ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: กุมภาพันธ์ 16, 2011, 03:53:46 pm »ธรรมทั้งหลายเหล่านี้มีมาในคัมภีร์พระอภิธรรมทั้งนั้น แสดงเป็นกลาง ๆเรียกว่าธัมมาธิษฐาน เป็นปรมัตถธรรมทั้งสิ้น ถ้ายกขึ้นสู่ปุคคลาธิษฐานเป็นพระสูตรทั้งสิ้น
จะยกปรมัตถ์ขึ้นสู่ปุคคลาธิษฐานให้เห็นเป็นพระสูตรเป็นตัวอย่าง เหมือนสติปัฏฐาน ๔ กาย ๑ เวทนา ๑ จิต ๑ ธรรม ๑ แสดงไว้เป็นกลาง ๆ อย่างนี้เป็นปรมัตถธรรม ถ้ายกขึ้นสู่บุคคลเป็นพระสูตร ชื่อว่า สติปัฏฐานสูตร
ยกขึ้นสู่บุคคลคือยกขึ้นสู่กายของเรานี้ คำที่ว่ากายนั้น หมายที่ประชุมธาตุดิน น้ำไฟ ลม ได้แก่สกลกายของเรานี้ ในอาการ ๓๒ มีเกสา โลมา เป็นต้น ถึง มัตถลุงคัง แยกเป็นดิน ๒๐ แยกเป็นน้ำ ๑๒ เพิ่มไฟลมเข้าอีก แยกเป็นไฟ ๔ แยกเป็นลม ๖ ชื่อว่า กาโย
ยกเวทนาขึ้นสู่บุคคล คือสกลกายนี้ ชื่อว่า เวทนา คือ มีสุขอย่างหนึ่ง มีทุกข์อย่างหนึ่ง มีไม่ทุกข์ไม่สุขอย่างหนึ่งประจำอยู่ที่สกลกายนี้เสมอ กายนี้จึงชื่อว่าเวทนา
ยกจิตขึ้นสู่บุคคล คำที่ว่า จิตนั้น ก็คือใจของเราที่รู้คิดรู้นึก รู้สกลกายอวัยวะนี้เอง ชื่อว่า จิต
ยกธรรมขึ้นสู่บุคคล ธรรมนั้นได้แก่ธรรมดา เขาเป็นอยู่อย่างนั้น เหมือนความประพฤติดี ความประพฤติชั่ว ดีชั่วเป็นตัวธรรมดา ถ้าบุคคลประพฤติดีก็เป็นบุญ ถ้าประพฤติชั่วก็เป็นบาป บุญ บาป ก็เป็นธรรมดา ยกธรรมขึ้นสู่บุคคลเป็นปุคคลาธิษฐาน พึงเข้าใจความอย่างนี้
จะยกธรรมประจำกายขึ้นมาแสดงอีกส่วนหนึ่ง กาย เวทนา จิต ธรรม รวมกันเข้าชื่อว่าบุคคล ยกสติขึ้นสู่กาย ขึ้นสู่เวทนา ขึ้นสู่จิต ขึ้นสู่ธรรม ชื่อว่ายกขึ้นสู่บุคคล เป็นปุคคลาธิษฐานอย่างนี้เป็นตัวอย่าง ชื่อว่าพระสูตร
รวมเนื้อความให้สั้นเข้า พึงสำเหนียกให้ตั้งใจว่า พระธรรม คือ พระสูตร พระวินัย พระปรมัตถ์ มีอยู่ในสกลกายของเรานี้ครบทุกประเภท คือ ห่อกายของเรานี้มิดชิดทีเดียว จึงเป็นปริยัติธรรม เราต้องจำทรงท่องบ่น คือให้รู้ไว้ว่า นี้พระสูตร นี้พระวินัย นี้พระปรมัตถ์ เมื่อเข้าใจแล้วก็เป็นปริยัติธรรมภายในขึ้น พระปริยัติเป็นเหตุส่องทางให้เราปฏิบัติ คือให้ดำเนินตามพระวินัยนั้นเอง ส่วนพระวินัยนั้นได้แสดงมามากแล้ว ไม่ใช่อื่น ได้แก่ศีล สมาธิ ปัญญานั้นเอง
ศีล สมาธิ ปัญญาเป็นองค์อริยมรรค มรรคเป็นเครื่องประหารกิเลส กิเลสนั้นที่เป็นรากเป็นมูลก็คือโลภะ โทสะ โมหะ เหลือนั้นกิ่งก้านสาขาของมูล ๓ นี้เอง เมื่อบำเพ็ญกองศีลให้มีขึ้นจนเป็นสีลขันธ์ คือสกลกายนี้เรียกว่าขันธ์ เมื่อสกลกายนี้ทรงศีลไว้ ก็ชื่อว่าสีลขันธ์ให้เป็นอธิศีลคือเป็นศีลอย่างสูง เป็นอริยกันตศีล มีอำนาจปราบโลภะ โทสะ โมหะส่วนหยาบ ที่เผล็ดออกมาทางกาย ทางวาจา ให้หมดอำนาจ ไม่สามารถจะงอกงามขึ้นได้ แล้วตั้งใจบำรุงสมาธิให้เป็นสมาธิขันธ์ คือให้รู้สึกว่าขันธ์อันนี้ทรงไว้ซึ่งสมาธิจนเป็นอัปปนาจิต ชื่อว่าอธิจิต มีอำนาจปราบโลภะ โทสะ โมหะที่เป็นกิเลสอย่างกลาง เกี่ยวเกาะอยู่กับจิตมีกามฉันท์เป็นต้น ให้หมดอำนาจไม่สามารถจะงอกงามขึ้นได้ แล้วตั้งใจบำรุงกองปัญญาให้เป็นปัญญาขันธ์ คือให้รู้สึกว่าขันธ์อันนี้ทรงไว้ซึ่งปัญญาคือ วุฏฐานคามินีวิปัสสนาปัญญา เป็นปัญญาชำแรกกิเลสอย่างละเอียดคือตัวอวิชชานุสัยเรียกว่า อธิปัญญา มีอำนาจปราบอนุสัยสังกิเลสให้หมดอำนาจไป
ส่วนปฏิเวธธรรมเป็นผลของปฏิบัติธรรมผู้บำเพ็ญกองศีลเต็มที่ กิเลสซึ่งเป็นข้าศึกของศีลดับไป ก็รู้สึกได้รับผลคือความสุขสำราญใจเป็นปฏิเวธธรรมในชั้นศีล เมื่อได้บำเพ็ญกองสมาธิให้เต็มที่ กิเลสที่เป็นข้าศึกของสมาธิดับไป ผู้ปฏิบัติก็รู้สึกได้รับผลคือความเย็นใจ เป็นปฏิเวธธรรมในชั้นสมาธิ เมื่อบำเพ็ญกองปัญญา ให้เต็มที่ กิเลสซึ่งเป็นข้าศึกของปัญญาก็ดับไป ผู้ปฏิบัติก็รู้สึกได้รับผลคือความสิ้นสงสัยในกิเลส ได้รับความสำราญบานใจ เป็นปฏิเวธธรรมในชั้นปัญญา
การแสดงปรมัตถธรรมไว้เป็นหลัก แล้วขยายออกมาเป็นพระสูตร พระวินัย ย่นลงเป็นปริยัติธรรม ส่องความถึงปฏิบัติธรรม ปฏิบัติธรรมส่องความถึงปฏิเวธธรรมไว้เพียงเท่านี้ พอเป็นเค้าทางแก่โยคาพจรกุลบุตรผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสาร เพื่อจะได้ตรวจตรองดำเนินตาม จะได้ไม่เป็นคนงมงาย ปฏิบัติอย่าให้เสียหลักพระปริยัติธรรม ให้ตรวจตรองจับเอาอาหารแห่งพระสูตร พระวินัย พระปรมัตถ์ พระปริยัติ พระปฏิบัติ พระปฏิเวธ ให้ชัดใจทั้งภายนอกและภายใน เมื่อฟังพระสูตร พระวินัย พระปรมัตถ์ภายนอก ให้เอาพระสูตร พระวินัย พระปรมัตถ์ภายในออกฟัง นอกมีเท่าใด ในก็มีเท่านั้น
พระธรรมที่แสดงมานี้ล้วนเป็น สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม คือเป็นพระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเทศนาดีแล้ว คือไพเราะในเบื้องต้นคือศีล ไพเราะในท่ามกลางคือสมาธิ ไพเราะในที่สุดคือปัญญา และเป็น สนฺทิฏฺฐิโก ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นด้วยตนเอง และเป็น อกาลิโก ผู้ปฏิบัติไม่ต้องอ้างกาลอ้างเวลา เพราะพระธรรมมีอยู่ทุกเมื่อ และเป็น เอหิปสฺสิโก ผู้ปฏิบัติอาจท้าทายร้องเรียกให้ผู้อื่นมาดูได้เพราะเป็นของมีจริง และเป็น โอปนยิโก ผู้ปฏิบัติอาจน้อมเข้าสู่ตน คือให้มีขึ้นในตนได้ และเป็น ปจฺจตฺตํ ผู้รู้ทั้งหลายคือผู้ปฏิบัติจะพึงรู้แจ้งจำเพาะที่ตน ไม่ต้องเป็นกังวลไปถามผู้อื่น
เมื่อพุทธบริษัทได้สดับธรรมปริยายดังแสดงมานี้ พึงมนสิการแล้วตั้งใจประพฤติปฏิบัติตาม ก็จักมีแต่ความเจริญงอกงามในศาสนธรรมคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าทุกทิพาราตรีกาล
ขอบพระคุณที่มาจาก : palungjit.com
http://agaligohome.fix.gs/index.php?topic=2612.0
miracle of love
Pics by : Google
อกาลิโกโฮม * สุขใจดอทคอม
อนุโมทนาสาธุที่มาทั้งหมดมากมายค่ะ