วันนี้พึ่งได้หนังสือเล่มนี้มา
ชีวิตและญาณทัสนะของตรุงปะ: คุรุบ้าผู้ปรีชาญาณ (Chogyam Trungpa : His Life and Vision) ฟาบริซ มิดัล เขียน / พินทุสร ติวุตานนท์ แปล / พจนา จันทรสันติ บรรณาธิการ ขอติหน่อยละกัน ไม่ชอบหน้าปกเลย เห็นหน้าปกแล้วนึกถีงพวกครูมวยจีนประเภท มวยจีนเพื่อชีวิตฯของอาจารย์สุวินัยขึ้นมาตะหงิด ๆ ส่วนคำโปรยยังไม่ปรากฏคาดว่าเพิ่งจะออกมาจากโรงพิมพ์แบบสด ๆ ร้อน ๆ เฝ้าติดตามแนวคิดวัชรยานมาหลายปี หลัง ๆ ยุ่ง ๆ มัวแต่ไปทำอะไรอย่างอื่นเลยรามือลงไป เคยสังเกตและตั้งข้อสงสัยว่าระหว่าง หินยาน มหายาน กับวัชรยาน ที่ออกไปเผยแพร่อยู่ในตะวันตกตั้งแต่ช่วงทศวรรษเจ็ดศูนย์ยุคบุปผาชนฝังรากลากยาวมาจนปัจจุบันในยุคที่ผู้คนดูโงนเงนง่อนแง่นวก ๆ วนๆอยู่ในดีกรีที่ไม่ด้อยไปกว่ากัน ดูเหมือน วัชรยาน กับ มหายาน จะปรับตัวหรือสอดคล้องกับตะวันตกหรือเข้าถึงชาวตะวันตกได้มากกว่า เนื่องจากการปรับตัวไม่ยึดติดกับรูปแบบที่เคร่งครัดมากนัก อีกประการก็อาจจะด้วยลักษณะแบบ exotic ที่คลุมเครือ ๆ แบบวัชรญานก็อาจจะดึงดูดใจได้มากกว่า ส่วนมหายานก็มีลักษณะเด่นเหมือน ๆกันคือมีความเรียบง่ายต่อการปฏิบัติมากกว่าจึงทำให้งานของซูซูกิ จนมาถึง นัท ฮันห์ แพร่หลายอยู่พอสมควรในโลกตะวันตก หรืออาจจะเพราะทั้งสองยานเชื่อความสามารถในการเป็นพุทธะที่มีอยู่ในมนุษย์ทุกคนก็ได้ ส่วนฝ่ายหินยานดูยึดติดกับรูปแบบมากกว่าดูเหมือนเคร่งครัดมากกว่า ปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยได้น้อยกว่า นิพพานก็ดูห่างไกลเลื่อนลอยยากเย็นยิ่งกว่า ก็เลยแพร่หลายได้น้อยกว่า
เกิดมาเยี่ยงสงฆ์
ตายลงเยี่ยงราชัน
เราจักตามสิงสถิตในตัวท่าน
ร่วมกันกับดราละ
ขอจงมีแต่ความสุขสวัสดี
งานของ เชอเกียม ตรุงปะ เราอ่านผ่านตามาแล้วหลายเล่ม ตั้งแต่ ซัมบาลา (หนทางอันศักดิ์สิทธิ์ของนักรบ) คัมภีร์มรณศาสตร์แห่งธิเบต มหาสีหนาทบันลือ การเดินทางอย่างปราศจากจุดมุ่งหมาย ความปั่นป่วนสับสนอันมีแบบแผน อ่านจนบางทีไปปนกับงานของ โชเกียล รินโปเช คือเหนือหัวงมหรรณพ ประตูสู่สภาวะใหม่ เพ่งพินิจเรื่องชีวิตและความตาย ส่วนใหญ่งานพวกนี้ก็จะจัดพิมพ์โดยสวนเงินมีมา ก่อนหน้านั้นก็คือ ศึกษิตสยาม เริ่มอ่านตั้งแต่คิดว่า รินโปเช หรือริมโปเช เป็นชื่อคนแต่ง จนตอนหลังรู้ว่า ริมโปเช เป็นคำยกย่องอาจารย์ เพราะฉะนั้นพระชาวธิเบตหลายคนก็ถูกยกย่องเป็นริมโปเช
เล่มนี้เป็นหนังสือคล้าย ๆอัตชีวประวัติของ เชอเกียม ตรุงปะ ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยนาโรปะที่โคโรลาโด อ่านไปสามสี่บท เริ่มตั้งแต่ตรุงปะในธิเบต อพยพมาอังกฤษ ต่อมาก็มาอเมริกา แล้วมาที่แถบ Rocky Mountain ได้ยังไง การสอนหรือวิถีของตรุงปะ ทำไมใคร ๆ ถึงขนานนามตรุงปะว่า คุรุบ้า แล้วทำไมคุรุบ้าอย่างตรุงปะถึงได้เป็นที่สนอกสนใจมีลูกศิษย์ลูกหามากมาย อะไรคือวิถีแห่งตรุงปะ วิถีแห่งวัชรยาน ใครสนใจก็ลองไปหาอ่านดูละกัน ข้างล่างตัดตอนมาจากบทต้น ๆ ไว้อ่านจบแล้วจะมาเล่าให้ฟังต่อ
“ผู้ที่ยืนอยู่ตรงนี้มีชื่อเรียกว่ามิสเตอร์มุกโป เป็นคนธรรมดาสามัญ เขาลี้ภัยออกมาจากธิเบตเพราะการรุกรานของจีนคอมมิวนิสต์ เขากำลังมองหาโอกาสที่จะเชื่อมสัมพันธ์กับโลกภายนอกธิเบต และพยายามที่จะทำให้ผู้คนเข้าใจถึงความรู้สึกของเขาในการปฏิบัติธรรม และสิ่งที่เขาศึกษาอยู่ หรือสิ่งที่เขาได้เรียนรู้ฝึกฝนมา ซึ่งนั่นก็คือสิ่งที่เรากำลังกระทำอยู่ในเวลานี้”ช่วงเวลาสิบเจ็ดปีที่ท่านอบรมสั่งสอนอยู่ในสหรัฐ หากไม่คำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงแนวทางการสอน ตรุงปะไม่เคยลังเลที่จะเสี่ยงหรือคว่ำบาตรจารีตอันคร่ำครึถ้านั่นจะช่วยให้ผู้คนได้เข้าใจตัวเอง ด้วยการทำดังนั้น ท่านจึงช่วยให้พวกเขาสัมผัสได้ถึงโลกของท่านอย่างตรงไปตรงมาและหมดจด ท่านไม่เคยวางท่าทีเป็นผู้ที่เปี่ยมด้วยมารยาทอันดีงาม ท่านชอบทำให้คนตื่นตะลึง พิศวง งงงวย คาดไม่ถึง หรือแม้แต่งุ่นง่านรำคาญใจ เพราะนั่นเป็นธรรมชาติของหลักคำสอนที่ท่านเชื่อมั่น เวลาที่ท่านเทศนา แทนที่จะให้ความหวังใด ๆ ท่านกลับเตือนผู้ฟังอยู่เสมอว่า “คิดให้รอบคอบก่อนนะ ถ้าคุณเริ่มปฏิบัติฝึกฝนแล้วละก็ จะไม่มีทางให้ถอยกลับเด็ดขาด” ท่านให้ความหมายของมรรคาธรรมว่าไม่เหมือนกับการเดินเล่นเพื่อความเพลิดเพลินใจ แต่เป็นกระบวนการฉีกหน้ากากตัวตนอันนำมาซึ่งความเจ็บปวด “พุทธมรรคเป็นเส้นทางที่แสนเข็ญ ลำบากแสนเข็ญ จนดูเหมือนไร้เมตตา เราอาจพูดได้เพียงว่าเราไม่ได้มาหาความเพลิดเพลินใจใด ๆ หนทางสายนี้มิได้มีไว้เพื่อให้พบความสุข มันหาใช่การเดินทางอันน่าเพลิดเพลินไม่”ท่านกล่าวย้อนถึงการสอนธรรมะในเบื้องแรก ว่าได้ก่อให้เกิดความสงสัยและการตั้งคำถามกับทุกสิ่ง ซึ่งยืนพื้นอยู่บนการปฏิเสธที่จะยอมรับสิ่งใดโดยมิได้พิจารณาไตร่ตรองอย่างละเอียดเสียก่อน ท่านอธิบายว่า ความสงสัยและตั้งคำถามเป็นวิธีกระชากหน้ากากทางความคิดและทฤษฏีทั้งมวล ทุกสิ่งที่ถูกกำหนดมาจากภายนอก อย่างเช่นนิสัยใจคอที่เราบ่มเพาะขึ้นมา “สำนักคิด” ของตัวเองที่กักขังเราอยู่ในนั้น ศิษย์ของท่านจึงมักจะคอยตั้งคำถามกับทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้รับฟังและไม่เชื่อในสิ่งใด พวกเขาร่วมกันวิพากษ์วิจารณ์สายปฏิบัติต่าง ๆ ซึ่งมีอยู่มากมายในอเมริกา เพื่อเปิดโปงความเป็นวัตถุนิยม และมายาลวงหลอกทั้งหลายอย่างไรก็ตาม หากมีความกังขาในทุกสิ่งก็จะกลับส่งผลร้ายต่อตนเอง ดังนั้น ขั้นต่อไปจึงเป็นการก้าวสู่ขั้นตอนที่สองของการปลูกฝังพุทธศาสนาขึ้นในโลกตะวันตก ซึ่งเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ซื่อตรงต่อกันในหมู่ผู้คน การช่วยเหลือซึ่งกันและกันต้องอาศัย “เราต้องบ่มเพาะลัทธิโรแมนติกขึ้นมา” เรื่องนี้สำคัญพอ ๆ กับขั้นตอนแรกที่เราใช้แนวคิดของลัทธิซินิก (ความสงสัยและการตั้งคำถาม) ซึ่งเราได้พูดมาจนถึงตอนนี้”เชอเกียม ตรุงปะ บรรลุผลในการทำลายกระแสวัตถุนิยมทางศาสนา และทะลุทะลวงเข้าถึงหัวใจของกลอุบายแห่งการประชดประชันซึ่งอัตตาหลอกกับตนเองเพื่อพยายามจะสร้าง “โลกอันบริสุทธิ์สวยงาม เรืองรองและเปี่ยมด้วยความรัก” ความคมลึกของวิธีสอนธรรมของท่านเป็นการเปิดโลกทัศน์แบบใหม่ เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงอันยาวนาน ปีแล้วปีเล่าที่ตรุงปะได้เกิดความกังขาในสิ่งที่คล้ายดังเป็นแก่นคำสอนที่มีมาก่อนหน้านี้ ในขณะเดียวกันก็ต้องหาวิถีทางใหม่อยู่เสมอเพื่อให้ศิษย์เข้าถึงหัวใจของสัจธรรมhttp://maewjaidam.wordpress.com/2009/03/27/%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B8%9A%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%8D%E0%B8%B2%E0%B8%93/