ตอบ

ชื่อ:
อีเมล์:
หัวข้อ:
ไอค่อนข้อความ:

Verification:
ระหว่างความดีกับความไม่ดี เราจะเลือกทำสิ่งใดจึงจะสามารถบรรลุธรรมได้จริง ( เลือกตอบแค่ ความดี กับ ความไม่ดี ครับผม):
คนที่มีจิตใจอ่อนโยนส่วนใหญ่มัก คิดถึงสิ่งใดก่อนเสมอ  ( เลือกตอบแค่ ตัวเอง กับ คนอื่น ครับผม ):
กัน-ละ-ยา-นะ-มิด เขียนเป็นภาษาไทยที่ถูกต้องว่าอย่างไรครับ:
ชีวิตบางครั้งก็เหมือนเหรียญสองด้านใช่หรือไม่ครับบางครั้งก็หัวบางครั้งก็ก้อย( เลือกตอบแค่ ใช่ กับไม่ใช่ครับผม):
เว็บใต้ร่มธรรมเป็นเว็บเล็กๆแนวธรรมะในจิตใช่หรือไม่ ( เลือกตอบแค่ ใช่ กับ ไม่ใช่ ครับผม):
^^ ขอความกรุณาพิมพ์คำว่า แสงธรรมนำใจ:
^^ ขอความกรุณาพิมพ์คำว่า ใต้ร่มธรรม:
โดยปกติชน นิ้วมือของคนเรา มีกี่นิ้ว (ตอบเป็นภาษาไทยครับ):
วัฒนธรรมไทยเมื่อเห็นผู้ใหญ่ท่านจะทำความเคารพ ด้วยการไหว้ท่านก่อนเสมอใช่หรือไม่:
เมื่อให้ท่านเลือก ระหว่าง (หนังสือเก่าๆเล่มหนึ่งที่เรารัก) กับ (มิตรแท้ที่รักเรา) คุณจะะเลือก:
บุคคลที่ไปหลายๆเว็บไซต์ โดยที่สวมบทบาทเป็นหลายๆคน โดยที่ไม่รู้ว่า แท้จริงใจเราต้องการอะไร เพื่อน หรือ ชัยชนะ:
ระหว่าง (ผู้ที่เรียนรู้ธรรมะเพื่อเอาชนะผู้อื่น) กับ (ผู้ที่เรียนรู้ธรรมะเพื่อเอาชนะตัวเอง)  ท่านจะเลือกเป็น:
กล่าวคำดังนี้  "ขออโหสิกรรม":
หากมีคน บอกว่า เราไม่ดีเราเลว แต่ใจเรารู้ว่าไม่เป็นเช่นนั้น เราจะใช้วิธีใดจัดการกับเรื่องนี้  (โต้เถียงให้แรงกว่าที่เค้าว่ามา) หรือ (เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ความดีของเราเองไม่ต้องทำอะไร):
ธรรมะคือ ธรรมชาติ พิมพ์คำว่า (ธรรมะชาติ) ครับ:
พิมพ์คำว่า (แสงธรรมนำทางธรรมะนำใจ) ครับ:
สำนวนไทยที่ว่า แต่ละคนต่างมีรสนิยมแตกต่างกัน หรือไม่ตรงกัน  พิมพ์สำนวนต่อไปนี้ครับ (ลางเนื้อชอบลางยา):
ขนทรายเข้าวัดคือ พิมพ์สำนวนต่อไปนี้ครับ (ทำบุญทำกุศลโดยวิธีนำหรือหาประโยชน์เพื่อส่วนรวมมิได้ทำเพื่อตนเอง):
ผู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือ ผู้ที่ทำตนให้เล็กที่สุด ผู้ที่เล็กที่สุดก็จะกลายเป็นผู้ที่ใหญ่ที่สุด ผู้ที่มีเกียรติคือผู้ที่ให้เกียรติผู้อื่น ฉะนั้นสมาชิกใต้ร่มธรรมควรให้เกียรติกันและกัน พิมพ์คำว่า (ฉันจะให้เกียรติสมาชิกทุกๆท่านในใต้ร่มธรรมเสมอด้วยวาจาสุภาพอ่อนน้อม):
ผู้ที่ไม่เคยรับรู้รสของความขมขื่น จะไม่รู้ว่าความหวานชื่นคืออะไร พิมพ์เป็นประโยคภาษาอังกฤษครับ เป็นตัวพิมพ์เล็กทั้งหมดนะครับ เว้นวรรคคำด้วยครับ (He who has never tasted bitterness does not know what is sweet):

shortcuts: กด alt+s เพื่อตั้งกระทู้ หรือ alt+p แสดงตัวอย่าง


สรุปหัวข้อ

ข้อความโดย: lek
« เมื่อ: มิถุนายน 06, 2011, 07:28:06 pm »

เตรียมความพร้อมรับความผิดหวังอยู่เสมอ

ความไม่สำเร็จ และความพิบัติต่างๆอาจมีได้เหมือนกัน
ดังนั้น เมื่อได้ใช้ความพยายามเต็มที่แล้ว ไม่ได้รับ
ความสำเร็จก็ไม่ควรเสียใจ แต่ควรคิดปลงใจลงว่า
เป็นคราวที่จะพบความไม่สำเร็จในเรื่องนี้ ทั้งไม่ควร
จนปัญญาที่จะคิดแก้ไข หรือทำการอย่างอื่นต่อไป

วิสัยคนมีปัญญา ไม่อับจนถึงกับไปคิดแย่งทรัพย์ของใคร
คนที่เที่ยวลักขโมยแย่งชิงหรือทำทุจริตเพื่อให้ได้ทรัพย์
ล้วนเป็นคนอับจนปัญญาที่จะหาในทางสุจริตทั้งนั้น

ส่วนความพิบัติ เมื่อไม่ประมาทยังต้องพบ ก็แปลว่า
ถึงคราว หรือที่เรียกว่า เป็นกรรม






สร้างบุญนำหน้า สิ่งดีดีจะตามมา

ทุกชีวิตมีทั้งบุญ มีทั้งบารมี มีบาปติดตามอยู่เพื่อให้เกิดผล
แก่ชีวิตในปัจจุบัน เมื่อในบุญนำหน้า และมาถึงชีวิตแล้ว
เมื่อนั้นชีวิตก็จะงดงามด้วยแสงแห่งบุญ แสงแห่งบุญนั้น
งดงาม คงเคยได้พบได้เห็นผู้มีแสงแห่งบุญประดับงดงาม
กระทบตากระทบใจ จนให้ความรู้สึกเกิดขึ้นชัดเจน ถึงกับ
เคยได้เอ่ยปากชื่นชมว่าบุญส่งแน่จึงงดงามนัก

ในทางตรงกันข้าม เมื่อใดหน้าตาผิดพรรณวรรณะเศร้าหมอง
มากมาย เมื่อนั้นนั่นแหละคือเครื่องหมายแห่งความห่างไกล
บุญปรากฎอยู่
ข้อความโดย: lek
« เมื่อ: มิถุนายน 06, 2011, 07:21:30 pm »

ปัจจุบัน ทำกรรมดี = ชีวิตดี มีดีไซน์

คนเรามักกลัวกรรมเก่ากัน แต่ไม่รู้ว่ากรรมเก่าที่กลัวนั้นคืออะไร
คิดปั้นเอาว่า คือสิ่งที่มีอำนาจเหนือตนซึ่งจะมาทำให้ทุกข์
อย่างแสนสาหัส

ความเชื่ออย่างนี้ จึงเป็นเหมือนเชื่อในเทพเจ้าผู้ศักดิ์สิทธิ์
เป็นแต่เพียงเปลี่ยนจากพูดว่าเทพเจ้า มาว่าเป็นกรรม
ไปเท่านั้น ตกลงว่าเป็นความเชื่อในสิ่งที่ไม่รู้ กลัวในสิ่งที่ไม่รู้

ส่วนพระพุทธเจ้าเมื่อทรงแสดงกรรมเก่า ก็ทรงชี้ให้ใครๆ
เห็นด้วยว่า กรรมเก่าคืออะไร เพราะอายตนะทั้ง 6 เหล่านี้
มีอยู่ด้วยกันทุกคน หากเชื่อพระพุทธเจ้าก็ไม่ต้องไปกลัว
กรรมเก่าที่ไหนอีก ถ้าจะกลัว ก็ให้กลัวตา หู ตลอดถึงใจ
ของตนนี่แหละ ที่จะก่อทุกข์ให้แก่ตนหากขาดสังวร
คือ ความระมัดระวัง

ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสสอนให้สังวรตา หู ตลอดจนถึงใจ
คือ ให้มีสติ ระมัดระวังในเวลาที่เห็นอะไร ได้ยินอะไร
ตลอดถึงคิดอะไรต่างๆ เพื่อมิให้สิ่งที่ได้เห็น ได้ยิน เป็นต้น
มาก่อความชั่วขึ้นในใจ หรือว่าผูกพันใจไว้ให้เป็นทุกข์
เดือดร้อน ถ้ามีใจสังวรอยู่ดังนี้ ก็ไม่ต้องกลัวกรรมเก่า

ส่วนกรรมใหม่นั้น เห็นได้ชัดอยู่แล้ว และทุกคนจะทำกรรม
ใหม่ขึ้นได้ ก็ด้วยกรรมเก่านั่นแหละ ทั้งทางดีทางชั่ว
เพราะต้องอาศัยตา หู เป็นต้น ทั้งในฐานะเป็นเครื่องมือ
ทั้งในฐานะเป็นเหตุก่อเจตนา ถ้ามีความสังวรดีอยู่ ก็จะ
ก่อเจตนาที่เป็นบุญเป็นกุศลแต่อย่างเดียว





มุ่งมั่น มุ่งมั่น ทำให้ได้ ในกรรมดี เป็นแรงดี

เรื่องของกรรมที่หมายถึง กรรมเก่า เป็นแรงดันที่สำคัญอย่างหนึ่ง
กรรมเก่าที่ทำไว้ไม่ดี ย่อมเป็นแรงดันให้พบผลที่ไม่ดี กรรมเก่า
ที่ทำไว้ดี เป็นแรงดันให้พบผลที่ดี แต่ก็ยังมีแรงดันอีกอย่างหนึ่ง
ที่ส่งเสริม หรือว่าต้านทาน คือ กรรมใหม่ที่ทำในปัจจุบัน

ถ้ากรรมปัจจุบันไม่ดี เป็นแรงดันโต้แรงดันของกรรมดีเก่า
ส่งเสริมแรงดันของกรรมเก่าที่ไม่ดีด้วยกัน

ถ้ากรรมปัจจุบันดี ก็เป็นแรงดันโต้แรงดันของกรรมเก่าที่ไม่ดี
ส่งเสริมแรงดันของกรรมเก่าที่ดีด้วยกัน ความที่จะโต้กัน
หรือส่งเสริมกันได้เพียงไรนั้น ขึ้นอยู่แก่ระดับของกำลัง
ที่แรงหรืออ่อนกว่ากันเพียงไร

คติทางพระพุทธศาสนาแสดงว่า "บาปกรรมที่บุคคลใด
ทำไว้แล้ว บุคคลนั้น ย่อมละได้ด้วยกุศล"

ฉะนั้น ผู้ที่มีศรัทธาในกรรมหรือในบุญบาป จึงทำกรรมที่ดี
อยู่เสมอ และมีจิตใจเด็ดเดี่ยวกล้าหาญ เพราะได้เห็นแล้วว่า
บุญช่วยได้จริง และช่วยได้ทันเวลา

ผลที่เกิดขึ้นในระยะเวลาต่างๆกัน เป็นเครื่องพิสูจน์ความจริง
เรื่องบุญบาป ซึ่งจะเห็นกันได้ในชีวิตนี้
ข้อความโดย: lek
« เมื่อ: มิถุนายน 05, 2011, 08:01:17 pm »

ลิขิตชีวิต แม้คิดจะเบียดเบียน ก็ไม่ทำ

ระดับของคนแม้เป็นเพียงคนสามัญ ย่อมมียุติธรรม
ตามควร ไม่ต้องการเสียเปรียบใคร ไม่ต้องการ
เอาเปรียบใคร ไม่รังแกข่มเหงผู้อื่น ไม่ต้องพูดถึงมิตร
หรือผู้มีอุปการะแก่ตน ซึ่งจะต้องมีความซื่อตรงต่อมิตร
มีความกตัญญูต่อผู้มีคุณโดยแท้ คนบาปหนัก ก็คือ
คนที่มีระดับแห่งจิตใจต่ำลงไปกว่านี้




ชีวิตต้องเดินหน้าดี แม้ติดไฟแดง เดี๋ยวก็เขียว

เมื่อนั่งรถไปตามถนนสายต่างๆ ถึงตอนที่มีสัญญาณไฟเขียวแดง
จะพบว่าถูกไฟแดงที่ต้องหยุดรถมากกว่าไฟเขียวซึ่งแล่นรถไปได้
น่านึกว่า การดำเนินทางชีวิตของทุกคน มักจะพบอุปสรรคที่ทำให้
การงานต้องชะงัก คนที่อ่อนแอมักยอมแพ้อุปสรรคง่ายๆ ส่วนคนที่
เข้มแข็งย่อมไม่ยอมแพ้ เมื่อพบอุปสรรคก็แก้ไขไป รักษาสิ่งที่
จะทำไว้ด้วยจิตใจที่มุ่งมั่น ถืออุปสรรคเป็นเหมือนสัญญาณไฟแดง
ที่ต้องพบเป็นระยะ ถ้ากลัวว่าจะต้องพบสัญญาณไฟแดง ซึ่งต้อง
หยุดรถก็จะไปข้างไหนไม่ได้ แม้ในการดำเนินชีวิตก็ฉันนั้น
ถ้ากลัวจะต้องพบอุปสรรคก็ทำอะไรไม่ได้ พระพุทธเจ้าจึงตรัสสอน
ไว้แปลความว่า "เกิดเป็นคนพึงพยายามร่ำไป จนกว่าจะสำเร็จ
ประโยชน์ที่ต้องการ"





แปลงบาปเป็นบุญ จงเพ่งพินิจดู
"อกเขา อกเรา เราเป็นเขา เขาเป็นเรา"

ชีวิตใคร ใครก็รัก        ชีวิตเรา เราก็รัก          ชีวิตเขา เขาก็รัก       
ความตาย ใครก็กลัว   ความตาย เราก็กลัว     ความตาย เขาก็กลัว
ของใคร ใครก็หวง      ของเรา เราก็หวง        ของเขา เขาก็หวง

จะลัก จะโกง จะฆ่า จะทำร้ายใครสักคน ขอให้นึกกลับกันเสีย
ให้เห็นเขาเป็นเรา เห็นเราเป็นเขา คือ เขาเป็นผู้จะลัก จะโกง
จะฆ่า จะทำร้ยเรา เราเป็นเขาผู้จะถูกลัก ถูกโกง ถูกฆ่า ถูกทำร้าย
ลองนึกเช่นนี้ให้เห็นชัดเจน แล้วดูความรู้สึกของเรา จะเห็นว่า
ที่เต็มไปด้วยโมหะนั้นจะเปลี่ยนเป็นเมตตากรุณาอย่างลึกซึ้ง

ข่าวผู้พยายามป้องกันสมบัติของตนจนเสียชีวิตนั้น น่าสลดสังเวช
ยิ่งนัก หรือข่าวผู้กำลังจะสิ้นชีวิต แต่ก็ยังพยายามกระเสือกกระสน
รักษาสมบัติมีค่าของตนที่ติดตัวอยู่อย่างน่าสงสารที่สุด

พบข่าวเหล่านี้เมื่อไร ขอให้คิดถึงใจคนเหล่านั้น อย่าคิดทำร้าย
อย่าคิดเบียดเบียนกันเลย ทุกคนจะต้องตาย และจะตายในเวลา
ไม่นาน คนไม่ได้อายุยืนเพราะทรัพย์ จะทำทุกวิถีทางแม้ที่แสน
ชั่วช้าโหดร้ายเพื่อได้มาซึ่งทรัพย์ทำไมเล่า

ความโลภโดยไม่มีขอบเขตนั้น เป็นทุกข์หนักนัก ตนเองทุกข์
เพราะความโลภอยากได้แล้ว ก็แผ่ความทุกข์เดือดร้อนไปถึง
คนอื่นอย่างน่าอเนจอนาถ ถ้าร้อนเพราะความอยากได้ไม่สิ้นสุด
จะไม่สามารถดับความทุกข์นั้นได้ด้วยวิธีลักขโมยหรือประหัต
ประหารผลาญชีวิตผู้ใด แต่จะดับทุกข์นั้นได้แน่นอน ด้วยทำ
กิเลสให้หมดจดเท่านั้น
ข้อความโดย: lek
« เมื่อ: มิถุนายน 04, 2011, 06:43:32 pm »

สร้างประโยชน์สุขส่วนตัวและสังคม=ลิขิตตนให้มีคุณค่าน่าคบหา

การก่อร่างสร้างตนให้มีความเจริญความสุขในโลก เป็นที่ปรารถนา
ของคนทุกชาติทุกภาษา แต่อาจมีแนวทางต่างกัน ในเรื่องนี้
ถ้ามีปัญหาว่า พระพุทธศาสนาสอนอย่างไร? ก็ตอบได้ว่า พระพุทธ
ศาสนาสอนคฤหัสถ์สร้างตนให้มีความสุขความเจริญ ทั้งทาง
วัตถุและจิตใจ ทั้งในส่วนตัวและสังคม

ทางวัตถุ สอนให้ปฏิบัติในประโยชน์ปัจจุบัน คือ มีความเพียรเล่าเรียน
และทำงานหาทรัพย์ เป็นต้น

ทางจิตใจ สอนให้ปฏิบัติในประโยชน์ภายหน้า คือ มีความเชื่อที่ถูกต้อง
มีความประพฤติดี มีความเผื่อแผ่ และมีปัญญารู้จักผิดชอบชั่วดี

ทางสังคม สอนให้ปฏิบัติชอบต่อกัน ในระหว่างมารดาบิดากับบุตรธิดาเป็นต้น
เช่นสอนว่า ท่านเลี้ยงมาแล้ว เลี้ยงท่านตอบแทน

การสร้างตนทางวัตถุตามหลักประโยชน์ในปัจจุบันที่เห็นผลทางตา
ภาษาธรรมเรียกว่า ทิฏฐธัมมีกัตถประโยชน์ คือ ขยันหาเอาเข้าไว้,
ใส่ใจดูแลรักษา, คบหาแต่เพื่อนดี, มีชีวิตพอเพียง เรียกอีกอย่างว่า
คาถาหัวใจเศรษฐี

การสร้างตนทางจิตใจตามหลักประโยชน์ภายหน้า ภาษาธรรม
เรียกว่า สัมปรายิกัตถประโยชน์ คือ มีศรัทธาความเชื่อที่ถูกต้อง,
ดำเนินชีวิตในคลองศีลธรรม, เป็นผู้นำในการเสียสละ,
ไม่ละการหาความรู้

การสร้างตนเพื่อประโยชน์สุขทางสังคม มีหลายหัวข้อธรรม เช่น
หลักการครองใจผู้อื่น ภาษาธรรมเรียกว่า สังคหวัตถุ คือ
เอื้อเฟื้อแบ่งปัน, อ่อนหวานเจรจา, สรรหาประโยชน์ให้,
คบง่ายไม่ถือตัว เป็นต้น





ชนะใจตนและคนอื่นด้วยการให้

พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า "พึงชนะคนตระหนี่ หรือความตระหนี่
ด้วยการให้" นี้เป็นวิธีเอาชนะวิธีหนึ่ง ใครเป็นคนมีความตระหนี่
และความโลภ ก็คือตัวเราเอง หรือคนอื่นก็ได้

ถ้าเป็นตัวเราเอง ก็จะต้องเอาชนะด้วยการให้ พยายามทำให้
ตัวเราเองเป็นผู้ให้

ถ้าเป็นคนอื่น ก็อาจเอาชนะเขาด้วยการให้ เช่น ให้สิ่งที่เขาต้องการ
เขาก็พอใจ แล้วเขาก็จะให้สิ่งที่เราต้องการ บางทีก็ซื้อเขาได้ด้วย
การให้ทรัพย์ ผู้มีจิตใจสูงบางคนให้ยิ่งกว่าเขาขอ เป็นทางอย่างสูง
ทำให้เป็นที่พิศวงแก่คนอื่น ว่าทำไมจึงให้ได้






รู้เหตุ ก็รู้ผล ย่อมประมาณการณ์ล่วงหน้าได้

อันเรื่องของชีวิต บางคราวก็ดูเป็นเพียงของเปิดเผยง่ายๆ
บางคราวก็ดูลึกลับ เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแก่ชีวิต
บางอย่างก็เกิดตามที่คนต้องการให้เกิด บางอย่างก็เกิดขึ้น
โดยคนมิได้เจตนาให้เกิด แต่ผลทุกๆอย่างย่อมมีเหตุ
ถ้าได้รู้เหตุก็เป็นของเปิดเผย

ส่วนที่ว่าลึกลับก็เพราะไม่รู้เหตุ จู่ๆก็เกิดผลขึ้นเสียแล้ว เช่น
ไม่ได้คิดว่าพรุ่งนี้จะไปข้างไหน ครั้นถึงวันพรุ่งนี้เข้า 
ก็ต้องไปด้วยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบัดเดี๋ยวนั้น

ว่าถึงคนทั่วไปแล้ว วเรื่องของพรุ่งนี้เป็นเรื่องลึกลับ เพราะ
ต่างก็ไม่รู้พรุ่งนี้ของตนเองจริงๆ ถึงวันนี้เองก็รู้อยู่เฉพาะปัจจุบัน
คือเดี๋ยวนี้ แต่อนาคตหารู้ได้ไม่ว่า ต่อไปแม้ในวันนี้จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง
 
ข้อความโดย: lek
« เมื่อ: พฤษภาคม 31, 2011, 07:38:12 pm »

ทำตัวเองให้พึ่งตัวเองได้=ดีไซน์ชีวิตตนให้งามได้

ถ้ามีปัญหาว่า พระพุทธศาสนาให้พึ่งใคร พึ่งตนเอง
หรือพึ่งผู้อื่น คำถามนี้อาจตอบได้ว่า

ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสังคม สอนให้เกื้อกูลกันและกัน
สอนให้เป็นมิตรกันและกัน ไม่ให้เป็นศัตรูกัน เพราะ
คนที่อยู่ร่วมกันจำต้องพึ่งพาอาศัยกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
ไม่โดยตรงก็โดยอ้อม เช่น คนจนต้องอาศัยกำลังทรัพย์
ของคนมี ส่วนคนมีต้องอาศัยกำลังแรงงานของคนจน
คนโง่ต้องอาศัยปัญญาของคนฉลาด ส่วนคนฉลาดต้อง
อาศัยกำลังกายของคนโง่ ชาวนาต้องอาศัยได้ผลไม้ของ
ชาวสวน ส่วนชาวสวนก็ต้องอาศัยข้าวของชาวนา

แต่ทุกๆคน จะมุ่งอาศัยแต่ฝ่ายเดียวหาได้ไม่ ตนเองจะต้อง
ทำตนให้เป็นที่พึ่งอาศัยของคนอื่นได้ด้วย คนที่จะทำตน
เช่นนั้นได้ ก็จะต้องทำตนให้เป็นที่พึ่งของตนเองได้ก่อน
เช่น คนหนึ่งหกล้ม อีกคนหนึ่งจะช่วยอุ้มขึ้นมา คนที่จะช่วย
นั้นต้องยืนตั้งหลักของตนเองให้ดีก่อน จึงจะก้มลงไปอุ้ม
คนที่ล้มขึ้นมาได้ โดยที่ตนเองไม่หกล้มไปด้วย ไม่เช่นนั้น
ก็จะหกล้มไปด้วยกันทั้งคู่ ฉะนั้น ทุกๆคนจึงต้องทำตนให้เป็น
ที่พึ่งของตนได้ พระพุทธเจ้าจึงตรัสสอนว่า
"ตนแล เป็นที่พึ่งของตน" ทั้งควรจะทราบด้วยว่า
อันคนที่มีตนเป็นที่พึ่งของตนได้นั้น จะต้องมีสิ่งที่จะเป็นที่พึ่ง
อยู่ในตนหรือเป็นของตน  เช่น มีวิชา มีการงาน มีทรัพย์ มียศ
ตลอดถึงมีคุณงามความดีเป็นที่นับถือ จะต้องมีเพียงพอที่จะ
เลี้ยงตน อุดหนุนตนให้มีความสุข ความเจริญ ที่จะป้องกันตน
ให้พ้นอันตราย





พึ่งพาผู้อื่นเพื่อให้ตนพึ่งพาตนเองได้ และเกื้อกูลกันและกัน

การแสวงหาวิชา และทรัพย์เป็นต้นนั้น ตลอดถึงการผูกมิตรกับ
ผู้ที่ควรเป็นมิตรทั้งหลายเพื่อผลดังกล่าว หาชื่อว่าเป็นการ
พึ่งผู้อื่นไม่ แต่เป็นการสร้างตนเองให้พร้อมที่จะให้เป็นที่พึ่ง
ของตนเองได้นั่นเอง

เหมือนอย่างผู้นับถือพระพุทธศาสนาถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม
พระสงฆ์ เป็นสรณะ คือ ที่พึ่ง หรือพูดง่ายๆว่า พึ่งพระรัตนตรัย
ก็เพื่อทำตนเองให้มีที่พึ่งที่จะสร้างตนเองให้เป็นที่พึ่งของตนได้
หรือเหมือนอย่างบุตรธิดาพึ่งมารดาบิดา ศิษย์พึ่งครู ก็เพื่อที่จะ
สร้างตนเองให้ใหญ่กล้า สามารถที่จะเป็นที่พึ่งของตนเองต่อไป

การสร้างตนเองให้เป็นที่พึ่งของตนเองได้ ทั้งในทางสามารถ
ป้องกันอันตรายและในการดำรงตนให้เจริญ จึงเป็นหลักสำคัญ
และในขณะเดียวกัน ก็ยังต้องมีการพึ่งพาอาศัยกันอยู่ในสังคมโลก
คนเราต้องอยู่ในสังคมใดสังคมหนึ่งในโลก ตามระบอบธรรมนับถือ
เช่น คนที่นับถือธรรมของพระพุทธเจ้า ก็เข้าสังคมแห่งพุทธศาสนิกชน

พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนไว้ในที่หนึ่งความว่า "ท่านทั้งหลาย จงมีตน
เป็นเกาะ เป็นที่พึ่ง จงมีธรรม เป็นเกาะ เป็นที่พึ่ง" ถือเอาความว่า
อันผู้มีตนเป็นที่พึ่งได้ ก็คือคนที่มีธรรมเป็นที่พึ่ง เช่น ธรรมเป็นที่พึ่ง
10 ประการ ภาษาธรรมเรียกว่า นาถกรณธรรม แปลว่า ธรรมสำหรับทำที่พึ่ง
หมายถึง คุณงามความดีในทุกระดับซึ่งจะเกิดขึ้นได้ ก็ต้องอาศัยตนเอง
นั่นแหละเป็นผู้สร้างขึ้น มี 10 อย่าง  คือ
1.  ศีล รักษาความเป็นปกติกายวาจา,
2.  พาหุสัจจะ ศึกษาความรู้ให้มากไว้,
3.  กัลยาณมิตตตา เข้าใจคบคนดีเป็นมิตรสหาย,
4.  โสวจัสสตา เป็นคนว่านอนสอนง่าย,
5.  กิกรณีเยสุ ทักขตา ขยันเอาใจใส่ในกิจของหมู่คณะ,
6.  ธัมมกามตา มีฉันทะในการประพฤติธรรม,
7.  วิริยารัมภะ ดำริทำความเพียรเต็มที่,
8.  สันโดษ ยินดีในสิ่งที่ตนมีตนได้,
9.  สติ นึกขึ้นได้ก่อนทำพูด คิด,
10. ปัญญญา เข้าใจชีวิตตามเป็นจริง

พระพุทธศาสนาจึงเป็นคำสอนที่บริสุทธิ์
เพื่อความประพฤติที่บริสุทธิ์ของทุกคน
ไม่ใช่สำหรับใครยกไปอ้าง เพื่อเหตุผลอย่างอื่น
ทางอื่น
ข้อความโดย: lek
« เมื่อ: พฤษภาคม 28, 2011, 03:24:04 pm »

มองคนอื่นกี่คน ก็สู้มองตนไม่ได้

อันเหตุการณ์ที่บังเกิดขึ้นแก่ชีวิต มีอยู่เป็นอันมาก
ที่บังเกิดขึ้นโดยไม่รู้ไม่คิดมาก่อน แต่เมื่อเป็น
เหตุการณ์ที่จะต้องเกิดก็เกิดขึ้นจนได้ ถ้าหาก
ใครมองดูเหตุการณ์เหล่านั้นอย่างของเล่นๆ
ไม่จริงจัง ก็ไม่เกิดทุกข์เดือดร้อน หรือจะเกิดบ้าง
ก็เกิดอย่างเล่นๆ ถ้าจะหนีเหตุการณ์เสียบ้าง
ก็เหมือนอย่างหนีไปเที่ยวเล่น หรือไปพักผ่อน
เสียครั้งคราวหนึ่ง

คนเรานั้นเมื่อเห็นว่าที่ใดมีทุกข์ ก็จะต้องหนีไปให้พ้น
จากคนหรือเหตุการณ์ที่ก่อทุกข์ให้เกิดขึ้น ฉะนั้น
ถ้าแต่ละคนได้ระลึกถึงข้อนี้ ก็ควรจะไม่ประพฤติหรือ
กระทำการก่อทุกข์ให้แก่กัน ทั้งนี้ด้วยมีความสำนึกตน
และประพฤติตนให้อยู่ในขอบเขตที่สมควร

เรื่องว่า อะไรสมควร อะไรไม่สมควรนั้น ถ้าคนเรามีสติ
รู้จักตนตามเป็นจริง ไม่หลงตน ไม่ลำเอียงแล้ว ก็จะ
รู้ได้โดยไม่ยาก บางทีหลอกคนอื่นได้ แต่หลอกตนเองหาได้ไม่

การมองดูคนอื่นนั้น สู้มองดูตนเองไม่ได้ เพราะตนเองต้อง
รับผิดชอบต่อตนเองโดยตรง ส่วนคนอื่นเขาก็ต้องรับผิดชอบ
ต่อตัวเขาเอง เรื่องความรับผิดชอบนี้ บางทีก็นึกไปไม่ออก
ว่าได้ทำอะไรไว้ จึงต้องรับผิดชอบเช่นนี้ เช่น ต้องรับเหตุการณ์
ต่างๆ ที่เกิ่ดขึ้นแก่ชีวิต

ในฐานะเช่นนี้ ผู้เป็นศิษย์ของพระพุทธเจ้า ย่อมใช้ศรัทธา
ความเชื่อในกรรม และผลของกรรม ทำกรรมที่ผิดไว้ ก็ต้อง
รับผิดต่างๆ ทำกรรมที่ชอบไว้ ก็ต้องรับชอบต่างๆ จะเลือก
เอาอย่างใดอย่างหนึ่งหาได้ไม่

เมื่อยอมรับกรรมเสียได้ดังนี้ ก็จะมีความกล้าหาญ
เป็นอะไรก็เป็นกัน ไม่กลัวต่อเหตุการณ์ต่างๆ และ
เมื่อเหตุการณ์ต่างๆเกิดขึ้นจะแก้อย่างไร ศิษย์ของ
พระพุทธเจ้าย่อมแก้ด้วยสติและปัญญา เพื่อให้เป็น
ผู้ชนะด้วยความดี
ข้อความโดย: lek
« เมื่อ: พฤษภาคม 27, 2011, 06:21:27 pm »

ฝึกสร้างกำลังใจ เพื่อลิขิตชีวิตสู่ความสำเร็จ

กำลังใจ เป็นข้อสำคัญที่จะอุปการะให้เกิดความสำเร็จ
ในกิจที่จะทำทั้งปวง เหตุที่จะทำให้เสียกำลังใจนั้นมีมาก
แต่ในทางตรงกันข้าม เหตุที่จะทำให้เกิดกำลังใจก็มีมากเช่นกัน
จึงควรคิดค้นหาให้พบเหตุแห่งกำลังใจ ในที่นี้ จักแสดงไว้
เป็นแนวทางในการสร้างกำลังใจ 6 วิธี คือ

1. ฝึกปฏิบัติอบรมจิตใจ
ธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้ปฏิบัติอบรมจิตใจล้วนเป็นเหตุ
ให้เกิดกำลังใจเช่น ศรัทธา ความเชื่อในผู้อื่นที่ควรเชื่อ
และความเชื่อในตนเอง เมื่อมีความเชื่อทั้งสองอย่างนี้
ประกอบกันตามส่วน ก็เป็นกำลังใจสำคัญประการหนึ่ง

2. ความวางใจเป็นอุเบกขา ในนินทาและสรรเสริญ
คือไม่ถือเอาเสียงซุบซิบ หรือเซ็งแซ่ในทางต่างๆเป็นใหญ่
แต่ถือประโยชน์ของตนเป็นประมาณ ดำเนินทางรักษา
ประโยชน์ของตนไว้ ใครจะว่าอย่างไรไม่ถือเป็นสำคัญ
เพราะถ้าไปถือเป็นสำคัญเข้า ก็จะเสื่อมประโยชน์
จะทำให้ใจระทมย่อท้อ เพราะนินทา
จะให้ใจกำเริบเสิบสาน เพราะสรรเสริญ
นับว่าเป็นเหตุให้เสียกำลังใจด้วยกัน
วางใจให้เป็นอุเบกขาในเรื่องนี้ได้ จึงเป็นกำลังใจสำคัญประการหนึ่ง

3. ความเห็นทางออกด้วยปัญญา
ความเห็นทางออก หมายถึง สติปัญญาที่เหนือกว่า
เห็นทางออกจากข้อขัดข้องในทุกทาง ด้วยวิธี
ที่ไม่เป็นทุกข์ ความเห็นทางออกด้วยปัญญา
จึงเป็นกำลังใจประการหนึ่ง

4. ความปลงใจเชื่อเรื่องกรรมและผลของกรรม
ความปลงใจลงในกรรม และผลของกรรม โดยกำหนด
คิดว่าเป็นไปตามกรรมที่แต่ละคนได้ทำไว้
ตนเองก็มีกรรมเป็นของของตน ไม่ได้ทำไว้ในชาตินี้
ก็ควรเชื่อว่าได้ทำไว้ในอดีตชาติ ทุกคนจึงต้อง
เผชิญกับบุคคลหรือเหตุการณ์ต่างๆอยู่บ่อยๆที่ตนเอง
ไม่ชอบใจปรารถนา แต่ก็ต้องพบเผชิญอย่างหลีกเลี่ยง
ไม่พ้น เมื่อเป็นดังนี้ ก็ต้องยอมเผชิญ ถือว่าเป็นกรรม
และผลของกรรม จึงต้องปฏิบัติไปตามกรรมวิบาก คือ
ทำไปตามกระบวนเรื่องที่เกิดขึ้นด้วยสติปัญญาอย่างเต็มที่
ไม่หลีกเลี่ยงย่อท้อ ความปลงใจลงในกรรมและผลของกรรม
จึงเป็นกำลังใจประการหนึ่ง

5. คิดให้เป็นเหมือนเรื่องที่ผ่านไปแล้ว
ความคิดให้เหมือนอดีต คือ ล่วงไปแล้ว เหตุการณ์ทั้งปวง
พร้อมทั้งอายุล่วงไปโดยลำดับ ถึงเรื่องที่เกิดขึ้น
ก็จักล่วงไปทั้งหมด จักมอดไปเหมือนเถ้าถ่านที่หมดไฟแล้ว
ฉะนั้น ในขณะเผชิญเรื่อง คิดว่าเหมือนกับเรื่องที่ล่วงไปแล้ว
จะทำให้จิตใจรู้สึกเป็นปกติ เพราะเท่ากับเห็นความดับสนิท
ความคิดให้เหมือนอดีต จึงเป็นกำลังใจประการหนึ่ง

6. ไม่ยอมแพ้ต่อปัญหา
ความไม่แพ้ต่อเหตุการณ์หรือปัญหา แม้จะรุนแรง
จิตใจเผชิญได้อย่างเยือกเย็น สุขุมรอบคอบ ไม่กลัว
แต่กล้าอย่างทหารหาญ
พระเจ้าอุเทน เมื่อถูกพระเจ้าจัณฑปัชโชตจับไปเป็นเชลย
ทรงถูกขู่ว่าจะถูกประหาร จึงตรัสว่า ทรงเป็นเชลยแต่ร่างกาย
แต่จิตใจไม่เป็นเชลย ราชศัตรูจึงเป็นใหญ่แต่ทางร่างกาย
ไม่เป็นใหญ่แห่งจิตใจ จะทำอะไรแก่ร่างกายก็ทำไปเถิด
ความมีใจหาญดังนี้ เป็นกำลังใจสำคัญประการหนึ่ง
รวมความว่า "คนฉลาด  ย่อมรู้วิธีเสริมกำลังแก่จิตใจ
คนโง่เท่านั้น ที่นอนเสียกำลังใจ ไม่รู้จะแก้ไขใจของตนอย่างไร"
ข้อความโดย: lek
« เมื่อ: พฤษภาคม 24, 2011, 06:43:27 pm »

ลิขิตชีวิตสู่ความสำเร็จได้ ต้องมี พลัง 5
1. ศรัทธา
2. วิริยะ
3. สติ
4. สมาธิ
5. ปัญญา

คนเราทุกๆคน ต่างมีการงานที่จะต้องทำเพื่อ
ให้เกิดความสำเร็จ ถ้าจะมีคำถามว่า จะใช้ธรรม
หมวดไหนของพระพุทธเจ้า มาช่วยในการ
ทำการงานทุกอย่างให้สำเร็จ?

หากมีคำถามเช่นนี้ ก็อาจตอบได้ว่า ควรใช้พละ
คือธรรมที่เป็นกำลัง 5 อย่าง กล่าวคือ
คนที่จะทำงานทุกอย่างสำเร็จนั้น

ประการแรก       จะต้องมีศรัทธา ความเชื่อที่ตั้งมั่นในทางที่ดำเนิน
                       ตั้งแต่ขั้นแรก จนถึง ขั้นที่สุด ต้องมีความเชื่อ
                       ที่ตั้งมั่นในตนเอง ปราศจากความลังเลใจ

ประการที่สอง    จะต้องมีวิริยะ ความกล้าหาญที่จะทำ ไม่ย่อท้อ
                        ไม่อ่อนแอ ไม่ยอมให้มีจุดอ่อนในตน

ประการที่สาม     จะต้องมีสติ ความรอบคอบ ไม่ประมาท
                         ไม่มองข้ามแม้ในสิ่งเล็กๆน้อยๆ
                         ไม่ให้เส้นผมบังภูเขา ทั้งไม่ให้ภูเขาบังเส้นผม

ประการที่สี่          จะต้องมีสมาธิ ความตั้งใจอย่างมั่นคงในสิ่งที่จะทำนั้น
                          ไม่ทอดทิ้งธุระละทิ้งเสียกลางคัน

ประการที่ห้า         จะต้องมีปัญญา ความรู้ทั่วถึง สามารถใช้เป็น
                          เครื่องมือในการตรวจตรา พิจารณาให้ถ้วนทั่ว
                          ทั้งก่อนทำ ขณะกำลังทำ และภายหลังที่ทำแล้ว
                          ว่ามีผลเป็นประการใด

ศรัทธา กับ ปัญญา ต้องมีให้พอสมควรแก่กัน บางทีอาจจะมีศรัทธามากกว่า
เช่น เชื่อในทางที่อยากจะเชื่อ หรือที่ชอบจะเชื่อ ไม่พินิจให้ดีด้วยปัญญา
ก็จะกลายเป็นศรัทธาที่ขาดปัญญาไป เพราะความอยาก หรือความชอบนั้น
เป็นคนละอย่างกับปัญญา

หรือบางทีต่างต้องการแต่เหตุผลทางปัญญาเท่านั้น ไม่ยอมจะเชื่ออะไร
สำหรับที่จะเป็นที่พึ่งทำให้ใจมั่นคง ก็จะขาดกำลังที่สำคัญไป
เพราะสิ่งมองกันไม่เห็นคิดไปไม่รู้นั้น ยังมีอยู่อีกเป็นอันมาก ฉะนั้น
จะต้องให้ได้ทั้งเหตุผลทางปัญญา ทั้งความเชื่อที่ตั้งมั่น แม้ในสิ่งที่มองไม่เห็น

ส่วน ความเพียร กับ ความตั้งใจมั่น ก็ต้องให้มีพอสมควรแก่กัน
เพราะถ้าขาดความเพียรขวนขวายมากไป ก็จะทำให้ฟุ้งซ่าน
ขาดความมั่นคง ถ้าทำใจให้ตั้งมั่นมากไป ก็จะทำให้หยุดความเพียร
หรือทำให้ช้าไปกว่าที่ควร

ส่วนสติ ที่รอบคอบ จะต้องให้มีมากอยู่เสมอในทุกเรื่องทุกเวลา
ธรรมเหล่านี้ จะรวมกันเป็นกำลังสนับสนุนการทำงานทุกอย่าง
ให้สำเร็จ คนที่มีธรรม คือ คุณงามความดีที่ทำไว้มาก หากได้มี
พละ 5 นี้เพิ่มเข้าไปอีก ก็จะยิ่งส่งเสริมความสำเร็จให้ดีมากขึ้น
เพราะธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม

เพียงมีศรัทธาในพระพุทธเจ้าผู้ตรัสพระธรรมบทนี้ไว้โดยมั่นคง
ก็เพียงพอสำหรับข้อศรัทธา และธรรมนี้เอง จะเป็นเครื่องป้องกัน
อุปสรรคศัตรูมิให้ทำลายล้างได้ จะรักษาส่งเสริมให้ดำรงอยู่
และมีความเจริญ ซึ่งผลนี้จะสำเร็จโดยไม่ชักช้าอย่างอัศจรรย์
ข้อความโดย: lek
« เมื่อ: พฤษภาคม 24, 2011, 06:31:57 pm »

พยายามขจัดกิเลสให้สิ้นซากจากจิตใจ
จึงลิขิตชีวิตให้สวยงามยิ่งนัก

อันเหตุการณ์ที่คนก่อขึ้นนั้น นับว่าเป็นกรรมของคน
หมายความว่า การที่คนทำขึ้น ไม่ใช่หมายความว่า
กรรมเก่าอะไรที่ไม่รู้ แต่เป็นกรรมคือการกระทำที่รู้ๆกันอยู่นี่แหละ
เมื่อก่อขึ้นด้วยกิเลส ก็เป็นเหตุทำลายล้าง แต่เมื่อ
ก่อขึ้นด้วยธรรม ก็เป็นเหตุเกื้อกูลให้มีความสุข

ถ้าจะถามว่า กิเลสซึ่งนับว่าเป็นอธรรมนั้น ก่อให้เกิด
เหตุการณ์ต่างกัน ให้ผลตรงข้ามกัน ใครๆก็น่าจะมองเห็น
แต่ไฉนจึงยังใช้กิเลสก่อกรรมกันอยู่ พระพุทธศาสนา
หรือศาสนาอื่นๆจะช่วยให้คนใช้ธรรมกันให้มากขึ้น
กว่านี้ไม่ได้หรือ

ก็น่าจะมีคำถามย้อนไปบ้างว่า เมื่อเป็นสิ่งที่น่ามองเห็น
กันได้ง่ายดังนั้น ทำไมใครๆไม่สนใจที่จะปฏิบัติธรรม
ของพระพุทธเจ้าให้มากขึ้นเล่า พระพุทธศาสนาพร้อม
ที่จะช่วยทุกๆคนอยู่ทุกขณธ แต่เมื่อใครปิดประตูใจ
ไม่เปิดรับธรรม พระพุทธศาสนาก็เข้าไปช่วยไม่ได้

พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้รู้ว่า ธรรมชาติแท้จริงแต่เดิมนั้น
ผุดผ่อง แต่เศร้าหมองไปเพราะเครื่องหมองที่จรเข้ามา
กิเลสตัณหาทั้งปวง เป็นสิ่งเศร้าหมองที่จรเข้ามา
จมปลักหมักหมม ไม่ใช่เป็นเนื้อแท้ของจิต เป็นสิ่งที่
อาจชำระให้พ้นออกไปจากจิตใจได้

ดังนั้น จึงทรงสั่งสอนธรรม เพื่อชำระสิ่งที่เศร้าหมอง
เหล่านี้ให้หมดสิ้น จิตใจที่ชำระให้สะอาดจะสงบความใคร่
ความอยากที่จะทำสิ่งที่แผลงๆผิดๆทุกอย่าง ฉะนั้น
พวกที่ถือว่าทำอะไรตามใจนั้น เป็นทางสิ้นกิเลส หรือสิ้นทุกข์
จึงผิดหลักพระพุทธศาสนาตรงกันข้าม

พระพุทธเจ้าตรัสมิให้ทำตามอำนาจของใจ แต่ให้สำรวม
ข่ม ฝึกรักษาชำระจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ ให้พ้นจาก
กิเลสเครื่องเศร้าหมอง จึงจะสามารถแยกความใคร่
ความอยาก ออกจากจิตใจได้
ข้อความโดย: lek
« เมื่อ: พฤษภาคม 23, 2011, 07:37:05 pm »

หมั่นศึกษาการสร้างบุญให้ถูกวิธี

เรื่องบุญบาป หรือความดี ความชั่ว เป็นเรื่องที่
น่าทำความเข้าใจกันให้ดี เพราะเป็นเรื่องสำหรับ
ภูมิปัญญาของมนุษย์ พวกสัตว์เดรัจฉาน ท่านว่าเป็น
อเหตุกสัตว์ คือ ทำอะไรไม่เป็นบุญบาป เช่น
เสือกินสัตว์เป็นอาหาร ไม่มีอาหารเป็นอย่างอื่น
แมวกัดกินหนู เพราะไม่มีความรู้จักบาปบุญ คือ
มีความรู้ต่ำเสียเหลือเกิน ถึงเป็นมนุษย์จำพวกเป็นบ้า
ไม่มีสติ ทำอะไรก็ไม่เป็น บาป  เพราะไม่มีความรู้สึก
ในการทำนั้น กฎหมายก็ยกเว้น วินัยก็ยกเว้น

ฉะนั้น จะทำอะไรเป็นบุญ-บาป จึงต้องมีความรู้ขั้นปกติชน
คือ รู้จักบาป บุญ ดีชั่ว พูดง่ายๆ ก็คือว่า รู้ว่าทำสิ่งนี้ดี
ทำสิ่งนี้ไม่ดี อย่างที่คนทั่วไปรู้กัน

ถ้าจะมีปัญาหาว่า คนทั่วไปรู้กันอย่างไร? ก็ตอบได้ว่า
รู้เช่นว่า การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เป็นความดี การก่อทุกข์
แก่กันนั้น เป็นความชั่ว ประจักษ์พยานในเรื่องนี้
คือ ตนเองของทุกๆคน เมื่อมีใครมาช่วยเหลือเกื้อกูล
หรือแม้เพียงเขาไม่มาเบียดเบียน เราว่าเขาเป็นคนดี
แต่เมื่อใครมาทำร้ายเรา เราก็ว่าเขาเป็นคนชั่วไม่ดี

คนทั่วไปย่อมรู้และรับรองกันดังนี้ ทุกประเทศในโลก
จึงมีหลักกฎหมายใหม่ๆคล้ายคลึงกัน ไม่ต้องพูดถึง
ศาสนาต่างๆ ซึ่งแสดงหลักของความดีความชั่วละเอียดกว่า

คนทั่วไปย่อมรู้และรับรองดังนี้ ทุกประเทศในโลก
จึงมีหลักกฎหมายใหญ่ๆคล้ายคลึงกัน ไม่ต้องพูดถึง
ศาสนาต่างๆ ขึงแสดงหลักของความดีความชั่วละเอียดกว่า

เรื่องบุญบาป จึงเป็นเรื่องสำหรับปกติชนที่มีปัญญา
อย่างสามัญชนทั่วไป ไม่ใช่เรื่องลุ่มลึกอันใด และทุกๆ
คนก็มีความสำนึกกันอยู่น้อยหรือมาก

ทุกๆคนที่มีปัญญาแม้เป็นเพียงมนุษย์ จึง
ปฏิเสธบุญบาปมิได้ ความรู้สึกของตนเองนั่นแหละ
รับรอง เว้นแต่จะเป็นคนบ้าไปเสีย หรือมีภูมิปัญญา
ต่ำเสียเหลือเกิน หรือน่าจะเพิ่มอีกพวกหนึ่งว่ามี
กิเลสหนามาก จนไร้ความสำนึกมนุษย์
อันไม่น่าจะเรียกว่า มนุษย์