ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: มีนาคม 17, 2011, 09:48:55 am »สำหรับ “Rashomon” (1950)ในภาคภาพยนตร์นั้นก็ขึ้นชั้นเป็นหนังคลาสสิคเช่นเดียวกัน ด้วยฝีมือการกำกับของจักรพรรดิแห่งโลกภาพยนตร์ญี่ปุ่นอย่าง “อากิระ คูโรซาว่า” (Akira Kurosawa) คูโรซาว่าทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้มีความลุ่มลึกมากขึ้นเพราะแม้เรื่องราวจะเรียบง่ายแต่กลับเต็มไปด้วยมิติด้านมืดของมนุษย์
ราโชมอนของคูโรซวานั้นมี Tagline เป็นภาษาอังกฤษที่กระชับว่า The husband, the wife...or the bandit? ซึ่งถ้าท่านผู้อ่านที่เคยอ่านหนังสือหรือเคยดูภาพยนตร์เรื่องนี้มาแล้วย่อมเข้าใจความหมายคำโปรยของหนังเรื่องนี้ดีครับ
หนังเรื่องนี้มีท้องเรื่องอยู่ที่ญี่ปุ่นในศตวรรษที่ 12 โดยคูโรซาวาเลือกที่จะเปิดบทหนังด้วยบทสนทนาระหว่างพระกับคนตัดฟืน ซึ่งทั้งคู่กำลังติดฝนอยู่ในวัดร้างแห่งหนึ่ง ใกล้ประตูราโชมอนหรือแปลเป็นไทยได้ว่า “ประตูผี” นั่นเอง
จากนั้นก็มีชาวบ้านคนหนึ่งซึ่งในหนังสือของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ใช้ว่า “คนทำช้อง” เข้ามาร่วมแจมด้วย โดยระหว่างรอฝนหยุดตกนั้นทั้งสามได้พูดถึงเรื่อง การตายของซามูไรคนหนึ่ง และการจับมหาโจรอย่าง “โทโจมารุ”ได้ รวมไปถึงเรื่องของเมียซามูไรผู้ตายนั้น
จริงๆแล้วหนังเรื่องนี้ใช้ตัวละครไม่มากเลยครับ แต่จุดเด่นกลับอยู่ที่บทสนทนาของตัวละครซึ่งจะว่าไปแล้วมันสะท้อนให้เห็นความคิดของมนุษย์เราได้ดี
ตามธรรมเนียมเดิมครับ, ผมขออนุญาตไม่เล่ารายละเอียดมากไปกว่านี้เนื่องจากเกรงจะเสียอรรถรสในการชมหรือการอ่าน อย่างไรก็ตามผมว่าประเด็นที่น่าสนใจใน “ราโชมอน” นั้นอยู่ที่ความอ่อนแอของมนุษย์เราที่จะพูด “ความจริง” หากความจริงนั้นไม่เป็นประโยชน์กับเรา หากความจริงนั้นอาจทำให้เราต้องเดือดร้อน หรือ หากความจริงนั้นจะกลับมาทำร้ายเราภายหลัง ด้วยเหตุนี้เองที่คูโรซาว่าได้ชำแหละถึงด้านมืดของความเป็นมนุษย์ออกมาให้เห็นผ่านบทสนทนาของตัวละครทั้งหมด
คูโรซาวาใช้เทคนิคที่ชาญฉลาดในการถ่ายทำโดยให้ตัวละครแต่ละคนเล่าเรื่องของตัวเองเหมือนกำลังจะสารภาพอะไรบางอย่างกับคนดูตัดสิน โดยใช้กล้องจับไปที่ใบหน้าของตัวละคร ทำให้รู้สึกได้ว่าเขากำลังพูดอยู่กับเราสองต่อสอง
ผมเชื่อว่าตัวละครทุกคนในเรื่องมีเหตุผลของการเล่าเรื่องลวงซึ่งแตกต่างกันไป หรือ บางทีเรื่องนั้นอาจจะเป็นเรื่องจริงก็ได้ซึ่งคูโรซาวาแกก็ไม่ได้เฉลยหมดว่าความจริงมันคืออะไร
มหาโจรอย่างโทโจมารุก็ย่อมมีเหตุผลในการเล่าเรื่องของตัวเองให้ดูยิ่งใหญ่ เก่งกาจ น่าเกรงขาม ซามูไรผู้ตายก็ยังอุตส่าห์เข้าร่างทรงมาเล่าเรื่องของการตายของตัวเองให้ดูมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี เมียซามูไรก็ต้องพยายามชี้ให้เห็นถึงเหตุผลว่าทำไมตนเองถึงตกอยู่ในสภาพ “หนึ่งหญิงสองชาย” ขณะที่คนนอกอย่างคนตัดฟืนซึ่งคูโรซาว่าต้องการจะให้เป็นคนเฉลยเรื่องนี้นั้นก็ยังเล่าความจริงที่ตนเองเห็นแบบกั๊กๆ ซึ่งจนแล้วจนรอดก็ดูเหมือนพี่แกจะพูดความจริงออกมาไม่หมดโดยเล่าแต่เรื่องที่จะไม่ทำให้ตัวเองเดือดร้อนภายหลัง
จะว่าไปแล้วการไม่พูดความจริงเนี่ยมันมีหลายระดับดีนะครับตั้งแต่ “อำ” “โกหก” “ขี้ตู่” ขี้ตั๊ว” “ขี้ฮก” “โป้ปดมดเท็จ” ไปจนกระทั่ง ตอ...อะไรทั้งหลายนั้นล้วนแล้วแต่เป็นด้านมืดของมนุษย์เราทุกคนเลยก็ว่าได้ซึ่งไม่จำกัดเพศ ชนชั้น หรือ ชาติพันธุ์
เพียงแต่เราจะกล่าวสิ่งเหล่านั้นได้อย่างแนบเนียนหรือถูกที่ถูกเวลาหรือเปล่า ยกตัวอย่างเช่น คำว่า “อำ” กับ “โป้ปดมดเท็จ” นั้น ถูกนำมาใช้คนละบริบทกันเลย อำนั้นให้อารมณ์ขำๆสนุกๆ แต่โป้ปดมดเท็จนั้นแสดงให้เห็นถึงความชั่วช้าสามานย์ทั้งที่มันก็อยู่ในตระกูล “โกหก”เหมือนกัน
ในทฤษฎีเกม (Game theory)ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิชาเศรษฐศาสตร์จุลภาคนั้น มีเกมหนึ่งที่ชื่อว่า Prisoner Dilemma หรือเกมที่คิดขึ้นเพื่อป้องกันการฮั้วของคนสองคน ซึ่งเกมนี้ได้กลายเป็นเครื่องมือของตำรวจในการแยกสอบปากคำคนร้ายเพื่อเค้นความจริงออกมาโดยใช้ “ขนาดของการลงโทษและความไม่เชื่อใจกันของคนร้ายเวลาแยกสอบปากคำ”เป็นกลไกในการสอบสวน
คนบางคนโกหกจนลืมไปแล้วว่าตัวเองเคยโกหกอะไรไว้บ้าง คนบางคนพยายามปกปิดเรื่องที่ตัวเองโกหกคนอื่นและพยายามหาเหตุผลมากลบเกลื่อนหักล้างแต่จนแล้วจนรอด “ความจริงก็คือความจริง” ความจริงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเป็นความเท็จได้
พูดถึงเรื่องนี้ ทำให้ผมนึกถึงหนังอีกเรื่องหนึ่งที่กล่าวถึงประเด็นการโกหกได้ดีมากๆ นั่นคือ Infernal Affairs (2002) ของ แอนดรูว์ เลา (Andrew Lau ) และ อลัน มัก (Alan Mak) ครับ หนังกล่าวถึง โจรปลอมตัวมาเป็นตำรวจ และ ตำรวจก็ปลอมตัวไปเป็นโจร ผมชอบหนังเรื่องนี้ครับเนื่องจากเป็นหนังมาเฟียที่ว่ากันว่าดีที่สุดเรื่องหนึ่งไม่แพ้ The God Father เลยทีเดียว
ยิ่งดูหนังเรื่องนี้มากครั้งเท่าไร ผมยิ่งเห็นใจ “อาหมิง”ที่แสดงโดยพี่หลิวเต๋อหัว ซึ่งโกหกทุกคนมาตลอดตั้งแต่ภาคแรกยันภาคสุดท้าย พูดง่ายๆ คือ “โกหกมาทั้งชีวิต” จนท้ายที่สุดแล้วแกก็ไม่สามารถโกหกตัวเองได้อีกต่อไป ดูเหมือนว่ายิ่งโกหกมากขึ้นเท่าไร ยิ่งกลายเป็นนิสัยและสันดานไปในที่สุด และวันหนึ่งเราอาจจะมองเห็นตนเองในสายตาที่แปลกไปเพราะเราจะไม่มีวันรู้ว่าตัวตนที่แท้ของเรานั้นเป็นใครกันแน่
กลับมาที่ “ราโชมอน” ต่อครับ, ทุกวันนี้เหตุการณ์แบบราโชมอนมีอยู่ให้เห็นเต็มไปหมดตั้งแต่บนโรงพัก ในชั้นศาล งานการเมือง แม้กระทั่งวงการบันเทิงก็ยังเล่นราโชมอนกันเลย
อย่างที่ผมเรียนไปตอนต้นแล้วว่าจุดเด่นของหนังเรื่องนี้อยู่ที่บทพูด ด้วยเหตุนี้เองบทพูดหลายตอนนั้นมีความน่าประทับใจมาก แม้จะเป็นบทง่ายๆแต่มันกลับมีความลึกซึ้งอยู่ภายในตัวเองอย่างที่คนทำช้องพูดไว้ว่า “มนุษย์ชอบโกหก ผู้คนเขาไม่พูดความจริงกันหรอก” ซึ่งบทภาษาอังกฤษบอกไว้อย่างนี้ครับว่า “No one tells a lie after he's said he's going to tell one”หรือลองอีกประโยคมั๊ยครับ “It's human to lie. Most of the time we can't even be honest with ourselves.” จะเห็นได้ว่าทัศนะการมองโลกของตาคนทำช้องนั้นดูจะขวางกับความคิดเชิงอุดมคติซึ่งต่างจากตัวละครอย่างพระโดยสิ้นเชิง แต่ก็ดูเหมือนสิ่งที่ตาคนนี้พูดมันก็มีส่วนถูกบ้างไม่ใช่หรือครับ เพราะไม่งั้นแกจะไม่พูดประโยคอย่าง “Maybe goodness is just make-believe.” ท่านผู้อ่านเห็นว่ายังไงครับที่ “บางทีความดีก็เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างกันขึ้นมาเองทั้งนั้น”
http://www.oknation.net/blog/print.php?id=160014