ชีววิทยากับลูกศรของเวลา-ผิดความจริงแท้ผู้เขียนเป็นพยาธิแพทย์ ตอนเรียนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีคนทำนายว่าจะต้องได้เป็นหมอใหญ่ที่มีความสำเร็จในราชการสูงมากอย่างไม่น่าเชื่อ ทั้งนี้ เพราะผู้เขียนมีเพื่อนที่สนิทมากไปในด้วยกัน กินอะไรด้วยกัน เคยเรียนห้องเดียวและรุ่นเดียวกับคุณหมอณัฐ ภมรประวัติ ที่เป็นพยาธิแพทย์ด้วย แต่ณัฐที่อยู่กรุงเทพฯ ไปเรียนที่ศิริราช ผู้เขียนกลับไปนราธิวาสกลับกรุงเทพฯ ไม่ทัน ได้ข่าวว่าถึงกับแย่งชุลมุนทีเดียว พอจบแล้วหมอณัฐเขาได้เป็นถึงอธิการบดีของมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นหลายสมัยจนผู้เขียนจำไม่ได้ นอกจากนั้นผู้เขียนยังทำงานที่เดียวทั้งเมืองไทยและเมืองนอกกับคุณหมอประพนธ์ ปิยะรัฐ ที่ก็เป็นพยาธิแพทย์ด้วยกันอีกคนหนึ่ง หมอประพนธ์กับผู้เขียนนี้ก็สนิทกันมากเป็นพิเศษ แต่หมอประพนธ์เขาได้เป็นรัฐมนตรีอยู่ถึง 2 ปี ถ้าผู้เขียนจำไม่ผิด สรุปได้ว่าหมอกิติ ตยัคคานนท์ ทำนายผิด เพราะผู้เขียนไม่ได้เป็นอะไร พยาธิแพทย์นั้นไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับหนอนพยาธิ (พะยาด) แต่บังเอิญคำที่ใช้ในภาษาไทยมันเขียนเหมือนกัน (pathology) ซึ่งเป็นเหตุให้สาธารณชนคนไทย แม้แต่แพทย์เองจำนวนไม่น้อยทีเดียวเข้าใจผิด จึงเป็นสาเหตุที่สำคัญสาเหตุหนึ่งที่แพทย์ไทยน้อยคนนักที่อยากเป็นพยาธิแพทย์ เว้นเสียแต่ว่าประเทศไทยจะเปลี่ยนคำที่ใช้นิยามคำภาษาอังกฤษ (pathology) กับรากศัพท์ภาษา กรีก (pathos - suffering) เสียก่อนโดยสิ้นเชิง พจนานุกรมภาษาอังกฤษอาจจะแปลเป็นไทยได้ว่าเป็นการศึกษาเรื่องโรคทั้งหลาย ในที่นี้รวมทั้งการวินิจฉัยโรค - โดยเฉพาะโครงสร้างและหน้าที่ของร่างกายและโรคนั้นๆ อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ที่เอาเพื่อนที่เป็นพยาธิแพทย์ทั้ง 2 คนมาเล่าก็เพื่อจะบอกว่า หนึ่ง พยาธิแพทย์นั้นไม่ใช่หมอตรวจขี้ตรวจศพอย่างที่เพื่อนแพทย์บางคนและคนทั่วไปเข้าใจ จริงๆ แล้วตรวจศพตรวจจริง แต่ตรวจอย่างวิทยาศาสตร์และต้องฝึกฝนหนักเป็นเวลา 4 ปี เท่ากับศัลยแพทย์และแพทย์เฉพาะทางอื่นๆ ส่วนใหญ่ สอบอเมริกันบอร์ดเพื่อเป็นแพทย์เฉพาะทาง และ ก.พ.ก็เทียบปริญญาเอกให้ สอง แพทย์ที่เรียนดีมากๆ มักชอบงานค้นคว้าวิจัย และสมัยหนึ่งหมอไทยชอบเป็นพยาธิแพทย์ คือคนพูด (ทางวิชาการแพทย์) คนสุดท้ายและยุติการโต้เถียงกัน สาม พยาธิแพทย์ คือนักวิทยาศาสตร์พื้นฐานทางการแพทย์ ที่ส่วนหนึ่งจะชอบชีววิทยาดาร์วินิซึ่ม
จริงๆ แล้วเรื่องของชีววิทยาก็ได้พูดมามากแล้ว ว่ากันตามความสัตย์จริง นักวิทยาศาสตร์ส่วนหนึ่งที่มีจำนวนไม่น้อย รวมทั้งนักชีววิทยาเอง - ซึ่งวิชาชีววิทยาจะมีนักวิทยาศาสตร์มากที่สุด และมีคนเรียนมากที่สุดด้วย ซึ่งเหตุผลก็ได้กล่าวไว้แล้ว - และผู้เขียนขณะนี้กำลังรอคอยการเปลี่ยนแปลงของวิชาชีววิทยาไปสูวิชาชีววิทยาใหม่ (new biology) พร้อมทั้งคอยให้มีการยุติโดยสิ้นเชิงของดาร์วินิซึ่มและนีโอ-ดาร์วินิซึ่มไปบางส่วน นั่นคือนับตั้งแต่เราได้มีฟิสิกส์ใหม่หรือควอนตัมเม็คคานิกส์เป็นต้นมา อย่าลืมว่าวิทยาศาสตร์ทั้ง 3 สาขานั้น ฟิสิกส์มาก่อนเคมี ซึ่งว่าไปแล้วคือวิทยาศาสตร์ในระดับโมเลกุล - แล้วถัดขึ้นมาถึงจะเป็นชีววิทยาหรือวิทยาศาสตร์ระดับใหญ่กว่านั้น คือระดับเซลล์หรือระดับของชีวิต อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 สาขาก็ต้องอาศัยฟิสิกส์เป็นพื้นฐาน เป็นแม่แบบและเป็นครู นั่นคือวิวัฒนาการของความรู้ของมนุษย์ ของวิทยาศาสตร์ที่คลี่ขยายไปพร้อมๆ กับวิวัฒนาการของโลกและชีวิต
ไม่ได้อะไรกับชีววิทยาดาร์วินิซึ่มและนีโอ-ดาร์วินิซึ่ม ตรงกันข้ามในฐานะที่เคยเรียนแพทย์เคยเรียนชีววิทยาและชีวะเคมี รวมทั้งยังเรียนวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐานที่ส่วนใหญ่มากๆ เกี่ยวข้องอยู่กับชีวิตของมนุษย์กับวิทยาศาสตร์แห่งชีวิต (life sciences) เพราะฉะนั้น พูดกันในด้านแพทยศาสตร์ในแง่ของวิชาการแล้ว แพทยศาสตร์กับชีววิทยาแยกกันยากจริงๆ ถึงผู้เขียนได้บอกว่าไม่มีอะไรที่ทำให้ผู้เขียนคิดไม่ดีกับชีววิทยาที่ชาร์ลส์ ดาร์วิน ได้ “สังเกต” อย่างเป็นวิทยาศาสตร์จริงๆ จนกระทั่งวิธีการของการสังเกตอย่างเป็นระบบที่ว่า - ซึ่งไม่ได้เป็นวิธีการ (methodology) ที่ยอมรับในชมรมวิทยาศาสตร์มาก่อน (สำหรับฟิสิกส์และเคมี) ให้เป็นวิธีการที่ยอมรับกัน - ส่วนคำว่าลูกศรของเวลาที่ “ดูเหมือนว่า” เวลาจะมีทิศทางที่ต้องเดินไปข้างหน้าได้สถานเดียวเท่านั้นคือเป็นอดีต ปัจจุบัน และอนาคตนั้น จริงๆ แล้วก็เป็นวิทยาศาสตร์สาขาชีววิทยากำหนดขึ้นมา ซึ่งก็เพื่อให้ชีวิตที่ประกอบด้วยเซลล์ และฟิสิกส์กับเคมีที่ไม่ใช่วิทยาศาสตร์แห่งชีวิตก็ไม่มีทิศทาง (direction) ของเวลา คือจะเดินไปข้างหน้าหรือข้างหลัง ข้างบนหรือข้างล่าง ก็เหมือนๆ กัน เพราะฉะนั้น ลูกศรของเวลา - อดีต ปัจจุบัน อนาคต - จึงเป็นเรื่องชีววิทยาคิดเอาเอง เป็นความจริงทางโลกแห่งชีวิตหรือโลกแห่งโลกกียะกามที่ทางพุทธศาสนาจริงๆ ก็เป็นคนละเรื่องคนละด้านกับความงมงายไสยศาสตร์ ศาสนาพุทธจริงๆ บอกว่าสิ่งที่ตาเห็น หูได้ยิน ฯลฯ เป็นมายา
เป็นการง่ายที่จะพูดว่า อดีต ปัจจุบันและอนาคตเป็นความจริง - ไม่ว่ามองความจริงในแง่ไหน? เพราะว่าประสบการณ์ของเราที่ติดตามปรากฏการณ์ในชีวิตประจำวันของเรา บอกแก่เราเช่นนั้น ฉะนั้น เราจึงไม่สนใจอะไรอื่นอีกแล้ว เพราะเรา “เชื่อมั่นในสายตา” ว่ามันจะบอกความจริงแก่เรา 100 เปอร์เซ็นต์เต็ม เรา - โดยทั่วไป - แม้แต่ผู้เขียนเองเมื่ออายุร่วม 60 ปีแล้วก็ยังคิดเช่นนั้น จำได้ว่าแม่ก็เคยบอกเมื่อยังเป็นเด็ก แม่บอกว่าศาสนาพุทธบอกเราเรื่องมายาเป็นเรื่องของโลกแห่งโลกียะกาม และแม่เองแม้จะบอกว่าเชื่อพระพุทธเจ้าที่สุด แต่เรื่องของมายากับโลกแห่งโลกียะ แม่ไม่ได้บอกละเอียด เพียงแต่บอกว่าเรื่องของมายาและโลกแห่งโลกียะคือโลกที่สัตว์โลกที่รวมมนุษย์ด้วยที่อาศัยอยู่ เรื่องก็จบลงแค่นั้น แต่ผู้เขียนยังจำได้อย่างแม่นยำ เพราะยังเซ้าซี้ถามแม่อยู่เรื่อยๆ ผู้เขียนที่เป็นเด็กเมื่อเห็นแม่ไม่ได้ห่วงอะไร จึงคิดว่าเรื่องมายากับโลกแห่งโลกียะคงไม่มีความสำคัญอะไรมากนัก พ่อกับแม่ทั้งๆ ที่รู้ความจริงแล้วจึงไม่เดือดร้อน จนกระทั่งได้คิดตามควอนตัมฟิสิกส์อย่างใกล้ชิดเมื่อร่วม 30 ปีมานี้ถึงได้รู้ว่าทั้งหมดก็เป็นวิทยาศาสตร์ด้วย นั่นคือ มีข้อพิสูจน์ทางควอนตัมเม็คคานิกส์ว่าเป็นความจริงทางควอนตัม (ข้อที่ 8 duplex world of Heisenberg) แม้ในโคเปนเฮเกนอินเตอร์พรีเตชั่น (Copenhagen Interpretation) ซึ่งสาธารณชนคนทั่วไปไม่สนใจว่ามันคือความจริงที่แท้จริง “เชื่อลูกกะตาดีกว่า” ความจริงของโลกแห่งโลกียะที่ทำให้สัตว์โลก รวมทั้งมนุษย์ให้อยู่ได้รอดและปลอดภัย (โลกสามมิติบวกหนึ่ง) ลูกศรของเวลาและอดีต ปัจจุบัน อนาคตของชีววิทยา ความจริงทางโลกแห่งโลกียะจึงมีความสำคัญต่อเราและสัตว์โลกทั้งหลาย - เพื่ออยู่ได้รอด - จึงต้องสำคัญน้อยกว่าความจริงแท้เป็นไหนๆ นักชีววิทยาย่อมไม่สนใจว่าวิทยาศาสตร์แปลว่าอะไร?? มากกว่าความอยู่รอดอยู่แล้ว ความปลอดภัยของ “มนุษย์” จึงสำคัญอย่างที่สุด
ชีววิทยาและลูกศรแห่งเวลาเป็นเรื่องของเซลล์ที่ประกอบไปด้วยเซลล์ก่อเป็นชีวิตที่ซับซ้อนขึ้นไปเรื่อยๆ เริ่มแต่สัตว์เซลล์เดียวเป็นสัตว์โลก กระทั่งเป็นมนุษย์ ดังนั้นเรื่องลูกศรแห่งเวลาเรื่องของอดีต ปัจจุบัน อนาคตที่มีทิศทางเดินไปข้างหน้าหรือเป็นเส้นตรงและตามลำดับขั้น (vertical linear and hierarchy) ที่เราเห็นกันเป็นประจำจึงเป็นธรรมชาติ แต่เป็นธรรมชาติที่มองเห็น หยาบ และเป็นธรรมชาติระดับล่าง เช่น ป่าไม้ ภูเขาและแม่น้ำ จึงเป็นสิ่งแวดล้อมและมีความสำคัญกับจำเป็นอย่างที่สุดต่อการดำรงอยู่ของชีวิต รวมทั้งการอยู่รอดและปลอดภัย ลูกศรของเวลาที่เดินเป็นเส้นตรงไปข้างหน้าและตามลำดับ หรืออดีต ปัจจุบัน อนาคต และความซับซ้อนของชีวิตจากการวิวัฒนาการ - ที่ไม่จริงเลย - จึงได้มีความจำเป็นต่อชีวิตอย่างที่ว่าไปแล้ว คือมันเป็นส่วนประกอบที่โลกแห่งชีวิตจะขาดไปเสียไม่ได้ แต่เรา-มนุษย์-ทุกคนจะต้องมีความเข้าใจว่า “มัน-ลูกศรของเวลา หรืออดีต ปัจจุบัน อนาคต” นั้น-มันผิดไปจากความจริงที่แท้จริง แต่ทว่าเราก็ต้องเข้าใจเช่นเดียวกันว่า มันมีความสำคัญและจำเป็นต่อชีวิตอย่างขาดเสียไม่ได้ ฉะนั้นเราต้องรู้ว่าความจริงที่แท้จริง กับความจำเป็นต่อชีวิต ไม่ว่าต่อมนุษย์ สัตว์โลก หรือจุลชีพ-สัตว์เซลล์เดียว เช่น อมีบา ซึ่งไม่ว่ามันจะจำเป็นต่อชีวิตเพียงใด ความจริงที่แท้จริงย่อมสำคัญกว่ามาก จริงๆ แล้วสำคัญที่สุดไม่ว่าสำหรับสิ่งใดๆ ทั้งสิ้นทั้งจักรวาลเลย
ทีช ยัต ฮันท์ ครูเซ็น พุทธศาสนาชาวเวียดนามที่มีชื่อเสียงมากสำหรับชาวตะวันตกทั่วทั้งโลกถัดจากองค์ทะไล ลามะ รูปเดียว เพราะได้เขียนหนังสือเผยแผ่พุทธศาสนาเป็นภาษาอังกฤษนับเป็นร้อยๆเล่ม สำหรับผู้เขียนแล้วศาสนาอะไรก็ตามเป็นทั้งวัฒนธรรมที่จริงๆ แล้วเราไม่รู้ว่าอะไร - คิดว่าเป็นประสบการณ์ของเราโดยรวมที่รู้สึกอย่างลึกล้ำในจิตใจตัวเองเป็นปัจเจกที่ต่อเนื่อง - และเป็นทั้งความรู้ (ความเชื่อศรัทธาหรือความจริงแท้ย่อมเห็นต่างกันไป) ที่เปลี่ยนแปลงต่อเนื่องเหมือนกัน ทีช ยัต ฮันท์ ที่ตอนนี้อยู่ที่ประเทศไทย คือปรมาจารย์ของ “ปัจจุบันขณะ” ที่พระพุทธองค์ย้ำนักย้ำหนาว่า อดีตก็ผ่านไปแล้ว และอนาคตก็ยังมาไม่ถึง ปัจจุบันจึงสำคัญมากต่อการฝึกสติ นั่นคือ เราจะต้องมีสติรู้ตัวอย่างทั่ว พร้อมที่เอ็กฮาร์ต ทอลเล ครูผู้ฝึกสอนการมีสภาวะจิตวิญญาณ (spirituality teacher) ที่มีชื่อเสียงยิ่ง เรียกว่าการรู้ตัวเองอย่างสูงยิ่งและตลอดเวลา หรือการ “ตื่นรู้” ที่มีตลอดเวลา (hightened alertness)
เอ็กฮาร์ต ทอลเล ไม่ใช่คนธรรมดาจริงๆ เขาเพิ่งได้รับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ไม่นานหลังจากที่เขาได้มีการเปลี่ยนแปลงไปสู่สภาวะจิตวิญญาณอันน่าอิจฉา (spiritual transformation) เมื่อมีอายุเพียง 29 ปี เขาจะไปฝึกสติที่หมู่บ้านพลัมที่ท่านทีช ยัต ฮันท์ อาศัยอยู่ที่ฝรั่งเศสเป็นเวลากี่วัน? นั่นผู้เขียนไม่รู้ เอ็กฮาร์ต ทอลเล เขียนหนังสือ (Eckhart Tolle : The Power of Now, 2002) เขาพูดว่า “คนเรามักพูดและที่สำคัญมากกว่าคือคิดอย่างซ้ำซากถึงเรื่องเรื่องเดียวโดยเฉพาะของอดีต นักจิตวิทยาแทบทุกคนบอกว่า คนเรามักคิดซ้ำๆ อยู่นั่นแล้วถึง 95% แล้วคิดถึงหรือคาดหวังอนาคต “ด้วยวิธีคิดว่าจุดจบของการกระทำจะต้องมีความงดงาม (end of mean)” จึงลืมคิดถึงปัจจุบัน และนั่นคืออารยธรรมของเรา ซึ่งไม่ว่าอดีตหรืออนาคต ต่างก็เป็น “เดี๋ยวนี้” อยู่วันยังค่ำ”.
http://www.thaipost.net/sunday/171010/28816