ภาคที่ 3 ความสอดคล้อง
บทที่ 13 ความว่างและรูปลักษณ์
โลกทัศน์แบบกลจักรดั้งเดิมมีรากฐานอยู่บนความคิดที่ว่าอนุภาคซึ่งเป็นวัตถุแข็งและไม่อาจทำลายได้ เคลื่อนที่อยู่ในที่ว่าง วิชาฟิสิกส์สมัยใหม่ได้กำหนดให้ภาพใหม่ที่ต่างจากความคิดดังกล่าวสิ้นเชิง ซึ่งไม่เพียงแต่นำมาสู่ความคิดใหม่ในเรื่อง “อนุภาค” เท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในความคิดเรื่องที่ว่างไปในทางลึกซึ้งยิ่งขึ้น การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นในทฤษฎีสนาม (Field Theories) ทฤษฎีนี้มีจุดกำเนิดที่ความคิดของไอน์สไตน์ซึ่งประ สงค์จะรวมเอาสนามความโน้มถ่วงกับโครงสร้างทางเรขาคณิตของอวกาศเข้าด้วยกัน และได้รับการขยายให้ชัดเจนยิ่งขึ้นในการวมกันของทฤษฎีควอนตัมและทฤษฎีสัมพัทธภาพเพื่อการพยายามอธิบายสนามของแรงของอนุภาคซึ่งเล็กกว่าอะตอมใน “ ทฤษฎีสนามควอนตัม” (Quantum Field Theories) นี้ การแบ่งแยกระหว่างอนุภาคและที่ว่างรอบ ๆ ตัวมันได้สูญเสียความแหลมคมที่มีมาแต่เดิมลง และที่ว่างถูกถือเป็นปริมาณอันมีลักษณะเป็นพลวัตที่มีความสำคัญอย่างยิ่งประการหนึ่ง ความคิดในเรื่องสนามถูกเสนอเข้ามาอธิบายถึงแรงระหว่างประจุไฟฟ้าและกระแสไฟฟ้า โดยฟาราเดย์และแมกซ์เวลส์ในศตวรรษที่สิบเก้า สนามไฟฟ้าคือสภาพการณ์ในที่ว่างรอบประจุอันหนึ่งซึ่งก่อให้เกิดแรงกระทำบนประจุอื่นที่ปรากฏในที่ว่างนั้น ดังนั้นสนามไฟฟ้าจึงเกิดจากประจุไฟฟ้า และจะมีผลต่อประจุไฟฟ้าอันอื่น สนามแม่เหล็กเกิดจากประจุไฟฟ้าซึ่งกำลังเคลื่อนที่นั่นคือจากกระแสไฟฟ้า และแรงแม่เหล็กจะมีผลเฉพาะต่อประจุซึ่งเคลื่อนที่ในทฤษฎีแม่เหล็กไฟฟ้าดั้งเดิมที่เสนอโดยฟาราเดย์และแมกซ์เวลส์นั้น สนามเป็นสภาพจริงทางฟิสิกส์ขั้นปฐมภูมิซึ่งอาจศึกษาได้โดยไม่จำเป็นต้องอิงอาศัยตัววัตถุสนามแม่เหล็กและไฟฟ้าสามารถเคลื่อนที่ผ่านอวกาศในรูปของวิทยุ คลื่นแสงหรือในรูปรังสีแม่เหล็กไฟฟ้าชนิดอื่น ทฤษฎีสัมพัทธภาพได้ตกแต่งโครงสร้างของวิชาพลศาสตร์ไฟฟ้า (electrodynamics) ให้สละสลวยยิ่งขึ้น โดยรวมเอาความคิดเรื่องประจุและกระแสไฟฟ้า สนามไฟฟ้า และสนามแม่เหล็ก เนื่องจากการเคลื่อนที่ทุกชนิดเป็นสิ่งสัมพัทธ์ประจุไฟฟ้าทุกตัวอาจปรากฏเป็นคลื่นไฟฟ้า ในกรอบอ้างอิงอันหนึ่งซึ่งเคลื่อนที่เมื่อเทียบกับผู้สังเกต และในทำนองเดียวกัน สนามไฟฟ้าของมันก็อาจปรากฏเป็นสนามแม่เหล็กได้เช่นกัน ดังนั้นในสูตรพลศาสตร์ไฟฟ้าเชิงสัมพัทธ์ สนามทั้งสองชนิดได้รวมตัวเป็นสนามแม่เหล็กไฟฟ้า ความคิดในเรื่องสนามมิได้เกี่ยวข้องกับแรงแม่เหล็กไฟฟ้าเท่านั้น หากยังสัมพันธ์กับแรงอันสำคัญในโลก นั่นคือแรงโน้มถ่วง สนามความโน้มถ่วงมีผลต่อวัตถุซึ่งทรงมวลทั้งหลายทุกชนิด โดยดึงดูดวัตถุนั้น โดยต่างจากสนามแม่เหล็กไฟฟ้าซึ่งมีผลต่อเฉพาะประจุไฟฟ้าและอาจเป็นแรงผลักหรือแรงดูดก็ได้ ทฤษฎีสนามซึ่งกล่าวถึงสนามความโน้มถ่วงได้อย่างถูกต้องที่สุดคือทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป และในทฤษฎีนี้มีการกล่าวถึงอิทธิพลของวัตถุซึ่งทรงมวล ต่อที่ว่างโดยรอบตัวของมันอย่างละเอียดลออ มากกว่าอิทธิพลของวัตถุซึ่งมีประจุในวิชาพลศาสตร์ไฟฟ้า อีกครั้งหนึ่งที่ที่ว่างรอบ ๆ วัตถุถูก “กำหนดสภาพ” ในลักษณะที่วัตถุอื่นจะรู้สึกถึงแรงของมัน ทว่าในครั้งนี้มีผลต่อโครงสร้างอวกาศ วัตถุและที่ว่าง สภาพซึ่งมีมวลสารและสภาพว่างเปล่า เป็นความคิดที่แตกต่างกันในระดับพื้นฐาน นักศึกษาเรื่องอะตอมอย่างเดโมคริตัสและนิวตันยืนยันเช่นนั้น ในทฤษฎีสัมพันธภาพทั่วไปความคิดทั้งสองประการนี้ไม่อาจแยกออกจากกันอีกต่อไป ที่ใดปรากฏวัตถุทรงมวล ณ ที่นั่นย่อมมีสนามความโค้งและสนามดังกล่าวแสดงตัวมันเองออกมาในรูปของการโค้งตัวในอวกาศหรือที่ว่างรอบ ๆวัตถุนั้น อย่างไรก็ตามใช่ว่าสนามนั้นแผ่คลุมทั่วที่ว่างและทำให้มัน ”โค้งตัว” ทั้งสนามและอวกาศที่โค้งไม่อาจแยกจากกัน สนามก็คืออวกาศที่ โค้งตัว ในทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปสนามความโน้มถ่วงและโครงสร้างหรือเรขาคณิตของอวกาศเป็นสิ่งเดียวกัน โดยที่มันถูกแทนด้วยปริมาณทางเรขาคณิตศาสตร์อันเดียวกันในสนามของไอน์สไตน์ ดังนั้นในทฤษฎีของไอน์สไตน์ สสารวัตถุไม่อาจแยกออกจากสนามความโน้มถ่วงของมัน และสนามความโน้มถ่วงไม่อาจแยกออกจากสนามที่โค้งตัวได้ สสารวัตถุและอวกาศจึงเป็นส่วนที่ไม่อาจแยกออกจากกันและต้องอิงอาศัยกัน
13.1 สนามของสสาร
สสารวัตถุไม่เพียงแต่กำหนดโครงสร้างของอวกาศรอบ ๆ ตัวมัน แต่ในทำนองเดียวกันมันถูกกำหนดโดยสภาพแวดล้อมของมันด้วย ตามแนวคิดของ (Ernst Mach) นักฟิสิกส์และนักปรัชญา ความเฉื่อยของวัตถุ ซึ่งก็คือความต้านทานของวัตถุต่อการถูกเร่งความเร็ว มิใช่คุณสมบัติภายในวัตถุเองหากแต่เป็นการวัดปฏิกิริยาของมันต่อสิ่งอื่น ๆ ในจักรวาล ในทัศนะของแม็กวัตถุมีความเฉื่อยเนื่องจากยังมีวัตถุอื่นในจักรวาล เมื่อวัตถุหมุนไป แรงเฉื่อยของก่อให้เกิดแรงหมุนเข้าสู่ศูนย์กลาง แต่แรงนี้จะปรากฏก็ต่อเมื่อวัตถุนั้นหมุนไป “โดยสัมพัทธ์กับดวงดาวซึ่งอยู่กับที่” ตามสำนวนของแมก ถ้าหากว่าดวงดาวเหล่านั้นหายวับไปในฉับพลัน แรงเฉื่อยและแรงสู่ศูนย์กลางของวัตถุซึ่งกำลังหมุนอยู่นั้นสลายไปด้วย ความคิดในเรื่องแรงเฉื่อยซึ่งเป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นหลักการของแมกได้มีอิทธิพลอย่างลึกซึ้งต่ออัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ และเป็นแรงกระตุ้นดั้งเดิมให้เขาสร้างทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปขึ้น แต่เนื่องจากความซับซ้อนของคณิตศาสตร์ปรากฏในทฤษฎีของไอน์สไตน์ นักฟิสิกส์ยังไม่แน่ใจว่ามันได้รวมเอาหลักการของแมกเข้าไปด้วยหรือไม่ อย่าไรก็ตาม นักฟิสิกส์ส่วนใหญ่เชื่อว่ามันควรจะรวมเอาเข้าไว้ด้วยไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เพื่อสร้างเป็นทฤษฎีของความโน้มถ่วงที่สมบูรณ์ ดังนั้นวิชาฟิสิกส์สมัยใหม่ได้แสดงให้เราเห็นอีกครั้งหนึ่งในระดับมหภาคว่าสสารวัตถุมิใช่สิ่งซึ่งแยกอยู่ต่างหาก แต่เป็นสิ่งที่ไม่อาจแยกออกจากสภาพแวดล้อมของมัน นั่นคือปฏิกิริยาดังกล่าวขยายออกไปสู่จักรวาลไปยังดวงดาวและดาราจักร ดังนั้นเราจะเข้าใจคุณสมบัติของมันได้ ก็แต่ในปฏิกิริยาของมันต่อสัดส่วนอื่น ๆ ของโลก ตามหลักการของแม็ก มิใช่แต่เฉพาะในโลกของวัตถุขนาดเล็ก แต่ยังปรากฏในโลกของวัตถุขนาดมหึมาด้วย เป็นข้อเท็จจริงซึ่งเป็นที่ยอมรับมากขึ้นในฟิสิกส์เกี่ยวกับดวงดาวและจักรวาลวิทยา เฟรด ฮอย์ล (Fred Hoyle) นักดาราศาสตร์ได้กล่าวว่า พัฒนาการในยุคปัจจุบันของจักรวาลวิทยาได้มาถึงจุดที่เสนออย่างค่อนข้างจะหนักแน่นว่า สภาพการณ์ต่าง ๆในประจำวันไม่อาจคงอยู่ได้หากไม่มีส่วนอื่นที่อยู่ไกลออกไปในจักรวาล ความคิดทั้งหมดของเราเกี่ยวกับอวกาศและเรขาคณิตจะกลายเป็นสิ่งที่ใช้ประโยชน์ไม่ได้เลยหากปราศจากส่วนอื่น ๆ ในจักรวาลที่ห่างออกไป ประสบการณ์ในชีวิตประจำวันของเรา กระทั่งในรายละเอียดต่าง ๆ ดูเสมือนจะถูกรวมเข้าไปในจักรวาลอันมหึมาอย่างใกล้ชิด จนกระทั่งไม่อาจจะพิจารณาทั้งสองส่วนแยกออกจากกัน เอกภาพและความประสานสัมพันธ์ระหว่างสสารวัตถุและสภาพแวดล้อมของมัน ซึ่งแสดงออกในระดับมหภาคในทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป ปรากฏในระดับอนุภาคที่เล็กกว่าอะตอมอย่างชัดเจนและน่าสนใจยิ่งกว่า ความคิดทฤษฎีสนามดั้งเดิมได้ถูกรวมเข้ากับทฤษฎีควอนตัมเพื่อที่จะอธิบายปฏิกิริยาระหว่างอนุภาคที่เล็กกว่าอะตอม การรวมกันของสองทฤษฎีเพื่อที่จะอธิบายปฏิกิริยาโน้มถ่วงยังไม่ปรากฏผลสำเร็จ เนื่องจากความซับซ้อนทางสมการคณิตศาสตร์ ของทฤษฎีความโน้มถ่วงของไอน์สไตน์ แต่ในแง่ของวิชาพลศาสตร์ไฟฟ้าได้รวมเข้ากับทฤษฎีควอนตัมเป็นทฤษฎีใหม่ที่เรียกว่า “ควอนตัมอิเล็กโตรไดนามิกส์” ซึ่งสามารถอธิบายปฏิกิริยาทางแม่เหล็กไฟฟ้าทั้งหมดระหว่างอนุภาคที่เล็กกว่าอะตอมได้เป็นอย่างดีนับเป็นแบบแผน “ควอนตัม-สัมพัทธ์” ของฟิสิกส์สมัยใหม่ชิ้นแรก และยังคงประสบผลสำเร็จเป็นอย่างมากเรื่อยมา ลักษณะใหม่และเป็นข้อเด่นของควอนตัมอิเล็กโตรไดนามิกส์เกิดจากการรวมของสองแนวคิด คือแนวคิดเรื่องสนามแม่เหล็กไฟฟ้าและความคิดเรื่องโฟตอนซึ่งเป็นปรากฏการณ์ในรูปของอนุภาคคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เนื่องจากโฟตอนเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าและคลื่นชนิดนี้เป็นสนามสั่นสะเทือน ดังนั้นโฟตอนต้องเป็นเครื่องแสดงความเป็นลักษณะสนามแม่เหล็กไฟฟ้าด้วย นี่คือความคิดเรื่อง “สนามควอนตัม” อันเป็นสนามซึ่งอาจปรากฏในรูปของควอนตาหรืออนุภาค ความคิดแนวนี้นับเป็นแนวคิดที่ใหม่จากเดิมอย่างสิ้นเชิง ได้ขยายขอบเขตเข้าไปอธิบายอนุภาคที่เล็กกว่าอะตอมทั้งหมดและปฏิกิริยาของมัน อนุภาคแต่ละชนิดเขื่อมโยงกับสนามแต่ละชนิด ใน “ทฤษฎีควอนตัม” นี้ความแตกต่างระหว่างอนุภาคซึ่งเป็นวัตถุแข็งกับที่ว่างรอบ ๆ ตัวของมันได้ถูกทำลายลง สนามควอนตัมได้กลายเป็นสิ่งพื้นฐานทางฟิสิกส์ เป็นมัชฌิมซึ่งต่อเนื่องกันตลอดทั่วทั้งอวกาศ อนุภาคเป็นเพียงสนามซึ่งมีความหนาแน่นมาก มีพลังเข้มข้นขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องชั่วครั้งชั่วคราวดังนั้นมันจึงสูญเสียลักษณะเฉพาะตัว และได้ละลายลงสู่สนามซึ่งเป็นพื้นฐานรองรับอยู่ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ กล่าวว่า ดังนั้นเราอาจกล่าวได้ว่า สสารวัตถุคืออวกาศบางส่วนซึ่งสนามมีความเข้มข้นสูงมาก…ไม่มีที่ว่างสำหรับทั้งสนามและสสารวัตถุพร้อมกันในฟิสิกส์อย่างใหม่นี้เนื่องจากสนามเท่านั้นที่เป็นสิ่งจริงแท้
13.2 สุญญตา
ความคิดที่ว่าสิ่งต่าง ๆ ปรากฏการณ์ทั้งหลายเป็นการปรากฏแสดงชั่วครั้งชั่วคราวของสิ่งพื้นฐานซึ่งรองรับอยู่นั้น มิใช่เป็นเพียงพื้นฐานทางของทฤษฎีสนามควอนตัมเท่านั้น แต่ยังเป็นประเด็นพื้นฐานของโลกทัศตะวันออกด้วย เช่นเดียวกับไอน์สไตน์ นักปราชญ์ของตะวันออกได้ถือเอาสิ่งพื้นฐานรองรับสิ่งทั้งหลายว่าเป็นความจริงเพียงประการเดียว ปรากฏการณ์ซึ่งปรากฏออกมามันเป็นเพียงสิ่งซึ่งดำรงชั่วครั้งชั่วคราวและเป็นสิ่งลวงตา สัจจะของศาสนาตะวันออกไม่อาจนำมาเปรียบเทียบสนามควอนตัมของนักฟิสิกส์ เนื่องจากสัจจะดังกล่าวเป็นแก่นแท้ของปรากฏการณ์ทั้งหลายในโลกนี้ ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่พ้นวิสัยทัศนะและความคิดเห็นทั้งมวล ในทางตรงกันข้าม สนามควอนตัมเป็นความคิดที่ชัดเจนซึ่งใช้ได้กับปรากฏการณ์ทางฟิสิกส์บางประการ อย่างไรก็ตาม ญาณทัศนะซึ่งอยู่เบื้องหลังการอธิบายโลกของอนุภาคซึ่งเล็กกว่าอะตอมของนักฟิสิกส์ คล้ายคลึงกับญาณทัศนะของนักปราชญ์ตะวันออกซึ่งอธิบายประสบการณ์การหยั่งรู้โลก โดยกล่าวถึงสัจจะสูงสุดอันเป็นพื้นฐานรองรับสรรพสิ่ง สืบเนื่องจากการเกิดขึ้นของความคิดเรื่องสนาม นักฟิสิกส์ได้พยายามที่จะรวมเอาสนามต่าง ๆ เข้าไว้ในพื้นฐานเดียวซึ่งอาจที่จะใช้ในการอธิบายปรากฏการณ์ทางฟิสิกส์ทุกอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งไอน์สไตน์ได้ใช้เวลาช่วงสุดท้ายของชีวิตในการค้นหาสนามชนิดดังกล่าว อาจจะถือได้ว่า พรหมัน ของฮินดู ธรรมกาย ของพุทธ และเต๋า ของผู้นับถึอเต๋า เป็นสนามแห่งเอกภาพอันสูงสุด ซึ่งก่อกำเนิดแก่ทุกปรากฏการณ์ ไม่เพียงแต่ปรากฏการณ์ที่ศึกษากันในวิชาฟิสิกส์เท่านั้น ในทัศนะของตะวันออก สัจจะซึ่งรองรับปรากฏการณ์ทั้งมวลนั้นอยู่พ้นวิสัยของรูปแบบ คำอธิบาย และการบ่งเฉพาะเจาะจงทุกชนิด ดังนั้นจึงมักกล่าวว่า มันไร้รูป ว่างเปล่า ทว่าความว่างเปล่านี้มิใช่ความไม่มีอะไร ตรงกันข้ามมันเป็นแก่นแท้ของรูปทั้งมวลและเป็นแหล่งกำเนิดของสรรพชีวิต ดังที่คัมภีร์อุปนิษัทกล่าวไว้ว่า พรหมันคือชีวิต พรหมันคือความร่าเริง พรหมันคือความว่าง… ความร่าเริงคือสิ่งเดียวกับความว่างอย่างแท้จริง ความว่างคือสิ่งเดียวกับความร่าเริงอย่างแท้จริง ชาวพุทธก็ได้เสนอทัศนะเดียวกันเมื่อกล่าวเรียกสัจธรรมสูงสุดว่า สุญตา “ความว่าง” และแสดงให้เห็นว่ามันเป็นความว่างซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของรูปทุกรูปในโลกแห่งปรากฏการณ์นี้ ผู้นับถือเต๋า ถือว่าเต๋าทรงสภาพเป็นอนันต์นิรันดร์เช่นเดียวกัน และเรียกมันว่า ความว่าง กวนจื้อ (Kua-tzu) กล่าวว่า “เต๋าแห่งสวรรค์ไร้รูปและว่างเปล่า” และเหล่าจื้อก็ได้แสดงอุปมาหลายประการเกี่ยวกับความว่างนี้ เหล่าจื้อมักจะเปรียบหุบเขาที่กว้างไพศาลนี้ หรือภาชนะซึ่งว่างเปล่าอยู่เสมอ และดังนั้นสามารถที่จะบรรจุสิ่งต่าง ๆ นับด้วยอนันต์ นักปราชญ์ตะวันออกได้อธิบายความหมายของ พรหมัน สุญญตา หรือ เต๋า ว่ามิได้หมายถึงความว่างเปล่าอย่างสามัญ แต่ตรงข้ามกัน มันเป็นความว่างเปล่าซึ่งทรงศักยภาพเป็นเอนกอนันต์ ดังนั้นความว่างในศาสนาตะวันออกจึงอาจนำมาเปรียบเทียบกับสนามควอนตัมในฟิสิกส์ที่ว่าดัวยอะตอม จากความว่างได้ก่อกำเนิดแก่รูปลักษณ์ทั้งหลาย ทำให้มันคงอยู่และในที่สุดก็ได้ดูดกลืนมันกลับไป ในคัมภีร์อุปนิษัทกล่าวไว้ว่า สงบ จงบูชามัน จากสิ่งนั้นที่เขามา สู่สิ่งนั้นที่เขาจักต้องมลายไป ด้วยสิ่งนั้นที่เขาหายใจ เช่นเดียวกับอนุภาคที่เล็กกว่าอะตอม ปรากฏการณ์ต่างๆ ที่ปรากฏขึ้นจากความว่างในทางศาสนามิใช่สิ่งซึ่งอยู่นิ่งและถาวร แต่มีลักษณะที่เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงและไม่คงตัว เกิดขึ้นและดับไปในการเริงรำอันเป็นนิรันดร์ของการเคลื่อนไหวและพลังงาน เช่นเดียวกับโลกของอนุภาคที่เล็กกว่าอะตอมของนักฟิสิกส์ โลกแห่งปรากฏการณ์ของศาสนาตะวันออกเป็นโลกแห่ง สังสารวัฏ แห่งการเกิดและตายเนื่องจากมีสภาพเป็นเพียงการปรากฏแสดงชั่วครั้งชั่วคราวของความว่าง สิ่งต่างๆ ในพิภพนี้จึงไม่มีเอกลักษณ์พื้นฐานใด ๆ ความคิดนี้เด่นชัดในพระพุทธศาสนาซึ่งปฏิเสธการดำรงอยู่อย่างแท้จริงของสสารวัตถุทั้งหลาย และสอนว่า “ตัวตน” ที่เที่ยงแท้และเป็นผู้รับรู้ประสบการณ์ต่างๆ ของชีวิตนั้นเป็นเพียงภาพลวง ชาวพุทธมักจะเปรียบเทียบภาพลวงตาของสสารวัตถุและตัวปัจเจกบุคคลกับปรากฏการณ์ของคลื่นน้ำ ซึ่งการเคลื่อนที่ขึ้น-ลงของอนุภาคของน้ำทำให้เราเชื่อว่า “ส่วน” ของน้ำเคลื่อนที่ไปตามพื้นผิว น่าสนใจที่ว่านักฟิสิกส์ก็ได้ใช้อุปมาเดียวกันในเรื่องของทฤษฎีสนาม เพื่อชี้ให้เห็นภาพลวงของสสารวัตถุที่กำเนิดจากอนุภาคกำลังเคลื่อนไหวดังที่เฮอร์แมนน์ วีลย์ (Hermann Weyl) กล่าวไว้ว่า ตามทฤษฎีสนามของสสารวัตถุ อนุภาคเช่นอิเล็กตรอนเป็นเพียงขอบเล็กๆ ของสนามไฟฟ้า ซึ่งความเข้มข้นของสนามในบริเวณนั้นมีมาก นั่นแสดงว่าพลังงานของสนามในปริมาณสูงมากเมื่อเทียบกับส่วนอื่นๆ ได้มารวมตัวกันในบริเวณที่เล็กมากๆ ปมพลังงานดังกล่าวซึ่งเป็นภาพที่ต่างจากสนามส่วนอื่นๆ ได้แผ่กระจายผ่านอวกาศที่ว่างเปล่า เช่นเดียวกับคลื่นน้ำกระเพื่อมไปบนผิวของสระ ไม่มีสิ่งๆ เดียวซึ่งยืนพื้นเป็นองค์ประกอบของอิเล็กตรอนตลอดเวลา
13.3 ฉี้
ในปรัชญาจีน ความคิดเรื่องสนามมิใช่แต่ปรากฏโดยนัยในความคิดเรื่องเต๋าซึ่งเป็นความว่างซึ่งไร้รูป แต่เป็นแหล่งกำเนิดของรูปลักษณ์ต่าง ๆ ทั้งยังได้แสดงออกอย่างชัดเจนในความคิดเรื่อง ฉี้ (Ch’i) คำคำนี้มีบทบาทสำคัญในทุกสำนักปรัชญาธรรมชาติของจีน และมีความสำคัญอย่างยิ่งในลัทธิขงจื้อแนวใหม่ (Neo-Confucianism) ซึ่งพยายามสังเคราะห์ลัทธิขงจื้อ พุทธศาสนา และลัทธิเต๋าเข้าด้วยกัน คำว่า ฉี้ ตามตัวอักษรแปลว่า “ก๊าซ” หรือ “อีเทอร์” ในสมัยโบราณใช้คำนี้เพื่อแทนลมหายใจหรือพลังงานแห่งเอกภาพ ในร่างกายมนุษย์ “หนทางของขงจื้อ” เป็นรากฐานของการแพทย์จีนโบราณ การฝังเข็มก็มุ่งหมายเพื่อให้กระตุ้นให้ฉี้สามารถไหลผ่านบริเวณดังกล่าว การเลื่อนไหลของฉี้เป็นรากฐานแห่งการเคลื่อนไหวอย่างเลื่อนไหลต่อเนื่องของมวยไท้จินฉวนลัทธิขงจื้อแนวใหม่ได้พัฒนาความคิดเรื่องฉี้ซึ่งคล้ายคลึงกันอย่างน่าสนใจกับความคิดเรื่องควอนตัมในวิชาฟิสิกส์สมัยใหม่ เช่นเดียวกับวิชาฟิสิกส์สมัยใหม่ฉี้เป็นรูปของสสารซึ่งบางเบาและไม่อาจเห็นได้ ทว่าปรากฏทั่วไปในอวกาศ เมื่อฉี้รวบรวมกันเข้า มันก็เป็นสิ่งที่แลเห็นได้ชัดเจนเป็นรูปร่าง (ของแต่ละสิ่ง) แต่เมื่อมันกระจัดกระจายออกไป ก็ไม่อาจแลเห็นมันได้และรูปร่างของมันก็ไม่อาจปรากฏ เมื่อมันรวบรวมกันเข้า เราจะกล่าวเป็นอย่างอื่นนอกจากว่ามันเป็นสิ่งซึ่งปรากฏชั่วครั้งชั่วคราวได้หรือ แต่ในขณะซึ่งมันกระจัดกระจายกันออกไปเรานะรีบกล่าวในทันทีได้หรือว่ามันไม่มีอยู่ ดังนั้นจึงรวบรวมเข้าและกระจัดกระจายออกสลับกันไป ก่อกำเนิดแก่รูปทั้งมวล ซึ่งในที่สุดก็มลายไปสู่ความว่าง จังไซกล่าวว่า ความว่างอันมหึมานั้นย่อมประกอบด้วยฉี้ ฉี้ย่อมรวบรวมหนาแน่นเข้าก่อตัวเป็นสรรพสิ่ง และสรรพสิ่งย่อมกระจัดกระจายออกเพื่อกลับสู่ความว่างอันมหึมา (อีกครั้ง) เช่นเดียวทฤษฎีสนามควอนตัม สนามหรือฉี้มิใช่เป็นเพียงแก่นแท้ซึ่งรองรับสรรพสิ่งเท่านั้น แต่ยังเป็นพาหะแห่งปฏิกิริยาของสิ่งต่างๆ ในรูปของคลื่นคำอธิบายต่อไปนี้เกี่ยวกับความคิดเรื่องสนามของฟิสิกส์สมัยใหม่โดยวอลเตอร์ เฮอร์ริง และทัศนะของจีนต่อโลกของกายภาพโดยโจเซฟ นีคแฮม ได้แสดงให้เห็นความคล้ายคลึงกันอย่างมาก ทฤษฎีของวิชาฟิสิกส์สมัยใหม่ ได้นำความคิดของเราเกี่ยวกับแก่นแท้ของสสารวัตถุไปสู่ขอบเขตที่ต่างไปจากเดิม มันได้นำเราจากสิ่งที่เห็นได้คือ อนุภาค ไปสู่สิ่งที่รองรับมันอยู่คือ สนาม การปรากฏของวัตถุเป็นเพียงการรบกวนต่อสภาพที่สมบูรณ์ของสนาม ณ ที่แห่งนั้น เป็นสิ่งที่เกิดโดยไม่คาดฝัน เราอาจจะกล่าวได้ว่าเป็นเพียง “มลทิน” อันหนึ่งของสนาม และไม่มีกฎเกณฑ์ง่าย ๆ ที่อธิบายแรงกระทำระหว่างอนุภาคพื้นฐาน…ระเบียบและสมมาตรพึงหาได้จากสนามซึ่งรับมันอยู่ จักรวาลทางกายภาพของชาวจีนในสมัยโบราณและสมัยกลางเป็นสภาพหนึ่งเดียวซึ่งมีความต่อเนื่องอย่างสมบูรณ์ การที่ฉี้หนาแน่นเข้าปรากฏเป็นสสารวัตถุประกอบด้วยอะตอมซึ่งไม่อาจแลเห็นได้ มิใช่สิ่งสำคัญพิเศษแต่อย่างใด แต่วัตถุแต่ละชิ้นกระทำและถูกกระทำกับวัตถุอื่นในโลก…ในลักษณะคล้ายคลื่นหรือการสั่นสะเทือน ขึ้นอยู่กับจังหวะการเปลี่ยนแปลงสลับไปมาในทุกระดับของแรงพื้นฐานสองประการหยินและหยัง วัตถุแต่ละชิ้นจึงมีจังหวะภายในตัวของมัน และจังหวะเหล่านี้ได้ถูกรวมกันเข้า…เป็นแบบแผนทั่วไปแห่งการบรรหารสอดคล้องของโลกพิภพ
คัดลอกจาก ::
http://www.rit.ac.th/homepage-sc/charud/scibook/tao%20of%20physics