๓ จิต เป็นเหมือนความว่าง ซึ่งภายในนั้น ย่อมไม่มีความสับสน และความไม่ดีต่าง ๆ ดังจะเห็นได้ในเมื่อดวงอาทิตย์ผ่านไปในที่ว่างนั้น ย่อมส่องแสงไปได้ทั้งสี่มุมโลก เพราะว่าเมื่อพระอาทิตย์ขึ้น และให้ความสว่างทั่วทั้งพื้นโลก ความว่างที่แท้จริงนั้น ก็ไม่ได้สว่างขึ้น และเมื่อพระอาทิตย์ตก ความว่างก็ไม่ได้มืดลง ปรากฏการณของความสว่างและความมืด ย่อมสับเปลี่ยนซึ่งกันและกัน แต่ธรรมชาติของความว่างยังคงไม่เปลี่ยนแปลงอยู่นั่นเอง
จิต ของ พุทธะ และของสัตว์ทั้งหลาย ก็เป็นเช่นนั้น ถ้าเธอมองดู พุทธะ ว่าเป็นผู้แสดงออกซึ่งความปรากฏของสิ่งที่บริสุทธิ์ผ่องใสและรู้แจ้ง ก็ดี หรือมองดูสัตว์โลกทั้งหลาย ว่าเป็นผู้แสดงออกซึ่งความปรากฏของสิ่งที่โง่เง่า มืดมน และมีอาการสลบไสลก็ดี ความรู้สึกนึกคิดเหล่านั้น อันเป็นผลเกิดมาจากความยึดมั่นต่อรูปธรรมนั้น จะกันเธอไว้เสีย จากความรู้อันสูงสุด ถึงแม้ว่าเธอจะได้ปฏิบัติมาตลอดกี่กัปนับไม่ถ้วน ประดุจเม็ดทรายในแม่น้ำคงคาแล้วก็ตาม
มี แต่ จิตหนึ่ง นี้เท่านั้น และไม่มีสิ่งอื่นใด แม้แต่อนุภาคเดียวที่จะอิงอาศัยได้ เพราะว่า จิต นั่นเอง คือ พุทธะ ถ้าพวกเธอซึ่งเป็นนักศึกษาเรื่องทาง ทาง ทางโน้น ยังไม่ลืมตาต่อสิ่งซึ่งเป็นสาระ กล่าวคือ จิต นี้ พวกเธอจะต้องปิดบัง จิต นั้นเสีย ด้วยความคิดปรุงแต่งของเธอเอง พวกเธอจะเที่ยวแสวงหาพุทธะนอกตัวเธอเอง และพวกเธอจะยังคงยึดมั่นต่อรูปธรรมทั้งหลาย ต่อการปฏิบัติเมาบุญต่าง ๆ และสิ่งอื่น ๆ ทำนองนั้น ทั้งหมดนี้ เป็นอันตราย และไม่ใช่หนทางอันนำไปสู่ความรู้อันสูงสุดที่กล่าวนั้น แต่อย่างใดเลย
ขอบคุณที่มาบันทึกชึนเชา