ภาคที่ 1 วิถีแห่งฟิสิกส์ บทที่ 1 ฟิสิกส์สมัยใหม่
หนทางที่กอปรด้วยหัวใจ ฟิสิกส์สมัยใหม่มีอิทธิพลอย่างลึกซึ้งต่อสังคมมนุษย์ในแง่มุมต่างๆ เกือบทั้งหมด เป็นพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ และทั้งวิทยาศาสตร์ธรรมชาติและเทคโนโลยี ได้เปลี่ยนแปลงไขพื้นฐานของการดำรงอยู่ของชีวิตบนพื้นพิภพนี้ ทั้งในทางที่เป็นคุณและเป็นโทษ ในปัจจุบัน อุตสาหกรรมส่วนใหญ่ใช้ประโยชน์จากความรู้ของวิชาฟิสิกส์ที่ว่าด้วยอะตอม (Atomic Physics) และจากการประยุกต์ไปใช้ในการสร้างอาวุธนิวเคลียร์ มันได้มีอิทธิพลต่อโครงสร้างทางการเมืองของโลก ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม อิทธิพลของวิชาฟิสิกส์สมัยใหม่ไม่จำกัดอยู่เฉพาะด้านเทคโนโลยี หากก้าวเลยไปถึงความคิดและวัฒนธรรมของมนุษย์ ซึ่งทำให้มนุษย์เปลี่ยนทัศนคติของตนต่อจักรวาลและต่อความสัมพันธ์ของตนกับจักรวาลด้วย การศึกษาสำรวจในขอบเขตของอะตอมและอนุภาคที่เล็กกว่าอะตอมในศตวรรษที่ 20 ได้เปิดเผยถึงข้อจำกัดของแนวคิดแบบดั้งเดิม และได้แสดงถึงความจำเป็นของการเปลี่ยนแปลงทัศนคติพื้นฐานของเรา ยกตัวอย่างเช่นความคิดเรื่องวัตถุในวิชาฟิสิกส์ ที่ว่าด้วยอนุภาคที่เล็กกว่าอะตอมนั้นแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับความคิดในวิชาฟิสิกส์ดั้งเดิม เช่นเดียวกันกับความคิดในเรื่องอวกาศ เวลา หรือเหตุและผล ความคิดในเรื่องเหล่านี้เป็นพื้นฐานของทัศนะต่อโลกรอบตัวเรา และเมื่อมันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิง โลกทัศน์ของเราก็เริ่มเปลี่ยนเช่นกัน การเปลี่ยนแปลงซึ่งเป็นผลมาจากการศึกษาในวิชาฟิสิกส์สมัยใหม่เช่นว่านี้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางในหมู่นักฟิสิกส์และนักปรัชญาทั้งหลายในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แต่มีน้อยคนเหลือเกินที่จะตระหนักรู้ว่า การวิพากษ์วิจารณ์เหล่านั้นล้วนนำไปสู่ทัศนะที่คล้ายคลึงเป็นอย่างยิ่งกับทัศนะในศาสนาของตะวันออก แนวคิดในวิชาฟิสิกส์สมัยใหม่หลายประการ ล้วนแสดงความคล้ายคลึงกับความคิดในศาสนาของตะวันออกไกล ถึงแม้ว่าความคล้ายคลึงในทัศนะเหล่านี้ยังไม่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง แต่นักฟิสิกส์ชั้นนำในยุคนี้หลายคนได้สังเกตเห็นได้ข้อนี้ เมื่อได้สัมผัสกับวัฒนธรรมของตะวันออกไกลในระหว่างการเดินทางไปปาฐกถาในอินเดีย จีน และญี่ปุ่น ขอยกข้อความเหล่านี้เป็นตัวอย่าง ความคิดหลักหลายประการเกี่ยวกับความเข้าใจของมนุษย์...ซึ่งกระจ่างชัดขึ้น เพราะค้นพบในวิชาฟิสิกส์ที่ว่าด้วยอะตอมนั้น มิใช่สิ่งใหม่ที่เราไม่คุ้นเคยหรือไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อนเลย มันมีมาแล้ว แม้ในวัฒนธรรมของเราเอง และยิ่งปรากฏชัดในศาสนาพุทธและฮินดู สิ่งที่เราจะได้พบ (ในวิชาฟิสิกส์ที่ว่าด้วยอะตอม) ก็คือการทำให้ภูมิปัญญาแต่โบราณกระจ่างชัดขึ้น มีข้อสนับสนุนหนักแน่นขึ้นและละเมียดละไมขึ้น จูเลียส โรเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์ (ถ้าหากเราต้องการ) สิ่งเทียบเคียงกับปัญหาในทฤษฏีอะตอม.. (เราต้องหันมา) สนใจกับปัญหาทางด้านญาณวิทยา ซึ่งนักคิดเช่นพระพุทธเจ้าและเหลาจื้อได้เผชิญมาแล้ว เมื่อพยายามที่จะหาเอกภาพระหว่างตัวเราในฐานะผู้ดูและตัวเราในฐานะผู้แสดง ในมหาอุปรากรแห่งการดำรงอยู่ นิลส์ บอหร์ คุณูปการสำคัญ ๆในทางทฤษฏีของวิชาฟิสิกส์ซึ่งมาจากญี่ปุ่นนับแต่หลังสงครามอาจเป็นเครื่องชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างแนวคิดทางปรัชญาของตะวันออกไกลกับปรัชญาของทฤษฏีควอนตัม เวอร์เนอร์ ไฮเซนเบิร์ก วัตถุประสงค์หลัก วัตถุประสงค์ของหนังสือเล่มนี้คือ การศึกษาสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างความคิดในวิชาฟิสิกส์สมัยใหม่ กับความคิดพื้นฐานในปรัชญาและศาสนาของตะวันออกไกล เราจะพบว่า รากฐานทั้งสองของวิชาฟิสิกส์ในศตวรรษที่ 20 คือ ทฤษฏีควอนตัมและทฤษฏีสัมพัทธภาพ ได้ทำให้โลกทัศน์ของเราคล้ายคลึงกับโลกทัศน์ของชาวฮินดู พุทธ และเต๋าอย่างไร และความคล้ายคลึงนี้ดูเป็นจริงยิ่งขึ้นอย่างไร เมื่อเราศึกษาความพยายามที่จะรวมเอา 2 ทฤษฏีนี้มาอธิบายปรากฏการณ์ในโลกของอนุภาคที่เล็กมากจนไม่อาจเห็นได้แม้ด้วยกล้องจุลทรรศน์ นั่นคืออธิบายคุณสมบัติและปฏิกิริยาของอนุภาคที่เล็กกว่าอะตอมซึ่งเป็นองค์ประกอบของสสารวัตถุทุกชนิด ตรงจุดนี้ ซึ่งเราพบความคล้ายคลึงอย่างยิ่ง และเรามักจะพบข้อความที่ไม่อาจที่จะบ่งบอกได้ว่า กล่าวโดยนักฟิสิกส์หรือโดยนักปราชญ์ของ ตะวันออกอยู่เสมอ เมื่อข้าพเจ้ากล่าวถึง “ศาสนาตะวันออก” ข้าพเจ้าหมายถึงปรัชญาศาสนาฮินดู พุทธ และเต๋า แม้ว่าเรากำลังกล่าวถึงระบบปรัชญาและวินัยปฏิบัติซึ่งมีละเอียดอ่อนและแตกต่างกันมาก ทว่าโลกทัศน์พื้นฐานของปรัชญาศาสนาเหล่านี้เป็นสิ่งเดียวกัน ทัศนะเช่นนี้มิได้จำกัดอยู่เฉพาะในตะวันออก แต่จะพบได้เช่นกันในลัทธิศาสนาอื่น ๆ ในระดับต่าง ๆ กัน
ดังนั้นประเด็นแห่งการวิพากษ์วิจารณ์ในหนังสือเล่มนี้ก็คือ วิชาฟิสิกส์สมัยใหม่ได้นำมาสู่โลกทัศน์ซึ่งคล้ายคลึงเป็นอย่างยิ่งกับโลกทัศน์ของปราชญ์ตะวันออกทุกยุคสมัยและทุกวัฒนธรรม ธรรมเนียมปฏิบัติซึ่งลึกซึ้ง (และดูลึกลับ) นั้นปรากฏอยู่ในทุกศาสนา และคำสอนส่วนที่ลึกซึ้งก็ปรากฏในปรัชญาตะวันตกหลายสำนักเช่นกัน ความสอดคล้องต้องกันกับวิชาฟิสิกส์สมัยใหม่ มิใช่มีเพียงคำสอนที่ปรากฏในคัมภีร์พระเวทของฮินดู หรือในคัมภีร์อี้จิง (I Ching) หรือใน พระสูตร ของพุทธศาสนาเท่านั้น แต่ยังปรากฏอยู่ในลัทธิซูฟี ของอิบบ์ อราบี หรือในคำสอนของดอน ฮวน อาจารย์แห่งเผ่ายาคี* ความแตกต่างระหว่างคำสอนส่วนที่ลึกซึ้งของตะวันออกและตะวันตกก็คือ ในตะวันตกนั้นเป็นเพียงองค์ประกอบที่ไม่สำคัญ แต่ในตะวันออกมันเป็นองค์ประกอบใหญ่และสำคัญของลัทธิศาสนาตะวันออกทั้งหมด ดังนั้น ข้าพเจ้าจะใช้คำว่า “โลกทัศน์แบบตะวันออก” แทนส่วนนี้เพื่อความสะดวก และจะอ้างถึงแหล่งที่มาอื่น ๆ ประกอบบ้าง ความหมายของฟิสิกส์ น่าสนใจที่จะติดตามศึกษาวิวัฒนาการของวิทยาศาสตร์ตะวันตกซึ่งเริ่มจากปรัชญากรีกยุคแรก เติบโตและเบ่งบานเป็นพัฒนาการทางความคิดอันหันเหออกจากสายความคิดเดิม ซึ่งมีลักษณะเป็นรหัสยนัย มาสู่โลกทัศน์ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับทัศนะของตะวันออกไกล ในปัจจุบันวิทยาศาสตร์ตะวันตกกำลังจะเอาชนะทัศนะเช่นนี้ได้ในที่สุด และได้กลับมาสู่ความคิดของกรีกยุคต้นและปรัชญาตะวันออก อย่างไรก็ตามทัศนะในวิทยาศาสตร์ปัจจุบันมิได้มีพื้นฐานอยู่บนญาณทัศน์เท่านั้น หากยังอยู่บนการทดลองซึ่งมีความละเอียดลออและเที่ยงตรง และบนสูตรทางคณิตศาสตร์ที่แน่นอนตายตัวด้วย รากฐานของฟิสิกส์ก็เช่นเดียวกับวิทยาศาสตร์ตะวันตกแขนงอื่น ๆ ที่ได้ก่อตัวขึ้นในยุคต้นของปรัชญากรีกในศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสตกาล ในวัฒนธรรมซึ่งวิทยาศาสตร์ ปรัชญา และศาสนามิได้แยกจากกัน นักปราชญ์แห่งสำนักไมลีเซียที่เมืองไอโอเนียไม่เคยใส่ใจกับการแบ่งแยกเช่นนั้นเลย เป้าหมายของพวกท่านคือ เพื่อค้นหาธรรมชาติหรือองค์ประกอบแท้จริงของสิ่งทั้งหลาย ซึ่งเรียกว่า “ไฟซิส” (Physis) คำว่าฟิสิกส์ ซึ่งมาจากภาษากรีกคำนี้จึงมีความหมายดั้งเดิมว่า วิชาซึ่งพยายามค้นหาธรรมชาติแท้จริงของสรรพสิ่ง นี่เป็นความมุ่งหมายของศาสนาทั้งหลายด้วย และปรัชญาของสำนักไมลีเซียก็มีกลิ่นอายของศาสนาปะปนอยู่ด้วย ชาวกรีกรุ่นหลังเรียกพวกไมลีเซียนว่า “ไฮโลโซอิสต์” (Hylozoists) หรือ “ผู้ที่คิดว่าสสารวัตถุมีชีวิต” เพราะว่าพวกเขาไม่ถึอว่ามีความแตกต่างระหว่างสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิต จิตวิญญาณและวัตถุ พวกเขาไม่มีแม้คำเรียกวัตถุ เพราะถือว่าทุกสิ่งเป็นการปรากฏแสดงของ “ไฟซิส” ซึ่งเต็มไปด้วยชีวิตและจิตวิญญาณ ดังนั้นธาเลสจึงกล่าวว่า สรรพสิ่งล้วนมีเทพเจ้าสถิตอยู่ และอแน็กซิมานเดอร์มีทัศนะว่า จักรวาลเป็นสิ่งมีชีวิตซึ่งถูกหล่อเลี้ยงอยู่ด้วย “นิวมา” (Pheuma) หรือลมหายใจของจักรวาล ในทำนองเดียวกับที่อากาศหล่อเลี้ยงร่างกายของมนุษย์ ความคิดของเฮราคลิตัส ทัศนะดังกล่าวของพวกไปลีเซียใกล้เคียงกับปรัชญาของอินเดียและจีนโบราณมาก ความสอดคล้องกับปรัชญาตะวันออกยิ่งชัดเจนขึ้นในปรัชญาของเฮราคลิตัสและเอเฟซัล เฮราคลิตัสเชื่อว่าโลกมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา “แปรเปลี่ยน” (Becoming) อยู่ตลอดนิรันดร สำหรับเขาการเห็นว่าสิ่งมีชีวิตทั้งมวลไม่เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงเป็นผลจากทัศนะที่ผิด และกฎของจักรวาลสำหรับเขาคือไฟสัญลักษณ์แห่งการเลื่อนไหลและเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องของสรรพสิ่ง เฮราคลิตัสสอนว่า การเปลี่ยนแปลงทั้งหลายในโลกเกิดขึ้นจากการขับเคี่ยวกันระหว่างสิ่งซึ่งตรงกันข้าม และคู่ของสิ่งซึ่งตรงกันข้ามนั้น แท้จริงเป็นเอกภาพ เอกภาพซึ่งกอปรขึ้นจากสิ่งตรงข้ามแล้วไปพ้นแรงผลักระหว่างกันนี้เรียกว่า โลโกส (Logos) สำนักอีเลียเริ่มทำให้เอกภาพนี้สลายลง โดยสำนักนี้ถือว่ามีกฎเกณฑ์แห่งสวรรค์อยู่เหนือเทพและมนุษย์ทั้งหลาย ในขั้นต้น กฎเกณฑ์นี้ก็คือความเป็นเอกภาพของจักรวาล แต่ต่อมาได้ถูกทำให้กลายเป็นบุคคลซึ่งนำไปสู่การแบ่งแยกระหว่างจิตและวัตถุและนำไปสู่ลัทธิทวิภาวะ (Dualism) ซึ่งกลายมาเป็นลักษณะสำคัญของปรัชญาตะวันตก ก้าวสำคัญในทิศทางดังกล่าวเริ่มโดยปาร์เมนนิเดสแห่งอีเลีย ซึ่งเห็นแย้งกับเฮราคลิตัสอย่างรุนแรง เขาเรียกหลักการพื้นฐานของเขาว่า “สัต” (Being) ซึ่งไม่อาจแบ่งแยกและไม่เปลี่ยนแปลง
เขากล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงไม่อาจมีได้และเป็นเพียงการลวงของประสาทสัมผัส ความคิดเรื่องวัตถุซึ่งไม่อาจทำลายได้ ทว่ามีคุณสมบัติต่าง ๆ กันเติบโตขึ้นจากปรัชญาสำนักนี้ และกลายเป็นความคิดพื้นฐานกระแสหนึ่งในปรัชญาตะวันตก อริสโตเติล ในศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสตกาล นักปรัชญากรีกพยายามที่จะหาทางออกสำหรับความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างปาร์เมนนิเดสและเฮราคลิตัส ระหว่างความคิดเรื่องสัตซึ่งไม่เปลี่ยนแปลง (ปาร์เมนนิเดส) และความคิดเรื่องการแปรเปลี่ยนอยู่เสมอ (เฮราคลิตัส) พวกเขาได้ข้อสรุปว่าสัตปรากฏในวัตถุซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงการผสมผสานและการแยกออกของสสารวัตถุเหล่านี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโลก ความคิดนี้น่าไปสู่ความคิดเรื่องอะตอม หน่วยของวัตถุที่เล็กที่สุดซึ่งไม่อาจแบ่งแยกได้ผู้ที่อธิบายเรื่องนี้ชัดเจนที่สุดคือ ลิวซิปปัสและเดโมครีตัสนักคิดเรื่องอะตอมชาวกรีกทั้งสองได้แบ่งแยกจิตและวัตถุอย่างชัดเจน และให้ภาพที่ว่าวัตถุประกอบด้วย “องค์ประกอบพื้นฐาน” หลาย ๆ หน่วยรวมเข้าด้วยกัน ไม่มีชีวิต และเคลื่อนไหวอยู่ในที่ว่าง ไม่มีการอธิบายถึงเหตุแห่งการเคลื่อนไหวนั้น แต่มักจะเกี่ยวข้องกับแรงผลักดันภายนอก ซึ่งมักจะสมมติว่ามาจากพลังของจิตวิญญาณ อันแตกต่างจากวัตถุโดยพื้นฐาน ในศตวรรษต่อมา ภาพพจน์อันนี้ได้กลายเป็นเนื้อหาสำคัญของความคิดแบบตะวันตก อันเป็นความแบบทวิภาวะ ซึ่งมีการแบ่งแยกออกเป็นสองฝักฝ่ายระหว่างจิตและวัตถุ กายและวิญญาณ ในขณะที่ความคิดในการแบ่งแยกระหว่างจิตและวัตถุดำเนินไป นักปรัชญาได้หันความสนใจไปสู่โลกของจิตวิญญาณมากกว่าโลกของวัตถุ และให้ความสนใจกับวิญญาณของมนุษย์และปัญหาทางจริยศาสตร์เป็นหลัก ปัญหาเหล่านี้ได้ครอบคลุมกระแสความคิดของตะวันตกกว่า 2,000 ปี นับแต่เริ่มต้นของวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมของกรีกในศตวรรษที่ห้าและสี่ก่อนคริสตกาล ความรู้ในทางวิทยาศาสตร์ในสมัยโบราณถูกจัดระบบโดยอริสโตเติล ผู้ซึ่งวางโครงร่างพื้นฐานของทัศนะต่อจักรวาลของตะวันตกมานานถึงสองพันปี แต่โดยส่วนตัวของอริสโตเติลเองเชื่อว่า ปัญหาเกี่ยวกับวิญญาณของมนุษย์และการเพ่งพินิจต่อความสมบูรณ์ของพระเจ้า เป็นสิ่งที่มีค่ามากกว่าการสำรวจโลกทางวัตถุ เหตุที่แบบแผนเกี่ยวกับจักรวาลของอริสโตเติลไม่ถูกท้าทายเป็นเวลายาวนาน ก็เนื่องมาจากการขาดความสนใจในโลกของวัตถุดังกล่าวมานี้ ประกอบกับการสนับสนุนอย่างแข็งขันของคริสตจักรต่อความคิดของอริสโตเติลมาตลอดยุคกลาง ฉันคิด ดังนั้นฉันจังมีอยู่ พัฒนาการขั้นต่อมาของวิทยาศาสตร์ตะวันตกมาเริ่มเอาในสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาการ เมื่อผู้คนเริ่มปลดปล่อยตนเองออกจากความเชื่อตามอิทธิพลของอริสโตเติลและศาสนจักร และเริ่มแสดงความสนใจแนวใหม่เกี่ยวกับธรรมชาติ
ในปลายศตวรรษที่ 15 เริ่มมีการศึกษาธรรมชาติด้วยจิตใจของวิทยาศาสตร์อย่างแท้จริง และมีการทดลองเพื่อทดสอบความคิดแบบคำนึงคำนวณนั้นขึ้นเป็นครั้งแรกพัฒนาการทางวิทยาศาสตร์ดำเนินควบคู่มากับความสนใจทางด้านคณิตศาสตร์ในที่สุดได้นำไปสู่การสร้างสูตรของทฤษฏีทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีพื้นฐานจากการทดลองและแสดงออกมาในรูปแบบภาษาทางคณิตศาสตร์ กาลิเลโอเป็นคนแรกที่รวมเอาความรู้จากการสังเกตกับคณิตศาสตร์เข้าด้วยกัน ดังนั้นกาลิเลโอจึงได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาแห่งวงการวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ วิทยาศาสตร์สมัยใหม่ถือว่ากำเนิดและพัฒนาขึ้นภายหลังพัฒนาการของปรัชญาและต่อมาได้ดำเนินควบคู่กันไปสู่ความคิดสุดโต่งแห่งการแบ่งแยกระหว่างจิตใจและวัตถุ สูตรสำเร็จนี้ปรากฏในปรัชญาของเดคาร์ต (Descartes) ในศตวรรษที่ 17 ความคิดเกี่ยวกับธรรมชาติของเขายืนพื้นอยู่บนการแบ่งแยกระหว่างสองอาณาจักรซึ่งเป็นอิสระจากกันและกัน นั่นคือจิตใจ (res cogitans) และวัตถุ (res extensa) แนวคิดของเดคาร์ตนี้นักวิทยาศาสตร์ได้รับเอาไว้ใช้ในการจัดการหรือศึกษาวัตถุ โดยถือว่าวัตถุเป็นสิ่งไม่มีชีวิตและแยกออกอย่างเด็ดขาดจากตัวนักวิทยาศาสตร์และมีทัศนะว่าโลกของวัตถุประกอบขึ้นจากวัตถุหลากหลายชนิดคุมกันขึ้นเป็นเครื่องจักรอันมหึมา ไอแซก นิวตัน ได้ยึดเอาโลกทัศน์ในเชิงกลจักร (mechanistic) ดังกล่าวในการสร้างวิชากลศาสตร์ ซึ่งเป็นพื้นฐานของวิชาฟิสิกส์ดั้งเดิม แบบแผนของจักรวาลในเชิงกลจักรของนิวตันนี้ ได้มีอิทธิพลอย่างมากต่อแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ครึ่งหลังของศตวรรษที่ 17 จนกระทั่งถึงสิ้นศตวรรษที่ 19 แนวคิดนี้ดำเนินควบคู่กับภาพของพระเจ้าผู้เป็นกษัตริย์ปกครองโลกจากสวรรค์เบื้องบนโดยกฎอันศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์กฎธรรมชาติที่นักวิทยาศาสตร์เฝ้าแสวงหาจึงถือว่าเป็นกฎของพระเจ้า ซึ่งครอบคลุมโลกโดยไม่เปลี่ยนแปลงและเป็นนิรันดร์
ปรัชญาของเดคาร์ตไม่เพียงแต่มีอิทธิพลสำคัญต่อพัฒนาการของฟิสิกส์ดั้งเดิมเท่านั้น ทว่ายังมีอิทธิพลอย่างมากต่อแนวคิดทั่วไปของตะวันตก แม้จนในปัจจุบันประโยคที่เลื่องลือของเดคาร์ตคือ “Cogito ergo sum” “ฉันคิด ดังนั้นฉันจึงมีอยู่” ได้โน้มนำให้ชาวตะวันตกเปรียบเทียบตัวตนของเขาเท่ากับจิต มิใช่ชีวิตทั้งหมดจากทัศนะดังกล่าว ปัจเจกชนส่วนใหญ่เชื่อว่ามีตัวตนอยู่ภายในร่างกาย จิตใจถูกแยกออกจากร่างกาย และถือว่าเป็นผู้ควบคุมร่างกาย ดังนั้นความขัดแย้งที่ชัดเจนระหว่างเจตจำนงและสัญชาตญาณจึงตามมา ปัจเจกชนแต่ละคนถูกแบ่งแยกย่อยออกไปอีกตามกิจกรรมของเขา ความสามารถ อารมณ์ ความเชื่อ และอื่น ๆ ซึ่งตกอยู่ภายใต้ความขัดแย้งอันไม่รู้จบ ก่อให้เกิดความสับสนและบีบคั้นอย่างต่อเนื่องในทางอภิปรัชญา ทัศนะแบบองค์รวม การแบ่งแยกภายในตัวมนุษย์นี้ได้สะท้อนภาพทัศนะต่อโลก “ภายนอก” ซึ่งถือว่าเป็นรวมของวัตถุและเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่แยกจากกันได้ สภาพแวดล้อมธรรมชาติถูกกระทำเหมือนมีส่วนประกอบที่แยกจากกันได้หลาย ๆ ส่วน และถูกตักตวงใช้และทำลายลงโดยกลุ่มผลประโยชน์หลาย ๆ กลุ่ม ทัศนะแห่งการแบ่งแยกนี้ได้แผ่ขยายไปในสังคม มีการแบ่งแยกเป็นชาติ เผ่าพันธุ์ ศาสนา และกลุ่มการเมืองต่าง ๆ ความเชื่อว่าส่วนย่อยต่าง ๆ เหล่านี้ ภายในตัวเรา ในสภาพแวดล้อม และสังคม แยกจากกันอย่างแท้จริง เป็นสาเหตุสำคัญของวิกฤตการณ์ในทางสังคม ทางนิเวศวิทยา และทางวัฒนธรรมในปัจจุบัน ทำให้เราห่างเหินจากธรรมชาติและจากเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ทำให้เกิดการแบ่งสันทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่เป็นธรรม ทำให้เกิดความยุ่งยากในทางเศรษฐกิจและการเมือง ความรุนแรงขยายตัวขึ้น ทั้งที่เป็นไปเองและจากสถาบันต่าง ๆ สภาพแวดล้อมเป็นพิษและน่ารังเกียจ ส่งผลให้ชีวิตในทางร่างกายและจิตใจเสื่อมทรามลง ทัศนะในเชิงแบ่งแยกของเดคาร์ตและโลกทัศน์แบบกลจักรจึงมีทั้งคุณและโทษในเวลาเดียวกัน แนวคิดนี้ประสบผลสำเร็จอย่างสูงในการพัฒนาฟิสิกส์ดั้งเดิมและเทคโนโลยี แต่ก่อให้เกิดผลเสียต่ออารยธรรมของเราติดตามมาเช่นเดียวกันน่ายินดียิ่งที่วิทยาศาสตร์ในศตวรรษที่ 20 ซึ่งเริ่มต้นจากการแบ่งแยกตามแนวคิดของเดคาร์ตและโลกทัศน์แบบกลจักร ทั้งที่โดยแท้จริงแล้วเพราะทัศนะเช่นนั้นนำมาก่อนเท่านั้น ได้เอาชนะการแบ่งแยก และกลับไปสู่ความคิดในเรื่องเอกภาพ ซึ่งมีมาในปรัชญากรีกและปรัชญาตะวันออก ในทางตรงกันข้ามกับทัศนะในเชิงกลจักรของตะวันตก โลกทัศน์ของตะวันออกเป็นแบบ “องค์รวม” (Organic) ในสายตาของปราชญ์ชาวตะวันออก สรรพสิ่งและเหตุการณ์ทั้งมวลซึ่งรับรู้ได้ทางประสาทสัมผัสต่างเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน และเป็นเพียงการแสดงออกในหลายแง่มุมของสัจธรรมอันเดียวกัน แนวโน้มของเราในการแบ่งแยกโลกออกเป็นปัจเจกชนและสิ่งต่าง ๆ ที่แยกจากกัน และความรู้สึกว่ามีตัวตนของเราแยกต่างหากจากโลกนี้นั้น ล้วนเป็นภาพลวงของความคิดในการวัดและจัดระบบของเรา
ในพุทธศาสนาเรียกภาวะนี้ว่า อวิชชา ซึ่งเป็นภาวะผิดปกติของจิต และเป็นสิ่งที่ต้องเอาชนะให้ได้ เมื่อจิตใจถูกรบกวน ความหลากหลายของสรรพสิ่งก็เกิดขึ้น เมื่อจิตใจเงียบสงบลง ความหลากหลายของสรรพสิ่งก็มลายไป เป็นหนึ่งเดียว 8 แม้ว่าศาสนาของตะวันออกจะแตกต่างกันออกไปในรายละเอียด แต่ทั้งหมดล้วนมีคำสอนสำคัญที่มุ่งเน้นความเป็นเอกภาพของจักรวาล ไม่ว่าจะเป็นฮินดู พุทธ หรือเต๋า เป้าหมายสูงสุดของศาสนาก็คือ การหยั่งรู้ความเป็นเอกภาพและความประสานสัมพันธ์ของสรรพสิ่ง เพื่อก้าวล่วงความรู้สึกแห่งตัวตนซึ่งแบ่งแยกและรวมตนเข้ากับสัจธรรม ความหยั่งรู้นี้ เรียกว่า “การรู้แจ้ง” (enlightenment) มิใช่การกระทำทางความคิด แต่เป็นประสบการณ์ทั้งหมดของบุคคลซึ่งอาศัยการปฏิบัติในทางศาสนา โดยเหตุนี้นักปรัชญาทางตะวันออกส่วนใหญ่จึงเป็นนักปรัชญาศาสนา ในทัศนะของตะวันออก การแบ่งแยกธรรมชาติออกเป็นวัตถุต่าง ๆ กัน มิใช่สิ่งพื้นฐาน และสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นก็อยู่ในสภาพแห่งการเปลี่ยนแปลงเลื่อนไหลตลอดเวลา ดังนั้นโลกทัศน์ของตะวันออกโดยเนื้อหาจึงเป็นสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกับการเคลื่อนไหว มีเวลาและการเปลี่ยนแปลงเป็นลักษณะสำคัญ เอกภพเป็นความจริงหนึ่งเดียวซึ่งไม่อาจแบ่งแยก เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา มีชีวิต เป็นองค์รวม เป็นทั้งจิตใจและวัตถุในเวลาเดียวกัน เมื่อการเคลื่อนไหวและการเปลี่ยนแปลงเป็นคุณสมบัติสำคัญของสรรพสิ่งแรงซึ่งผลักดันการเคลื่อนไหวนั้นจึงมิได้มาจากภายนอก ดังเช่นที่ปรากฏในทัศนะของกรีกโบราณ แต่เป็นคุณสมบัติภายในของวัตถุเอง ทำนองเดียวกัน ภาพของพระผู้เป็นเจ้าในความคิดของตะวันออกมิใช่ภาพของผู้ปกครองซึ่งกำหนดความเป็นไปของโลกจากเบื้องบน แต่เป็นกฎเกณฑ์ซึ่งควบคุมสรรพสิ่งจากภายในเอง พระองค์สถิตอยู่ในสรรพสิ่ง แต่สรรพสิ่งมิใช่พระองค์ ไม่มีผู้ใดรู้จักพระองค์ สรรพสิ่งคือกายของพระองค์ พระองค์ทรงควบคุมสิ่งทั้งมวลจากภายใน พระองค์ คือ วิญญาณของท่าน ผู้ทรงควบคุมจากภายใน เป็นอมตะ บทต่อ ๆ ไปมุ่งที่จะเสนอแนะว่าแนวคิดของตะวันออก กล่าวโดยทั่วไปคือความคิดในศาสนาต่าง ๆ จะเป็นฐานทางปรัชญาที่สำคัญที่สำคัญแก่ทฤษฏีทางวิทยาศาสตร์ปัจจุบันได้ และการค้นพบในทางวิทยาศาสตร์ของมนุษย์ สอดคล้องกับความเชื่อในทางศาสนาและเป้าหมายในทางจิตวิญญาณอย่างที่สุด ความคิดสำคัญสองประการในแนวนี้คือ ความเป็นเอกภาพกับประสานสัมพันธ์ของสรรพสิ่ง และธรรมชาติแห่งการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงในภายในของจักรวาล เมื่อเราเจาะลึกลงไปในโลกของอนุภาคที่เล็กเกินกว่าที่จะเห็นได้ด้วยกล้องจุลทรรศน์มากขึ้นเท่าใด เราจะเข้าใจยิ่งขึ้นว่า เหตุใดนักฟิสิกส์สมัยใหม่จึงมีทัศนะเช่นเดียวกับปราชญ์ทางตะวันออก โดยเห็นว่าโลกเป็นระบบขององค์ประกอบต่าง ๆ ซึ่งไม่อาจแยกจากกัน มีปฏิกิริยาซึ่งกันและกัน และเคลื่อนไหวอยู่เสมอ โดยมีมนุษย์ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของระบบนี้ได้อย่างไร หนังสืออิเล็กทรอนิกส์เล่มนี้มุ่งที่จะปรับปรุงภาพพจน์ของวิทยาศาสตร์โดยการแสดงให้เห็นถึงความสอดคล้องที่สำคัญระหว่างจิตใจแห่งปรีชาญาณของตะวันออกและวิทยาศาสตร์ตะวันตก ทั้งมุ่งเสนอแนะว่าวิทยาศาสตร์ไปไกลเกินกว่าเทคโนโลยีและวิถีทาง – หรือเต๋า –แห่งฟิสิกส์ อาจเป็นวิถีทางที่กอปรด้วยหัวใจ เป็นวิถีทางสู่ความรู้ในทางจิตใจและความเข้าใจตนเอง
คัดลอกจาก ::
http://www.rit.ac.th/homepage-sc/charud/scibook/tao%20of%20physics