ข้อความโดย: แก้วจ๋าหน้าร้อน
« เมื่อ: กรกฎาคม 16, 2010, 11:29:46 am »สามเณรจุนทะเป็นผู้เริ่มเหตุให้พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระสูตรสำคัญ
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ปราสาทในสวนอัมพวันของเวธัญญาศากยะ ในสักกชนบท สมัยนั้นนิครณฐ์นาฏบุตร ซึ่งอาศัยอยู่ที่เมืองนาลันทา นาฏบุตรนั้นเมื่อได้สดับพุทธคุณที่อุบาลีคฤหบดีแสดงให้ตนฟังด้วยคาถา ๑๐ คาถา จึงกระอักโลหิตออกมา ครั้งนั้นสาวกทั้งหลายจึงได้พานาฏบุตรไปยังเมืองปาวา และได้ถึงแก่กรรมในเมืองนั้น แต่ก่อนที่นาฏบุตรจะถึงแก่กรรมนั้น เขาได้สำนึกว่าลัทธิของเราเป็นลัทธิที่ไม่นำออกไปได้ เป็นลัทธิที่ขาดสาระ ตัวเราจะฉิบหายไปก็ช่างเถิด แต่อย่าให้ผู้ที่เชื่อคำของเราได้ไปอยู่ในอบายด้วยเลย แต่ถ้าเราจะกล่าวว่า คำสอนของเรา เป็นคำสอนที่ไม่นำออกไปได้ ชนทั้งหลายก็จะไม่เชื่อ ถ้าเช่นนั้นเราไม่ควรให้ศิษย์ทั้งหลายมีความเชื่อแบบเดียวกัน ถ้าเป็นเช่นนั้นเมื่อเราล่วงลับไป ศิษย์เหล่านั้นจะวิวาท แตกแยกกัน เมื่อเกิดเหตุเช่นนั้นพระศาสดาจักตรัสธรรมกถาบทหนึ่งเนื่องเพราะข้อวิวาทนั้น จากนั้นชนทั้งหลายจักรู้ความที่พระศาสนาเป็นศาสนาที่มีคุณใหญ่ดังนี้
เมื่อคิดดังนั้นเมื่อศิษย์คนหนึ่งเข้าไปหานาฏบุตรนั้นแล้วกล่าวว่า ท่านขอรับ ขณะนี้ท่านป่วยหนักขอจงบอกสาระในธรรมนี้แก่กระผมบ้างเถิดดังนี้ นาฏบุตรกล่าวว่า ดูก่อนผู้มีอายุ เมื่อเราล่วงลับไปเธอพึงถือว่า “เที่ยง” ดังนี้ ครั้นต่อมาศิษย์ออีกคนหนึ่งเข้าไปหา นาฏบุตรก็ให้อันเตวาสิกนั้นถือว่า “สูญ”.
ครั้นเมื่อนาฏบุตรได้ถึงแก่กรรมเสียแล้ว เมื่อศิษย์ทั้งหลายกระทำฌาปนกิจนาฏบุตรนั้นเสร็จแล้ว จึงประชุมถามกันและกันขึ้นว่าดูก่อนผู้มีอายุ อาจารย์บอกสิ่งที่เป็นสาระให้แก่ใคร คนหนึ่งลุกขึ้นกล่าวว่าแก่เรา ศิษย์อื่นก็ได้ถามว่า บอกไว้อย่างไร ศิษย์นั้นก็บอกว่า “เที่ยง” อีกคนหนึ่ง คัดค้านแล้วกล่าวว่า อาจารย์ได้บอกสิ่งที่เป็นสาระแก่เรานั้นว่า “สูญ” เมื่อเป็นดังนี้ ศิษย์ทั้งหมดต่างก็วิวาทกันรุนแรงขึ้นว่า อาจารย์บอกสิ่งที่เป็นสาระแก่เรา เราเป็นใหญ่ ถึงขั้น ด่ากัน บริภาษกัน และทำร้ายกันด้วยมือและเท้าเป็นต้นไม่ร่วมทางเดียวกัน เลี่ยงกันไปคนละทิศละทาง.
ครั้งนั้นแล พวกมหาชนต่างก็พูดกันอย่างอื้อฉาวว่า นิคัณฐนาฏบุตรนั้นประกาศตนเป็นศาสดาผู้เดียว เมื่อเขาถึงแก่กรรม พวกสาวกก็เกิดวิวาทกันถึงปานนี้ ก็บัดนี้พระสมณโคดมปรากฏแล้วในชมพูทวีป แม้พระสาวกของพระองค์ก็ปรากฏแล้วเหมือนกัน เมื่อพระสมณโคดมปรินิพพานแล้ว พวกสาวกจักวิวาทกันเช่นไรหนอ ดังนี้ พระเถระสดับถ้อยคำนั้นแล้วคิดว่าเราจักนำถ้อยคำนี้ไปทูลแด่พระทสพล พระศาสดาจักทำคำพูดนั้นให้เป็นเหตุเกิดเรื่องราว แล้วจักทรงกล่าวเทศนา ๑ กัณฑ์ พระเถระนั้นจึงออกไปหาพระอานนท์ ณ ตำบลสามคาม
ครั้นกราบไหว้ท่านพระอานนท์แล้ว ได้นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้เล่าเรื่องนั้นให้ท่านพระอานนทเถระฟัง เมื่อสามเณรจุนทะกล่าวแล้วอย่างนี้ ท่านพระอานนท์ได้กล่าวกะสามเณรจุนทะว่า อาวุโสจุนทะ มีมูลเหตุแห่งถ้อยคำนี้ เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าละ อาวุโส จุนทะ มาเถิด เราจักเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ ที่ประทับ ครั้นแล้ว พึงทูลบอกเรื่องนี้ แด่พระผู้มีพระภาค
ท่านพระอานนท์และสามเณรจุนทะจึงได้เดินทางเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ซึ่งอยู่ที่ปราสาทในสวนอัมพวันของเวธัญญาศากยะ ในสักกชนบท ครั้นแล้วท่านพระอานนท์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สามเณรจุนทะนี้ ได้บอกอย่างนี้ว่า นิครณฐ์นาฏ บุตรทำกาละแล้วที่เมืองปาวาไม่นานนัก จากนั้นพวกเหล่าศิษย์ก็เกิดแตกแยกกันเป็นสองพวก ฯลฯ นี้เพราะเหตุที่ธรรมวินัย อันนิครณฐ์นาฏบุตรกล่าวไว้ไม่ดี ประกาศไว้ไม่ดี ไม่เป็นธรรมวินัยที่จะนำผู้ปฏิบัติให้ออกไปจากทุกข์ได้ ไม่เป็นไปเพื่อความสงบระงับ ไม่ใช่ธรรมวินัยที่ท่านผู้เป็น สัมมาสัมพุทธะประกาศไว้ เป็นธรรมวินัยมีที่พำนักอันทำลายเสียแล้ว เป็นธรรมวินัยไม่มีที่พึ่งพาอาศัยดังนี้ ฯ
ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้แสดงพระสูตรชื่อว่า ปาสาทิกสูตร อันว่าด้วย
· ธรรมวินัยของศาสดาผู้เป็นและไม่เป็นสัมมาสัมพุทธะ
· การตายของศาสดาที่ทำและไม่ทำให้สาวกเดือดร้อน
· องค์ที่ทำให้พรหมจรรย์บริบูรณ์
· ศาสดาที่เลิศด้วยลาภยศ
· อภิญญาเทสิตธรรม
· การแสดงธรรมเพื่อปิดกั้นอาสวะ
· การประกอบตนให้ติดความสุข ๔ อย่าง
· อานิสงส์ ๔
· ผู้ไม่ควรล่วงฐานะ ๙
· เหตุที่มีพระนามว่าตถาคโต
· ปัญหาที่ไม่พยากรณ์และทิฏฐิต่าง ๆ
· ทิฏฐินิสัยเกี่ยวกับกาลอนาคต
· สติปัฏฐาน ๔
สามคามสูตร
ครั้นแล้ว ท่านพระอานนท์ได้ทูลพระบรมศาสดาดังนี้ ข้าพระองค์มีความดำริอย่างนี้ว่า สมัยเมื่อพระผู้มีพระภาคล่วงลับไป ความวิวาทอย่าได้เกิดขึ้นในสงฆ์เลย ความวิวาทนั้นมีแต่เพื่อไม่เกื้อกูลแก่ชนมาก ไม่ใช่สุขของชนมาก
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ ธรรมเหล่าใดที่เราแสดงแก่เธอทั้งหลายแล้ว คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ ดูกรอานนท์ เธอเคยเห็นภิกษุของเราแม้สองรูป มีวาทะต่างกันได้ในธรรมเหล่านี้หรือ ฯ
ท่านพระอานนท์ทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ยังไม่เคยเห็นภิกษุแม้สองรูปมีวาทะต่างกันในธรรมอันพระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วแก่ข้าพระองค์ทั้งหลายเหล่านั้น
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แต่ก็มีได้แล ที่บุคคลทั้งหลายนั้น พอสมัยพระผู้มีพระภาคล่วงลับไป ก็จะพึงก่อวิวาทให้เกิดในสงฆ์ได้ เนื่องจากอาชีวะอันยิ่งหรือปาติโมกข์อันยิ่ง
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีพระดำรัสว่า ดูกรอานนท์ ความวิวาทที่เกิดเพราะเหตุอาชีวะอันยิ่งหรือปาติโมกข์อันยิ่งนั้นเป็นเรื่องเล็กน้อย ส่วนความวิวาทอันเกิดในสงฆ์ ที่เกิดเพราะเหตุมรรคหรือปฏิปทา ความวิวาทนั้นต่างหากที่มีแต่เพื่อไม่เกื้อกูลแก่ชนมาก ไม่ใช่สุขของชนมาก
จากนั้นได้ทรงแสดงสามคามสูตร ตรัสถึง มูลเหตุแห่งความวิวาท ดังนี้
ดูกรอานนท์ มูลเหตุแห่งความวิวาท นี้มี ๖ อย่าง ๖ อย่างเป็นไฉน ดูกรอานนท์
(๑) ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มักโกรธ มีความผูกโกรธ
(๒) ภิกษุเป็นผู้มีความลบหลู่ มีความตีเสมอ...
(๓) ภิกษุเป็นผู้มีความริษยา มีความตระหนี่...
(๔) ภิกษุเป็นผู้โอ้อวด เป็นผู้มีมายา...
(๕) ภิกษุเป็นผู้มีความปรารถนาลามก มีความเห็นผิด...
(๖) ภิกษุเป็นผู้มีความเห็นเอาเอง มีความเชื่อถือผิวเผิน มีความถือรั้นสละคืนได้ยาก
ทรงตรัสถึง อธิกรณ์ และการระงับอธิกรณ์ ไว้ดังนี้
ดูกรอานนท์ อธิกรณ์ นี้มี ๔ อย่าง ๔ อย่างเป็นไฉน คือ วิวาทาธิกรณ์ อนุวาทาธิกรณ์ อาปัตตาธิกรณ์ กิจจาธิกรณ์ ดูกรอานนท์ เหล่านี้แล อธิกรณ์ ๔ อย่าง ฯ
ดูกรอานนท์ ก็ อธิกรณ์สมถะ นี้มี ๗ อย่างแล คือ เพื่อระงับอธิกรณ์อันเกิดแล้วๆ สงฆ์พึงใช้ สัมมุขาวินัย สติวินัย อมุฬหวินัย ปฏิญญาตกรณะ เยภุยยสิกา ตัสสปาปิยสิกา ติณวัตถารกะ ฯ
ทรงตรัสถึง ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความระลึกถึงกัน เป็นเหตุก่อความรัก ก่อความเคารพ เป็นไปเพื่อสงเคราะห์กัน เพื่อไม่วิวาทกัน เพื่อความพร้อมเพรียงกัน เพื่อเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไว้ดังนี้
ดูกรอานนท์ ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความระลึกถึงกัน เป็นเหตุก่อความรัก ก่อความเคารพ เป็นไปเพื่อสงเคราะห์กัน เพื่อไม่วิวาทกัน เพื่อความพร้อมเพรียงกัน เพื่อเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนี้มี ๖ อย่าง ๖ อย่างเป็นไฉน
(๑) ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ มีกายกรรมประกอบด้วยเมตตา ปรากฏในเพื่อนร่วมประพฤติพรหมจรรย์ ทั้งในที่แจ้ง ทั้งในที่ลับ
(๒) ภิกษุมีวจีกรรมประกอบด้วยเมตตา ปรากฏในเพื่อนร่วมประพฤติพรหมจรรย์ ทั้งในที่แจ้ง ทั้งในที่ลับ
(๓) ภิกษุมีมโนกรรมประกอบด้วยเมตตา ปรากฏในเพื่อนร่วมพรหมจรรย์ ทั้งในที่แจ้ง ทั้งในที่ลับ
(๔) ภิกษุมีลาภใดๆ เกิดโดยธรรม ที่สุดแม้เพียงอาหารติดบาตร เป็นผู้ไม่แบ่งกันเอาลาภนั้นไว้แต่เฉพาะผู้เดียว ย่อมเป็นผู้เฉลี่ยทั่วไปกับเพื่อนร่วมประพฤติพรหมจรรย์ผู้มีศีล
(๕) ภิกษุถึงความเป็นผู้เสมอกันโดยศีล กับเพื่อนร่วมประพฤติพรหมจรรย์อยู่ ทั้งในที่แจ้ง ทั้งในที่ลับ
(๖) ภิกษุถึงความเป็นผู้เสมอกันโดยทิฐิ กับเพื่อนร่วมประพฤติพรหมจรรย์อยู่ ทั้งในที่แจ้ง ทั้งในที่ลับ
นี้คือธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความระลึกถึงกันเป็นเหตุก่อความรัก ก่อความเคารพ เป็นไปเพื่อ สงเคราะห์กัน เพื่อไม่วิวาทกัน เพื่อความพร้อมเพรียงกัน เพื่อเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ฯ
นอกจาก ปาสาทิกสูตร และสามคามสูตร ที่ได้แสดงต่อท่านพระจุนทเถระแล้ว พระพุทธเจ้ายังได้ทรงแสดงพระสูตรที่สำคัญอีกพระสูตรหนึ่งแก่ท่านพระจุนทเถระ คือ สัลเลขสูตร อันว่าด้วยธรรมเครื่องขัดเกลากิเลส
รูปฌาน ๔
ว่าด้วยธรรมเครื่องขัดเกลา
ว่าด้วยทางหลีกเลี่ยงคนชั่ว
ว่าด้วยอุบายบรรลุนิพพาน
ดูกรจุนทะ เหตุแห่งธรรมเครื่องขัดเกลา เราได้แสดงแล้ว เหตุแห่งจิตตุปบาทเราได้แสดงแล้ว เหตุแห่งการหลีกเลี่ยง เราได้แสดงแล้ว เหตุแห่งความเป็นเบื้องบน เราได้แสดงแล้ว เหตุแห่งความดับสนิท เราได้แสดงแล้ว ด้วยประการฉะนี้
และในตอนท้ายพระสูตร แม้ในพระบาลีเองก็กล่าวว่า พระสูตรนี้
ลุ่มลึกเปรียบด้วยสาคร ฉะนี้.
ที่มา
http://www.dharma-gateway.com/monk-great-index-page.htm
อนุโมทนาครับ