ชั่วอึดใจเดียว จาก หนังสือชุด อิสรภาพแห่งชีวิต
เรื่อง สำหรับผู้เห็นความคิด
โดย บุรัญชัย จงกลนี
เตือนจิตสะกิดใจ 2 : ชั่วอึดใจเดียว
มีการสนทนาซักถามโต้ตอบระหว่างผู้มาปฏิบัติธรรมกับ หลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ ซึ่งมีเนื้อหาสาระที่สามารถนำมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติที่ส่งผลได้อย่างรวดเร็ว ชนิดที่เรียกได้ว่า “ ชั่วอึดใจเดียว ” ดังมีเนื้อหาที่น่าสนใจดังต่อไปนี้
ปุจฉา : ความสงบที่หลวงพ่อพูดถึงคืออะไรครับ ?
วิสัชนา : ความสงบที่เราสนใจกันนั้น โดยมากคนไปทำมันขึ้นมาให้สงบ ส่วนคำว่า สงบในพุทธศาสนาคือการจบเรื่องกัน หยุดแสวงหา ไม่ศึกษาอะไรที่ไหนอีกแล้ว
ปุจฉา : หมายถึงปล่อยวางใช่ไหมครับ?
วิสัชนา : จะหมายถึงปล่อยวางก็ได้ คำพูดมันเป็นเพียงการสมมุติ คือเรื่องมันจบกัน คือหมดการศึกษาอะไรต่อไปอีก หยุดการเดินหน้า หยุดการถอยหลัง หยุดการไป การมา ทั้งหมด แต่คนเรามักจะพยายามไปสร้างความสงบให้เกิดขึ้น โดยเข้าใจว่าต้องนั่งเอามือประสานกันที่หน้าตักแล้วหลับตาลงจึงจะสงบ นั่นไม่ใช่ความสงบ นั่นเราไปสร้างมันขึ้นมา ความสงบมันมีอยู่แล้ว อย่างคนเรานั่งอยู่เดี๋ยวนี้ นี่ก็เรียกว่าสงบได้ ไม่คิดอะไรใช่ไหม คือเฉย ๆ อยู่ ลักษณะนี้แหละสงบ ใครพูดอะไรก็ต้องได้ยินและรู้เรื่อง ตามองก็เห็น นี่ก็เรียกว่าสงบ ไม่ต้องไปทำอะไร แต่จะหลับตาก็ได้ไม่หลับตาก็ได้ ไม่ได้ห้าม หน้าที่ของตาคือสามารถมองเห็น เราก็ให้มันทำตามหน้าที่ของมันเท่านั้นเอง อย่าไปฝืนมัน ถ้าไปฝืนธรรมชาติของมัน มันก็ไม่สงบ
ปุจฉา : ผมพยายามทำใจให้ปล่อยวางให้สงบ
วิสัชนา : นั่นแหละมันไม่เข้าใจ อันความพยายามทำความปล่อยวางนั่นแหละ เราไปจับมันเข้าไว้แล้ว เราไม่รู้ความคิดแล้ว เราไปคิดมันขึ้นมาว่า “จะปล่อยวาง” มันจึงเป็นสองเรื่องแล้ว มันเป็นความคิดสองชั้นแล้วนั่นน่ะ มันไม่รู้จักวิธีปล่อยวาง มันทุกข์นะ เมื่อเราไปคิดพยายามปล่อยวางมัน มันเป็นสองทุกข์เข้าไปแล้ว หนึ่งมันคิดไปตามเรื่องของมัน สองเราพยายามปล่อยวางมัน เป็นสองทุกข์เข้าแล้วนะ ไม่ใช่ให้เราพยายามมัน ที่เราไปพยายามนั่นแหละ เราไปทำให้มันทุกข์แล้ว
ปุจฉา : แล้วจะทำอย่างไรครับ ?
วิสัชนา : เราเพียงรู้ ไม่คิด คือพอดีเราคิดขึ้นมา เราปล่อยทันที มาทำความรู้สึกตัว กำมือเข้ามา แบมือออกไปก็ได้ แล้วเราจะได้รู้สถานที่ที่ตรงนั้นเองที่พระพุทธเจ้าท่านสอนเอาไว้ว่า ทุกข์ให้กำหนดรู้ สมุทัยต้องละ นิโรธทำให้แจ้ง มรรคต้องเจริญ แต่นี่เราไม่รู้ตัว พอมันคิดแล้วเราก็ไปคิดอีก มันก็เลยเป็นสองชั้น ทีนี้พอมันคิดเราก็มาทำความรู้สึกตัว มันจะวางของมันเอง
ปุจฉา : ประโยชน์ของมันล่ะครับ ?
วิสัชนา : ประโยชน์หรือผลของมันคือ ความไม่มีทุกข์ ซึ่งมันมีในคนทุกคนอยู่แล้ว เมื่อมันคิดขึ้นมา เราอย่าพยายามให้มันหยุด อย่าไปห้าม เรามารู้สึกตัว แล้วมันจะวางความคิดมาอยู่กับความรู้สึกตัว มันจะหยุด ทำบ่อย ๆ ทำไปแล้วคุณจะรู้เอง และ เมื่อคุณรู้คุณจะร้องอ๋อ คุณรู้เองแล้วคุณจะต้องแจ้ง ไม่ใช่หลวงพ่อพูดแล้วคุณจะรู้ได้ ก็รู้ได้แต่รู้ได้เพียงสัญญา
ปุจฉา : หลุดพ้นไปใช่ไหมครับ ?
วิสัชนา : เมื่อมันยังไม่แจ้ง มันก็พ้นไปไม่ได้