ตอบ

Warning: this topic has not been posted in for at least 500 days.
Unless you're sure you want to reply, please consider starting a new topic.
ชื่อ:
อีเมล์:
หัวข้อ:
ไอค่อนข้อความ:

Verification:
คนที่มีจิตใจอ่อนโยนส่วนใหญ่มัก คิดถึงสิ่งใดก่อนเสมอ  ( เลือกตอบแค่ ตัวเอง กับ คนอื่น ครับผม ):
คิดว่าความดีทำยากไหม( เลือกตอบแค่ ยาก กับ ไม่ยาก ครับผม):
ชีวิตบางครั้งก็เหมือนเหรียญสองด้านใช่หรือไม่ครับบางครั้งก็หัวบางครั้งก็ก้อย( เลือกตอบแค่ ใช่ กับไม่ใช่ครับผม):
^^ ขอความกรุณาพิมพ์คำว่า แสงธรรมนำใจ:
^^ ขอความกรุณาพิมพ์คำว่า ความดีนำทาง:
เปล่งวาจาว่าสาธุ เป็นการอนุโมทนาต่อพระสงฆ์ที่วัด หรือมีใครทำบุญแล้วมาบอกให้ทราบ ทราบแล้วยกมือขึ้น (สาธุ) กรุณาพิมพ์คำนี้ครับ  สาธุ:
โดยปกติชน นิ้วมือของคนเรา มีกี่นิ้ว (ตอบเป็นภาษาไทยครับ):
ใต้ร่มธรรม เป็น แค่เว็บไซต์และจินตนาการทางจิต การทำดี สำคัญที่ใจเรา เริ่มความดีที่ใจเราก่อนเสมอ พิมพ์คำว่า "เริ่มความดีที่ใจเราก่อนเสมอ":
คุณพ่อคุณแม่เปรียบดั่งพระอรหันต์ในบ้าน พิมพ์คำว่า "คุณพ่อคุณแม่ฉันรักและเคารพท่านดุจพระอรหันต์":
กล่าวคำดังนี้  "ขอโทษนะ":
ระหว่าง (ผู้ที่เรียนรู้ธรรมะเพื่อเอาชนะผู้อื่น) กับ (ผู้ที่เรียนรู้ธรรมะเพื่อเอาชนะตัวเอง)  ท่านจะเลือกเป็น:
กล่าวคำดังนี้  "ให้อภัยนะ":
หากมีคน บอกว่า เราไม่ดีเราเลว แต่ใจเรารู้ว่าไม่เป็นเช่นนั้น เราจะใช้วิธีใดจัดการกับเรื่องนี้  (โต้เถียงให้แรงกว่าที่เค้าว่ามา) หรือ (เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ความดีของเราเองไม่ต้องทำอะไร):
เคยนวดฝ่าเท้าให้ คุณพ่อคุณแม่บ้างไหม ถ้ามีโอกาส เราควรทำหรือไม่ (ควรกระทำอย่างยิ่ง หรือ ไม่ควรทำ):
พิมพ์คำว่า (แสงธรรมนำทางธรรมะนำใจ) ครับ:
รู้สึกระอายใจไหมที่เราทำร้ายคนอื่นด้วยวาจาหรือสำนวนที่ไม่สุภาพ โดยที่คนคนนั้นเค้าเคยเป็นผู้มีพระคุณต่อเรามา (ไม่ละอายใจ)หรือ(ละอายใจ):
ขนทรายเข้าวัดคือ พิมพ์สำนวนต่อไปนี้ครับ (ทำบุญทำกุศลโดยวิธีนำหรือหาประโยชน์เพื่อส่วนรวมมิได้ทำเพื่อตนเอง):
ผู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือ ผู้ที่ทำตนให้เล็กที่สุด ผู้ที่เล็กที่สุดก็จะกลายเป็นผู้ที่ใหญ่ที่สุด ผู้ที่มีเกียรติคือผู้ที่ให้เกียรติผู้อื่น ฉะนั้นสมาชิกใต้ร่มธรรมควรให้เกียรติกันและกัน พิมพ์คำว่า (ฉันจะให้เกียรติสมาชิกทุกๆท่านในใต้ร่มธรรมเสมอด้วยวาจาสุภาพอ่อนน้อม):
ไม่มีอะไรสายสำหรับการเริ่มต้น พิมพ์เป็นประโยคภาษาอังกฤษครับ เป็นตัวพิมพ์เล็กทั้งหมดนะครับ เว้นวรรคคำด้วยครับ (It is never too late to mend):
ผู้ที่ไม่เคยรับรู้รสของความขมขื่น จะไม่รู้ว่าความหวานชื่นคืออะไร พิมพ์เป็นประโยคภาษาอังกฤษครับ เป็นตัวพิมพ์เล็กทั้งหมดนะครับ เว้นวรรคคำด้วยครับ (He who has never tasted bitterness does not know what is sweet):

shortcuts: กด alt+s เพื่อตั้งกระทู้ หรือ alt+p แสดงตัวอย่าง


สรุปหัวข้อ

ข้อความโดย: ดอกโศก
« เมื่อ: กุมภาพันธ์ 25, 2011, 10:01:43 pm »

อนุโมทนาค่ะ

เคยฟังธรรมจากพระอาจารย์ปสันโน พระอาจารย์ชยสาโร และพระอาจารย์มิตซูโอะค่ะ

ยังไม่มีโอกาสได้กราบพระอาจารย์สุเมโธเลยค่ะ  :13:
ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: กุมภาพันธ์ 24, 2011, 10:39:33 pm »

 

กระทู้ในบอร์ดใหม่

ประวัติและปฏิปทาพระราชสุเมธาจารย์ (โรเบิร์ต สุเมโธ)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=19591

ประมวลภาพ “พระราชสุเมธาจารย์ (พระอาจารย์โรเบิร์ต สุเมโธ)”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=27376
ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: กุมภาพันธ์ 24, 2011, 10:37:20 pm »

 

๏ พระอาจารย์ปสันโน ภิกขุ

พระอาจารย์ปสันโน เจ้าอาวาสวัดป่าอภัยคีรี น้อมธรรมนำสู่ตน


พระอาจารย์บวชมาได้กี่พรรษาแล้วคะ

บวชมาได้ 28 พรรษา


ท่านอาจารย์บวชเพราะอะไรคะ

การบวชของเราเกิดจากความสนใจในพระพุทธศาสนาและความสนใจที่จะหาความสงบในชีวิต ที่จริงก็บวชด้วยความบังเอิญ คือเราไม่ได้ [ถึงกับ] ตั้งใจบวช เราเพียงแต่ตั้งจะศึกษาพระพุทธศาสนา ตั้งใจหาวิธีทำจิตให้สงบ เรามาเมืองไทย มาในฐานะนักท่องเที่ยว คือเราไม่รู้ว่าเมืองไทยเป็นเมืองพุทธศาสนา เราเป็นคนแคนาดาและเพิ่งจบมหาวิทยาลัยใหม่ๆ และยังหนุ่ม ก็อยากหาประสบการณ์ เราก็ไปเที่ยวทางยุโรป ไปหลายประเทศ กรีซ ตุรกี อิหร่าน อัฟกานิสถาน ปากีสถาน อินเดีย เนปาล ก็ไปกัน เพื่อหาประสบการณ์ แต่ว่าเมื่อยิ่งมีประสบการณ์มากยิ่งขึ้น ก็ยิ่งมีความรู้สึกอยากแสวงหาสิ่งที่เป็นแก่นในชีวิตบ้าง มันมีส่วนหนึ่งทีทำให้เราอยากแสวงหาอะไรที่เป็นสาระ

เราไปเช่าบ้านที่ทางเหนือของอินเดีย แถบภูเขาหิมาลัย บ้านก็สวย สถานที่ก็สวย เป็นภูเขาสูงๆ อยู่ในสวนแอปเปิ้ล ใกล้ๆ ก็มีน้ำตก 2 แห่ง มีน้ำพุร้อน คือธรรมชาติก็สวยที่สุดที่เราเคยเจอมา คนที่เราอยู่ด้วยเราก็ชอบ แต่ก็ยังรู้สึกว่า เอ๊ะ อันนี้ ทำไมเรามีอะไรทุกอย่างทีเราเคยปรารถนา แต่ยังไม่มีความสุข ก็มีความรู้สึกเช่นนี้มาตลอด แต่ก็มีความรู้สึกค่อนข้างจะชัดเจนที่อินเดีย และรู้สึกมาตลอดว่า ความพร้อมทางด้านวัตถุที่รายล้อมตัวเรานั้นไม่ได้ทำให้เรามีความสุขในใจ มีความรู้สึกว่า ยังไงเราก็ต้องไปแสวงหาความสุขทางจิตใจมากกว่า ไม่รู้จะไปหาได้ที่ไหน

เคยได้อ่านหนังสือเกียวกับพระพุทธศาสนาในสมัยเราเป็นนักศึกษา ก็มีความสนใจมากพอสมควร แต่ไม่เคยพบครูบาอาจารย์ มาถึงเมืองไทยก็คงจะเบื่อในการท่องเที่ยวแล้ว แล้วก็พระพุทธศาสนาก็พร้อม คือหันไปทิศไหน ก็เห็นวัด ชอบพุทธอยู่ตลอด ก็เลยทำให้เรา เอ๊อะ เราเมื่ออยู่ในทีนี้ เราควรจะถือโอกาสศึกษาพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะวิธีฝึกสมาธิ ทำกัมมัฏฐาน ก็ได้เริ่มทำ เริ่มทำแล้วก็ทำในวัด อยู่ในวัด ศึกษาในวัด

พระที่อยู่ก็ชวนให้บวช คือเราปฏิบัติมาแล้ว เราฝึกมาแล้ว เราก็เห็นคุณค่าในการปฏิบัติ พระจึงได้ชวนบวช เราก็คิดว่า ถูกถามที่แรกก็ปฏิเสธ ไม่สนใจที่จะบวช เพราะว่าเราคิดในหลักว่า บวช เราก็ต้องอยู่เป็นนักบวชตลอดชีวิต พระจึงบอกว่า ในประเทศไทยนั้นเรามีประเพณี เราไม่จำเป็นที่จะต้องบวชอยู่ตลอดชีวิตหรอก จะบวชสักพรรษานึง สัก 3-4 เดือน เราก็คิด เอ๊อะ 3 เดือน 4 เดือน เราก็พอไหว คิดว่าจะไม่เกินกำลังของเรา เราก็น่าจะได้สิ่งที่ดีจากประสบการณ์อันนั้น ตอนที่เราบวชใหม่ๆ เราก็คิดแค่นั้น แต่พอบวชแล้ว ก็ยิ่งจะเห็นคุณค่าของการปฏิบัติ และเริ่มที่จะรับความสงบทางจิตใจ เมื่อได้เริ่มรับความสงบเราก็อยากจะปฏิบัติต่อ

ตอนนั้น ที่เราบวชก็บวชที่กรุงเทพฯ ที่ฝั่งธนฯ ที่ วัดเพลงวิปัสสนา และก็ได้ยินกิตติศัพท์ของหลวงพ่อชา ซึ่งท่านเป็นพระที่อยู่ป่า และก็อยู่ต่างจังหวัด และปฏิบัติเคร่งครัด ระเบียบเรียบร้อย เราก็ฟังแล้วก็น่าสนใจ ก็ขึ้นไปกราบหลวงพ่อชาที่อุบลฯ ที่วัดหนองป่าพง

คำพูดแรกที่ท่านพูดออกมาว่า เอ้อ คุณจะมาปฏิบัติกับเรา อยู่กับเรา ต้องอยู่อย่างน้อย 5 ปี ทีแรกได้ยินถึงกับถอยเลย รู้สึกไม่ไหว แต่ว่าตอนนั้นทำให้เราได้พิจารณานะ เอ๊ะ เราเห็นตัวอย่างของหลวงพ่อชา เราก็ศรัทธา เห็นปฏิปทาของพระ เณร แม่ชี อุบาสก อุบาสิกา เราก็ประทับใจและศรัทธา ก็อยากจะศึกษาอยากจะอยู่ด้วย เราก็ยิ่งเห็นตัวอย่างของหลวงพ่อชา ท่านก็เป็นพระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ และท่านก็มีเสน่ห์ในตัวท่าน คือท่านสอนก็ดึงใจของคนได้ ก็ทำให้เราก็ยิ่งศรัทธา ก็ยิ่งอยากจะอยู่ ก็เถียงในใจนานพอสมควร ก็เลยตกลง เอ้า 5 ปีก็ 5 ปี

จากทีแรก ที่ตัดสินใจบวช ไม่คิดว่าจะนานเลย ไม่ได้คิดอะไร เพราะว่าคิดจะสึกอยู่แล้ว (หัวเราะ) คือเราไม่ได้ตั้งใจทีจะอยู่นาน เลยไม่ได้ฝืนใจ ความรู้สึกของอาตมาก็ปฏิบัติไป ยิ่งเห็นคุณค่า ก็ยิ่งพอใจที่จะอยู่ในเพศบรรพชิต เพราะเรารู้สึกว่า เอ้อ ทางนี้เป็นทางที่ถูกต้อง


จากการที่ได้ศึกษาประวัติของท่านอาจารย์นะคะ ท่านอาจารย์เรียนทางด้านจิตวิทยาใช่ไหมคะ จิตวิทยาก็ศึกษาเรื่องจิตใจของมนุษย์ ตอบคำถามไม่ได้หรือคะ

คือเราดูจากตัวอย่างของคน คืออันนี้มันเป็นส่วนหนึ่ง เช่น ถ้าจะเทียบ เราเห็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัย ที่สอนเรื่องจิตวิทยา ไม่เห็นสงบเลย ยังจะมีเรื่องอิจฉากัน เรื่องทะเลาะกัน เราก็ดู เอ๊ะ รู้สึกสายจิตวิทยา จิตไม่เห็นจะได้อะไรมากเท่าไร แต่ว่า ยิ่งจะเห็นผู้ทีสอน อาจารย์ที่สอนพุทธศาสนา เราก็ประทับใจในความสงบและก็เหตุผล ยิ่งเห็นหลวงพ่อชา ก็ยิ่งจะมีความรู้สึกไม่เหมือนกัน พระพุทธศาสนานั้นเป็นเรื่องภาคปฏิบัติ ต้องเอามาใช้ในชีวิตจริงๆ ใช้แล้ว จิตใจย่อมเปลี่ยน

การสอนของหลวงพ่อชานั้น ในแต่ละวัน ส่วนหนึ่งที่สำคัญคือ วิธีดำเนินชีวิต เพราะว่าเราอาศัยรูปแบบของสงฆ์ และข้อวัตรระเบียบ การรักษาความเรียบร้อย จะการเดินออกบิณฑบาตก็ดี จะกลับมาวัด เวลาจะนั่ง คือมีหลักเกณฑ์ที่ควรจะปฏิบัติตาม เวลาอยู่ด้วยกันในหมู่สงฆ์ เราจะมีหน้าที่ซึ่งกันและกัน ที่จะต้องช่วยเหลือ ต้องเอื้อเฟื้อซึ่งกันและกัน คือจะเอาสิทธิความเห็นของตัวเองเป็นใหญ่ไม่ได้ คือต้องอยู่เป็นหมู่เป็นคณะ เรื่องนี้มันเป็นส่วนที่ช่วยสอนเรา ในการละกิเลส การสังเกตว่าสิ่งที่ทำให้เรารำคาญ หรือสิ่งที่ทำให้เราเยือกเย็นคืออะไรบ้าง เราศึกษาจากชีวิต

นอกจากนั้น หลวงพ่อก็จะทำวัตร และก็พาเราทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น มีการนั่งสมาธิ มีการเดินจงกรม อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งคือชีวิตประจำวันด้วย


แล้วท่านอาจารย์พบว่า ท่านอาจารย์ได้เข้าใจในชีวิต ได้เรียนรู้มากขึ้นเรื่อยๆ ยังไงคะ

เราก็รู้สึกว่าเราได้เรียนรู้มากขึ้น พอใจในการปฏิบัติมากขึ้น ในวัดหนองป่าพง ในสมัยนั้น คือถ้าเราอยู่ข้างนอก เราก็จะคิดว่า เอ้ ทรมาน อยู่อย่างลำบาก หรือมาอยู่บ้านนอก อยู่ห่างไกลจากหมู่บ้าน เดินก็ต้องเดินไกล บิณฑบาตมาแล้วเราก็ได้อาหารไม่มากนัก จะต้องเดินไกล อาหารที่ได้มา บางทีก็ข้าวเหนียว ปลาแดกบ้าง ไม่น่าสนใจ แต่ว่า คือความลำบากอันนั้นก็กลายเป็นส่วนหนึ่งที่เรา เป็นประสบการณ์ และก็ได้ฝึกหัดในสิ่งที่เป็นคุณธรรมด้านจิตใจ


แล้วท่านอาจารย์เรียน ศึกษาธรรมกับท่านหลวงพ่อชานานแค่ไหนคะ

เราอยู่กับหลวงพ่อชาได้ประมาณ 8 ปี แล้วท่านได้ป่วย ก็ช่วงที่ท่านไม่สบาย เราก็ยังอยู่ทีวัดนานาชาติ ก็ช่วยดูแลท่าน จนกระทั่งท่านได้มรณภาพไป ก็อยู่นานพอสมควร ทั้งหมดเราอยู่เมืองไทย 23 พรรษา ก่อนที่จะไปอเมริกา


ทำไมโบสถ์ที่วัดท่านเป็นอย่างนั้นละคะ

วัดป่าอภัยคิรีนั้นยังเป็นวัดใหม่ ยังไม่มีโอกาสที่จะทำอย่างอื่น สิ่งก่อสร้างต่างๆ ก็มีตามอัตภาพ คือสมัยพุทธกาล จะสร้างโบสถ์ใหญ่ๆ ตกแต่งอะไรมากนัก เขาไม่ค่อยทำ คือจะอาศัยที่ไหนที่มีสงฆ์พร้อมกัน คือเป็นสีมาตรงนั้น สมัยพุทธกาล การบวชก็คงจะกลางแจ้งเสียมาก แล้วเราไปอยู่ที่อเมริกา เป็นสถานที่ที่ราบพอสมควร ก็เป็นมุมสงบของวัดแห่งหนึ่ง เราก็เห็นว่าเป็นที่สมควรที่จะจัดการอุปสมบท ก็คิดว่า ในอนาคตต่อไปก็อาจจะสร้างโบสถ์ที่ถาวร แต่ในระยะนี้รู้สึกว่าอันนั้นก็พอ แล้วก็บรรยากาศก็ดี เป็นธรรมชาติ


ถ้ามีคนๆ หนึ่งอยากจะเรียนธรรมะ เริ่มต้นจากไม่รู้อะไรเลย สมมุติเป็นดิฉันเจ้าค่ะ ท่านอาจารย์จะเริ่มสอนอะไรคะ

พูดถึงปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สมัยนี้คนก็จะหาวิธีทำให้จิตสงบ ก็มักจะเน้นในเรื่องนี้ก่อน คือทำอย่างไรถึงจะทำให้จิตสงบ ขอให้ได้ทดลองการนั่งสมาธิ การรักษาศีล เพราะว่าความทุกข์ความวุ่นวาย มันไม่ใช่ว่ามันลอยมา มันมีเหตุ คือเหตุในตัวเรา การดำเนินชีวิตส่วนหนึ่ง แล้วก็ความขาดสติ และผู้รู้อยู่ในตัว ที่สามารถจะทำให้อารมณ์และความรู้สึกได้เย็นลง คือชอบฟุ้งซ่าน ชอบคิดในเรื่องที่พาให้วุ่นวาย จะพยายามสอนให้จิตมีสติมากขึ้น ฝึกให้มีผู้รู้ ติดตามความรู้สึกในกายในใจ จะได้ไม่หลงไปตาม ตรวจความคิดของตัวเองก็ดี ความเห็นของตัวเองก็ดี หรือแม้แต่โลกภายนอกก็ดี

กำหนดทีลมหายใจเข้า ลมหายใจออก กำหนดที่ความรู้สึกภายในร่างกาย ทำให้มีสติติดตาม แทนที่จะไปติดตามอารมณ์ความคิดนั้น คิดนึกปรุงแต่งต่างๆ เราก็กลับมาที่ความรู้สึกภายในร่างกาย ความรู้สึกของลมหายใจเข้าหายใจออก ก็จะช่วยจิตใจเย็นลง ขอให้มีสติเพิ่มขึ้น เรามีลมหายใจเข้าลมหายใจออกทุกคน ถ้าไม่มีก็ตาย เรียกว่ามีเครื่องมือพร้อม อุปกรณ์พร้อมที่จะทำให้จิตสงบได้


และสิ่งสำคัญในการเรียนการสอนให้ธรรมประสบความสำเร็จ คืออะไรคะ

ส่วนหนึ่งต้องมีสัจจะคือความซื่อตรงกับตัวเอง เช่นตัวเรามีความวุ่นวาย อยากให้มีความสงบมากขึ้น แต่ถ้าเรามีสัจจะในใจว่า เรานี่จะสงบ เราไม่อยากความวุ่นวาย เราคอยเห็นว่าสาเหตุของความวุ่นวายอยู่ตรงไหน

เพราะว่าโดยปกติเราไม่ค่อยซื่อตรงต่อตัวเอง แต่มีความทุกข์ คือไม่ใช่เป็นเรื่องของเรา เขามานินทาเรา จึงทุกข์ เขามาว่าเรา จึงทุกข์ เขามาวุ่นวาย จึงทุกข์ ครอบครัววุ่นวาย จึงทุกข์ อะไรอย่างนี้ คือเราจะโทษข้างนอกทังหมด ไม่เคยดูตัวเอง

หลวงพ่อชาท่านสอน สมมติว่ามีรูในดิน แล้วเอาเราของมีค่าใส่ลงไปในรูนั้น เวลาเราพยายามเอาของนั้นกลับคืนมา ก็พยายามเอามือล้วงลงไป ถ้าหากว่าไม่ถึง คนมักจะโทษว่า ไอ้รูนี้ลึกเกินไป เอาของขึ้นไม่ได้ ไม่มีใครว่าแขนเรานั้นสั้นไป คือเป็นวิธีการคิด คือเป็นธรรมะ เราจะน้อมเข้ามาใส่ตัวเรา ที่เราสวดเกี่ยวกับคุณสมบัติของธรรม มีคำหนึ่ง "โอปนยิโก" ต้องน้อมเข้ามาใส่ตัวเรา โดยปกติเราก็ไม่น้อมเข้ามา มันก็ออกไปเรื่อยๆ เวลาใจของเราออกไปเรื่อยๆ ความหลากหลายของอารมณ์มันก็ทวีขึ้น ในการที่จะน้อมใจของเรากลับเข้ามาหาหลักให้ตัวเราเอง ให้มีสติอยู่ คือความเท่าทันอารมณ์ ให้มีปัญญาอยู่ คือความรอบรู้ในอารมณ์นั้น คือตัวสติปัญญาภายในตัวเราจะเป็นสิ่งที่แก้ความทุกข์ได้ ทำความสงบให้เกิดขึ้นได้


ท่านอาจารย์ได้สอนทั้งคนไทยและต่างประเทศด้วย เปรียบเทียบหน่อยได้ไหมคะว่าต่างกันอย่างไร

ในการสอนธรรมแก่คนไทยและฝรั่งนั้น ในแง่หนึ่งก็เหมือนกัน ในลักษณะว่า คือเป็นมนุษย์น่ะมันชอบวิ่งไปตามความโลภ ความโกรธ ความหลง เหมือนกัน แต่ว่ายังไงก็ต้องมีความแตกต่างกัน คือด้านวัฒนธรรม เช่น คนไทย พูดถึงโดยทั่วๆ ไป พื้นฐานของคนไทยจะมีศรัทธา ซึ่งเป็นส่วนที่เวลาเราสอน จะมีความเชื่อมั่นในพระพุทธศาสนา หรืออย่างน้อยก็จะรับฟัง เพราะว่าศรัทธาเขาเป็นพื้นในสังคม เป็นพื้นในวัฒนธรรม และเป็นพื้นฐานทางจิตใจ พูดถึงทั่วๆ ไป

แต่เป็นฝรั่ง ไม่มี...ศรัทธาเขาจะน้อยมาก จะมีความสงสัย เป็นส่วนใหญ่ และจะมีความไม่เชื่อไว้ก่อน อันนี้เป็นความแตกต่าง ซึ่งเวลาสอนกับชาวต่างประเทศ ต้องให้เขาเข้าใจในเหตุผลให้ชัดเจนเสียก่อน คือหากว่าเขาไม่เข้าใจในเหตุผล เขาก็จะไม่ย่อมที่จะปฏิบัติตาม อันนี้เป็นส่วนที่แตกต่าง อันนั้นก็เป็นส่วนเสีย ส่วนดีคือ อาศัยความสงสัย ทำให้ค้นคว้าหาหลักหาแก่นสาร หาสาระให้กับคำสอน อันนั้นก็เป็นส่วนที่เป็นผลดี เพราะว่าทุกอย่างมีทั้งคุณและโทษอยู่ร่วมกันเสมอ

ซึ่งพระพุทธเจ้าท่านจะยกประเด็นของความทุกข์และการแก้ความทุกข์ เป็นหลักในพระพุทธศาสนา เพราะว่าทุกข์ที่เกิดจากสงสัยก็มี ทุกข์ที่เกิดจากศรัทธาก็มี ให้เราพิจารณาดู ให้เราค้นคว้าดู ทำอย่างไรถึงจะไม่ต้องมีทุกข์เลย


ท่านอาจารย์สอนลูกศิษย์มาเยอะแยะ เจออะไรแปลกๆ บ้างไหมคะ

บางคนก็มีศรัทธา อยากได้ และคิดว่าเราจะสามารถสรรหาได้ทุกอย่าง แล้วก็ขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาช่วย [สิ่งศักดิ์สิทธิ์] ก็อยู่ในตัวทุกคน

ยกตัวอย่างง่ายๆ เอาหลวงพ่อชาเป็นตัวอย่าง เคยมีครั้งหนึ่ง โยมคนหนึ่งไปหาหลวงพ่อชา เล่าให้ฟังว่า เคยบวชมาแล้ว เคยเป็นมหา แล้วก็ลาสิกขาไป มีครอบครัวมีอาชีพ แต่ว่ามีความอุปสรรคในการรักษาศีล ในการดำเนินชีวิต เขาไปทำผิดศีล มีปัญหาวุ่นวายแก่ตัวเอง แก่ครอบครัว เลยเข้าไปหาหลวงพ่อชาเพื่อรดน้ำมนต์ จะได้หายทุกข์แล้วก็หายปัญหา หลวงพ่อชาว่า เออ อย่างนี้ต้องให้สามเณรเอาหม้อน้ำมาให้มันต้มหน่อย เอาน้ำเดือดๆ มารด จะได้จำเอาไว้ มันไม่ใช่ว่ารดน้ำมนต์ จะหาย ต้องเปลี่ยนชีวิตของตัวเองจึงหาย


ท่านอาจารย์คิดว่าเป้าหมายในการบวชของท่านอาจารย์คืออะไรคะ

เป้าหมายก็คือหลุดพ้นจากความทุกข์ จากตัณหา หรือสิ่งที่เป็นมลทิน เราก็มีความตั้งใจที่จะหาสิ่งที่พระพุทธเจ้าบอกว่า ทุกคนสามารถที่จะเข้าหาได้ คือความบริสุทธิ์ และความหลุดพ้น ความอิสระ ความปลอดโปร่ง ความบริสุทธิ์ อันนี้พระพุทธเจ้าบอกว่า เป็นสิ่งที่มนุษย์เราสามารถที่จะเข้าถึงได้ ภาวะของการปลดเปลื้องออกจากความทุกข์


แต่ท่ามกลางสังคมที่สับสนอยู่ทุกวันนี้ ท่านอาจารย์ยังมีความเชื่อใช่ไหมคะว่ามนุษย์ที่มีทุกข์มากๆ ยังหลุดพ้นได้ด้วยตัวเอง

คิดว่าทุกสามารถจะทำให้ทุกข์ลดน้อยลงได้ ไม่มากก็น้อย สามารถที่จะทำความทุกข์ให้หมดเลยก็ได้ ถ้าหากว่าตั้งใจปฏิบัติ ตั้งใจศึกษา ตั้งใจอยู่กับสิ่งที่ถูกต้อง บางครั้งเวลาเราใช้คำสั่งสอนธรรมะ บางทีนึกว่า แปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์ของพระไตรปิฎก เป็นหนังสือเยอะๆ และธรรมะมากมาย แต่ที่จริง ธรรมะถ้าจะสรุปมามันเรื่องของความถูกต้อง ถ้าหากเราอยู่กับความถูกต้อง เราจะไม่ทุกข์ แต่หากว่าเราฝืนกับความถูกต้องมันก็เกิดความทุกข์ เพราะฉะนั้น จุดนี้แหละเป็นจุดที่สำคัญ ธรรมนั้นไม่ใช่อยู่ข้างนอก เป็นสิ่งที่อยู่ในตัวเรา



.............................................................

คัดลอกมาจาก ::
หนังสือพิมพ์มติชน รายวัน วันที่ 18 สิงหาคม 2545
บทสัมภาษณ์ พระอาจารย์ปสันโน เจ้าอาวาสวัดป่าอภัยคิรี สหรัฐอเมริกา
ในรายการ “นี่แหละ...ชีวิต” สถานีโทรทัศน์ช่อง 5 วันที่ 18 สิงหาคม 2545
ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: กุมภาพันธ์ 24, 2011, 10:36:03 pm »



๏ พระอาจารย์เขมธมฺโม

ในโอกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๗ มีพระสงฆ์ที่ปฏิบัติศาสนกิจในต่างประเทศ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะ ๗ รูป ที่น่าศรัทธาสนใจเป็นอย่างยิ่งก็คือ พระอาจารย์เขมธมฺโม เจ้าอาวาสวัดป่าสันติธรรม เมืองวอริค สหราชอาณาจักร (อังกฤษ)

ที่ว่าน่าศรัทธาสนใจมากก็เพราะว่า พระอาจารย์เขมธมฺโม หรือหลวงพ่อเขมธมฺโม เป็นพระภิกษุในศาสนาพุทธที่เป็นชาวอังกฤษโดยกำเนิด เพียงรูปเดียวที่ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ จากพระสงฆ์ธรรมดาขึ้นเป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ฝ่ายวิปัสสนา (พัดแฉกทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ พื้นกำมะหยี่สีขาวล้วน ปักดิ้นด้าน หน้าราหูเล็ก) ที่ “พระภาวนาวิเทศ”

เมื่อได้รับทราบข่าว หลวงพ่อเขมธมฺโม ได้เดินทางจากประเทศอังกฤษ มารับพระราชทานพัดยศ ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๗ ท่ามกลางความปลาบปลื้มปีติของบรรดาศิษยานุศิษย์ ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ

หลวงพ่อเขมธมฺโม เกิดเมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๔๘๗ ท่านได้ใช้ชีวิตทางโลกอยู่หลายปี และได้มีโอกาสศึกษาพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยตนเอง จนกระทั่งเกิดความรู้สึกศรัทธาสนใจมากยิ่งขึ้น จึงได้เดินทางเพื่อแสวงบุญไปยังดินแดนที่พุทธศาสนา เคยรุ่งเรืองหลายแห่ง ในที่สุดก็ได้เดินทางเข้าสู่เมืองไทย และบรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดมหาธาตุ กทม. เมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๑๔ หลังจากนั้นได้เดินทางไปศึกษาธรรมะกับพระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทโท) วัดหนองป่าพง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี และได้อุปสมบทเมื่อปี ๒๕๑๕ ศึกษาอยู่กับหลวงพ่อชา อีก ๕ ปี ก็ได้เดินทางกลับไปประเทศอังกฤษ ในปี ๒๕๒๐ พร้อมกับได้ก่อตั้งวัดป่าเล็กๆ ขึ้นแห่งหนึ่งที่เกาะไวท์ ชื่อว่า วัดป่าสันติธรรม ซึ่งเป็นสาขาที่ ๑๕๘ ของวัดหนองป่าพง ได้ดำเนินการเผยแผ่หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเรื่อยมา จนเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ชาวไทยที่อังกฤษ รวมทั้งชาวอังกฤษ

ผลงานโดดเด่นที่สร้างชื่อเสียงให้กับหลวงพ่อก็คือ การจัดตั้งองค์กรที่ชื่อว่า องคุลิมาล ขึ้น เพื่อเข้าไปให้ความรู้ทางพระพุทธศาสนา รวมทั้งการฝึกหัดปฏิบัติธรรมแก่ผู้ต้องขังในเรือนจำ ประเทศอังกฤษ ช่วงแรกท่านประสบปัญหามาก เนื่องจากทุกเรือนจำต่างปฏิเสธที่จะให้เข้าไปสอน เพราะเห็นว่าไม่น่าจะมีประโยชน์ และคงไม่สามารถจะช่วยเหลืออะไรผู้ต้องขังได้ อีกอย่างคือที่ผ่านมายังไม่เคยมีพระสงฆ์ทางศาสนาพุทธรูปใดได้เข้าไปสอนในเรือนจำเลย

ท่านได้เพียรพยายามขอร้องชี้แจงถึงเหตุผลว่า การปฏิบัติธรรมนั้นจะช่วยลดปัญหาทางด้านจิตใจของผู้ต้องขังได้มาก อันจะเป็นประโยชน์ต่อตัวผู้ต้องขังเอง รวมทั้งเรือนจำที่จะไม่ต้องมาคอย ตามแก้ปัญหาที่เกิดจากสภาพความกดดันทางจิตใจของผู้ต้องหา ในที่สุดท่านก็ได้รับอนุญาต ปรากฏว่าได้ผลเกินคาด จนปัจจุบันมีเรือนจำถึง ๒ ใน ๓ ของเรือนจำทั้งหมด ในประเทศอังกฤษ ได้นิมนต์ท่านได้เข้าไปสอน โดยมีทีมงานอาสาสมัคร ทั้งพระและฆราวาสอีกประมาณ ๔๐ คน ช่วยกันทำงานอย่างจริงจัง จนเป็นที่ชื่นชมของทางราชการอังกฤษมาก

ผลงานนี้ทำให้หลวงพ่อเขมธมฺโม ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ อันมีเกียรติแห่งจักรวรรดิอังกฤษ เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบ็ธที่ ๒ เมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๔๖ นับเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนารูปแรก ที่ได้รับพระราชทาน เครื่องราชอิสริยาภรณ์สูงสุดแห่งสหราชอาณาจักร

ในช่วงวันที่ ๑๔ มกราคม ถึง ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘ นี้ หลวงพ่อเขมธมฺโม จะเดินทางมาเมืองไทยอีกครั้งหนึ่ง เพื่อร่วมงานรำลึกและบำเพ็ญกุศลถวายแด่หลวงพ่อชา ที่วัดหนองป่าพง โดยจะพำนักที่กรุงเทพฯ ในช่วง ๓-๔ วันสุดท้ายของการเดินทางครั้งนี้

ศรัทธาสาธุชนท่านใดจะร่วมแสดงมุทิตาสักการะหลวงพ่อเขมธมฺโม ศิษย์หลวงพ่อชา ผู้มีปฏิปทาอันน่าเคารพเลื่อมใส กราบไหว้ท่านด้วยความอิ่มอกอิ่มใจในอานิสงส์ผลบุญของพระบริสุทธิสงฆ์ที่แท้จริง ติดต่อสอบถามได้ที่ โทร. ๐-๖๕๒๖-๓๖๑๐ หรือ ๐-๑๘๓๓-๑๒๘๓



>>>>> จบ >>>>>



ประวัติและปฏิปทาพระภาวนาวิเทศ (หลวงพ่อเขมธัมโม)
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=7732
ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: กุมภาพันธ์ 24, 2011, 10:34:37 pm »



๏ พระอาจารย์เจฟฟรี ฐานิสฺสโร

อีกหนึ่งดวงประทีปวัดป่าในอเมริกา

ในโอกาสที่พระอาจารย์ "เจฟฟรี ฐานิสฺสโร" เจ้าอาวาสวัดเมตตาวนาราม ซึ่งเป็นวัดป่าตามแบบพระกัมมัฏฐานในประเทศไทย ตั้งอยู่ที่เมืองแวลเลย์เซ็นเตอร์ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ได้เดินทางมาร่วมงานพระราชทานเพลิงศพ หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ เมื่อเร็วๆ นี้ "มติชน" ได้สัมภาษณ์ท่านเพื่อให้ทราบถึงสภาพการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในสหรัฐ โดยมีรายละเอียดดังนี้

"ถึงไม่ได้คนแต่ก็ให้ได้เราคนเดียวก็ยังดี ให้ได้เป็นพยานหลักฐานว่า ผู้ปฏิบัติจริงก็ได้ผลดีจริง ปัญหาที่พระพุทธเจ้าแก้นั้นเป็นปัญหาสากลคือ ทุกข์ ซึ่งไม่ได้อยู่กับวัฒนธรรมใด ต่างก็มีทุกข์อยู่ด้วยกันทั้งสิ้น อยู่ที่โน่นก็มีหลายคนอยากให้เปลี่ยนแปลงอย่างโน้นอย่างนี้ เราก็บอกว่าอยู่ที่นี่ห่างไกล ทางร่างกายก็ห่างไกล อย่างเดียวที่ทำได้คือ ประพฤติปฏิบัติอย่างที่ท่านสอน ถ้าเราเปลี่ยนแปลงก็เท่ากับว่า เราตัดรากของตนเอง"


ความนิยมในพระพุทธศาสนาของคนที่โน่นเป็นอย่างไรบ้างครับ

ยังมีมากอยู่ และศาสนาพุทธเป็นที่นิยมมากในศตวรรษที่ผ่านมา แต่ส่วนมากจะออกไปในทางทิเบตมากกว่า เพราะเขามีการโฆษณามาก มีการติดต่อกับนักการเมือง ผู้มีอิทธิพล ดารา ต่างๆ แต่เราไม่ทำอย่างนั้น เราไม่ได้คิดว่า ธรรมะของพระพุทธองค์เป็นสินค้า พุทธฝ่ายไทยเรามีวัดอยู่ 100 กว่าวัด ทั้งธรรมยุตและมหานิกาย


หลวงพ่อเป็นพระอุปัชฌาย์องค์เดียวของธรรมยุตที่นั่นใช่ไหมครับ

เป็นองค์เดียวที่เป็นพระฝรั่ง พระไทยที่ท่านเป็นอุปัชฌาย์ฝ่ายธรรมยุตนั้นมีหลายองค์


มีคนมาสนใจบวชมากไหมครับ

วันก่อนเจอเจ้าอาวาสท่านหนึ่งที่เข้าอบรมอุปัชฌาย์รุ่นเดียวกัน อาตมาถามท่านว่า บวชพระไปกี่องค์แล้ว ของท่านเป็นพัน ของเรา 8 องค์ ตั้งแต่ปี 1995 (พ.ศ.2538) คนมาบวชส่วนใหญ่สนใจเรื่องการภาวนา โดยมากก็เป็นคนหนุ่ม


หลวงพ่อกำหนดไว้อย่างไรครับถึงจะบวชให้

ให้ถือศีล 8 เป็นเวลาหนึ่งปีที่วัด และดูนิสัยของเขาว่าจะไปได้ไหม มีความมั่นคงอย่างไร เพราะบางคนเดือนสองเดือนแรกก็ดูดี แต่พอ 3-4 ก็ออกอาการแล้วก็มี เลยได้แค่ 8 ไม่ได้เอาจำนวน เอาคุณภาพ คนเยอะก็ปัญหาเยอะ ถ้าคนไม่ตั้งใจปัญหาก็มาก ถ้าตั้งใจแล้วมันไม่มีปัญหา ไม่มีความขัดแย้งกัน ทิฐิตรงกัน ความเห็นตรงกันก็อยู่ด้วยกันได้


มีความแตกต่างระหว่างตะวันออก ตะวันตก ในเรื่องการพัฒนาและเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจบ้างไหมครับ

มีอยู่นะ แต่มีทุกข์ก็ต้องหาทางออกด้วยกันทั้งนั้น มีคนมาถามหลวงพ่อว่า ทำไมฝรั่งบวชได้ หลวงพ่อก็ว่า อ้าว ฝรั่งไม่มีจิตใจหรือ หัวใจก็มีทุกข์อยู่ด้วยกันทั้งนั้น ต่างก็หาทางออกกัน ทางโน้นก็มีวัฒนธรรมซึ่งเป็นเครื่องกีดขวางอยู่เยอะ โดยมากก็ใช้จิตวิทยาแก้ไข ส่วนมากก็เป็นการใช้สิ่งตรงกันข้ามมาแนะนำ ปัญหาสิ่งแวดล้อม แนะให้กลับไปสู่ทุนนิยม มีทุกข์ก็ไปหาจิตแพทย์ จิตแพทย์ก็บอกให้คลายอารมณ์ อย่าเครียดนัก หรือบอกให้ไปหาคู่รักสักคน อะไรอย่างนี้ (หัวเราะ) คนที่ผ่านแบบนั้นมาแล้วพบว่า มันไม่ได้ผลอะไร ถ้ามี "แวว"ก็หาทางออกที่ดีกว่านั้น เขาก็จะหันมาหาธรรมะ


แล้วเขารู้จักเราได้อย่างไรครับ

ทางวัดไม่มีอินเตอร์เน็ตแต่มีคนไทยเองลงเว็บให้ ก็มีเนื้อหาเกี่ยวกับธรรมะ มีการแปลพระสูตรของพระพุทธเจ้าเป็นภาษาอังกฤษลง ตอนนี้หลวงพ่อก็แปลไปกว่า 600 พระสูตรแล้ว กำลังจะรวบรวมพิมพ์เป็นเล่ม โดยแบ่งออกเป็น 4 เล่ม ไว้แจก adrees คือ www.accesstoinsight.org บางทีก็มีนิตยสาร วารสารต่างๆ มาสัมภาษณ์ บางทีหลวงพ่อก็เขียนบทความไปลง ถ้าเป็นวารสาร นิตยสาร ทางบรรณาธิการเขาจะนำบทความไปดัดแปลง เพื่อที่จะให้ขายดี ซึ่งบางทีก็ขัดกับหลัก แต่ทางเว็บไซต์ เราอยากออกอะไรก็ออกได้ นี่จะดีกว่า พอมีคนเห็นก็จะติดต่อมา


แล้วมีคนไทยเข้าวัดเยอะไหมครับ

ก็พอสมควร วันอาทิตย์ธรรมดาก็ 20-30 คน วันหยุดเทศกาลก็พิเศษ 300-400 วัดเราอยู่ในป่า อยู่ในเขตภูเขา 350 ไร่ เดิมมีคนซื้อถวาย 350 ไร่ แล้วขยายเพิ่มเพราะเกรงกันว่าจะมีคนมาสร้างบ้านใกล้วัดแล้วจะไม่สงบ


พระเยอะไหมครับ

พระมี 6 ฝรั่ง 4 ไต้หวัน 1 ไทย 1 การปลูกสร้างก็ทำพออยู่ มีศาลา มีห้องพักให้โยม มีห้องน้ำสาธารณะ กุฏิพระก็สร้างในป่าซึ่งเป็นสวนอโวคาโด ตัววัดอยู่ในภูเขาลูกหนึ่งสองข้างเป็นเขตสงวนของอินเดียนแดง


ถอดแบบวัดป่าสายพระกัมมัฏฐานใช่ไหมครับ

ใช่ ถ้าการก่อสร้างเยอะก็เป็นภาระเยอะ


อยู่โน่นภาวนาดีไหมครับ

ที่โน่นภาวนาดีมาก ไม่มีโยม ไม่มีไข้ป่า คนก็รบกวนน้อย สองข้างเขตสงวนอินเดียนแดงก็เป็นป่า ตอนที่หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ ไปอยู่ใหม่ๆ ท่านว่า เพิ่งได้ที่ภาวนาดีๆ อย่างนี้ พอท่านเดินไปอีกสองสามก้าวก็บอกอีกว่า "ที่เมืองไทยก็ไม่มีอย่างนี้" เพราะมันสงบจริงๆ


เห็นว่าเย็นๆ หลวงพ่อจะเทศน์

กิจกรรมที่วัด ตอนเช้าก็บิณฑบาต โยมที่มาพักภาวนาซึ่งจะมีอยู่ไม่ขาดสายจะเป็นคนทำอาหารถวาย ฉันในบาตร แล้วยกย้ายกันไปภาวนา แล้วก็ปัดกวาดวัด ทุ่มสองทุ่มก็ไหว้พระสวดมนต์ภาวนาแล้วก็เทศน์


หลวงพ่อเทศน์ภาษาอะไรครับ

ก็แล้วแต่คนที่มา ไปอยู่ใหม่ๆ ก็มีแต่ภาษาไทย ขณะนี้ก็มีภาษาอังกฤษ ถ้ามีทั้งสองกลุ่มก็เทศน์สองภาษา ก็ไม่ยากหรอก แต่มันก็มีความต่างกันอยู่นะอย่างถ้าคนไทยเรา หากพูดถึงเรื่อง "ขันธ์" ขึ้นมาเขาก็รู้อยู่แล้วว่าหมายถึงอะไร แต่ถ้าเป็นฝรั่งเราก็ต้องอธิบายยาว บางทีก็ยกปัญหาที่เขาซักถามมาอธิบาย


ลักษณะของปัญหาต่างกันไปแต่ละกลุ่มไหมครับ

หลักธรรมมีหลากหลายแต่ช่วงที่หลวงปู่สุวัจน์ไปอยู่ท่านก็บอกว่า วงศ์ของพระพุทธเจ้าเป็นอริยะวาส อริยวงศ์ ไม่ขึ้นกับสังคมไหน อริยวาส อริยวงศ์อยู่ตรงนี้ (ท่านทำมือหันเข้าหากันมีช่องว่างห่างกันประมาณหนึ่งคืบ เหยียดออกมากลางลำตัว) วัฒนธรรมประเพณีประเทศหนึ่งอยู่ตรงนี้ (ท่านหันมือในลักษณะเดิมแต่เอียงไปด้านซ้าย) วัฒนธรรมประเพณีอีกประเทศอยู่ทางนี้ (หันมือเยื้องไปทางขวา) เราตรงไป เมื่อเขาจะเคลื่อนเข้ามาสู่ความจริง เขาจะค่อยๆ เคลื่อนเข้ามาเอง (ท่านขยับมือข้างซ้ายและขวาซึ่งกางอยู่นั้นขยับเข้ามาตรงกลาง)

ความเข้าใจผิดของคนไทยเราก็อย่างหนึ่ง ของฝรั่งก็อย่างหนึ่ง สำหรับฝรั่งแล้วส่วนมากก็เอาปัญหาที่จะไปหาจิตแพทย์นั่นล่ะมาหาเรา มาหาพระไม่ต้องเสียเงิน หาแพทย์แล้วเสียเงิน (หัวเราะ)


หลวงพ่อดูแนวโน้มการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในโลกตะวันตกเป็นอย่างไรบ้างครับ

มันมีปัญหาหลายอย่าง เดี๋ยวนี้มีการดัดแปลงธรรมะเพื่อให้เป็นที่นิยม อย่างนี้มีมากต่อมาก โดยเฉพาะพวกฆราวาสที่ไปสอนพุทธศาสนา ก็จะเอาเฉพาะวิปัสสนาที่ช่วยแก้ไขปัญหาชีวิต ทำแบบจิตวิทยาแพทย์ ซึ่งมันจะค่อยๆ กลืนตัวไปเรื่อยๆ

คนไทยที่โน่นก็รู้สึกว่าเกิดแต่ละรุ่นก็ไม่เหมือนกัน เกิดยุคหลังสงครามโลก ยุค Baby Boom ก็อย่างหนึ่ง พวกเกิดทีหลังก็อีกอย่างหนึ่ง บางรุ่นที่ใหม่ๆ เขาก็เห็นว่า อีกรุ่นเอาศาสนาพุทธไปดัดแปลง จนเป็นตะวันตกไปหมดแล้ว ก็มีปฏิกิริยาขึ้นมา อยากจะหาธรรมะแบบเดิม

อีกข้อหนึ่งวัดไทยที่ไปตั้งที่นั่น ส่วนมากจะเอาวัดเป็นศูนย์รวมของท้องถิ่น พวกนี้จะอยู่ได้นานแค่ไหนก็ไม่ทราบ เพราะตามประวัติศาสตร์แล้ว พวกที่อพยพเข้ามาครั้งแรกจะยึดวัฒนธรรมเดิมของตัวเองอยู่ ส่วนรุ่นลุกนั้นไม่เอา จะเป็นอเมริกันเต็มตัว เข้าใจว่า ถึงอีกรุ่นก็คงจะไม่เอาอะไรเท่าไหร่ คงมีหลายแห่งที่อาจต้องสลายไป


หลวงพ่อคิดว่า ถ้าเราเดินตามสายเดิมแท้ๆ และให้เกิดความเข้าใจในธรรมะแล้วจะอยู่ยังยืนกว่าใช่ไหมครับ

ครับ หลวงปู่สุวัจน์ท่านจึงว่า ถึงไม่ได้คนแต่ก็ให้ได้เราคนเดียวก็ยังดี ให้ได้เป็นพยานหลักฐานว่า ผู้ปฏิบัติจริงก็ได้ผลดีจริง ปัญหาที่พระพุทธเจ้าแก้นั้นเป็นปัญหาสากลคือ ทุกข์ ซึ่งไม่ได้อยู่กับวัฒนธรรมใด ต่างก็มีทุกข์อยู่ด้วยกันทั้งสิ้น อยู่ที่โน่นก็มีหลายคนอยากให้เปลี่ยนแปลงอย่างโน้นอย่างนี้ เราก็บอกว่าอยู่ที่นี่ห่างไกล ทางร่างกายก็ห่างไกล อย่างเดียวที่ทำได้คือ ประพฤติปฏิบัติอย่างที่ท่านสอน ถ้าเราเปลี่ยนแปลงก็เท่ากับว่า เราตัดรากของตนเอง


แล้วธุดงค์กันอย่างไรครับ

ที่วัดพยายามออกป่าเดือนหนึ่งสองสามครั้ง ออไปที่ป่าก็มีทะเลทรายก็มี ก็จะมีคนกลุ่มน้อยๆ ที่รู้ว่าพอเราจะเข้าไปในเขตเขาๆ ก็จะเอาอาหารมาถวาย แต่ก็ยังกลุ่มน้อยอยู่


การธุดงค์ในลักษณะนี้ในแง่ของจิตใจแล้วได้ประโยชน์มากไหมครับ

ได้ประโยชน์มาก เมื่อเราออกจากที่เดิม เปลี่ยนสภาพแวดล้อม สภาพสังคมเดิมก็จางลงไป เราก็อยู่กับธรรมชาติซึ่งมีธรรมะแสดงอยู่ตลอดเวลา มีแก่ มีเกิด มีเจ็บ อยู่รอบตัวเรา ที่ทะเลทรายก็ไม่ลำบากหรอกเพียงแต่ต้องหาที่หลบแดดและเรื่องน้ำ ที่แคลิฟอร์เนียมีทะเลทรายเยอะ เฉพาะที่ติดทะเลจะมีต้นไม้แต่เลยเข้าไปแล้วก็จะแล้ง แต่ถ้าจะหาความวิเวกก็ต้องออก ที่ไหนๆ ก็มีอันตราย เราต้องรู้จักอันตราย เราก็ต้องไม่ประมาท


หลวงพ่อมีความเห็นต่อเรื่องการปรับปรุง พ.ร.บ.คณะสงฆ์อย่างไรบ้างครับ

ไม่ขอพูดดีกว่า หลวงพ่อเป็นห่วงอยู่อย่างเดียวว่า ป่าไม้เมืองไทยมันหายไป หายไป ป่าเป็นที่เกิดของพระนะ ในประวัติศาสตร์ก็บอกไว้ว่า เมื่อเกิดวิกฤตกับพระพุทธศาสนา เราก็ต้องหันไปหาพระป่า แต่ถ้าป่าน้อยลง ไม่มีป่าแล้วจะไม่มีผู้รักษาอริยธรรม


นานๆ กลับมาหลวงพ่อมองเมืองไทยเปลี่ยนไปบ้างไหมครับ
กลับมาคราวนี้สังคมไทยเปลี่ยนไปมาก เมื่อปี พ.ศ.2515 ตอนมาเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่นั้น ประเทศไทยยังเป็นประเทศด้อยพัฒนา แต่ด้านจิตใจ น้ำใจนี่ ไปที่ไหนคนต้อนรับดี แต่ขณะนี้ดูเหมือนใจยิ่งแคบเข้า แคบเข้า


หลวงพ่อจะมีคำแนะนำให้กับผู้คนที่จะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมโลกที่กำลังเกิดขึ้นอย่างมากมายอยู่ในขณะนี้บ้างครับ

อยู่ที่การพัฒนาใจ การพัฒนาใจจะเป็นวิธีการแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุด ไม่ว่าปัญหาของตนเองแล้วขยายไปยังโลก ต้องมีความรู้มากๆ ต้องศึกษา รักษาคุณธรรม มีสัจจะเป็นตัวตั้ง ถ้าเศรษฐกิจดีใจก็ดี ถ้าเศรษฐกิจโต ใจก็โต อย่างนี้ก็แย่ เพราะฉะนั้นเราต้องมีหลักภายใน สถานการณ์โลกมันก็มีขั้นมีลง ถ้าใจของเราขึ้นลงกับเขามันก็แย่ เวลาโลกหมุนมันไม่ได้หมุนธรรมดานะ มันหมุนแบบเฟือง ถ้าเสียหลักมันก็ดึงเข้าไป ดึงเข้าไป กินเสื้อ ดึงแขน ดึงขาเข้าไป แขนก็ขาด ขาก็ขาด โลกาภิวัตน์นั้นมันมิใช่โลกาภิวัตน์หรอก มันเป็น โลกกาวินาศมากกว่า ตอนนี้อะไรๆ ก็เป็นสินค้าไปหมด ธรรมะของพระพุทธเจ้าก็ถูกทำให้เป็นสินค้าแล้ว มีการเอามาดัดแปลง เอามาขาย มาโฆษณากันแล้ว เนื้อในก็จะค่อยๆ หายไป


พอเกิดเหตุการณ์ 11 กันยายน สหรัฐถูกโจมตี สภาพจิตใจของคนที่นั่นเป็นอย่างไรบ้างครับ

ตามศูนย์ฝึกสมาธิอะไรต่างๆ นี้ไม่มีคนมาเลยเพราะหลับตาก็เห็นแต่ภาพเหตุการณ์นั้น แต่หลังจากนั้นไม่นานก็หลั่งไหลมาจนที่ไม่พอ คนแสวงหาที่พึ่งทางใจ แต่คนที่นิวยอร์กเขาเข้าใจนะเพราะเขาเป็นทุกข์ เขาเข้าใจคนอื่น ไม่อยากให้คนอื่นเป็นเช่นที่เขาประสบ แต่คนที่ดูโทรทัศน์ คนที่ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์นั้นจะต่อสู้อย่างเดียว อยากไปสู้กับเขา พวกนี้ไม่รู้เรื่อง ถึงขนาดมีคนบอกว่า พุทธต้องปรับตัวให้เข้ากับเขา ถึงขนาดนั้น

ทุกปีอาตมาจะได้รับนิมนต์ไปเทศนาอบรมจิตตามศูนย์ภาวนาที่เขาสร้างขึ้น เมืองต่างๆ 4-5 แห่งเป็นประจำ มีที่บอสตัน นิว เม็กซิโก ซีแอตเติ้ล นิวยอร์ก ซานฟรานซิสโก ก็ไปดูอาการของคนที่นั่นว่าเป็นอย่างไร เดี๋ยวนี้คนหันมาสนใจค้นหาหลักเดิมของศาสนามากขึ้นเพราะที่ดัดแปลงของเดิมเพื่อให้เข้ากับสังคมนั้นมันแก้ทุกข์ไม่ได้

‘ลมไม่ได้เป็นของพุทธของคริสต์ ลมเป็นของกลาง ให้ใจอยู่กับลม’


ไปมาอย่างไรครับหลวงพ่อถึงได้มาบวช

ไปรู้จักหลวงพ่อเฟื่อง โชติโก (วัดธรรมสถิตย์ จ.ระยอง ปัจจุบันมรณภาพแล้ว) ก่อน พักปฏิบัติกับท่าน 3 เดือนแล้วกลับไปอเมริกาปีกว่า ช่วงนั้นจิตใจก็ต่อสู้กันว่าจะบวชหรือไม่บวชดี โยมพ่อไม่อยากจะให้บวช โยมแม่นั้นท่านเสียชีวิตไปแล้ว เพื่อนฝูงก็ไม่มีใครสนับสนุน แต่ก็คิดว่า เรามีโอกาสพบครูบาอาจารย์ที่ดีแล้ว ถ้าไม่ปฏิบัติตอนนี้จะปฏิบัติตอนไหน ก็เลยตัดสินใจบวช มาอยู่กับหลวงพ่อเฟื่อง ตั้งแต่ปี 2519-2529 ท่านมรณะปี 2529 ก็อยู่ต่อมาอีก 5 พรรษา แล้วหลวงปู่สุวัจน์ ก็ได้นิมนต์ไปช่วยสร้างวัดเมตตาฯ ที่สหรัฐอเมริกา


ทุกวันนี่โยมพ่อและโยมเพื่อนว่าอย่างไรบ้างครับ

ทุกวันนี้ปรับได้แล้ว โยมพ่อก็ภาวนาอยู่ที่บ้าน อยู่ห่างกันไกลเพราะบ้านอยู่ที่เวอร์จิเนีย พ่ออายุ 85 แล้ว ตอนอยู่กับหลวงพ่อเฟื่อง ปีกว่าๆ ท่านมาหาก็พาไปกราบหลวงพ่อเฟื่อง พาไปดู เสร็จแล้วท่านก็ว่าพอแล้ว อาตมาบอกว่าว่า ยังไม่พอ ยังเรียนวิชานี้ไม่จบ ต้องลองนั่งภาวนา ท่านถามหลวงฟ่อเฟื่องว่า ท่านเป็นคริสต์มีอะไรขัดข้องไหม หลวงพ่อเฟื่องก็บอกว่า ให้ดูลม ลมไม่ได้เป็นของพุทธของคริสต์ ลมเป็นของกลาง ให้ใจอยู่กับลม โยมพ่อปฏิบัติก็สงบลง ทุกวันนี้ท่านก็ยังปฏิบัติอยู่


หลวงพ่อภาวนามานานหรือยังครับ

25 พรรษาและก่อนนั้นอีก 3 ปี


ภาวนามา 28 ปี พบว่าอย่างไรบ้างครับ

พระพุทธเจ้าเสนอเรื่องความจริงทั้งนั้น (นิ่งไปนิด ก่อนจะเอ่ยว่า...) เท่านี้


คลุมหมดเลยครับ ระหว่างที่อยู่กับครูบาอาจารย์ หลวงพ่อประทับใจกับคำสอนอะไรบ้างครับ

หลายอย่าง ทั้งคำสอนทั้งการปฏิบัติของท่าน คำสอนก็อย่าง การทำอย่างไรให้ทุกข์เป็นมรรค, การภาวนาอย่างไรให้ใจบริสุทธิ์, คนเราจะมีความสุขโดยไม่ต้องอาศัยสิ่งแวดล้อมจากภายนอกได้อย่างไร, ไม่เห็นความโง่ของตนเองภาวนายังไม่เป็น ปัญญายังไม่เกิด ฯลฯ



.............................................................................

ที่มา :: นสพ.มติชนรายวัน
วันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2545
http://www.phrathai.net/
ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: กุมภาพันธ์ 24, 2011, 10:33:28 pm »



“ดอกบัวบานแล้วทางทิศตะวันตก”


๏ พระราชสุเมธาจารย์ (โรเบิร์ต สุเมโธ)

ในอดีตหลายสิบปีมาแล้วหลวงปู่ชากล่าวว่า “ดอกบัวกำลังบานทางทิศตะวันตก” หลวงปู่ชา ท่านมีความสามารถมากในการถ่ายทอดธรรม แม้แต่ต่างชาติต่างภาษาคุยกันไม่รู้เรื่องท่านก็ยังทำให้เมล็ดบัวในตัวท่านเหล่านั้น แตกกอ ผลิดอกและเบ่งบานขึ้นมาได้(ชาวต่างชาติเหล่านี้มีนิสัยวาสนากับพุทธศาสนามาแล้ว ถึงได้มีศรัทธาในเบื้องต้น มีวาสนาได้พบครูบาอาจารย์ และมีวิริยะในการปฏิบัติ นั่นคือท่านมีเมล็ดบัวฝังอยู่แล้วในตัว)

พระราชสุเมธาจารย์ (โรเบิร์ต สุเมโธ) เป็นศิษย์ต่างชาติรุ่นแรกๆ ที่กำลังเบ่งบานอยู่

ดอกบัวบานแล้วทางทิศตะวันตกและนับวันก็จะแตกกอเป็นป่าบัวต่อไป แต่ป่าบัวดั้งเดิมทางทิศตะวันออกกำลังเสื่อมลงตามกาลเวลา ตามหลักอนิจจัง

ขออวยพรให้ทุกท่านที่กำลังเป็นเมล็ดบัวอยู่ ขอให้แตกรากฝังศรัทธาให้มั่นคงงอกแล้วบำรุงด้วยรสแห่งธรรมให้เจริญยิ่งขึ้นไป ดอกตูมก็ให้บาน บานแล้วก็ให้ส่งกลิ่นหอมให้กว้างขวาง เพื่อเร่งเร้า ปลุกผู้หลับอยู่ให้ตื่นขึ้น....เทอญ

ต่อไปนี้คือตัวอย่างแนวคิดของชาวต่างชาติที่มีต่อพุทธศาสนา และหลวงปู่ชา


เส้นทางชีวิตที่เปลี่ยนแปลงการค้นหาครั้งสำคัญ

อเมริกันนาวิกโยธินหนุ่ม เมื่อราวครึ่งศตววรษก่อนเดินทางท่องโลก เพราะภารกิจของกองทัพ ได้คิดได้ค้นได้พบกับศาสนาของโลกตะวันออก และได้กำหนดเส้นทางชีวิตใหม่ เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่กลายมาเป็น พระสุเมธาจารย์ที่ฝรั่งไทยเคารพศรัทธา เมื่อ ๕๐ ปีมาแล้ว ท่านเป็นทหารเรืออเมริกันสมัยสงครามเกาหลีได้ไปประเทศญี่ปุ่น มีความสนใจในศาสนาพุทธ แต่หนังสือที่เป็นภาษาอังกฤษ ยังมีน้อยหายากเดินทางไปๆ มาๆ ญี่ปุ่น ซานฟรานซิสโกอยู่ ๒ ปี

ออกจากกองทัพแล้ว ก็กลับไปเรียนปริญญาตรีที่อเมริกา จบปริญญาตรีสาขา ประวัติศาสตร์ของประเทศจีน เพื่อศึกษารากลึกของทวีปเอเชีย จากนั้นเรียนต่อที่แคลิฟอร์เนีย ๒ ปี ได้ปริญญาโท ประวัติศาสตร์ของอินเดีย

เมื่อจบปริญญาโทแล้ว ก็ยังมีความสนใจมากที่อยากปฏิบัติ แสวงหาอาจารย์ที่จะสอนเรื่องของจิตใจเพื่อจะปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัส ในประเทศอเมริกายังไม่พบอาจารย์สักคน เมื่อได้ปริญญาโทแล้ว ก็ได้สมัครเป็นอาสาสมัครสมัยนั้น เพื่อจะไปสอนภาษาอังกฤษที่ประเทศมาเลเซีย ไปอยู่ที่นั่น ๒ ปี ก็มีโอกาสมาเมืองไทย

มาเที่ยวครั้งแรก ก็ได้ข่าวว่า มีอาจารย์ดีหลายองค์ที่กรุงเทพฯ ที่จะสอนวิปัสสนากรรมฐาน ไปหาท่านเจ้าคุณที่วัดมหาธาตุ ปี ๒๕๐๙ เราเป็นอาสาสมัครเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ สอนที่ธรรมศาสตร์ด้วย ตอนไปก็ข้ามถนนไปจากฝั่งวัดมหาธาตุ (หัวเราะ) ตอนเช้าจะนั่งสมาธิ เดินจงกลม ทำอย่างนั้นอยู่ประมาณ ๖ เดือน ก็มีความสนใจมากขึ้นทำให้เราอยากบวช

ในปีนั้นก็บวชที่วัดหนองคาย เป็นสามเณร ฝึกกรรมฐานที่นั่นหนึ่งปี อยู่แต่ในห้อง อยู่ในกุฏิ มีระเบียบเคร่งครัดไม่ให้ออกจากกุฏิ ไม่ให้คลุกคลีกับใคร ต้องอยู่และปฏิบัติก็ได้ผลในการปฏิบัติ

ตอนแรกก็มีความสงสัยว่า ปฏิบัติอย่างนี้แล้วจะได้ผลอย่างไร จนกระทั่งขอให้บวชเป็นพระ ท่านเจ้าคุณเจ้าคณะจังหวัดหนองคาย ก็ส่งไปอยู่ที่วัดหนองป่าพงให้ปฏิบัติและศึกษาอยู่กับหลวงพ่อชา ที่จังหวัดอุบลฯ ๑๐ ปี ที่หนองป่าพง จากนั้นหลวงพ่อชาก็ส่งไปอยู่ตามสาขาต่างๆ อย่างที่อำเภออำนาจเจริญ ตั้งวัดนานาชาติ จากนั้นมีผู้นิมนต์ไปอยู่ที่ประเทศอังกฤษจากวันนั้นถึงวันนี้ ๒๖ พรรษา


1. ก่อนที่หลวงพ่อจะมาศรัทธาในพระพุทธศาสนา คงเคยนับถือคริสต์มาก่อน ตรงไหนที่ทำให้เลื่อมใสพระพุทธศาสนา ?

พ่อแม่เราเป็นคริสต์ เรานับถือศาสนาแต่ไม่เอาจริงเอาจังด้วย อาตมาก็มีศรัทธาตั้งแต่เป็นเด็กก็ไม่ค่อยสงสัย บาทหลวง หรือพ่อแม่พูดอย่างไร ก็ไม่ค่อยสงสัย แต่พอตอนวัยรุ่นอายุ ๑๕-๑๖ ปีจึงเกิดความสงสัย มักจะถาม อยากจะรู้พระเจ้าเป็นอย่างไร มีหรือไม่มี แล้วมีประโยชน์อะไรที่จะทำอย่างนี้ต่อไป

แล้วก็มาสมัครเป็นทหารเรือ ออกจากบ้านไปอยู่ห่างไกลจากพ่อแม่ ไปหาความสุขสนุกทางโลกไม่เคยคิดเรื่องของพระพุทธศาสนาเลย จนกระทั่งได้พบพุทธศาสนาในประเทศญี่ปุ่นแล้วก็อ่านหนังสือ ศรัทธาในคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่ท่านบอกว่าอย่าไปเชื่อ ต้องทดลอง ต้องค้นคว้าต้องเห็นเอง นี่ก็เป็นจุดที่ทำให้เราศรัทธา

หลังจากนั้นอายุ ๒๑ ปี เราก็มีศรัทธามั่นคง ศาสนานี้ก็ถูกใจเรามันมีทั้งปฏิบัติ มีทั้งพิสูจน์ได้เห็นความจริงในใจเรา และเราไม่จำเป็นต้องเชื่อในสิ่งที่เราพิสูจน์ไม่ได้


2. ตอนที่ไปเป็นทหาร มีเพื่อนที่นับถือพุทธศาสนาอยู่แล้วหรือเปล่า ?

สมัยนั้นไม่มีใครนับถือพุทธศาสนาเลย เพราะเมื่อ ๕๐ ปีก่อน คนอเมริกันที่เป็นรุ่นเดียวกันส่วนมากก็ไม่เคยมีใครสนใจศาสนาไม่ว่าจะเป็นคริสต์ หรือศาสนาอะไรก็ไม่สนใจ เบื่อแล้ว และก็ตอนนั้นยังเป็นหนุ่มอยู่ด้วย คิดกันว่าศาสนาเป็นเรื่องสมัยโบราณ เป็นคนล้าสมัย ส่วนมากจะเชื่อว่าวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งสูงสุดแล้ว แต่เราก็สงสัยหลายอย่าง ในวิทยาศาสตร์ด้วย (หัวเราะ) วิทยาศาสตร์ก็ยังไม่ลึกซึ้ง พอสงสัยว่าจิตใจของ เราเป็นอย่างไรเรื่องวิทยาศาสตร์ของตะวันตก ส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องภายนอก


3. เหตุผลที่คนตะวันตก ให้ความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา

ส่วนมากชาวตะวันตกให้ความสนใจในด้านการปฏิบัติ เพราะเราหาในวัฒนธรรมในศาสนาของเราไม่เจอ แต่เดี๋ยวนี้โลกมันคับแคบแล้ว เอเชียกับยุโรปก็ไม่ห่างไกลกันเท่าไรนักเมื่อ ๕๐ ปี มาแล้ว เราสังเกตดูความคิดของชาวต่างประเทศกำลังจะเปลี่ยนไปบ้าง ศรัทธาในวิทยาศาสตร์มันกำลังจะเสื่อม ศรัทธาในพุทธศาสนาก็จะเสื่อมด้วย หลังจากสงครามโลกครั้งที่ ๒ วัฒนธรรมญี่ปุ่นกับวัฒนธรรมอเมริกา มีการแลกเปลี่ยนกันมาก สิ่งที่เราได้รับจากวัฒนธรรม ญี่ปุ่น คือ พุทธศาสนา

ส่วนมากเรามีความคิดสองอย่าง ดีชั่ว ถูกผิด เท่านั้นที่จะพิจารณาได้ และพระพุทธเจ้าสอนให้ใช้สติสัมปชัญญะ ที่จะเห็นสัจธรรม และทางวัฒนธรรมของเรา ในศาสนาคริสต์ไม่มีใครพูดถึงสติสัมปชัญญะด้วยนั่นเป็นเรื่องเชื่อถือ เรื่องเหตุผล เรื่องอุดมคติ ทำให้เรามีความยึดมั่นถือมั่นในอุดมคติสูง และที่จะเข้าใจการเป็นมนุษย์จริง ซึ่งไม่มีใครรู้นี่ก็เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าต้องรู้การเป็นมนุษย์เป็นอย่างไร คบคิดว่าการเป็นมนุษย์ต้องรู้ตัวเอง ต้องรู้โลภ โกรธหลงเป็นอย่างไรว่ามันเกิดที่ไหนดับที่ไหน

พุทธองค์บอกให้เราเห็นผลของการทำความดี ว่าจะได้ผลอย่างนี้ ถ้าทำไม่ดีก็ได้ผลอย่างนี้เราจะเปรียบเทียบกับอะไร ถ้าเราจะเพิ่มความสุขควรทำอย่างไร ถ้าเราอยากเพิ่มความทุกข์ควรทำอย่างไร แล้วก็เห็นทางพ้นทุกข์ด้วยสติสัมปชัญญะ เป็นหลักธรรมที่เราไม่เห็นในวัฒนธรรม และศาสนาทางตะวันตก

สังคมทางตะวันตกมีความเจริญทางเทคโนโลยีสูงจำเป็นขนาดไหนที่พวกเขาต้องหาที่พึ่งทางจิตใจก็มีการปฏิบัติก็เป็นศาสนาคริสต์ อิสลาม ยิว ศาสนาสามอย่างนี้มันเป็นศาสนาที่นับถือพระเจ้า และก็เป็นศาสนาที่เรามีเรื่องพระเจ้า แล้วพระพุทธเจ้าก็มีคำสอนเริ่มต้นที่อริยสัจสี่ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค สิ่งที่เราเห็นได้ในปัจจุบันคือความทุกข์เราจะเห็นความทุกข์ของเราได้นี่ต้องเชื่อโดยการพิสูจน์ และเราก็จะสามารถเห็นนิพพานได้

นี่ก็เป็นที่มาของคริสต์กับพุทธซึ่งตรงกันข้าม คริสต์เริ่มต้นที่พระเจ้า จุดเริ่มต้นของพุทธศาสนาก็พระพุทธเจ้า มองเห็นความทุกข์ของมนุษย์ นี่เป็นวิธีที่จะพิจารณาในสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แล้วก็จะเห็นพระเจ้าได้ ถ้าคิดแบบคริสต์ก็เห็นทางพ้นทุกข์ได้ เราก็คิดว่าการปฏิบัติเกิดจากการเชื่อถือพระเจ้า แล้วก็ถ้ามีศรัทธาและเชื่อถือในคำสอนของพระเจ้าก็จะมีคนดีเหมือนกัน มันก็แล้วแต่บุคคลเป็นอย่างไร

แม่ของอาตมาเป็นชาวคริสต์ ไม่สงสัยเรื่องศาสนา แม่สงสัยไม่ได้เลย และก็ได้ผลดีด้วย (หัวเราะ) แต่ท่านก็สามารถแก้ปัญญาได้ด้วยความศรัทธาในพระเจ้า แม่ก็เป็นคนอย่างนั้นแต่ลูกชายก็เป็นคนตรงกันข้ามเป็นชาวพุทธ (หัวเราะ)


4. สังคมของคนตะวันตกเป็นคนขี้สงสัยช่างซักถาม แล้วยากไหมที่เราจะไปเผยแพร่ให้เขาเข้าใจ ?

ก็ไม่ยากเท่าไร ก็มีคนสนใจมากในการปฏิบัติในทางพุทธศาสนา ปัจจุบันชาวตะวันกำลังสนใจวัตถุนิยมกันมาก ตอนนี้คนกำลังดูจิตพิจารณาตัวเองเป็นอย่างไร นี่ก็เป็นสิ่งที่ชาวต่างประเทศกำลังทำอยู่ที่อเมริกา ซึ่งมีประโยชน์มาก แล้วก็เราอยู่อังกฤษ ๒๖ ปีแล้ว เราก็สังเกตเห็นคนที่สนใจมากขึ้นคนที่ปฏิบัติแล้วได้ผลที่จะเห็นทางก็มีมากขึ้น

คำสอนของพระพุทธเจ้าก็ทำให้เราทึ่ง คำสอนของพระพุทธเจ้า เป็นคำสอนที่จะพิจารณาให้เราเห็นจิตใจ ความสงสัยที่เกิดขึ้นในใจ ที่จะปล่อยวางไม่ให้เกิดความสงสัยได้ เมื่อมีความสงบแล้ว ก็จะเห็นถึงความ สงบในจิตใจของเรา อย่างแท้จริง และจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมด้วย ซึ่งสังคมในตะวันตกความสงบไม่ค่อยมี (หัวเราะ) เขาก็อยากได้สันติภาพมาเป็นความสงบ

การปฏิบัติของเราที่หลวงพ่อชาสอนในสมัยก่อนที่วัดหนองป่าพง จังหวัดอุบลฯ เราก็นึกถึงแต่หลวงพ่อชานี่ ก็เป็นความจำที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน แต่ตอนที่อยู่กับหลวงพ่อชา ก็ได้ผลในเรื่องของการปฏิบัติ เพราะท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญที่จะแนะนำทางที่จะปลดทุกข์ได้ แรกๆ เราก็อยู่กับหลวงพ่อชา ปี ๒๕๑๐ ตอนนั้นเราไม่รู้ภาษาไทย และภาษาอีสาน ท่านหลวงพ่อก็เทศน์เป็น

ภาษาอุบลฯ แล้วเราก็ไม่รู้เรื่อง

แรกๆ ก็นั่งฟังหลวงพ่อท่านเทศน์หลายชั่วโมง ด้วยความที่เราเป็นพระฝรั่ง เราจึงขอ ว่าช่วงที่หลวงพ่อเทศน์นั้นเราจะกลับกุฏิ ไปทำสมาธิในกุฏิดีกว่า แต่หลวงพ่อไม่อนุญาตบอกว่า ต้องอยู่ต้องอดทนฟังเทศน์ ท่านก็บังคับให้ให้อยู่

อารมณ์ที่เกิดขึ้นในจิตของเราเอง แทนที่จะยอมเพราะเรื่องภาษา ก็เป็นอุปสรรค อาจารย์ชาก็พูดภาษาอังกฤษไม่เป็น พระสุเมโธก็พูดภาษาไทยไม่เป็น หลวงพ่อชาจะสอนพระฝรั่งอย่างไร แต่ท่านก็มีอุบาย มีความสามารถที่จะให้เราพิจารณาอารมณ์ที่เกิดขึ้น และท่านบอกว่าพระสุเมโธความอดทนมันน้อยไป เป็นคนอเมริกัน วัฒนธรรมอเมริกัน เป็นวัฒนธรรมที่ชอบทำอย่างรวดเร็ว ไม่ใช่คนที่อดทนต่ออะไร และท่านก็บอกว่า พระสุเมโธไม่เข้าใจภาษาไทยก็ไม่เป็นไรแต่ให้อดทนกับอารมณ์ที่เกิดขึ้น

เบื่อแล้วก็เกิดอารมณ์โกรธ โมโหอย่างนี้ แล้วก็เราก็คิดแบบคนอเมริกันด้วย สงสารตัวเองว่าเราเป็นฝรั่งไม่รู้ภาษา หลวงพ่อชายังจะให้เราอยู่ไม่เห็นใจเราแล้ว ตอนนั้นนั่งพับเพียบไม่ค่อยได้ ด้วยความ ที่เราไม่เคยนั่งอย่างนี้ จึงทำให้เจ็บปวดอย่างแรงที่สุด จึงอยากเปลี่ยนท่านั่ง

พิจารณาในอารมณ์ แล้วทราบความทุกข์กับชีวิตของเราได้ ที่กุฏิครั้งแรกกุฏิที่อยู่วัดหนองป่าพง พระไทยสมัยนั้นก็ไม่สูงเท่าไร นิยมสร้างเตี้ยๆ และไม่มีพระฝรั่ง เราต้องก้มตัวลง ยืนตรงไม่ค่อยได้ เวลาเข้าประตูก็ต้องก้ม เสร็จแล้วก็เกิด อารมณ์รังเกียจกุฏิหลังนั้น บ้างก็อยากได้กุฏิสูงกว่านี้ แล้วไปหาหลวงพ่อบอกว่ากุฏิมันเตี้ยเกินไป อยู่ยาก มันโดนศีรษะ มันอันตราย และเรารู้สึกไม่สบายใจ อยากอยู่กุฏิอื่น

หลวงพ่อไม่ให้เรา พอพิจารณาแล้วว่ากุฏิ พอที่จะกันแดดกันฝนได้ กุฏิเตี้ยนั้นพออยู่ได้ก็ดีแล้ว ถ้าพิจารณาโดยปัญญาอย่างนี้ก็พอใช้ได้ ถ้าพิจารณาแบบคนอเมริกัน ตามวัฒนธรรมของคนอเมริกาว่าเตี้ยเกินไป เล็กเกินไป ไม่เหมาะไม่ชอบกุฏิหลังนี้ก็จะมีความทุกข์อยู่ ถ้าเราพิจารณาด้วยปัญญา ก็จะพอใจในสิ่งที่เรามีอยู่

เรื่องอาหารก็เหมือนกัน หลวงพ่อท่านชอบทรมานลูกศิษย์ เรื่องอาหารญาติโยมก็นำมาถวาย แล้วหลวงพ่อก็ให้เทใส่กะละมังใหญ่ เป็นปลา เป็นไก่เป็นหมูทุกอย่างแล้วก็ผสมกัน จะมีข้าวเหนียวมีอาหารอีสานมีรสแปลกๆ ที่เราไม่เคยชิม เราก็เลยเกิดอารมณ์รังเกียจอาหารด้วยมันไม่อร่อยมันไม่คุ้นเคย แล้วก็มีของ หวานที่โยมนำมาถวายผสมกันหมดเลย มันทำให้การ ทานอาหารลำบากแล้วก็มีความทุกข์เกิดขึ้น

ความจริงพระพุทธเจ้า สร้างวินัยให้พระรับอะไรก็ได้ไม่ใช่แต่สิ่ง ที่ชอบ หรือเป็นอาหารของเศรษฐีที่เอร็ดอร่อย แต่ให้คิดว่าอาหารที่ให้ทานมานั้น เป็นอาหารที่บริสุทธิ์ ให้พิจารณาอย่างนี้ และอาหารที่มีอยู่ในบาตรนั้นก็ดีแล้ว พอที่จะรักษาสุขภาพร่างกายให้ดีด้วย

เรื่องอาหารของอเมริกา เปรียบเทียบกับอาหารที่มีอยู่ในวัดหนองป่าพงนั้น เราก็คิดว่าอาหารของอเมริกาดีกว่าอร่อยกว่า อาหารที่วัดหนองป่าพงก็แย่ ไม่อร่อยเลย นั่นก็เป็นความคิดความเห็นที่เกิดขึ้น ทำให้เรามีความทุกข์ พิจารณาด้วยปัญญาเราก็จะเห็น และปล่อยความคิดแบบนี้ได้เราก็จะสามารถฉันอาหารได้ด้วยสติด้วยปัญญา

เมื่อ ๒๖ ปีมาแล้วตอนนั้นโยมได้นิมนต์ไป อยู่ประเทศอังกฤษ แล้วเราก็อยู่จนเคยแล้ว อยู่วัดหนองป่าพง วัดป่านานาชาติมากว่า ๑๐ พรรษาแล้ว แล้วก็เปลี่ยนแปลงร่างกายใจ ให้เข้ากับพระไทยในสมัยนั้นตอนนั้นที่ไปอยู่อังกฤษกับหลวงพ่อเราก็สงสัยว่า เราจะรักษาวินัยได้ไหม ในอังกฤษไม่ค่อยมีใคร รู้เรื่องของพระพุทธศาสนา แล้วเราจะอยู่ในลอนดอนอย่างไร ถ้าไม่มีเงินจะใช้ แล้วคนอังกฤษจะเข้าใจอย่างไร เป็นคนแปลก ศีรษะอย่างนี้ (จับศีรษะ) มีจีวรอย่างนี้ เดินวิบากใน กรุงลอนดอน จะเข้าใจความประสงค์ของเราอย่างไร เราก็สงสัยอย่างนี้

แล้วเราก็ถามหลวงพ่อว่า หลวงพ่อถ้าไม่มีใครจะใส่บาตร ไม่มีใครจะถวายปัจจัย ๔ เราจะอยู่ได้อย่างไร อาจารย์ก็ตอบอย่างดีว่า คนตะวันตกไม่มีเมตตา เราก็ว่ามีเมตตาเหมือนกันและอาจารย์บอกว่าเราต้องอยู่ได้ เพราะชาวพุทธมีอยู่ทั่วโลก และชาวพุทธเป็นคนดีเราต้องอาศัยความดี ท่านก็อยากให้เราพิจารณาในความเป็นมนุษย์ว่าเป็นอย่างไร

ในประเทศอังกฤษ อเมริกาคนใจดีก็มีมาก คนมีเมตตาก็มี ท่านก็อบรมเราอย่างนี้ หลวงพ่อชาก็เก่งนะ ทั้งที่ท่านไม่เคยไปอเมริกา ไม่รู้ว่าอังกฤษเป็นอย่างไร อยู่เมืองไทยตลอด แต่ท่านก็รู้ในเรื่องของสัตว์มนุษย์ เราว่าเป็นอย่างไร เราก็ไปอยู่อังกฤษ ๒๖ ปี ก็ดีเหมือนกัน ไม่อดอาหาร ที่อยู่อาศัย ผ้าจีวรก็สมบูรณ์ดี เราไปอยู่ก็ไม่มีปัญหาเรื่องอาหาร เรื่องสิ่งจำเป็น



.............................................................................

ที่มา : นสพ.มติชนรายวัน
วันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2547 ปีที่ 26 ฉบับที่ 9431