ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: เมษายน 13, 2011, 09:26:28 am »สวนโมกข์กรุงเทพฯ เป้าหมายในการก่อสร้าง “อย่างน้อยที่สุด ได้มีที่เก็บรักษาต้นฉบับผลงานของท่านพุทธทาสไว้ แล้วแปรสภาพให้ผู้คนได้ใช้ประโยชน์ อยากให้มีคนมาร่วมกันใช้ ช่วยกันขยาย และถ้าทำได้จริง อยากให้กลายเป็นสถานที่คนมาใช้ มาช่วยกันคิดค้นกิจกรรมต่างๆ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องของท่านพุทธทาสก็ได้”
นพ.บัญชา พงษ์พานิช กรรมการและเลขานุการ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ หรือสวนโมกข์กรุงเทพฯ กล่าวถึงเจตนาเบื้องแรกของการสร้างสวนโมกข์กรุงเทพฯ และอธิบายว่า เป้าหมายนั้นเป็นไปตามที่ท่านพุทธทาสบอกไว้ว่า สวนโมกข์มีได้ทุกที่ และพุทธทาสเป็นกันได้ทุกคน
นัยที่ต้องการสื่อก็คือ “ช่วยกันใช้สถานที่ ช่วยกันขยายเผยแผ่ธรรมะ เมื่อทราบแล้วก็ไปทำกันเอง ไม่จำเป็นต้องเป็นพุทธทาส อินทปัญโญ แต่เป็นทาสของพระพุทธเจ้าที่เป็นใครก็ได้”
ครั้นสวนโมกข์กรุงเทพฯสร้างเสร็จ “เมื่อทุกฝ่ายทราบเรื่องนี้ ถ้าเป็นภาษาพระก็ต้องบอกว่าสาธุการ สาธุ แปลกว่าดีแล้ว ชอบแล้ว กัลยาณมิตรแสดงอาการช่วยกัน ความสำเร็จเกิดขึ้นได้นั้น ถ้าพูดคร่าวๆเกิดจากความร่วมมืออย่างน้อย 3 ระดับ เบื้องต้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้สร้างในที่สวนรถไฟ ซึ่งเป็นที่ของการรถไฟทูลเกล้าฯถวาย พระองค์พระราชทานให้เป็นพื้นที่ประชาชนใช้ร่วมกัน และทรงเห็นว่า เป็นพื้นที่ที่เหมาะสม”
สืบมาสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จมาเปิดและยังมีพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์อื่นๆเสด็จมา สร้างความปีติต่อผู้ใฝ่ธรรมเป็นที่ยิ่ง
ระดับรัฐบาล นักธุรกิจ หน่วยงานเอกชนและวัดวาอารามต่างๆ ล่าสุด สมเด็จพระพุฒาจารย์ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช วัดสระเกศ ก็มีคำพรมาบอกว่า เป็นการสานต่อได้อย่างงดงาม
“เรียกว่าประธานสงฆ์แห่งประเทศก็ยังอนุโมทนา รัฐบาลก็เข้าร่วม และพ่อค้าวานิชที่พอจะมีกำลัง ก็ช่วยกันสมทบ ตอนแรกเราก็หวั่นๆว่า จะมีเงินพอหรือไม่ ปรากฏว่าทยอยกันมา คนที่ไม่มีเงินก็เข้ามาช่วยแรง และกลุ่มคนทั่วไป นักปฏิบัติธรรม บางคนไม่เคยสนใจธรรมก็เข้ามาร่วม”
นอกจากนี้ ยังมีสื่อมวลชนเกือบทุกฝ่ายให้ความสนใจ แวะเวียนมานำเรื่องราวไปบอกกับชาวบ้านต่อไปอีก
สำหรับกิจกรรมของสวนโมกข์กรุงเทพฯ นพ.บัญชาบอกว่ามีกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ แต่ทุกรูปแบบ เนื้อหาต้องอิงคำสอนของพระพุทธเจ้า โดยยึดตามหลักพุทธพจน์ว่า การบูชาใดๆไม่สู้การปฏิบัติบูชา
และการปฏิบัติบูชาที่พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญก็คือ ไตรสิกขา ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา ดังนั้นกิจกรรมที่สวนโมกข์กรุงเทพฯ จึงส่งเสริมให้คนถือศีล แม้จะปฏิบัติได้บ้างไม่ได้บ้างก็ไม่เป็นไร เพราะเป้าประสงค์ต้องการให้ฝึกแล้วนำเอาไปใช้ในชีวิตประจำวัน
กิจกรรมเหล่านั้นเป็นต้นว่า การภาวนา การฝึกกาย การฝึกจิต การส่งเสริมการฝึกสมาธิ ส่งเสริมเรื่องปัญญา ไม่ว่าจะเป็นเสวนา บรรยายธรรมโดยพระอาจารย์จากสำนักต่างๆทั่วประเทศ และยังมีกิจกรรมบันเทิง
“เราทราบดีว่าคนชอบบันเทิง จึงจัดขึ้นอยู่เนืองๆ หาใช่บันเทิงที่ไร้สาระไม่ แต่เป็นบันเทิงเพื่อให้รู้และเข้าใจเรื่องศีล สมาธิ และปัญญาเป็นหลัก”
กิจกรรมที่สวนโมกข์กรุงเทพฯจัดอยู่เนืองๆ มีรูปแบบเด่นๆ คือการปฏิบัติธรรม แต่ละครั้งคราว มีพระอาจารย์จากหลายสำนักมาเป็นผู้นำปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นสำนักวัดหนองป่าพงของอาจารย์ชา สำนักหลวงพ่อเทียน สำนักชลประทาน
แม้กระทั่งสำนักสวนโมกข์ต่างก็แวะเวียนกันมาสอนการปฏิบัติธรรมมิได้ขาด
นอกจากปฏิบัติธรรมแล้ว ยังมีกิจกรรมส่งเสริมการทำสมาธิอีก เช่น การออกกำลังกาย โยคะ ไทเก๊ก รวมทั้งการเย็บปักถักร้อยต่างๆ
ส่วนกิจกรรมเชิงบันเทิงธรรม มีการร้องเพลง ฟังเพลง แสดงละคร ทั้งหลายเหล่านี้ เนื้อหาแสดงข้อคิด พัฒนาสติปัญญา และให้ความหมายดีๆ กระตุ้นให้คนได้ใช้ความคิดเพื่อเสริมสร้างปัญญา
“มีนักร้อง ดนตรีเข้ามาสมทบกันมากมาย ดุริยางคศิลป์ก็มีมาแสดง อย่างการแสดงดนตรีมีธรรม ของกระทรวงวัฒนธรรม ก็ยกศิลปะ กวี ดนตรีสัญจรมาอยู่เนืองๆ”
การเปิดสวนโมกข์เท่าที่ผ่านมา เรียกว่า “เกินกว่าที่คิดไว้”
อย่างตัวอาคาร “แรกคาดว่าจะไม่ให้ใหญ่นัก แต่เมื่อวิเคราะห์งานแล้ว ก็เลยขยายใหญ่กว่าที่คาดคิด ส่วนเรื่องของกิจกรรม ก็จัดได้หลากหลายขึ้น เมื่อก่อนคิดว่าคนเข้าวัดจะเป็นกลุ่มคนที่สนใจพระพุทธศาสนาแบบลึกๆ แต่เดี๋ยวนี้กลายเป็นว่า เด็ก เยาวชน พ่อ แม่ ลูกๆพาพ่อแม่ก็มี เริ่มเป็นคนหนุ่มสาวเข้ามามากขึ้น”
บัญชา
ปัจจัยที่เอื้อให้เติบโต นพ.บัญชาบอกว่า เนื่องจากไม่ใช่หน่วยงานของรัฐ การบริหารงานแบบร่วมมือร่วมใจกัน และที่สำคัญมีคนมาทำบุญ สมทบให้สวนโมกข์กรุงเทพฯมีกำลังทำงานเพียงพอ ไม่ลำบาก และไม่ต้องไประดมอะไรขึ้นมา
การขยับขยายต่อไป นพ.บัญชาบอกว่า มีโจทย์อยู่ในใจ 3 ประการที่จะต้องดำเนินการให้เป็นรูปธรรม นั่นคือ
1. ทำอย่างไรจะให้แนวทางคำสอนของพระพุทธองค์ที่สมบูรณ์แบบ และครูบาอาจารย์ในประเทศไทยได้สืบทอดกันมาได้ขยายออกไปให้มากที่สุดและมีความมั่นคง ให้พระพุทธศาสนาในประเทศไทยได้สถาพร มั่นคงอยู่ในสังคมไทย ให้คนไทยเข้าถึงในพระพุทธศาสนาได้อย่างจริงจัง ซึ่งการจะทำได้นั้น พระพุทธองค์ได้มอบภาระให้กับพุทธบริษัททั้ง 4 อันได้แก่ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกา
2. เชื่อมประสานความมุ่งมั่นของหอจดหมายเหตุฯ คือ ประสานกับคณะสงฆ์ ซึ่งเป็นกัลยาณมิตร ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดก็ตาม จะต้องพยายามประสานให้เกิดความร่วมมือกัน สืบต่อนี้ไปจะเน้นเรื่องความร่วมมือ แล้วก็เสนองานพระพุทธองค์ การเข้าถึงงานของท่านพุทธทาส ไม่จำเป็นต้องมาที่สวนโมกข์กรุงเทพฯ ทำที่ไหนก็ได้ มูลนิธิทำหน้าที่หนุน ส่งเสริมให้เกิดขึ้นทั่วประเทศ
3. การประสานระดับโลก เพื่อที่จะเชื่อมโยงกับมนุษยชนทั้งหลาย เนื่องจากโลกมีวิกฤติมาก ทั้งทางกาย ทางใจ เต็มไปหมด ดังนั้น จะช่วยอย่างไรให้หลักคิดทางพระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้และสอน ซึ่งวิเศษสุดได้ช่วยชาวโลก โดยไม่จำเป็นต้องนับถือศาสนาใด และไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนศาสนา
“ท่านอาจารย์พุทธทาสสอนเสมอว่า ให้เขานับถือศาสนาของเขา แต่เราต้องออกไปช่วย ไปร่วมมือ นั่นเป็นเรื่องที่ยาก แต่เรากำลังเตรียมการอยู่” นพ.บัญชาบอก
สำหรับผลงานของท่านพุทธทาส ไม่ว่าจะเป็นต้นฉบับลายมือเขียน จดหมาย ภาพร่าง รูปถ่าย แถบเสียงบันทึกการแสดงธรรม ฟิล์ม หนังสือ และอื่นๆจำนวนมหาศาลนั้น นพ.บัญชาบอกว่า “งานต้นฉบับของท่านพุทธ–ทาส ส่วนหนึ่งก็กำลังเร่งแปลให้เป็นภาษาอังกฤษ ให้ไปอยู่ในอินเตอร์เน็ต แล้วเชื่อมโยงเครือข่ายชาวโลกที่เคยศึกษางานท่านอาจารย์ ที่เคยแปลไว้แล้ว มีอยู่ทั้งที่เยอรมัน อเมริกา และอื่นๆอีกมากมาย เหล่านี้เราคิดว่า เราจะเชื่อมกันอย่างไร เดี๋ยวนี้ต่างคนต่างทำ เราไม่เคยจัดเชื่อมกันอย่างเป็นระบบ เป็นเรื่องที่เราต้องทำต่อไป”
ลิขสิทธิ์ผลงานท่านพุทธทาส “ท่านย้ำเสมอว่า เป็นเรื่องธรรมะของพระพุทธเจ้า ทุกอย่างเป็นธรรมทาน” แต่ “ถ้าใครเอาไปทำเป็นเชิงพาณิชย์ น่าจะแจ้ง หรือจะมาขออนุญาตก็ได้ เราให้อยู่แล้ว จะได้ตรวจทานให้ถูกต้อง เรากลัวเอาไปทำแล้วผิด เช่น ข้อมูลผิดพลาด แปลสารผิด เป็นต้น”
อีกส่วนหนึ่ง “เราจะได้ทำสถิติไว้”
หวังอย่างยิ่งว่า การเติบโตของสวนโมกข์กรุงเทพฯ เท่ากับการเติบโตของเครือข่ายชาวพุทธระดับชาติและนานาชาติอย่างแท้จริง.
http://www.thairath.co.th/column/pol/page1scoop/162261