"ปีใหม่" สำหรับหลายๆคน เป็นเทศกาลแห่งการเฉลิมฉลอง ท่องเที่ยว ปาร์ตี้ ฯลฯ โดยเฉพาะวัยรุ่นชาว ม. ต่างพร้อมใจกันตบเท้าออกไปเก็บภาพสวยๆจากสถานที่ต่างๆที่ประดับประดาไฟงดงาม แต่อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน นั่นคือการทำบุญปีใหม่ รวมถึงพิธีทางศาสนาอย่างการสวดมนต์ข้ามปีและสวดมนต์สืบชะตา ชาวม.หลายคน อาจจะไม่คุ้นเคยกับการสวดมนต์ข้ามปีสักเท่าไหร่ เพราะส่วนใหญ่อาจจะมุ่งไปที่กิจกกรรมอย่างอื่นเสียมากกว่า วันนี้ ไลฟ์ ออน แคมปัส จะพาไปสำรวจกันว่า วัยรุ่นทั้งหลายจะรู้จักกิจกรรมนี้มากน้อยแค่ไหน และมีไอเดียอะไรสำหรับปีใหม่ปีนี้บ้าง
"ทรัพย์" พลพจน์ ศริพระจันทร์ นิสิตชั้นปีที่4 คณะนิเทศศาสตร์ สาขาการประชาสัมพันธ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เทศกาลปีใหม่คือ จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในรอบปี โดยปกติปีใหม่ทุกปี ทรัพย์จะมีกิจกรรมที่ทำร่วมกับเพื่อนๆและครอบครัว ซึ่งแบ่งเวลาเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรกอยู่ที่กรุงเทพฯ ฉลองกับเพื่อนๆ ไปเที่ยวเดินและถ่ายรูปตามห้างสรรพสินค้าที่จัดแสงสีต่างๆอย่างสวยงาม หลังจากนั้นก็กลับบ้านที่จังหวัดสระแก้ว ไปอยู่กับครอบครัว รวมญาติ และร่วมวงทานข้าวด้วยกัน
"เคยทราบว่ามีพิธีทางศาสนาอย่างการสวดมนต์ข้ามปีและการสวดสืบชะตาเสริมบารมีรับปีใหม่ ในปีนี้ผมก็เห็นป้ายที่วัดหัวลำโพง มีการสวดมนต์ข้ามปีด้วย อยากจะไปหลายปีแล้วแต่ไม่มีโอกาส เพราะช่วงปีใหม่จะกลับต่างจังหวัดทุกปี ปีนี้หากมีโอกาสก็อยากไป เพราะปีที่แล้วๆมาไม่ค่อยมีโอกาสได้เข้าวัดทำบุญเลย เพราะมีกิจกรรมในมหาวิทยาลัยค่อนข้างเยอะ" นอกจากนี้ ทรัพย์ยังมองว่า ช่วงเวลาปีใหม่มันเป็นโอกาสที่จะได้อยู่กับคนที่เรารักมากขึ้น ไม่ว่าอยู่กับเพื่อนๆ หรือคนในครอบครัว ก็ควรจะให้ความสำคัญกับทั้ง 2 ส่วนเท่าๆกัน
"วัยรุ่นสมัยนี้ มีทั้งไปเที่ยวและเข้าวัดทำบุญ เท่าๆกัน อยู่ที่ตัวบุคคลว่าจะให้ความสำคัญกับอะไรมากกว่ากัน อย่างเพื่อนๆผม ส่วนใหญ่ก็กลับบ้าน ไปทำบุญรับปีใหม่กับครอบครัว มีเที่ยวบ้างแต่ก็ไม่สุดโต่ง ไม่ทิ้งเรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัว สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับว่าเขาให้เวลากับส่วนไหนมากกว่ากัน" ด้าน
"ขวัญ" ณัฐพร วันดี นักศึกษาป.โท คณะวิศวกรรมศาสตร์ การอาหาร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ บอกว่า กิจกรรมที่ทำทุกปีเมื่อถึงเทศกาลปีใหม่ คือ ทำบุญที่วัดใน จ.เชียงใหม่ เน้นเป็นวัดที่อยู่บนดอย เพราะถือว่าได้เที่ยวไปในตัว
"มีบางครั้งที่ไปเดินห้าง ไปดูหนังกับครอบครัว แต่สิ่งที่ทำทุกปีคือ ไปวัดที่จังหวัดเชียงใหม่ ไปหลายวัด เพราะคุณพ่อเป็นคนชอบเข้าวัดทำบุญก็เลยไปทุกปี ถือโอกาสไปเที่ยวด้วยในตัว ส่วนตัวมองว่าวัยรุ่นสมัยนี้ไม่ค่อยเข้าวัดกันนะ ไม่ค่อยซาบซึ้งในศาสนาเท่าไหร่ แต่เข้าใจว่าบางคนไม่ว่างจริงๆ ก็เลยไม่มีโอกาส" เธอเล่าต่อว่า รู้จักการสวดมนต์สืบชะตา ทราบมาว่าเป็นพิธีกรรมทางศาสนาหลายๆที่ก็มีการสวดมนต์แบบนี้ เพื่อเสริมศิริมงคลต้อนรับปีใหม่ มองว่าเป็นเรื่องที่ดี อย่างน้อยได้นั่งสมาธิได้สวดมนต์ ก็เป็นศิริมงคลกับตัวเอง ทำให้จิตใจเบิกบานต้อนรับปีใหม่ เป็นผลพลอยได้อีกอย่างหนึ่งจากกิจกรรมนี้ด้วย
"เทศกาลปีใหม่ ทำให้เราได้เจอเพื่อนฝูง ครอบครัวอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา และเป็นแรงบันดาลใจให้เราเริ่มทำอะไรใหม่ๆให้กับตัวเอง หลายครั้งที่เราไม่ได้ทำในสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เราตั้งใจไว้ แต่พอปีใหม่มาถึง ก็เหมือนเป็นจุดสตาร์ท ให้เราเริ่มทำมันอย่างจริงจังเสียที" ส่วน
"ปลา" นภสร ไชยคำภา นิสิตชั้นปีที่4 คณะวิทยาการสารสนเทศ สาขาการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ยอมรับว่า การเข้าวัดทำบุญยังไกลตัวกับวัยรุ่น อย่างตนเอง หากไม่ได้ผู้ปกครองเป็นคนชักชวนให้ไป ก็คงไม่มีโอกาสไป เด็กวัยรุ่นหลายคนคงอยากสนุกกับเพื่อนๆ อยากเคาท์ดาวน์กับเพื่อนๆมากกว่า ปีใหม่สำหรับวัยรุ่นคือช่วงเวลาที่จะได้สนุกสนานรื่นเริง แต่กับผู้ใหญ่เขามองไปถึงแผนในอนาคต เขามองว่าผ่านไปแล้ว 1 ปีทำอะไรไปบ้าง แล้วปีหน้าจะทำอะไรบ้าง เป็นมุมมองที่ไม่เหมือนกัน
การสวดมนต์ข้ามปีเพื่อเสริมสิริมงคล ปลามองว่าเป็นพิธีทางศาสนาที่มอบความสบายใจให้แก่คนที่ไปเข้าร่วมพิธี ถ้าใครไม่ไปก็ไม่ใช่เรื่องแปลก ช่วงปีใหม่ เป็นช่วงที่ทุกคนอยากหาความสุขความสบายใจให้ตนเองและครอบครัว การสวดมนต์ข้ามปีก็เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่เพิ่มเข้ามา หากทำแล้วมีความสุขและสบายใจก็เป็นสิ่งที่ดีทั้งนั้น
สำหรับพิธีสวดมนสืบชะตาและสวดมนต์ข้ามปีนั้น เชื่อกันว่าเป็นการต่ออายุบ้านเมืองหรือต่อชีวิตคนให้ยืนยาว เป็นการเสริมบารมี สะเดาะเคราะห์ พ้นจากโรคาพยาธิ รับโชคลาภและจะมีความสุข ความเจริญ ตลอดจนขจัดภัยอันตรายต่างๆ ที่จะบังเกิดขึ้นให้แคล้วคลาดปลอดภัย อีกทั้งเชื่อว่าก่อให้เกิดขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่การงานพร้อมที่ จะสู้กับชะตาชีวิตต่อไปได้ โดยจะเริ่มสวดมนต์ตั้งแต่ช่วงค่ำของวันที่ 31 ธ.ค. ไปจนถึงรุ่งสางของวันที่ 1 ม.ค.
http://www.manager.co.th/Campus/ViewNews.aspx?NewsID=9530000182430