ทำให้เกิดศรัทธาต่อพระรัตนตรัยให้ได้เสียก่อน
๒. ศรัทธา คือ ความเชื่อความเลื่อมใส ผู้ที่สามารถจะแก้กรรมให้ตนเองได้จะต้องมี “ศรัทธาปสาทะ” คือมีความเชื่อ ความเลื่อมใสต่อพระพุทธศาสนา มี “คารวธรรม” อันไม่เศร้าหมองเสียก่อน คือมี “พุทธคารวตา” อันหมายถึงการเคารพนับถือพระพุทธเจ้าเป็นนายกของโลก มี “ธรรมคารวตา” อันหมายถึงการเคารพนับถือพระธรรม คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าว่าถูกต้องเป็นจริงเสมอ ปฏิบัติตามแล้วพ้นกรรม พ้นเวร พ้นทุกข์ได้จริง มี “สังฆคารวตา” อันหมายถึงการเคารพนับถือพระอริยสงฆ์สาวก ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติชอบ สมควรแก่ธรรม ปฏิบัติออกจากทุกข์ได้แล้ว เป็นครู เป็นอาจารย์ มี “สิกขาคารวตา” อันหมายถึง การเคารพในการศึกษาปฏิบัติธรรม ทำตนให้มีศีล สมาธิ ปัญญา พร้อมกันทุกขณะจิต
๓. ความไม่ประมาท คือ ความไม่ดูถูก ดูหมิ่น เลินเล่อ ละเลย หรือไม่ใส่ใจในเรื่องของตนเอง ปล่อยให้ชีวิตของตนเองเป็นไปตามยถากรรม เป็นอย่างไรก็ช่างมัน ตายเมื่อไหร่ก็ช่างมัน ตายแล้วจะไปไหนก็ช่างมัน นี่คือ ความไม่ใส่ใจในตนเอง ไม่มี “อปามาทคารวตา” อันหมายถึงการไม่เคารพในความไม่ประมาท ผู้ไม่ประมาทต้องรู้จักพึ่งตัวเอง ดังที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า “ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน” (อัตตา หิ อัตตโน นาโถ) ถ้าไม่ใส่ใจในตนเองแล้ว จะเป็นที่พึ่งของตนได้อย่างไร เกิดเป็นคนจะต้องใส่ใจเรื่องของตนเองให้มาก
๔. ความเพียรพยายาม เป็นคุณธรรมอย่างหนึ่ง ที่ทำให้บุคคลประสบผลสำเร็จสมความปรารถนา เนื่องจากกิจการงานต่าง ๆ ทางโลก เราไม่สามารถทำให้เสร็จในขณะเดียวหรือวันเดียว กว่าจะสำเร็จได้ต้องใช้เวลายาวนานเป็นเดือน เป็นปี บางครั้งก็เป็นตลอดชาติ ผู้ต้องการความสำเร็จจะต้องมีความเพียรพยายาม ทำแล้วทำอีก ทำอย่างต่อเนื่องยาวนาน หากหมดความเพียร ละทิ้งความพยายามเสียกลางครัน งานนั้นก็ไม่สำเร็จ ผู้ที่ประสบความสำเร็จล้วนแต่เป็นผู้มีความเพียรพยายามไม่รู้ถอย เหมือนสุภาษิตที่ว่า “ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น” การแก้กรรม แก้เวร ก็ต้องอาศัยความเพียรพยายามเหมือนกัน