ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: มกราคม 30, 2011, 10:49:54 pm »มีหนัง 3 กลุ่มใหญ่ๆ ที่โดยปรกติ หากไม่จำเป็นถึงขั้นคอขาดบาดตายหรือไม่นึกเฮี้ยนขึ้นมาจริงๆ ดิฉันจะหลีกเลี่ยง ไม่ดูเป็นอันขาด
หนึ่งคือ หนังคนแก่ – สอง หนังสัตว์พิการ และสาม หนังแนว “ชีวิตบัดซบ” ตัวละครตกอยู่ในฐานะอดอยากปากแห้ง ชีวิตแร้นแค้นไปเสียทุกด้าน และต้องกระเสือกกระสนเสียแทบตายกว่าจะถีบตัวเองทะลุปลักตมมาได้หน่อยหนึ่ง
เหตุผลตื้นเขินของดิฉันก็คือ หนังทั้งสามกลุ่มที่กล่าวมานั้น “จริง” เกิน และมีความเสี่ยงที่จะเป็นหนังหดหู่ ดูแล้วอยากตาย (อันนี้เว่อร์) สูงมาก – ใครจะว่าอย่างไรดิฉันไม่ทราบ แต่โดยส่วนตัวเห็นว่า ชีวิตจริงมีเรื่องน่าหดหู่เยอะพออยู่แล้ว และดิฉันไม่ปรารถนาจะรนหาที่ แสวงหาสิ่งใดๆ มาเหยียบย่ำซ้ำเติมความรู้สึกตัวเองซ้ำอีกในโลกภาพยนตร์
อ่านเค้าโครงเรื่องย่อของ Mother ครั้งแรก ดิฉันจัดมันเข้าหมวดหนังชีวิตบัดซบอย่างไม่ต้องคิดเป็นอื่น (คุณแม่ชราผู้มีฐานะความเป็นอยู่ยากไร้คนหนึ่ง ต้องดิ้นรนสุดชีวิตเพื่อช่วยเหลือลูกชายที่พิการทางสมองให้รอดพ้นจากการถูกจำคุกในข้อหาฆาตกรรม ซึ่งเธอเชื่อมั่นสุดหัวใจว่าเขาไม่ได้ก่อ) อย่างไรก็ตาม เหตุผล 2 ประการที่ลงท้ายดิฉันตัดสินใจ “ดูก็ดูวะ” สักหน่อย ก็คือ หนึ่ง ตัวอย่างหนัง “ไม่ธรรมดา” และน่าดูมาก และสอง เพื่อนคนหนึ่งยืนฟันธงว่า หนังดีและสนุกมาก และที่สำคัญ มันไม่พยายามจะนำชีวิตแร้นแค้นของตัวละครมาบีบคั้น เน้นย้ำ ขยายใหญ่ ย่ำยีหัวใจผู้ชม เหมือนที่หนังชีวิตบัดซบโดยทั่วไปมักจะทำกัน
ผลการพิสูจน์จริงปรากฏว่า ทันทีที่หนังจบ ดิฉันตัดสินใจไม่ถูกเลยว่า จะบีบคอตัวเองหรือคอเพื่อนให้ “ตายๆ ไปซะ” ก่อนดี
เพื่อนของดิฉันพูดถูกอยู่ 2 อย่าง คือ หนังดีมากจริงๆ และเป็นหนังที่ดูสนุกจริง (อาจไม่ถึงกับสนุกโลดโผนจนถึงขั้นดูแล้วหยุดไม่ได้ แต่โดยรวมก็ถือว่ามันน่าติดตามมาก) อีกทั้งมันก็ยังไม่ได้มุ่งสะท้อนชีวิตยากลำบากของคนชั้นล่างในสังคมเป็นสำคัญ แต่ขณะเดียวกัน ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า ถึงที่สุดแล้ว มันเป็นหนังที่ช่างหดหู่ ดูแล้วชีวิตเศร้า อารมณ์เป็นสีเทา ที่สุดเรื่องหนึ่งที่ดิฉันได้ดูในช่วง 2-3 ปีหลัง
Mother เป็นผลงานกำกับภาพยนตร์เรื่องยาวลำดับที่ 4 ของ บองจุนโฮ ผู้กำกับชาวเกาหลีที่เมื่อไม่กี่ปีก่อน โด่งดังสุดขีดจาก The Host หนังสัตว์ประหลาดถล่มโลกันต์ ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างถล่มทลายทั้งในแง่ของรายได้และคำวิจารณ์ และยังคงครองตำแหน่งหนังทำเงินสูงสุดตลอดกาลในประเทศเกาหลีจนถึงทุกวันนี้
ส่วนหนังยาวอีก 2 เรื่องที่เขาทำก่อน The Host –คือ Barking Dogs Never Bite (2000 – มีดีวีดีลิขสิทธิ์ขายในบ้านเรา ใช้ชื่อ ‘เห่าไม่ว่าอย่าให้ข้ารำคาญ’) และ Memories of Murder (2003)- แม้จะไม่ทำเงินทำทองเท่า แต่ในแง่ของเสียงวิจารณ์แล้ว ได้รับคำชื่นชมไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
ตัวละครหลักทั้งสองของ Mother คือ ฮีจา คุณแม่วัยชราที่หาเลี้ยงตัวเองและลูกชายด้วยการเก็บโสมขาย และหารายได้เสริมด้วยการเป็นหมอฝังเข็มเถื่อน กับ โดจุน บุตรชายวัยหนุ่มของฮีจาผู้มีอาการผิดปรกติทางสมอง ส่งผลให้เขามีทีท่าการพูดจาและเดินเหินคล้ายๆ กับจะปัญญาอ่อน (แต่ถ้าใครบังอาจไปว่าเขาว่า “ไอ้ปัญญาอ่อน” โดจุนจะลุยใส่ไอ้หมอนั่นแบบไม่กลัวตาย) อีกทั้งความสามารถในการจดจำและปะติดปะต่อเรื่องราวต่างๆ ยังด้อยประสิทธิภาพอย่างยิ่ง
หนังแบ่งเรื่องราวทั้งหมดออกเป็น 3 ช่วงใหญ่ๆ
30 นาทีแรกคือการบอกเล่าความสัมพันธ์ของตัวละครทั้งสอง แม่ประคบประหงมโดจุนเสียยิ่งกว่าไข่ในหิน เมื่อใดก็ตามที่ลูกชายอยู่ในระยะที่ตามองเห็น เธอเป็นต้องคอยจับตามองเขาจนแทบไม่เป็นอันจะทำอะไร และเมื่อใดที่เขาอยู่พ้นระยะสายตา เธอก็จะเป็นห่วงกังวลแทบคลั่ง ทำให้ภาพรวมของเธอเป็นคล้ายคุณแม่โรคจิตอย่างไรอย่างนั้น เหตุการณ์ในช่วงแรกสิ้นสุดด้วยการที่โดจุนถูกตำรวจจับฐานฆาตกรรมเด็กสาวคนหนึ่ง และการที่สมองทำงานไม่สู้จะสมประกอบนัก ก็ทำให้เขายอมเซ็นชื่อรับสารภาพ ก่อนจะมาบอกกับแม่ทีหลังว่าเขาไม่ใช่คนฆ่าเด็กสาวคนนั้น
ช่วงถัดมาเล่าถึงการที่แม่ต้องผันตัวเองมาเป็นนักสืบจำเป็นเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ให้ลูกชาย – หนังบอกผู้ชมผ่านบทสนทนาของเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งประจำที่เมืองเล็กๆ แห่งนั้นว่า เมืองเล็กๆ อันเงียบสงบแห่งนี้ ไม่เคยมีคดีใหญ่ๆ ร้ายแรงเช่นคดีฆาตกรรมเกิดขึ้นมาหลายปีดีดักแล้ว เพราะฉะนั้นตำรวจที่นั่นจึงไร้ทั้งประสบการณ์และความชำนาญในการสืบคดีเช่นนี้ สำหรับตำรวจ คำรับสารภาพของโดจุนถือว่าเพียงพอแล้วสำหรับการส่งเขาเข้าคุกแล้วปิดคดี อย่างไรก็ตาม สำหรับฮีจาผู้เป็นแม่แล้ว ข้อสรุปดังกล่าวเป็นสิ่งที่เธอไม่อาจยอมรับได้ และนั่นก็นำไปสู่การที่เธอตัดสินใจลงมือสืบหาตัวฆาตกรตัวจริงด้วยตัวเอง เธอไม่มีเงินทองหรือวิชาความรู้ในเชิงสืบสวนมากมาย แต่ใช้หัวจิตหัวใจของคนเป็นแม่ เป็นเครื่องมือสำคัญในการตระเวนล่าหาความจริงครั้งนี้
และช่วงสุดท้าย -ซึ่งกินเวลาราว 15 นาที- ก็คือ การนำความจริงมาตีแผ่ให้ผู้ชมและตัวละครรับรู้ พร้อมกันนั้นก็สรุปความเสียด้วยว่า ความจริงนั้นส่งผลเช่นไร และตัวละครในเรื่องมีวิธีรับมือกับมันเช่นไร
อารมณ์เด่นในแต่ละช่วงตอนของหนังนั้นค่อนข้างจะแตกต่าง (ทว่าได้รับการเรียงร้อยอย่างกลมกลืน) ช่วงแรกค่อนข้างจะน่าอึดอัด เนื่องจากหนังนำเสนอข้อมูลอันน่ากระอักกระอ่วนและชวนพิรุธเกี่ยวกับตัวละครนำทั้งคู่ให้แก่ผู้ชมหลายเรื่อง (อาทิ การที่เขาพูดอยู่บ่อยครั้งว่า เขา “นอนกับแม่” ซึ่งทีท่าที่ทั้งห่วงและหวงลูกเกินปรกติของผู้เป็นแม่นั้น ก็ชวนให้ผู้ชมสงสัยเหลือเกินว่า คำว่า “นอน” ของโดจุนนั้น มีความหมายเช่นไรแน่)
ช่วงที่สองระทึกขวัญตื่นเต้นตามแนวทางของเรื่องเชิงสืบสวนสอบสวน ขณะที่ช่วงสุดท้ายนั้นคือต้นเหตุที่มาของความหดหู่ทั้งหลายทั้งปวงดังที่ดิฉันกล่าวไว้ข้างต้น
“ความจริง” สองสามข้อที่หนังเปิดเผยออกมาในช่วงเวลา 15 นาทีสุดท้ายนั้น หักหาญหัวใจผู้ชมเอาการ มันเป็นความจริงที่เหนือความคาดหมาย และความจริงบางข้อของบางคน ก็ไม่ใช่เรื่องที่เราอยากเข้าไปรับรู้...
เทียบกับงาน 3 ชิ้นก่อน – Mother ดูจะมีความใกล้เคียงกับ Memories of Murder มากที่สุด ทั้งในแง่ของเนื้อหา บรรยากาศ และที่สำคัญ คือ การสะท้อนให้เห็นความไม่เอาไหนของภาครัฐ –ซึ่งในที่นี้มีตำรวจเป็นตัวแทน- ที่ตาสีตาสา ประชาชนตาดำๆ ต้องกลายเป็นผู้รับผลของความบกพร่องหย่อนยานนั้นแบบเนื้อๆ เน้นๆ (Memories of Murder เล่าถึงการสืบสวนฆาตกรรมต่อเนื่องที่หมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่ง ซึ่งทั้งวิธีการสืบสวน เครื่องมือเครื่องไม้ ประสิทธิภาพของบุคลากร และการสนับสนุนจากภาครัฐ เรียกได้ว่าอยู่กันคนละขอบโลกกับซีรีส์ CSI)
หนังยังคงมีอารมณ์ขันร้ายๆ ที่ถือได้ว่าเป็นลักษณะเด่นประการสำคัญในหนังของบองจุนโฮอยู่ แม้จะเจือจางลงไปบ้าง (ตอนหนึ่งใน Barking Dogs Never Bite ที่ดิฉันจำได้ติดตา คือ พระเอกของเรื่องจับหมาไปฆาตกรรมด้วยการแขวนคอ แล้วหนังดันทำให้คนดูขำกับการทารุณกรรมสัตว์เช่นนี้ได้อย่างไรไม่ทราบ)
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่โดยส่วนตัวดิฉันเห็นว่ายอดเยี่ยมมากสำหรับ Mother ก็คือ การ “ปูแล้วตบ” การวางรายละเอียดบางอย่างเอาไว้ แล้วย้อนกลับมาเก็บมันไปใช้ในเรื่องราวภายหลังได้อย่างหมดจดครบถ้วน
รายละเอียดที่ว่านั้น บ้างปรากฏขึ้นเพียงครั้งเดียวและดูเหมือนจะไม่สำคัญ บ้างได้รับการเน้นย้ำหลายครั้งพอให้ผู้ชมตระหนักว่ามันมีความสำคัญ แต่ไม่บอกใบ้มากพอที่จะให้เราคาดเดาได้ว่ามันสำคัญอย่างไร
2 อย่างที่หนังใช้วิธีการปูทิ้งไว้ดังที่กล่าวไป แล้วย้อนกลับมาตบซ้ำได้อย่างเฉียบขาด ก็คือ การเต้นระบำของแม่ และการฝังเข็มบนต้นขา
การเต้นรำนั้นปรากฏในช่วงเครดิตเปิดเรื่อง หญิงชราเดินมากลางทุ่งตามลำพัง จู่ๆ มีเสียงเพลงดังขึ้น เธอเต้นระบำคลอไปกับมันอย่างแช่มช้า ใบหน้าเหมือนจะหัวเราะและร้องไห้ไปพร้อมๆ กัน จากนั้นหนังก็ตัดไปเล่าถึงเรื่องราวหลัก ซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับการเต้นรำในครั้งนี้ทั้งสิ้น
ขณะที่การฝังเข็มบนต้นขา เธอพูดถึงมันหลายครั้ง กับบุคคลต่างๆ ในวาระโอกาสที่แตกต่างกัน และตามคำกล่าวของเธอ การฝังเข็มในจุดดังกล่าว จะส่งผลลัพธ์บางประการต่อสมองและความทรงจำ
สารภาพตามตรง ครั้งแรกที่ดูฉากที่เธอเต้นระบำ ดิฉันคิดแค่ว่า หนังคงเพียงอยากหาฉากเปิดเรื่องเก๋ๆ และในทางหนึ่ง มันก็สามารถบ่งบอกความผิดปรกติของตัวละครตัวนี้ได้ด้วย – เท่านั้น
ขณะที่การฝังเข็ม วิธีการพูดของหญิงชรา ทุกครั้งที่เธอพูด มันเหมือนเธอพูดเพ้อๆ โม้ๆ เหมือนคุยโวโอ้อวดสรรพคุณความรู้เถื่อนของตัวเองไปเรื่อย โดยไม่มีสิ่งใดรับประกันได้เลยว่ามันจะให้ผลอย่างที่เธอว่าจริง
อย่างไรก็ตาม ในท้ายที่สุด เมื่อการฝังเข็ม การเต้นระบำ และเสียงเพลงบทเดิมเพลงนั้น ปรากฏขึ้นอีกครั้งในช่วงเวลาเดียวกัน ผู้ชมก็พบความกระจ่างในที่สุดว่า การฝังเข็มมีความสำคัญเช่นไร และเหตุใดหญิงชราจึงเต้นระบำ
...เป็นความกระจ่างที่ให้ความรู้สึกหดหู่สุดจะบรรยาย
ถึงขั้นที่ดิฉันดูแล้วอยากเดินเข้าไปถามคุณบองจุนโฮ ผู้กำกับ จังเลยว่า
“ทำกันขนาดนี้ พี่ฆ่ากันเลยดีกว่าไหม?”
http://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9520000143663
Mother - Official Trailer [HD]