ตอบ

Warning: this topic has not been posted in for at least 500 days.
Unless you're sure you want to reply, please consider starting a new topic.
ชื่อ:
อีเมล์:
หัวข้อ:
ไอค่อนข้อความ:

Verification:
กัน-ละ-ยา-นะ-มิด เขียนเป็นภาษาไทยที่ถูกต้องว่าอย่างไรครับ:
ชีวิตบางครั้งก็เหมือนเหรียญสองด้านใช่หรือไม่ครับบางครั้งก็หัวบางครั้งก็ก้อย( เลือกตอบแค่ ใช่ กับไม่ใช่ครับผม):
^^ ขอความกรุณาพิมพ์คำว่า แสงธรรมนำใจ:
^^ ขอความกรุณาพิมพ์คำว่า ความดีนำทาง:
เปล่งวาจาว่าสาธุ เป็นการอนุโมทนาต่อพระสงฆ์ที่วัด หรือมีใครทำบุญแล้วมาบอกให้ทราบ ทราบแล้วยกมือขึ้น (สาธุ) กรุณาพิมพ์คำนี้ครับ  สาธุ:
ท่านจะปฏิบัติตามกฏระเบียบข้อตกลงของเว็บใต้ร่มธรรมทุกประการหรือไม่ ( เลือกตอบแค่ ใช่ กับ ไม่ใช่ ครับผม):
โดยปกติชน นิ้วมือของคนเรา มีกี่นิ้ว (ตอบเป็นภาษาไทยครับ):
ใต้ร่มธรรม เป็น แค่เว็บไซต์และจินตนาการทางจิต การทำดี สำคัญที่ใจเรา เริ่มความดีที่ใจเราก่อนเสมอ พิมพ์คำว่า "เริ่มความดีที่ใจเราก่อนเสมอ":
เมื่อให้ท่านเลือก ระหว่าง (หนังสือเก่าๆเล่มหนึ่งที่เรารัก) กับ (มิตรแท้ที่รักเรา) คุณจะะเลือก:
บุคคลที่ไปหลายๆเว็บไซต์ โดยที่สวมบทบาทเป็นหลายๆคน โดยที่ไม่รู้ว่า แท้จริงใจเราต้องการอะไร เพื่อน หรือ ชัยชนะ:
ระหว่าง (ผู้ที่เรียนรู้ธรรมะเพื่อเอาชนะผู้อื่น) กับ (ผู้ที่เรียนรู้ธรรมะเพื่อเอาชนะตัวเอง)  ท่านจะเลือกเป็น:
กล่าวคำดังนี้  "ให้อภัยนะ":
กล่าวคำดังนี้  "ขออโหสิกรรม":
ในโลกออนไลน์หรือโลกแห่งจิต ไม่มีใครทำอะไรเราได้ นอกเสียไปจาก (คนพาล) หรือ (ใจของเราเอง):
เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ใต้ร่มธรรมเองก็จะเป็นไปตามวัฐจักรนี้ ฉันท์ใดก็ฉันท์นั้น (เป็นจริง) หรือ (ไม่จริง):
ธรรมะคือ ธรรมชาติ พิมพ์คำว่า (ธรรมะชาติ) ครับ:
พิมพ์คำว่า (แสงธรรมนำทางธรรมะนำใจ) ครับ:
รู้สึกระอายใจไหมที่เราทำร้ายคนอื่นด้วยวาจาหรือสำนวนที่ไม่สุภาพ โดยที่คนคนนั้นเค้าเคยเป็นผู้มีพระคุณต่อเรามา (ไม่ละอายใจ)หรือ(ละอายใจ):
สำนวนไทยที่ว่า แต่ละคนต่างมีรสนิยมแตกต่างกัน หรือไม่ตรงกัน  พิมพ์สำนวนต่อไปนี้ครับ (ลางเนื้อชอบลางยา):
ผู้ที่ไม่เคยรับรู้รสของความขมขื่น จะไม่รู้ว่าความหวานชื่นคืออะไร พิมพ์เป็นประโยคภาษาอังกฤษครับ เป็นตัวพิมพ์เล็กทั้งหมดนะครับ เว้นวรรคคำด้วยครับ (He who has never tasted bitterness does not know what is sweet):

shortcuts: กด alt+s เพื่อตั้งกระทู้ หรือ alt+p แสดงตัวอย่าง


สรุปหัวข้อ

ข้อความโดย: lek
« เมื่อ: พฤศจิกายน 29, 2010, 07:10:00 pm »

จิตที่กำหนดรู้  จักเป็นอิสระ

จิตที่มี  อนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา  เป็นอาหาร

เป็น   “จิตที่กำหนดรู้”

เมื่อรู้ว่าอันนั้นเป็นอนิจจัง  มันไม่เที่ยง

ทุกขัง  เป็นทุกข์

อนัตตา  ไม่ใช่เราหรือของเราแล้ว

ขอให้มีสติอยู่  เห็นการเกิดดับของใจ

แต่อย่าให้มันมาทำใจให้วุ่นวาย

ให้เราปล่อยวางมันลงไป

ความรัก  เกิดขึ้น  ก็ปล่อยมันไป

ความโลภ  เกิดขึ้น  ก็ปล่อยมันไป

ความโกรธ  เกิดขึ้น  ก็ปล่อยมันไป

กระทั่งความหลงเกิดขึ้น  ก็ปล่อยมันลงไป

มันมาจากที่ไหน  ก็ให้มันกลับไปที่นั่น

อย่าเก็บมันไว้  เมื่อนั้นจิตของเราก็จะหลุดพ้น

ข้อความโดย: แก้วจ๋าหน้าร้อน
« เมื่อ: กันยายน 22, 2010, 10:05:27 pm »

 :13: อนุโมทนาครับพี่แฮม^^
ข้อความโดย: ตถตา
« เมื่อ: กันยายน 22, 2010, 05:55:19 pm »

นี่เรื่องข้อปฏิบัติ ถ้ารู้แล้วก็ไม่ทำอย่างนั้น ความดีความชั่วมันมีแต่ไหนแต่ไรมา ลาภยศก็มีขึ้นมา ก็ให้มันมีแต่เฉพาะลาภนั้นยศนั้น อย่าให้มันมีมาถึงเรา เอามาใช้เฉยๆ ตามการงานแล้วก็แล้วไป เราก็เหมือนเดิม ถ้าเราได้ภาวนาเรื่องสิ่งเหล่านี้แล้ว ถึงมันจะได้อะไรขึ้นมาก็ดีก็ไม่มีหลง สบายอยู่เหมือนเก่า สม่ำเสมออยู่เหมือนเก่ามีลักษณะคล้ายคลึงกันทั้งหมดไม่มีอะไรเรื่องนี้ พระพุทธเจ้าให้พิจารณาอย่างนี้
 
จึงจะรู้เรื่องมันตามเป็นจริงถ้าเราได้อะไรขึ้นมาไม่มีอะไรจะปรุงได้แต่งได้ เขาตั้งให้เป็นกำนันเป็นแต่ไม่เป็น เขาจะให้เป็นผู้ใหญ่บ้าน ก็เป็นอยู่แต่ไม่เป็น เบื้องปลายเราจะเป็นอะไร? มันก็ตายเหมือนเก่าเท่านั้นแหละ เขาจะให้เป็นกำนันเป็นผู้ใหญ่บ้านก็ยังเหมือนเก่าจะทำอย่างไร ถ้าเราคิดอย่างนั้นแล้วมันก็ดีแน่นหนาดี มันก็พอปานเก่าเท่านั้นแหละ นี่เรียกว่า คนไม่หลง จะเอาอะไรมาให้มันก็ยังเป็นอย่างนั้นแหละ เขาจะให้เป็นกำนันเป็นผู้ใหญ่บ้านมันก็ยังเหมือนเก่าจะว่าอย่างไรถ้าเราคิดอย่างนั้นแล้วมันก็ดี แน่นหนาดี มันก็พอปานเก่า เท่านั้นแหละ นี่เรียกว่า คนไม่หลง จะเอาอะไรมาให้มันก็ยังเป็นอย่างนั้นแหละ มันสักแต่ว่าสังขาร ไม่มีอะไรจะมาปรุงจะมาแต่งจิตใจอันนี้ได้อีก ไม่มีอะไรจะมาย้อมมันได้อีก เครื่องย้อมใจให้เกิดราคะ โทสะ โมหะ ไม่มีอันนี้แหละเป็นผู้ที่บำรุงพระพุทธศาสนา ให้ผู้ที่ถูกบำรุงก็ดี ผู้ที่ตั้งใจบำรุงก็ดี ให้คิดในแง่นี้ให้มาก ให้มีศีลธรรมเกิดขึ้นในจิตใจของตน
 
นี่สรุปได้ว่า การบำรุงพระพุทธศาสนานี่แน่นอนต้องบำรุงอย่างนี้ บำรุงให้อาหาร ให้การขบการฉัน ให้ที่อยู่อาศัย ให้ยาบำบัดโรคก็ถูกเหมือนกัน แต่มันถูกแต่กระพี้ของมัน ฉะนั้น ทายกทายิกาทั้งหลาย ที่ได้มาฟังเทศน์ฟังธรรมบำเพ็ญกุศลนั้น อย่าลืมอันนี้ ไม้มันก็มีเปลือกมีกระพี้ มีแก่น สิ่งทั้งสามนี้อาศัยซึ่งกันและกัน จะมีแก่นไม้เพราะเปลือก จะมีเปลือกได้ก็เพราะกระพี้ จะมีกระพี้ได้ก็เพราะแก่น มันรวมกันเหมือนกับศีล สมาธิ ปัญญา ศีลคือ การตั้งกายวาจาใจให้เรียบร้อย สมาธิก็คือ การตั้งใจมั่น ปัญญาคือ การรอบรู้ในกองสังขารทั้งหลาย ให้เรียนกันอย่างนี้ ให้ปฏิบัติอย่างนี้เป็นปฏิบัติบูชา จึงจะเป็นผู้ที่บำรุงพระพุทธศาสนาที่ลึกซึ้ง
 
ถ้าหากว่าเราไม่ได้เอาสิ่งทั้งหลายเหล่านี้มาปฏิบัติที่ใจ ที่มีลาภมากก็หลง มียศก็หลง จะมีอะไรก็หลงหมดทุกอย่างมันเป็นเรื่องอย่างนั้น ถ้าหากว่าเราบำรุง แต่สิ่งทั้งหลายภายนอก เรื้องทะเลาะขัดแย้งกันไม่มีหยุด เรื่องผู้นั้นก่อกรรมกับคนนี้ก็ไม่หยุด เรื่องการแทงมีดกัน ยิงปืนกัน ก็ไม่มีหยุด ก่อนจะหยุดได้ต้องพิจารณาเรื่องลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ทุกข์ นินทา พิจารณาข้อปฏิบัติให้เป็นศีลธรรม ให้ระลึกว่าชาวโลกเรานี้ก็เป็นก้อนเดียวกัน เห็นว่าเราก็เหมือนเขาเห็นเขาก็เหมือนเรา เขาสุขเราก็สุขเขาทุกข์เราก็ทุกข์เหมือนกัน มันก็พอปานกัน พิจารณาอย่างนี้ก็จะเกิดความสบายเกิดธรรมะขึ้นมา นี่เป็นหลักของพระพุทธศาสนา ผู้ที่บำรุงพระพุทธศาสนา ก็บำรุงศีล บำรุงสมาธิ บำรุงปัญญา ให้เกิดขึ้นสม่ำเสมอได้จึงจะเป็นผู้ที่บำรุงพระพุทธศาสนาอย่างถูกต้อง อันนี้ให้เราไปคิดดู
 
โอกาสที่บรรยายธรรมะแก่ญาติโยมทั้งหลายก็สมควรแล้ว ท้ายที่สุดนี้ ก็ขอให้จงพากันตั้งอกตั้งใจนำข้อความเหล่านี้ไปพินิจพิจารณา ให้บำรุงด้วยการปฏิบัติอย่างแท้จริงทุกๆ คน ขอให้จงเป็นสุขเป็นสุขกันทุกๆคนเถิด..
http://fws.cc/leavesofeden/index.php?topic=1578.0
ข้อความโดย: ตถตา
« เมื่อ: กันยายน 22, 2010, 05:54:19 pm »

ยกตัวอย่าง เช่น ศีรษะของเรา ในเมืองไทยเราหัวนี้เป็นสิ่งที่สำคัญแท้ๆ แตะมันไม่ได้ จะไปจับหัวกันกลางทางก็ตีกันเลย คือมันยังไม่ยอม ถ้ายอมเหมือนนายพลนายพันทั้งหลายที่มาหาอาตมาให้เป่าศีรษะก็ไม่เป็นไร จับศีรษะได้สบาย เขากับมีกำลังใจอีกด้วยซ้ำแต่ว่าเรายอมเสียสละคราวหนึ่ง ถ้าเจอกันตามทางไปจับศีรษะอย่างนั้นตีกันเลย นี่มันเกิดทุกข์ตรงตัวนี้ มันยึดมั่นถือมั่นตัวนี้ อาตมาเคยไปในประเทศต่างๆ เขาจับหัวกันเลย ผู้หญิงก็ตาม ผู้ชายก็ตาม จับหัวกันเลย มันก็จริงของเขานะนี่ ถ้าไม่ยึดมั่นมากมันก็ผาสุกจริงๆ ถ้ามาในเมืองไทยนี้ จะจับหัวเขานี่ก็ไม่เป็นไรเราไม่ได้ถือมันถ้าจับศีรษะก็ถือกันจริงๆ ว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด นี่คือความยึดความหมายมั่น ที่จริงทุกๆ ส่วนในร่างกายนี้มันก็เท่าๆ กัน แต่ส่วนที่เรายึดแท้ๆ นี่คนเราก็ผูกพันไว้ ซึ่งความยึดมั่นถือมั่น
 
อันนั้นแหละเป็นเหตุ ที่นั่นเป็นเหตุให้ทุกข์เกิดฉะนั้น เราดับเหตุเสียไม่ให้มันมีรากฐาน อย่าให้มันมีพื้นฐานที่ทุกข์จะเกิด เช่นเราพิจารณาร่างกายของเรามันก็เสมอกันทั้งนั้น ด้านล่างกับด้านหัวมันก็เท่ากันด้านข้างๆ กับด้านหัวมันก็เท่ากัน มันก็เท่านั้นอยู่ ถ้าเราคิดให้ดีๆ เขามาตบหัวเรามันก็เหมือนเดิมอยู่ไม่เป็นไร นี่คือผู้ที่ละเหตุได้ มันมีเรื่องเท่านี้แหละ มนุษย์ เรานี้มีความยึดมั่นรูปเดียวเท่านี้ อาศัยรูปเดียวเท่านั้นก็ฆ่ากันเลย มันก็เรื่องเท่านี้เองไม่มีเรื่องมาก พูดถึงส่วนบุคคลก็เป็นเรื่องเท่านี้ เรื่องครอบครัวก็เรื่องเท่านั้น เรื่องประเทศชาติก็ไม่มีอะไร มีเท่านี้ ไม่มีรายได้ เลยรบกันฆ่ากันเลย ไม่มีใครได้อะไรสักคน ไม่รู้เป็นอะไร ฆ่ากันเฉยๆ
 
มีอำนาจ มีลาภ มียศ มีสรรเสริญ มีสุข มีทุกข์ มันเป็นโลกธรรม ธรรมที่ครอบงำสัตว์โลกอยู่ สัตว์โลกจึงเป็นไปตามโลกธรรม มีลาภหนึ่ง ไม่มีลาภหนึ่ง มียศหนึ่ง ไม่มียศหนึ่ง มีสรรเสริญหนึ่ง มีนินทาหนึ่ง มีสุขหนึ่ง มีทุกข์หนึ่ง ท่านเรียกว่า โลกธรรม ธรรมเหล่านี้เป็นธรรมที่ชั่ว เป็นธรรมที่นำความทุกข์มาให้ ถ้าไม่ภาวนา ถ้าไม่พิจารณารู้เท่ามันก็เป็นทุกข์ ฆ่ากันก็ได้ ทำอะไรกันก็ได้เรื่องลาภ เรื่องยศ เรื่องอำนาจนี่ เพราะอะไร เพราะไม่ได้ภาวนา ไม่ได้พิจารณามันให้สม่ำเสมอกันเดี๋ยวเขาตั้งเป็นนั่นเป็นนี่ขึ้นมา เป็นผู้ใหญ่บ้านเป็นกำนันขึ้น เป็นนั่นเป็นนี่ เป็นขึ้นเลย แต่ก่อนเคยมีผู้เฒ่าเล่าเรื่องเป็นผู้ใหญ่บ้านชั่วให้ฟัง พอเขาให้ยศเป็นผู้ใหญ่บ้าน ตั้งเป็นผู้ใหญ่บ้านขึ้นมาก็หลงอำนาจตนเพื่อนเก่าก็เล่นด้วยไม่ได้เหมือนเก่าละ มาแล้วก็ว่า “อย่ามาใกล้กันนะ มันไม่เหมือนเก่าแล้วนะ”
 
มีลาภก็ดี มียศก็ดี มีสรรเสริญก็ดี มีสุข มีทุกข์ก็ดี พระพุทธองค์ก็ให้รู้มันเสีย ให้มันเหมือนเดิมเท่านั้นแหละ เอาไว้เพื่อใช้ในการงาน แล้วก็วางไว้พอปานเก่าเป็นคนผู้เดียวกับผู้เก่า ถ้าไม่รู้เท่าลาภยศสรรเสริญนินทาก็ฆ่ากันเลย หลงอำนาจของตน หลงลูกหลานหมดทุกคนถ้ารู้จักดีแล้วก็เห็นว่าเป็นพวกเดียวกันเถอะ เรื่องนี้เป็นเรื่องสมมติแท้ๆ แต่มันเป็นกิเลสมาก ท่านเรียกว่า โลกธรรม สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามธรรมนี้ มีคำสอนของพระพุทธเจ้าว่า เรื่องทั้งหลายเหล่านี้มันเกิดขึ้นมาทีหลัง เมื่อเกิดมาแรกๆ ก็มีแต่รูปกับนามเกิดขึ้นเฉยๆ ครั้นเอานาย “ก” เข้ามาใส่ นี่เป็นไปด้วยสมมติ ต่อมาก็เมีเรื่องนายพล นายพันขึ้นมา ถ้าไม่รู้เรื่องสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ก็ถือว่าเป็นของจริง ก็เลยแบกไว้ แบกลาภไว้ แบกยศไว้ แบกชื่อไว้ แบกเสียงไว้ มีอำนาจ ชี้นกให้เป็นนก ชี้หนูให้เป็นหนูหมดทุกอย่างก็ได้ เกิดอำนาจขึ้นมาเอาคนนั้นไปฆ่าเสีย เอาคนนี้ไปติดคุกเสียอย่างนี้แหละ จึงมีอำนาจขึ้นมาเพราะเกียรติ คำที่ว่าเกียรตินั้น ตรงนั้นแหละ มันเป็นอุปาทานพอมีเกียรติขึ้นมาเป็นต้นก็สั่งเลย ผิดๆ ขัดๆ ก็ทำไปตามอำนาจของตน ทำไปตามอารมณ์ของตน ก็เลยไปตามความผิดอันนั้นเรื่องมันจึงขาดจากธรรมะ

ข้อความโดย: ตถตา
« เมื่อ: กันยายน 22, 2010, 05:53:34 pm »

เพราะฉะนั้น จะไปอยู่ในทิศไหนก็ตามผู้รู้เป็นอย่างนั้น ตุจโฉโปฏฐิละก็มารู้อย่างนั้น ดูอารมณ์ที่มันเกิดขึ้นกับจิต ดูเรื่องจิตมันเป็นไป โกหกหลายอย่างท่านก็รู้เรื่องของมัน จับตัวของมันได้ว่า “เออ... อันนี้ตัวโกหก มันเป็นตัวสำคัญนะ อันนี้มันพาให้เราดีใจจนเกินพอดี พาให้เราเสียใจจนเกินพอดี ให้เราวนเวียนอยู่ในวัฏฏสงสารนี้ ทั้งสุขทั้งทุกข์ทั้งดีทั้งชั่ว ตลอดเวลาก็เพราะตัวนี่เอง”
 
ตุจโฉโปฏฐิละรู้เรื่องของมันแล้ว ท่านก็จับตัวมันได้ เหมือนกันกับบุรุษจับตัวเหี้ยได้ คือ จับตัวการมันได้
 
เรานี้ก็หมือนักัน มีจิตตัวเดียวนี่แหละเป็นสิ่งที่สำคัญ ฉะนั้นท่านจึงให้อบรมจิต จิตก็เรียกว่าจิต จะเอาอะไรมาอบรมมันอีกล่ะ จิตนี้? ถ้าเรามีสติ มีสัมปชัญญะ อยู่สม่ำเสมอแล้ว เราก็รู้จักจิต ผู้รู้อันนั้นคือรู้เหนือวก่าจิตขึ้นไปอีก คือผู้รู้สภาวะของจิตนั้น จิตนี้ก็เป็นจิต ผู้ที่รู้ว่าจิตนี้สักแต่ว่าจิต นั่นแหละเรียกว่ผู้รู้ ผู้รู้เหนือกว่าจิตของเราไปอีก จึงได้ตามรักษาจิตของตน จึงสอนจิตของตนให้รู้ว่าอันนี้ผิดอันนี้ถูกได้ ในที่สุดพูดตามธรรมชาติแล้ว มันก็สุดแต่จิตเท่านั้น มนุษย์เรามันสุดแต่จิตที่มันเพียงแต่แต่งไปแต่งมา ถ้ามันแต่งไปแต่งมา และไม่มีสิ่งที่รู้ยิ่งไปกว่านั้นอีก จิตของเราก็เป็นหมัน ฉะนั้น อาศัยจิตอันนี้เป็นผู้รับฟัง ท่านจึงเรียกว่า ภาวนาพุทโธ คือความรู้แจ้งรู้เบิกบานตลอดรู้ถึงที่สุด รู้เหนือกว่าจิตของเราอีก รู้เรื่องของจิตทุกอย่าง ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงให้อบรมคือ การภาวนาเอาพุทโธนั้นไปบริกรรมให้มันรู้จิตให้มันรู้เหนือกว่าจิต ให้เห็นแต่จิตนี้จะคิดดีก็ตามคิดชั่วก็ตาม จนกว่าผู้รู้นั้นว่าจิตนี้สักแต่ว่าจิตเท่านั้น ไม่ใช่บุคคลตัวตนเราเขา นี้เรียกว่า จิตตานุปัสสนา ถ้าเห็นอย่างนี้แล้วจิตเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จิตอันนั้นยังไม่เป็นของเราอีก ยังโกหกเราได้อีก
 
สรุปความได้ว่า จิตก็เป็นผู้รับรู้อารมณ์ อารมณ์ก็เป็นอารมณ์ จิตนี้ก็เรียกว่าจิต ผู้รู้ทั้งจิตทั้งอารมณ์นั้นมันเหนือกว่าจิต เหนือกว่าอารมณ์ไปอีก มันเป็นของมันอย่างนั้น แล้วมันก็มีสิ่งที่มันซับซ้อนอยู่เสมอท่านเรียกว่า สติ สตินี้ก็มีทุกคน แมวมันก็มีสติ เวลาที่มันตะครุบหนูกิน สุนัขมันก็สติ เวลามันจะเห่าคนกัดคน อันนั้นก็เรียกว่า สติ เหมือนกัน แต่ไม่ใช่สติโดยธรรมะ คนทุกคนก็มีสติเหมือนกัน ก็เหมือนกันกับกายให้เราพิจารณากายของเรา จะพิจารณาอะไรกายนี่ ใครจะไม่เห็นมัน เกศาก็เห็น โลมาก็เห็น นขาก็เห็น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เห็นหมด แล้ว จะให้มันรู้อะไรอีก แน่ะมันก็เป็นอย่างนี้คนเราเห็นอยู่แต่ว่าไม่เห็นถึงที่สุดของความเห็น ไม่เห็นโดยพุทโธผู้รู้แล้ว ตื่นแล้ว เห็นตามธรรมชาติ คือ เห็นกายเป็นกาย
 
เห็นกายเฉยๆ ก็ยังไม่พอ ถ้าเห็นกายเฉยๆ มัน เสียหาย ให้เห็นภายในกายเข้าไปอีกทีหนึ่งมันจึงจะชัดเจนเข้าไป ถ้าเห็นแต่กายส่วนเดียวมันก็หลงกาย ก็ยังรักสวยรักงาม ไม่เห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จึงเป็นกามฉันทะ ยังติดอยู่ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฎฐัพพะ ผู้เห็นกายก้อนนี้คือตาเนื้อธรรมดา เห็นแต่รักคนนั้นเกลียดคนนี้ อันนั้นสวยอันนั้นไม่สวย พระพุทธเจ้าสอนว่าอันนั้นยังไม่พอ ต้องรู้ด้วยตาของจิต อีกทีหนึ่ง ให้เห็นกายในกาย ถ้าเห็นกายในกายมองเข้าไปในกายมันมีอะไรบ้าง อ้อ มันไม่น่าดูเลยนะของวันนี้ก็มี ของแต่เมื่อว่านนี้ก็มีอยู่ในนั้น ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร อย่างนี้มันจะเห็นแจ้งเหนือกว่านั้นอีก พิจารณาให้เห็นด้วยตาจิต ด้วยปัญญาจักษุ เห็นด้วยปัญญา
 
ความเห็นมันต่างกันอย่างนั้น บางคนถ้าสอนให้พิจารณา เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ ก็ไม่รู้จะพิจารณาอะไร ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ก็เห็นอยู่แล้ว แต่มันไม่เห็นนะ เห็นด้วยตาเท่านั้น ตาผีบ้านี่มันดูแต่สิ่งที่น่าดู สิ่งใดไม่น่าดูก็ไม่ได้ดูสิ่งเหล่านั้น มันเลือกอย่างนั้นนะ คำว่าเห็นกายในกาย คือเห็นให้มันแจ้งกว่านั้น ดังนั้นให้พิจารณากายแล้วพิจารณาเห็นกายในกาย มันก็เห็นชัดเข้าไปอีก มันละเอียดกว่ากันเท่านั้น
 
ตัวนี้เป็นตัวพิจารณาถอนความยึดมั่นในขันธ์ห้าได้ถ้าถอนความยึดมั่นถือมั่น มันก็เหมือนกันกับถอนทุกข์ออกด้วย ก็เพราะสิ่งทั้งหลายนั้นเป็นเหตุให้ทุกข์เกิดถ้าทุกข์เกิดมันจะเกิด ในที่นี้ คืออุปาทานขันธ์ห้า ไม่ใช่ว่าขันธ์ห้าเป็นทุกข์นะ ตัวอุปาทานขันธ์ห้า ยึดมั่นขันธ์ห้าว่าเป็นเรา นั่นแหละเป็นทุกข์ ถ้าเราเห็นเช่นนั้นตามความจริง คือ การภาวนามันก็จะคลายออกเหมือนเกลียวเหมือนน๊อต หมุนทางซ้ายเรื่อยๆ มันก็ถอนออกมาเรื่อยๆ มันไม่แน่น มันไม่หนา มันไม่ตึง ไม่เหมือนเราหมุนเข้าทางขวา มันถอย มันวาง มันละ ไม่ตึงในความดีในความชั่ว ในลาภ ในยศ ในสรรเสริญ สุข ทุกข์ นินทาประการใด ถ้าเราไม่รู้จักสิ่งทั้งหลายเหล่านี้มันก็หมุนเข้าไปเรื่อยๆ หันเข้าไปบีบตัวเองเรื่อยๆ ก็เป็นทุกข์หมดทุกสิ่งทุกอย่าง ถ้าเรารู้เรื่องเหล่านี้มันก็เหมือนกับคลายเกลียวออกมา ในทางธรรมะท่านเรียกว่า เกิดนิพพิทา คือ ความเบื่อหน่าย เบื่อหน่ายแล้วก็คลายความกำหนัดรักใคร่ ความยึดมั่นถือมั่น ถ้าหากว่าเราคลายความยึดมั่นถือมั่นมันแล้ว มันก็สบายล่ะ
ข้อความโดย: ตถตา
« เมื่อ: กันยายน 22, 2010, 05:52:57 pm »

ถ้าจิตไม่ได้หยุดจะเห็นอารมณ์นั้นไม่ได้ชัดเจน ถ้าเรารู้จักว่าจิตนี้เป็นจิต อารมณ์เป็นอารมณ์ นี่คือหัวข้อแรกที่จะตั้งพระพุทธศาสนาขึ้นมาได้ นี้คือตัวศาสนาเราบำรุงให้จิตนี้เกิดขึ้น เป็นลักษณะของการปฏิบัติให้เป็นสมถะให้เป็นวิปัสสนา รวมกันเข้าเป็นสมถะ วิปัสสนา เป็นข้อปฏิบัติ มาบำรุงจิตใจให้มีศีลมีธรรมให้จิตได้หยุด ให้จิตได้เกิดปัญญา ให้รู้เท่าตามความเป็นจริงของมัน ถ้าพูดตามความเป็นจริง อย่างที่ว่าเราเกิดมาเป็นมนุษย์ กิริยาที่เราอยู่ กิริยาที่เรากิน กิริยาที่มันเป็นอยู่ทุกวันนี้ เราก็เหมือนกันกับเด็กน้อย เด็กน้อยมันไม่รู้เรื่องอะไร ถ้าผู้ใหญ่มามองดูกิริยาของเด็ก การเล่นการกระโดดนั้น มันไม่ได้เกิดประโยชน์อะไร จิตเราที่ไม่ได้ฝึกก็เหมือนกัน เป็นจิตที่ไม่มีกำลัง จะพูดก็ไม่มีสติการกระทำก็ไม่มีปัญญา เสื่อมไม่รู้จักว่ามันเสื่อมเสียก็ไม่รู้ว่ามันเสีย ไม่รู้เรื่องเล่นไปตามประสมเด็กน้อย จิตที่เราไม่รู้จักจะเป็นอย่างนั้น
 
ฉะนั้น จึงควรฝึกจิตของเรา พระพุทธเจ้าตรัสว่าฝึกจิตอันนี้ อบรมจิตอันนี้ให้มาก ถึงแม้ว่าเราบำรุงพระพุทธศาสนาด้วยปัจจัย 4ปัจจัยลาภทั้งหลายก็จริงก็เป็นเพียงสิ่งที่ผิวเผิน เป็นแต่เศษเปลือกๆ เป็นแต่กระพี้ การบำรุงพระพุทธศาสนาที่แท้จริงนั้น ก็คือการปฏิบัตนี่เองไม่มีอันอื่นไกลอะไร ที่เราฝึกอยู่นี่ ฝึกกาย ฝึกวาจา ฝึกจิตของเรานี้ เรียกว่าข้อประพฤติปฏิบัติ แล้วมันจะถ่ายทอดไปหลายๆ แห่ง ถ้าหากว่าคนเรา มีความซื่อสัตย์ มีความสุจริต มีศีลธรรม การประพฤติปฏิบัติในกาลอนาคตมันก็เจริญทั้งนั้นแหละ ไม่มีเรื่องอิจฉา ไม่มีเรื่องพยาบาท ศาสนาก็สอนให้เป็นอย่างนั้น ให้เข้าใจอย่างนั้น เหมือนกับพวกเราทั้งหลายสมาทานศีลกัน นี่เองไม่ใช่โดยลักษณะที่ทำตามประเพณีรับศีลเฉยๆ สิ่งที่ท่านแนะนำสั่งสอนนั้นมันเป็นเรื่องจริง ถึงพูดเราก็พูดได้ถึงเรียนเราก็เรียนได้ ถึงว่าเราก็ว่าได้ ยังเหลือแต่การปฏิบัติเท่านั้น เราจึงยังไม่รู้เรื่อง
 
ถ้าหากว่าการปฏิบัติ คือ ปฏิบัติบูชานี้ไม่เกิดขึ้นเมื่อไร มันก็จะทำให้เราไม่เข้าถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ตลอดชีวิต หลายๆ ชีวิตก็ได้ หรือจะพูดง่ายๆ ว่าจะไม่รู้เรื่องหลักพระพุทธศาสนานี้เลยก็ได้ คล้ายกับผลไม้ชนิดหนึ่ง ที่เขาเล่าว่ามันหวานหรือเปรี้ยวหรือมัน เมื่อไม่ได้กิน จะยังไม่เกิดประโยชน์โดยสมบูรณ์ ถึงแม้ว่ามันจะเป็นพันธุ์ที่ดีก็ตามเถอะ เราไม่รู้เรื่อง ถ้าเราไม่รู้จักผลไม้ตามความเป็นจริง เรื่องพระพุทธศาสนานี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราขาดจากการภาวนาเราไม่รู้เรื่องทานไม่รู้เรื่องศีล ไม่รู้เรื่องภาวนา
 
ฉะนั้น การปฏิบัตินี้จึงเป็นกุญแจ กุญแจภาวนาแม่กุญแจนั้นจะเป็นอะไรก็ช่างมันเถอะ เราถือลูกกุญแจมันไว้ในมือเรา ถึงมันจะปิดแน่นเท่าไรก็ช่าง ถ้าเราเอาลูกกุญแจไปเปิดเมื่อไรก็สำเร็จประโยชน์เมื่อนั้น ถ้าหากว่ากุญแจไม่มีลูกก็ไม่มีประโยชน์อะไร ของอยู่ภายในลังเราก็เอาไม่ได้ อันนี้เหมือนกันฉันนั้น ฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงให้เรียนรู้สิ่งทั้งหลายเหล่านี้
 
ความรู้มีอยู่สองอย่าง คนที่รู้จักธรรมะนั้นท่านไม่ได้เอาความจำมาพูด แต่ท่านเอาความจริงมาพูดคนทางโลกก็เอาความจำมาพูดกัน และก็พูดในแง่ที่ว่ายกหูชูหางขึ้นไป เช่น เราพรากกันมานานแล้วไปอยู่ต่างประเทศกันหรืออยู่ต่างจังหวัดกันมานาน อีกวันหนึ่งขึ้นรถก็บังเอิญพบกันเข้า “แหม ผมดีใจเหลือเกิน ผมนึกว่าจะไปเยี่ยมคุณอยู่เร็วๆนี้” อันนี้ไม่ใช่ความเป็นจริง ไม่เคยนึกเลย แต่ไปปรุงขึ้นในเดี๋ยวนั้น คือพูดด้วยความดีใจในปัจจุบัน ก็เป็นเรื่องโกหกขึ้นมาโกหกอย่างนั้นแหละแต่ไม่รู้ตัว ความจริงไม่ได้คิดว่าจะเยี่ยมไม่เคยได้คิดสักที มันมีความรู้สึกเกิดขึ้นในเวลานั้น จึงพูดขึ้นในเวลานั้น นี่โกหกโดยไม่รู้ตัวเองอย่างนี้ก็มี นี่เป็นกิเลสชนิดหนึ่ง คือไม่ได้เป็นความจริง ในคำที่เราพูดในเวลานั้น แต่มันปรุงแต่งขึ้นให้ทำได้ นี่เป็นเรื่องโกหกอย่างละเอียด และคนเราชอบพูดกันอย่างนั้น ชอบว่าอย่างนั้น
 
ฉะนั้น เรื่องจิตใจนี้ พระตุจโฉโปฏฐิละก็ทำตามที่สามเณรว่า.. หายใจเข้าหายใจออก พิจารณามีสติมีสัมปชัญญะ มีความรู้รอบคอบอยู่ จึงเห็นความโกหกของมัน โกหกเรื่องจิตใจของตัวเอง เห็นกิเลสทั้งหลายเมื่อมันออกมา เหมือนกับเหี้ยออกมาจากโพรงพอโผล่ขึ้นมาก็เห็นทันที จบเรื่องมันเลย เดี๋ยวมันก็เกิดปรุงขึ้นมาเดี๋ยวมันก็เกิดแต่งขึ้นมา เกิดปรุงโดยวิธีนั้นเกิดแต่งโดยวิธีอันนี้ ความคิดของเรานั้น เป็นสังขตธรรม คือ ปัจจัยมันปรุงได้แต่งได้ ไม่ได้เป็นอสังขตธรรม คือ สิ่งที่ปัจจัยไม่ได้ปรุงไม่ได้แต่ง จิตที่อบรมดีแล้ว มีความรู้สึกดีแล้วอารมณ์มันปรุงไม่ได้แต่งไม่ได้ ไม่ได้เชื่อใคร ตรัสรู้ตามความเป็นจริง เรียกว่า อริยสัจ รู้ตามอริยสัจ คือรู้ตามความเป็นจริง อารมณ์มันจะบิดพริ้วว่าอันนั้นดีอันนั้นงาม อันนั้นอย่างไรก็ตาม ถ้าหากว่ามีพุทโธในใจก็โกหกไม่ได้ คือรู้จิตตามเป็นจริงของมันแล้ว อารมณ์จะมาปรุงแต่งไม่ได้ เห็นอารมณ์ก็เห็นว่ามันเป็นของไม่เที่ยงอารมณ์นี้มันเป็นทุกข์ ผู้ไปยึดอารมณ์นั้นก็จะเป็นทุกข์เพราะอารมณ์นั้นมันไม่เที่ยงอยู่แล้ว
ข้อความโดย: ตถตา
« เมื่อ: กันยายน 22, 2010, 05:52:12 pm »

เมื่อท่านขึ้นมาแล้วสามเณรจึงสอนให้ โดยใช้วิธีกำหนดอารมณ็จับอารมณ์ ให้รู้จักจิตของตน ให้รู้จักอารมณ์ของตน เณรก็ยกอุบายอันหนึ่งขึ้นมาว่า ให้ใช้วิธีที่บุรุษทั้งหลายจะจับเหี้ย เหี้ยตัวหนึ่งเข้าไปในโพรงจอมปลวกซึ่งมีรูอยู่หกรู ถ้าเหี้ยเข้าไปในที่นั้น จะทำอย่างไรเราจึงจะจับมันได้ จะต้องปิดไว้สักห้ารูเอาอะไรมาปิดมันไว้ให้เหลือแค่รูเดียวสำหรับให้เหี้ยออก นอกนั้นปิดไว้หมดแล้วให้นั่งจ้องมองอยู่ที่รูนั้น ครั้นเหี้ยวิ่งออกก็จับ อันนี้ฉันใด การกำหนดจิตก็ฉันนั้น ตาก็ปิดไว้ หูก็ปิดไว้ จมูกก็ปิดไว้ ลิ้นก็ปิดไว้ กายก็ปิดไว้ เหลือแค่จิตอันเดียว ตา หู จมูก ลิ้น กาย ปิดมันไว้ คือสำรวมสังวร ให้กำหนดจิตอย่างเดียว
 
การภาวนาก็เหมือนกันกับบุรุษจับเหี้ย อย่างเราจะกำหนดลมหายใจให้มีสติ สติ คือ ความระมัดระวังรู้อยู่ว่าเดี๋ยวนี้เราทำอะไรอยู่ สัมปชัญญะ คือ รู้ตัวว่าเรากำลังทำอันนั้นอยู่ ผู้รู้รู้ว่ามันเป็นอย่างนั้นอยู่ให้กำหนดลมหายใจเข้าด้วยการมีสติ - ความระลึกได้สัมปชัญญะความรู้ตัว
 
การที่ว่าระลึกได้ คือ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในจิตไม่ใช่การที่เราไปศึกษาที่ไหนมา ให้รู้จักแต่ความรู้สึกที่เกิดขึ้นมา จิตมันอยู่เฉยๆ มันก็มีความรู้สึกขึ้นมา อันนี้แหละเป็นความรู้สึก สติที่ควบคู่กันกับความรู้สึก มีสติอยู่ คือความระลึกได้ว่า เราพูดอยู่ หรือเราทำอยู่ หรือเราไปเดินอยู่ หรือเรานั่งอยู่ จะไปจะมาก็รู้ นั่นเรียกว่า สติระลึกได้ สัมปชัญญะ คือ ความรู้ตัวว่า บัดนี้เรากำลังเดินอยู่ เรานั่งอยู่ เรานอนอยู่ เรารับอารมณ์อะไรอยู่เดี๋ยวนี้ สองอย่างนี้ ทั้งสติความระลึกได้ และสัมปชัญญะความรู้ตัว ในการที่เราระลึกได้อยู่เสมอกัน เราก็สามารถรู้ใจของเราว่าในเวลานี้มันคิดอย่างไร เมื่อถูกอารมณ์ชนิดนั้นมา มันคิดอย่างไร อันนั้นเราจะรู้จัก
 
ผู้ที่รับรู้อารมณ์นั้น คือ ตัวจิต อารมณ์ คือสภาวะที่มันจรเข้ามา เช่น มีเสียง อย่างเสียงเขาไสกบ อยู่นี่ มันเข้าทางหูแล้ว จิตก็รับรู้ว่าเสียงกบ นั่นผู้ที่รับรู้อารมณ์รับรู้เสียงกบนั้น เรียกว่าจิต ที่นี่ จติที่รับรู้นี่เป็นจิตที่หยาบๆ เป็นจิตที่ปกติของจิต บาทีเรานั่งฟังเสียงกบอยู่รำคาญในความรู้สึกของผู้ที่รับรู้ เราจะต้องอบรมผู้ที่รับรู้นั้นให้มันรู้ตามเป็นจริงอีกทีหนึ่ง ที่เรียกว่าพุทโธ
 
ถ้าหากว่าเราไม่รู้แจ้งตามเป็นจริงเราอาจจะรำคาญในเสียงคนหรือเสียงรถ หรือเสียงกบ มีแต่จิตเฉยๆ รับรู้ว่ารำคาญ รู้ตามสัญญา ไม่ได้รู้ตามความเป็นจริง เราจะต้องให้มันรู้ในญาณทัศนะ คือ อำนาจของจิตที่ละเอียดให้รู้ว่าเสียงกบที่ดังอยู่นั้น ก็สักแต่ว่าเสียงเฉยๆ ถ้าหากว่าไม่ยึดมั่นถือมั่นมันก็ไม่น่ารำคาญอะไร เสียงก็ดังของมันไป เราก็นั่งรับรู้ไป อันนั้นก็เรียกว่ารู้ถึงอารมณ์ขึ้นมา นี่ถ้าหากว่าเราภาวนาพุทโธ มีความรู้แจ้งในเสียงกบ เสียงกบนั้นไม่ได้มากวนใคร มันก็ดังอยู่ตามสภาวะ เสียงนี้ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนเราเขา เรียกว่าเสียงเท่านั้น มันก็ทิ้งไป วางไป
 
ถ้ารู้อย่างนี้ คือจิตรู้โดยสภาวะที่เรียกว่า พุทโธ คือ ความรู้แจ้งตลอดเบิกบาน รู้ตามความเป็นจริง เสียงก็ปล่อยไปตามเรื่องของเสียงไม่ได้รบกวนใคร นอกจากเราจะไปยึดมั่นว่า “เออ... เรารำคาญ ไม่อยากจะได้ยินคนพูดอย่างนั้น ไม่อยากได้ยินเสียงอย่างนั้น” ก็เลยเกิดทุกข์ขึ้นมา นี่เหตุให้ทุกข์เกิดขึ้นมา เหตุที่มีทุกข์ขึ้นมาก็เพราะอะไร ก็เพราะเราไม่รู้จักเรื่องตามความจริง ยังไม่ได้ภาวนาพุทโธ ยังไม่เบิกบาน ยังไม่ตื่น ยังไม่รู้จัก มีแต่เฉพาะจิตล้วนๆ ที่ยังไม่บริสุทธิ์ เป็นจิตที่ใช้การงานอะไรยังไม่ได้เต็มที่
 
ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงให้ฝีกหัด ฝีกจิตนี้ให้มีกำลัง การทำจิตให้มีกำลังกับการทำกายให้มีกำลังมีลักษณะอันเดียวกัน แต่มีวิธีการต่างกัน การฝึก กำลังกายเราต้องเคลื่อนไหวอวัยวะ มีการนวดกายเหยียดกายเช่น วิ่งตอนเช้าตอนเย็น เป็นต้น นี่เรียกว่า ออกกำลังกาย กายนั้นก็จะมีกำลังขึ้นมา จะคล่องแคล่วขึ้นมาเลือดลมจะมีกำลังวิ่งไปมาสะดวกตามเส้นประสาท ต่างๆ ได้ กายจะมีกำลังดีกว่าเมื่อไม่ได้ฝึก
 
แต่การฝึกจิตให้มีกำลัง ไม่ใช่ให้มันวิ่งให้มันเคลื่อนไหวอย่างกับการออกกำลังกาย คือ ทำจิตให้มันหยุด ทำจิตให้พักผ่อน เช่น เราทำสมาธิยกอารมณ์อันใดอันหนึ่งขึ้นมา เช่นอานาปานสติ ลมหายใจเข้าออก อันนี้เป็นรากฐาน เป็นเป้าหมายในการเพ่งในการพิจารณาเราก็ กำหนดลมหายใจ การกำหนด ก็คือ การรู้ตามลมนั่นเอง กำหนดลมเข้าแล้วกำหนดลมออก กำหนดให้รู้ระยะของลมให้มีความรู้อยู่ในลม ตามรู้ลมเข้าออกสบายแล้วพยายามปล่อยสิ่งทั้งหลายออก จิตของเราก็จะมีกำลังเพราะว่ามีอารมณ์เดียว ถ้าหากว่าเราปล่อยให้จิตคิดอย่างนั้นอย่างนี้สารพัด มีหลายอารมณ์ มันไม่รวมเป็นอารมณ์เดียว จิตเราก็จะหยุดไม่ได้ ที่ว่าจิตหยุดได้นั้นก็คือ หยุดในความรู้สึก ไม่คิดแล่นไปทั่ว เช่น เรามีมีดเล่มหนึ่งที่เราลับไว้ดีแล้ว แล้วมัวแต่ฟันหินฟันอิฐฟันหญ้าไปทั่ว ถ้าเราฟันไม่เลือกอย่างนี้ มีดของเราก็จะหมดความคม เราจึงต้องฟันแต่สิ่งที่จะเกิดประโยชน์ จิตนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราปล่อยให้จิตแล่นไปในสิ่งที่ไม่เป็นสาระประโยชน์ ก็จะไม่ได้ปล่อยอะไรจิตนั้นจะไม่มีกำลัง ไม่ได้พักผ่อน ถ้าจิตไม่มีกำลังปัญญามันก็ไม่เกิด จิตไม่มีกำลังคือ จิตที่ไม่มีสมาธิเลย
ข้อความโดย: ตถตา
« เมื่อ: กันยายน 22, 2010, 05:51:23 pm »

การบำรุงพระพุทธศาสนานั้นมีสองประการ หนึ่งอามิสบูชา คือปัจจัย 4ได้แก่จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ เภสัช นี่บำรุงพระพุทธศาสนาโดยการบำรุงผู้ที่จะปฏิบัติตามพระพุทธศาสนา ให้มีความเป็นอยู่ได้แล้วถ่ายทอดออกมาถึงการปฏิบัติ ส่วนการปฏิบัติก็ถ่ายทอดอกไปถึงข้อปฏิบัติตามความจริงให้พระพุทธศาสนาเจริญยิ่งขึ้น เหมือนกันกับต้นไม้ต้นหนึ่ง มันมีราก โคน ลำต้น ใบ ใบทุกใบ กิ่งทุกกิ่ง ทั้งลำต้น อาศัยรากดูดกินอาหารส่งขึ้นไปหล่อเลี้ยง ต้นไม้ก็อาศัยรากเป็นเค้ามูลเอาอาหารไปหล่อเลี้ยง
 
เรานี้ก็หมือนกัน ทั้งกายทั้งวาจานี้ หรืออายตนะ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย นี่เปรียบเหมือนกิ่ง ก้าน ลำต้น ใจเปรียบเป็นราก สำหรับดูดกินอาหารแล้วก็แบ่งขึ้นสู่ลำต้น แบ่งไปหากิ่ง หาใบ ให้เป็นดอกออกผล จิตของเรานี้ถ้ามันตั้งอยู่ในสภาพใด เช่นว่ามันตั้งอยู่ในความถูกต้องหรือว่าตั้งอยู่ในความเห็นผิด ก็แสงดงความเห็นผิดไปถึงสุดขีดของมัน ความเห็นถูกก็แสดงออกไปถึงที่สุด คือ ทางกาย และวาจาของเราเหมือนกัน
 
ฉะนั้น การบำรุงพระพุทธศาสนาด้วยการปฏิบัตินี้จึงสำคัญมาก โดยตรงเข้าไป ไม่มีอะไร มีแต่ข้อวัตร ตรงไปตรงมา เช่น เราสมาทานศีลทุกวัน พระท่านก็บอกสิ่งที่ผิดทุกวัน พระให้พากันสมาทาน แต่ถ้าสมาทานเฉยๆ ไม่ได้ภาวนาไม่ได้พิจารณาตามเหตุผลมันก็เป็นไปได้ยาก หาข้อประพฤติปฏิบัติไม่ได้ การบำรุงพระพุทธศาสนานี้ก็บำรุง อย่างนั้น คือ ปฏิบัติบูชา คือการปฏิบัติให้มันเป็นศีลจริง ให้เป็นสมาธิจริง ให้เป็นปัญญาจริง มันจึงจะรู้เรื่อง ถ้าไม่รู้โดยการปฏิบัติ ไม่รู้เรื่องพระพุทธศาสนา ถึงจะเรียนจบพระรัตนไตรปิฎกก็ยังไม่รู้จัก
 
ในสมัยก่อนครั้งพุทธกาล มีสาวกองค์หนึ่งชื่อว่าตุจโฉโปฏฐิละ ตุจโฉโปฏฐิละนี้มีปัญญามาก แตกฉานในคัมภีร์ แตกฉานในพระไตรปิฎกมีวัดสามขาตั้ง 18แห่งเป็นครูเป็นอาจารย์ จนประชาชนศิษยานุศิษย์ทั้งหลายนับหน้าถือตาโดยทั่วถึง ถ้าใครได้ยินชื่อว่า ตุจโฉโปฏฐิละก็กลัวเกรง ไม่กล้าพูดไม่กล้าเถียง เมื่อท่านอธิบายธรรมะกลัวอำนาจ ที่ท่านได้เรียนมากจนแตกฉานในพระไตรปิฎก ฉะนั้น ท่านตุจโฉโปฏฐิละ จึงเป็นพระเถระผู้ยิ่งใหญ่ในครั้งพุทธกาลเพราะการเรียน
 
วันหนึ่งท่านไปกราบทูลถามพระพุทธเจ้า ขณะท่านกำลังกราบลงสาธุการ พระพุทธองค์ตรัสว่า “มาแล้วหรือพระใบลานเปล่า?”
 
...ซึ้งในใจ ก็เลยพูดกันไป พอท่านจบประโยคพอสมควรแล้ว จะลาพระพุทธองค์กลับวัด... “กลับอาวาสแล้วหรือ พระใบลานเปล่า?” พระพุทธองค์ตรัสแค่คำนั้น...มาก็ “มาแล้วหรือพระใบลานเปล่า?” จะกลับก็ “กลับแล้วหรือพระใบลานเปล่า?” ไม่ได้หน้าได้หลังท่านเทศน์อยู่เท่านั้น
 
ตุจโฉโปฏฐิละเป็นอาจารย์ใหญ่ ก็คิดในใจว่า “เอ...ทำไมพระพุทธองค์จึงรับสั่งอย่างนั้น? เป็นอะไรหนอ..” คิดไปคิดมาคิดตามการศึกษา ย้อนไปพิจารณาไป จนเห็นว่า “เออ..มันจริงที่พระองค์ว่า พระใบลานเปล่า” คือพระเรียนเฉยๆ ไม่ได้ปฏิบัติ เมื่อมาดูจิตใจของตนก็เหมือนกันกับฆราวาส ฆราวาสอยากได้อะไรก็อยากได้เหมือนเขา ฆราวาสยินดีอย่างไร เราก็ยินดีอย่างเขาความเป็นสมณะไม่มี ไม่มีธรรมะอันซึ้งบังเกิดขึ้นในจิตใจที่จะมาข่มจิตของตน ให้สงบระงับด้วยการอบรมทั้งหลายได้ จึงเกิดความสนใจอยากจะออกปฏิบัติ แต่ว่าการออกปฏิบัตินั้นไม่มีทางที่จะไป ไปหาอาจารย์นั่นอาจารย์นี่ ล้วนแต่เป็นลูกศิษย์ของท่านทั้งหมด เขาก็เลยไม่รับ ธรรมดาคนเราเห็นครูบาอาจารย์ ก็เคารพเกรงกลัว ไม่กล้าพูดก็เลยไม่กล้ารับให้ท่านมาปฏิบัติด้วย ไปสำนักผู้ใดก็ตามไม่กล้ารับ ท่านมีความรู้มากมีปัญญามาก ใครๆ ก็ไม่กล้าตักเตือน ไม่กล้าสอน ถึงแม้ว่าท่านนั่งอยู่ที่นั้นจะเทศนาว่ากล่าวก็ยังเกรงกลัวอำนาจของท่าน
 
ท่านจึงไปหาสามเณรน้อย ซึ่งเป็นอริยบุคคลท่านตุจโฉโปฏฐิละก็ไปขอปฏิบัติกับเณรน้อย เณรบอกว่า “พระคุณเจ้าจะมาปฏิบัติกับผม ถ้าทำจริงก็มาได้ แต่ถ้าทำไม่จริงมาไม่ได้
 
ตุจโฉโปฏฐิละจึงมอบกายถวายชีวิต สามเณรให้ห่มผ้า เมื่อห่มผ้าเรียบร้อยแล้ว เผอิญมีสระน้ำอยู่ใกล้ๆ ที่เป็นเลน เณรก็บอกว่า “เอ้า ให้วิ่งลงไปในสระน้ำนี่วิ่งลงไป ถ้ายังไม่บอกให้หยุดอย่าหยุดนะ ถ้ายังไม่บอกให้ขึ้นอย่าขึ้นนะ..เอ้า..วิ่ง”
 
ตุจโฉโปฏฐิละห่มผ้าดีๆ แล้วก็วิ่งลงไปสระน้ำต่ำลงๆ เณรน้อยไม่ได้บอกให้หยุด ท่านก็ลงไปจนตัวเปียกหมด เปื้อนตมและขี้เลนหมด สามเณรก็บอก “เอาล่ะ หยุดได้” ท่านจึงหยุด สามเณรว่า “เอาละ ขึ้นมา” ท่านจึงขึ้นมาแสดงให้เห็นว่าท่านละทิฏฐิของท่านแล้วจึงยอมรับ ถ้าไม่ยอมรับจะไม่ยอมลงขี้เลนหรอกคนผู้ใหญ่ขนาดนั้น แต่ว่าท่านยอมไป สามเณรเห็นแล้วรู้อุปนิสัยแล้วว่า ตุจโฉโปฏฐิละเอาจริง
ข้อความโดย: ตถตา
« เมื่อ: กันยายน 22, 2010, 05:50:38 pm »

การเรียนรู้พุทธศาสนานี้ บางคนเรียนแต่ด้านนอกเรียนเวทย์มนตร์กลคาถาต่างๆ นานา เพื่อให้อยู่ยงคงกระพันไปตามเรื่อง ส่วนการนับถือนั้น ก็นับถือต้นไม้ ภูเขา จอมปลวก ก้อนหินต่างๆ ว่าเป็นที่พึ่ง ไปพึ่งของภายนอก ซึ่งมันไม่เป็นสาระประโยชน์อะไรเลย มันเป็นเพียงการอ้อนวอนตามความคิดผิดๆ เจ็บไข้ได้ป่วยมาก็ไปอ้อนวอนเพื่อให้หายจากป่วยไข้ ไปหาหมอดู ไม่ได้ไปปรึกษาหมอยา ปรึกษาแพทย์นั้นมันมีเหตุผล แพทย์จะได้ค้นหาสมุฏฐานของโรคที่เป็น แล้วก็จัดการรักษาให้ยาส่วนหมอดูนั้นก็จะบอกไปตามประสาว่าวันไม่ดีเดือนไม่ดีปีไม่ดี ให้สะเดาะเคราะห์ผูกดวง รดน้ำมันต์ ไปอย่างนั้นแหละ ยิ่งทำก็ยิ่งฉลาดน้อยลง ถ้าวันเดือนปีไม่ดี ก็พากันเอาทิ้งเสียสิ อย่าไปใช้มันเลย ความจริงแล้ว วันเดือนปีมันก็อยู่แค่นั้นแหละ มันไม่ดีไม่ร้ายอะไร แต่จะดีจะร้ายเพียงใด ก็อยู่ที่คนเอาเวลานั้นไปสร้างกรรม แล้วผลของกรรมก็ตามมาสนองเขาผู้ทำไว้นั้นๆ
 
การบวชนาค ถึงคราวเราพากันบวชนาค บาชเป็นพระแล้วก็ยังมาทำบายศรีสู่ขวัญอีก ให้โยมมาบายศรีให้พระ อย่างนี้พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้ทำ แต่เราก็ชอบทำกันนัก ถ้าได้ทำแล้วก็สบายใจ ของเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ แหละ มันเป็นเหตุให้เห็นผิดเป็นถูก เมื่อเราทำอย่างนั้น ชื่อว่าไม่ได้เข้าถึงพระรัตนตรัย พระพุทธเจ้าไม่ให้นับถือสิ่งเหล่านั้น มัวไปถือว่า สิ่งนั้นดี สิ่งนั้นไม่ดี วันนั้นดี วันนั้นไม่ดี ไปดูแต่ของภายนอก ไม่ได้ตรวจดูตัวเอง ไม่ได้ดูในใจของตัวเอง
 
เวลาปลูกบ้าน ก็หาฤกษ์หายาม ไปถามอาตมาว่า วันไหนดี อาตมาบอกว่า มันดีทุกวัน ถ้าอุปกรณ์มีช่างก็มีอยู่ ก็ให้ทำได้ มันดีแล้ว แต่ถ้าอุปกรณ์ไม่มี ช่างก็ไม่มีทำงานให้ วันนั้นไม่ดีเลย บางคนจะเดินทางไกลก็เลือกหาวันดี วันไม่ดี มาถามอาตมา อาตมาก็บอกว่า ถ้าวันไหนเรามีเงิน คู่ครองก็อนุญาต วันนั้นเดินทางดี ถ้าเงินไม่มี แม่บ้านก็ไม่อนุญาต วันนั้นไม่ดี ไม่เป็นมงคลเลย อาตมาบอกอย่างนี้ บางคนก็ไม่ชอบใจ
 
คนสมัยนี้ ชอบพูดว่า คนนั้นไม่ทันสมัย คนนี้ไม่ทันสมัย ไม่ทราบว่าเป็นสมัยอะไรของเขา สมัยสบายหรือสมัยวุ่นวาย บางคนชอบพูดว่า พระป่าชอบใช้สีแก่นไม้ขนุน เพราะสมัยก่อนไม่มีสีย้อม เวลาฉันก็ฉันในบาตรเพราะไม่ถ้วยมีชามใช้ แต่เดี๋ยวนี้ ทันสมัยแล้ว ของใช้มีเยอะแยะ ไม่ต้องฉันในบาตรก็ได้ ฟังเขาพูดเถอะ พูดไปตามความคิด ไม่ได้พินิจพิจารณาให้ถ่องแท้ เพราะเป็นเช่นนี้เอง ระเบียบ กฎเกณฑ์ วินัย ที่พระพุทธองค์บัญญัติไว้ จึงเลอะเลือน ถูกกลบเกลื่อนบิดเบียอนไปจาก เดิม เพราะเราตีความหมายเอาตามใจชอบ
 
เมื่อเราเข้าวัดตั้งแต่ยังเป็นหนุ่มเป็นสาว ก็ยังมีบุคคลบางคนล้อเลียนว่า “เป็นคนแก่ เจ้าธัมมะธัมโม” ก็เลยละอายไม่อยากไปอีก จะไปอายมันทำไม เข้าวัดมาปฏิบัติธรรมมันผิดอะไร มันผิดตรงไหน พระพุทธองค์ทรงสอนเรื่องความละอายความกลัวไว้ แต่ท่านมิได้สอนให้อายอย่างนี้ ท่านสอนให้ละอายต่อความชั่วความผิดอันจะนำชีวิตไปสู่ความเดือดร้อนเสียหาย ให้กลัวผลของความชั่วความผิดที่จะตามมาให้โทษ ทุกข์ เวรภัย แก่ตนเอง ท่านให้ละอาย ให้กลัวอย่างนี้ การกระทำความดีมีประโยชน์ การเข้าวัด การปฏิบัติธรรม มันเป็นความดีไม่ใช่เรื่องที่น่าละอาย เป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจ ดีใจสบายใจ จึงจะถูก เพราะเป็นสิ่งที่เราทุกคนควรจะสนใจ
 
พระพุทธองค์สอนให้มีความเชื่อ ก็ให้เชื่อพระธรรมคำสอนของท่าน เชื่อความจริง เชื่อเหตุ เชื่อผล ต้องพิจารณาไตร่ตรองให้ดี อย่าไปเชื่อมงคลตื่นข่าวเชื่อลมๆ แล้งๆ ไม่มีเหตุผลเพียงพอ เชื่อตามคำ ทำตามเขา ไปตามเขาก็เลยกลายเป็นเหมือนควาย ที่ถูกเขาจูงจมูกถ้าเขาร้อยจมูกได้แล้ว เสร็จเลย แล้วแต่เขาจะจูงไปทางไหนจูงไปกินเหล้า จูงไปเล่นการพนัน
 
จูงไปเที่ยวกลางคืนและจูงไปทำชั่วทำผิดอีกหลายอย่างแล้วผลของการกระทำก็ตามมา ได้รับความทุกข์ความเดือนร้อน ไม่เฉพาะแต่ตัวผู้ทำเท่านั้น แม้แต่พ่อแม่และญาติพี่น้อง ก็ต้องพลอยเดือดร้อนวุ่นวายไปด้วย เสียเงินเสียทรัพย์สิน เสียเกียรติและศักดิ์ศรี เป็นอันกล่าวได้ว่า เราทำผิดทำชั่วคนเดียวเพราะถูกจูงจมูก แต่ผลลัพธ์ออกมา ขยายเป็นวงกว้างออกไป ถึงวงศาคณาญาติอีกด้วย
 
ฉะนั้น เราควรหันเข้าหาการประพฤติปฏิบัติธรรมเดินจงกรม นั่งสมาธิ อบรมจิตใจของตน อย่าประมาทอย่าปล่อยให้คนอื่นหรือกิเลสตัณหาราคะจูงเราได้ เมื่อใจถูกอบรม มีกำลังดีแล้ว ใจก็จะมีภูมิต้านทานเพียงพอกิเลสตัณหาจะพ่ายแพ้ ไม่สามารถมาจูงเราได้ ถ้ากำลังใจเราน้อย กำลังใจอ่อนกิเลสก็จะเข้าแทรกซ้อน เข้าทับถม ชักจูงไปตามเส้นทางสู่ความเลวร้ายทั้งหลายจึงสมควรอย่างยิ่ง ที่เราจะต้องรีบสร้างวัดใหม่ขึ้นในใจสร้างคุณธรรมไว้ในใจ เอาข้อวัตรปฏิบัติของพระพุทธองค์และพระอริยสงฆ์สาวกมาเป็นหลัก ทำตามท่านอบรม จิตใจ กาย และวาจาของตน ให้เจริญก้าวหน้า จึงจะได้ชื่อว่าได้ทำบุญที่แท้ ทำกุศลที่จริง ทั้งชายและหญิง เชื่อว่าเราทั้งหลายได้ร่วมกันสร้างวัดใหม่ขึ้นภายในของตน ย่อมเกิดผลเป็นสุข ความเจริญรุ่งเรืองสืบไป และเป็นตัวอย่างที่ดีของลูกหลานในภายหลัง เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้
ข้อความโดย: ตถตา
« เมื่อ: กันยายน 22, 2010, 05:49:51 pm »

เช่นเราพากันมาทำบุญกฐินวันนี้ ได้ทำบุญกฐินแล้วก็ดีใจ ถ้าหากได้นำมหรสพ ดนตรี มาฉลองหมดเงินหมดทองไปหลายพันหลายหมื่น ก็นึกดีใจ เราทำบุญแล้วไม่ได้พิจารณาหาเหตุผล ไม่เอาสิ่งที่ควรเอา ไม่ยอมละวางสิ่งที่ควรละวาง ก่อนจะทำบุญก็ทำความผิดเวลาทำบุญก็มาทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องเป็นความผิดความเดือดร้อนเรา
 
ต้องฟัง คำว่าบุญนั่นน่ะ ถ้าเป็นบุญ มันก็ไม่เป็นบาปถ้าถูกต้อง มันก็ไม่ใช่ผิด การทำบุญแต่ละครั้งสิ้นเปลืองมาก สิ้นเปลืองของภายนอก หมดสัตว์ไปหลายตัวหมดเหล้าไปหลายลัง หมดสิ่งของไปหลายอย่าง เราไม่ได้พิจารณา มันเป็นการทำบุญนอกพระพุทธศาสนาอาตมาพูดไปก็ขัดใจคนที่ยังไม่เข้าใจถ้าเขาเข้าใจแล้วก็ทำ
 
ผิดไม่ได้
 
เราเคยคิดไหมว่า บุญที่เราจะได้รับมันคืออะไรอยู่ที่ไหน บุญนั้นก็คือความสุขที่ปราศจากโทษ มันอยู่ที่จิตใจของเราเอง ถ้าหากใจเราไม่เป็นบุญ ใจไม่เลิกละความผิดออกไป ใจไม่ยอมละความชั่ว ความดีเข้ามาได้อย่างไร ไม่มีทางเข้ามาได้
 
การทำบุญกุศลก็เพื่อละกิเลส เพื่อสำรอกกิเลสเพื่อละความโลภ ละความโกรธ ละความหลง เพื่อถอนความสกปรก ความไม่ดี ออกจากใจตัวเองต่างหาก มันไม่ใช่เรื่องร่าเริงสนุกเฮฮา เรื่องบุญคือเรื่องของความสงบระงับ บุญกุศลนั้นมันมิได้อยู่ ที่หมอน ที่สาด ที่เสื่อ มิได้อยู่ที่ผ้า เพราะคนมีสิ่งเหล่านี้แล้ว ยังฆ่ากัน ยังลักของกัน ยังด่ากัน ยังเบียดเบียนกันอยู่
 
พูดง่ายๆ บุญก็คือ การเอาวัสดุต่างๆ มาให้คนอื่น เพื่อลดละความอยากของตนให้น้อยลง ไม่เบียดเบียน ไม่ลักของคนอื่น ไม่อิจฉา ไม่ริษยา พี่ป้าน้าอาทั้งหลาย การทำบุญก็เพื่อบรรเทาความชั่วออกจากใจ มิใช่ว่าของที่จะเอาออกก็เอาออก แต่ของที่ขนเข้าก็ยังขนเข้าไว้ในใจอยู่ มันเหมือนกับการเดินทาง เดินหน้าหนึ่งก้าว ถอยหลังหนึ่งก้าว มันจะไปถึงไหนกันเล่า มันจะถึงที่หมายกันได้อย่างไร อย่างนี้มันไม่ถึงหรอก
 
เรื่องพระศาสนานี้ เป็นเรื่อของจิตใจ ไม่ใช่เรื่องอย่างอื่น ทุกสิ่งทุกอย่างมันเป็นเรื่องของจิตใจ แม้คนเราจะคิดผิดหรือคิดถูกก้ให้รู้เรื่องบุญนันจะได้มากหรือน้อยก็ให้ดูที่ใจของเรา ถ้าให้ทานของมากๆ แต่กิเลสเรายังละไม่ได้ ก็หมายความว่า ทุกข์มันยังไม่หมดทำบุญเพื่อลดละความโลภ ความโกรธ ความหลง ให้เบาบางลางนี่เป็นการสร้งบารมีของเรา เรียกว่า ทานมัย
 
 
 
 
เรื่องการสร้างบุญกฐินนั้น เป็นเรื่องถวายผ้าและสิ่งของแก่ภิกษุสงฆ์ ที่มีจำพรรษาอยู่ในอาวาส 5รูปขึ้นไป ใครมีมากทำมาก ใครมีน้อยทำน้อย พูดถึงผ้ากฐินนั้นไม่ยาก เขามาทอดผ้าบังสุกุล ภิกษุชวนกันทำเอาเองก็ได้ ถ้าไม่ต้องการอานิสงส์(ข้อผ่อนผันทางวินัย 5ข้อ)
 
ดังนั้น การกระทำบุญกฐินที่วัดป่าพงนี้ และสาขาของวัดป่าพงนั้น ไม่ต้องการสิ่งอื่นใด ต้องการจิตใจของญาติโยม ให้มีความรู้ความเห็นให้ถูก ตัวการก็คือจิตใจคน เพราะจิตใจของคนเรานั้น พระบรมศาสดาตรัสว่า ทุกข์ทั้งหลาย โทษทั้งหลาย นั่นมันเกิดที่ใจ ไม่มีอะไรที่จะร้ายแรงเท่าจิตใจมีความเห็นผิด ความเห็นผิดนี่มันร้ายแรงกว่าทุกสิ่งทุกอย่าง
 
สิ่งที่เป็นประโยชน์นั้น ไม่มีอะไรที่จะยิ่งกว่าความเห็นถูกต้อง พระศาสดาต้องการจะน้อมนำใจสัตว์ทั้งหลาย ส่งเข้าไปที่ความเห็นถูกความเห็นชอบ เรียกว่ามรรค พวกเราพากันนับถือพระพุทธศาสนามาหลายพันปีแล้ว มันเสื่อมหรือมันเจริญ เคยพิจารณาไหม หรือสักแต่ว่าทำๆ ไปเท่านั้น เช่นเรากล่าวว่า พุทธํ สรณั คจฺฉามิ ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ สงฺฆํ สรณั คจฺฉามิ ข้าพเจ้าขอถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งที่ท่านพระศาสดาให้ถึงนั้น ท่านสอนให้เราสนใจในตัวเอง อย่าสนใจในของนอกตัว
 
อันความสุขหรือทุกข์ที่เกิดในอดีต ในอนาคตหรือปัจุบันนั้น มันเป็นกฎธรรมชาติธรรมดา มันเป็นกฎของกรรมที่เราได้ทำไว้ ได้บำเพ็ญไว้ มันจะดีหรือจะชั่ว ก็อยู่ที่การกระทำคือกรรม เมื่อเรายังไม่เข้าใจมันจึงเกิดความยุ่งยากลำบาก