ชื่อยาต้านไวรัสเอดส์อย่างซีโดวูดีน หรือเรียกสั้น ๆ ว่า เอแซดที และ จีพีโอเวียร์ เป็นที่รู้จักในสังคมไทยมาระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งยานี้คิดค้นและผลิตโดยเภสัชกรไทย ขายโดยองค์การเภสัชกรรมของไทย ทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการซื้อยาจากต่างชาติได้ถึง 26 เท่า โดยบุคคลที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จนี้ เมื่อหลายปีก่อนได้เดินทางไปถ่ายทอดการผลิตยาในหลายประเทศในทวีปแอฟริกา จนได้รับฉายา "เภสัชกรยิปซี"
เจ้าของฉายา "เภสัชกรยิปซี" คนที่ว่านี้ ก็คือ "ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์" ซึ่งล่าสุดได้รับรางวัล "บุคคลแห่งปีของเอเชีย ประจำปี ค.ศ. 2008" จากนิตยสารรีดเดอร์ส ไดเจสท์ ในฐานะที่เป็นบุคคลที่ทุ่มเททำงานอย่างมิรู้จักเหน็ดเหนื่อย เพื่อผลักดันให้ผู้ป่วยยากไร้ทั่วโลกมีโอกาสได้ใช้ยารักษาโรคเอดส์
เปิดฉากบทสนทนากับทีม "วิถีชีวิต" ถึงเหตุผลการลาออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา องค์การเภสัชกรรม ของ ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ เมื่อ พ.ศ. 2545 เจ้าตัวบอกว่า ก็เพื่อไปช่วยคนที่แอฟริกาตามสัญญา เพราะประเทศไทยไปประกาศในที่ประชุมองค์การอนามัยโลก เมื่อ พ.ศ. 2545 ว่าเราจะไปช่วยเขา แต่นักการเมืองซีกรัฐบาลที่เกี่ยวข้องตอนนั้นประกาศเสร็จแล้วก็แล้วไป กลายเป็นสัญญาปากเปล่า ทีนี้คนแอฟริกันที่รู้จักกันเขาก็ถามว่าเมื่อไหร่จะไปสักที ก็รู้สึกอายแทนเมืองไทย ก็เลยลา ออกดีกว่า แล้วก็ไปช่วยเขาเอง
"ในประเทศไทยผู้ป่วยโรคเอดส์เยอะแยะ แต่เราก็ช่วยแล้ว ทำยาแล้ว และคนไทยได้ใช้กันหมดแล้ว เราก็เลยไป และคิดว่าตัวเองมีความหมายกับที่อื่นมากกว่า เขาต้องการเรามากกว่า ไปเพราะว่าอยากไป และชอบทวีปนั้นมาตั้งแต่เรียนหนังสือที่อังกฤษแล้ว มีเพื่อนชาวแอฟริกันเยอะ รูมเมท (เพื่อนร่วมห้อง) เป็นทั้งชาวไนจีเรีย และอาหรับ ก็รู้สึกมีความผูกพันกับพวกเขา"
ดร.กฤษณาบอกต่อไปว่า ที่ไปก็เป็นการไปตามสัญญา ไปรักษาสัญญา เพราะว่าเป็นคนเขียนโครงการนี้ขึ้นมากับมือ แล้วเสนอขึ้นไปตามลำดับงาน ก็มีการไปประกาศในที่ประชุมองค์การอนามัยโลก ทุกคนก็ชื่นชมตบมือกันใหญ่ แต่เอาเข้าจริงคนพูดก็พูดไป แต่ตนเป็นคนทำ จึงรู้สึกว่าต้องรับผิดชอบ และก็เต็มใจที่จะไป ส่วนงานที่องค์การเภสัชกรรมนั้นไม่ห่วง เพราะมีคนพร้อมที่จะสานต่อได้อย่างดี โดยเฉพาะเรื่องยาต้านไวรัสเอดส์
"ไม่ได้ยึดติดกับตำแหน่ง กับเงินเดือน โชคดีที่ไม่ได้ยากจนเท่าไหร่ ก็สบาย จึงใช้เงินตัวเองไปได้ อีกอย่างมันอยู่ที่ใจ ถ้าคิดว่าพอ เราก็ไม่จำเป็นจะต้องใช้อะไรมากมาย"
อดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา องค์ การเภสัชกรรม บอกอีกว่า ที่เลือกประเทศในทวีปแอฟริกา เพราะเขายังมีปัญหาเรื่องผู้นำ ประชาชนยากจน และประเทศมหาอำนาจเอาทรัพยากรไปหมด ทำให้ด้อยโอกาส ไม่มีจะกิน มีโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ทั้งเอดส์ มาลาเรีย วัณโรค
ในโลกนี้มีคนติดเชื้อเอดส์อยู่ 38 ล้านคน อยู่ที่ทวีปนี้ 30 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 90 และแต่ละปีคนตายเพราะมาลาเรีย 2 ล้านคน ตายมากกว่าโรคเอดส์ 2 เท่า ก็มองว่าถ้าไปอยู่ตรงนั้น น่าจะช่วยเขาได้มาก
ประเทศแรกในดินแดนกาฬทวีปที่ ดร.กฤษณาได้เดินทางไปคือ คองโก ประเทศที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ อย่างเพชร แทนทาลัม น้ำมัน ฯลฯ แต่ประชากรยากจนที่สุด เพราะถูกประเทศมหาอำนาจเอารัด เอาเปรียบ และมีการสู้รบในประเทศตลอดเวลา
สิ่งที่ไปทำคือไปสร้างโรงงานยา ไปวาดแผนผังโรงงานยา และสอนผลิตยา จนเขาผลิตยาได้ สูตรยาที่ใช้ในทุกประเทศทวีปแอฟริกา คือสูตรเดียวกับในเมืองไทย แต่ต่างกันก็ที่วัตถุดิบ ซึ่ง ดร.กฤษณายังได้ไปลองที่ประเทศจีนอีกด้วย ซึ่งราคาถูกกว่าของประเทศไทยมากทีเดียว
ดร.กฤษณาบอกว่า ไปช่วยคราวนั้น ค่าเดินทาง ค่าที่พัก และ อื่น ๆ ใช้ทุนส่วนตัวทั้งหมด เริ่มต้นที่เจ้าของโรงงานยาในคองโกติดต่อมา เพราะอ่านเรื่องราวของตนและยาต้านไวรัสเอดส์ในนิตยสารภาษาเยอรมัน และเห็นว่ายานี้ดี ก็ติดต่อตนขอให้ไปพบที่เมืองเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ โดยเจ้าของโรงงานบอกว่าจะช่วยพนักงานของเขาฟรี และช่วยคนพื้นเมือง ซึ่งก็เห็นว่าเขาจะช่วยฟรี ก็เลยไป ตอนแรกก็ไม่มีใครช่วยเหลือ แต่พอผ่านไปหนึ่งปี รัฐบาลเยอรมันก็เข้ามาช่วยเหลือโรงงานในการซื้อเครื่องจักรต่าง ๆ
"อยู่ที่คองโก 3 ปี ตรงนั้นรบกันตลอด เรื่องความปลอดภัยไม่มี บางทีเข้าประเทศนั้นไปทำงานแต่ตกเย็นมานอนอีกประเทศหนึ่ง และเราก็ไม่รู้ว่าใครจะยิงเราเมื่อไหร่ ช่วงแรกมีคนคุ้มกันตลอด แต่ตอนหลังไม่มี เพราะถ้ามีมากจะยิ่งกลายเป็นเป้า เรียกว่าตื่นเต้นจนไม่ตื่นเต้นแล้ว และเคยถูกจี้ตอนลงจากรถที่ประเทศไนจีเรีย ซึ่งไปทำโครงการให้สหภาพยุโรป (อียู) พอตอนหลังก็เฉย ๆ แล้ว คนที่จี้เขาต้องการเงินเท่านั้น ไม่ได้ต้องการชีวิต แต่ที่ประเทศอื่นอาจจะต้องการชีวิตก็ได้ ไม่รู้นะ เพราะว่าเราเป็นคนต่างชาติเข้าไปที่นั่น ที่นั่นไม่มีนักท่องเที่ยวเลย เพราะมันอันตรายมาก"
ช่วงเวลาประมาณ 5 ปี ดร.กฤษณาเดินทางไปทั่วทวีปแอฟริกา เพื่อช่วยการสร้างโรงงานผลิตยา สอนวิธีการผลิตยาต้านไวรัสเอดส์ จนสามารถผลิตยา "แอฟริเวียร์" ในคองโกได้สำเร็จ และยารักษามาลาเรีย "ไทยแทนซูเนท" ยาเหน็บทวาร "อาร์เตซูเนท" เพื่อรักษาโรคมาลาเรีย ในเด็ก ในประเทศแทนซาเนีย รวมถึงฟื้นฟูโรงงานยาในประเทศมาลีซึ่งใกล้ปิดกิจการได้สำเร็จ ผลิตยารักษามาลาเรียระดับอุตสาหกรรมได้ ซึ่งทำให้กว่า 10 ประเทศในแอฟริกา อาทิ อิริคเทอร์เรีย เบนิน รวันดา บุรุนดี ไลบีเรีย ได้รับอานิสงส์มากมาย
เหล่านี้เกิดจากพันธสัญญาที่เคยมีการประกาศไว้ในนามประเทศไทย บวกกับแรงบันดาลใจที่สมัยเรียนที่อังกฤษ ดร.กฤษณามีเพื่อนร่วมห้องเป็นชาวแอฟริกัน และทวีปนี้ก็ธรรมชาติสวยงาม ทุกอย่างจึงลงตัว
ตัดกลับมาที่ประวัติส่วนตัวของเภสัชกรไทยผู้นี้ ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ เป็นชาว อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ปัจจุบันอายุ 55 ปี เรียนจบคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ไม่ได้จบแพทย์ก็ด้วยเหตุผลที่ว่าคะแนนไม่ถึงคณะแพทยศาสตร์ ขาดไปเพียง 1 คะแนนเท่านั้น
ส่วนปริญญาโท จบสาขาเภสัชวิเคราะห์ มหาวิทยาลัยสตราห์ ไคลด์ และปริญญาเอก สาขาเภสัชเคมี มหาวิทยาลัยบาธ ประเทศอังกฤษ จากนั้นรับตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาเภสัชเคมี ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 2 ปี ก่อนที่จะลาออกเพื่อทำงานที่องค์การเภสัชกรรม เมื่อปี พ.ศ. 2532 และได้รับเลือกเป็นผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา ด้วยอายุเพียง 37 ปี
"จริง ๆ แล้วชอบศิลปะมาก อยากเป็นวาทยกร เพราะชอบ ดนตรี ชอบศิลปะ แต่งกลอน เขียนหนังสือ แต่พ่อแม่เป็นหมอเป็นพยาบาล หากจะเลือกเรียนศิลปะก็รู้สึกยังไง ๆ อยู่ ใจจริงอยากเป็นคนคุมวงดนตรีมากกว่าเป็นเภสัชกร เพราะมันสนุกดี ได้คุมจังหวะ แต่ตอนนี้เราก็เหมือนกับคอนดักเตอร์น่ะแหละ เพราะเราไปคุมให้เขาสร้างโรงงาน ให้เขาผลิตยา ก็พยายามปลอบใจตัวเอง เมื่อเราไม่ได้เป็นในสิ่งที่เราอยากจะเป็น เราก็ต้องชอบสิ่งที่เรามีอยู่ ต้องทำให้ดีที่สุด"
ดร.กฤษณาบอกอีกว่า เมื่อมีเวลาก็จะฟังดนตรีของทุกประเทศ อย่างเอธิโอเปีย มาเลเซีย อารบิก เพลงไทย ฟังหมด นอกจากนี้สมัยอยู่โรงเรียนราชินีก็ได้เข้าร่วมวงดนตรีไทย เล่นระนาดเอกอยู่ถึง 6 ปี ซึ่งทำให้ชอบดนตรี เมื่อไม่ได้ประกอบอาชีพทางด้านนี้แล้ว ก็ไม่ได้เสียใจอะไร ทำอาชีพไหน ก็ต้องทำให้ดีที่สุด
นอกจากแอฟริกา ดร.กฤษณายังเป็นศาสตราจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัยฮาบิน ประเทศจีน สอนวิชาสร้างโรงงาน สอนวิชาเครื่องมือ เพราะประเทศจีนกำลังจะสร้างโรงงานสมุนไพรเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง ซึ่งก็ได้ไปช่วยเพิ่มเติมหลายอย่างให้ที่นั่น โดยสิ่งที่ไปช่วยนอกประเทศก็คือสิ่งที่เมืองไทยทำเสร็จหมดแล้ว
"อย่าเพิ่งท้อแท้ ท้อถอย ไม่ว่ากับเรื่องอะไร ขอให้อดทน เรื่อง การเมืองก็อย่าไปอินกับสถานการณ์การเมืองมากนัก อย่าเอามาเป็นทุกข์ เพราะเราทำอะไรไม่ได้ ทำหน้าที่แค่เป็นประชาชนที่ดีก็พอแล้ว"...เป็น คำทิ้งท้ายฝากถึงเพื่อนคนไทย ก่อนจะปิดฉากบทสนทนา ของ "ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์"
"เภสัชกรยิปซี" เลือดไทยแท้ !!.
รางวัลแห่งความภูมิใจกว่า 30 ปีแห่งการเรียนรู้ การทำงาน รวมถึงการอุทิศชีวิตให้กับสังคม ทำให้ ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ ได้รับรางวัลมากมาย อาทิ รางวัลนักวิทยาศาสตร์โลก (Global Scientist Award) ประจำปี พ.ศ. 2547 จาก Letten Foundation ประเทศนอร์เวย์, ผู้หญิงคนแรกที่ได้รับปริญญาเอกกิตติมศักดิ์ สาขาวิทยาศาสตร์ จาก Mauny Holly Oke College, USA รวมถึงปริญญากิตติมศักดิ์อีกไม่รู้กี่ใบต่อกี่ใบ
เรื่องราวของ ดร.กฤษณา ได้รับความสนใจจากสื่อต่างประเทศ จนถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์สารคดี ความยาว 45 นาที เรื่อง A Right to Live-AIDS medication for Millions (2006) ได้รับรางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ และยังถูกนำไปสร้างเป็นละครบรอดเวย์ ชื่อ Cocktail
แต่เมื่อถ้าถามว่ารางวัลไหน ที่ภูมิใจที่สุด ดร.กฤษณาบอกว่าคือ รางวัลศิษย์เก่าดีเด่นของโรงเรียนราชินี ซึ่งที่ภูมิใจมาก เพราะโรงเรียนสอนตนเองมาดี สอนให้เข้ากับคนได้ สอนให้มีมนุษยสัมพันธ์กับคน ไม่ได้สอนแต่วิชาความรู้ให้ ซึ่งคนเราต้องมี หลาย ๆ ด้านประกอบกัน ไม่ใช่ว่าเก่ง...แต่เอาตัวไม่รอด ต้องมีน้ำใจ นี่คือสิ่งที่ภูมิใจที่สุดไม่ว่าใครจะถาม โดยที่รางวัลนี้เป็น เข็มอักษร สผ.ประดับเพชร
อายุกว่า 50 ปีแล้ว เพิ่งจะมาได้รับ ดูเหมือนไม่มีอะไร แต่คนเราความภูมิใจต่างกัน เราเหมือนเป็นโมเดล เป็นไอดอลให้เด็ก ๆ ส่วนตัวมีความภูมิใจในโรงเรียนแห่งนี้เสมอ และความคิดดี ๆ ยังได้รับการปลูกฝังอย่างดีจากคนในครอบครัวด้วย โดยเฉพาะอิทธิพลความคิดจาก คุณ ยายเยื้อน วิชัยดิษฐ์ ซึ่งเป็นแม่ชี ที่สอนให้ทำดีทุกครั้งที่มีโอกาส ดร.กฤษณากล่าว
พร้อมทั้งบอกว่า เคยได้รางวัลเป็นเงินเป็นทองเยอะ ๆ แต่ก็เฉย ๆ ก็บริจาคไป และไปที่แอฟริกา หรือไปทำงานที่ไหน ก็จะไปตั้ง มูลนิธิกฤษณา ไกรสินธุ์ แล้วก็เอาเงินจากยอดขายยามาเข้ามูลนิธิฯ เพื่อจะช่วยเด็กกำพร้าที่พ่อแม่ตายเพราะเอดส์ และเด็กก็ติดเอดส์ด้วย ซึ่ง เด็กพวกนี้น่าสงสารมาก.
สุภารัตน์ ยอดศิริวิชัยกุล / วิภาพร เปลี่ยนเจริญ : รายงาน
สุรเกตุ พงศ์สถาพร : ภาพที่มา
www.dailynews.co.thhttp://www.nathoncity.com/paper/1155