ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: กุมภาพันธ์ 23, 2011, 09:13:44 pm »35 ปีที่แล้ว หากบทสรุปคำตอบคือความย่อท้อในการเป็นช่างวาดรูป วันนี้เราคงไม่ได้เห็นภาพความอลังการตระการตาของ บ้านดำ จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นทั้งบ้าน ที่ทำงาน พิพิธภัณฑ์ และที่สำคัญคือเป็นจิตวิญญาณของจิตรกรผู้ยิ่งใหญ่ ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินผู้ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม)
บ้าน 35 หลังที่อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ทุ่มเทแรงกาย แรงใจ และทุนทรัพย์ส่วนตัวรังสรรค์ขึ้น โดยมีปรัชญาตะวันออกและศิลปะพื้นบ้านเป็นแรงบันดาลใจ ที่นี่ไม่เคยล้อมรั้วและเปิดบ้านต้อนรับผู้คนที่สนใจผลงานศิลปะไทยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา และด้วยความพร้อมของพิพิธภัณฑ์บ้านดำ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม โดยกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม จึงขอนำโครงการเปิดบ้านศิลปินแห่งชาติมาที่นี่ เพื่อเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ทางวัฒนธรรมและเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของชาวไทยและชาวต่างประเทศ ซึ่งบ้านดำถือเป็นบ้านหลังที่ 11 ในโครงการนี้
ในพิธีเปิดบ้านดำของอาจารย์ถวัลย์ที่นางแลคับคั่งไปด้วยศิลปินแห่งชาติที่มาแสดงความยินดีมากที่สุดถึง 10 คน ตั้งแต่ ศ.เกียรติคุณประหยัด พงษ์ดำ, ดร.กมล ทัศนาญชลี, อาจารย์ประเทือง เอมเจริญ, ศ.อิทธิพล ตั้งโฉลก, ศ.ปรีชา เถาทอง, ยรรยง โอฬาระชิน, ดร.นนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน, ศ.เดชา วรชุน, วรนันทน์ ชัชวาลทิพากร และศิลปินแห่งชาติหมาดๆ ธงชัย รักปทุม แล้วยังมีชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มาร่วมเป็นประจักษ์พยานในวันประวัติศาสตร์นี้
"ผมทำบ้านเพื่อดำรงชีวิต เป็นภาชนะใส่ร่างกาย เมื่อเติบโตและผ่านพ้นการดำรงชีวิต กลายเป็นผู้ดำเนินชีวิต ช่วงอายุ 36 ปีจึงทำภาชนะใส่จิตวิญญาณ ถ้าไข่มุกคือเทวาลัยอันเจ็บปวดจากน้ำตาหอย สิ่งที่ผมสร้างและทำขึ้นเป็นเทวาลัยแห่งความรักปรากฏรูป ซึ่งมีทั้งจิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม และวรรณกรรม บ้านดำเปิดมาเป็นที่ 35 ไม่มีรั้ว ไม่มีวันปิด ตั้งใจจะคืนศิลปะทั้งหมดให้แผ่นดินและมวลมนุษยชาติ ชีวิตของผมตั้งมั่นทำงานศิลปะ ไม่ได้หวังผลเพื่อชื่อเสียงเกียรติยศ ตลอดเวลาผ่านมาผมดำเนินชีวิตอย่างและเยี่ยงจิตรกรอาชีพ" อาจารย์ถวัลย์ ศิลปินแห่งชาติ เล่าถึงจุดเริ่มต้นการสร้างบ้านดำ
พื้นที่บ้านดำบนเนื้อที่ 65 ไร่ มีทั้งวิหารเล็ก มหาวิหารที่เป็นอาคารพิพิธภัณฑ์ บ้านลาวจัดแสดงเครื่องเงินโบราณ บ้านสามเหลี่ยม บ้านสามหลังจัดแสดงเครื่องตกแต่ง เครื่องเขินราชสำนัก ห้องจิตวิญญาณหรืออูปปรภพ อูบเปลวส่องฟ้า สถานที่จัดแสดงเก้าอี้ เขาควาย จระเข้ หอย เพื่อศึกษาอนาโตโครงสร้างสิ่งมีชีวิต อูบหัวนกเงือก บ้านเรือ นอกจากนี้ยังมีศาลาพระทองไสยาสน์ หอไตร บ้านแหวน ห้องเขียนรูปส่วนตัวจิตรกร โรงแกะไม้สำหรับลูกศิษย์ลูกหาของท่านทำงาน กระทั่งห้องน้ำยังเป็นห้องน้ำนก ห้องน้ำหอย มีเอกลักษณ์ ทุกตารางนิ้วในเขตบ้านดำเป็นความตั้งใจสอดแทรกปรัชญาพุทธศิลป์ของศิลปิน
"ไม่ว่าผมจะพูดอะไร ผมจะย้อนมาที่ไตรภูมิ รามเกียรติ์ พุทธภูมิ พุทธศาสนา คิดว่านี่คือเสียงของขลุ่ยที่กลับมาหากอไผ่ ในงานศิลปะทางตะวันออก ถ้าไม่รู้จักสิ่งเหล่านี้ ไม่รู้จักภูมิจักรวาลทั้งหมดแล้ว คุณจะเป็นต้นไม้ที่ไร้ราก ไม่มีวันเติบโต กลายเป็นหมาจรจัดที่ดูจากฝรั่งตรงนั้นตรงนี้ ผมไม่อยากพูดถึงหนังกำพร้าของความคิด ผมอยากจะหยั่งรากอาณาจักรที่ผมทำทั้งหมด ผมนำล้านช้าง อยุธยาตอนต้น-ปลาย รัตนโกสินทร์ต้น-กลาง-ปลาย นำแนวคิดของระบบสุริยจักรวาลที่เรารับจากอินเดีย ลังกา แล้วผ่านเข้ามาทั้งพุทธศาสนาหินยาน มหายาน สิ่งเหล่านี้หลับรอในใจผม ผมแปลเป็นรูปธรรมในบ้านดำ" จิตรกรแห่งแผ่นดินกล่าว
อาจารย์ถวัลย์เป็นจิตรกรอันดับหนึ่งของไทยที่มีฝีแปรงฉับไว นอกจากนั้นยังมีเอกลักษณ์ที่การพูดจาด้วยภาษาสละสลวย คมคายด้วยปรัชญาและบทกวี ท่านก็บอกการอ้างอิงบทกวีหรือวาทะที่คมคายของนักปราชญ์ ด้วยอยากให้คมคำและคมความคิด แล้วก็รู้สึกภาคภูมิใจในความเป็นชนชาติ เป็นเจ้าของภาษามาจากเหล่ากอของคนที่มีรากแก้ว และสงบสุขร่มเย็นอยู่ในแผ่นดินที่มีพระมหากษัตริย์ปกครองมายาวนานกว่า 60 ปี
ทุกวันนี้บ้านดำกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ของเอกชนขนาดใหญ่ในจังหวัดเชียงราย และเป็นแหล่งเรียนรู้วัฒนธรรมความเป็นไทย มีประชาชน นิสิต นักศึกษา และนักท่องเที่ยวแดนไกลปรารถนามาดูความอลังการของศิลปะที่นี่
ศ.เกียรติคุณประหยัด พงษ์ดำ ศิลปินแห่งชาติที่ได้ชื่อว่าเป็นกัลยาณมิตรของอาจารย์ถวัลย์ บอกว่า ทุกตารางนิ้วของบ้านดำ อาจารย์ถวัลย์สร้างสรรค์เป็นงานศิลปะ อย่างมหาวิหารก็แสดงความกล้าหาญ เพราะเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมที่โชว์โครงสร้าง ใช้ไม้ธรรมดาสร้างงานศิลปะให้เกิดคุณค่าใหม่ นี่คือคุณค่าที่หาสิ่งเทียบไม่ได้ บวกกับใจรักศิลปะ ทำให้ความงามของวัตถุปรากฏขึ้น ล้วนมาจากความมานะพากเพียร
"บ้านดำเป็นเรื่องอัศจรรย์ มาเมื่อปีที่แล้วก็ตื่นเต้น เดินย่างก้าวเข้ามาในวันนี้ยังตื่นเต้น เป็นงานศิลปะและสถาปัตยกรรมที่หนักแน่น ทุกอณูเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจ มีคนคนหนึ่งคิดสร้างสรรค์ออกมาเป็นรูปธรรม" อาจารย์ประหยัดกล่าว
ด้าน ดร.กมล ทัศนาญชลี กล่าวว่า นอกจากการเขียนรูป อาจารย์ถวัลย์ต้องการสร้างสถาปัตยกรรมเป็นสมบัติของประเทศชาติ ทุกครั้งที่มาบ้านดำจะมีสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา เพราะความคิดสร้างสรรค์ของศิลปินท่านนี้ไม่เคยสิ้นสุด บ้านดำถือเป็นคลังสมบัติของชาติ แล้วยังมีชาวต่างชาติที่สนใจผลงานของอาจารย์ถวัลย์ เห็นคุณค่านำผลงานจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ศิลปะต่างๆ ทั้งสหรัฐ, ยุโรป, เยอรมนี ฯลฯ การเปิดบ้านดำวันนี้ตนจึงมาร่วมแสดงยินดีจากใจ เพราะศิลปินสร้างที่นี่จากพลังใจจริงๆ
"บ้านดำ" หรือ "พิพิธภัณฑ์บ้านดำ" ตั้งอยู่เลขที่ 414 หมู่ 13 ต.นางแล อ.เมืองฯ จ.เชียงราย เปิดให้เยี่ยมชมทุกวันโดยไม่ต้องเสียบัตรค่าผ่านประตู สนใจสามารถแวะชมบ้านทุกหลังได้ ทุกหลังเต็มไปด้วยศิลปะ.
http://www.thaipost.net/x-cite/230211/34745