ตอบ

Warning: this topic has not been posted in for at least 500 days.
Unless you're sure you want to reply, please consider starting a new topic.
ชื่อ:
อีเมล์:
หัวข้อ:
ไอค่อนข้อความ:

Verification:
ระหว่างความดีกับความไม่ดี เราจะเลือกทำสิ่งใดจึงจะสามารถบรรลุธรรมได้จริง ( เลือกตอบแค่ ความดี กับ ความไม่ดี ครับผม):
คนที่มีจิตใจอ่อนโยนส่วนใหญ่มัก คิดถึงสิ่งใดก่อนเสมอ  ( เลือกตอบแค่ ตัวเอง กับ คนอื่น ครับผม ):
คิดว่าความดีทำยากไหม( เลือกตอบแค่ ยาก กับ ไม่ยาก ครับผม):
ชีวิตบางครั้งก็เหมือนเหรียญสองด้านใช่หรือไม่ครับบางครั้งก็หัวบางครั้งก็ก้อย( เลือกตอบแค่ ใช่ กับไม่ใช่ครับผม):
คุณเชื่อว่าทุกศาสนาสอนให้ทุกคนเป็นคนดีใช่หรือไม่ ( เลือกตอบแค่ ใช่ กับ ไม่ใช่ ครับผม):
^^ ขอความกรุณาพิมพ์คำว่า แสงธรรมนำใจ:
^^ ขอความกรุณาพิมพ์คำว่า ใต้ร่มธรรม:
การแสดงความชื่นชมยินดีในบุญหรือความดีที่ผู้อื่นทำ นิยมใช้คำว่า (อนุโมทนา) กรุณาพิมพ์คำนี้ครับ อนุโมทนา:
โดยปกติชน นิ้วมือของคนเรา มีกี่นิ้ว (ตอบเป็นภาษาไทยครับ):
วัฒนธรรมไทยเมื่อเห็นผู้ใหญ่ท่านจะทำความเคารพ ด้วยการไหว้ท่านก่อนเสมอใช่หรือไม่:
คุณพ่อคุณแม่เปรียบดั่งพระอรหันต์ในบ้าน พิมพ์คำว่า "คุณพ่อคุณแม่ฉันรักและเคารพท่านดุจพระอรหันต์":
เมื่อให้ท่านเลือก ระหว่าง (หนังสือเก่าๆเล่มหนึ่งที่เรารัก) กับ (มิตรแท้ที่รักเรา) คุณจะะเลือก:
กล่าวคำดังนี้  "ขอโทษนะ":
ระหว่าง (ผู้ที่เรียนรู้ธรรมะเพื่อเอาชนะผู้อื่น) กับ (ผู้ที่เรียนรู้ธรรมะเพื่อเอาชนะตัวเอง)  ท่านจะเลือกเป็น:
กล่าวคำดังนี้  "ให้อภัยนะ":
กล่าวคำดังนี้  "ขออโหสิกรรม":
หากมีคน บอกว่า เราไม่ดีเราเลว แต่ใจเรารู้ว่าไม่เป็นเช่นนั้น เราจะใช้วิธีใดจัดการกับเรื่องนี้  (โต้เถียงให้แรงกว่าที่เค้าว่ามา) หรือ (เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ความดีของเราเองไม่ต้องทำอะไร):
เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ใต้ร่มธรรมเองก็จะเป็นไปตามวัฐจักรนี้ ฉันท์ใดก็ฉันท์นั้น (เป็นจริง) หรือ (ไม่จริง):
รู้สึกระอายใจไหมที่เราทำร้ายคนอื่นด้วยวาจาหรือสำนวนที่ไม่สุภาพ โดยที่คนคนนั้นเค้าเคยเป็นผู้มีพระคุณต่อเรามา (ไม่ละอายใจ)หรือ(ละอายใจ):
ผู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือ ผู้ที่ทำตนให้เล็กที่สุด ผู้ที่เล็กที่สุดก็จะกลายเป็นผู้ที่ใหญ่ที่สุด ผู้ที่มีเกียรติคือผู้ที่ให้เกียรติผู้อื่น ฉะนั้นสมาชิกใต้ร่มธรรมควรให้เกียรติกันและกัน พิมพ์คำว่า (ฉันจะให้เกียรติสมาชิกทุกๆท่านในใต้ร่มธรรมเสมอด้วยวาจาสุภาพอ่อนน้อม):

shortcuts: กด alt+s เพื่อตั้งกระทู้ หรือ alt+p แสดงตัวอย่าง


สรุปหัวข้อ

ข้อความโดย: แก้วจ๋าหน้าร้อน
« เมื่อ: พฤศจิกายน 10, 2010, 11:40:12 pm »

 :13: อนุโมทนาครับ ขอบคุณครับพี่มด^^
ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: พฤศจิกายน 10, 2010, 10:36:08 pm »

ธรรมชาติของความฝัน ๑ : ความฝันและความจริง
....

๑ . ความฝัน และ ความจริง

เราทุกคนล้วนฝัน ไม่ว่าเราจะจำความฝันนั้นได้หรือไม่ก็ตาม เราฝันตั้งแต่แบเบาะจนถึงวันสุดท้ายแห่งชีวิต ทุก ๆ คืนเราล่วงเข้าสู่โลกที่ไม่มีใครรู้จัก ในความฝันบางครั้งเราก็เป็นตัวเราเอง แต่บางครั้งเราก็กลายเป็นใครก็ไม่รู้ที่เราเองก็ไม่รู้จัก

ในความฝันเราได้เจอกับผู้คนมากมาย บางคนเป็นคนคุ้นเคย แต่บางคนก็เป็นคนแปลกหน้า และเราก็ยังได้พบกับคนที่ทั้งมีชีวิตอยู่และบางคนก็ตายไปแล้ว โลกในความฝัน เราเหาะเหินเดินอากาศได้ เรากลายเป็นอะไรก็ได้ที่มากกว่าการเป็นมนุษย์ธรรมดา เราพบประสบการณ์แห่งสุขและทุกข์ เราหัวเราะ เราร้องไห้ เราหวาดผวา เรากลัวสุดขีด เราปิติยินดี หรือไม่เราก็เกิดความรู้ความเข้าใจสิ่งใหม่ ๆ ในขณะฝัน

แม้ว่าความฝันจะเป็นประสบการณ์น่าพิศวงขนาดนี้แล้ว แต่พวกเราก็ใส่ใจความอัศจรรย์นี้น้อยมาก ชาวตะวันตกศึกษาความฝันกันในเชิงทฤษฎีทางจิตวิทยา สืบต่อมาภายหลัง นักจิตวิทยาเริ่มให้ความสนใจที่จะใช้ความฝันค้นหาชีวิตในภาคของจิตวิญญาณ แต่พวกเขาก็ยังเพียงพุ่งเป้าไปที่เนื้อหาและความหมายของความฝันเท่านั้น น้อยนักที่จะเข้าถึงธรรมชาติที่แท้จริงของความฝัน ทั้งที่การเข้าถึงธรรมชาติของความฝัน จะหนุนนำเราให้เข้าสู่กระบวนการลี้ลับของชีวิต ทั้งในชีวิตยามตื่น ชีวิตยามหลับ และชีวิตหลังความตาย

ขั้นตอนแรกของการ “ฝึกฝัน” นั้นค่อนข้างเรียบง่าย เราจำต้องรู้จักศักยภาพที่ยิ่งใหญ่ของความฝันซึ่งนำดวงวิญญาณของเราออกไปท่องเที่ยวขณะที่เราเข้าสู่ห้วงชีวิตหลับ แต่โดยทั่วไปความฝันมักไม่ถูกยอมรับว่าเป็น “เรื่องจริง” ไม่เหมือนเรื่องราวที่เกิดขึ้นในชีวิตยามตื่น ที่คนทั่วไปเชื่อว่าเป็น “เรื่องจริง” ยิ่งกว่า

ในทางสุบินโยคะ (Dream Yoga) ของธิเบต เชื่อว่าไม่มีอะไร “จริง” ไปกว่าความฝัน และในทำนองเดียวกัน ก็ไม่มีอะไร “จริง” เท่ากับชีวิตตื่น ดังนั้นทั้งชีวิตตื่นและชีวิตหลับ จึง “จริง” และ “ไม่จริง” เสมอกัน สุบินโยคะ สอนให้ใส่ใจในประสบการณ์ของความ “จริง” และ “ไม่จริง” ทั้ง 2 ภาค ทั้งฝันกลางวันขณะตื่น และฝันกลางคืนยามนิทรา

..........

ครูส้ม : สมพร อมรรัตนเสรีกุล แปลและเรียบเรียง
จาก The Tebetan Yogas of Dream and Sleep
เขียนโดย Tenzin Wangyal Rinpoche
ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: พฤศจิกายน 10, 2010, 10:34:08 pm »

๒.ประสบการณ์เกิดได้อย่างไร
........

"ความไม่รู้ (อวิชชา)"

ประสบการณ์เกือบทั้งหมดในชีวิตเรา รวมทั้งประสบการณ์ในความฝันด้วย เกิดขึ้นจากความไม่รู้ที่บริสุทธิ์ การพูดเช่นนี้ค่อนข้างจะกระทบหลักการของชาวตะวันตกนิดหน่อย แต่ก่อนอื่น ขอให้เรามาทำความรู้จักกับความหมายของคำว่า “ความไม่รู้“ (ma-rigpa*)

ธรรมเนียมอย่างทิเบต จำแนกความไม่รู้ออกเป็น ๒ พวก คือ ความไม่รู้แต่กำเนิด และความไม่รู้ทางวัฒนธรรม

ก. ความไม่รู้ที่ติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด

ความไม่รู้ที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด คือรากฐานของวังวนแห่งสุขทุกข์ (วัฏสงสาร) ซึ่งเป็นสิ่งกำหนดความแตกต่างของมนุษย์แต่ละคน เป็นความไม่รู้ถึงธรรมชาติเดิมแท้ของตัวเอง ไปจนถึงความไม่รู้ในธรรมชาติเดิมแท้ของโลกและจักรวาล นี่เองเป็นเหตุที่จูงมนุษย์เข้าไปพัวพันกับมายาการแห่งจิตที่เต็มไปด้วยทวิภาวะ ทวิภาวะลวงเราให้ตกอยู่ในรูปธรรมแห่งความเป็นขั้ว ๒ ด้านตรงข้ามกัน จำกัดประสบการณ์ของเราให้จำแนกสิ่งต่าง ๆ ออกเป็น ๒ ไม่ขาวก็ดำ ไม่ถูกก็ผิด มีฉันและมีเธอ

และด้วยความไม่รู้ที่นำเรามายึดติดกับการแบ่งแยกเช่นนี้ ได้พาเราพัฒนาไปสู่ความเคยชินต่อการตัดสินสิ่งต่าง ๆ พอชอบก็รัก ครั้นไม่ชอบก็ชังที่สุดก็นำเราไปสู่การตัดสินตัวเอง ฉันเป็นคนอย่างนั้น ฉันเป็นคนอย่างนี้ ฉันต้องการอย่างนี้ ฉันไม่ต้องการอย่างนั้น ฉันชอบที่จะอยู่ที่นั่นมากกว่าที่นี่ สิ่งนี้ฉันชอบ ฉันนับถือ แต่ถ้าสิ่งที่ตรงข้ามและต่างออกไปก็คือสิ่งที่ฉันรังเกียจ

เราแสวงหาความพึงพอใจ ความสุขสบาย ความร่ำรวย สุขอนามัยที่ดี และยศฐาบรรดาศักดิ์ เราล้วนต้องการสิ่งเหล่านี้เพื่อตัวเราเองและบุคคลที่เรารัก และแล้วเราก็ละเลยมนุษย์คนอื่น ๆ เราหิวกระหายประสบการณ์แปลกใหม่ที่แตกต่างไปจากที่เราเคยผ่านพบมาแล้ว เราไขว่คว้าประสบการณ์ที่น่าพึงพอใจไว้อย่างเหนียวแน่น ในขณะเดียวกันเรากลับพยายามสุดชีวิตที่จะหลีกหนีไปให้พ้นจากประสบการณ์ที่ไม่พึงปรารถนาเหล่านี้ล้วนคือ “ความไม่รู้” หรือ “อวิชชา” ที่ติดตัวเรามาแต่กำเนิด

ข. ความไม่รู้ทางวัฒนธรรม

ความไม่รู้ทางวัฒนธรรม ถูกสถาปนาขึ้นเมื่อความปรารถนาโคจรมาพบกับความรังเกียจเดียจฉันท์ ก่อร่างขึ้นเป็นสถาบันทางวัฒนธรรมที่ประมวลผลด้วยระบบคุณค่าของสังคมนั้น ๆ ตัวอย่างเช่น ในอินเดีย ชาวฮินดูเชื่อว่าการกินเนื้อวัวนั้นบาป กินเนื่อสุกรดีกว่า ส่วนชาวมุสลิมกลับเชื่อว่าควรกินเนื้อวัว และห้ามกินเนื้อหมูเด็ดขาด ชาวทิเบตกินทั้งเนื้อวัวและเนื้อหมู

ทีนี้ใครผิดใครถูกกันเล่า ชาวฮินดูย่อมเชื่อว่าคนฮินดูนั้นถูก ชาวมุสลิมก็ต้องยืนยันว่ามุสลิมนั้นก็ถูก และชาวทิเบตก็ย่อมต้องเชื่อว่าตัวเองก็ถูกเช่นกัน ความเชื่อที่แตกต่างแปลกแยกเช่นนี้ เกิดขึ้นมาจากมายาคติทางวัฒนธรรม มิใช่เกิดจากรากฐานที่แท้จริงทางปัญญา

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดอีกอันหนึ่ง คือความขัดแย้งภายในของสำนักปรัชญาต่าง ๆ การก่อกำเนิดขึ้นของระบบปรัชญาหลายสำนัก เกิดขึ้นมาจากการพยายามตีความเพื่อหาข้อโต้แย้งและข้อผิดพลาดของสำนักปรัชญาอื่น แม้ว่าเป้าประสงค์ของตัวระบบปรัชญาเองจะมีเจตนาอยู่ที่การเติบโตทางสติปัญญาก็ตาม แต่ในขณะเดียวกันระบบเช่นนี้ก็ได้ก่อร่างความไม่รู้แห่งการยึดมั่นถือมั่น และสร้างความจริงเชิงทวิภาวะขึ้น

ความเข้าใจสัจจะด้วยระบบคิดทางปรัชญาเช่นนี้ เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก เพราะโดยตัวมันเองก็เป็นการสถาปนาความจริงแห่งความไม่รู้ขึ้นด้วยเช่นกันความไม่รู้ทางวัฒนธรรม ได้ถูกพัฒนาและสงวนไว้อย่างเข้มแข็งผ่านจารีตประเพณี ได้แผ่ซ่านครอบคลุมไปในทุก ๆ วัตรแห่งชีวิต และในทุกโครงสร้างของการศึกษา ทั้งระดับบุคคล และระดับสังคม จนเป็นที่ยอมรับกันว่าความไม่รู้เช่นนี้คือสามัญสำนึกแห่งมนุษย์ หรืออีกนัยหนึ่งคือกฏของพระผู้เป็นเจ้า

ในช่วงชีวิตของคนเรา ถูกผูกแนบเข้ากับหลักความเชื่อจากหลายทิศทาง ทั้งจากนโยบายทางการเมือง จากระบบทางการแพทย์ จากความเชื่อทางศาสนา และจากระบบการศึกษา เหล่านี้หล่อหลอมวิธีคิด วิธีรู้สึก ไปถึงวิธีตัดสินทุกสิ่งทุกอย่างเราเข้าชั้นเรียนอนุบาล ผ่านชั้นประถม มัธยม และในที่สุดรางวัลแห่งปริญญาบัตรนั้นเองได้กลายเป็นประกาศิตแห่งความไม่รู้

ระบบการศึกษากระแสหลักปลูกฝังนิสัยในการตรวจสอบโลกด้วยเลนส์ที่ชื่อว่า “อวิชชา” ซึ่งทำให้เรากลายเป็นผู้เชี่ยวชาญในการสร้างนวัตกรรมความไม่รู้ขึ้น เราภาคภูมิและชื่นชมความไม่รู้เช่นนี้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญคนอื่น ๆ ผู้ชำนาญการเหล่านี้ ล้วนร่ำเรียนและใช้เครื่องมือที่แหลมคมในการตรวจสอบทุกรายละเอียดของความรู้

แต่ตราบใดที่ความไม่รู้โดยกำเนิด (อวิชชา) ยังไม่ถูกทะลุทะลวง ความรู้ที่ได้นั้น ก็จะเป็นเพียงปัญญาแห่งมายาคติเท่านั้นเราถูกทำให้ติดกับอยู่กับความเชื่อด้วยความไม่รู้ทางสังคม ตั้งแต่อนุบริบทในชีวิตส่วนตัว เช่นการเลือกยี่ห้อสบู่ ยาสีฟัน การจัดทรงผมให้เข้าสมัยของแฟชั่น ไปถึงบริบทขยายที่พัฒนาขึ้นผ่านความเชื่อทางศาสนา ระบบการเมือง ระบบคิดทางปรัชญา การค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ และความพยายามเข้าใจมนุษย์ผ่านวิชาจิตวิทยา

แต่อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครเกิดมาพร้อมกับความเชื่อว่า การกินหมูนั้นบาป การกินเนื้อวัวนั้นบาป ไม่มีทารกคนไหนที่เกิดมาพร้อมกับความเชื่อโดยกำเนิดว่า ศาสนานี้ดีกว่าศาสนานั้น หรือหลักปรัชญานี้ถูกต้องและหลักปรัชญานั้นผิด ความเชื่อพวกนี้ล้วนถูกปลูกฝังผ่านกระบวนการการเจริญเติบโตจากเด็กเป็นผู้ใหญ่ในแต่ละสังคม แต่ละยุคสมัย

การสวามิภักดิ์ต่อคุณค่าแห่งความไม่รู้ทางวัฒนธรรม ก่อให้เกิดความคับแคบและข้อจำกัด อันนำเราไปสู่การตัดสินโลกแบบทวิภาวะ และข้อจำกัดเหล่านี้ เบื้องลึกแล้วก็ล้วนเกิดมาจากความไม่รู้โดยกำเนิด (อวิชชา) นั้นเอง

ที่กล่าวมาเบื้องต้นไม่ใช่สิ่งเลวร้ายอะไร เป็นแต่เพียงการเสนอให้เห็นว่าเกิดอะไรขึ้น ตราบใดก็ตามที่มนุษย์ยังถูกพันธนาการด้วยทวิปัญญา มนุษย์ก็ยังต้องก่อสงครามขึ้นมาประหัตประหารกัน เท่า ๆ กับที่มนุษย์สามารถสร้างสรรค์เทคโนโลยีและศิลปะวิทยาการที่มีประโยชน์ต่อตนเองฉะนั้น

ในทิเบต มีสุภาษิตบทหนึ่งกล่าวว่า “เมื่อเราอยู่ในร่างของลา จงสำราญในรสแห่งต้นหญ้า” กล่าวอีกนัยหนึ่ง จงชื่นชมและเพลิดเพลินกับชีวิตนี้ เพราะชีวิตเต็มไปด้วยความหมายและมีคุณค่าในตัวเอง และที่สำคัญ มันเป็นชีวิตที่วิญญาณเราพำนักอยู่หากเราไม่สามารถดูแลที่พำนักแห่งวิญญาณ (อาลัยวิญญาณ)นี้ได้เอง คำสอนของครูบาอาจารย์ ก็สามารถช่วยนำทางเราได้

แต่บางคนอาจจะกล่าวว่า “ความอยาก” ที่จะไปพ้นความไม่รู้ และความพยายามกำจัดการเสพติดในรสต่าง ๆ นั้นโดยตัวมันเองก็ไม่ถูกต้องเช่นกัน หรือบางคนอาจจะพูดว่าชีวิตเราล้วนดำเนินไปตามความไม่รู้แห่งสังสารวัฏ มันเป็นความคลุมเครือพื้นฐานแห่งจิตใจของมนุษย์เท่านั้นเอง ดังนั้นจงร่ายรำไปในมณฑลแห่งความไม่รู้นั้นเถิด เพราะการต้านทานธรรมชาติของความไม่รู้ มันก็ไม่ต่างอะไรกับความคิดแบบทวิภาวะ

สังเกตดูสิ คำพูดและความคิดเหล่านี้ ทำให้เราสามารถเห็นว่า แม้แต่คำสอนหรือศีลเองก็ยังถูกตีความไปอย่างวิปริตสับสนดังตัวอย่างที่เห็นกันอยู่เนือง ๆ เมื่อคำว่า”ไร้ศีลธรรม” ได้ถูกตีความด้วยความไม่รู้เชิงทวิภาวะ และความไม่รู้ทางวัฒนธรรม ซึ่งสร้างความเข้าใจที่ตื้นเขินและสับสนต่อคำว่า “ไร้ศีลธรรม” จนไม่สามารถเข้าใจถึงรากฐานที่แท้จริงแห่งความไร้ศีลธรรมได้ ความไม่รู้และความเข้าใจผิดเช่นนี้ เป็นคำตอบว่า ทำไมการฝึกฝนในวัตรปฏิบัติที่นำเราให้พบประสบการณ์ตรงจากภายในจึงสำคัญยิ่ง เพราะการปฏิบัติและประสบการณ์ภายใน จะช่วยยกระดับการรับรู้ของเราให้ละเอียดขึ้น ช่วยให้แนวโน้มที่เราจะตัดสินโลกแบบทวิภาคค่อย ๆ จางลง

............

คัดเรื่องเกี่ยวกับความฝันในแง่มุมทางทิเบต หรือ สุบินโยคะ
ซึ่งได้แปลไว้อย่างไม่เป็นทางการมาให้อ่าน
ผู้เขียน คือ เท็นซิน วังจัล รินโปเช

ครูส้ม : สมพร อมรรัตนเสรีกุล แปล
ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: พฤศจิกายน 10, 2010, 10:32:50 pm »

จิตที่คลุมเครือ
...........
วันนี้แปลสุบินโยคะ ตอน "จิตที่คลุมเครือ"
...........

“รอยกรรม” คือผลที่เกิดจากจาก “กรรม” หรือ “การกระทำ” ในอดีตทั้งหมด
ที่เรียกว่า “การกระทำ”นั้น ไม่ได้มีความหมายเพียงการกระทำทางกาย แต่หมายรวมไปถึงการกระทำทางความคิด การกระทำทางวาจา และการกระทำทางใจด้วย เป็นผลแห่งการกระทำที่ครอบคลุมทุกด้านของชีวิต

รอยกรรมนี้มีที่อยู่เฉพาะเป็นพิเศษ ภาษาสันสกฤต เรียกว่า “อาลัยวิญญาณ” (alaya vijnana) ซึ่งคือที่พำนักของรอยกรรมนั่นเอง อธิบายง่าย ๆ ก็หมายถึงที่พักของจิตสำนึกและจิตไร้สำนึกทั้งหมด ที่สะสมอยู่ในจิตใจของเรา ซึ่งเป็นจิตที่ยังไม่รู้แจ้ง เป็นจิตที่ยังคลุมเครือ เป็นจิตที่ยังสับสนวุ่นวาย และเป็นจิตที่ยังมีกิเลส

อาลัยวิญญาณ หรือที่พักแห่งจิตที่ยังคลุมเครือนี้ ไม่ปรากฏให้สามารถชี้ตำแหน่งที่แน่ชัดลงไปทางกายภาพได้ว่าอยู่ตรงไหน อยู่ตรงหัวใจ หรืออยู่ในสมอง เพราะอาลัยวิญญาณมีภาวะที่เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาภายใต้เงื่อนไขของกรรม อุปมาง่าย ๆ อาลัยวิญญาณ เป็นดั่งคลังล่องหนที่เก็บทุกชิ้นส่วนของอารมณ์ความรู้สึกของเรา เป็นท้องพระคลังที่เก็บรวบรวมแบบแผนโครงสร้างชีวิตของเราอย่างละเอียด

แบบแผนโครงสร้างที่ถูกจัดเก็บอยู่ในคลังอารมณ์ที่เรียกว่า “อาลัยวิญญาณ”นี้ เป็นสิ่งกำหนดพฤติกรรมและประสบการณ์ทั้งหมด ทั้งพฤติกรรมภายนอก พฤติกรรมภายใน ประสบการณ์ภายนอก และประสบการณ์ภายในเมื่อร่างกายของคนเราสิ้นอายุขัย กายหยาบก็เน่าเปื่อยหมดสภาพไปตามธรรมชาติ แต่อาลัยวิญญาณนั้นยังคงดำรงอยู่ รอยกรรมที่ถูกเก็บไว้ในคลังที่มองไม่เห็นนั้น จะยังคงติดตามไปกำหนดแบบแผนชีวิตใหม่ของเราต่อไป ตราบใดที่จิตยังคลุมเครือไปด้วยความไม่รู้ ผลแห่งกรรมก็ยังคงถูกเก็บสะสมอยู่ในอาลัยวิญญาณไปเรื่อย ๆ จนกว่าจิตจะเข้าถึงความรู้จริง รู้แจ้ง เมื่อนั้นอาลัยวิญญาณก็จะสลายไป

....

จาก The Tibetan Yogas of Dream and Sleep
เท็นซิน วังจัล รินโปเช

ครูส้ม : สมพร อมรรัตนเสรีกุล ย่อยแปล
ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: พฤศจิกายน 10, 2010, 10:32:11 pm »

รอยกรรมและความฝัน
........

"รอยกรรม และ ความฝัน"

อารมณ์ ความรู้สึก ความคิด จินตนาการ ทรรศนะ การรับรู้ ตลอดจนสัญชาตญาณ หรือที่เรียกรวม ๆ กันว่า “จิตสำนึกและจิตไร้สำนึก” ปรากฏขึ้นจากรอยกรรมของปัจเจกบุคคล
ดังตัวอย่างต่อไปนี้ เธอตื่นขึ้นมาในเช้าวันหนึ่ง ด้วยความรู้สึกที่หดหู่เศร้าหมองอย่างไม่มีเหตุผล อารมณ์ในเช้านี้ แทนที่จะสดชื่นแจ่มใสเหมือนเช้าวันอื่น ๆ กลับหนักอึ้งหม่นมัว แม้จะรับประทานอาหารเช้าเรียบร้อยแล้ว ความรู้สึกหดหู่ก็ยังไม่หายไปไหน

ที่แย่กว่านั้นคือ คิดอย่างไรก็หาต้นเหตุที่ทำให้อารมณ์หม่นหมองนั้นไม่พบ เพิ่งตื่นแท้ ๆ ยังไม่มีเหตุการณ์อะไรมากระทบให้อารมณ์เสียสักอย่าง เรื่องราวขัดใจกับใครก็ไม่มี เหตุใดอารมณ์จึงไม่สดชื่นแต่เช้า ดูช่างไม่สมเหตุสมผลเสียจริง ๆ

เหตุการณ์เช่นนี้ ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นอย่างไร้เหตุผล อารมณ์หม่นหมองที่เกิดขึ้นในตอนเช้า เกิดจากความเหมาะเจาะสอดคล้องของเหตุปัจจัยแห่งกรรมที่เรามองไม่เห็น กรรมที่เป็นต้นตอของจิตหมองนี้มีเหตุปัจจัยมากมายเหลือคณานับ รวมทั้งเหตุปัจจัยที่ก่อรูปขึ้นในความฝันยามหลับด้วย แม้ว่าเธอจะตื่นมา แล้วพูดว่าเมื่อคืนไม่ได้ฝันอะไร หรือได้ลืมความฝันไปแล้ว แต่อารมณ์ความรู้สึกในฝันยังคงตกค้างอยู่ ซึ่งทำให้จิตใจเศร้าหมองอย่างไม่รู้ต้นสายปลายเหตุ

ในช่วงเวลากลางวันที่ร่างกายของเราตื่นอยู่ จิตจะทำงานคู่ขนานไปกับความคิดเชิงเหตุผลอยู่เสมอ แต่เมื่อร่างกายของเรานอนหลับและเข้าสู่ห้วงของความฝัน จิตขณะฝันของเรา เป็นจิตที่อิสระจากวิสัยเชิงเหตุผล เปรียบเทียบคล้ายกับการถ่ายภาพ วันหนึ่ง ๆ เราได้บันทึกภาพมากมายลงบนฟิล์ม ผ่านความคิด ผ่านประสบการณ์ ผ่านความจำ และผ่านความรู้สึก ภาพแต่ละภาพถูกบันทึกไปอย่างต่อเนื่อง ครั้นพอตกค่ำคืน ขณะที่ร่างกายของเรานอนหลับ กระบวนการล้างฟิล์มได้ค่อย ๆ ก่อตัวขึ้น ภาพที่ล้างออกมา ปรากฏเป็นความฝันในแต่ละคืน ส่วนหนึ่งเป็นผลพวงที่จิตบันทึกไว้ในชีวิตประจำวันขณะตื่น และอีกส่วนหนึ่งเป็นผลจากรอยกรรมในอดีต

ภาพหรือความฝันที่เกิดขึ้นในแต่ละคืนจะแตกต่างกันไปตามเงื่อนไขเฉพาะของรอยกรรมที่ปรากฏในช่วงนั้น ๆ บางคืนภาพที่เราเห็นในความฝันก็ช่างมีอานุภาพต่อจิตใจเราอย่างรุนแรง เปรียบเหมือนภาพที่ชัดเสียจนตื่นมาแล้วก็ยังจดจำได้ทุกรายละเอียด จำทุกอารมณ์ทั้งสุขและทุกข์ได้ แต่บางฝันก็ทิ้งไว้เพียงความจำที่เลือนลาง เหมือนภาพที่ลอยมาให้เห็นแล้วก็ผ่านไป ตื่นมาก็จำอะไรไม่ค่อยได้จิตของเราทำหน้าที่คล้ายหลอดไฟของเครื่องฉายภาพ ซึ่งให้ความสว่างแก่รอยกรรมที่ถูกกระตุ้นด้วยเหตุปัจจัยต่าง ๆ เมื่อหลอดภาพที่ถูกจุดให้สว่างขึ้น ประกอบเข้ากับรอยกรรมที่ถูกกระตุ้น จึงก่อให้เกิดภาพและประสบการณ์ที่เรียกว่า “ความฝัน”

ความจริงกระบวนการฉายแสงให้จอสว่างเพื่อที่เราจะได้เห็น “ภาพหรือประสบการณ์” เบื้องลึกของจิตอย่างแจ่มชัด ก็เกิดขึ้นในขณะที่เราตื่นด้วยเหมือนกัน แต่กระบวนการฉายภาพเบื้องลึกเช่นนี้ จะเห็นและเข้าใจได้ง่ายกว่าในความฝัน เพราะว่าในฝัน เราสามารถสังเกตทุกประสบการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยจิตที่เป็นอิสระจากข้อจำกัดและเงื่อนไขเชิงเหตุผลอย่างที่เราเคยชินในช่วงเวลาตื่นอีกประการหนึ่ง

ในระหว่างวันของชีวิตยามตื่น เราไม่สามารถผนวกตัวเองเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับประสบการณ์ภายในได้สนิทเหมือนขณะฝัน เพราะความคิดที่ติดยึดว่าประสบการณ์ขณะตื่นเป็น “ของจริง” ทำให้คนทั่วไปมักตัดสินว่า “โลกภายนอก” คือโลกแห่งความเป็นจริง และนี่เป็นข้อจำกัดของความคิดเชิงเหตุผลแบบทวิภาวะ ที่แบ่งแยกโลกภายนอกออกจากโลกภายใน และแบ่งแยกโลกของจริงออกจากโลกฝัน

ในทางสุบินโยคะ ให้ความสำคัญกับการฝึกฝนจิต เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อประสบการณ์ทุกมิติทั้งยามตื่น และยามหลับฝัน และเพื่อให้สามารถเชื่อมโลกภายนอกเข้ากับโลกภายใน เชื่อมประสบการณ์ภายนอกเข้ากับประสบการณ์ภายใน เมื่อจิตมีความเป็นหนึ่งเดียว จิตจึงจะว่องไวต่อความตระหนักรู้ ทั้งในชีวิตยามตื่นและชีวิตยามหลับ จิตที่ว่องไวและตระหนักรู้ มีผลต่อการกำหนด “กรรม” และ “รอยกรรม” ชุดใหม่

ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า รอยกรรมที่เก็บซ่อนอยู่ในอาลัยวิญญาณ จะปรากฏออกมาเมื่อเกิดความสอดคล้องเชื่อมโยงกันของเหตุปัจจัยทั้งหลาย และการปรากฏของรอยกรรมก็มิได้ปรากฏเฉพาะในชีวิตยามตื่นเท่านั้น แต่จะไปปรากฏในชีวิตยามหลับด้วย

การฝึกจิตเพื่อปรับปรุงตัวเองสู่กุศลกรรม เราอาจจะได้กระทำอยู่บ้างแล้วในช่วงชีวิตยามตื่น สำหรับการฝึกในด้านความฝันอาจเป็นเรื่องที่ไม่คุ้นเคยกันนัก แต่กุศลกรรมจากการฝึกปฏิบัติแต่ละครั้ง ก็จะเป็นแรงหนุนให้เกิดรอยกรรมใหม่ซึ่งช่วยนำให้การฝึกครั้งต่อ ๆ ไปง่ายยิ่งขึ้น สามารถนำจิตวิญญาณเข้าสู่กระบวนการฝึกชั้นสูงขึ้นได้เอง

การฝึกเช่นนี้ไม่ใช่การใช้กำลังของจิตสำนึกไปบีบคั้นบังคับเพื่อเปลี่ยนจิตไร้สำนึกแต่อย่างใด แต่การฝึกฝันตามแบบโยคะทิเบต เป็นการสร้างโอกาสในการพัฒนาจิตวิญญาณ โดยอาศัยความเข้าใจตามหลักของ “กฏแห่งกรรม”ด้วยจิตที่มีสติรู้อยู่ตลอดเวลา (ทั้งยามตื่นและในฝัน) เราจึงจะสามารถรู้เท่าทันอารมณ์ที่สะสมอยู่ในอาลัยวิญญาณ และจัดการกับอารมณ์เหล่านั้นด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง (วิชชา) เมื่ออาลัยวิญญาณไม่ถูกต่อยอดด้วยอวิชชา จิตที่คลุมเครือก็จะค่อย ๆ แจ่มชัดขึ้น เป็นจิตที่สว่างไสวเมื่อจิตสว่างบริสุทธิ์ รอยกรรมซึ่งเป็นรากของความฝันก็จะไม่ปรากฏ กระบวนการล้างฟิล์มในขณะหลับก็ไม่จำเป็นอีกต่อไป เมื่อนั้นจึงจะไม่มีทั้งเรื่องราวในฝัน ไม่มีผู้ฝัน และไม่มีความฝัน คงมีแต่ภาวะแห่งความรู้แจ้ง นี่เป็นเหตุที่เราเรียกภาวะของการสิ้นสุดความฝันว่า “การตื่นรู้” (การตื่นอย่างแท้จริง)
ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: พฤศจิกายน 10, 2010, 10:31:40 pm »

รอยอกุศลกรรม
....

เมื่อใดก็ตามที่เราใช้อารมณ์ด้านลบโต้ตอบกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เข้ามาในชีวิต เมื่อนั้น “รอยอกุศลกรรม” ได้ถูกประทับไว้แล้วทันทีในจิตของเรา และรอยอกุศลกรรมนี้ เป็นพลังที่มีอิทธิพล ทำให้ชีวิตของเราต้องเผชิญกับสถานการณ์ด้านลบอีกต่อ ๆ ไปอย่างไม่รู้จบ

ดังตัวอย่างเช่น เมื่อมีใครสักคนแสดงโทสะใส่เรา และเราโต้ตอบกลับด้วยโทสะเช่นเดียวกัน นั่นเท่ากับเราได้ทิ้งรอยกรรมแห่งโทสะจริตไว้ ซึ่งจะทำให้เรากลายเป็นคนโกรธง่ายขึ้นเรื่อย ๆ โกรธบ่อยขึ้นเรื่อย ๆ จนดูเหมือนว่าสถานการณ์ที่เป็นปัจจัยยั่วโทสะรอบตัวเรานั้นช่างมีมากมายเหลือเกิน และนับวันก็ยิ่งมีมากขึ้นเรื่อย ๆ

ในทำนองกลับกัน ถ้าเราไม่โต้ตอบสถานการณ์ด้วยความโกรธ ก็จะไม่มีการประทับรอยโทสะไว้ในรอยกรรมของเรา ในสถานการณ์เดียวกันเช้นนี้ บุคคลที่ถูกประทับรอยกรรมด้วยอารมณ์โกรธ กับอีกคนที่ไม่ คนทั้ง ๒ ย่อมได้รับผลแห่งกรรมไม่เหมือนกัน ทั้งผลภายนอก (หน้าที่การงาน ชีวิตทางสังคม) และผลภายใน (ความสงบสุขทางจิตใจ สุขภาพทางร่างกาย ตลอดจนความคิดและสติปัญญา)

ความกลัว ความวิตก ก็เป็นอีกตัวอย่างของอารมณ์ที่ทิ้งรอยกรรมด้านลบไว้ ความกลัวความวิตกกังวลทำให้คนตกอยู่ในภาวะเครียด ความเครียดเป็นพลังงานที่แผ่ซ่านออกไปรอบทิศทางชีวิตของบุคคลนั้น เราคงจะเห็นบ่อย ๆ ว่า คนที่โกรธง่าย วิตกกังวลง่าย และมีความกลัวอยู่ในใจ จะดึงดูดเอาผลแห่งรอยกรรมด้านลบหรือด้านร้ายเข้าสู่ชีวิตของเขาเอง จนดูประหนึ่งว่าชีวิตเขาจะพบแต่โชคร้ายอยู่เนือง ๆ

แต่แม้ว่าเราจะกดอารมณ์โกรธ กดความวิตกและความกลัวนั้นไว้ในใจเงียบ ๆ ไม่แสดงการโต้ตอบออกไป รอยกรรมแห่งอกุศลจิตก็ยังไม่ได้หายไปไหน เพราะการเก็บกดไว้เป็นการสำแดงความไม่พึงพอใจแบบย้อนกลับ แม้ไม่แสดงออกมา แต่ก็ไม่ได้หมดไป ยังคงซ่อนอยู่หลังประตูที่เราคล้องกุญแจไว้ มันซ่อนอยู่ในความมืดอย่างรอคอย เหมือนศัตรูร้ายที่ซุ่มเงียบ รอให้ได้ที หรือได้ฤกษ์เมื่อไร ก็พร้อมที่จะสำแดงอิทธิฤทธิ์ออกมาต่าง ๆ นานา

ตัวอย่างเช่น เมื่อเราเก็บกดความโกรธ หรืออิจฉาริษยาใครก็ตามไว้ในใจ เราจะรู้สึกได้ถึงความเดือดพล่านในอารมณ์ของเราเป็นระยะ แม้ว่าเราจะเก็บความริษยานั้นไว้เป็นความลับสุดยอด แต่ก็ไม่วายที่เราอาจจะเผลอนินทาว่าร้ายบุคคลนั้นไปอย่างไม่รู้ตัว หรือแม้ว่าเราจะปฏิเสธกับตัวเองว่าเราไม่ได้โกรธหรือริษยาใคร แต่เราก็หลอกจิตใจตัวเองไม่ได้ ตราบใดที่จิตของเรายังจับความรู้สึกโกรธ เกลียด กลัว อิจฉา หรืออาฆาตมาดร้ายที่เก็บกดไว้หลังประตูใจของเราได้ ตราบนั้นเมล็ดพันธุ์แห่งอกุศลกรรมได้ถูกหว่านไปในพื้นดินอันอุดมด้วยกิเลสเรียบร้อยแล้ว

......ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นว่า ร่องรอยแห่งอกุศลกรรมนั้นจะถูกประทับทันที ไม่ว่าเราจะสร้างอกุศลทางใดก็ตาม ทั้งทางการกระทำ ทางวาจา ทางความคิด และทางความรู้สึก

ดังนั้น แทนที่เราจะปล่อยให้อุปนิสัยหรือจริตของเราขับเคลื่อนไปตามยถากรรม หรือเก็บกดความรู้สึกทางอกุศลไว้ในใจ เราสามารถเปลี่ยนรอยอกุศลกรรมได้ ด้วยการสื่อสารกับจิตวิญญาณภายในของเราให้ลดทอนอารมณ์ด้านลบต่าง ๆ การสื่อสารกับตัวเองเป็นการช่วยให้เราเชื่อมั่นว่าเราสามารถเปลี่ยนรอยอุกศลกรรม ให้เป็น กุศลกรรมได้

เมื่อใครสักคนทำให้เราโกรธ จริตเดิมเราอาจจะเริ่มปรากฏโทสะขึ้น แต่ด้วยการสื่อสารและเชื่อมั่นในกุศลกรรม จะช่วยให้เราค่อย ๆ เปลี่ยนความโกรธนั้นเป็นความเมตตา ขณะเริ่มฝึกใหม่ ๆ เราอาจรู้สึกว่าการปรับเปลี่ยนนี้ช่างฝืนใจและเสแสร้งเสียเหลือเกิน มันช่างไม่เป็นธรรมชาติที่แท้จริงของเราเลย

แต่ลองคิดใคร่ครวญดูดี ๆ ซิว่า บุคคลที่โกรธเกลียดเราคนนั้น เขาจะต้องถูกผลักให้เข้าไปวนเวียนอยู่ในวังวนของความโกรธอันไม่มีที่สิ้นสุด เนื่องด้วยกรรมของเขาเอง จิตใจของเขาจะต้องทนทุกข์กับหลุมพรางที่ตัวเองเป็นคนขุด ต้องติดอยู่ในกับดักที่ตัวเองเป็นคนสร้าง ว่ายเวียนอยู่ในรอยอกุศลกรรมที่ตัวเองเป็นผู้ก่อ เมื่อเราพิจารณาอย่างเข้าใจได้เช่นนี้ ความรู้สึกเมตตาก็จะผุดขึ้นในใจเรา เราจะเริ่มมีสติที่จะไม่กระทำการตอบโต้ด้วยจริตเดิม เพราะเราไม่อยากเข้าไปว่ายวนในทะเลทุกข์เหมือนเขา นั่นเท่ากับเราได้เริ่มลงมือเปลี่ยนแปลงรอยกรรมใหม่ในอนาคตของเราแล้ว ด้วยการกระทำในวันนี้ของเราเอง ซึ่งเรามีสิทธิ์เลือกได้

ผลแห่งกรรมในทางกุศลนี้ ต้องเป็นไปตามความปรารถนาที่จะพัฒนาจิตวิญญาณของเราให้เติบโตอย่างอบอวลไปด้วยความสงบสันติ ความปรารถนานี้ทำให้เราศรัทธาเชื่อมั่น เป็นการหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความเมตตาลงไปในใจอย่างไม่รู้ตัว

คราวต่อ ๆ ไป เมื่อต้องเผชิญกับเหตุการณ์ที่เคยสร้างความโกรธเคืองให้เราอีก เมล็ดพันธุ์แห่งเมตตาธรรม จะแตกหน่อออกผลอย่างเป็นธรรมชาติในใจเรา เราจะเกิดความเมตตาขึ้นอย่างไม่ต้องฝืน อย่างเป็นธรรมดา อย่างสบาย ๆ จิตไร้สำนึกของเราไม่จำเป็นต้องสร้างกลไกการปกป้องตัวเองด้วยการโต้ตอบด้วยวิธีรุนแรงอีกต่อไป

กุศลกรรมเป็นกรรมที่สะสมทับทวีคูณ เมื่อเริ่มต้นฝึกปรับเปลี่ยนรอยกรรมใหม่ ๆ เราจะรู้สึกว่าต้องอดทน อดกลั้น ต้องฝืนใจอย่างมาก แต่เมื่อรอยกรรมที่เป็นกุศลเกิดขึ้นซ้ำ ๆ ผลแห่งกรรมนั้นเองที่ช่วยให้ความโกรธของเราลดลงไปทีละนิด ๆ อย่างไม่ต้องฝืน ไม่ต้องพยายาม ทั้งทางกาย ทางใจ และทางปัญญา

อาศัยความเข้าใจเกี่ยวกับ กุศลกรรม และ อกุศลกรรม เราสามารถพัฒนาจิตวิญญาณของเราด้วยการฝึกใส่ใจทุก ๆ ประสบการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งในยามตื่น ในระหว่างภาวนา และในความฝัน

............

(แปลจากบางตอนของหนังสือ The Tibetan Yogas of Dream and Sleep
เขียนโดย เท็นซิน วังจัล รินโปเช)
ครูส้ม : สมพร อมรรัตนเสรีกุล แปล
รูปประกอบวาดเมื่อ มีนาคม ๔๖
ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: พฤศจิกายน 10, 2010, 10:31:10 pm »

ปราณ
......
ตอน "ปราณ"

ความฝันเป็นกระบวนการที่เคลื่อนไหวต่อเนื่อง ภาพในความฝันจะเลื่อนไหลไปเรื่อย ๆ มีความสั่นสะเทือนของคลื่นเสียง มีคำพูด มีบทสนทนา และมีการเคลื่อนไหวโต้ตอบทางอารมณ์ความรู้สึก เนื้อหาเรื่องราวในความฝันก่อร่างขึ้นจากอารมณ์จิตใจ แต่รากฐานที่ก่อให้เกิดความฝันนั้นมาจาก “ปราณ”

คำว่า “ปราณ” (Prana) ในภาษาทิเบตคือ Lung แปลตามตัวอักษรในความหมายทั่วไป หมายถึง “ลม” แต่ความหมายในเชิงลึก หมายถึง “ลมแห่งชีวิต” ปราณเป็นรากฐานของพลังชีวิต การฝึกโยคะอาสนะ และฝึกหายใจแบบโยคี (ปราณยาม) เป็นการเพิ่มกำลังและฟอกชำระลมแห่งชีวิต เพื่อจุดมุ่งหมายในการสร้างดุลยภาพให้กับร่างกายและจิตใจ

คติทางทิเบตได้ขยายความเกี่ยวกับลมแห่งชีวิต หรือ “ปราณ” ว่ามีคุณสมบัติอยู่ ๒ ประเภท คือ
กรรมปราณ และ ปัญญาปราณ

.......
ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: พฤศจิกายน 10, 2010, 10:30:28 pm »

ทางเดินของปราณ
.........
วันนี้มาต่อเรื่อง "ช่องทางเดินของปราณ"

คำว่า ปราณ อาจจะได้ยินกันในหลาย ๆ ชื่อ เช่น พลังชีวิต ลมแห่งชีวิต ชี่หรือขี่(จีน) , กิ(ญี่ปุ่น) , ปราณ(อินเดีย)

ช่องทางหรือช่องผ่านของปราณ ภาษาสันสกฤตเรียกว่า "นาทิ" (Nadi) แปลว่า ช่องทางการเลื่อนไหล ในภาษาไทยตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิต เรียกว่า "นาฬี หรือ นาลี" แปลว่า ท่อหรือช่องนาฬีคือช่องทางเดินของปราณ

ในร่างกายคนเรามีนาฬีมากมาย ตำราโบราณของจีนและอินเดียบอกว่ามีมากกว่าเจ็ดหมื่นเส้น เรารู้จักนาฬีชนิดหยาบผ่านความรู้ทางการแพทย์และวิชากายวิภาค จากการศึกษาเรื่องระบบของเส้นเลือด ระบบการไหลเวียนของโลหิต ระบบน้ำเหลือง ระบบเส้นประสาท รวมทั้งเส้นและจุดในวิชาการฝังเข็มด้วย

ช่องทางเดินของปราณที่กล่าวมาเบื้องต้น เป็นนาฬีของกายหยาบ แต่ในสุบินโยคะ จะพิจารณาไปถึงนาฬีของกายละเอียด กายละเอียดนี้เป็นมูลฐานของทั้งปัญญาญาณและอารมณ์ความรู้สึกทั้งปวง นาฬีละเอียดไม่สามารถบ่งชี้ตำแหน่งที่แน่ชัดว่าอยู่ตรงไหนในร่างกาย แต่เราสามารถตระหนักรู้และสัมผัสได้เมื่อได้รับการฝึก



นาฬีละเอียดมีท่อทางเดินที่เป็นนาฬีหลักอยู่ ๓ เส้นเรียงกัน โดยมีจักร ๖ จักรวางอยู่ในตำแหน่งที่เรียงลำดับกันทางตั้ง ๖ จุด และจากจักรทั้ง ๖ มีนาฬีเส้นสายย่อย ๆ อีก ๓๖๐ เส้นแผ่กระจายไปทั่วร่างกาย (ตำราทิเบตเล่มนี้จะพูดถึงจักรเพียง ๖ จักร แต่ในตำราโยคะสายอื่น ๆ จะพูดถึงจักร ๗ จักร ๙ และจักรย่อยอีกมากมายไว้ด้วย)

เส้นนาฬีหลักทั้ง ๓ ของหญิง เส้นทางขวามีสีแดง เส้นทางซ้ายมีสีขาว และเส้นตรงกลางมีสีน้ำเงิน

ส่วนนาฬีของผู้ชาย เส้นทางขวาสีขาว เส้นทางซ้ายสีแดง และเส้นตรงกลางมีน้ำเงินเช่นกัน

จุดบรรจบของเส้นนาฬีหลักทั้ง ๓ เริ่มต้นจากตำแหน่งที่ต่ำลงไปใต้สะดือประมาณ ๔ นิ้ว เส้นนาฬีซ้ายและขวามีเส้นผ่าศูนย์กลางขนาดด้ามดินสอ ตั้งคู่ขนานและขนาบอยู่ด้านหน้าของแนวกระดูกสันหลังขึ้นไปจนถึงสมอง วนกลับภายในกระโหลก ณ จุดกลางกระหม่อม แล้วย้อนลงมาเชื่อมกับโพรงจมูก

รูจมูกทั้ง ๒ ข้างจึงเป็นประตูเปิดของนาฬีหลักเส้นซ้ายและขวาส่วนนาฬีหลักเส้นตรงกลาง อยู่ด้านหน้ากระดูกสันหลัง ตั้งตรงขึ้นตามแนวกระดูกสันหลังเริ่มจากจุดใต้สะดือลงไป ๔ นิ้วเช่นกัน มีเส้นผ่าศูนย์กลางขนาดประมาณลำอ้อย เส้นผ่าศูนย์กลางนี้จะขยายกว้างขึ้นเล็กน้อยจากบริเวณหัวใจไปถึงจุดบรรจบที่กลางกระหม่อมบนศรีษะ

เส้นนาฬีสีขาว (ด้านขวาของชาย ด้านซ้ายของหญิง) เป็นช่องทางการเคลื่อนไหวของปราณหรือพลังงานด้านลบ และความคิดติดกรอบ

ส่วนเส้นนาฬีสีแดง (ด้านซ้ายของชาย และด้านขวาของหญิง) เป็นช่องทางเดินของพลังงานด้านบวกและปัญญา

ดังนั้น ในการฝึกฝันแบบสุบินโยคะ ผู้ชายจะนอนตะแคงตัวขวา ส่วนผู้หญิงนอนตะแคงซ้าย เพื่อผลในการกดทับและปิดเส้นนาฬีสีขาว และเปิดเส้นนาฬีสีแดงซึ่งเป็นช่องทางของปัญญาและอารมณ์ทางบวก ท่านอนนี้จะช่วยให้ประสบการณ์ในความฝันเป็นไปทางบวกและกระจ่างชัด(การฝันแบบฝันกระจ่าง หมายถึงคุณภาพของฝันที่เรารู้ตัวในฝันว่าเรากำลังฝันอยู่ ภาพและเสียงตลอดจนประสาทรับรู้จะแจ่มชัด เมื่อตื่นแล้วก็ยังจดจำความฝันนั้นได้ เรียกว่า ฝันกระจ่าง หรือ Lucid Dreaming)

ส่วนเส้นนาฬีสีน้ำเงินที่อยู่ตรงกลาง เป็นนาฬีที่อยู่เหนืออารมณ์ด้านบวกและอารมณ์ด้านลบ เป็นทางเดินของพลังแห่งความตระหนักรู้แจ้ง

จุดมุ่งหมายสูงสุดของการฝึกสุบินโยคะ คือการชักนำจิตสำนึกและปราณมาประสานรวมกันภายในนาฬีสีน้ำเงินเส้นตรงกลางนี้ ณ ที่ซึ่งไปพ้นทั้งความรู้สึกทางบวกและความรู้สึกทางลบ ไปพ้นเวทนาทั้งปวงเมื่อภาวะนี้เกิดขึ้น ผู้ฝึกจะตระหนักรู้ผ่านประสบการณ์ภายในว่าอารมณ์ความรู้สึกเชิงทวิภาวะทั้งหลาย ได้หลอมรวมเข้าเป็นหนึ่งเดียว เกิดเป็นความว่าง และความกระจ่างสว่างรู้

.....

ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: พฤศจิกายน 05, 2010, 05:25:19 am »




ดึก ๆ สอง สามทุ่ม มาลงต่อ ถ้ารีบร้อน ไป อ่านตามลิ้งได้

วิชา 6 แห่งนาโรปะ   

สุบินโยคะ กับ แสงกระจ่าง  สาย กุมารี นุคุมา คู่ธรรมนาโรปะจะเน้น

ส่วนสายนาโรปะ กายมายา กับ มันดาร่า จะเน้น
ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: พฤศจิกายน 05, 2010, 05:19:52 am »




มายาการกับความฝัน

.....

คนโบราณมักใช้การอุปมาอุปมัย ในการสอนเรื่องนามธรรม (การศึกษาทางเลือกหลายสำนักก็กลับมาให้ความสนใจเรื่องอุปมาอุปมัย โดยจัดอยู่เข้าหมวดญาณทัศน์ด้วย)
วันนี้แปลบท "มายาการกับความฝัน" มาให้อ่านค่ะ

.............

"เงาสะท้อน" ภาพราชสีห์คำรามเกรี้ยวกราดใส่เงาสะท้อนของตัวเองในสระน้ำ เพราะเข้าใจว่าภาพที่เห็นในน้ำนั้นเป็นราชสีห์อีกตัวหนึ่ง ซึ่งกำลังคำรามใส่ตนเช่นกัน

ความฝันเป็นภาพสะท้อนของดวงจิต การปล่อยให้อารมณ์ไหลเลื่อนไปตามแรงกระตุ้นแห่งเหตุปัจจัย จึงอุปมาดังว่าเรากำลังคำรามใส่เงาสะท้อนของดวงจิตตัวเอง

ความฝันไม่ใช่สิ่งแปลกแยกจากดวงจิตของเรา เช่นที่รังสีของดวงอาทิตย์ไม่ได้แปลกแยกออกไปจากแสงแดด ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเป็นเงาสะท้อนของกันและกัน ท้องฟ้าก็คือจิตของเรา ภูเขาก็เป็นดวงจิตของเรา ดอกไม้ อาหาร ตลอดจนผู้คนที่เราพบเห็น ทั้งหมดล้วนคือดวงจิตของเรา ซึ่งสะท้อนเงากลับมาสู่เราผ่านการฝันนั่นเอง

"แสงฟ้าแลบ" ในค่ำคืนที่มืดสนิท เรามองไม่เห็นสิ่งรอบตัว แต่เมื่อพลันปรากฏแสงฟ้าแลบสว่างขึ้น ทันใดนั้นภาพทิวเขาตั้งตระหง่านตัดกับฉากหลังของท้องฟ้าสีดำก็ปรากฏขึ้นแวบหนึ่ง ขุนเขาไม่ได้เพิ่งจะปรากฏเมื่อเกิดแสงฟ้าแลบ แต่ขุนเขาดำรงอยู่อย่างนั้นก่อนแล้ว แม้ไม่มีสายฟ้าสว่างวาบขึ้นมา ขุนเขาก็ยังคงตระหง่านอยู่ตรงนั้น
..แสงฟ้าแลบที่สว่างวาบขึ้นมาอย่างฉับพลัน อุปมาเหมือนแสงสว่างในดวงจิตของเรา เมื่อสว่างวาบขึ้นคราใด เราก็สามารถเห็นภาพที่ต่างไป แสงฟ้าแลบในดวงจิตของเรา คือแสงแห่งวิชชา และวิชชาเองก็สถิตย์อยู่แล้วในดวงจิตของเราเหมือนภูเขาที่ตั้งตระหง่านเงียบในความมืด


"สายรุ้ง" ความฝันเปรียบเหมือนสายรุ้ง ทั้งสวยงามและเต็มไปด้วยเสน่ห์จูงใจ แต่ไม่มีตัวตน ไม่สามารถจับต้องได้ สายรุ้งเป็นเพียงภาพฉายของแสงซึ่งมารวมกันในองศาที่เหมาะเจาะ ดังนั้นการพยายามติดตามเพื่อเอื้อมคว้าสายรุ้งมายึดครอง จึงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะ ณ ตำแหน่งที่เราเห็นรุ้งกินน้ำปรากฏขึ้น แท้จริงไม่ได้มีอะไรดำรงอยู่ตรงนั้นเลย สายรุ้งจึงเป็นเพียงการมาประชุมกันของเหตุปัจจัยอันเอื้อให้เกิดภาพลวงตาขึ้นเท่านั้น


"ดวงจันทรา"ความฝันอุปมาได้กับดวงจันทร์ ซึ่งสะท้อนเงาให้เห็นในแหล่งน้ำที่หลากหลาย ในสระบัว ในบ่อบึง ในลำธาร หรือในทะเลกว้าง ทั้งก็ยังส่องสะท้อนอยู่บนหน้าต่างกระจกนับล้านบานในเมืองใหญ่อีกด้วย ทั้งที่ดวงจันทร์มีเพียงหนึ่งเดียว หาได้มีจำนวนมากมายมหาศาลเท่าจำนวนเงาสะท้อนไม่
..อุปมาได้กับเรื่องราวมากมายมหาศาลที่ปรากฏภาพแล้วภาพเล่าในความฝัน แท้จริงทั้งหมดของความมหาศาลนั้นมีแหล่งกำเนิดเพียงหนึ่งเดียวในดวงจิตของเรา


"มายากล" นักมายากลสามารถเสกก้อนหินก้อนหนึ่งให้กลายเป็นช้าง กลายเป็นงู แล้วกลายไปเป็นเสือได้ในบัดดล กลเม็ดความชำนาญของนักมายากล และความน่าตื่นตาตื่นใจ ทำให้ผู้ชมคล้อยตามได้ไม่ยาก
..ในความฝัน ตัวเราเปรียบเหมือนผู้ชมมายากล ภาพความฝันที่เราตื่นตาตื่นใจและคล้อยตาม เปรียบก็เหมือนช้าง งู และเสือของนักมายากล ซึ่งล้วนเป็นฉากลวงตาที่ถูกสร้างโดยกลเม็ดมายาของดวงจิตเรานั่นเอง


"เงาลวง" ในดินแดนอันร้อนระอุกลางทะเลทราย เมื่อองศาของเหตุปัจจัยพอเหมาะ นักเดินทางจะเห็นภาพบ้านเมืองระยิบระยับอยู่เบื้องหน้า หรืออาจเห็นแหล่งน้ำโอเอซิสเขียวชอุ่มอยู่แค่เอื้อม ภาพที่เห็นทำให้นักเดินทางอาจเดินหลงทิศ หรือทุรนทุรายไขว่คว้าไปจนสิ้นแรง
..ความฝันก็ไม่ต่างกัน ภาพที่เราเห็นในความฝันอุปมาได้กับเงาลวงตากลางทะเลทราย เมื่อใดที่เราเข้าใจว่าภาพที่เห็นเป็นความจริง และทุรนทุรายไปกับสิ่งนั้น เราก็อาจจะเดินหลงทิศและวนเวียนอยู่ในทะเลทรายจนหมดแรง โดยหารู้ไม่ว่าเงาลวงตานั้น แท้จริงเป็นเพียงการเล่นของแสงอันว่างเปล่า


"เสียงก้องสะท้อน" เมื่อยืนอยู่กลางหุบเขา เสียงตระโกนหนึ่งเสียง จะย้อนกลับมาเป็นเสียงก้องอีกหลายเสียง ถ้าตระโกนดังเสียงก้องสะท้อนก็ดังตาม ตระโกนเบา ๆ เสียงก้องสะท้อนก็เบา หรือถ้าเปล่งเสียงกระซิกร่ำไห้ เสียงก้องที่สะท้อนกลับมาก็คือเสียงกระซิกร่ำไห้อย่างนั้น
..เสียงก้องทุกเสียงที่สะท้อนไปสะท้อนมากลางหุบเขา ประหนึ่งว่ามีผู้คนเปล่งเสียงไม่ขาดสายนั้น ที่จริงมีจุดกำเนิดเสียงเพียงจุดเดียว เสียงที่ก้องสะท้อนรอบที่ตามมาอีกหลายรอบจึงเป็นมายา เสียงในความฝันก็เช่นเดียวกัน ทุกสรรพสำเนียงและเรื่องราวในความฝัน อุปมาเหมือนกับเสียงก้องกลางหุบเขาที่สะท้อนไปมาหลายตลบ ความฝันจึงคือเสียงก้องสะท้อนที่เปล่งออกไปจากจิตหนึ่งเดียวของเรานั่นเอง


.....
ตัวอย่างเหล่านี้ ย้ำให้เราตระหนักถึงธรรมชาติดั้งเดิมว่าไม่มีอะไรดำรงอยู่จริง พระสูตรในวัชรยานเรียกภาวะนี้ว่า "ความว่าง" ทางตันตระเรียกว่า "มายาการ" ส่วนคำสอนซอกเช็น เรียกภาวะนี้ว่า "เอกมณฑล"

สุบินโยคะ ไม่เน้นเรื่องการตีความสัญลักษณ์ในฝัน หรือหากจะตีความ ก็สอนให้หาความหมายที่ช่วยให้ก้าวหน้าในทางจิตวิญญาณ ให้ไปเหนือการแปลฝันหรือยึดติดกับความฝันใด ๆ

ซึ่งจุดนี้เป็นจุดต่างกับสำนักฝันอื่น ๆ ซึ่งส่วนมากเน้นที่การแปลความฝัน หรือตีความสัญลักษณ์ในความฝัน ซึ่งส่วนมากอยู่ในบริบทของชีวิตทั่วไป เช่น ความสัมพันธ์ ความรวย สุขภาพ เป็นต้น แต่สุบินโยคะของทิเบต มองว่าสัญลักษณ์ต่าง ๆ นั้นเป็นมายาการ มีความว่างเป็นปฐม

.....

๒๗ มีนาคม ๒๕๔๗
ครูส้ม : สมพร อมรรัตนเสรีกุล ย่อยแปล

http://kroosom-dream.blogspot.com/