ตอบ

Warning: this topic has not been posted in for at least 500 days.
Unless you're sure you want to reply, please consider starting a new topic.
ชื่อ:
อีเมล์:
หัวข้อ:
ไอค่อนข้อความ:

Verification:
กัน-ละ-ยา-นะ-มิด เขียนเป็นภาษาไทยที่ถูกต้องว่าอย่างไรครับ:
คิดว่าความดีทำยากไหม( เลือกตอบแค่ ยาก กับ ไม่ยาก ครับผม):
ชีวิตบางครั้งก็เหมือนเหรียญสองด้านใช่หรือไม่ครับบางครั้งก็หัวบางครั้งก็ก้อย( เลือกตอบแค่ ใช่ กับไม่ใช่ครับผม):
^^ ขอความกรุณาพิมพ์คำว่า แสงธรรมนำใจ:
การแสดงความชื่นชมยินดีในบุญหรือความดีที่ผู้อื่นทำ นิยมใช้คำว่า (อนุโมทนา) กรุณาพิมพ์คำนี้ครับ อนุโมทนา:
เว็บใต้ร่มธรรมเป็นเว็บเล็กๆในโลกออนไลน์ใช่หรือไม่ ( เลือกตอบแค่ ใช่ กับ ไม่ใช่ ครับผม):
โดยปกติชน นิ้วมือของคนเรา มีกี่นิ้ว (ตอบเป็นภาษาไทยครับ):
วัฒนธรรมไทยเมื่อเห็นผู้ใหญ่ท่านจะทำความเคารพ ด้วยการไหว้ท่านก่อนเสมอใช่หรือไม่:
ใต้ร่มธรรม เป็น แค่เว็บไซต์และจินตนาการทางจิต การทำดี สำคัญที่ใจเรา เริ่มความดีที่ใจเราก่อนเสมอ พิมพ์คำว่า "เริ่มความดีที่ใจเราก่อนเสมอ":
คุณพ่อคุณแม่เปรียบดั่งพระอรหันต์ในบ้าน พิมพ์คำว่า "คุณพ่อคุณแม่ฉันรักและเคารพท่านดุจพระอรหันต์":
บุคคลที่ไปหลายๆเว็บไซต์ โดยที่สวมบทบาทเป็นหลายๆคน โดยที่ไม่รู้ว่า แท้จริงใจเราต้องการอะไร เพื่อน หรือ ชัยชนะ:
หากมีคน บอกว่า เราไม่ดีเราเลว แต่ใจเรารู้ว่าไม่เป็นเช่นนั้น เราจะใช้วิธีใดจัดการกับเรื่องนี้  (โต้เถียงให้แรงกว่าที่เค้าว่ามา) หรือ (เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ความดีของเราเองไม่ต้องทำอะไร):
ในโลกออนไลน์หรือโลกแห่งจิต ไม่มีใครทำอะไรเราได้ นอกเสียไปจาก (คนพาล) หรือ (ใจของเราเอง):
เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ใต้ร่มธรรมเองก็จะเป็นไปตามวัฐจักรนี้ ฉันท์ใดก็ฉันท์นั้น (เป็นจริง) หรือ (ไม่จริง):
ธรรมะคือ ธรรมชาติ พิมพ์คำว่า (ธรรมะชาติ) ครับ:
พิมพ์คำว่า (แสงธรรมนำทางธรรมะนำใจ) ครับ:
สำนวนไทยที่ว่า แต่ละคนต่างมีรสนิยมแตกต่างกัน หรือไม่ตรงกัน  พิมพ์สำนวนต่อไปนี้ครับ (ลางเนื้อชอบลางยา):
ขนทรายเข้าวัดคือ พิมพ์สำนวนต่อไปนี้ครับ (ทำบุญทำกุศลโดยวิธีนำหรือหาประโยชน์เพื่อส่วนรวมมิได้ทำเพื่อตนเอง):
ไม่มีอะไรสายสำหรับการเริ่มต้น พิมพ์เป็นประโยคภาษาอังกฤษครับ เป็นตัวพิมพ์เล็กทั้งหมดนะครับ เว้นวรรคคำด้วยครับ (It is never too late to mend):
ผู้ที่ไม่เคยรับรู้รสของความขมขื่น จะไม่รู้ว่าความหวานชื่นคืออะไร พิมพ์เป็นประโยคภาษาอังกฤษครับ เป็นตัวพิมพ์เล็กทั้งหมดนะครับ เว้นวรรคคำด้วยครับ (He who has never tasted bitterness does not know what is sweet):

shortcuts: กด alt+s เพื่อตั้งกระทู้ หรือ alt+p แสดงตัวอย่าง


สรุปหัวข้อ

ข้อความโดย: แก้วจ๋าหน้าร้อน
« เมื่อ: ตุลาคม 08, 2010, 08:23:02 am »

 :13: อนุโมทนาครับคุณนู๋ตา^^
ข้อความโดย: i mah'ta
« เมื่อ: ตุลาคม 08, 2010, 03:00:09 am »

เพื่อชีวิตที่มีคุณค่าควรปฏิบัติตามหลักศาสนาพุทธอย่างไร? (จบ)



ปุจฉา : ขอทราบแนวทางการปฏิบัติตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนา เพื่อนำมาพัฒนาชีวิตให้มีคุณภาพ...จะได้มั่นคงดำรงอยู่ในโลกปัจจุบันได้อย่างไม่วุ่นวาย ไม่เร่าร้อน เพื่อความสงบสุขของชีวิต...

โดย....พระอาจารย์อารยะวังโส

พระสีวลีเถระ/มหาโพธิสมาคม
พุทธคยา อินเดีย

วิสัชนา : จึงไม่แปลกที่จะนำไปสู่ความประพฤติผิด ดังที่คนในสังคมปัจจุบันถอยห่าง หรือปฏิเสธหลักคุณธรรมความดี!! แม้เพียงขั้นเบื้องต้นของสัตว์มนุษย์ ที่เรียกว่า ศีลธรรม อันเป็นความเชื่อแค่เพียงระดับกฎแห่งกรรมเท่านั้น!! ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ความเดือดร้อน ความเร่าร้อนได้แผ่กระจายไปทั่วในทุกภูมิภาคของสังคมโลก ดังเช่น ภัยจากการก่อการร้าย การแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ หรือการใช้ความรู้ทางโลก ปล้นเงินทุนจากตลาดเงินทุนของแต่ละประเทศในรูปแบบต่างๆ นานา ฯลฯ การแพร่ระบาดในวิธีการเบียดเบียน เพื่อแย่งชิงหรือให้ได้มา ซึ่งปัจจัยที่ตนและพวกพ้องประสงค์จึงขยายตัวไปทั่ว โดยอาศัยความรู้ กลไกทางโลก ซึ่งไม่มีวิธีการใดที่สามารถยับยั้งมหันตภัยของสัตว์มนุษย์ที่สิ้นคิดได้เลย ด้วยความสิ้นคิด หรือไม่รู้จักคิด ขาดโยนิโสมนสิการในกระบวนการคิด จึงมากไปด้วยพิษภัยในความคิดที่ไม่ชอบตามทำนองคลองธรรม และมากไปด้วยความมืดมัว เมามาย ในความคิดอกุศล ที่มีฐานจิตมาจากอวิชชา จึงนำพาตนเองและสังคมไปสู่ความไร้คุณภาพ ขาดคุณธรรม และสิ้นคุณความดี ที่สุดคือ เพิ่มความทุกข์ทับถมในความทุกข์ที่มีอยู่ในหมู่สัตว์ให้มากยิ่งขึ้น ทั้งความทุกข์กาย ทุกข์ใจ หรือทุกข์ที่เป็นความรู้สึกทุกข์ (ทุกขทุกขตา) อันเกิดขึ้นเมื่อประสบอนิษฐารมณ์ความทุกข์ด้วยการผันแปร ดังความสุขที่ก่อตัวขึ้น และผันแปรมาเป็นความทุกข์ (วิปริณามทุกขตา) และทุกข์ตามสภาพสังขาร (สังขารทุกขตา) ซึ่งอยู่ภายใต้ตัวกฎของธรรมชาติ อันเกิดขึ้น ผันแปร และแตกดับไปเป็นธรรมดา

ซึ่งหากกล่าวสรุปในสุดท้ายนี้ ก็ต้องรวมความทุกข์ ความเร่าร้อนของสัตว์ทั้งหลาย อยู่ที่ความโง่ (อวิชชา) ที่ปรากฏอยู่ในความคิดของสัตว์มนุษย์เหล่านั้น เมื่อคิดไม่เป็น จึงสิ้นคิด จึงนำไปสู่การกระทำที่ไร้ความคิด ทั้งนี้เพราะคิดไม่เป็น นั่นหมายถึง การไม่ได้รับการเรียนรู้ว่า ควรคิดอย่างไร เพื่อการนำไปสู่ความเข้าใจความรู้ และความมีปัญญา ซึ่งสามารถนำประโยชน์และความสุขมาสู่ตนและหมู่คณะได้ เราจึงเห็นเป็นปกติของความเดือดร้อนของสัตว์มนุษย์ในสังคมยุคสิ้นความคิด... ซึ่งเรามักจะอุทานเสมอ เมื่อพบกับความคิดที่ไร้วุฒิภาวะแห่งความเป็นสัตว์ประเสริฐ ซึ่งไม่สมควรเรียกว่า ความคิด หรือการมนสิการเลย จึงมักจะกล่าวตำหนิกันว่า “มันเอาอวัยวะส่วนไหนมาคิดกัน ! จึงพูด หรือทำได้อย่างนั้น!!” แสดงว่า สัตว์สังคมที่ปกติในฐานะสมบูรณ์ด้วยวุฒิภาวะ ย่อมรู้ว่า “ความคิด ต้องมาจากจิตที่มีศีลธรรม อันสติกำกับดูแลดีแล้ว” จึงประกอบความระลึกรู้ที่ชอบโดยธรรมจากความคิดนั้น จึงควรกล่าวว่านี้คือ ความคิดที่เกิดจากการมนสิการโดยธรรม อันสามารถนำเข้าสู่ กระบวนการคิดพิจารณาโดยแยบคาย (โยนิโสมนสิการ) ได้อย่างไม่ยาก... ซึ่งสามารถขจัดปัญหาและความทุกข์ทั้งปวงในชีวิตของตนและสังคมได้ ทั้งนี้ ส่วนสำคัญของความคิดที่ผ่านกระบวนการคิดพิจารณาโดยแยบคายแล้วนั้น จะไม่นำไปสู่การกระทำที่ผิดทำนองคลองธรรมเลยในทุกกาลสมัย และจะสามารถนำไปสู่การพัฒนาชีวิตให้ดี มีคุณภาพ ก้าวย่างสู่คุณธรรมความดี อันสามารถดำรงอยู่ในโลกได้อย่างไม่เร่าร้อน วุ่นวาย มีความสงบสุขโดยธรรมอย่างแท้จริง ทั้งนั้นทั้งนี้ เพราะความคิดที่ถูกต้อง (สัมมาทิฏฐิ) จะนำไปสู่การกระทำที่ชอบโดยธรรมอย่างเป็นปกติ ไม่เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นเลย... ซึ่งแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับบรรดาทุรชนผู้มีความคิดผิดทำนองคลองธรรม ที่เรียกว่า “มิจฉาทิฏฐิ” ซึ่งสามารถประกอบการอกุศลได้ในทุกๆ เรื่อง อย่างที่เราท่าน คาดคิดไม่ถึงว่า จะทำกันได้อย่างไร สมดังคำกล่าวที่ว่า “เราไม่เห็นธรรมอื่นแม้สักอย่าง ซึ่งจะเป็นเหตุให้ อกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น หรืออกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ให้เพิ่มพูนไพบูลย์เหมือนอย่างมิจฉาทิฏฐิเลย”


ขอเจริญพร

-------------------
ที่มา : เพื่อชีวิตที่มีคุณค่าควรปฏิบัติตามหลักศาสนาพุทธอย่างไร? (จบ)
รูปภาพประกอบกระทู้จากอินเตอร์เน็ต
ข้อความโดย: i mah'ta
« เมื่อ: ตุลาคม 08, 2010, 02:59:11 am »

เพื่อชีวิตที่มีคุณค่าควรปฏิบัติตามหลักศาสนาพุทธอย่างไร? (ตอน๘)
 

 
 
ปุจฉา : ขอทราบแนวทางการปฏิบัติตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนา เพื่อนำมาพัฒนาชีวิตให้มีคุณภาพ...
 
โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส
 
ปุจฉา : ขอทราบแนวทางการปฏิบัติตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนา เพื่อนำมาพัฒนาชีวิตให้มีคุณภาพ...จะได้มั่นคงดำรงอยู่ในโลกปัจจุบันได้อย่างไม่วุ่นวาย ไม่เร่าร้อน เพื่อความสงบสุขของชีวิต...
 
พระสีวลีเถระ/มหาโพธิสมาคม พุทธคยา อินเดีย
 
วิสัชนา : ๗.วิธีคิดแบบคุณค่าแท้คุณค่าเทียม เป็นการคิดเพื่อพินิจพิจารณาให้เห็นประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการบริโภคใช้สอย เพื่อการเข้าถึงคุณค่าประโยชน์ที่แท้จริง เป็นการนำไปสู่การปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายอย่างเข้าใจประโยชน์ เพื่อความสุขโดยธรรม ทั้งต่อตนและผู้อื่น...
 
๘.วิธีคิดแบบอุบายปลุกเร้าคุณธรรม เป็นการคิดแบบเร้ากุศล สร้างศรัทธา เพิ่มพูนฉันทะในธรรมอยู่ตลอดเวลา อันจะนำไปสู่ความเพียรอันชอบยิ่งๆ ขึ้น เป็นแนวความคิดที่ใช้บรรเทาและขัดเกลาความทะยานอยากอำนาจจิตอกุศลที่คิดปรุงแต่งในทางไม่ดีไม่งาม ฯลฯ
 
๙.วิธีคิดแบบเป็นอยู่ในปัจจุบัน เป็นการคิดแบบมีปัจจุบันธรรมเป็นอารมณ์ อันเป็นไปตามหลักการเจริญสติปัฏฐาน ๔ เพื่อการสกัดกั้นความคิดที่มักจะเลื่อนลอยไปตามอารมณ์ปรุงแต่งที่เกิดจากอำนาจแห่งตัณหา ซึ่งมักจะอาลัยเกาะติดกับสิ่งที่ผ่านไปแล้ว หรือเรียกหาสิ่งที่ยังมาไม่ถึง จนขาดปัญญาที่จะรู้จริงในความเป็นจริงที่มีอยู่ในปัจจุบัน หากแต่ว่าเมื่อการคิดพิจารณานั้นนำไปสู่ปัญญา ไม่ว่าเรื่องราวในการใด โดยนำมากำหนดรู้พิจารณาอยู่เฉพาะหน้าอย่างมีสติปัญญา ก็ย่อมไม่ถือว่าเป็นการคิดออกไปจากปัจจุบันธรรม
 
๑๐.วิธีคิดแบบวิภัชชวาท เป็นวิธีการจำแนกแจกแจงโดยการแถลงแสดงเหตุปัจจัย ซึ่งเป็นการพูดอันใกล้ชิดกับความคิดที่รู้จักพูด หรือกล่าวแสดงด้วยการจำแนกแจกแจง ซึ่งจะต้องรู้จักวิเคราะห์ในเรื่องนั้นๆ จนเข้าถึงชั้นของความจริงแท้ ซึ่งสามารถนำมาจำแนกแจกแจง แยกแยะให้เห็นได้ในแต่ละแง่ แต่ละด้าน ไม่พูดคลุมเครือ หรือแสดงออกมาเพียงแง่เดียว จะพบวิธีการดังกล่าวในพระพุทธศาสนา จนกลายเป็นนามเรียกพระพุทธศาสนาว่า วิภัชชวาท หรือ วิภัชชวาที ซึ่งจะพบบ่อยๆ ในรูปการปุจฉาวิสัชนาธรรม หรือวิธีตอบปัญหาของพระพุทธองค์ (ปัญหาพยากรณ์) ซึ่งมี ๔ อย่างคือ
 
 
เอกังสพยากรณ์ การตอบแง่เดียว (ตอบ อย่างเดียว เด็ดขาด)
 
วิภัชชพยากรณ์ การแยกแยะตอบ
 
ปฏิปุจฉาพยากรณ์ การตอบโดยย้อนถาม
 
ฐปนะพยากรณ์ การไม่ตอบ
 
จากกระบวนการคิดพิจารณาโดยแยบคายตามที่กล่าวมา เพื่อนำไปสู่ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่อปัญญาที่เกิดขึ้นจากกระบวนการคิดนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่งในสังคมปัจจุบัน ที่มากไปด้วยสิ่งเร้าอันนำไปสู่ อกุศลจิต ซึ่งสามารถสร้างความคิดที่ผิดทำนองคลองธรรมได้อย่างไม่ยาก และเมื่อความคิดผิดความเห็นผิดไปแล้ว
 
 
 
-----------------
ที่มา : เพื่อชีวิตที่มีคุณค่าควรปฏิบัติตามหลักศาสนาพุทธอย่างไร? (ตอน๘)
รูปภาพประกอบกระทู้จากอินเตอร์เน็ต<!-- google_ad_section_end -->
ข้อความโดย: i mah'ta
« เมื่อ: ตุลาคม 08, 2010, 02:57:46 am »

เพื่อชีวิตที่มีคุณค่า...ควรปฏิบัติตามหลักศาสนาพุทธอย่างไร? (ตอน ๗)





ปุจฉา : ขอทราบแนวทางการปฏิบัติตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนา

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส


ปุจฉา : ขอทราบแนวทางการปฏิบัติตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนา เพื่อนำมาพัฒนาชีวิตให้มีคุณภาพ...จะได้มั่นคงดำรงอยู่ในโลกปัจจุบันได้อย่างไม่วุ่นวาย ไม่เร่าร้อน เพื่อความสงบสุขของชีวิต...

พระสีวลีเถระ/มหาโพธิสมาคม

พุทธคยา อินเดีย


วิสัชนา : ๑.วิธีคิดแบบสืบสาวเหตุปัจจัย ที่เรียกว่า วิธีคิดแบบ “อิทัปปัจจยตา” ซึ่งเป็นการคิดแบบสืบสาวหาเหตุปัจจัยสัมพันธ์ เพื่อค้นหาสาเหตุและปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลสัมพันธ์สืบทอดกันมา พูดให้เข้าใจว่า “ไล่เรียงกันตลอดสาย ว่า ผลนี้มาได้ด้วยเหตุอันใด หรือ เหตุนี้นำไปสู่ผลอันใด” ดังที่มีการคิดสืบสาวปัจจัยสัมพันธ์ ที่ปรากฏอยู่ในหลักปฏิจจสมุปบาทธรรมที่ว่า “เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ”

๒.วิธีคิดแบบกระจายเนื้อหา (แยกแยะส่วนประกอบ) เป็นการคิดที่มองเข้าไปหาความจริงอันเป็นที่สุด เพื่อรู้แจ้งในสภาวธรรมเหล่านั้น ในทางธรรมเป็นการคิดเพื่อมุ่งเข้าไปถึงชั้นความจริงอริยสัจ ที่เห็นถึง ความไม่มีตัวตน ความไม่มีแก่นสาร เพื่อเข้าถึงตัวกฎแห่งพระไตรลักษณ์ จะเรียกว่า เป็นการคิดแบบวิเคราะห์ ก็ว่าได้...

๓.วิธีคิดแบบรู้เท่าทันธรรม (แบบสามัญญลักษณะ) คือ มองตามสภาพความเป็นจริงของสภาวธรรม และรู้เท่าทันในความเป็นธรรมดา หรือความเป็นจริงนั้น ซึ่งจะต้องเป็นอย่างนั้น ตามธรรมดาของมันเอง... ดังเช่น การคิดพิจารณาเข้าไปหาความจริงของสภาวธรรมหรือสังขารธรรม อันได้แก่ นามรูปทั้งหลายว่า... เกิดจากปัจจัยปรุงแต่ง เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่เที่ยงแท้ ไม่คงที่ ไม่ยั่งยืน ไม่คงอยู่ตลอดไป เป็นอนิจจัง และด้วยความสัมพันธ์ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงไปมาไม่คงที่ จึงนำไปสู่ความขัดแย้ง ทำให้เกิดสภาวะที่ถูกบีบคั้น กดดัน ไม่อาจคงสภาพได้ จึงมีความแปรปรวน เปลี่ยนสลาย ให้เป็นทุกข์ และด้วยความเป็นไปตามเหตุปัจจัย จึงไม่อาจถือสิทธิครอบครองเป็นเจ้าของได้ ไม่อยู่ในการควบคุมบัญชาของใคร ไม่เป็นไปตามใจปรารถนา รื้อค้นพิจารณากลายเป็นความว่างเปล่าจากความเป็นตัวตน เรียกว่า เป็นอนัตตา จึงได้ชื่อว่า เข้าถึงความรู้จริงในความเป็นจริงที่มีอยู่... ในธรรมชาตินี้... เพื่อนำไปสู่ความรู้ความเข้าใจที่แท้จริง อันมุ่งตรงไปที่อริยสัจ... อันมุ่งหวังความปลดเปลื้องในความยึดถือที่เกิดจาก อวิชชา อันนำไปสู่ความทุกข์ไม่จบสิ้น...

๔.วิธีคิดแบบอริยสัจ เป็นกระบวนการคิดเพื่อนำไปสู่ความดับทุกข์ที่แท้จริง ซึ่งเป็นเอกแห่งวิธีการคิดที่สาธุชนควรนำไปใช้ เพื่อประโยชน์ทั้งในทางโลกและทางธรรม สืบสาวจากผลไปหาเหตุ เมื่อพบเหตุก็ให้แก้ไข ขจัดเหตุนั้นเสีย ผลนั้นก็จะจบสิ้นไป เช่น ปัญหาต่างๆ ย่อมมีที่มาของปัญหานั้นๆ สืบสาวให้ถึงจุดของที่มาแห่งปัญหา จึงจะดับปัญหานั้นได้ หรือเมื่อต้องการผลเช่นไร ก็ต้องมองหาวิธีการอันนำไปสู่ผลนั้น เมื่อเข้าถึงวิธีการที่ถูกต้อง ผลก็ย่อมปรากฏ เป็นธรรมดา...

๕.วิธีคิดตามหลักการและความมุ่งหมาย (อรรถธรรมสัมพันธ์) พึงพิจารณาให้เข้าใจถ่องแท้ในหลักการและจุดมุ่งหมาย ไล่เรียงให้เห็นชัดถึงความสัมพันธ์ก่อนจะลงมือปฏิบัติ หรือทำตามหลักการวิธีการนั้นๆ เพื่อให้ได้ผลตามความมุ่งหมาย เป็นการขจัดความเชื่ออย่างงมงาย ที่ไร้หลักการ ขาดหลักธรรม ห่างไกลความจริง เป็นการสกัดกั้นความคิดแบบเพ้อฝันของบรรดานักจิตนิยมที่ชอบขายความคิด...เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติที่ถูกชอบโดยธรรม สมควรแก่ธรรม...

๖.วิธีคิดแบบคุณโทษ และทางออก เป็นวิธีคิดด้วยการเปิดจิตยอมรับความจริง มองสิ่งทั้งหลายตามความจริงให้ครบทุกด้าน ทุกแง่ ทุกมุม ดุจการมองเหรียญ ๒ หน้า แถมสันเหรียญอีกส่วนหนึ่ง อันพึงรู้เห็นให้ละเอียด ไม่ผลีผลามสรุป จะผิดพลาดได้อย่างง่ายๆ กลายเป็นหมูวิ่งชนบังตอโดยไม่รู้ตัว การคิดแบบนี้มีปัญญานำสติ รู้เท่ารู้ทันกับสภาวธรรมที่ปรากฏ เป็นวิธีคิดที่ต่อเนื่องกับการปฏิบัติมาก ผู้รู้จักคิดแบบนี้ จะเป็นบุคคลที่มีความรอบคอบ เข้าใจในหลักความจริงของโลกธรรมว่า มี ๒ ส่วน แย้งกันอยู่เสมอ เช่น เมื่อมีส่วนดี (อัสสาทะ) ก็ย่อมต้องมีส่วนเสีย (อาทีนวะ) สำคัญยิ่งของหลักการคิดแบบเห็นคุณโทษนั้น จะได้ประโยชน์กับทางออกจากปัญหา ซึ่งไม่เข้าไปติดยึดในสองส่วนดังกล่าว เรียกว่า นิสสรณะ (ทางออก)


----------
ที่มา : เพื่อชีวิตที่มีคุณค่า...ควรปฏิบัติตามหลักศาสนาพุทธอย่างไร? (ตอน ๗)
รูปภาพประกอบกระทู้จากอินเตอร์เน็ต
ข้อความโดย: i mah'ta
« เมื่อ: ตุลาคม 08, 2010, 02:56:11 am »

เพื่อชีวิตที่มีคุณค่า...ควรปฏิบัติตามหลักพุทธศาสนาอย่างไร? (ตอน ๖)


 
 
ปุจฉา : ขอทราบแนวทางการปฏิบัติตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนา เพื่อนำมาพัฒนาชีวิตให้มีคุณภาพ...จะได้มั่นคงดำรงอยู่ในโลกปัจจุบันได้อย่างไม่วุ่นวาย ไม่เร่าร้อน เพื่อความสงบสุขของชีวิต...
 
โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส
 
พระสีวลีเถระ/มหาโพธิสมาคม
พุทธคยา อินเดีย
 
 
วิสัชนา : หากจะนำ “หลักโยนิโสมนสิการ” มากล่าว คงจะต้องขออนุญาตสรุปย่อพอเข้าใจ เพื่อเป็นแนวทางในการศึกษา จึงขอแนะนำให้สาธุชนขวนขวายไปเสาะแสวงหาความรู้เพิ่มเติมจากหนังสือประกอบการศึกษาทางพุทธศาสนา ที่ผู้รู้จำนวนมากได้แต่งตำราเผยแพร่กับในสังคมยุคปัจจุบัน ซึ่งไม่อัตคัดตำรา หนังสือ แหล่งความรู้จากภายนอก หรือเรียกว่า ปรโตโฆสะ (เสียงจากผู้อื่น) เพื่อจะได้นำไปสู่การพัฒนาความคิด ความเห็นให้ชอบ ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม โดยการน้อมนำความรู้อันดีงามเหล่านั้น เข้าสู่กระบวนการพิจารณาโดยแยบคาย (โยนิโสมนสิการ) เพื่อสร้างทิฏฐิอันชอบโดยธรรม อันจะนำไปสู่การปฏิบัติที่ถูกต้องตามธรรม สมควรแก่ธรรม (ธรรมานุธรรมปฏิปัตติ)
 
เมื่อสังเคราะห์ลงมาโดยสรุปได้ชัดเจนว่า “การคิดเป็น คิดถูก หรือการรู้จักคิดนั้น จะนำไปสู่แสงสว่างแห่งชีวิต” เพื่อความสำเร็จตามเป้าประสงค์ที่ต้องการก้าวออกจากความทุกข์ จึงต้องรู้จักคบหากัลยาณมิตร เพื่อได้รับฟังเสียงที่ดีงาม สิ่งที่ถูกต้อง (ปรโตโฆสะ) ฯลฯ และการรู้จักโยนิโสมนสิการ ซึ่งได้แก่ การรู้จักนำมาคิดพิจารณาโดยแยบคาย เพื่อสร้างองค์ความรู้อันนำไปสู่ปัญญาหรือแสงสว่างแห่งดวงจิต จึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนซึ่งกันและกัน สำหรับผู้ยังต้องศึกษา จนกว่าจะก้าวถึงที่สุดแห่งเส้นทางธรรม...
 
หากจะขอกล่าวถึง ความหมายของ “โยนิโสมนสิการ” นั้น คงจะแปลตามรูปศัพท์ได้ว่า การกระทำในใจโดยแยบคาย (โยนิสะ = แหล่งเกิดปัญญา อุบาย วิธีฯ, มนสิการ = การทำในใจ การคิด คำนึงฯ) ซึ่งอาจจะสรุปใจความตามรูปศัพท์ให้พอเข้าใจได้ว่า เป็นกระบวนการคิดอย่างมีทิศทาง คิดตามเหตุ คิดตามผล คิดอย่างมีเป้าหมาย เพื่อนำไปสู่ความรู้แจ้งหรือเกิดปัญญาอันชอบ ท่านผู้รู้มักจะสรุปกันว่า เป็นความคิดอย่างถูกวิธี มีระเบียบ มีเหตุผล และเร้ากุศล ทั้งนี้ ได้สรุปไว้อย่างชัดเจนว่า “โยนิโสมนสิการ” นั้น เป็นปัจจัยให้เกิดปัญญา คือ เกิดสัมมาทิฏฐิ
 
เพื่อเข้าสู่ธรรมกระแส บนหนทางแห่งอริยมรรค อันมีองค์ธรรม ๘ ประการ ซึ่งสัมมาทิฏฐินั้น แท้จริง คือตัวปัญญา อันนำไปสู่การมีวิชชาเกิดขึ้น เพื่อดำเนินไปสู่ความดับทุกข์ในชีวิต หรือการบรรเทาความทุกข์ด้วยความเข้าใจ หรือรู้เท่าทันโลก ในวิถีแห่งโลกียสัมมาทิฏฐิ ซึ่งเป็นความเห็นชอบของบุคคลที่ต้องเกี่ยวข้องอยู่กับโลกสืบเนื่องการดำเนินชีวิตบนหลักศีลธรรม เพื่อการดำรงความดีงามของตนไว้ในฐานะทางโลก ซึ่งจะต้องอาศัยกำลังศรัทธาในการยึดเหนี่ยวจิต ชักนำความคิดไปทางกุศลธรรม รู้จักใช้หลักโยนิโสมนสิการ เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในการดำเนินไปของชีวิต เพื่อรู้ประโยชน์ รู้คุณค่าความหมายแห่งศีลธรรม ในการนำไปสู่การประกอบความดี
 
จึงต้องมีกำลังศรัทธาชักนำจิตให้รู้จักคิดพินิจตามธรรม (โยนิโสมนสิการ) โดยการได้รับรู้ รับฟัง ได้รับการศึกษาในสิ่งที่ดีงาม ถูกต้อง มีประโยชน์โดยธรรม (ปรโตโฆสะ) ซึ่งเกิดจากการได้คบค้ากับผู้รู้หรือบัณฑิต ซึ่งเป็นกัลยาณมิตรที่ควรค่า จึงนำไปสู่การรู้จักคิดอย่างมีปัญญา เพื่อมุ่งขจัดความไม่รู้หรืออวิชชาให้หมดไป ดังที่จะกล่าวโดยสรุปถึงลำดับวิธีการแห่งการคิดพิจารณาโดยแยบคาย (โยนิโสมนสิการ) ตามหลักธรรมคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนา อันมีประโยชน์ยิ่ง...ดังนี้
 
 
อ่านต่อพรุ่งนี้
 
 
-----------------
ที่มา : เพื่อชีวิตที่มีคุณค่า...ควรปฏิบัติตามหลักพุทธศาสนาอย่างไร? (ตอน ๖)
รูปภาพประกอบกระทู้จากอินเตอร์เน็ต
ข้อความโดย: i mah'ta
« เมื่อ: ตุลาคม 08, 2010, 02:54:47 am »

เพื่อชีวิตที่มีค่า...ควรปฏิบัติตามหลักพุทธศาสนาอย่างไร? (ตอน ๕)
 
 

 
 
ปุจฉา : ขอทราบแนวทางการปฏิบัติตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนา เพื่อนำมาพัฒนาชีวิตให้มีคุณภาพ...จะได้มั่นคงดำรงอยู่ในโลกปัจจุบันได้อย่างไม่วุ่นวาย ไม่เร่าร้อน เพื่อความสงบสุขของชีวิต..
 
โดย....พระอาจารย์อารยะวังโส
 
พระสีวลีเถระ/มหาโพธิสมาคม
พุทธคยา อินเดีย
 
วิสัชนา : ก่อนจะนำเข้าสู่กระบวนการศึกษาเพื่อ “การรู้จักคิดพินิจโดยแยบคาย” ตามที่กล่าวมานั้น ว่าจะ ทำอย่างไร? เพื่อการรู้ให้ทันโลก ก้าวให้ทันธรรม เพื่อการหยุดจิตไว้ที่ธรรม จนนำไปสู่กระบวนการคิดพิจารณาที่มีความรู้เท่ารู้ทัน (ปัญญานุสติ) ต่อการดำเนินชีวิต เพื่อสามารถใช้ยับยั้งจิต เพื่อให้รู้จักนึกคิดพินิจธรรมอย่างเร้ากุศล มีเหตุผล โดยมีสติตามรู้ทันในสภาวธรรมที่ปรากฏยู่เบื้องหน้า และสามารถทำให้จิตหยุดซัดส่ายฟุ้งซ่านไปในเรื่องราวต่างๆ ไม่ว่าในอดีตที่ผ่านไป หรือในอนาคตที่ยังมาไม่ถึง โดยการคำนึงอยู่ที่ปัจจุบัน เพื่อความรู้เท่าทันโลกขันธ์ที่ปรากฏจนเห็นโทษเห็นภัย หรือรู้คุณประโยชน์ในสภาวธรรมนั้นๆ อันจะนำไปสู่การจัดสัมพันธภาพต่อการวางตัวอยู่ร่วมกับโลกได้โดยไม่สูญเสียคุณความดี และขณะเดียวกันยังสามารถเพิ่มพูนคุณธรรมได้อีกด้วย
เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ยิ่งขึ้นในการสร้างพื้นฐานวุฒิธรรม ซึ่งจะเกิดมีได้โดยจะต้องรู้จักคิดพิจารณาโดยแยบคาย ตามหลักโยนิโสมนสิการในพระพุทธศาสนา ที่เป็นกระบวนการศึกษาอันจะนำไปสู่แสงสว่างแห่งชีวิต มีการรู้จักคิดอย่างมีสติปัญญา ซึ่งจะนำไปสู่การปฏิบัติตนให้ถูกต้อง มีประโยชน์ และสมประสงค์โดยธรรม สามารถโน้มนำชีวิตไปสู่ความสุขสงบ ให้กับผู้ประพฤติที่ดำรงชีวิตอยู่อย่างมีแบบแผนตามวิถีพุทธ ดุจดังผู้มีแสงเทียนนำทาง มีแสงธรรมนำจิต การดำเนินชีวิตก็จะไม่อับเฉา จะไม่มัวเมาจนมืดมิด เพราะรู้จักคิด รู้จักนึกตรึกตรอง อย่างผู้มีการศึกษา สมดังคำกล่าวที่ว่า “การศึกษาของชีวิต เริ่มต้น เมื่อคนรู้จักคิดพิจารณา” ซึ่งควรนำมาพินิจว่า จะคิดอย่างไรจึงจะเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง ตามแนวการศึกษาเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติชอบในพระพุทธศาสนา เพื่อแสงสว่างแห่งชีวิต ดังลิขิตธรรมที่ว่า
 
แสงเทียน แสงธรรม นำชีวิต
แสงธรรม นำสู่จิต ลิขิตหมาย
แสงเทียน นำส่องทาง สว่างกาย
แสงธรรมหมาย นำดวงจิต สว่างธรรม!!
 
หากนำบทลิขิตธรรมดังกล่าวมาพิจารณาก็จะพบความจริงว่า “ความสว่าง ย่อมให้คุณเสมอ” ไม่ว่าจะเป็นแสงสว่างทางโลก ดังแสงเทียนที่นำทาง เพื่อการดำเนินไปของชีวิตสัตว์ทั้งหลาย ซึ่งคงหมายถึง การศึกษาหาความรู้วิทยาการทางโลก การศึกษาเพื่ออาชีวะแห่งตน เพื่อประโยชน์แห่งการดำรงชีวิตในการดำเนินอยู่ในฐานะสัตว์สังคม ที่จะต้องถึงพร้อมด้วยปัจจัย ๔ จึงจะได้ชื่อว่า “มีความสุข” ตามแนวอามิสสุข ซึ่งจะได้มาด้วยการประกอบสัมมาอาชีพที่เกิดจากความรู้ความสามารถแห่งตน ที่จะนำไปแลกเปลี่ยนให้ได้มาในปัจจัยต่างๆ ตามที่ประสงค์นั้นๆ ...โดยมุ่งหวังเพื่อการบรรเทาทุกข์ ลดความบีบเค้น บีบคั้น ที่เกิดผลต่อรูปนาม (ขันธ์ ๕) นี้ชั่วขณะ เพื่อความสมประสงค์ตามความคิด และเมื่อต้องการใหม่ ก็ต้องขวนขวายเสาะหาแสวงหาเพิ่มเติม หรือให้ได้มาเพื่อทดแทน ชดเชย สิ่งที่หมดไป จึงไม่รู้จักจบไม่รู้จักสิ้นกับความขวนขวายดิ้นรนด้วยอำนาจแห่งความทะยานอยาก (ตัณหา) ซึ่งไม่ว่าจะเหนื่อยหนักอย่างไร ก็ต้องทำ จะนำไปสู่การมุ่งแสวงหา (ปริเยสนา) อย่างไม่รู้จบ!! ดังปรากฏให้เห็นจริงตามหลักปัจจยาการที่ว่า....
 
ด้วยความทะยานอยาก (ตัณหา) เป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่ง คือ การนำไปสู่การได้มา (ลาภะ)
อาศัยการได้มา (ลาภะ) จึงนำไปสู่การกะกำหนด (วินิจฉัย)
อาศัยการกะกำหนด (วินิจฉัย) จึงนำไปสู่ความชอบชิดติดพัน (ฉันทราคะ)
อาศัยความชอบชิดติดพัน (ฉันทราคะ) จึงนำไปสู่ความหมกมุ่นฝังใจ (อัชโฌสาน)
อาศัยความหมกมุ่นฝังใจ (อัชโฌสาน) จึงมีการยึดถือครอบครอง (ปริคคหะ)
อาศัยการยึดถือครอบครอง (ปริคคหะ) จึงมีความตระหนี่ (มัจฉริยะ)
และอาศัยความตระหนี่ (มัจฉริยะ) จึงนำไปสู่ความหวงแหน (อารักขะ)
และด้วยอาศัยการอารักขะ สืบเนื่องการอารักขะ จึงนำไปสู่การทะเลาะวิวาท แก่งแย่ง รบราฆ่าฟัน หรือเบียดเบียนซึ่งกันและกัน ไม่จบไม่สิ้น หรือประกอบบาปอกุศลธรรมทั้งหลายอย่างไม่เกรงกลัวผลกรรม ความชั่วที่จะตอบสนองคืนกลับ ทั้งนี้ด้วย ไฟโลภะ ไฟโทสะ ไฟโมหะ ที่ก่ออยู่ในดวงจิตของสัตว์เหล่านั้น “จึงไม่สามารถลดละดับได้เลย ด้วยความรู้วิทยาการทางโลก” เพราะมิได้มีจุดมุ่งหมายของการศึกษา อันเป็นไปเพื่อดับทุกข์ให้สิ้น ซึ่งแตกต่างจากความรู้ทางธรรมในวิถีพุทธ ตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า อันมีจุดมุ่งหมายชี้ตรงไปที่ธงความดับทุกข์ หรือพระนิพพาน ดังเช่นพระอรหันตสาวกทั้งหลาย ที่ศึกษาปฏิบัติจนพบแสงสว่างแห่งธรรม และเข้าถึงความดับทุกข์ด้วยพุทธศาสน์ มุ่งนำผู้ศึกษาไปสู่ความรู้แจ้งในหลักอริยสัจธรรม
 
ดังนั้น จึงต้องขวนขวาย เพียรหา แสงแห่งธรรม เพื่อนำจิตไปสู่ความสว่างธรรม อันหมายถึง การรู้จริง รู้แจ้ง และรู้จบ ในเรื่องโลก จึงสามารถอยู่อย่างเหนือโลกได้ด้วยความรู้ในโลกุตตรธรรม ที่ปรากฏมีอยู่เฉพาะในพระพุทธศาสนา ทั้งนี้จะต้องรู้จักคิดพิจารณาโดยแยบคายในบทธรรมคำสั่งสอนนั้นๆ จึงจะเกิดปัญญาที่จะนำไปสู่การรู้ในประโยชน์แห่งธรรม เพื่อการใช้หลักธรรมดำเนินชีวิตไปหาประโยชน์ อันสามารถนำไปสู่ความสุขที่แท้จริง ซึ่งได้แก่ ความสิ้นทุกข์ หรือ พระนิพพาน
 
 
อ่านต่อฉบับหน้า
 
------------
ที่มา : เพื่อชีวิตที่มีค่า...ควรปฏิบัติตามหลักพุทธศาสนาอย่างไร? (ตอน ๕)
รูปภาพประกอบกระทู้จากอินเตอร์เน็ต
ข้อความโดย: i mah'ta
« เมื่อ: ตุลาคม 08, 2010, 02:53:12 am »

เพื่อชีวิตที่มีคุณค่า...ควรปฏิบัติตามหลักศาสนาพุทธอย่างไร (ตอน๔)
 
ปุจฉา : ขอทราบแนวทางการปฏิบัติตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนา เพื่อนำมาพัฒนาชีวิตให้มีคุณภาพ...จะได้มั่นคงดำรงอยู่ในโลกปัจจุบันได้อย่างไม่วุ่นวาย ไม่เร่าร้อน เพื่อความสงบสุขของชีวิต..
 
โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส.
 
พระสีวลีเถระ/มหาโพธิสมาคม พุทธคยา อินเดีย
 
 

 
 
วิสัชนา : “กฎอนัตตา” จึงเป็นแก่นธรรมแท้ในพระพุทธศาสนาที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ชอบ ค้นพบด้วยพระองค์เอง ทรงประกาศพระธรรมคำสั่งสอน เพื่อหมู่มหาสัตว์ทั้งหลายให้รู้แจ้ง เห็นจริง ในกฎอนัตตาดังกล่าว เพื่อเข้าถึงชั้นความจริงสูงสุด ที่เรียกว่า อริยสัจ ทั้งนี้เพื่อละวางคลายออกจากการยึดติดในโลกขันธ์ หรือ รูปนาม (ขันธ์ ๕) นี้ เพื่อความดับทุกข์ให้สิ้น...
 
การละวางคลายออกจากความรัก ความโกรธ หรือ ความชอบความไม่ชอบ ไม่ว่าในสิ่งใดๆ ทั้งที่ถูกใจและไม่ถูกใจ ผู้ประพฤติธรรมจึงต้องพัฒนาจิตใจให้มีความเห็นรู้แจ้งจริงตามกฎอนัตตาดังกล่าว อันจะนำไปสู่การตกผลึกความรู้ที่สร้างปัญญาธรรมให้เกิดขึ้นในเบื้องต้น เพื่อเข้าใจความจริงในขั้นปรมัตถธรรม ที่ว่า “ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา...ไม่ใช่ตัวตนของเรา” ด้วยการรู้เห็นสภาวะความไม่เที่ยงของโลกขันธ์หรือรูปนามนี้ ซึ่งหากมีอุปาทานยึดมั่น ยึดถือ ย่อมรวมลงที่ความทุกข์ อันมีสามัญลักษณะที่ปรากฏ คือ ความเกิดดับ สืบเนื่องไปในวิถีของสังสารวัฏ หรือ วัฏสงสาร
 
ดังนั้น การพัฒนาความรู้จนนำไปสู่ความเห็นชอบ (สัมมาทิฏฐิ) สามารถแทงตลอดเข้าไปในธรรม จนเข้าถึงแก่นธรรมอนัตตา และพบว่าความทุกข์เกิดขึ้น เพราะอุปาทานการยึดถือในความเป็น ตัวเรา...ของเรา (อหังการ มมังการ) จึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุดของการเรียนรู้ในพระพุทธศาสนา ซึ่งทำให้ผู้รู้และเข้าถึงธรรมดังกล่าวนั้น เกิดดวงตาธรรม (The Eyes of Truth) เกิดตกผลึกความรู้ในชั้นของจิต (ผู้รู้) ว่า “ยังกิญจิ สมุทยธัมมัง สัพพันตัง นิโรธ ธัมมันติ” แปลให้ชัดตรงกับกฎอนัตตาว่า “สิ่งใดเกิดมาจากเหตุ สิ่งนั้นๆ ย่อมดับสิ้นไป เพราะเหตุดับ...”
 
เมื่อพิจารณาให้แยบคาย เข้าให้ถึงเหตุปัจจัยของความจริงอันเกี่ยวกับโลกและชีวิต เพื่อความรู้เข้าใจตามสภาวะธรรมชาติ จึงกลายเป็นหลักการเรียนรู้ในพระพุทธศาสนาที่เรียกว่า “โยนิโสมนสิการ” ซึ่งเป็นองค์ประกอบภายในที่มีบทบาทสำคัญมากในการศึกษา เพื่อเข้าให้ถึงตัวสภาวธรรมที่แท้จริง อันเป็นการเข้าถึงแก่นแท้ของปัญหา ซึ่งนำไปสู่การรู้จริงในเหตุปัจจัย อันทำให้เกิดสภาวธรรมหรือปัญหานั้นๆ เพื่อออกมาจากอำนาจของค่านิยม ที่เกิดจากการหล่อหลอมแห่งสังคม และเพื่อออกมาจากอารมณ์อันปรุงแต่งไปตามสิ่งเร้า ซึ่งเกิดจากภายในจิตใจของตน หรือกล่าวโดยย่อพอเข้าใจได้ไม่ยากว่า เพื่อออกมาจากอำนาจค่านิยมภายนอก และออกมาจากอำนาจความทะยานอยาก (ตัณหา) จากภายใน
จึงต้องรู้จักกระบวนการศึกษาปฏิบัติในพระพุทธศาสนาที่มีหลักการเรียนรู้ เพื่อนำไปสู่ปัญญาความรู้แจ้งในสภาวธรรมนั้นๆ ที่เรียกว่า กระบวนการโยนิโสมนสิการ ที่แปลสั้นๆ ว่า “การพิจารณาโดยแยบคาย” หรือพูดให้ฟังง่ายๆ ว่า “การรู้จักคิด” ซึ่งเป็นหัวใจในการศึกษาดังคำกล่าวที่ว่า “การศึกษาเริ่มต้น เมื่อคนรู้จักคิด” ส่วนจะพิจารณาอย่างไร...จะใช้หลักธรรมอันใด เพื่อหยุดจิตไว้ที่ธรรม... เพื่อน้อมนำธรรมะของพระผู้มีพระภาคเจ้า มารักษาจิตให้ไม่หวั่นไหวต่ออำนาจโลกที่แก่กล้าวัตถุนิยม ตามที่ปุจฉามา ก็เชิญติดตามพิจารณาในตอนต่อไป
 
อ่านต่อฉบับพรุ่งนี้
 
 
------------------------
ที่มา : เพื่อชีวิตที่มีคุณค่า...ควรปฏิบัติตามหลักศาสนาพุทธอย่างไร (ตอน๔)
ข้อความโดย: i mah'ta
« เมื่อ: ตุลาคม 08, 2010, 02:51:59 am »

เพื่อชีวิตที่มีคุณค่าควรปฏิบัติตามหลักศาสนาอย่างไร (ตอน๓)
 
 

 
 
 
ปุจฉา : ขอทราบแนวทางการปฏิบัติตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนา เพื่อนำมาพัฒนาชีวิตให้มีคุณภาพ...
 
โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส
 
ปุจฉา : ขอทราบแนวทางการปฏิบัติตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนา เพื่อนำมาพัฒนาชีวิตให้มีคุณภาพ...จะได้มั่นคงดำรงอยู่ในโลกปัจจุบันได้อย่างไม่วุ่นวาย ไม่เร่าร้อน เพื่อความสงบสุขของชีวิต...
 
พระสีวลีเถระ
 
มหาโพธิสมาคม พุทธคยา อินเดีย
 
 
วิสัชนา : จึงมีนัยแห่งความหมายอันเดียวกัน แม้จะแตกต่างฐานะ แต่ด้วยความมีหัวใจอันเดียวกัน คือ ศรัทธาในพระรัตนตรัย จึงมีความต้องการที่ใคร่จะรู้แนวทางการปฏิบัติตน ตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนา เพื่อความสงบสุขแห่งชีวิต และเพื่อความไม่หวั่นไหว โอนเอนไปสู่วิถีวัตถุนิยม จนเสียสภาพความเป็นสัตว์ประเสริฐ ที่ต้องแอบอิงหลักศีลธรรม เพื่อความเข้าใจเกี่ยวกับโลกที่ถูกต้องตามหลักแห่งความดี อันเป็นไปตามคลองธรรม สอดคล้องกับศีลธรรม ซึ่งทำให้เกิดความเห็นชอบในความจริงอันปรากฏอยู่ในรูปแบบ กรรมนิยาม ว่า “สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของของตน...มีกรรมเป็นผู้ให้ผล...มีกรรมเป็นแดนเกิด...มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์...มีกรรมเป็นผู้ติดตาม จักทำกรรมอันใดไว้...จักต้องได้รับผลของกรรมนั้น”
 
จึงไม่ยากต่อการนำทั้งสองท่าน ไปสู่ความเข้าใจในหลักธรรม อันควรแก่การถือปฏิบัติตามหลักพระพุทธศาสนา ตามที่ปุจฉามา ซึ่งมีนัยแห่งความหมายที่สะท้อนให้เห็นถึงความศรัทธาที่มีต่อคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนาว่า “สามารถระงับยับยั้งความทุกข์ ความเร่าร้อน และสามารถดับทุกข์ได้จริง” อีกประเด็นสำคัญอันหนึ่งคือ ให้หลักยึดที่ถูกต้อง เพื่อความไม่หวั่นไหวในทุกสถานการณ์แห่งสังคม ที่ร้อนแรงด้วยไฟ ๓ กอง จึงขอนำพระสัจธรรมอันควรค่าแก่การบูชามาเพื่อการทำปัญญาแห่งสาธุชนผู้ใคร่ในการศึกษาทั้งหลาย เพื่อการนำไปสู่ประโยชน์ในความเข้าใจในเบื้องหน้า มีความว่า...
 
...อารมณ์วิจิตรทั้งหลายในโลก ย่อมดำรงอยู่ ตามสภาพของมันอย่างนั้นเอง...ดังนั้นธีรชนทั้งหลายจึงขจัด (แต่เพียง) ด้วยความอยาก (ตัณหาฉันทะ) ในอารมณ์อันวิจิตรเหล่านั้น (คือมิใช่กำจัดอารมณ์อันวิจิตร)...
 
อารมณ์วิจิตรทั้งหลายในโลก หาใช่เป็นกามไม่!! ราคะที่เกิดจากความคิดของตน (ต่างหาก) เป็นกาม!! ดังนั้นธีรชนทั้งหลายจึงขจัด (แต่เพียง) ตัวความอยาก (ตัณหาฉันทะ) ในอารมณ์อันวิจิตรเหล่านั้น...
จากสาระธรรมที่ยกขึ้นมากล่าวบูชาดังกล่าว มีคุณค่าอย่างยิ่งต่อสาธุชนผู้ใคร่หาทางออกจากวังวนของความว้าวุ่น วกวน สับสน ซึ่งเกิดจากวิถีจิต หรือ จิตวิถี ที่วิ่งแล่นเข้าไปรับรู้เกี่ยวเนื่องในอารมณ์นั้นๆ ที่มาเยือน อันเป็นธรรมชาติของจิตที่ทำตนดุจเป็นเจ้าของบ้านคอยต้อนรับแขกอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย...ทั้งนี้ด้วยอำนาจของกิเลสในจิตสันดานที่ทรงพลังในการขับเคลื่อน ผลักดันให้เป็นไปตามสภาพของกิเลสผู้เป็นเจ้าของ ซึ่งให้ผลทั้งบุญและบาป...ทุกข์หรือสุขก็ได้ อันเป็นไปตามเหตุปัจจัยนั้นๆ...
 
ดังนั้น การรู้เท่าทันความอยากด้วยสติปัญญา...เห็นแล้ว...รู้แล้ว จึงละอำนาจความอยากที่ก่อเกิดในจิตสันดานให้ทัน จึงเป็นการขุดรากตัดโคตรเหง้าของปัญหาหรือเหตุปัจจัยนั้นๆ...สภาวธรรมทั้งหลายก็ย่อมดับสิ้นไป
 
นี่! เป็นกฎธรรมดา ซึ่งบุคคลที่ฝึกฝนตนดีแล้ว มีสติกำหนดรู้พร้อมอยู่เบื้องหน้า ก็สามารถดับทุกข์ได้ทุกขณะ โดยการเฝ้าระวังรักษาดูแลจิตใจของตน ให้รู้เท่า รู้ทัน เพื่อละวางคลายออกจากการเข้าไปยึดถือในความคิด...ในอารมณ์นั้นๆ
 
โดยสรุปตามธรรม ความสุข...ความทุกข์ จึงอยู่ที่คุณภาพหรือประสิทธิภาพแห่งจิตของเราเอง ว่า ทรงคุณภาพทางธรรม มากน้อยแค่ไหน...หากเราฝึกฝนจิตดีแล้ว มีสติปัญญาควบคุมให้จิตอยู่ในวิถีอันเหมาะควร แยกแยะ สาระ หรือ อสาระ ได้ รู้จักวิธีการเปลื้องอารมณ์ออกจากจิตเป็น จากการตามดูรู้เห็นจิตหรือตัวผู้นึกคิดได้ในทุกขณะ...ปัญญาก็ย่อมตั้งอยู่ในจิตนั้นที่พร้อมอยู่ในความแน่วแน่ไม่ซัดส่าย ยักย้ายไปตามอารมณ์วิจิตรทั้งหลายในโลก ซึ่งดำรงอยู่ตามสภาพของมัน อย่างนั้นเอง อันเป็นปกติของโลกขันธ์นี้
 
พระพุทธศาสนาของเรา ไม่ได้สอนให้เราขวางโลก แก้โลก ทำลายโลก เกลียดชัง หรือ ยินดีต่อโลก แต่สอนให้เราเข้าใจธรรมชาติของโลกขันธ์ ว่า...มันเป็นเช่นนี้เอง...ไม่เปลี่ยนไปจากนี้ และไม่แปรผันเป็นอย่างอื่น ทั้งนี้เพราะสภาพธรรมทั้งหลาย (ไม่ว่า โลกุตตรธรรม หรือ โลกียธรรม) ล้วนแล้วแต่เป็นอนัตตา...
 
 
อ่านต่อฉบับวันจันทร์
 
----------
ที่มา : http://bit.ly/bdEri1
ข้อความโดย: i mah'ta
« เมื่อ: ตุลาคม 08, 2010, 02:49:18 am »

เพื่อชีวิตที่มีคุณค่าควรปฏิบัติตามหลักศาสนาอย่างไร (ตอน ๒)
 
 

 
ปุจฉา : ขอทราบแนวทางการปฏิบัติตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนา เพื่อนำมาพัฒนาชีวิตให้มีคุณภาพ... จะได้มั่นคงดำรงอยู่ในโลกปัจจุบันได้อย่างไม่วุ่นวาย ไม่เร่าร้อน เพื่อความสงบสุขของชีวิต...
 
โดย....พระอาจารย์อารยะวังโส
 
พระสีวลีเถระ
มหาโพธิสมาคม พุทธคยา อินเดีย
 
วิสัชนา : คนดี... คนเก่ง ถูกฆ่าตายจากระบบดังกล่าวอย่างไร้คุณธรรมมิใช่น้อย มีการก่อกลุ่มทุนนิยมขนาดใหญ่เกิดขึ้นมาก และขยายอิทธิพลทางธุรกิจไปทั่ว ในขณะที่กลุ่มขนาดกลางและขนาดเล็กเริ่มอยู่ยาก หากขาดการปรับตัวให้เข้ากับสภาพสังคม ซึ่งแน่นอนต้องพร้อมในทุกรูปแบบ แม้จะผิดกฎหมายและไม่ถูกต้องกับศีลธรรม!!
 
จากสภาพปัญหาที่เกิดจากการขับเคลื่อนของภาคสังคมที่ร้อนแรงด้วยไฟแห่งกิเลสจนละลายกรอบศีลธรรมอันดีของภาคสังคมเอง ดังปรากฏให้เห็นเป็นอยู่ในปัจจุบันนั้น จึงเป็นเรื่องยากยิ่งต่อการรักษาความดี รักษาคุณธรรม หรือรักษาแนวคิดที่มีศีลธรรมของบุคคลโดยทั่วไปที่ยังต้องเกี่ยวข้องกับโลก จึงใคร่ขอแนวทางธรรมที่สามารถปฏิบัติได้ สำหรับการอยู่ในวงจรการค้าที่มั่นคงด้วยคุณธรรมและความดี ตามหลักพระธรรมคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนา ...ด้วยความเคารพ
 
จึงนมัสการมาด้วยความเคารพ
ดร.วีรไท สันติประภพ
 
 
จาก “คำถามของ ดร.วีรไท” และ “ปุจฉาของพระสีวลีเถระ” แม้จะมีรูปพยัญชนะความหมายแตกต่างกัน แต่ก็มีสาระธรรมอันเดียวกันอย่างน่าแปลกใจ อันควรแก่การพิจารณาหาความจริงในความหมายแห่งคำถาม และคำปุจฉาว่าสืบสานมาถึงจุดเดียวกันได้อย่างไร!? แม้ว่าพระสีวลีเถระจะมีปุจฉามาอย่างสรุปกระชับสั้น
 
และแม้ว่า ดร.วีรไท สันติประภพ นักวิชาการหนุ่มทางด้านเศรษฐศาสตร์ จะพรรณนาเล่าเรื่องมาพอที่จะให้เห็นภาพความจริง จึงนำมาสู่การค้นหาความหมายในรูปคำถามซึ่งตรงกันว่า “แล้วจะปฏิบัติตนอย่างไรในโลกยุคโลกาภิวัตน์ที่เจริญรุ่งเรืองทางด้านเทคโนโลยี ก้าวไกลทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ ทันสมัยทางด้านนวัตกรรมและรูปแบบการสื่อสาร แต่เสื่อมถอยในทางด้านความรู้สึกที่ดี คุณธรรม และคุณความดีประจำจิตใจ... จนนำไปสู่รูปแบบสังคมที่ไร้กรอบศีลธรรม...
 
จากการก้าวกระโดดในความเจริญด้านความรู้ ความทันสมัยในทางโลกนิยม ซึ่งมุ่งเน้นวัตถุเป็นใหญ่ โดยมีจุดหมายสูงสุดของความต้องการที่แปลงค่าเป็นความสุข เมื่อถึงพร้อมในปัจจัย ๔ หรือครบถ้วนด้วยโลกธรรมด้าน...ลาภ ...ยศ ...สรรเสริญ ...สุข จึงทำให้สัตว์สังคมลืมความเป็นจริง อันเป็นสัจธรรมของการดำรงชีวิตที่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขของกฎธรรมชาติ ด้วยอำนาจโลภจิต และโทสจิต ที่แก่กล้าเข้มแข็ง จนสืบจิตสันดานให้ลุ่มหลง มัวเมา
เพิ่มพูนโมหจิตให้ทรงอำนาจในการเปลี่ยนแปลงวิถีความคิดนึก ให้ละทิ้งถิ่นฐาน บ้าน ศีลธรรม และอำนาจคุณความดีที่อ้างอิงหลักธรรมไปเสียสิ้น... อย่างไม่เคยคิดที่จะกลับมาเหลียวแลเลย... จึงกลายเป็นการก้าวย่างสู่การกลียุคอย่างรวดเร็วเกินกว่าคิด เราทั้งหลายจึงพบเห็นรอยต่อระหว่าง ๒ เขตแดนได้อย่างชัดเจน อันได้แก่ โลกและธรรม และพบว่าผู้มุ่งไปฝั่งโลกนั้นมีมากเหลือคณานับ ส่วนผู้มุ่งมาฝั่งธรรมนั้นสามารถนับตัวบุคคลได้... นี้คือปรากฏการณ์อันเป็นปกติในโลกวัตถุนิยม จึงไม่แปลกที่มีปุจฉาจากมหาโพธิสมาคมของอินเดีย (พุทธคยา) โดยพระสีวลีเถระ รองเลขาธิการมหาโพธิสมาคมฯ และคำถามของ ดร.วีรไท สันติประภพ นักเศรษฐศาสตร์หนุ่มจากประเทศไทย
 
 
อ่านต่อฉบับพรุ่งนี้
 
 
-------------
ที่มา : เพื่อชีวิตที่มีคุณค่าควรปฏิบัติตามหลักศาสนาอย่างไร (ตอน ๒)
ข้อความโดย: i mah'ta
« เมื่อ: ตุลาคม 08, 2010, 02:47:53 am »

เพื่อชีวิตที่มีคุณค่า...ควรปฏิบัติตามหลักศาสนาพุทธอย่างไร (ตอน๑)
 

 
 
 
ปุจฉา : ขอทราบแนวทางการปฏิบัติตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนา เพื่อนำมาพัฒนาชีวิตให้มีคุณภาพ... จะได้มั่นคงดำรงอยู่ในโลกปัจจุบันได้อย่างไม่วุ่นวาย ไม่เร่าร้อน เพื่อความสงบสุขของชีวิต...
 
โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส
 
พระสีวลีเถระ
มหาโพธิสมาคมพุทธคยา อินเดีย
 
 
วิสัชนา : ขอเจริญพรสาธุชนผู้มีศรัทธาในธรรมและประสงค์จะศึกษาปฏิบัติธรรม เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตไปสู่ความมีคุณค่า... คุณความดีและคุณธรรม
 
จากปุจฉาที่ยกขึ้นมาในครั้งนี้ ไม่ใช่อาตมายกขึ้นมาเอง แต่เป็นหัวข้อธรรมที่ตั้งขึ้นโดย พระสีวลีเถระ ที่ต้องการให้อาตมาวิสัชนาธรรมในรูปเทศนาธรรม เพื่อประโยชน์แห่งผู้ฟัง ซึ่งจะจัดให้มีการฟังบรรยายธรรมดังกล่าวในวันที่ ๑๗ ก.ย. ๒๕๕๓ นี้ ณ มหาโพธิสมาคม พุทธคยา อินเดีย เนื่องในวันครบรอบ ๑๔๖ ปี อายุกาลของท่านอนาคาริก ธรรมปาละ รัตนบุรุษแห่งศรีลังกา... อาตมาเห็นว่ามีประโยชน์ต่อผู้อ่าน จึงยกขึ้นมาเพื่อเป็นหัวข้อปุจฉาธรรมใน “ธรรมส่องโลก” ฉบับนี้ จะได้ชักชวนสาธุชนช่วยกันคิดว่า “จะปฏิบัติตนอย่างไรในฐานะพุทธศาสนิกชน เพื่อดำรงชีวิตอยู่อย่างไม่วุ่นวาย จนเกิดความทุกข์ทับถมมากเกินไป ในสังคมยุควัตถุนิยมที่ร้อนแรง มากไปด้วยความแก่งแย่ง เบียดเบียน ทะเลาะวิวาทกัน ไม่จบ...ไม่สิ้น จนต้องมีการคิดหากลเม็ดเด็ดพราย เพื่อนำไปใช้ในการต่อสู้แข่งขันกับคู่กรณี โดยประสงค์ความได้เปรียบ... ความได้ประโยชน์... ความได้กำไร และเพื่อความสมประสงค์ สมปรารถนาแห่งตน...”
 
ก่อนที่อาตมาจะสาธยายขยายความในรูปวิสัชนาธรรมตามที่ตั้งปุจฉาขึ้น ก็ใคร่นำสาธุชนไปอ่านคำถามของ ดร.วีรไท สันติประภพ รองผู้อำนวยการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งได้มีคำถามมาถึงอาตมา อันมีเนื้อหาสอดคล้องกับหัวข้อปุจฉาของพระสีวลีเถระ แห่งมหาโพธิสมาคม (พุทธคยา) โดยใจความว่า... “กราบเรียนหลวงพ่อพระอาจารย์อารยะวังโสที่เคารพ ในวิถีแห่งความจริงของโลกที่เร่าร้อนด้วยความอยาก จึงเกิดการแข่งขันในทางการค้าอย่างรุนแรง มากไปด้วยเล่ห์เพทุบาย ต้องชิงไหว ชิงพริบ กันในทุกขณะ เพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์แห่งตน หรือชัยชนะที่หวังเหนือคู่ค้า ซึ่งไม่ทราบจะเรียกว่า เป็นบาปหรือไม่... จากการแข่งขันเพื่อความได้เปรียบในการลงทุนที่หวังผลกำไรต่อคู่ค้า คู่แข่ง โดยเฉพาะในโลกยุคไร้พรมแดน มีเสรีภาพในการแข่งขันการทำธุรกิจกันอย่างเต็มรูปแบบ การคิดหาวิธีการหรือแผนการ เพื่อก้าวไปสู่ความสำเร็จ มีชัยชนะเหนือคู่ค้า...คู่แข่ง จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องกระทำ อันเป็นวิถีทางโลก ซึ่งอาจจะแตกต่างจากทางธรรม ซึ่งมุ่งเน้นการประกอบสัมมาอาชีวะ ซื่อสัตย์ ซื่อตรง มั่นคงด้วยเมตตากรุณา
 
แต่ในความจริงของการแข่งขันทางธุรกิจการค้าหรือในวงจรธุรกิจของสังคมปัจจุบันนั้น เรารู้ว่าอาจจะไม่ตรงไปตรงมา ไม่มีความโปร่งใสในการดำเนินงาน มีการจ่ายใต้โต๊ะ ไม่ซื่อตรงต่อกัน จนนำไปสู่ปัญหาคอร์รัปชัน เพื่อให้ได้มาซึ่งโครงการที่สามารถประมูลชนะเหนือคู่แข่ง เพราะยอมจ่าย ๒๕% หรือให้ผลประโยชน์ตอบแทน เพื่อนำมาสู่ความสำเร็จในธุรกิจของตน ซึ่งเกิดเกมธุรกิจขึ้นมากมายในวงจรการค้าเสรีในปัจจุบัน ดังสภาพปัญหาของการอยู่ร่วมกันในเชิงการค้าที่จะต้องเต็มไปด้วยเล่ห์เหลี่ยม ชั้นเชิง ในการแข่งขัน ยิ่งเปิดโอกาสมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทวีกำลังการแข่งขันมากเท่านั้น การชิงไหว ชิงพริบ เอารัด เอาเปรียบ เพื่อให้ก้าวไปสู่ผลสัมฤทธิ์ที่ประสงค์จึงดุเดือด และออกจะไร้จรรยาบรรณแห่งความเป็นสัตว์ที่ประเสริฐ อันควรแก่การมีไมตรีจิตต่อกัน ...ผู้มีกำลัง ...ผู้มีความพร้อม สูงกว่า มากกว่า ย่อมได้เปรียบคู่แข่งคู่ค้าเสมอ ทฤษฎีปลาใหญ่กินปลาเล็ก ยังมีให้เห็นเป็นปกติ โดยเฉพาะการใช้วิธีการทางลัดในทุกรูปแบบ เพื่อตัดหน้า ช่วงชิงประโยชน์ให้ได้มา จึงเป็นเรื่องธรรมดาในสังคมขณะนี้... และส่งผลให้เกิดปัญหาคอร์รัปชันหรือฉ้อโกงมากยิ่งขึ้นในสังคม
 
 
อ่านต่อฉบับพรุ่งนี้
 
 
------------------------
ที่มา : เพื่อชีวิตที่มีคุณค่า...ควรปฏิบัติตามหลักศาสนาพุทธอย่างไร (ตอน๑)