๒๒ จิตของพระโพธิสัตว์นั้น เหมือนกับความว่าง เพราะท่านได้เพิกถอนสิ่งต่าง ๆ ออกเสียแล้ว และไม่ปรารถนา แม้แต่จะสร้างสมบุญกุศล
การเพิกถอนนั้นมีวิธีอยู่ ๓ ชนิดด้วยกัน
เมื่อ ทุก ๆ สิ่งทั้งภายในและภายนอก ทั้งรูปธรรมและนามธรรมถูกเพิกถอนแล้ว เมื่อความยึดมั่นถือมั่นต่าง ๆ ไม่มีเหลืออยู่ เช่นเดียวกันกับใน ความว่าง เมื่อการกระทำทั้งหมด เป็นไปแต่ตามควรแก่สถานที่และสิ่งแวดล้อมล้วน ๆ (ไม่มีกิเลสเจือปน) และเมื่อความรู้สึกว่าตัวตนในฐานะเป็นผู้ถูกกระทำ นั้นถูกเลิกล้างไปหมดแล้ว นั้นคือวิธีแห่งการเพิกถอนชนิดสูงสุด
เมื่อ ในขณะหนึ่ง หนทาง ทางนี้ มีการดำเนินโดยการประกอบกุศลธรรมมีประการต่าง ๆ และอีกในขณะหนึ่ง การเพิกถอนกุศลเหล่านั้นก็มีอยู่ และไม่ดำรงความหวังที่จะรับผลแห่งบุญกุศลเหล่านั้นไว้ นั้น คือวิธีแห่งการเพิกถอนชนิดกลาง ๆ
เมื่อ การประกอบบุญกุศลทุกชนิด ได้ทำไปเพื่อหวังที่จะได้รับผลตอบแทน ของบุคคลผู้ซึ่งแม้จะมีความรู้เรื่อง ความว่าง โดยได้ยินได้ฟัง ธรรมะ ข้อนี้ แล้วทำตนเป็น (ประหนึ่งว่า) ผู้ไม่ยึดถือ นั่นคือ วิธีแห่งการเพิกถอนชนิดต่ำที่สุด
วิธี ชนิดแรก เหมือนกับไต้ลุกโพลง ที่ถือส่องยื่นไปข้างหน้า อันไม่สามารถจะทำให้หลงทางไปได้ วิธีชนิดที่สอง เหมือนกับไต้ลุกโพลง ที่ถือย่นไปข้าง ๆ ซึ่งบางทีก็เห็นทาง บางทีก็มืด ส่วนวิธีที่สามนั้น เหมือนกับไต้ลุกโพลง ที่ถือไขว้ไว้ข้างหลัง จนกระทั่งหลุมมีอยู่ข้างหน้า ก็มองไม่เห็น
ขอบคุณที่มาบันทึกชึนเชา