พระโพธิสัตว์กับพระอรหันต์
ในแวดวงของผู้ปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา บางทีก็เกิดข้อสงสัยขึ้นว่าพระโพธิสัตว์กับพระอรหันต์ต่างกันอย่างไร และอุดมคติหรือเป้าหมายของการปฏิบัติธรรมนั้น ควรมุ่งไปที่การเป็นพระโพธิสัตว์หรือพระอรหันต์ หากจะพูดอย่างย่อๆ พระโพธิสัตว์ก็ได้แก่บุคคลที่ตั้งปณิธานจะบรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นพระพุทธเจ้า เพื่อจะได้มีความสามารถเต็มที่ในการช่วยเหลือสรรพสัตว์ ให้พ้นจากห้วงน้ำแห่งความทุกข์ ส่วนพระอรหันต์ก็ได้แก่บุคคลที่ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า และสามารถกำจัดกิเลสอันเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดใหม่ในสังสารวัฏได้หมดสิ้น ดังนั้นพระอรหันต์จึงเป็นผู้พ้นทุกข์อย่างสมบูรณ์ ไม่ต้องมาเกิดในสังสารวัฏอีก
หลายคนมักจะคิดว่า พระพุทธศาสนามหายานเน้นที่การเป็นพระโพธิสัตว์ และพระพุทธศาสนาเถรวาทเน้นที่การเป็นพระอรหันต์ นั่นเป็นความจริงเพียงส่วนเดียว เพราะอุดมคติของการเป็นพระอรหันต์ คือผู้ที่กำจัดเชื้อของกิเลสได้อย่างสิ้นเชิง ก็เป็นอุดมคติของมหายานด้วย และการตั้งปณิธานเป็นพระพุทธเจ้าเพื่อช่วยเหลือสรรพสัตว์ ก็เป็นอุดมคติของเถรวาทด้วย ข้อแตกต่างที่มีก็เป็นเพียงการเน้นหนักที่ต่างกันเท่านั้น
ข้อสงสัยอีกประการที่อาจเกิดขึ้นก็คือว่า ผู้ปฏิบัติธรรมเถรวาทมักสงสัยว่า พระโพธิสัตว์บรรลุธรรมขั้นใด เทียบระดับการบรรลุธรรมกับเถรวาทได้อย่างไร ผู้ที่คุ้นกับเถรวาทอยู่ก็คงพอจะทราบว่า ลำดับขั้นของการบรรลุธรรมมีสี่ขั้นด้วยกัน เริ่มตั้งแต่พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ ผู้ที่เข้าถึงการเป็นพระโสดาบันจะเรียกว่า “ผู้ถึงกระแส” หมายความว่า เป็นการก้าวล่วงจะสถานะของการเป็นปุถุชน มาเป็นอริยบุคคล (โปรดสังเกตว่าการเป็นอริยบุคคล หรือ “อารยบุคคล” ในภาษาสันสกฤต มิได้เกี่ยวข้องกับชาติกำเนิดแบบในศาสนาฮินดู แต่อยู่ที่การปฏิบัติล้วนๆ) ส่วนนี้เป็นส่วนสำคัญที่สุด เพราะเป็นการแบ่งระหว่างผู้ที่ยังเวียนว่ายอยู่ในสังสารวัฏ กับผู้ที่มุ่งตรงต่อการหลุดพ้น ซึ่งก็เป็นอุดมคติหรือเป็นเป้าหมายของพระพุทธศาสนา
ทีนี้ พระโพธิสัตว์อยู่ในลำดับขั้นใดในสี่ลำดับนี้ คัมภีร์พระพุทธศาสนามหายานกล่าวไว้ว่า มีภูมิของการเป็นพระโพธิสัตว์อยู่สิบภูมิ รายละเอียดเรื่องนี้มีมาก แต่สรุปคร่าวๆก็คือว่า พระโพธิสัตว์ที่บรรลุถึงภูมิที่หนึ่งนั้น ซึ่งเรียกว่า “ประมุทิตาภูมิ” จะเป็นผู้ที่จะไม่มีวันไปเกิดในอบายภูมิอีก และเป็นผู้ที่ละสังโยชน์สามประการได้หมดสิ้น ได้แก่สักกายทิฏฐิ (การเห็นว่าร่างกายเป็นตัวตน) สีลัพพตปรามาส (การเห็นว่าการปฏิบัติให้เคร่งไว้เท่านั้นเป็นทางหลุดพ้น) และ วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย) นั่นคือ พระโพธิสัตว์ในภูมิที่หนึ่งนั้นเทียบได้กับพระโสดาบัน (ซึ่งละสังโยชน์สามประการได้เช่นเดียวกัน) ลักษณะสำคัญที่เหมือนกันคือ พระโพธิสัตว์ในภูมิที่หนึ่งนั้น เรียกได้ว่าเข้าสู่กระแสไหลตรงมุ่งไปสู่การบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้า ซึ่งในแง่ของการเข้ากระแสนี้ ก็เป็นเช่นเดียวกับการบรรลุเป็นพระโสดาบัน กล่าวคือพระโสดาบันเป็นผู้ที่เที่ยงตรงต่อการบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ดังนั้น การก้าวข้ามที่สำคัญที่สุด จึงเป็นการก้าวจากระดับของคนธรรมดาๆ เข้าสู่การเป็นพระโพธิสัตว์ในภูมิที่หนึ่ง หรือเข้าสู่การเป็นพระโสดาบัน
คัมภีร์มหายานยังกล่าวต่อไปอีกว่า พระโพธิสัตว์ในภูมิที่แปด (เรียกว่า “อจละ” หรือ “ไม่เคลื่อนไหว”) เป็นผู้ที่หลุดพ้นจากกิเลสต่างๆโดยสิ้นเชิง ซึ่งก็เทียบได้กับพระอรหันต์นั่นเอง แต่จุดที่แตกต่างกันอย่างสำคัญก็คือว่า พระโพธิสัตว์นั้นได้ตั้งปณิธานคือโพธิจิตเอาไว้ ว่าจะไม่บรรลุพระนิพพานจนกว่าจะได้ช่วยเหลือสัตว์โลกต่างๆให้ได้หมดสิ้น ดังนั้น พระโพธิสัตว์ในภูมิที่แปดจึงเลือกที่จะไม่เข้าพระนิพพาน แต่มีความสามารถที่จะเลือกที่เกิดได้ เพื่อช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้ได้มากที่สุด ภูมิที่เหลืออีกสองภูมิก็เป็นเรื่องของความสามารถของพระโพธิสัตว์ที่จะช่วยเหลือสรรพสัตว์ และแบ่งภาคตนเองออกได้เป็นจำนวนมากมายมหาศาล เพื่อช่วยสัตว์โลกในรูปแบบต่างๆ พระโพธิสัตว์องค์สำคัญๆ เช่น พระอวโลกิเตศวร พระมัญชุศรี พระแม่ตารา ต่างก็เป็นพระโพธิสัตว์ในภูมิที่สิบทั้งสิ้น
ิอย่างไรก็ตาม เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องสำคัญ สิ่งสำคัญที่สุดก็คือการปฏิบัติของเราเอง เราต้องเริ่มจากศีล แล้วก็สมาธิ แล้วก็พัฒนาปัญญา เรื่องที่พูดมาเหล่านี้เป็นเพียงลำดับขั้นของการบรรุลธรรมตามพระคัมภีร์ ซึ่งจะไม่มีความหมายอะไรเลย หากเราไม่ปฏิบัติอย่างเข้มข้นจริงจัง ด้วยจิตที่มุ่งมั่นจะบรรลุเป็นพระพุทธเจ้าเพื่อช่วยเหลือสรรพสัตว์ หรือเพื่อหลุดพ้นเข้าพระนิพพาน หากเราตั้งปณิธานแบบเถรวาท
http://soraj.wordpress.com/2008/07/25/%e0%b8%9e%e0%b8%a3%e0%b8%b0%e0%b9%82%e0%b8%9e%e0%b8%98%e0%b8%b4%e0%b8%aa%e0%b8%b1%e0%b8%95%e0%b8%a7%e0%b9%8c%e0%b8%81%e0%b8%b1%e0%b8%9a%e0%b8%9e%e0%b8%a3%e0%b8%b0%e0%b8%ad%e0%b8%a3%e0%b8%ab%e0%b8%b1/