ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: มกราคม 30, 2011, 11:39:24 pm »แก่นเรื่องของ Inception ดูจะเป็นการขยายความคำกล่าวของ Descartes นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสที่ว่า I think , therefore I am (ข้าคิด , ข้าจึงเป็น) ซึ่งครั้งหนึ่งเคยถูกใช้เป็นประโยคเปิดของหนังเรื่อง The 13th floor หนังสืบสวนสอบสวนซึ่งมีเนื้อหาว่าด้วยโลกจำลองซ้อนโลกจำลองหลายระดับ
ประเด็นเรื่องโลกซ้อนโลกถูกหยิบยกมาต่อยอดความคิดและนำเสนอออกมาหลากหลายรูปแบบ เช่น หนังสือโลกของโซฟี หนังแอ็คชั่นปรัชญาอย่าง The Martrix : Trilogy หนังจิตวิทยาสุดบรรเจิดเรื่อง The cell การ์ตูนญี่ปุ่นแนวหม่นมืดของ ซาโตชิ คอน เรื่อง Paprika (ใช้เครื่องมือแชร์ฝันและมีการควบคุมความคิดเหมือนกัน) เป็นต้น
Inception มีส่วนผสมของหนังหลายแนว ทั้งจินตนาการหวือหวาบนพื้นฐานทฤษฎีแบบหนังไซไฟ (ส่วนนี้ดูจะออกรสชัดที่สุด) ความสนุกแบบหนังแอ็คชั่นไล่ล่าภายใต้ข้อจำกัดบางอย่าง ปมทางจิตวิทยาและเรื่องลึกลับชวนค้นหาแบบหนังสืบสวนสอบสวน
เนื้อเรื่องของ Inception สรุปพอสังเขปได้ว่า พระเอกพร้อมทีมคือนักโจรกรรมความคิดโดยการย่องเบาเข้าไปในความฝันคนอื่น จากความล้มเหลวในภารกิจหนึ่ง พระเอกพร้อมทีมต้องลี้ภัยจากบริษัทผู้ว่าจ้าง แต่แล้วเหยื่อในภารกิจครั้งก่อนกลับมาว่าจ้างให้ทำภารกิจใหม่ โดยให้ฝังความคิดบางอย่างลงไปในตัวคู่แข่งธุรกิจ พระเอกตกปากรับคำเพราะค่าเหนื่อยของภารกิจนี้คือการล้างคดีเก่าซึ่งเป็นหนทางเดียวที่เค้าจะได้กลับบ้านไปหาลูก
โดดเด่นที่สุดของ Inception คงเป็นพล็อตว่าด้วยฝันซ้อนฝันหลายระดับทำนองเดียวกับ The 13th floor หนังวางเงื่อนไขว่ายิ่งฝันในระดับลึกลงไป มิติทางเวลาก็ยิ่งขยายออก เช่น ในความฝันระดับสี่ที่กินเวลานานตราบชั่วชีวิต
หนังวางกฎเหล็กไว้หลายประการ เช่น เหตุการณ์แวดล้อมร่างที่หลับคือตัวแปรให้สะเทือนถึงความฝันและอาจกระเพื่อมต่อถึงฝันในระดับที่ลึกขึ้น (เช่นความรู้สึกของผู้ว่าจ้างชาวญี่ปุ่นในฉากภูเขาหิมะที่ยังตระหนักรู้ว่าตัวเองนอนหลับอยู่บนเครื่องบิน) การปลุกให้ตื่นด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ความตายในโลกฝัน ความรู้สึกตกจากที่สูงทั้งในโลกฝันและโลกจริง รวมถึงการตื่นตามธรรมชาติเมื่อยานอนหลับหมดฤทธิ์
บทหนังจับพฤติกรรมการฝันของมนุษย์มาเล่นอย่างสนุก เช่น ความรู้สึกว่าเราอยู่กลางเหตุการณ์ในฝันโดยไม่ทราบจุดเริ่มต้น เด่นสุดคงเป็นฉากจลาจลในฝันของสถาปนิกคนแรกที่ไม่มีใครทราบที่มาที่ไป (และเป็นจุดสังเกตเล็กๆ ว่ายังฝันอยู่) การมีสติในฝันและตระหนักว่ากำลังฝัน (เป็นอีกรูปแบบของการฝึกความแข็งแกร่งของสติแม้ยามที่จิตอ่อนแอที่สุด) ความยึดมั่นทางอารมณ์ว่าเหตุการณ์ในฝันเป็นเรื่องจริง (เราเองก็คงเคยฝันเรื่องเศร้าจนร้องไห้น้ำตาไหลหรือฝันตลกจนขำออกมาจริงๆ) อาการตกใจตื่นเวลาฝันร้าย (เช่น ถูกฆ่าตายหรือรู้สึกวูบเหมือนตกจากที่สูง) ทว่าที่เก๋ไก๋โดนใจผมที่สุด คือตัวแปรทางกายภาพที่ส่งผลต่อเรื่องในฝัน อย่างตอนที่นักเคมีดื่มแชมเปญบนเครื่องบินแล้วเริ่มภารกิจฝันชั้นแรกเป็นฉากฝนตก นักปลอมแปลงบ่นในฝันว่าเจ้าของฝันดื่มหนักแต่ไม่ยอมเข้าห้องน้ำ (เชื่อว่าหลายท่านคงเคยฝันเป็นฉากฝนตกเวลานอนปวดฉี่จัดๆ)
เหนือไปกว่าความตื่นตาตื่นใจใดๆ Inception ยังแฝงเรื่องราวชวนคิดว่าด้วยการให้อภัยตัวเอง โดยเฉพาะความรู้สึกผิดของพระเอกที่ยังคงตามหลอกหลอนอยู่ทุกย่างก้าว (หนังสื่อออกมาเป็นภาพคนรักที่ลอบเข้ามาก่อกวนภารกิจ) บทหนังฉลาดที่สื่อความผิดบาปของพระเอกออกมาเป็น 2 มิติ ทั้งความรู้สึกผิดในใจและการเป็นคนผิดกฎหมายในโลกแห่งความจริง ความทุกข์ของพระเอกได้รับการคลี่คลายออกพร้อมๆ กัน ทั้งการปลดเปลื้องความรู้สึกผิดในใจ (การอธิบายกับจิตใต้สำนึกว่าไม่ได้ผิดสัญญาแต่งงาน) และการลบล้างคดีเก่าตามข้อสัญญาของผู้ว่าจ้าง ฉากที่พระเอกผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองอย่างปลอดภัย จึงถือเป็นการเดินออกจากเขาวงกตแห่งปัญหาเพื่อผู้บริสุทธิ์คนหนึ่งจะมีโอกาสได้เริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้ง
Inception กล่าวถึงพลังของเมล็ดพันธุ์ทางความคิด (โดยเฉพาะในวัยเด็ก) ทั้งแง่ดีและแง่ร้ายซึ่งจะผลิดอกออกผลเมื่อเราเติบโตขึ้น แม้หนังจะให้รายละเอียดไม่ชัดนัก แต่ผมเชื่อว่าคนรักของพระเอกเติบโตมาในครอบครัวที่มีปัญหา (ความทรงจำในอดีตของเธอคือบ้านเก่าๆ กลางบึงน้ำซึ่งสะท้อนถึงความรู้สึกเย็นชาหรือความไม่อบอุ่น) ความจริงคงโหดร้ายเกินไป เธอจึงเลือกที่จะมีชีวิตอยู่ในความฝัน ทั้งการโหยหารักอย่างไม่รู้จักพออาจสื่อถึงความขาดพร่องในอดีต อีกตัวละครหนึ่งที่น่าสนใจคือทายาทนักธุรกิจซึ่งสูญเสียแม่ตั้งแต่เด็กและมีทัศนคติเห็นพ่อเป็นคู่แข่งทางธุรกิจ ช่องว่างที่ห่างเหินทำให้พ่อและลูกชายไม่มีโอกาสได้แชร์ฝันหรือร่วมแบ่งปันความคิดความรู้สึกถึงกัน อุทาหรณ์นี้อาจกลายเป็นอนาคตของครอบครัวพระเอก หากเค้ายังคงจมอยู่กับความรู้สึกผิดและละเลยที่จะสร้างความทรงจำหรือปลูกเมล็ดพันธุ์ดีๆ เพื่อมอบให้แก่ลูกของตัวเอง
ตัวละครในเรื่องจะมีโทเท็มส่วนตัว เป็นวัตถุเล็กๆ เพื่อยึดเหนี่ยวจิตใจให้รู้สึกมั่นคงปลอดภัยคล้ายศรัทธาหรือศาสนา โทเท็มช่วยในการแยกแยะความฝันและความจริงไม่ให้ผู้ท่องฝันหลงทาง ในอีกแง่หนึ่ง โทเท็มอาจเป็นตัวแทนของจิตใต้สำนึกแต่ละคน เช่น โทเท็มของสถาปนิกสาวเป็นตัวหมากรุก อาจสื่อถึงนิสัยชอบใช้สมอง ชอบเอาชนะ โทเท็มของคนรักพระเอกเป็นลูกข่างซึ่งในโลกฝันมันจะหมุนไม่หยุด การฝืนธรรมชาติของลูกข่างอาจสื่อถึงความจีรังหรือความยึดมั่นถือมั่นในบางอย่าง แม้พระเอกจะนำโทเท็มของคนรักมาใช้ แต่ในความเห็นผม โทเท็มที่แท้จริงของพระเอกคือเงาคนรักที่ปรากฏให้เห็นเสมอในความฝัน ก่อนที่เค้าจะมีสติตื่นรู้แล้วเปลี่ยนโทเท็มใหม่มายึดเหนี่ยวจิตใจกับลูกของตัวเองในโลกจริง
Inception ฉลาดในการอธิบายลักษณะจิตใจของมนุษย์ โดยเฉพาะในฝันของพระเอก พระเอกแบ่งความฝันที่สร้างขึ้นจากความทรงจำเป็นชั้นๆ ชั้นบนสุดคือความสุขความอบอุ่นของครอบครัว หนังใช้ฉากเป็นชายหาดในวันที่มีแสงแดดอบอุ่น (เป็นชั้นที่พระเอกอยากอวดให้สถาปนิกสาวเห็น) ส่วนฝันชั้นล่างสุด คือปมในใจที่เก็บซ่อนไว้และไม่ต้องการให้ใครรับรู้ซึ่งเป็นฉากวันตายของคนรัก ไม่ต่างไปจากธรรมชาติของทุกคนซึ่งจิตสำนึกอยากจะแสดงออกเป็นภาพที่ดีงามและกดทับจิตใต้สำนึกบางอย่างไว้กระทั่งกลายเป็นปมปัญหาในที่สุด
แม้ Inception จะเป็นหนังฝรั่งจ๋า แต่ผมกลับรู้สึกถึงกลิ่นความเป็นสามก๊ก โดยเฉพาะเล่ห์เหลี่ยมที่หลักแหลมในสงครามธุรกิจ จำได้ว่าตอนเรียนวิชาทรัพย์สินทางปัญญา อาจารย์เคยยกตัวอย่างเรื่องการล้วงความลับทางการค้าของนักธุรกิจญี่ปุ่นโดยตัวเองยอมทำผิดกฎหมาย เพื่อโจทก์ในคดีจะได้พิสูจน์สิทธิและแสดงรายละเอียดของความลับนั้นในศาล การปลูกความคิดใส่ทายาทนักธุรกิจใหญ่ให้สลายอาณาจักรของผู้เป็นพ่อใน Inception ก็เป็นอีกกลวิธีหนึ่งในการล้มมวยแบบฟรีๆ เพราะนักมวยฝั่งตรงข้ามถอดใจยอมแพ้ด้วยตัวเอง
Inception ใช้สัญลักษณ์หลักเป็นรูปเขาวงกต ทั้งการออกแบบอักษรชื่อเรื่อง การออกแบบเขาวงกตของสถาปนิกสาว โมเดลเขาวงกต ผังเมืองจากภาพมุมกว้างซึ่งมองคล้ายเขาวงกต ความสลับซับซ้อนของเขาวงกตถูกนำมาอธิบายการทำงานของจิตและสมองมนุษย์ (รอยหยักสมองก็มีลักษณะคล้ายเขาวงกตเช่นกัน) ทำให้ผมอดคิดไม่ได้ว่า หนังเรื่องนี้แทนที่จะเขียนบทแบบเรียงบรรทัด เค้าอาจเขียนบทหนังเป็นภาพแผนที่ความคิด (mind map) ด้วยแผ่นกระดาษขนาดใหญ่ เพราะในระหว่างที่ดูหนังเชื่อว่าผู้ชมหลายท่านคงรู้สึกเหมือนเดินความคิดอยู่ในเขาวงกตเช่นกัน
Inception ออกแบบเขาวงกตให้พระเอกต้องหาทางออก เช่นเดียวกับเราทุกคนที่มักติดกับดักความคิดตัวเองและจมอยู่กับปัญหาบางอย่างนานเกินไป การหลงทางความคิดไม่ต่างไปจากการหลงทางอยู่ในเมืองแปลกถิ่นที่แค่พลิกดูแผนที่ในมือก็จะพบทางออก เราอาจต้องถอยใจออกจากปัญหานั้นซักระยะ เปลี่ยนวิธีมองปัญหาที่ใหญ่โตให้เล็กลงด้วยมุมนก (bird’s eyes view) เชื่อว่าแผนผังหรือแผนที่ชีวิตก็จะปรากฏให้เห็นอย่างเป็นทั้งมวลเหมือนที่พระเอกเรามองเห็นและพบทางออกในที่สุด
http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=beerled&month=07-2010&date=25&group=1&gblog=57
'Inception' Trailer 2 HD
Inception Soundtrack HD - #1 Half Remembered Dream (Hans Zimmer)
Inception Soundtrack HD - #2 We Built Our Own World (Hans Zimmer)
Inception Soundtrack HD - #3 Dream Is Collapsing (Hans Zimmer)