ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: มีนาคม 05, 2011, 03:09:27 pm »ทุกข์ใจเรื่องลูก
พระมหาประดิษฐ์ จิตฺตสํงวโร
ปุจฉา : ทุกวันนี้ดิฉันมีความกังวลจนกินไม่ได้ นอนไม่ค่อยหลับเป็นทุกข์ใจกับลูกชายและลูกสาวซึ่งเป็นวัยรุ่น เริ่มแสดงนิสัยเกเร ชอบเที่ยวกลางคืน หนีเรียนเป็นประจำ ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย มักมั่วสุมกับเพื่อนๆ ชอบก่อปัญหาหนักอกหนักใจให้พ่อแม่เป็นประจำ และไม่ค่อยเชื่อฟังคำสอนคำตักเตือนของพ่อแม่ กราบเรียนถามพระอาจารย์ว่าดิฉันควรจะทำอย่างไรในปัญหานี้ เพื่อจะได้ไม่ต้องทุกข์กังวลใจอีกต่อไป ขอท่านช่วยเมตตาด้วยเจ้าค่ะ?
วิสัชชนา : ธรรมดาทุกข์ของพ่อแม่มี ๓ อย่าง ๑.ทุกข์เพราะไม่มีลูก ๒.ทุกข์เพราะลูกตาย ๓.ทุกข์เพราะลูกเกเรชั่ว หากทุกข์เพราะลูกเกเร ดื้อ ไม่เอาถ่าน ชั่ว ไม่ได้ดั่งใจ ดูจะเป็นทุกข์ที่สุดของผู้เป็นพ่อแม่ ยิ่งมีลูกที่เป็นวัยรุ่นสมัยนี้ด้วยแล้วพ่อแม่ต้องทำใจให้ดี เพราะปัญหานี้บอบบาง หากแก้ไม่ถูกอาจยิ่งลุกลามบานปลาย ลูกหยิงลูกชายหนีเตลิดเปิดเปิงตกหลุมตกเหวได้ง่ายๆ ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจเด็กแบบชนิด “ถอดเอาหัวใจเขามาใส่หัวใจเรา” คิดย้อนไปถึงตอนที่เราเป็นวัยรุ่น แล้วค่อยหาสาเหตุว่าทำไมลูกเราถึงเป็นเช่นนี้ สาเหตุสำคัญ ๓ ประการที่ทำให้ลูกดื้อ เกเร แหกคอก และนิสัยไม่ดี คือ
๑.ขาดความอบอุ่น ๒.ขาดที่พึ่ง ๓.ขาดคนเข้าใจ
๑. ขาดความอบอุ่น เราให้ความอบอุ่นกับเขาดีแค่ใหนหรือปล่อยปละละเลยไม่สนใจทิ้งให้แต่พี่เลี้ยงคอยดูแล หรือเข้าค่ายเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยเงินหรือเปล่า ไม่เหลี่ยวแลใส่ใจ แต่พอทำผิดมาก็เอาแต่ด่า ทำโทษ ทับถมซ้ำเติม ไม่ค่อยมีเวลาให้เขา มัวแต่ทำงานและเข้าสังคมจนลืมกลองดวงใจทิ้งไว้ที่บ้าน เด็กวัยรุ่นที่เสียคนส่วนมากรับสารภาพว่า “เขาขาดความอบอุ่นในครอบครัว” “พ่อแม่ไม่สนใจ”
๒. ขาดที่พึ่ง เด็กวัยรุ่นส่วนมากต้องการที่พึ่งทางใจ เพราะเขายังใหม่ต่อโลกมักมีปัญหา สงสัย อยากรู้อยากเห็นอยากลอง อยากเท่ห์ เป็นวัยที่หัวเลี้ยวหัวต่อที่พ่อแม่ต้องดูแลเป็นพิเศษ หากพ่อแม่เป็นที่พึ่งให้เขาไม่ได้ ก็หันไปหาเพื่อน หันไปพึ่งยาเสพติด พึ่งแหล่งบันเทิงเริงรมย์ ด้วยคิดว่านี่เป็นที่พึ่งที่สบายใจ
๓. ขาดคนเข้าใจ “พ่อไม่เข้าใจตุ้ม” “แม่ไม่เข้าใจผม” คือคำพูดที่วัยรุ่นนิยมมากก่อนหนีออกจากบ้าน ช่องว่างระหว่างวัย การคุยกันคนละภาษา ทำให้เกิดความไม่เข้าใจกัน และบางครั้งความรักความห่วงใยที่พ่อแม่ให้มากเกินไป อาจทำให้เขารำคาญหงุดหงิดเหมือนถูกลิดรอนอิสระเสรีภาพเพราะเข้าใจคนละอย่างกัน
“ความรักความเข้าใจคือสายใยของครอบครัว”
ถ้าเราพยายามทำความเข้าใจเขาและเอาใจเขามาใส่ใจเรา แล้วค่อยปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหาเหตุของปัญหา และค่อยๆแก้ใขมันไปด้วยเหตและผลโดยไม่ใช้อารมณ์กับเด็ก และสร้างบรรยากาศที่อบอุ่นในครอบครัว บางครั้งเราต้องผ่อนปรนและปล่อยเขาบ้าง ให้เขาได้ทำอะไรตามจิตนาการ ให้เขาได้ออกไปเที่ยวในโลกกว้าง เดี๋ยวเขาจะคิดได้เอง เขาจะคิดถึงบ้านคิดถึงพ่อแม่ เพราะอยู่ที่ใหนก็ไม่สุขใจเท่าอยู่บ้านที่อบอุ่น
จงจำคาถาในการเลี้ยงลูกบทนี้ไว้ให้ดี จงภาวนาทุกวัน และปัญหาของโยมจะคลี่คลายลงได้
“น้ำเย็น หมูยอ กอไผ่ ใส่เตา ๆๆๆๆๆๆๆๆ”
ไม่ต้องตั้งนะโม ภาวนาวันละ ๙ จบ ทำจิตให้สงบตั้งมั่น
น้ำเย็น อากาศร้อนหากได้น้ำเย็นสักแก้วจะสบายและผ่อนคลายมาก วัยรุ่นเป็นวัยร้อน ร้อนมาต้องเย็นไป เราต้องใช้น้ำเย็นเข้าลูบพูดจาด้วยอารมณ์เยือกเย็นไม่วู่วาม ไม่ด่าว่าด้วยถ้อยคำที่รุนแรงหยาบคาย และไม่ด่วนลงโทษเมื่อเขาทำผิดครั้งแรก เราต้องชี้แจงให้ลูกฟังด้วยเหตุผล ด้วยจิตเมตตา แสดงอาการเห็นอกเห็นใจ แนะนำไปว่าอะไรควรไม่ควร เด็กจะเกิดความอบอุ่นว่าพ่อแม่ตักเตือนสั่งสอนด้วยความรักอย่างจริงใจ
หมูยอ คำชมหรือคำยอใครก็ชอบยิ่งเด็กๆยิ่งชอบใหญ่ พ่อแม่ต้องรู้จักยอลูกบ้าง ถ้าทำความดีควรมีรางวัลให้ จะเป็นคำชม ยกย่อง พาไปเที่ยว หรือให้ในสิ่งที่เขาต้องการ จะเป็นกำลังใจให้เขาเป็นเด็กดีต่อไป
กอไผ่ “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” ถ้าพูดกันไม่รู้เรื่องก็ต้องทำโทษใช้ไม้เรียวกำหราบบ้าง จะได้เข็ดจำไม่ทำผิด ไม่ดื้อไม่ซนซ้ำอีกแต่ต้องระวัง
๑.ต้องไม่ตีลูกด้วยอารมณ์โกรธและรุนแรง
๒.ไม่ตีลูกโดยไม่รู้ความผิด
๓. ถ้าไม่จำเป็นอย่าตี เพราะการตีอาจไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด
ใส่เตา เมื่อเราเฝ้าพร่ำสอนและทำทุกวิถีทางแล้วแต่เขาไม่ได้ดีขึ้นหรือไม่ได้ปรับปรุงตัวขึ้นเลย ก่อนจะใช้วิธีสุดท้ายนี้ ลองใช้วิธีของพระพุทธเจ้าที่สอนพระฉันนะ ที่ดื้อรั้นสอนไม่ฟัง คือ การลงทัณฑกรรม หรือคว่ำบาตร ไม่สนใจใยดี ปล่อยวางอารมณ์ ขนาดพระพุทธเจ้ายังสอนไม่ได้ทุกคนเลย ประสาอะไรกับเราปุถุชน ใส่เตาเผาสะเลย แค่เลือดก้อนเดียว อุตส่าห์เลี้ยงให้เป็นคนดีแต่ไม่อยากดีก็ช่วยไม่ได้ ปล่อยไปตามเวรกรรมเขาต้องมีโลกของเขาที่ต้องเผชิญเมื่อเขาเลือกวิถีชีวิตของเขาเช่นนั้นก็จงให้อิสระในการเลือกแก่เขา
ดีชั่วอยู่ที่ตัวทำ สูงต่ำอยู่ที่ทำตัว แต่ก่อนจะใส่เตาเผาเราต้องไว้อาลัยด้วยการระลึกถึงหน้าที่ของความเป็นพ่อแม่ ว่าเราได้ทำเต็มที่ หรือทำได้ดีพอหรือยัง หน้าที่ ๒ อย่าง คือหน้าที่ทางกาย กับหน้าที่ทางใจ
หน้าที่ทางกาย
หน้าที่ทางใจ
๑. สอนลูกไม่ให้ทำชั่ว
๑.พาลูกเข้าวัดเพื่อศึกษาพระธรรมคำสอน
๒.แนะนำให้ลูกทำความดี
๒.ชักจูงลูกสวดมนต์ไหว้พระก่อนนอน
๓.ส่งเสริมให้เขาได้เล่าเรียนตามสติปัญญาและใจรัก
๓.ชักนำลูกให้รักษาศีล
๔.ช่วยเลือกคู่ครองที่เหมาะสมให้เขา
๔.ชักนำลูกให้ได้ฝึกสมาธิเจริญจิตตภาวนา
๕.แบ่งทรัพย์มรดกให้ในสมัยอันควร
๕.ปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมให้เขาตั้งแต่เด็ก
หากเราได้ทำหน้าที่มาอย่างสมบูรณ์ดีแล้ว ส่วนเขาจะเป็นไปอย่างที่เราหวังหรือไม่ ได้ดั่งใจหรือไม่ มันก็สุดแล้วแต่วาสนาโชคชะตาเวรกรรมของเขา ส่วนเราก็ต้องอุเบกขา คือปล่อยวางลงให้ได้ หากคิดมากไปก็รังแต่ทุกข์กังวลใจเปล่าๆ
อ้อ....ว่างๆก็ลองสวดมนต์ ปฏิบัติกรรมฐาน แผ่เมตตาอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้ลูกบ้าง เผื่อบางทีอาจช่วยได้
...........................................................
ท้ายนี้ขอน้อมถวายบุญกุศลจากธรรมบรรยายนี้ เป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระนางเจ้าบรมราชินีนาถ ผู้เป็นพระแม่เจ้าของชาวไทยทั้งชาติ ขอให้พระองค์จงทรงพระเจริญ มีพระชนมายุยิ่งยืนนาน มีพระพลานามัยสมบูรณ์ เป็นมิ่งขวัญของปวงชนชาวไทยตลอดกาลนาน
ขออุทิศส่วนกุศลจากธรรมมะบรรยายชุดนี้แด่แม่ผู้เป็นที่รักยิ่งของลูกๆทุกคน
ขอให้เมล็ดพันธ์แห่งความกตัญญูจงได้เจริญพันธ์เบ่งบานและงอกงามในดวงใจของคนไทยทั้งประเทศ
สาธุ ขอบุญรักษา ธรรมะคุ้มครอง
http://www.trisarana.org/Zmenu/Tmenu/t00/txD_12.htm
Pics by : Google
สุขใจดอทคอม * อกาลิโกโฮม
อนุโมทนาสาธุที่มาทั้งหมดมากมายค่ะ