เจิ้งป่านเฉียว (郑板桥) : จิตรกรประหลาดแห่งหยางโจว
ในนิยายมังกรหยกมี "เจ็ดประหลาดแห่งกังหนำ"
แต่ในวงการศิลปะจีนมี "แปดประหลาดแห่งหยางโจว" (扬州八怪)
ผมเคยกล่าวเกริ่นถึงแปดประหลาดแห่งหยางโจวไว้แล้วครั้งหนึ่ง
ทั้งแปดเซียนนี่ ล้วนแต่เป็นศิลปินปัญญาชนที่มีความเป็นตัวเองสูง (Individualist)
เรียกแบบศัพท์แสงก็คือ "ปัจเจกชนนิยม"
มีทั้งอดีตขุนนาง กวี จิตรกร นักเขียนอักษรศิลป์ นักแกะตราประทับ
นักบวชนักพรต (พุทธ, เต๋า) และปราชญ์ลัทธิหยู (ขงจื้อ)
หลายๆท่านก็ปะปนหลายบทบาทในตัวตน แต่ยังไงสรุปแล้วก๊อคือ...
"ตัวประหลาด" ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน
แปดประหลาดแห่งหยางโจวประกอบด้วย :
1. เจิ้งเซี่ย (郑燮 1693-1765)
2. อวงซื่อเซิ่น (汪士慎 1686-1759)
3. หลอพิ่น (罗聘 1733-1799)
4. จินหนง (金农 1687-1763)
5. หลี่ซ่าน (李鳝 1686-1760)
6. หวงเซิ่น (黄慎 1687-1766)
7. หลี่ฟางยิง (李方膺 1695-1754)
8. เกาเสียง (高翔 1688-1752)
ขอเอ่ยชื่อไว้พอให้ผ่านหูผ่านตา
มีเวลาแล้วค่อยเจาะหาผลงานกับประวัติมาดูชมกัน
จริงๆแล้วถ้าจะดูศิลปะนั้นผมว่า มี 2 แบบ
แบบแรก.....ดูผลงานเลย ไม่ต้องรู้ชื่อรู้เสียงเรียงใด ประวัติ แรงบันดาลใจไม่ต้องสนใจ
ตัดสินที่งานล้วนๆ ไม่ต้องมีอะไรมาเป็นอคติ (bias)
เช่น ดูตามตลาดนัด ตามห้างสรรพสินค้า นิทรรศการผลงานนักเรียนนักศึกษาหรือศิลปินมือใหม่
แบบที่สอง...ดูทั้งหมด ตั้งแต่ผลงาน ประวัติความเป็นมา
เป็นลูกศิษย์ใคร ใครเป็นครูอาจารย์ จากสำนักไหน
มีแรงดลใจอะไร อย่างไร มีวิวัฒนาการคลี่คลายเป็นอย่างไร
เช่น ดูตามหอศิลป์ พิพิธภัณฑ์ Art dealers นิทรรศการของศิลปินมีชื่อเสียงแล้ว
จำนวนผลงานที่ผ่านมาไม่ทราบจะเกี่ยวกับผลงานชิ้นที่เรากำลังชมอยู่หรือเปล่า
ผลงานชิ้นเดียวสามารถบอกถึงความสามารถของศิลปินได้เลยรึเปล่า
ถ้ามีผลงานดีมากแต่ชิ้นเดียวจะเรียกว่า "ฟลุค" ได้ไหม
ผมก็ว่าของผมไปเรื่อยเปื่อย เพราะได้แต่ดูชมเอา "มัน" อยู่คนเดียว
ไม่เคยไปเป็นกรรมกี้กรรมการตัดสินให้รางวัลใครเขา
จึงดูทุกๆแบบปะปนกันไปเท่าที่มีข้อมูลให้และใจปรารถนา
แต่ในแง่ศิลปศึกษาคงจำเป็นต้องพินิจพิจารณาผลงานจากทุกๆปัจจัยที่มามีอิทธิพลเกี่ยวข้อง
แนวทางนี้ในประเทศตะวันตกจะมีมากกว่าทางตะวันออก
ตำรับตำราหรือบทความ งานวิจัยศิลปะ มีออกมาทุกยุคสมัย
ต่อยอดกันมาไม่หยุดยั้ง หลายครั้งเอาไปสร้างเป็นภาพยนตร์ แต่งเป็นนิยาย ฯลฯ
ทางตะวันออกส่วนมากมีทางข้างจีน ญี่ปุ่น แต่ประเทศอื่นรวมทั้งสยามเราก็มีกระท่อนกระแท่น
การศึกษาวิจัยศิลปะของไทยเราจึงยังมีที่ว่างให้ผู้วิจัยมากโขอยู่
คราวนี้ผมขอเล่าถึงเฉพาะหนึ่งประหลาดนาม...
"เจิ้งป่านเฉียว"ผลงานของเจิ้งที่ประทับใจผมมาก มีอยู่หลายอย่าง
1. จิตรกรรม ไผ่ กล้วยไม้ดิน หิน
2. อักษรศิลป์ลายมือแบบ "หกส่วนครึ่ง"
3. กวีนิพนธ์ ส่วนมากจะสะท้อนชีวิตคนยากจน บอกอารมณ์เศร้ารันทด
ฉลาด ประหลาด อัจฉริยะ บ้า ผมว่ามันมีเส้นแบ่งกันบางๆเฉียดๆกันอยู่เริ่มด้วยประวัติสังเขปก่อนละกัน
เจิ้งเซี่ย (郑燮) รูปลายเส้นภาพเหมือนของ เจิ้งเซี่ย
เกิดปี 1693 (คังซีปีที่ 32)
ตายปี 1765 (เฉียนหลงปีที่ 30)
สิริอายุ 73 ปี
มีชีวิตอยู่ในสมัยราชวงศ์ชิง (ตรงช่วงที่ไทยเป็นสมัยอยุธยาตอนปลาย)
มีชื่อรองว่า เค่อโหรว (克柔) มีฉายาว่า ป่านเฉียว (板桥)
บางทีใช้ว่า ป่านเฉียวเต้าเหริน (板桥道人)
เป็นชาวเมือง สิงฮว่า (兴化) มณฑลเจียงซู (江苏)
ได้ร่ำเรียนหนังสือมากจนสอบได้
เป็นซิ่วไฉ (秀才) ในสมัยคังซี
เป็นจวี่เหริน (举人) ในสมัยหย่งเจิ้ง
เป็นจิ้นซื่อ (进士) ในสมัยเฉียนหลง
หลังจากนั้นก็เข้ารับราชการเป็นนายอำเภอหลายอำเภออยู่ 12 ปี
ครั้งหนึ่งในตำแหน่งนายอำเภอเหวยเซี่ยน (濰縣) ในซานตุง
เขาสั่งเจาะช่องกำแพงนับร้อยช่องที่ห้องสำนักงานให้ทะลุไปยังถนน
มีคนถามเขาว่าทำทำไม เขาตอบอย่างเย้ยหยันว่า...
"ข้าต้องการให้กลิ่นเหม็นๆของพวกขุนนางเจ้ายศเจ้าอย่าง
ที่หมกสุมมาแสนนานให้ระบายออกไปเสียบ้าง"
ความที่เป็นคนตรงเห็นแก่ชาวบ้านเขาสั่งเปิดฉางหลวงโดยพละการ
นำอาหารมาแจกจ่ายชาวบ้านที่ประสบภัยอดอยาก จึงถูกตำหนิ
ด้วยความหยิ่งทรนง คิดว่าตนเองทำถูกต้องแล้ว จึงลาออกจากชีวิตขุนนาง
(มีบางกระแสว่าเขาลาออกจากราชการเพราะเจ็บป่วย)
เมื่อลาออกจากราชการก็มาพำนักที่หยางโจว สร้างงานศิลปะ และกวีนิพนธ์
เจิ้งมีความสามารถทางลายมืออักษรศิลป์
ประดิษฐ์วิธีเขียนเอาอักษรจ้วนผสมกับบรรจงแกมหวัด
เรียกว่า อักษรแบบ
"หกส่วนครึ่ง" (六分半书) สังเกตให้ดีในลายมือจะเห็น
"ก้อนกรวด" อยู่หลายก้อน
เจิ้งยังสามารถแต่งบทกวีได้ สำนวนเฉียบคม ลึกซึ้ง กินใจ แฝงด้วยคารมเสียดสี ประชดประชัน
ก็เป็นบุญของชาวเราที่เขาลาออก เราจึงได้เห็นผลงานทางศิลปะจำนวนมาก
ที่เขาวาด ลายมือที่เขียน และบทกวีที่แต่ง
ล้วนเป็นความงดงามที่
"ประดับไว้ในโลกา" เป็นอมตะอยู่ในพิพิธภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงทั่วโลก
ตีพิมพ์และแปลอยู่ในห้องสมุดหลายแห่ง
ถ้าให้ผมเลือกว่าชอบใครที่สุดในแปดประหลาด...ผมตอบว่า..ชอบ
"เจิ้งป่านเฉียว" ครับ...เพราะว่า
ภาพเขียนกล้วยไม้ดิน (Cymbidium spp.) และไผ่ (Bambusa spp.)
ที่งดงามที่สุด...ในบรรดารูปหมึกจีน...ในโลกนี้
เกิดจากนฤมิตกรรมแห่งพู่กันของเจิ้งป่านเฉียวครับ เมื่อปี 1983 ที่บ้านเกิดของเขา เมืองสิงฮว่า
มีการสร้าง "อนุสรณสถานเจิ้งป่านเฉียว" (郑板桥纪念馆)
เป็นที่แสดงประวัติและผลงานของเขา
มีเรื่องของเขาแต่งเป็นนิยาย สร้างเป็นหนังแผ่น DVD ผมยังไม่เคยดู
ชื่อ เจิ้นป่านเฉียว บัณฑิตทอง (หวังสี่,หลีจือ,เฉินฮุ่ยหลิน) 6 DVD
บ้างก็เติม อัจฉริยะ(บัณฑิตทอง) บ้างก็เติม จิตรกร(บัณฑิตทอง)
ใครดูแล้วช่วยเล่าให้ฟังมั่ง
เชิญชมผลงานของเจิ้งป่านเฉียวครับ
-1-
-2-
-3-
-4-
-5-
-6-
-7-
-8-
-9-
-10-
-11-
-12-
-13-
-14-
-15-
-16-
-17-
-18-
-19-
-20-
-21-
-22-
-23-
-24-
-25-
-26-
-27-
-28-
-29-
-30-
-31-
-32-
-33-
-34-
-35-
-36-
-37-
-38-
-39-
-40-
-41-
-42-
-43-
-44-
-45-
อิ่มตาเอมใจไปกับไผ่งามๆ กล้วยไม้ดินสวยๆ กับลายมืออันวิจิตรทั้ง 45 ภาพ
ของ เจิ้งป่านเฉียว ไปแล้วนะครับ.....เป็นอย่างไรบ้าง?
ผมว่าหลังจากนี้ใครเห็นรูปเขียนกับลายมือของเจิ้งป่านเฉียว
ต้องจำเส้นพู่กันเขาได้แน่ๆ
อาจจะยังขาดรสชาติของสำนวนกาพย์กลอนของเขา
ถ้ามีคนสนใจช่วยบอกด้วย.....
แล้วผมจะนำเสนอต่อบล๊อกหน้าครับ
.................................................