ตอบ

Warning: this topic has not been posted in for at least 500 days.
Unless you're sure you want to reply, please consider starting a new topic.
ชื่อ:
อีเมล์:
หัวข้อ:
ไอค่อนข้อความ:

Verification:
ระหว่างความดีกับความไม่ดี เราจะเลือกทำสิ่งใดจึงจะสามารถบรรลุธรรมได้จริง ( เลือกตอบแค่ ความดี กับ ความไม่ดี ครับผม):
คุณเชื่อว่าทุกศาสนาสอนให้ทุกคนเป็นคนดีใช่หรือไม่ ( เลือกตอบแค่ ใช่ กับ ไม่ใช่ ครับผม):
เว็บใต้ร่มธรรมเป็นเว็บเล็กๆแนวธรรมะในจิตใช่หรือไม่ ( เลือกตอบแค่ ใช่ กับ ไม่ใช่ ครับผม):
^^ ขอความกรุณาพิมพ์คำว่า ความดีนำทาง:
เปล่งวาจาว่าสาธุ เป็นการอนุโมทนาต่อพระสงฆ์ที่วัด หรือมีใครทำบุญแล้วมาบอกให้ทราบ ทราบแล้วยกมือขึ้น (สาธุ) กรุณาพิมพ์คำนี้ครับ  สาธุ:
เว็บใต้ร่มธรรมเป็นเว็บเล็กๆในโลกออนไลน์ใช่หรือไม่ ( เลือกตอบแค่ ใช่ กับ ไม่ใช่ ครับผม):
ท่านจะปฏิบัติตามกฏระเบียบข้อตกลงของเว็บใต้ร่มธรรมทุกประการหรือไม่ ( เลือกตอบแค่ ใช่ กับ ไม่ใช่ ครับผม):
วัฒนธรรมไทยเมื่อเห็นผู้ใหญ่ท่านจะทำความเคารพ ด้วยการไหว้ท่านก่อนเสมอใช่หรือไม่:
ใต้ร่มธรรม เป็น แค่เว็บไซต์และจินตนาการทางจิต การทำดี สำคัญที่ใจเรา เริ่มความดีที่ใจเราก่อนเสมอ พิมพ์คำว่า "เริ่มความดีที่ใจเราก่อนเสมอ":
คุณพ่อคุณแม่เปรียบดั่งพระอรหันต์ในบ้าน พิมพ์คำว่า "คุณพ่อคุณแม่ฉันรักและเคารพท่านดุจพระอรหันต์":
บุคคลที่ไปหลายๆเว็บไซต์ โดยที่สวมบทบาทเป็นหลายๆคน โดยที่ไม่รู้ว่า แท้จริงใจเราต้องการอะไร เพื่อน หรือ ชัยชนะ:
ระหว่าง (ผู้ที่เรียนรู้ธรรมะเพื่อเอาชนะผู้อื่น) กับ (ผู้ที่เรียนรู้ธรรมะเพื่อเอาชนะตัวเอง)  ท่านจะเลือกเป็น:
กล่าวคำดังนี้  "ให้อภัยนะ":
ในโลกออนไลน์หรือโลกแห่งจิต ไม่มีใครทำอะไรเราได้ นอกเสียไปจาก (คนพาล) หรือ (ใจของเราเอง):
เคยนวดฝ่าเท้าให้ คุณพ่อคุณแม่บ้างไหม ถ้ามีโอกาส เราควรทำหรือไม่ (ควรกระทำอย่างยิ่ง หรือ ไม่ควรทำ):
ธรรมะคือ ธรรมชาติ พิมพ์คำว่า (ธรรมะชาติ) ครับ:
ขนทรายเข้าวัดคือ พิมพ์สำนวนต่อไปนี้ครับ (ทำบุญทำกุศลโดยวิธีนำหรือหาประโยชน์เพื่อส่วนรวมมิได้ทำเพื่อตนเอง):
ผู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือ ผู้ที่ทำตนให้เล็กที่สุด ผู้ที่เล็กที่สุดก็จะกลายเป็นผู้ที่ใหญ่ที่สุด ผู้ที่มีเกียรติคือผู้ที่ให้เกียรติผู้อื่น ฉะนั้นสมาชิกใต้ร่มธรรมควรให้เกียรติกันและกัน พิมพ์คำว่า (ฉันจะให้เกียรติสมาชิกทุกๆท่านในใต้ร่มธรรมเสมอด้วยวาจาสุภาพอ่อนน้อม):
ไม่มีอะไรสายสำหรับการเริ่มต้น พิมพ์เป็นประโยคภาษาอังกฤษครับ เป็นตัวพิมพ์เล็กทั้งหมดนะครับ เว้นวรรคคำด้วยครับ (It is never too late to mend):
ผู้ที่ไม่เคยรับรู้รสของความขมขื่น จะไม่รู้ว่าความหวานชื่นคืออะไร พิมพ์เป็นประโยคภาษาอังกฤษครับ เป็นตัวพิมพ์เล็กทั้งหมดนะครับ เว้นวรรคคำด้วยครับ (He who has never tasted bitterness does not know what is sweet):

shortcuts: กด alt+s เพื่อตั้งกระทู้ หรือ alt+p แสดงตัวอย่าง


สรุปหัวข้อ

ข้อความโดย: แก้วจ๋าหน้าร้อน
« เมื่อ: พฤศจิกายน 26, 2010, 12:51:52 am »

 :13:   อนุโมทนาสาธุครับ ขอบคุณครับพี่มด
ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: พฤศจิกายน 25, 2010, 10:27:15 am »

ข้าพเจ้าเพิ่งกลับมาจากงานภาวนาที่นครนายก กับหลวงปู่ติช นัท ฮันห์ นี่เป็นครั้งที่ 2 ในรอบสามสิบกว่าปีที่ท่านมาเยือนประเทศไทย เมื่อ 3 ปีก่อนนั้น มีงานภาวนาที่เชียงใหม่ นั่นเป็นครั้งแรกที่ข้าพเจ้าได้พบเห็นตัวจริงของท่าน เป็นความรู้สึกที่แตกต่างกันมากทีเดียว ครั้งนั้นข้าพเจ้าตื่นเต้นที่จะได้พบกับหลวงปู่ในฐานะนักเขียนที่เขียนหนังสือเล่มหนึ่งที่ข้าพเจ้าอ่านแล้วประทับใจมาก นั่นคือหนังสือที่ชื่อว่า “ปาฎิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ” หนังสือเล่มนี้ทำให้ข้าพเจ้าผ่านทุกข์หนักจากการงานอันมากมายและกลับมาดำรงอยู่ในปัจจุบันขณะและมีความสุขจากการทำงานมากขึ้น เพราะว่าหลังจากได้อ่านหนังสือเล่มนี้และนำวิธีการที่ท่านเขียนแนะนำในหนังสือมาใช้ในชีวิตประจำวัน ข้าพเจ้าก็พบว่าบางสิ่งบางอย่างในชีวิตได้เปลี่ยนแปลงไป และได้เปิดมุมมองใหม่ๆ ในการใช้ชีวิตขึ้น
 

 
สามปีผ่านไปหลังจากเข้าสู่หนทางแห่งการภาวนา กับการได้พบครูบาอาจารย์มากมายหลายสายการปฎิบัติ ทั้งที่ไกลและใกล้ ทั้งที่ได้เคยพบตัวจริงและไม่เคยได้พบตัวจริง ได้ทำให้ข้าพเจ้าเข้าสู่ความมุ่งหวังตั้งใจอย่างแท้จริงในการใช้ชิวิตในทางโลกต่อไปและภาวนาไปด้วย ข้าพเจ้ายังไม่ได้หนีจากชีวิตอันวุ่นวายในทางโลกไปไหน แต่ยังดำรงอยู่ในความวุ่นวายสับสนของผู้คน สังคมโลกไปตามปกติ แต่ความวุ่นวายภายนอกนั้นไม่ได้ทำให้ข้าพเจ้าวุ่นวายข้างในมากมายอย่างแต่ก่อน แม้ข้าพเจ้าจะไม่ได้บรรลุธรรมสูงสุดอันใด แต่การภาวนาได้เปลี่ยนวิถีทางในการใช้ชีวิตของข้าพเจ้าไปมากมายหลายอย่าง ข้าพเจ้าเริ่มตระหนักรู้ถึงความมุ่งหมายบางอย่างของชีวิต และเริ่มพบว่าบางสิ่งบางอย่างในชีวิตนั้นไม่มีความจำเป็นใดๆ เราเป็นได้อยู่ได้ มีความสุขได้ตามแต่ที่พอจะมีและจะเป็นเท่านั้น ความพอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่และไม่แสวงหาสิ่งใดมาเพิ่มเติมชีวิตเริ่มก่อเกิดขึ้นในใจ ข้าพเจ้าเริ่มหยุดแสวงหาสิ่งภายนอกมาต่อเติมชีวิต และใช้ชีวิตที่ช้าลง ไม่ร้อนรนวุ่นวายในการแสวงหาสิ่งต่างๆ อยู่ๆข้าพเจ้าก็พบว่า ชีวิตเป็นสุขได้ง่ายๆ เพียงแค่ดำรงอยู่ในขณะปัจจุบัน แถมความสุขสามารถก่อเกิดได้ง่ายๆ จากสิ่งเล็กๆน้อยๆ ที่พบเจอในชีวิตประจำวันนี่เอง
 
 

 
 
ข้าพเจ้าพบว่า สิ่งที่ได้พบเจอในแต่ละขณะๆในชีวิตนั้นมีคุณค่ามีความหมายอย่างมาก แค่รอยยิ้มของเด็กสักคนหนึ่ง หรือรอยยิ้มทักทายจากใครสักคนที่เราพบเจอก็ทำให้เรารู้สึกดีๆ ได้ การได้เห็นท้องฟ้าสีฟ้าใส หรือการมองเห็นสายฝนที่โปรยปรายในยามบ่ายๆ ก็ทำให้เรามีความสุข ขณะเดียวกันในช่วงเวลาที่วุ่นวายกับการงานอันหนักหนาสาหัส หรือในวันที่ท้องฟ้าไม่สดใส มีแต่ความทุกข์ความเศร้าข้าพเจ้าก็ยังรู้สึกว่าตนเองก็ยังดำรงอยู่ได้โดยไม่ทุกข์มากมายอย่างแต่ก่อน ข้าพเจ้ารับรู้อารมณ์ความรู้สึกที่ปรากฏแล้วยอมรับมันอย่างเข้าใจ เลิกตำหนิตนเอง แล้วปล่อยวางมันลงได้ง่ายขึ้น แม้บางเรื่องจะยากลำบากกับการเข้าใจและทำให้ทุกข์ใจอย่างมาก แต่ข้าพเจ้าก็ยังอยู่กับมันได้และทำความเข้าใจมันอย่างสงบ และก็ไม่ได้กดข่มความทุกข์ไว้ ยอมรับในความทุกข์นั้น ยอมรับในความรู้สึกแย่ๆนั้น แล้วก็หวังว่าข้าพเจ้าจะเข้าใจมันมากขึ้น และยอมวางมันลงได้จริงๆ ในสักวันหนึ่ง

บนเส้นทางที่ข้าพเจ้าเดินมานั้น เป็นเส้นทางที่อาจะแตกต่างจากใครอีกหลายคน มีหลายคนต่างคิดเห็นว่า ข้าพเจ้าคงยังมุ่งหวังแสวงหาครูบาอาจารย์ไปเรื่อยเปื่อย ทำประดุจผู้ชอบวิ่งช้อบปิ้งทางจิตวิญญาน ไม่มีหลักไม่มีการอะไรเลย สายนั้นก็สนใจ สายนี้ก็ไปภาวนากับเขาได้ด้วย ไม่รู้ว่าเป็นพวกเถรวาท มหายาน หรือวัชรยานกันแน่ ดูออกจะสับสนพิกล หลายท่านถึงกับออกปากว่า ถึงเวลา ต้องเลือกแล้วล่ะว่าจะไปทางไหน ข้าพเจ้าก็ได้แต่ยิ้มๆ แล้วบอกว่า ข้าพเจ้าได้เลือกแล้ว ในวิถีที่เป็นอยู่ ในแนวทางที่เป็นอยู่ และข้าพเจ้าไม่ได้เลือกวิถีเส้นทางของครูบาอาจารย์ท่านไหน แถมไม่คิดที่จะเดินตามรอยเท้าท่านด้วยซ้ำ เพราะเส้นทางของท่านยอมแตกต่างจากเราทั้งหลาย ควรหรือที่เราจะไปก้าวเท้าตามท่าน หรือเลียนแบบท่าน
 
ครูบาอาจารย์คือแรงบันดาลใจ แต่ท่านไม่อาจจะช่วยให้เราเข้าใจความจริงสูงสุดของพระพุทธองค์ได้หรอกถ้าเราไม่ทำอะไรเองเลย แล้วมัวแต่เดินตามรอยเท้าท่านไปเท่านั้น ดังนั้นการพบครูบาอาจารย์ของข้าพเจ้าก็เพื่อแสวงหาแรงบันดาลใจและคำชี้แนะบางสิ่งบางอย่าง เพราะท่านอาจารย์ทั้งหลายนั้นย่อมมีสิ่งพิเศษสุดมาแบ่งปันเรา และเนื่องจากท่านได้เดินทางมานานและพบสิ่งต่างๆ มามากมายทั้งที่เป็นความผิดพลาดและความสำเร็จ ทั้งที่ถูกทางและไม่ถูกทาง สิ่งเหล่านี้คือบทเรียนที่จะสอนใจเราได้ และที่สำคัญก็คือการได้พบครูบาอาจารย์สายต่างๆนั้น ทำให้รู้ว่าเส้นทางการบรรลุธรรมของท่านเหล่านั้นแตกต่างกันไป แต่สุดท้ายก็จะมาพบเส้นทางเอกเส้นหนึ่งซึ่งเป็นเส้นทางเดียวกัน และเป็นเส้นทางที่ปราศจากถ้อยคำนิยาม ปราศจาก การถกเถียง ปราศจากการแบ่งแยก และจะหลุดพ้นออกไปจากทวิภาวะ กลายเป็นหนึ่งเดียวกัน
 
 

 
การได้ไปภาวนากับหลวงปู่ติช นัท ฮันห์ ครั้งนี้ แตกต่างจากครั้งก่อน ข้าพเจ้าไปด้วยความรู้สึกถึงการได้พบธรรมาจารย์ที่ยิ่งใหญ่ของสายเซนมหายาน และไม่ใช่เพราะท่านเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงจึงอยากจะพบท่าน แต่เป็นเพราะท่านคือ ธรรมาจารย์ที่เป็นแรงบันดาลใจและมีอิทธพลสูงสุดในทางจิตวิญญานของข้าพเจ้า ธรรมะของท่านสัมผัสใจของข้าพเจ้าด้วยถ้อยคำง่ายๆแต่ลึกซึ้งกินใจ และธรรมบรรยายของท่านก็ทำให้ข้าพเจ้าน้ำตาไหลอย่างซาบซึ้ง เพราะคำสอนบางอย่างได้เข้าไปถึงจิตใจและก่อเกิดความตระหนักรู้อันยิ่งใหญ่และเข้าใจสิ่งทั้งหลายได้มากขึ้นและชัดขึ้น
 
ด้วยวัย 84 ปี หลวงปู่ติช นัท ฮันห์ ยังดูแข็งแรง ท่านเดินช้าๆ ยิ้มเล็กน้อยที่มุมปาก ความเมตตาและความอ่อนน้อมของท่านปรากฏชัดให้เราได้มองเห็น ข้าพเจ้าสัมผัสถึงพลังอันหนักแน่นมั่นคง แต่อ่อนโยนด้วยความรักความเมตตาจากท่านที่มอบให้สรรพสิ่งทั้งหลาย และธรรมะบรรยายของท่านในวันสุดท้ายก็ทำให้ข้าพเจ้าถึงกับน้ำตาไหลออกมา และช่วยให้เข้าใจในเนื้อหาคำสอนของพระพุทธเจ้าได้ชัดแจ้งขึ้น
 
หลายท่านกล่าวว่าคำสอนหลวงปู่เหมือนบทกวี ช่างพร่ำเพ้อพรรรนาถึง ธรรมชาติอันงดงาม ดั่งการเพ้อฝัน และติดสุขฟู่ฟ่อง การกล่าวถึง สายลมแสงแดด ท้องฟ้า ขุนเขา ดูแล้วเลือนลอยและขาดความเอาจริงเอาจังไปอย่างมาก แต่จากการภาวนานี้ก็มีผู้กล่าวว่าธรรมะของท่านลึกซึ้งมาก และยากที่จะเข้าใจ ด้วยถ้อยคำง่ายๆ แต่ภายในถ้อยคำเหล่านั้นคือความหมายของปรมัตถ์ และเป็นความจริงสูงสุดที่พระพุทธองค์ทรงกล่าวไว้ทั้งหมดทั้งสิ้น

มันเป็นการยากที่จะเข้าใจอยู่ ที่ใครจะมองเห็นเมฆสีขาวบนแผ่นกระดาษ หรือเห็นแสงแดด สายลม และต้นไม้ ในกระดาษแผ่นหนึ่ง ซึ่งหลายคนมองว่าเป็นเรื่องเพ้อฝันและจินตนาการสิ้นดี แต่หลวงปู่ติชกล่าวว่า จงฟังอย่างลึกซึ้ง จงมองอย่างลึกซึ้งในสิ่งทั้งหลาย แล้วเราจะพบว่า ไม่มีอะไรแยกขาดจากกัน ทุกสิ่งย่อมอาศัยกันและกันในการก่อเกิด กระดาษแผ่นหนึ่งจึงมาจากต้นไม้ แสงอาทิตย์ คนปลูกต้นไม้ แรงงาน กว่าจะเกิดกระดาษแผ่นหนึ่งมาให้เราใช้สอยในทุกวันนี้ต้องพึ่งพิงอะไรหลายๆอย่างมากมาย นั่นคือความเชื่อมโยงอิงอาศัยในกันและกันของสรรพสิ่ง ที่เราไม่เคยมองเห็น ในกระดาษแผ่นหนึ่งจึงมีทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ในนั้น และด้วยสายตาของผู้มีปัญญาอันยิ่งใหญ่เท่านั้นจึงจะมองเห็นอย่างแท้จริงได้ และต้องเห็นด้วยจิตอันแท้จริง ไม่ใช่เห็นด้วยการคิดไตร่ตรองพิจารณาหาเหตุหาผลเอาดังที่คิดกันอยู่ ข้าพเจ้าคิดเห็นไปว่า วันใดก็ตามที่ผู้ภาวนามองเห็นเมฆสีขาว พระอาทิตย์ และ ต้นไม้ ในกระดาษแผ่นหนึ่งอย่างแท้จริงไม่ใช่ด้วยการคิดเอา นั่นก็คือการเข้าสู่ความจริงสูงสุดที่พระพุทธองค์กล่าวถึงนั่นเอง

ในธรรมบรรยายของหลวงปู่ติชวันที่สอง กล่าวถึงความทุกข์ ความสุข ท่านสอนเรื่องของอริยสัจสี่ ได้อย่างน่าสนใจ ท่านสอนว่า การมีความทุกข์คือความจริงที่เราควรตระหนักรู้ และเราไม่ควรจะหนีความทุกข์ หรือกดข่มมันไว้ ทว่าเราควรมองเข้าไปในความทุกข์อย่างลึกซึ้งและทำความเข้าใจกับมัน เพราะถ้าเราไม่เข้าใจมันเราก็ไม่อาจจะหาวิธีการดับทุกข์ได้ และท่านก็กล่าวว่า ถ้าเราภาวนาเราจะรู้วิธีที่จะแปรเปลี่ยนความทุกข์ให้กลายเป็นความสุขได้ ดอกบัวเกิดจากโคลนตมได้ฉันใด ความสุขก็สามารถก่อเกิดได้จากความทุกข์เช่นกัน หลวงปู่ติชกล่าวว่า ในอริยสัจสี่พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนเรื่องทุกข์อย่างเดียวแต่พระองค์สอนเรื่องการหลุดพ้นจากทุกข์ และกล่าวถึงความสุขด้วยเช่นกัน
 
 

 
ในงานภาวนานี้เรามีกลุ่มสนทนาธรรมด้วย ข้าพเจ้าได้อยู่ในกลุ่มสนทนาธรรมในงานอาชีพแพทย์ ทันตแพทย์ คุณพยาบาล ที่ทำงานด้านการดูแลคนเจ็บไข้ได้ป่วย เราต่างพบว่า ด้วยอาชีพของเราที่ต้องดูแลผู้เจ็บป่วยที่ทุกข์ทั้งกายและใจ แต่ความที่เราเป็นกลุ่มคนที่มีอุปนิสัย perfectionist และยืนอยู่ท่ามกลางความคาดหวังของคนทั้งหลาย ว่าต้องเสียสละ อดทน และต้องเป็นคนดีมีเมตตากรุณา เราจึงมีความรับผิดชอบต่อความคาดหวังเหล่านั้น และมุ่งหวังให้ตนเองเป็นเช่นนั้น จนไม่มีความเมตตาต่อตนเอง ไม่เคยดูแลอารมณ์ความรู้สึกของตนเอง ทำงานอย่างหนักเพื่อคนอื่น และยังต้องแสวงหาสิ่งต่างๆในทางโลกด้วย ทั้งเงินทอง ฐานะทางสังคม การดูแลครอบครัว การดูแลคนรอบข้าง เราจึงลืมที่จะดูแลตนเอง และไม่ประมาณตนเองว่ามีพลังที่จะทำสิ่งต่างๆได้มากมายจริงๆหรือไม่ เรากลายเป็นคนที่เอาจริงเอาจังแต่ไม่มีความกรุณาต่อตนเองเลย มีหลายครั้งที่จิตใจเราไม่พร้อมที่จะดูแลคนอื่นๆ เราหงุดหงิด หมดกำลัง และเราก็ไม่สามารถดำรงอยู่อย่างมีสติได้ ไม่สามารถดูแลอารมณ์ของตนเองได้ การที่เราไม่กรุณาต่อตนเอง เราจึงไม่อาจจะไปกรุณาต่อใครๆได้ หลักการเบื้องต้นจึงต้องกลับมามีเมตตากรุณาตนเอง ดูแลจิตใจตนเองให้ได้ก่อน จากนั้นเราจึงจะสามารถไปให้ความช่วยเหลือคนอื่นๆได้ เมื่อใจเราเป็นทุกข์ไม่มีความสุข จึงยากอยู่ที่เราจะไปช่วยคนอื่นให้มีความสุขได้
 
ข้าพเจ้านึกถึงกัลยาณมิตรทั้งหลายในสายงานอาชีพของข้าพเจ้า ที่ทำหน้าที่ของตนอย่างเต็มที่ด้วยความรับผิดชอบอันสูงสุด ทำงานอย่างเต็มกำลังความสามารถแต่ไม่มีความสุขในการทำงานเลย คนไข้กลายเป็นสิ่งที่น่ารำคาญ งานการกลายเป็นสิ่งที่น่าเบื่อหน่าย และคนไข้ทั้งหลายกลายเป็นภาระงาน ที่ตนเองก็ไม่อยากดูแล แต่ก็จำต้องทำไปตามหน้าที่ นี่เป็นภาพสะท้อนที่ชัดมากว่า คนผู้นั้นทุกข์มากเพียงใด การไม่ยอมแม้แต่จะหยุดพักดูแลตนเอง ด้วยคิดว่าการทำงานที่ดีคือการทำให้เสร็จสิ้นไปวันๆ อย่างสมบูรณ์แบบ แต่ลืมมองย้อนกลับไปว่างานการที่ทำไปในวันนั้น ยังความเบิกบานให้ตนเองและผู้อืนหรือไม่ หรือว่ายิ่งไปเพิ่มความทุกข์ใจให้ทั้งคนไข้ และญาติ รวมทั้งเพิ่มความทุกข์ให้ผู้ร่วมงานด้วยกันแน่
 

 
งานรักษาคนเจ็บไข้ได้ป่วย คืองานที่เป็นกุศลและเป็นสัมมาอาชีพ แต่ถ้าเราทำด้วยใจที่ไม่เป็นกุศลเสียแล้ว มันก็ยากอยู่ที่จะได้บุญกุศล และอาจเป็นเหตุแห่งการก่อทุกข์ให้กันและกันได้
 
วันสุดท้ายของการสนทนาธรรมกลุ่มย่อย ธรรมาจารย์ประจำกลุ่มคือหลวงพี่ฟับหลิว ได้ให้เราแลกเปลี่ยนกันในหัวข้อที่ว่า 1. อะไรที่เราคิดว่าทำให้เรามีความสุขในปัจจุบันนี้ 2. อะไรที่เราได้รับมาจากพ่อและแม่และเป็นสิ่งที่ดีมากๆ 3. อะไรที่เป็นแรงบันดาลใจและเป็นความปรารถนาสูงสุดของเราลึกๆ ในใจ ในข้อที่ 3 นั้นหลายคนมีความต้องการคล้ายๆกัน ทุกคนกล่าวถึงการพ้นทุกข์ การมีครอบครัวที่เป็นสุข การมีสันติภาพในโลก การหลุดพ้น การไม่กลับมาเกิดอีก และการถึงซึ่งพระนิพพาน ทั้งหมดนั้นคือสิ่งที่ข้าพเจ้าต้องการเช่นกัน ข้าพเจ้าพบว่าทุกสิ่งล้วนแต่น่ามุ่งมาดปรารถนาทั้งสิ้น แต่แล้วข้าพเจ้าก็เริ่มลังเลใจ เมื่อพบว่า หลังจากภาวนามาได้สามปี ความต้องการบางอย่างของข้าพเจ้าเริ่มลดน้อยถอยลงเรื่อยๆ และเมื่อมองเข้าไปอย่างลึกซึ้งและซื่อตรงกับความรู้สึกของตัวเอง ข้าพเจ้าพบว่าความต้องการของข้าพเจ้าเปลี่ยนไป เมื่อทบทวนหลายครั้งข้าพเจ้าก็พบว่าความต้องการของข้าพเจ้าได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก และได้กลายเป็นความต้องการอย่างแรงกล้าในใจมากขึ้นเรื่อยๆ ข้าพเจ้าจึงแลกเปลี่ยนไปว่า ในขณะนี้สิ่งที่ข้าพเจ้ามุ่งมาดปรารถนาอย่างมากในใจลึกๆก็คือ ความปรารถนา ที่จะเป็น “ผู้ไม่ปรารถนาสิ่งใดอีกต่อไป” หลวงพี่ฟับหลิวกล่าวว่า Desire not to desire … that is Nirvana ท่านกล่าวแล้วก็ยิ้ม ….
 

 
แล้ววันสุดท้ายของการบรรยายธรรม หลวงปู่ติช นัท ฮันห์ ก็กล่าวถึงเรื่อง นิพพาน ท่านกล่าวว่านี่คือความต้องการสูงสุดของผู้ภาวนาทั้งหลาย แต่จงระมัดระวังไว้ให้ดีว่า เราอาจจะกลายเป็นปลาที่ตามฮุบเหยื่อล่อที่อยู่ตรงหน้า การภาวนาไม่ใช่การตั้งเป้าหมายแล้วให้เราวิ่งตามไป เพราะไม่เช่นนั้นเราอาจจะกลายเป็นปลาที่ฮุบเหยื่อของคนตกเบ็ดจนเกิดอันตรายแก่ตนเองได้ และท่านก็กล่าวสอนเรื่องการเกิดและการตาย ความสืบเนื่อง ท่านเน้นย้ำว่า เราไม่ควรไปแสวงหานิพพานที่ไหน เพราะเราอยู่ในนิพพานอยู่แล้ว
 
ตลอดเวลา 5 วันนั้น หลวงปู่ติชกล่าวสอนถึงหลักปฎิบัติ 16 ข้อ ที่จะนำเราไปสู่การรู้แจ้งอันสูงสุด จากนั้น ท่านกล่าวถึงคำสอนของทางมหายาน โดยท่านกล่าวว่ามีอยู่แล้วในทางเถรวาท คือ เรื่องของสุญญตาหรือความว่าง ความไร้รูปลักษณ์ หรือรูปบัญญัติ ความไร้ความมุ่งหมาย หลวงปู่ติชเน้นย้ำว่า เราไม่ควรภาวนาด้วยการวางสิ่งใดไว้ตรงหน้าแล้ววิ่งไปหาหรือแสวงหา และในหลักปฎิบัติทั้ง 16 ข้อที่ท่านกล่าวสอนมาทั้ง5 วันนั้น ในวันสุดท้ายท่านกล่าวถึงข้อที่ 15 ว่าด้วยเรื่องการไม่เกิดอีก ( The unborn ) ท่านขีดเส้นใต้คำนี้บนกระดานสองสามครั้ง แล้วกล่าวว่านี่คือสภาวะของนิพพานที่เราแสวงหา แต่เราจะไม่สามารถไปถึงได้ถ้าไม่มีข้อที่ 16 จากนั้นหลวงปู่ก็เขียนคำว่า " Let Go " แล้วขีดเส้นใต้คำนี้สามสี่ครั้ง ในห้วงเวลานั้นข้าพเจ้าก็ถึงกับน้ำตาไหลออกมาด้วยความรู้สึกมากมายหลายอย่างที่ไม่อาจจะอธิบายได้
 
และอย่างไรไม่รู้ข้าพเจ้าก็นึกได้ถึงคำพูดของหลวงพ่อชา ที่มีผู้ถามท่านว่า “การเป็นพระควรมีความมุ่งหมายใด” หลวงพ่อชายิ้มแล้วกล่าวว่า “ไม่มีความมุ่งหมายใด ถ้ายังมุ่งหมายอะไรๆ ก็ไปนิพพานไม่ได้สิ” มันช่างชัดเจนเหลือเกินว่า ทั้งในทางเถรวาทและมหายาน การภาวนา คือการนำเราไปสู่ "การปล่อยวาง และการหลุดพ้นไปจากถ้อยคำบัญญัติ หลุดออกไปจากคำนิยามความหมายใดๆ ก็ตามที่มีอยู่ และหลุดพ้นไปจากความต้องการใดๆ ทั้งหลายทั้งปวง "
 
และข้าพเจ้าก็พบว่าตนเอง ก็ยังเป็นผู้ที่มีความปรารถนาที่จะเป็น "ผู้ไม่ปรารถสิ่งใดอีกต่อไป " และ เพราะยังมี Desire not to desire ข้าพเจ้าจึงยังไม่ได้บรรลุธรรมในขั้นไหนๆ ตามแนวทางที่ทางเถรวาทกล่าวไว้ .. แต่ข้าพเจ้าน้อมรับว่าจะเดินทางต่อไป และจะเบิกบานไปบนเส้นทางนั้น ข้าพเจ้าเริ่มประจักษ์แจ้งแก่ใจว่า นิพพานเป็นจริงได้ในที่นี่และเดี๋ยวนี้ บนเส้นทางที่เราเดินไปนี่เอง ไม่ใช่ที่เป้าหมายเบื้องหน้านั่น .
 
 
 
 
 

 
 
 
 
http://gotoknow.org/blog/sunmoola/405497