ข้อความโดย: แก้วจ๋าหน้าร้อน
« เมื่อ: กรกฎาคม 19, 2010, 12:43:32 pm »พระนันทะถูกฟ้อง
ต่อมาวันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายผู้ยังไม่ทราบว่าพระนันทเถระบรรลุพระอรหัตแล้ว จึงได้ถามท่านพระนันทะว่า “ นันทะผู้มีอายุ เมื่อคราวก่อนท่านกล่าวว่า ‘ ข้าพเจ้าเป็นผู้กระสันแล้ว ’ บัดนี้จิตของท่านเป็นอย่างไร ? ” พระนันทะตอบว่า “ ผู้มีอายุ ความห่วงใยในความเป็นคฤหัสถ์ของเราไม่มี ” พวกภิกษุได้ฟังคำนั้นแล้ว กล่าวกันว่า “ ท่านนันทะ พูดไม่จริง ย่อมพยากรณ์พระอรหัตผล ในวันที่แล้ว ๆ มา กล่าวว่า ‘ ข้าพเจ้าเป็นผู้กระสันแล้ว ’ แต่บัดนี้กล่าวว่า ‘ ความห่วงใยในความเป็นคฤหัสถ์ของเราไม่มี ” ดังนี้
แล้วไปกราบทูลความนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า “ ภิกษุทั้งหลาย ในวันที่แล้ว ๆ มา อัตภาพของนันทะได้เป็นเช่นกับเรือนที่เขามุงไม่ดี แต่บัดนี้เป็นเช่นกับเรือนที่เขามุงดีแล้ว เพราะว่านันทะนี้ จำเดิมแต่กาลที่ตนเห็นนางเทพอัปสรแล้ว พยายามเพื่อบรรลุที่สุดแห่งกิจของบรรพชิตอยู่ ได้บรรลุกิจนั้นแล้ว ” ได้ทรงภาษิตพระคาถาเหล่านี้ว่า
ยถา อคารํ ทุจฉนนํ วุฏฐี สมติวิชฌติ
เอวํ อภาวิตํ จิตตํ ราโค สมติวิชฌติ.
ยถา อคารํ สุจฉนนํ วุฏฐี น สมติวิชฌติ
เอวํ สุภาวิตํ จิตตํ ราโค น สมติวิชฌติ.
“ฝนย่อมรั่วรดเรือนที่มุงไม่ดีได้ฉันใด
ราคะย่อมเสียดแทงจิตที่ไม่ได้อบรมแล้วได้ฉันนั้น.
ฝนย่อมรั่วรดเรือนที่มุงดีแล้วไม่ได้ฉันใด
ราคะก็ย่อมเสียดแทงจิตที่อบรมดีแล้วไม่ได้ฉันนั้น.”
ในกาลจบคาถา ชนเป็นอันมากได้บรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น เทศนาได้สำเร็จประโยชน์แก่มหาชนแล้ว.
ภิกษุทั้งหลาย ครั้นทราบความนี้แล้วจึงประชุมกันในโรงธรรมว่า ดูก่อนอาวุโส ท่านพระนันทะรูปนี้ อดทนต่อคำสอนตั้งมั่นหิริและโอตตัปปะไว้ด้วยโอวาทครั้งเดียวเท่านั้น แล้วบำเพ็ญสมณธรรมบรรลุพระอรหัต พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่าภิกษุทั้งหลายพวกเธอนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไร เมื่อกราบทูลให้ทรงทราบแล้วจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นันทะอดทนต่อคำสอนมิใช่ในบัดนี้เท่านั้น แม้แต่ก่อน ก็อดทนต่อคำสอนเหมือนกัน แล้วทรงนำเรื่องอดีตมาตรัสเล่า.
สังคามาวจรชาดก
ในอดีตกาลครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์อุบัติในตระกูลคนฝึกช้าง ครั้นเจริญวัยสำเร็จศิลปะฝึกช้าง แล้วรับราชการกับพระราชาผู้เป็นศัตรูของพระเจ้าพาราณสีพระองค์หนึ่ง พระโพธิสัตว์ฝึกหัดช้างมงคลของพระราชานั้นไว้แล้วเป็นอย่างดี พระราชานั้นทรงดำริว่า จักยึดราชสมบัติในกรุงพาราณสี จึงชวนพระโพธิสัตว์เสด็จขึ้นช้างมงคล เสด็จไปล้อมกรุงพาราณสีด้วยกองทัพใหญ่ แล้วทรงส่งสาส์นถึงพระราชาพรหมทัตว่า จะยกราชสมบัติถวายหรือจะรบ
พระราชาพรหมทัตตอบว่า เราจักรบ แล้วรับสั่งให้พลนิกายประจำที่ประตูกำแพงและป้อมค่ายเตรียมรบ พระราชาผู้มีศัตรู เอาเกราะหนังสวมช้างมงคล แม้พระองค์เองก็สวมหนัง เสด็จขึ้นคอช้าง ทรงพระแสงขอคม ทรงใสช้างมุ่งสู่พระนครด้วยทรงหมายพระทัยว่า จักทำลายล้างพระนครปราบปัจจามิตรให้ถึงสิ้นชีวิต และยึดราชสมบัติให้จงได้.
ช้างมงคลเห็นทหารซัดทรายอันร้อนเป็นต้น ปล่อยหินยนต์และเครื่องประหารหลาย ๆ อย่าง ก็หวาดกลัวต่อความตายไม่อาจเข้าใกล้ได้จึงหลีกไป ครั้งนั้นนายหัตถาจารย์เข้าไปหาช้างมงคลพูดปลอบว่า เจ้าก็กล้าหาญเข้าสงคราม ชื่อว่าการล่าถอยอย่างนี้ไม่สมควร เมื่อจะสอนช้างจึงได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า :
ดูก่อนกุญชร
ท่านปรากฏว่าเป็นผู้เคยเข้าสงคราม
มีความแกล้วกล้า มีกำลังมาก
เข้ามาใกล้เขื่อนประตูแล้ว เหตุไรจึงถอยกลับเสียเล่า.
ดูก่อนกุญชร
ท่านจงหักลิ่มกลอนถอน เสาระเนียด และทำลายเขื่อนทั้งหลาย
แล้วเข้าประตูให้ได้โดยเร็วเถิด.
ช้างมงคลได้ฟังดังนั้น ก็หันกลับเพราะคำสอนของพระโพธิสัตว์เพียงคำเดียวเท่านั้น แล้วใช้งวงฟันเสาระเนียดถอนขึ้นเหมือนดังถอนเห็ดฉะนั้น แล้วทำลายเสาค่าย ถอดกลอน พังประตูเมือง เข้าพระนครยึดราชสมบัติถวายพระราชา.
พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดก ช้างในครั้งนั้น ได้เป็นนันทะในครั้งนี้ พระราชาได้เป็นพระนันทะ ส่วนนายหัตถาจารย์ คือเราตถาคตนี้แล.
พระนันทะเคยถูกล่อด้วยมาตุคาม
ต่อมา ภิกษุทั้งหลายสนทนากันในธรรมสภาว่า “ ผู้มีอายุ ชื่อว่าพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นอัจฉริยบุคคล ท่านพระนันทะ ชื่อว่าอาศัยนางชนบทกัลยาณีกระสันแล้ว พระศาสดาทรงทำเหล่านางเทพอัปสรให้เป็นอามิสแนะนำได้แล้ว.” พระศาสดาเสด็จมา ตรัสถามว่า “ ภิกษุทั้งหลายบัดนี้ พวกเธอนั่งประชุมกันด้วยกถาอะไรหนอ ? ” เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า “ ด้วยกถาชื่อนี้ ” ดังนี้แล้ว ตรัสว่า “ ภิกษุทั้งหลายไม่ใช่แต่บัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อน นันทะนี้เราก็ได้ล่อด้วยมาตุคามแนะนำแล้วเหมือนกัน ” ดังนี้แล้ว อันภิกษุเหล่านั้นทูลอ้อนวอน จึงทรงนำอดีตนิทานมาตรัสว่า
บุรพกรรมของพระนันทะ
ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติในกรุงพาราณสี ได้มีพ่อค้าชาวเมืองพาราณสีคนหนึ่ง ชื่อกัปปกะ ซึ่งเป็นเจ้าของลาเพศผู้ตัวหนึ่ง สามารถบรรทุกนำสัมภาระได้กุมภะหนึ่ง มันเดินไปได้วันละ ๗ โยชน์
สมัยหนึ่ง เขาเดินทางไปยังเมืองตักกสิลา พร้อมด้วยภาระที่บรรทุกหลังลา ครั้นเมื่อถึงแล้วจึงได้ปล่อยลาเที่ยวไปจนกว่าจำหน่ายสิ่งของหมด ครั้งนั้น ลาของเขานั้นเที่ยวไปบนหลังคู พบนางลาตัวหนึ่ง จึงเข้าไปหา นางลาเมื่อจะทำปฏิสันถารกับลาผู้ตัวนั้น จึงกล่าวว่า “ ท่านมาแต่ไหน ? ”
ลาผู้ “ มาแต่เมืองพาราณสี “
นางลา “ ท่านมาด้วยกิจอะไร ? “
ลาผู้ “ ด้วยกิจของพ่อค้า “ .
นางลา “ ท่านสามารถบรรทุกสัมภาระไปได้เท่าไร ? “
ลาผู้ “ สัมภาระประมาณกุมภะหนึ่ง “
นางลา “ ท่านเมื่อนำสัมภาระจำนวนเท่านั้นไป ไปได้กี่โยชน์. “
ลาผู้ “ ได้ ๗ โยชน์ “
นางลา “ ในที่ซึ่งท่านไปแล้ว นางลาใด ๆ ผู้ทำการนวดเท้า หรือประคบประหงมให้แก่ท่านมีหรือ ? “
ลาผู้ “ หามีไม่ นางผู้เจริญ “
นางลา “ เมื่อเป็นเช่นนั้น ท่านคงได้รับทุกข์มากนะ ? “
จริงอยู่ ชื่อว่าการทำกิจกรรมมีการนวดเท้าเป็นต้น สำหรับสัตว์ดิรัจฉาน ทั้งหลายย่อมไม่มีเป็นแน่แท้ แต่นางลา กล่าวคำเช่นนั้นเพื่อพาดพิงถึงกามสังโยชน์ ลาผู้นั้นก็เกิดกระสันขึ้นด้วยคำของนางลานั้นแล้ว
ฝ่ายกัปปกพาณิช ขายสินค้าหมดแล้ว ไปยังที่ลาพำนัก แล้วกล่าวว่า
“มาเถิด พ่อ เราจักไป.”
ลาผู้ตัวนั้นตอบว่า “ท่านจงไปเถิด ข้าพเจ้าจักไม่ไป ”
ลำดับนั้น นายกัปปกะ อ้อนวอนลานั้นแล้วๆ เล่าๆ แต่ก็ไม่สำเร็จ จึงคิดว่า “เราจะทำให้เจ้าลาขี้เกียจนั้นเกิดความกลัว” ดังนี้แล้วจึงกล่าวคาถานี้ว่า
“เราจักทำปฏักมีหนามแหลมยาว ๑๖ นิ้วแก่เจ้า
เราจักทิ่มแทงกายของเจ้า
แน่ะเจ้าลา เจ้าจงรู้อย่างนี้.”
ลาได้ฟังคำนั้นแล้ก็คิดว่า
“เมื่อเป็นเช่นนั้น เราก็จักตอบโต้กับท่านบ้าง” ดังนี้แล้ว กล่าวคาถานี้ว่า
“หากท่านนำปฏักมีหนามแหลมยาว ๑๖ นิ้ว แก่ข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าจักยันข้างหน้า ยกข้างหลังขึ้นแล้ว ยังภัณฑะของท่านให้ตกไป
กัปปกะ ท่านจงรู้อย่างนี้.”
พ่อค้าได้ฟังคำนั้น จึงฉงนว่า “ ด้วยเหตุใดหนอ ลานี้จึงกล่าวกะเราอย่างนี้ ?” ดังนี้แล้ว เมื่อเหลียวมองดู เห็นนางลานั้นแล้วจึงทราบว่า
“ เจ้านี่ คงจะถูกนางลาตัวนี้ ให้สำเหนียกแล้วอย่างนี้ เราต้องล่อมันด้วยมาตุคามว่า “ข้าจักนำนางลาซึ่งมีรูปอย่างนี้มาให้เจ้า.” แล้วจักนำไป” ดังนั้นแล้ว จึงกล่าวคาถานี้ว่า
“ เราจักนำนางลาสาว มีเท้า ๔ มีหน้าดุจสังข์ มีสรรพางค์กายงาม มาเป็นภรรยาเจ้า
ข้าแต่กัปปกะ ท่านจงรู้อย่างนี้ ข้าพเจ้าจักไปให้เร็วขึ้นถึง ๑๔ โยชน์นะ กัปปกะ.”
ทีนั้น นายกัปปกะจึงกล่าวกะลานั้นว่า “ถ้ากระนั้น เจ้าจงมาเถิด” ดังนี้แล้ว ได้จูงไปสู่ที่ของตน
ลานั้น โดยกาลล่วงไปสองสามวัน จึงกล่าวกับนายกัปปกะว่า “ท่านได้พูดกะข้าพเจ้าว่า จักนำภรรยามาให้กับข้า ดังนี้มิใช่หรือ?”
นายกัปปกะตอบว่า
“เออ เรากล่าวแล้ว เราจักไม่ทำลายถ้อยคำของตน จักนำภรรยามาให้เจ้า แต่เราจักให้อาหารแก่เจ้าเฉพาะตัวเดียว อาหารนั้นเพียงพอแก่เจ้า สองตัวผัวเมียหรือไม่ก็แล้วแต่
เจ้าพึงรู้ตัวเองเถอะ แม้ลูกทั้งหลาย อาศัยการสังวาสของเจ้าทั้งสองก็จักเกิดขึ้น อาหารนั้นจะเพียงพอแก่เจ้ากับลูกเป็นอันมากเหล่านั้นหรือไม่ก็ตามที เจ้าพึงรู้เองเถอะ.”
ลาเมื่อนายกัปปกะนั้นกล่าวอยู่เช่นนั้น ได้เป็นผู้หมดหวังแล้ว.
พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงยังชาดกให้จบลงด้วยพระดำรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย นางลาในคราวนั้นได้เป็นนางชนบทกัลยาณี ลาผู้ได้เป็นนันทะ พ่อค้าได้เป็นเราเอง แม้ในกาลก่อน นันทะนี้ เราก็ได้ล่อด้วยมาตุคามแนะนำแล้ว ด้วยประการอย่างนี้” ดังนี้แล.
ทรงสถาปนาพระเถระไว้ในตำแหน่งเอตทัคคมหาสาวกผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบความที่พระนันทะ เป็นผู้มีทวารอันคุ้มครองแล้วในอินทรีย์ทั้งหลายพร้อมกับคุณพิเศษของท่าน เมื่อจะทรงประกาศคุณพิเศษนั้น จึงทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งของภิกษุผู้เลิศ โดยความเป็นผู้มีทวารอันคุ้มครองแล้ว ในอินทรีย์โดยพระดำรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระนันทะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุผู้สาวกของเราฝ่ายคุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย
ที่มา
http://www.dharma-gateway.com/monk-great-index-page.htm
อนุโมทนา ครับ