วันคืนล่วงไปนะ เดือนปี นาทีชั่วโมงก้ล่วงเลยไปนะ ปัจจุบันนี้ เราทำอะไรอยู่ บุญบารมีพอหรือยัง รีบทำเสีย เดี๋ยวบุญบารมี จะไม่พอ ให้ตรวจดูบุญบารมีที่กาย วาจา ใจของตน บุญบารมี มีอยู่ถ้าทพเพิ่มเติมไปเรื่อยๆ คงจะเต็มเปี่ยมบริบูรณ์ เพราะวิริยะ ความเพียร มีอยู่ในบารมีนี้เอง ดังภาษิตที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ว่า " วิริเยน ทุกขฺมจฺเจติ " บุคคลจะล่วงพ้นจากทุกข์ถึงสุขได้ เพราะความเพียร พระพุทธเจ้าท่านสอนมรณานุสติ ให้นึกถึงความตาย เพื่อเตือนเรา ไม่ให้ประมาท รีบทำรีบให้ทาน รีบรักษา ศีล รีบภาวนา ผู้จะได้รับผลคือความสุขก็ใจนั่นเอง ถ้าใจมีบุญเป็นนิสัยติดต่อมาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน ทำเพิ่มบารมี ในอดีต วันก็ ทำบุญคืนก็ทำบุญ ทำบุญเพิ่มบุญอยู่เรื่อยๆ ความเต็มเปี่ยมแห่งบุญบารมี ก็รู้ที่ใจ ของคุณนั้นเอง
ระวังใจนะ อย่าไปทำบาปเพิ่มนะ พระพุทธเจ้าสอนไว้ว่า ให้รีบขวนขวาย ในการทำบุญ ห้าใจของตนเสียจากการทำบาป เพราะเมื่อบุคคลทำบุญช้าอยู่ ใจจะยินดีไปเสียในการทำบาป นี่เพราะใจยินดีในบาป พอใจในการทำบาป จึงทำบุญช้า เวลาจะทำ บุญกลัว เวลาทำบาป ไม่กลัว ทำความยินดีในเวรห้า เวรแปด ไม่กลัว ทำนิวรณืห้าไม่กลัว ทำความลุ่มหลงมัวเมาในกิเลสกามและ วัตถุกามไม่กลัว นี้แหละเพราะไม่กลัวบาปจึงทำบาปได้มาก บาปไม่กลัวแต่ใจกลัวบุญ กรรมชั่วไม่กลัว กลัวการทำความดี ใจคงจะ อ่อนหิริโอตอัปปะ จงดูใจท่านซิ เพราะไม่กลัวบาป ไม่ละอายบาป ไม่กลัวบาป จึงทำ บาปได้มาก กลัวบุญไม่กล้าทำบุญ บารมีจึงไม่แก่กล้าเข้มแข็งเพียงพอเสียที ดูใจท่านซิดูออกไหมว่า ใจทำอะไรกันแน่
บุญบารมีเต็มเปี่ยม เพราะทำมรรคผลเต็มเปี่ยม ถ้าใจไม่ทำแล้วมันก็เปล่า ที่เราล่วงเลยคำสอน ของพระพุทธเจ้าหลายล้าน พระองค์มาก็เพราะไม่ทำนี้แหละ ถ้าเราทำจริงแล้ว บุญกุศลมรรคผล ินิพพาน ต้องรู้ได้ภายในใจเลย ต้องการบรรลุพระนิพพาน ต้องดูมรรคว่า เราดำเนินตามมรรคไหม ทางตรงสู่นิพพานคือ มรรคแปด ที่พระพุทธเจ้าท่านรับรองไว้ว่า เป็น มัชฌิมมาปฏิปทา ทางสายกลาง เป็นทางตรงสู่นิพพาน ไม่แวะเวียนไปสู่กามสุขัลลิกานุโยคและอัตตกิลมถานุโยค ดังภาษิต ที่ท่านแสดงไว้ว่า
" มคฺคา นฏฺฐงคิโก เสฏฺโฐ เอเสว มคฺโค นตฺถญฺโญ ทสฺสนสฺส วิสุทฺธิยา "
ทางมีองค์แปดเป็นทางดำเนินไปสู่ความบริสุทธิ์แห่งทัศนะ ความเห็นทางอื่นนอกจากนี้ไม่มี
" เอตญฺหิ ตุมเห ปฏิปชฺชถ มารเสนปฺปโมหนํ
เอตญฺหิ ตุมฺเห ปฏิปนฺนา ทุกขสฺสนตํ กริสฺสถ "
ทางนั้นแลเป็นทางที่ยังมารและเสนามาร ให้หลง เมื่อท่านทั้งหลายเดินตามทางนั้นอยู่จักพ้นจากกองทุกข์ได้
" อคฺขาโต โวมยา มคฺโค อญฺญาย สลฺลสทฺธนํ
ตุมฺเหหิ กิจฺจํ อาตปฺป อคฺขาตาโร ตถาคตา
ปฏิปนฺนา ปโมกฺขนฺติ ฌายิโน มารพนฺธนา "
ทางนี้แลเป็นทางที่ตถาคตได้รู้ชัดแล้วว่า เป็นทางที่สลัดคืนเสียซึ่งลูกศรคือกามกิเลส ที่ฝังอยู่ภายในใจ ความเพียรอันเป็น เหตุเผากิเลสให้เร่าร้อนเป็นกิจที่ท่านทั้งหลายจักต้องทำเอง พระตถาคต เป็นแต่ผู้บอกทางให้เท่านั้น ชนทั้งหลายเหล่าใด ดำเนิน ตามปฏิบัติตามซึ่งทางคือพระอัฏฐังคิกมรรค* นั้นอยู่จักเป็นผู้พ้นจากเครื่องผูกแห่งมารกิเลส ขาดเป็นสมุจเฉทปทาน
ในภาษิตนี้ ท่านแสดงรับรองมรรคเอาไว้ เพราะท่านทำมาก่อน รู้เห็นมาก่อน ดำเนินตามมาก่อน ได้รับผลเป็นที่พอใจ ท่าน จึงสอนให้ทำ พระสาวก สาวิกา ที่ทำตามก็สำเร็จมรรคผลได้ จึงมีสาวก สาวิกามากขึ้น เมื่อเราต้องการสำเร็จมรรคผล ก็ต้องปฏิบัติตามมรรค ทำให้มาก ก็จะรู้แจ้งเห็นจริงได้ภายในใจ สันทิฏฐิโก ใจเห็นได้เองเลย
มรรคมีองค์ แปดนั้นอะไรบ้าง คือ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ คือเห็นอริยสัจธรรมทั้งสี่ เห็นทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ เห็น ความดับทุกข์ เห็นข้อปฏิบัติ ให้ถึงความดับทุกข์ ุถ้าเห็นแต่ในตำรา ไม่เห็นในการปฏิบัติ คือใจไม่ทำ เห็นเฉยๆ เหมือนข้าวปลา อาหาร เห็นเฉยๆ ไม่กินจะอิ่มได้ไหม ไม่ได้แน่นอนทีเดียว ต้องเห็นตน ต้องเห็นธรรม เห็นใจทำ เห็นใจปฏิบัติ ท่านว่า เป็น สันทิฏโก ใจเห็นได้เองเลย มรรคผลนิพพาน ไม่อยู่ไกลดอก อยู่ใกล้ๆ แค่ใจนี้เอง
สัมมาสังปัปโป ดำริชอบ คือจะออกจากกาม เห็นภัยของกาม เห็นกามตัณหา เป็นเหตุให้ทุกข์เกิดขึ้น อย่างร่างกายนี้ เกิด จากกามมีกามตัณหา เป็นเหตุ คิดจะละมันเสียเลิกมันเสีย ปล่อยมันเสีย วางมันเสีย เพราะมันหนัก เหลือเกิน
สัมมาวาจา กล่าววาจาชอบ คือเว้นจากวจีทุจริตทั้งสี่ สัมมากัมมันโต ทำการงานชอบ เว้นจากกายทุจริต สาม สัมมาอาชีโว เลี้ยงชีพชอบ คือเว้นจากการซื้อขายเครื่องประหาร เว้นจากการค้าขายเครื่องศาสตราวุธ เว้นจากค้าขายน้ำเมา เว้นจากค้าขาย ยาพิษ เว้นจากค้าขายสัตว์ เป็นให้เขาเอาไปฆ่า
สัมมาวายาโม เพียรชอบ คือเพียรระวังบาป เพียรทำบุญกุศล ให้เจริญ เพียรรักษาบุญกุศลไว้
สัมมาสติ ระลึกชอบ คือระลึกในสติปัฏฐานสี่ ระลึกในกาย โดยความเป็นของปฏิกูล ระลึกในกายเป็นธาตุสี่ ระลึกในกายว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ระลึกในเวทนา ว่าเป็นทุกข์มากๆ ใจจะได้ความสังเวชสลด ใจจะเกิดความเบื่อหน่าย ระลึกได้ในจิต ว่า จิตนี้เป็นอะไร เป็นโลกียจิต หรือเป็นโลกุตรจิต ระลึกได้ในธรรม ใจทำอะไร ใจทำบาป หรือทำบุญ ถ้าทำบุญจริงๆ แล้ว ควรบรรลุนิพพานไปนานแล้ว อาจจะไม่มาเกิดในปัจจุบันนี้ จิตใจไปทำบาป อกุศลมากระมัง บุญบารมี จึงไม่พอสักที
จิตกับใจนี้อันเดียว ต่างกันแต่สมมุติ จิตก็ธาตุรู้ ใจก็ธาตุรู้ ในอภิธรรม ท่านสมมุติออกไป ถึงสิบอย่าง แต่ที่เรียกกันโดยมาก ว่า จิตบ้าง ใจบ้าง
สัมมาสมาธิ ใจตั้งมั่นชอบ ได้แก่การทำจิตให้ตั้งมั่นด้วยธรรมที่เป็นอารมณ์ของสมาธิ จนได้บรรลุในฌาน
มรรคแปดนี้ รวมลงมาแล้ว คือ ปัญญาหนึ่ง ศีลหนึ่ง สมาธิหนึ่ง ศีลสมาธิ นี้ใจทำนะ จึงจะสำเร็จมรรคผล ถ้ารู้แล้วไม่ทำ ก็ เปล่าจากมรรคผล ฉะนั้นบุคคลจึงควรจะพิจารณา ใจมากๆ ใจทำอะไร ใจต้องการสำเร็จมรรคผล และใจไปทำอะไรใจจึงไม่สำเร็จ มรรคผล สิ่งที่ใจทำอยู่แท้ๆ ใจน่าจะรู้น่าจะเห็นมรรค เป็นมรรคสัจของจริง ถ้าทำจริงแล้วต้องสำเร็จได้แน่นอน ดูตัวอย่างพระ พุทธเจ้า พระสาวก สาวิกาทั้งหลาย ครั้งแรกท่านเป็นคนที่มีกิเลสทั้งนัน ทำไมท่านสำเร็จมรรคผล เพราะท่านเป็นคนจริง เวลาทำ บาป ทำจริงๆ เวลาทำมรรคก็ทำจริงๆ ทำมรรค ท่านทำจริง เพราะท่านเป็นคนจริง อย่างนี้ จึงสำเร็จมรรคผลได้จริง ให้เราดูซิว่า ทำจริงอะไร ทำจริงในบาปละมัง ทำจริงในมิจฉามรรค ทำจริงในกรรมชั่วละมัง เวลาทำดีไม่ทำจริง ถ้าใจทำกรรมดีจริงๆ ทำ มรรคบำเพ็ญมรรคจริงๆ แล้วต้องสำเร็จมรรคผลได้จริงแน่นอนทีเดียว ท่านจงดูใจท่านซิ ทำจริงอะไร ดูให้ออก สอนใจให้ได้ สอน ใจให้ละบาปจริงๆ สอนใจทำบุญจริงๆ สอนใจให้ทำมรรคให้จริงๆ เมื่อท่านเป็นคนจริงแล้ว ไม่ต้องหาบุญกุศล นิพพานที่ไหน มี อยุ่ที่ใจ ทำจริงนี้เอง จะภาวนาพุทโธ ก็ภาวนาจริงๆ พุทโธ ใจรู้ พุทโธ ใจรู้ จนรู้ใจจริงๆ แล้ว หลงอวิชชามันอยู่ไม่ได้ ใจรู้ใจละใจ ก็หลุดพ้นวิมุตติวิสุทธิ มีแต่นิพพานมันอยู่ที่รู้ใจ ทำจริงนี้เอง ท่านต้องภาวนา พุทโธ จริงๆ เถอะ อย่าไปหลงจริงๆ ก็แล้วกัน
ฉะนั้น ประวัติและธรรมมะ ที่เขียนอาจมีประโยชน์แก่ท่านผู้มีใจบุญ ขอให้ท่านผู้ใจบุญจงได้บุญได้กุศล ได้มรรค ได้ผล บรรลุ พระนิพพาน ทุกท่านทุกคนเทอญ