ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: กรกฎาคม 23, 2011, 08:34:39 am »ไม่ว่าใครก็ตาม หากรู้ว่าตัวเองกำลังจะตาย ส่วนใหญ่จะโศกเศร้า ไม่ยอมรับ และบางครั้งโทษคนอื่น คุณหมอชาตรีบอกว่า จะมีอยู่ช่วงหนึ่งที่ยอมรับสภาพความเป็นจริงไม่ได้ เสียดายว่าบางคนมีเวลาเหลือน้อยในการตัดสินใจทำสิ่งต่างๆ ดังนั้นการมีกัลยาณมิตรที่ดีสำคัญมาก หนังสือก็เป็นกัลยาณมิตรได้
“ถ้าใครนึกไม่ออกลองไปอ่านหนังสือสนทนากับความตายของเชิด ทรงศรี เขาคุยกับความตายได้อย่างไร ผมเองก็ได้เรียนรู้จากความตายของคุณพ่อ คุณแม่ ผมดูแลท่านอย่างใกล้ชิดและพยายามให้ลูกๆ เรียนรู้ความตายเป็นเรื่องปกติในชีวิต”
คุณหมอเล่าต่อว่า กรณีของคุณแม่และคุณย่าที่จากไป เขาใช้กรณีนี้สอนลูกๆ ในเรื่องการดูแลบุพการี เขาไปป้อนข้าวคุณแม่ในห้องพิเศษทุกวัน และลูกๆ ของเขาต้องไปเยี่ยมคุณย่า เพื่อให้ลูกๆ เห็นว่าความตายไม่น่ากลัว
กรณีคุณพ่อของคุณหมอที่จากไปด้วยมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ คุณหมอชาตรีเล่าว่า ในช่วง 3 ปีแรกคุณพ่อไม่ยอมรับความจริง แต่พอ 3 ปีผ่านไปท่านรู้แล้วว่าไม่มีทางหาย ท่านจึงเปลี่ยนเป้าหมายว่า จะทำอย่างไรไม่ทุกข์ อาศัยว่ามีความสนใจธรรมะสายพระอาจารย์ชา สุภัทโท อยู่ด้วย
“ตอนเรียนก็ไม่มีใครสอนผมให้มองด้านในของชีวิต แต่บังเอิญคนใกล้ชิดทำให้เราต้องเรียนรู้ ช่วงคุณพ่อป่วย ท่านก็ตั้งคำถามว่า ทำไมต้องเป็นท่าน กล่าวโทษคนอื่น ผมเป็นลูกคนเดียวที่เป็นหมอ ดังนั้นอะไรๆ ก็มาลงที่ผม
ท่านบันทึกอาการต่างๆ ไว้ในสมุดบันทึก ท่านเปิดดูมีทั้งวันทุกข์มาก ทุกข์น้อยและวันไม่มีทุกข์ ท่านก็ได้เรียนรู้ และคุณหมอที่ดูแลก็ผูกพันกันดี ช่วงท้ายของชีวิต ท่านมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น สามารถไปเดินจตุจักร ทั้งๆ ที่ต้องถือถุงปัสสาวะซุกไว้ในกระเป๋า”
คุณหมอเล่าต่อว่า คืนสุดท้ายก่อนคุณพ่อจะเสียชีวิต เขาและภรรยาไปเฝ้า ชวนให้คุณพ่อกลับมาที่สติและสวดมนต์ร่วมกัน
"ตอนเช้าคุณแม่มาเยี่ยม คุณพ่อบอกว่า เหนื่อยแล้วขอหลับ แล้วค่อยๆ จากไป” นั่นเป็นวาระสุดท้ายของคนที่คุณหมอรัก และเป็นเหตุให้คุณหมอเห็นว่า การขับเคลื่อนกฎหมายเรื่องนี้เป็นเรื่องดีๆ ที่จะเกิดขึ้นในสังคม
Credit by : http://www.thailivingwill.in.th/index.php?mo=3&art=330016
Pics by : Google
สุขใจดอทคอม * อกาลิโกโฮม
ใต้ร่มธรรมดอทเน็ต
อนุโมทนาสาธุที่มาทั้งหมดมากมายค่ะ