๒๔ พุทธะ องค์หนึ่ง มีกาย ๓ กาย โดยคำว่า ธรรมกาย ย่อมหมายถึง ธรรมะ (ธรรมดา) แห่ง ความว่าง อันมีอยู่ในที่ทุกแห่งของธรรมชาติอันแท้จริงที่เป็นอยู่เองของสิ่งทุกสิ่ง โดยคำวา สัมโภคกาย ย่อมหมายถึง ธรรมะ (สภาวะธรรมดา) แห่งความบริสุทธิ์สากลอันสำคัญยิ่งของสิ่งทั้งปวง โดยคำว่า นิรมานกาย ย่อมหมายถึง ธรรม ต่าง ๆ แห่งวัตรปฏิบัติ ๖ ประการ ซึ่งนำไปสู่นิพพาน และอุบายวิธีอื่น ๆ ทำนองนั้นทั้งหมดทั้งสิ้นด้วยกัน
ธรรม (ธรรมดา) ของ ธรรมกาย นั้น ไม่อาจแสวงหาได้โดยทางการพูดจา หรือโดยทางการฟัง หรือโดยทางตัวหนังสือ ไม่มีอะไรที่อาจจะพูด หรือทำให้เป็นลายลักษณ์อักษร เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาให้เห็นได้ มีอยู่ก็แต่ความว่างแห่งสภาวธรรมดาที่แท้จริง ของสิ่งทุกสิ่งซึ่งเป็นอยู่เอง อันมีอยู่ในที่ทุกหนทุกแห่ง และไม่มีอะไรมากไปกว่านั้นอีก เพราะฉะนั้น การบอกให้รู้ว่า ไม่มี ธรรมะ ที่ต้องอธิบายด้วยคำพูด นั่นแหละ เรียกว่าการเผยแผ่ธรรมละ
สัมโภคกาย และ นิรมานกาย ทั้งสองอย่างนี้ ย่อมตอบสนองด้วยปรากฏการณ์ต่าง ๆ ซึ่งเหมาะสมแก่สิ่งแวดล้อมเฉพาะอย่าง ธรรมะ ต่าง ๆ ที่มีผู้นำมากล่าว เพื่อสนองแก่เหตุการณ์ต่าง ๆ โดยความรู้สึกทางอายตนะ และในทุก ๆ ชนิดแห่งรูปและแบบนั้น ไม่มีอันไหนเลยที่เป็น ธรรมะ จริง ดังนั้น จึงมีคำกล่าวว่า สัมโภคกาย ก็ตาม นิรมานกาย ก็ตาม หาใช่พุทธะที่แท้จริงไม่ ทั้งไม่ใช่ผู้ประกาศธรรมะด้วย
ขอบคุณที่มาบันทึกชึนเชา