ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: มกราคม 10, 2011, 05:07:29 pm »เนื้อความในพระคาถานี้อธิบายว่า
ธรรมดานายโคบาล ผู้ฉลาดย่อมต้อนฝูงโคของเขา ไปยังที่ซึ่งอุดมไปด้วยน้ำและหญ้า ตามวิสัยของผู้ฉลาดฉันใด ชีวิตคือความเป็นอยู่ของสรรพสัตว์ก็ฉันนั้น นับแต่คลอดออกจากครรภ์ของมารดาแล้ว ก็เดินทางไปสู่ความแก่ทุกวันทุกคืน จนเป็นเดือนเป็นปี และเป็นหลายๆ ปี
เมื่อถึงสถานีของความแก่แล้ว สถานีแห่งความแก่ ก็ส่งไปสู่สถานีแห่งความเจ็บ มีเจ็บหลังบ้าง เจ็บเอว เจ็บตา เจ็บแข้ง เจ็บขาบ้าง แล้วสถานีนี้ก็ส่งไปยังสถานีแห่งความตาย มาสิ้นสุดเพียงสถานีของความตายนี้ทั้งนั้น
นอกจากบุญกับบาปที่ตนได้กระทำไว้แต่ครั้งยังมีชีวิตอยู่ คนผู้อยู่ทางหลังจะให้หรือไม่ให้ก็หมดห่วงหมดกังวลเสียแล้ว
เพราะฉะนั้นพุทธบริษัททั้งหลาย เมื่อมาทราบแจ้งชัดตามอรรถธรรมดังอาตมาได้แสดงมานี้แล้ว จงอย่าได้ประมาทในชีวิตของตน เพราะเราไม่รู้ว่าความตายนั้นจะมาถึงตัวเราเมื่อไร ไม่มีผู้ใดพยากรณ์ได้ถูก เราพยากรณ์ได้แต่วันเกิด อันบิดามารดาเป็นผู้บอกให้เท่านั้น
ฉะนั้นจึงขอรีบสร้างคุณงามความดีของตน ให้เกิดขึ้นในทวารทั้ง ๓ เสียคือว่า กายทวาร วจีทวาร และมโนทวาร จะทำจะพูดจะคิดสิ่งใด ก็จง ทำ พูด คิดแต่ในทางที่จะเป็นประโยชน์ตนและผู้อื่นเถิด
เมื่อประพฤติปฏิบัติเช่นนี้แล้วบุญกุศลใดที่ยังไม่เกิดก็จะเกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วก็จะเจริญภิญโญยิ่งๆ ขึ้นไป ขออย่าได้พากันประกอบกรรมอันชั่วช้าลามก ซึ่งจะเป็นทางพาให้เราไปตกนรกอบายภูมิ ซึ่งจะพาให้เราได้รับความเร่าร้อนหลายกัปหลายชาติ ถ้าท่านผู้ใดยังเห็นว่าศีลของตนยังไม่สมบูรณ์บริบูรณ์ รีบประกอบให้เกิดให้มีขึ้นเสียแต่บัดนี้
ศีล ๕ ประการดังนี้
ข้อหนึ่ง ปาณาติปาตา เวรมณี ข้าพเจ้าขอเว้นการพรากชีวิตสัตว์น้อยใหญ่ทั้งหลายทั้งปวง
ข้อสอง อทินนาทานา เวรมณี ข้าพเจ้าจักงดเว้นการลักฉ้อขโมยของคนอื่นเด็ดขาด
ข้อสาม กาเมสุมิจฉาจารา เวรมณี ข้าพเจ้าจักงดเว้นการล่วงเกินกามประเวณีลูกเมียผู้อื่นเด็ดขาด
ข้อสี่ มุสาวาทา เวรมณี ข้าพเจ้าจักไม่กล่าวเท็จ กล่าวคำหยาบ ส่อเสียด เพ้อเจ้อ
ข้อห้า สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา เวรมณี ข้าพเจ้าจักไม่กินเครื่องดองของเมาใดๆ เช่นสุราเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาทเสียสติ
ดังนี้ ก็นับได้ว่า เราตัดเวรออกจากตัวของเราเองได้สิ้นแล้ว และเราจักขอถึงซึ่งคุณพระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง ที่พำนัก ที่ระลึก ที่นับถือว่า เป็นที่กำจัดภัยได้จริงดังนี้ ก็แสดงว่าเราเคารพนับถือในพระไตรสรณาคมน์โดยไม่มีความหวั่นไหว เมื่อเราเคารพนับถือเช่นนั้นแล้วเราก็จะมีแต่ความสุขใจเย็นใจเท่านั้น เมื่อเรามีศีลบริบูรณ์แล้ว ถึงเราจะภาวนา จิตเราก็เป็นสมาธิได้เร็ว เมื่อจิตของเราเป็นสมาธิได้เร็วแล้ว เราจะเป็นผู้เบิกบานอยู่เสมอ ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ซึ่งเรียกว่าโลกสวรรค์
หากถ้าจะมีผู้ถามว่า สวรรค์นั้นอยู่ทีไหน อาตมาขอตอบว่า สวรรค์อยู่ที่ตัวของคนเราทุกคน นรกก็อยู่ที่ตัวเรานี้ นิพพานก็อยู่ในตัวเรานี้ทั้งนั้น ด้านกว้างของสวรรค์ก็ศอกกำมา ด้านยาวก็วาหนึ่งดังนี้ สวรรค์นิพพานไม่ได้อยู่ที่อื่นดอก เมื่อเราประกอบแต่กรรมอันเป็นสุจริตแล้ว นรกมันก็หายไป เมื่อเราทำลายกิเลสน้อยใหญ่ซึ่งหมักดองอยู่ในสันดานของเราแล้ว นิพพานก็อยู่ที่ไหนอีก
เมื่อเราเป็นผู้มีทาน มีศีล มีเจริญภาวนา ฆ่าความโลภ ความโกรธ ความหลง ออกจากจิตสันดานเราได้แล้ว นรกมันก็อยู่ไม่ได้เท่านั้นเอง
ฉะนั้น พุทธบริษัททั้งหลายที่มาประชุมสโมสรในสถานที่นี้จงได้พากันเคารพในคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ให้หนักแน่นอย่าหวั่นไหว ถ้าได้เห็นดอกไม้ของหอม ก็ขอให้คิดอยากมาบูชาคุณของพระรัตนตรัยแก้วทั้งสาม มันจึงจะได้บุญได้กุศล ถ้าเราได้กินอาหารอันมีรสเอร็ดอร่อย ก็ให้คิดถึงวัดถึงวาถึงบิดามารดา ว่าอยากให้ท่านได้กินดี มันจึงจะเป็นบุญเป็นกุศล เมื่อมีความโกรธเกิดขึ้นก็อย่าได้แช่งได้ด่าให้ทานมากิน ผีมากิน ให้พูดว่า โอยท้าวขันเงินขันคำกวบหัวเจ้าเอ้ย ดังนี้ มันจึงจะบ่ได้บาป อย่าไปป้อยแช่งให้ห่าให้ผีเป็นอันขาด เพราะพระพุทธองค์ พระองค์สอนไม่ให้เคารพนับถือผี พระองค์ตรัสสอนแต่ให้เคารพธรรมเท่านั้น เพราะผีมันเป็นของไม่ดี ดังมีคำพื้นบ้านพื้นเมืองเราพูดกันว่า หน้าคือผี ขี้ร้ายคือผี บ่จบคือผี ทุกข์ยากคือผี ก่ำคือผี หมองคือผี เมื่อเป็นของไม่ดี แล้วมันก็คือผีทั้งนั้น เมื่อผีมันไม่ดี มันทุกข์มันยากมันก่ำมันหมองแล้ว ผัดอยากได้อยากเคารพนับถือมันไปหยัง
เมื่อมันทุกข์มันยากแล้วเราจะพึ่งพาอาศัยมันหยังได้ ลำพังเราข้ามฟากน้ำ น้ำก็ยังจะข้ามไม่พ้นอยู่แล้ว ยังจะแบกเอาซากผีไปอีก มันจะไม่พาจมน้ำตายทั้งคนทั้งผีหรือ อาตมาว่ามันคงไปไม่รอดทั้งคนทั้งผี เมื่อผีเป็นเช่นนี้แล้ว ควรแล้วหรือที่เราจะไปกราบไหว้บูชาเคารพนับถือ พึ่งพาอาศัยมันได้ มันก็มีแต่จะพาให้เราจมดิ่งไปฟูนรกอเวจีเท่านั้นเอง
ในธรรมเทศนาของอาตมาวันนี้ ขอบรรดาพุทธศาสนิกชนทั้งหลายจงพากันใช้โยนิโสมนสิการ นำไปพินิจพิจารณาโดยแยบคาย เห็นว่าสิ่งใดไม่ดีก็พากันละเสีย เห็นว่าสิ่งใดดี ก็จงถือเอาเป็นข้อวัตรประพฤติปฏิบัติตาม ก็จะประสบแต่ความสุขความเจริญ ทุกทิพาราตรีกาล รับประทานแสดงมาก็พอสมควรแก่กาลเวลา เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้
พระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ
แสดงในงานฌาปนกิจศพ หลวงพ่อคำมา ญาณทีโป
เมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๕
Pics by : Google
อกาลิโกโฮม * สุขใจดอทคอม
อนุโมทนาสาธุที่มาทั้งหมดมากมายค่ะ
แสดงในงานฌาปนกิจศพ หลวงพ่อคำมา ญาณทีโป
เมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๕
Pics by : Google
อกาลิโกโฮม * สุขใจดอทคอม
อนุโมทนาสาธุที่มาทั้งหมดมากมายค่ะ