ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: ตุลาคม 06, 2010, 04:54:37 pm »จุดประกายเซน (ในเมืองไทย)
โดย สุภารัตถะ
หลายท่านอาจนึกไม่ออกหรือลืมเลือนไปบ้างแล้ว ว่าเริ่มสนใจศึกษาเซนกันตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่หลายท่านก็คงยังจดจำได้อย่างชัดเจน ถึงตอนหยิบหนังสือเซนขึ้นมาอ่านด้วยความสนใจ สนุกสนานกับนิทานเซน การ์ตูนเซน หรือหลักคำสอนของเซนที่เน้นจากจิตสู่จิต สลัดการยึดมั่นละวางการตึดยึดทั้งปวงฉับพลัน เข้าสู่สุญตาทันทีทันใด และหนังสือเซนชื่อดัง “สูตรของเว่ยหล่าง” ว่าด้วยประวัติและคำสอนของท่านเว่ยหล่าง แปลโดยท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ จากภาษาอังกฤษโดย ว่องมูล่ำ ที่แปลมาจากต้นฉบับภาษาจีนของ ดร.ติงโฟโป ซึ่งนับเป็นคัมภีร์สำคัญของนิกายเซน
น่าเสียดาย ที่การเดินทางเข้ามาไทยของพระเซนจากจีน ไม่สามารถทำการเผยแพร่หลักคำสอน หรือก่อสร้างศาสนสถานได้แพร่หลาย แต่ปัจจุบันนิกายเซน ได้เข้ามาก่อรูปก่อร่างในหัวใจคนไทยไม่น้อย หลายท่านทั้งฆราวาสและนักบวช ได้เดินทางไปศึกษาเซนถึงประเทศเกาหลีและญี่ปุ่น และอีกหลายๆ ท่านได้ศึกษาเซน จากหนังเซนซึ่งเผยแพร่ในรูปแบบต่างๆ ผู้ที่ชื่นชอบได้นำหลักการเซนมาประยุกต์ใช้ในชุมชน นำศิลปะอย่างเซนมาใช้ในการก่อสร้างสถานที่ ด้วยความเรียบง่ายที่มากไปด้วยความจริงตามธรรมชาติ แต่จะมีคนไทยสักกี่คน ที่จะรู้จักสถานที่ที่หนึ่ง ซึ่งมีความสำคัญต่อการก่อกำเนิดเซนและมหายานในไทย ด้วยบุคคลสำคัญที่มาพบปะชุมนุมกัน ณ สถานที่แห่งนี้ โรงเจเป้าเก็งเต็ง หรือพุทธสมาคมเป้าเก็งเต็ง
แม้ว่าภิกษุจีนหลายรูป ที่ได้ตั้งปณิธานจะเข้ามาเผยแพร่นิกายเซนในไทย ต้องประสบกับปัญหาอันยากลำบาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาษา ความยากจนของชาวบ้าน อีกทั้งความยากที่จะเข้าใจถึงสัจธรรมความจริงของจิตเดิม ทำให้ไม่อาจสืบสานเจตนา ต้องละทิ้งรูปสังขารอันไม่เที่ยงที่ต้องยอมจำนนต่อข้อจำกัดของกาลเวลา ในการเสื่อม เจ็บและตาย และอาจจะเป็นด้วยว่า ยังไม่ถึงเวลาของนิกายเซนจะเผยแพร่เจริญรุ่งเรืองในไทย แต่บุคคลที่อยู่เบื้องหลังทั้งหลายก็ยังคงมุ่งมั่นทำงานต่อไป เหมือนที่ท่านโพธิธรรม (ตั๊กม้อ) ต้องยอมจำนน ต่อความไม่พร้อมของชาวจีน ที่จะเข้าถึงเซนเมื่อท่านเดินทางไปถึง ท่านจึงปลูกเมล็ดพันธุ์ไว้ ในสังฆปรินายกองค์ถัดมา ถัดมา
และในที่สุด ท่านเว่ยหล่างสังฆปรินายกองค์ที่หก ก็สามารถเผยแพร่หลักธรรม ว่าด้วยการถ่ายทอดแบบจิตสู่จิตออกไปอย่างแพร่หลายกว้างขวาง ทำให้มีผู้เข้าถึงจิตเดิมจำนวนมากมาย จนทำให้นิกายเซน (ธยานะ) เจริญในจีนอย่างสูงสุด เป็นที่รู้จักและสืบทอดไปทั่วโลกต่อๆ มาถึงทุกวันนี้ เช่นกัน…ในความโชคร้ายที่ไม่อาจดำรงอยู่ได้ตลอด เพราะโชคดี ที่มีฆราวาสจีนกลุ่มหนึ่งในจำนวนชาวจีนมากมายที่เดินทางมาพึ่งแผ่นดินไทย นับเป็นกลุ่มที่นำเมล็ดพันธุ์แห่งเซนเข้ามาบ่มเพาะอีกครั้ง และรอวันที่จะเติบโตเจริญงอกงามในเส้นทางของผู้ที่พากเพียรค้นหาความจริงแห่งจิต แม้ท่านอาจจะไม่ใช่ผู้บรรลุธรรม อาจไม่ใช่ปรมาจารย์เซน ที่จะสามารถทำให้ใครต่อใครบรรลุธรรมได้ฉับพลัน แต่ก็เป็นกลุ่มบุคคลที่เปี่ยมไปด้วยความมุ่งมั่นศรัทธาในความเป็นเอกยานแห่งพุทธ ไม่แบ่งแยกหินยาน มหายาน หรือวัชรยาน เพราะความจริงนั้นเป็นหนี่ง และจิตนั้นก็ไม่อาจแบ่งแยก ความมุ่งมั่นของบุคคลกลุ่มนี้ จึงทนต่อสถานการณ์อันยากลำบากต่างๆ ในเส้นทางที่จะสืบทอดพุทธศาสนาในมุมกว้าง ถึงความเป็นแก่นแท้ของพุทธะ
จากโรงเจเป้าเก็งเต็ง จังหวัดราชบุรี
สู่โรงเจเป้าเก็งเต็ง ซอยปลูกจิต คลองเตย
แม้ว่าโรงเจเป้าเก็งเต็ง จะก่อกำเนิดด้วยแรงทานของชาวจีนในไทยจำนวนมาก ที่นิยมทำกงเต็กให้กับผู้ที่ล่วงลับ เงินทองที่ได้มาจากงานศพต่างๆนั้น มักจะถวายให้เป็นการบำรุงโรงเจ คณะบุคคลกลุ่มหนึ่งมีจิตศรัทธาและแสวงหาบุญกุศล จึงช่วยกันบุกเบิกป่า ก่อสร้างพุทธวิหารขึ้นเป็นโรงเจ ที่อำเภอปากท่อ ราชบุรี รายนามของผู้บุกเบิกนับเป็นผู้จัดการยุคต้น 7 ท่าน มีหลักฐานดังนี้ ตั้งฮุ้นเซี้ยง, ลิ้มเช็งเอี้ยง, จิวซูเล้ง (เนี่ยไหล), ลิ้มเทียงเล้ง (โบ่ว), เฮ้งเง็กเล้ง, ตั้งงิ้นเล้ง (อ้อ), ลี้เต๋าอิม (กี้)
ท่านซินแสจิวเนี่ยไหล เห็นว่าหลักธรรมะที่ใช้สอนเผยแพร่แก่ผู้ที่มาศึกษาที่โรงเจยังไม่เพียงพอ ตัวท่านและศิษย์อีกสองคน คือ นายเซ้งง้วน แซ่เล้า และนายลิบซี แซ่ตั้ง จึงลงเรือเดินทางทางทะเล ไปขึ้นฝั่งที่ซัวเถา วัดซิงอำยี่ อำเภอเท่งไฮ้ มณฑลกวางตุ้ง เพื่อศึกษาธรรม จากพระธรรมาจารย์เหลาฮั้วเสียงโจ้วซือ ทั้งสามท่านรับโพธิสัตว์ศีล ศึกษาธรรมะอยู่ร่วม 2 ปี ท่านจิวเนี่ยไหลก็ล้มป่วยถึงแก่กรรมที่ประเทศจีน คุณเซ้งง้วนและคุณลิปซีผู้เป็นศิษย์ ได้นำพระคัมภีร์ต่างๆ กลับมาไว้ที่โรงเจ แต่ยังไม่สามารถจะเผยแพร่และสั่งสอนญาติโยมได้อย่างเต็มที่
ประมาณปี พ.ศ. 2490 คุณเซ้งง้วน มีอายุ 27 ปี ได้รับการสนับสนุนจากครูบาอาจารย์ต่างๆ ให้มาก่อตั้งโรงเจเป้าเก็งเต็ง บ่อนไก่ ถนนพระราม 4 กรุงเทพฯ ด้วยความตั้งใจจะสร้างให้เป็น พุทธวิหารอย่างเซน ตามวัดนิกายเซน (ฌาน) ในเมืองจีน มีองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าศากยมุนี เป็นองค์ประธาน พระมหากัสสปะเถระ พระอานนท์เถระ และพระอรหันต์ 18 องค์ เจ้าแม่กวนอิม พระศรีอารยเมตไตรยมหาโพธิสัตว์ และรูปพระสังฆราชโพธิธรรมมหาครูบา (ตั๊กม้อไต้ซือ) รูปพระสังฆปรินายกองค์ต่างๆ ในจีน จนถึงท่านเว่ยหล่าง เพื่ออนุรักษ์รูปแบบอย่างเดิมไว้ทุกประการ น่าเสียดายที่กว่าจะรวบรวมเงินเพื่อการก่อสร้างให้สำเร็จลุล่วง ต้องใช้เวลานาน ท่านเซ้งง้วนต้องสอนการสวดมนต์ทำพิธีกรรม ทำกงเต็ก เพื่อหาเงินมาสร้างพุทธวิหารนี้ กว่าจะรวบรวมได้ท่านก็อายุมากแล้ว โดยที่ท่านยังไม่ได้สอนเซน (ฌาน) ความชราภาพก็เดินทางมาสู่ท่านเสียก่อน แต่ความตั้งใจของท่านก็บรรลุวัตถุประสงค์ โรงเจดำเนินการก่อสร้างลุล่วง ภายใต้การจดทะเบียนเป็น พุทธสมาคมเป้าเก็งเต็ง คลองเตย มีคุณบุญฤทธิ์ รัตนชินกร เป็นนายกพุทธสมาคม คุณธีระ วงศ์โพธิ์พระ (ธีรทาส) เป็นเลขานุการ และคณะกรรมการที่สำคัญอีกหลายท่าน
ท่านอาจารย์อ้อซินแส และท่านอาจารย์กี้ซินแส เกิดโพธิจิตเห็นว่าการหาเงินก่อสร้างวัตถุสมควรเพียงพอแล้ว จึงมอบหน้าที่ให้อาจารย์เซ้งง้วน จัดหาอริยครูบามาสอนธรรมะเป็นธรรมาทาน ท่านอาจารย์นายแพทย์ตันม่อเซี้ยง อาจารย์เสถียร โพธินันทะ (ตั้งเม่งเต็ก) พระอาจารย์หลวงจีนเย็นบุญภิกขุ และท่านธีรทาส จึงถูกเชิญมาร่วมก่อตั้งชมรมธรรมาทาน ณ พุทธสมาคมเป้าเก็งเต็งแห่งนี้ เพื่อสอนธรรมะให้แก่ผู้ที่มาโรงเจ
ท่านอาจารย์ตันม่อเซี้ยง จะมาแสดงปาฐกถาธรรม บรรยายพระสูตรที่สำคัญของมหายานต่างๆ เป็นภาษาจีนแต้จิ๋ว มีชาวจีนและผู้มีศรัทธา และพระสงฆ์จีนตามวัดต่างๆ มาฟังด้วยความสนใจ ผลงานแสดงธรรมต่างๆ ได้บันทึกเสียงแจกจ่ายไปตามโรงเจและวัดจีนต่างๆ ร่วม 10 ปี จนอาจารย์นายแพทย์ตันม่อเซี้ยงแก่ชราภาพมาก จึงหยุดไป
น่าเสียดายคนหนุ่มอย่างอาจารย์เสถียร โพธินันทะ ผู้เปี่ยมไปด้วยความรู้อันยิ่งยวด ท่านเป็นทั้งปราชญ์และอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัยสงฆ์ มีผลงานเขียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์พุทธศาสนา พุทธมหายานและแปลพระสูตรสำคัญต่างๆ ต้องมาด่วนละสังขารไปตั้งแต่อายุยังน้อย ทำให้เราต้องสูญเสียทรัพยากรบุคคลที่สำคัญไป ทำให้งานสำคัญอีกหลายชิ้นที่ท่านตั้งมโนปณิธานจะทำ ต้องระงับไปโดยปริยาย
ท่านธีรทาส เลขานุการของโรงเจเป้าเก็งเต็ง วัยหนุ่มรุ่นเดียวกับอาจารย์เสถียร โพธินันทะ ผู้ได้รับการสอนเซน (ฌาน) โดยบิดาท่าน จากปากสู่ปาก บัดนี้ท่านกำลังทำหน้าที่แทนบิดาของท่าน สอนเซนให้กับลูกหลานเซนอย่างพวกเรา โดยการเขียนหนังสือธรรมะรวมถึงพิมพ์หนังสือธรรมะแจกเป็นทาน ไม่ว่าจะเป็นหนังสือของท่านอาจารย์พุทธทาส ท่านอาจารย์เสถียร โพธินันทะ ผลงานธรรมะที่น่าสนใจ และผลงานของท่านเอง จนกระทั่งบัดนี้ท่านอายุประมาณ 76 ปี (พ.ศ. 2547) นับว่าท่านเป็นผู้ที่ถ่ายทอดเซน ผสานประวัติศาสตร์การเดินทางของเซนในไทย และเชื่อมต่อบุคคลสำคัญต่องานเซนที่เผยแพร่ในไทยอย่างสำคัญ
-ท่านที่สนใจประวัติการก่อตั้งพุทธสมาคมเป้าเก็งเต็งอย่างละเอียด หาอ่านได้จาก
หนังสือพระคัมภีร์ (ปริศนาธรรม) 18 พระอรหันต์ เรียบเรียงโดย ธ.ธีรทาส (ท่านธีรทาส)
http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=suparatta&month=06-2006&date=11&group=14&gblog=1