รู้จักนิเวศวิทยาแนวลึก ( Deep Ecology ) และ Arne Nasse ผู้ให้กำเนิด
Arne Nasse
ปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ในวัยชรา
เมื่อ พ.ศ. 2542 ผมเคยทำวิจัยเรื่อง " พุทธกระบวนทัศน์เชิงนิเวศวิทยาแนวลึก ( A Buddhism Paradigm on Deep Ecology )" ผมพยายามบูรณาการ พุทธธรรม กับ นิเวศวิทยาแนวลึกเข้าด้วยกันเพื่อสร้าง กระบวนทัศน์ใหม่ ( New Paradigm ) ขึ้นมา สิ่งที่สร้างก็เป็นความพยายามในทางทฤษฎี แม้จะไม่ก่อให้เกิดขบวนการเคลื่อนไหวที่ชัดเจน แต่ผมก็ดีใจที่มีคนบางกลุ่มสนใจและนำไปใช้อ้างอิง อย่างน้อยก็ยังพอจะมีประโยชน์บ้าง
ระยะเวลาผ่านไปเกือบ 10 ปี ผมเฝ้ารอโอกาสที่จะสานต่องานที่ผมทำไว้ ผมเตรียมจะทำงานวิจัยอีกเรื่องหนึ่งที่เป็นการต่อยอดงานที่ผ่านมา ด้วยการพยายามหาคำตอบต่อคำถามสำคัญที่สุดว่า " ทำอย่างไร มนุษย์กับธรรมชาติจะหลอมรวมซึ่งกันและกันได้ในทุกมิติ ? " คำถามแบบนี้เหมือนกับคำถามที่ว่า เราจะเป็นหนึ่งเดียวกับพระผู้เป็นเจ้าได้อย่างไร หรือ จะเข้าถึงปรมาตมัน พรหมัน หรือเข้าถึงเต๋าได้อย่างไร ?ผมคิดว่า คำถามนี้สำคัญที่สุด การทำงานทั้งหมดในเว็บไซต์นี้มีเป้าหมายก็เพื่อการนี้ทั้งสิ้นกล่าวคือ เพื่อนำพามนุษย์กลับสู่มาตุภูมิ เพื่อรู้จักสถานภาพ หรือตำแหน่งแห่งที่ที่แท้จริงของตนเอง ว่าเราคือใคร ควรจะกระทำต่อธรรมชาติอย่างไร เรามีสิทธิมากน้อยแค่ไหนในฐานะเป็นสิ่งมีชีวิตกระจ้อยร่อยในจักรวาลที่ยิ่งใหญ่นี้ก่อนอื่นใด ผมขอนำถ้อยคำอันงดงามของท่าน ติช นัท ฮันท์ ( Tich Nat Han ) ภิกษุผู้ยิ่งใหญ่แห่งเวียดนาม ซึ่งผมพยายามแปลออกมา ดังนี้
Tich Nat han
..." หากคุณเป็นกวี คุณจะมองเห็นปุยเมฆล่องลอยอยู่ในกระดาษแผ่นนี้
หากไม่มีเมฆก็ไม่มีฝน ต้นไม้ก็เติบโตขึ้นมาไม่ได้และหากไม่มีต้นไม้เราก็ย่อมไม่มีกระดาษ
เมฆคือแก่นสารที่ดำรงให้กระดาษคงอยู่ หากเมฆไม่มีอยู่ กระดาษแผ่นนี้ก้ไม่อาจมีอยู่ได้เช่นกัน
หากเรามองกระดาษให้ลึกลงไปมากกว่านี้ เราจะเห็นแสงแดดในนั้น
หากไม่มีแสงแดด ต้นไม้ก็ไม่อาจเติบโตได้
แท้จริงแล้วไม่มีสิ่งใดจะเติบโตมาได้ด้วยซ้ำหากไม่มีแสงแดด
แม้เราเองก็เติบโตไม่ได้หากขาดแสงแดด
และแล้วเราก็รู้แล้วว่า แสงแดดยังคงดำรงอยู่ในกระดาษแผ่นนี้
กระดาษและแสงแดดดำรงอยู่เคียงคู่กัน ( inter - are )
หากเรามองต่อไป เราจะเห็นท่อนซุงที่ตัดมาจากต้นไม้แล้วก็ขนส่งมาแปรรูปเป็นกระดาษ
และเราก็มองเห็นข้าวสาลีด้วย เรารู้ว่าคนตัดไม้ไม่อาจมีชีวิตอยู่ได้หากไม่มีข้าวกินในแต่ละวัน
ข้าวสาลีกลายมาเป็นขนมปัง แล้วก็มาเป็นกระดาษแผ่นนี้
ในที่สุดรวมทั้งพ่อและแม่ของคนตัดไม้ก็อยู่ในนั้นด้วยเช่นเดียวกัน
คุณไม่อาจจะชี้ว่าสิ่งใดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่ได้อยู่ตรงนี้
กาละ เทศะ โลก หยาดฝน แร่ธาตุในพื้นดิน
แสงแดด หมู่เมฆ แม่น้ำ ความร้อน ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนดำรงอยู่ด้วยกันกับกระดาษแผ่นนี้ทั้งสิ้น
นี่แหละ กระดาษแผ่นบาง ๆ
นี่ล่ะที่ที่บรรจุสรรพสิ่งในจักรวาลเอาไว้ข้างใน... "
( แปลจาก The Heart of Understanding : Commentaries on the Prajanaparamita Heart Sutra, หน้า 3 - 5 ) อรรถาธิบายจาก ปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร นี้คือสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงปรีชาญาณ ซึ่งแสดงออกมาด้วยภาษาที่งดงาม และความหมายที่ลุ่มลึก หากเราสามารถเข้าถึงความจริงที่ว่า สรรพสิ่งในจักรวาลบรรจุอยู่ในกระดาษแผ่นเดียวนี้ได้ ท่าทีต่าง ๆ ที่เราแสดงออกมาต่อธรรมชาติก็น่าจะเป็นไปในทางที่งดงาม และฉลาด หรือที่เรียกว่า " กุศล "ผมไม่ใช่ปราชญ์ และไม่อาจเทียบเคียงกับปราชญ์ที่ยิ่งใหญ่ทั้งหลายได้ ผมเป็นได้ก็เพียงคนส่งข่าว อธิบายสิ่งที่รู้เห็นมาให้ท่านฟังเท่านั้น ผมจะพยายามอธิบายสิ่งที่ผมรู้ และเข้าใจให้ท่านฟัง หากผิดพลาดจากความจริงของสิ่งที่อธิบายไปบ้างก็ขอให้อภัยแก่ผมด้วย และขอให้ท่านช่วยกันปรับแก้ให้ถูกต้อง เพื่อความรู้ความเข้าใจของท่านอื่น ๆ ด้วย อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผมอธิบายต่อไปนี้ ผมจะชี้ให้เห็นว่า ตรงไหนที่เป็นหลักคิดสำคัญของปราชญ์ท่านนั้น และตรงไหนเป็นอรรถาธิบายของผมเอง ขอให้เรามาร่วมเรียนรู้ร่วมกันนะครับ... http://www.explorism.net/index.php?lay=show&ac=article&Id=539174027&Ntype=6