โดย
วิศิษฐ์ วังวิญญูหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 4 ธันวาคม 2553
ในทุก ๆ ศิลปะว่าด้วยตัวตนกับการภาวนา ทุกสำนักจะพูดถึงจิตประภัสสรหรือจิตทั้งหมดอันเป็นองค์รวมกับจิตเสี้ยว จิตเสี้ยวเป็นเพียงบางเสี้ยวส่วนของจิตทั้งหมด บางทีมันอาจจะหดตัวด้วยอาการถูกกระทำมาในอดีต มันตกไปอยู่ในโหมดปกป้องในยามที่ยังปกป้องตัวเองไม่ได้ในวัยเด็ก มันกลายมาเป็นประวัติบุคคล ที่ดอนฮวน พ่อมดเม็กซิกันแนะนำให้เราลบออกไป รวมถึง ดร.ฮิว เลน แห่ง ฮูปโปโนโปโน ที่นำเสนอวิธีการชะล้างความขุ่นมัวเช่นนี้ออกไปเช่นกัน เหมือนว่าเรามีธรรมชาติเดิมแท้ หรือในพุทธศาสนานิกายเซนใช้คำว่าจิตเดิมแท้อยู่แล้วในส่วนในลึกของเรา ใสสะอาด พร้อมมูลด้วยศักยภาพทั้งหมดทั้งมวล เพียงเราลบความขุ่นมัวออกไป เราก็สามารถเข้าถึงจิตที่ใสพิสุทธิ์นี้
ใน วอยซ์ไดอะล็อค ของ ดร.ฮัล กับ ดร.ซิดรา สโตน สามีภรรยา (คำว่าวอยซ์ไดอะล็อคนี้ เพื่อนผมคนหนึ่ง คือ สมพล ชัยสิริโรจน์ แปลว่า การสนทนากับตัวตนภายใน สมพลเป็นผู้นำองค์ความรู้นี้มาให้ผมได้ศึกษาเล่าเรียนด้วย) กล่าวว่า จิตทั้งหมดคือตัวเรา จิตเสี้ยวได้แบ่งออกไปเป็นตัวตนต่างๆ หลายๆ ตัว และหลายตัวอาจจะก่อเกิดขึ้นมาจากบาดแผลหรือปมในอดีต สโตนสามีภรรยากล่าวว่าตัวตนแต่และตัวมีคู่ตรงกันข้าม เช่นเดียวกับหยินหยาง (ที่จริง คาร์ล จุง ครูของพวกเขาก็เริ่มศึกษาตะวันออก และหลอมรวมองค์ความรู้ตะวันออกเข้ามาในจิตวิทยาบ้างแล้ว) เมื่อเราเข้าไปโอบกอดตัวตนใดตัวตนหนึ่งด้วยความรุนแรง เราก็มักจะเหวี่ยงทิ้งคู่ของมันไป ด้วยอาการเช่นนี้แหละที่เราเริ่มลดทอนจิตของเราให้เหลือเป็นเสี้ยวส่วน และสูญเสียความเป็นองค์รวมไป
ตัวตน อัตลักษณ์หรือความรู้เท่าทันอดัม เคิล เขียนไว้ใน Education for Liberation หรือ การศึกษาเพื่อความเป็นไท ว่า ตัวตนมีสามระดับ โดยร้อยเรียงเชื่อมโยงกับอัตลักษณ์ความรู้เท่าทัน ขั้นแรกคือระดับความรู้เท่าทันที่อ่อนที่สุด (ความรู้เท่าทันนี้ เขาใช้คำว่า awareness และใช้ identity สำหรับคำว่าอัตลักษณ์) ในระดับแรกนี้ อัตลักษณ์ไม่ปรากฏชัดเจน คือมีพฤติกรรมอารมณ์เปลี่ยนไปมาอย่างไม่รู้เท่าทันตัวเอง อีกนัยหนึ่งอาจเป็นพฤติกรรมแบบมีชีวิตเป็นไปอย่างเป็นปฏิกิริยา (reactionary) มากกว่าจะเป็นตัวของตัวเอง คนพวกนี้มีมากในผู้ไร้การศึกษา โดยเฉพาะสำหรับการศึกษาในความหมายที่แท้ คำว่าเปลี่ยนไปมา อาจจะหมายถึงการมีตัวตนหลายตัว ที่ดูเหมือนไม่เชื่อมโยงกัน และตัวตนเหล่านั้น ปรากฏขึ้นมาอย่างเป็นปฏิกิริยากับเหตุการณ์มากกว่าที่จะมีมาจากความรู้ความเข้าใจความเป็นตัวตนของตน หรืออีกนัยหนึ่งก็คือมีความรู้เท่าทันน้อย
อัตลักษณ์แบบครอบครองตัวตนระดับที่สองในทัศนะของ อดัม เคิล คืออัตลักษณ์แบบครอบครอง ในระดับนี้ คนจะเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับสังกัดและสิ่งที่ตัวเองครอบครอง สังกัดอย่างเช่นจบจากโรงเรียนเตรียมอุดม จบจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อ และทำงานในองค์กรซึ่งเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป ส่วนสิ่งที่ตัวเองครอบครองอย่างเช่น นั่งรถหรูยี่ห้อดัง มีบ้านใหญ่โต มีลูกชายหญิงที่เข้ามหาวิทยาลัยดีๆ ในชั้นนี้จะมีความรู้เท่าทันสูงขึ้น อย่างน้อยมากกว่าระดับแรก แต่ยังยึดติดในภาพลักษณ์หรืออัตลักษณ์ที่ตัวเองสังกัดหรือครอบครองนั้นๆ และหากประสบเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ก็อาจจะหล่นไปอยู่ในระดับแรกได้เช่นกัน คือเสียศูนย์ไปเลย ในห้วงเวลาเช่นนั้น โกรธ โลภ หลง อาจจะเป็นยักษ์มารที่มาปรากฏให้เห็นก็เป็นได้
ที่จริงอัตลักษณ์ระดับที่สองนี้ คนเรามักจะใช้ชีวิตเป็นไปตามเสียงของสังคม หากไม่ได้รับฟังเสียงด้านในที่อยู่ลึกลงไป เขาหรือเธออาจจะมีชีวิตที่ประสบความสำเร็จตามเสียงของสังคม แต่ก็ปราศจากแรงบันดาลใจ และแรงขับส่วนใหญ่เป็นไปเพื่อปกป้องสถานภาพที่เป็นอยู่ มากกว่าที่จะขับเคลื่อนชีวิตไปด้วยปัญญาและแรงบันดาลใจอย่างแท้จริง ชีวิตจึงมักจะเป็นไปอย่างแห้งแล้งน่าเบื่อหน่าย ความคิดก็มักจะย่ำซ้ำซากอยู่ในกรอบเดิมๆ อยู่กับตำรับตำราที่เรียนมาเมื่อหลายปีหรือหลายสิบปีที่แล้ว
อัตลักษณ์แบบนี้ จะมีบุคลิกภาพมั่นคงกว่าแบบที่หนึ่งซึ่งความเป็นตัวตนหรืออัตลักษณ์ยังเป็นวุ้นอยู่ แต่แบบที่สองจะมีวินัยมากกว่า เพราะต้องฝึกฝืนตัวเองให้สามารถทำตามความสำเร็จที่สังคมวางกรอบไว้ให้ แต่กระนั้นก็ยังเป็นผู้เลือกใช้คู่ของตัวตนแต่เพียงบางด้าน และอาจเลือกขึ้นมาเพราะถูกกระทำในวัยเด็กจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของพ่อแม่ได้เช่นกัน การเลือกส่วนใหญ่ก็มาจากปมทางจิตวิทยาที่ถ่ายทอดมาในตระกูลในวัฒนธรรมได้เช่นเดียวกัน การเลือกใช้เพียงหนึ่งในตัวตนที่มีมาเป็นคู่ของมันนั้น ทำให้จิตลดทอนลงเป็นเสี้ยว และพอมีตัวตนหลักๆ ที่เป็นเสี้ยวเหล่านี้ พวกเขาก็นำพาตัวเองไปสู่สิ่งที่คิดว่าสำเร็จได้ แล้วติดแหง็กอยู่ในความเป็นเสี้ยวของจิตเท่านั้นเอง ยังไม่มีโอกาสประสบพบพานจิตอันบริบูรณ์
อัตลักษณ์แบบรู้เท่าทันอัตลักษณ์แบบรู้เท่าทันนั้นเป็นเป้าหมายที่ อดัม เคิล ตั้งไว้เป็นอุดมคติ แต่ใช้คำว่าอัตลักษณ์เป็นบาทฐาน ที่จริงอัตลักษณ์แบบนี้เริ่มหลุดออกจากอัตลักษณ์ไปแล้ว น่าจะเป็นมนุษย์พันหน้าอย่างที่เคยได้ยินมาจากที่ไหนสักแห่ง แต่จำไม่ได้แล้ว มีคนเคยถาม เจมมี่ แพนกายา ศิษย์ของ ดร.สโตน สามีภรรยาว่า ในวอยซ์ไดอะล็อคมีตัวตนทั้งหมดอยู่กี่ตัว เจมมี่ตอบว่ามีอยู่พันล้านตัว คือเราเป็นทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นไปได้ในโลกนี้ หรือว่าเราเป็นจักรวาล เราคือความเป็นไปได้ทั้งหมดอย่างไม่จำกัดด้วยอะไรเลย ในวอยซ์ไดอะล็อคนั้น ความรู้เท่าทันที่พัฒนาขึ้นมาตามลำดับนั้นได้ทำให้เราหลุดออกจากกรงขังของอดีต ความคุ้นชิน ความเป็นอัตโนมัติที่หลับใหล เป็นเพียงเสี้ยวของจิต แล้วออกไปสู่อิสรภาพ สู่ความเป็นไปได้ เราสามารถปลดตัวเองจากประวัติส่วนตัว ปลดตัวเองจากปัญญาแห่งความรู้ เข้าสู่สายธารแห่งความไม่รู้ เข้าสู่ปัญญาแห่งความไม่รู้ที่จางจื้อพูดไว้ในหนังสือ มนุษย์ที่แท้
ญาณทัศนะ นิพพาน และปัญญาแห่งความไม่รู้
"ต้อง" เด็กหนุ่มที่มาเรียนปริญญาตรีทางเลือกกับอาศรมหิ่งห้อย กำลังอ่าน เต๋าแห่งฟิสิกส์ ของ ฟริตจอป คราปา ฉบับแปล (ซึ่งดูเหมือนว่าจะไม่มีการตีพิมพ์มานานแล้ว) เขาสนุกมากกับบทหลังๆ เขาบอกว่าเข้าใจคำว่าญาณทัศนะมากขึ้นจากคำอธิบายของคราปา แล้วเขาถามว่าจะมีท่าทีอย่างไรดีกับคำว่านิพพาน ผมว่าเมืองไทยนี้โชคดี ที่เรามีคนอย่างท่านพุทธทาส ให้เรียนรู้จากท่านพุทธทาสที่กล่าวว่า นิพพานแปลว่าดับ เย็น เวลาไฟที่ลุกโชนดับลง มันก็เย็น จิตที่มันดับและเย็นลงมันสบาย มันไม่ต้องเรื่องมาก ดับเมื่อไรก็เย็นเมื่อนั้น ดับเย็นเล็กๆ ในชีวิตประจำวันนี้แหละใช้ได้ ท่านกล่าวถึงคำว่านิพพานน้อยๆ เราดับเย็นน้อยๆ ได้ตลอดเวลา ที่นี่เดี๋ยวนี้เอง
ทุกครั้งที่มีญาณทัศนะ มันจะหลุดไปเปลาะหนึ่งๆ มันจะดับเย็นไปครั้งหนึ่งๆ เป็นเช่นนี้เรื่อยไป เข้าถึงจิตอันบริบูรณ์ทุกทีไป เป็นสุดยอดฆราวาสธรรมแล้ว มันหลุดออกจากกรงขังแห่งจิตเสี้ยว จากตัวตนหรือบุคลิกที่จิตสร้างขึ้นมาเป็นกลไกปกป้องตัวเอง เป็นโหมดปกป้อง เป็นปม เป็นบาดแผล แล้วไปยึดเอาปัญญาแห่งความรู้มาเป็นพวก ทำให้ปัญญาไปรับใช้เป้าหมายอันต่ำทราม และความรู้ก็เป็นเสี้ยวส่วน เหมือนจะใช่แต่ไม่ใช่ แค่คลาดไปก็เป็นอวิชชาแล้ว เราต้องก้าวล่วงไปสู่ปัญญาแห่งความไม่รู้
ดังกฤษณมูรติมีหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า Freedom from the Known คือเราต้องเป็นอิสระมาจากสิ่งที่รู้หรือปัญญาแห่งความรู้
วันศุกร์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2553 at ที่
12:00 by knoom
ป้ายกำกับ: บทความมติชน, วิศิษฐ์ วังวิญญู | 0 ความคิดเห็น
http://jitwiwat.blogspot.com/