ข้อความโดย: lek
« เมื่อ: กันยายน 29, 2010, 04:32:17 pm »จะปฏิบัติอย่างไร จึงจะหายจาก
การที่เพ่งโทษผู้อื่นได้ขาด !!!
พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
วัดป่าสุทธาวาส จ.สกลนคร
ผ.
จะปฏิบัติอย่างไร จึงจะหายจากการที่เพ่งโทษผู้อื่นได้ขาด
เช่น ในเวลาที่เห็นคนทั้งหลายประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต
ก็ทำใจให้ประกอบด้วยเมตตากรุณา
ใจที่เพ่งโทษอาจหายไปได้ชั่วคราว
แต่พอเมตตากรุณาเสื่อมลงไป
ใจชนิดนั้นอาจเกิดขึ้นได้อีก
ข้าพเจ้าไม่มีอุบายที่จะละได้
เพราะฉะนั้นจึงต้องหนีจากหมู่ขึ้นมาอยู่บนเขา
ขอท่านจงช่วยบอกอุบายให้ด้วย
ฝ.
ว่า การเพ่งโทษคนอื่นนั้นสำคัญนัก
เพราะขาดเมตตากรุณา
เป็นไปเพื่อความเบียดเบียนตนแลคนอื่น
สมด้วยพระพุทธภาษิตว่า
ปรวชฺชนานุปสฺสิสฺส เมื่อบุคคลมักตามมองดูซึ่งโทษของผู้อื่น
นิจจํ อุชฺฌานสญฺญิฌน เป็นผู้มีความหมายจะยกโทษอยู่เป็นนิจ
อาสวา ตสฺส วฑฺฒนฺติ อาสวะทั้งหลายย่อมเจริญขึ้นแก่บุคคลนั้น
อาชา โส อาสวกฺขยา บุคคลนั้นเป็นผู้ห่างไกลจากธรรมเป็นที่สิ้นอาสวะ
เพราะฉะนั้นควรทำในใจให้แยกออกไป เป็นอริยสัจ ๔
ส่วนบุคคลนั้นต้องทำความเห็นว่า
เป็นขันธ์ ๕ หรืออายตนะ ๖ เป็นประเภททุกขสัจ
ความประพฤติชั่วด้วยกาย วาจา ใจ
ของบุคคลนั้นเป็นสมุทัย
เพราะเขาไม่ได้เจริญมรรค จึงไม่ถึงนิโรธ
เพราะฉะนั้น ถ้าจะไม่ชอบ หรือเพ่งโทษว่าไม่ดี
ต้องเพ่งส่วนสมุทัย
ส่วนคนนั้นเป็นขันธ์ ๕ หรืออายตนะ ๖ กลับจะน่าสงสาร
เพราะความทำผิดเช่นนั้นเป็นส่วนสมุทัย
ทำเพราะผู้ที่ไม่ได้ประพฤติปฏิบัติมีอริยสัจ ๒
ขันธ์ ๕ และอายตนะ ๖ นั้นเป็นทุกขสัจ
กิเลสความอยากนั้นเป็นสมุทัย
จึงได้ประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต วจิทุจริต มโนทุจริต
เหมือนทารกที่ไม่รู้จักไฟจงได้จับ เพราะไม่ทราบว่าร้อน
ส่วนผู้ใหญ่เขาไม่จับ เพราะเขาทราบว่าร้อน
ข้อนี้ฉันใด ผู้ที่ไม่ได้ประพฤติปฏิบัติก็ฉันนั้น
ผ.
ถามว่า ถ้าเช่นนั้น ผู้ที่ไม่ได้ปฏิบัติ
มีอริยสัจ ๒ คือทุกข์กับสมุทัย
เวลาที่เราเข้าไปเพ่งโทษ
ขันธ์ ๕ อายตนะ ๖ ของเราเป็นทุกขสัจ
การเพ่งโทษเขานั้นเป็นสมุทัย
เวลานั้นเรากับเขาก็ไม่แปลกอะไรกัน
เพราะมีแต่ทุกข์กับสมุทัยสองอย่างเท่านั้น
ฝ.
รับว่า ถูกแล้ว ถ้าไม่ทำความเห็นให้เป็นอริยสัจ ๔
ก็ยากที่จะหายจากใจที่เพ่งโทษคนอื่น
ผ.
ถามว่า ถ้าเช่นนั้น พระเสขบุคลทั้งหลาย
ผู้ทำกิจของอริยสัจ ๔
ท่านคงไม่มีความเพ่งโทษผู้อื่นกระมัง
ฝ.
ตอบว่า แน่ทีเดียว ข้าพเจ้าเข้าใจว่า
พระเสขบุคคลทั้งหลายตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป
ย่อมไม่เพ่งโทษคนอื่น จึงจะพ้นจากความเบียดเบียน
เพราะพ้นจากความเบียดเบียน
จงพ้นจากบาป จึงพ้นจากทุคติ
เพราะพ้นจากความทุคติ คือได้ทำกิจของอริยสัจ๔
ท่านจึงไม่มีความเพ่งโทษใครๆ
อาสวะทั้งหลายจึงไม่เจริญขึ้น
ถึงซึ่งความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย
จนเป็นพระอเสขบุคคล
(คัดลอกบางตอนมาจาก : สนทนาธรรมภาคปฏิบัติ – ปฏิปัตติวิภัชน์
โดย พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโตใน“จิตตภาวนา มรดกล้ำค่า
ทางพุทธศาสนา : รวมพระธรรมเทศนาภาคปฏิบัติของพระสุปฏิปันโน”
เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล ในโอกาสมหามงคลสมัย
ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๖ รอบ ในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒,
รวบรวมโดย มูลนิธิหลวงปู่มั่น และชมรมคุณภาพชีวิต พิมพ์ครั้งที่ ๑,
๕ ธันวาคม ๒๕๔๓ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลและเผยแพร่เป็น ธรรมทาน, หน้า หน้า ๒๔๗-๒๔๘)
(หมายเหตุ : สนทนาธรรมภาคปฏิบัติ – ปฏิปัตติวิภัชน์
โดย พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
เป็นมรดกธรรมขิ้นสุดท้ายที่พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
ได้มอบให้แก่คณะศิษยานุศิษย์ไว้เป็นแนวทางในการปฏิบัติ
ฉบับเดิมพิมพ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๗ ต่อมาได้จัดพิมพ์ครั้งแรก
โดยคณะอุบาสกอุบาสิกา
เพื่อแจกในงานถวายเพลิงศพของท่าน เมื่อ ๓๑ มกราคม ๒๔๙๓)
แก้ไขล่าสุดโดย กุหลาบสีชา เมื่อ เมื่อวานนี้, 03:05, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง.
ขอบพระคุณที่มา http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?t=34729